fbpx
RECOMMENDEDREVIEW

รีวิว Klipsch : The Three Plus “ส่วนผสมที่ลงตัวของคุณภาพเสียง รูปลักษณ์ เทคโนโลยีและดีไซน์”

Klipsch เป็นผู้ผลิตลำโพงไฮไฟระดับแนวหน้าอีกยี่ห้อหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับตลาดลำโพงแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นลำโพงไฮไฟสเตริโอหรือโฮมเธียเตอร์ ลำโพงแบบพาสสีฟหรือลำโพงแบบแอคทีฟ ไม่เว้นแม้แต่ลำโพงสมัยใหม่อย่างลำโพงปาร์ตี้และลำโพงแบบพกพา

นอกจากลำโพงในกลุ่มที่ว่ามาแล้ว Klipsch ยังมีอีกหนึ่งไลน์อัปสินค้าที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องนั่นคือ Desktop Speaker หรือลำโพงแบบตั้งโต๊ะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มลำโพงที่มีจุดเด่นเป็นส่วนผสมระหว่างคุณภาพเสียง รูปลักษณ์ เทคโนโลยี และการใช้งานในลักษณะกึ่งลำลองกึ่งจริงจัง โดยรุ่นที่ออกมาล่าสุดนั่นคือ The One Plus (เดอะ วัน พลัส) และ The Three Plus (เดอะ ทรี พลัส)

คุณสมบัติและการออกแบบ
โดยพื้นฐานแล้วลำโพงตั้งโต๊ะรุ่น The One Plus และ The Three Plus ของ Klipsch นั้นมาในดีไซน์ที่เป็น theme เดียวกัน นั่นคือ modern classic เน้นความเรียบหรูแบบมีสไตล์ มีความย้อนยุคนิด ๆ ตัวตู้ขนาดกะทัดรัดตกแต่งด้วยผ้าหุ้มสีสันเรียบง่ายและแผ่นไม้ลวดลายสวยงาม (วอลนัทหรือดำด้าน Matte Black)

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
Klipsch The One Plus สีดำด้าน Matte Black

ลำโพงทั้งสองรุ่นมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายคลึงกันมาก ต่างกันเพียงแค่ขนาดและรายละเอียดปลีกย่อย รุ่นน้องเล็กอย่าง The One Plus นั้นออกแบบมาเป็นลำโพงระบบ 2.1 แชนเนลที่รวมอยู่ในตู้เดียวกัน ประกอบไปด้วยตัวขับเสียงฟูลเรนจ์ขนาด 2.25 นิ้วสองตัว ทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ช่วงชักยาวขนาด 4.5 นิ้วอีกหนึ่งตัว และพาสสีฟเรดิเอเตอร์คู่ขนาด 4.5 นิ้ว พร้อมภาคขยายเสียงกำลังขับรวม 60 วัตต์ ตอบสนองความถี่เสียงตั้งแต่ 55Hz-20kHz

นั่นคือคุณสมบัติพื้นฐานของตัวลำโพงที่จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของตัวลำโพงโดยตรง ด้านการเชื่อมต่อกับแหล่งสัญญาณเสียงภายนอก ลำโพง The One Plus สามารถเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Bluetooth 5.3, เชื่อมต่อสัญญาณเสียงอะนาล็อกเข้าทางอินพุตมินิปลั๊ก 3.5mm และเชื่อมต่อสัญญาณเสียงดิจิทัลเข้าทางอินพุต USB-C ซึ่งขั้วต่อนี้ยังสามารถใช้เล่นไฟล์จาก USB Drive หรือใช้จ่ายไฟเลี้ยงให้กับอุปกรณ์ภายนอกอย่างเช่น WiiM Mini ได้ด้วย

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
ลำโพงรุ่น The Three Plus [บน] และ The One Plus [ล่าง] (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

สำหรับลำโพงรุ่น The Three Plus จัดว่าเป็นลำโพงรุ่นใหญ่ขึ้นไปอีกระดับ มาพร้อมกับตัวตู้ลำโพงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะที่ตัวลำโพงยังคงเป็นระบบ 2.1 แชนเนล ขับด้วยภาคขยายเสียงระบบไบแอมป์ ด้านตัวขับเสียงเลือกใช้ตัวขับเสียงฟูลเรนจ์ขนาด 2.25 นิ้วสองตัว ทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ช่วงชักยาวขนาด 5.25 นิ้วอีกหนึ่งตัว และพาสสีฟเรดิเอเตอร์คู่ขนาด 5.25 นิ้ว พร้อมภาคขยายเสียงกำลังขับรวม 120 วัตต์ ตอบสนองความถี่เสียงตั้งแต่ 45Hz-20kHz

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
ปุ่มควบคุมแบบล้อเลื่อนกลายเป็นจุดขายของลำโพงยี่ห้อนี้ไปแล้ว (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

สำหรับการเชื่อมต่อกับแหล่งสัญญาณเสียงภายนอก The Three Plus มีคุณสมบัติทุกอย่างที่มีใน The One Plus ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Bluetooth 5.3 รวมถึงอินพุตสำหรับสัญญาณอะนาล็อกและอินพุตสัญญาณดิจิทัล ทว่ามันได้รับการอัปเกรดให้น่าใช้มากยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างขั้วต่อรับสัญญาณอะนาล็อกนั้นก็เปลี่ยนจากช่องเสียบ 3.5mm เป็นขั้วต่อสเตริโอ RCA ให้ใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือขั้วต่อสเตริโอ RCA นี้ยังสามารถเลือกใช้งานได้ด้วยว่าจะให้เชื่อมต่อรับสัญญาณอะนาล็อกระดับ line level อย่างเช่น สัญญาณอะนาล็อกจากเครื่องเล่นซีดี, สตรีมเมอร์, DAC ฯลฯ หรือจะให้เชื่อมต่อรับสัญญาณจากหัวเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียง (ตัวลำโพงมีโฟโนปรีแอมป์ในตัว)

ด้านขั้วต่อรับสัญญาณดิจิทัลก็ได้รับการอัปเกรดด้วยเช่นกัน เพราะว่านอกจากอินพุต USB-C สำหรับรับสัญญาณจากคอมพิวเตอร์หรือใช้เพื่อจ่ายไฟเลี้ยงให้กับอุปกรณ์ภายนอกอย่างเช่น WiiM Mini แล้ว ตัวลำโพง The Three Plus ยังมีขั้วต่อดิจิทัลแบบ Optical เพิ่มมาให้เลือกใช้งานด้วย

การเชื่อมต่อและการใช้งานเบื้องต้น
ในฐานะที่ได้ลองเล่นลำโพงทั้งสองรุ่น ผมพบว่า The One Plus นั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับเป็นลำโพงที่ใช้ฟังแบบลำลอง คือฟังง่ายใช้งานสะดวก เหมาะสำหรับผู้ที่คุ้นชินกับการใช้งานลำโพงบลูทูธ แต่ไม่ต้องการพกพา ลำโพงตั้งโต๊ะรุ่นนี้นอกจากสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้แล้วยังสามารถใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์โชว์ในบ้านได้ด้วย

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
Klipsch The Three Plus ลายไม้วอลนัท กับ Volume Dial และปุ่มมัลติฟังก์ชันพร้อมไฟ LED แสดงสถานะ

สำหรับผู้ที่มีความต้องการในการใช้งานมากไปกว่านั้น ไม่แปลกที่คุณจะสนใจลำโพงรุ่น The Three Plus มากกว่า ซึ่งตัวผมเองก็เช่นกัน โดยพื้นฐานแล้วลำโพงรุ่นนี้มาพร้อมกับสายไฟ AC เข้าเครื่องหนึ่งเส้นเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ไม่มีอุปกรณ์จุกจิกอย่างรีโมตคอนโทรลหรือสายสัญญาณต่าง ๆ มาให้ด้วยเหมือนอย่าง Klipsch The Nines ซึ่งเป็นลำโพงแอคทีฟรุ่นพรีเมียมของแบรนด์

แม้ว่าตัวลำโพง The Three Plus มีขนาดใหญ่กว่าแต่ยังพอนับได้ว่าเป็นขนาดที่ไม่ได้เทอะทะ โดยตัวลำโพงมีขนาดอยู่ที่ 35.5 x 21.3 x 17.8 เซนติเมตร (กว้าง x สูง x ลึก) น้ำหนัก 4.8 กิโลกรัม

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
ด้านหลังลำโพง The Three Plus (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

ก่อนจะไปว่ากันเรื่องของการใช้งาน ต้องขอชมว่าตัวจริงของลำโพงดูดีแทบไม่ต่างจากที่เห็นในภาพ งานผลิตก็เนี้ยบเกินหน้าเกินตาลำโพงในระดับเดียวกันหลาย ๆ รุ่น ลองดูเอาเถิดครับขนาดด้านหลังลำโพงที่ปกติไม่มีใครเขาสนใจโชว์กัน Klipsch ก็ยังตั้งใจทำออกมาให้ดูดีมาก ๆ เลย

อย่างไรก็ตามด้วยดีไซน์ที่ค่อนข้างเรียบง่ายทำให้ปุ่มควบคุมสั่งงานลำโพงรุ่นนี้มีให้มาอย่างจำกัด ดังนั้นในช่วงแรกของการใช้งานจำเป็นต้องอาศัยเวลาสักพักในการเรียนรู้และทำความคุ้นเคย โดยเฉพาะปุ่มควบคุมที่อยู่บริเวณด้านบนตัวลำโพงซึ่งประกอบไปด้วย Volume Dial สำหรับปรับความดังเสียง, ปุ่มมัลติฟังก์ชัน และไฟ LED ที่แสดงผลได้หลากสีเพื่อแสดงสถานะการทำงานของเครื่องและการเลือกสัญญาณอินพุต

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
ขั้วต่อรับสัญญาณอะนาล็อก LINE/PHONO (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)
Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
ขั้วต่อรับสัญญาณดิจิทัล (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

ถ้าหากยังจำกันได้ตัว Volume Dial ที่เป็นดีไซน์แบบล้อเลื่อนนี้มันคือดีไซน์ที่หยิบยืมมาจากลำโพงแอคทีฟรุ่น The Nines ที่ผมเคยรีวิวไปแล้วนั่นเอง สำหรับปุ่มมัลติฟังก์ชันนั้นหลัก ๆ คือ ทำหน้าที่เปิด/ปิดเครื่องและเลือกสัญญาณอินพุต ตลอดจนฟังก์ชันปลีกย่อยอื่น ๆ เช่น การจับคู่สัญญาณบลูทูธ

ขณะที่ด้านหลังเครื่องนอกจากขั้วต่อต่าง ๆ แล้ว ยังมีสวิตช์เลือกประเภทของสัญญาณสำหรับอินพุตสเตริโอ RCA และยังมีปุ่ม Utility Button สำหรับเลือกโหมดเล่นเพลงจากอุปกรณ์ USB Drive รวมทั้งการใช้งานฟังก์ชันต่อพ่วงสัญญาณเสียงแบบไร้สายกับลำโพงบลูทูธในตระกูลเดียวกันที่ Klipsch เรียกว่า ‘Broadcast Mode Pairing’

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
การเริ่มใช้งานร่วมกับแอปฯ Klipsch Connect (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)
Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
หน้าเมนูหลัก ๆ ในแอปฯ Klipsch Connect (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

การเริ่มใช้งานลำโพงรุ่นนี้ (รวมทั้ง The One Plus) ผมแนะนำให้ใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อบลูทูธแล้วเปิดใช้งานแอปฯ companion อย่าง Klipsch Connect แอปฯ นี้เปิดโอกาสให้เราสามารถใช้งานเป็นรีโมตคอนโทรลและปรับตั้งค่าต่าง ๆ ของลำโพงได้ รวมถึงการเปิดใช้งานฟังก์ชันอย่าง Night Mode, ปรับเสียงด้วย EQ, การเลือกอินพุต หรือการอัปเดตเฟิร์มแวร์

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
หน้าเมนูควบคุมเวลาใช้งาน สังเกตว่าถ้าเลือกอินพุต Bluetooth [ภาพซ้ายสุด] จะมีปุ่มควบคุมการเล่นเพลงให้ใช้งานด้วย (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

อย่างไรก็ดีผมพบว่าการควบคุมสั่งงานลำโพงรุ่นนี้ผ่านแอปฯ Klipsch Connect มีทั้งเรื่องที่ผมชอบและไม่ชอบ เรื่องที่ชอบคือ UI มันสวยงามดี การเลือกอินพุตต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้นไม่ต้องมานั่งจำสีของไฟ LED สามารถสั่งงานได้จากระยะไกล แต่ที่ยังไม่ชอบก็คือผมพบว่าหลายครั้งมันมีอาการหน่วงช้าอยู่พอสมควร บางครั้งสั่งแล้วก็ไม่ทำงานเอาเสียดื้อ ๆ ก็มี อีกทั้งแอปฯ เวอร์ชันปัจจุบันในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ทำงานได้ดีกว่าในสมาร์ทโฟน iOS

ส่วนตัวผมคิดว่าถ้า Klipsch มีรีโมตคอนโทรลแยกมาให้ด้วยต่างหาก อย่างในลำโพง Klipsch The Nines ที่ผมเคยรีวิวไปแล้ว ผมว่ามันน่าจะใช้งานได้สะดวกมากขึ้นกว่านี้

การทดลองใช้งานและคุณภาพเสียง
สิ่งแรกที่ทำให้ผมตัดสินใจรีวิว The Three Plus ก็คือเรื่องของคุณภาพเสียง ตลอดระยะเวลาการทดลองใช้งานลำโพงรุ่นนี้ผมมีโอกาสยกตัวลำโพงไปใช้งานในหลายจุดของบ้าน และหลายครั้งที่ได้ฟังเสียงผมก็เผลอลืมไปว่ากำลังฟังลำโพงแบบตั้งโต๊ะตัวแค่นี้อยู่ เพราะว่าเสียงของมันกระหึ่มหนักแน่นและมีพลังเสียง ‘เกินตัว’ ไปพอสมควรเลยทีเดียว แม้จะเป็นการวางแบบ free space คือไม่ต้องวางใกล้ฝาผนังก็ตาม

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker

นอกจากนั้นด้วยความที่ตัวลำโพงสามารถเล่นเพลงได้จากหลากหลายช่องทางผมก็เลยมีโอกาสได้ใช้งานมันอย่างหลากหลาย สะดวกที่สุดต้องยกให้การเชื่อมต่อบลูทูธ (ไฟ LED แสดงสถานะที่ตัวลำโพงเป็นสีฟ้า) ซึ่งก็ได้คุณภาพเสียงที่ดี ให้เสียงออกมาน่าฟังเช่นกัน ทั้งยังสามารถใช้แอปฯ Klipsch Connect ควบคุมการเล่นเพลงหรือคอนเทนต์ได้ด้วย

สำหรับการเล่นเพลงทางอินพุต USB-C โดยต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์นั้น (ไฟ LED แสดงสถานะที่ตัวลำโพงเป็นสีขาว) พอลองใช้งานแล้วทำให้ผมผิดคาดไปพอสมควรครับ ทีแรกนึกว่ามันจะรองรับ hi-res audio ในระดับหนึ่งเหมือนกับลำโพงรุ่น The Nines แต่ลองจริงแล้วพบว่ามันรองรับการเล่นไฟล์เสียงแบบ native จำกัดที่ 16bit/48kHz เท่านั้นครับ ซึ่งถ้าไม่คาดหวังมากนักก็ถือว่าพอเล่นได้ครับเอาไว้ใช้ฟังเพลงสตรีมมิงแบบง่าย ๆ จากคอมพิวเตอร์ก็พอไหว

ที่อินพุตนี้หากเลือกให้เล่นเพลงจาก USB Drive (Storage) โดยการกดปุ่ม Utility ด้านหลังลำโพงหรือเลือกที่แอปฯ (ไฟ LED แสดงสถานะที่ตัวลำโพงเป็นสีเหลือง) ลำโพงจะเริ่มเล่นเพลงที่เราเก็บอยู่ใน USB Drive (ไม่เก็บใน folder ใด ๆ) ไล่เรียงไปทีละเพลง โดยที่เราไม่สามารถเลือกเพลงที่จะเล่นได้

นอกจากนั้นเท่าที่ได้ลองพบว่าระบบรู้จัก USB Drive ที่ฟอร์แมตมาแบบ exFAT สามารถเล่นไฟล์เสียง 16bit/44.1 ที่ริปมาจากแผ่นซีดีได้ทั้งไฟล์ .flac และ .wav คุณภาพเสียงที่ได้ก็ถือว่าดีเลยทีเดียว แต่ไม่เล่นไฟล์ในกลุ่ม hi-res audio

อย่างไรก็ดี ถ้าหากต้องการคุณภาพเสียงที่ไว้ใจในคุณภาพได้มากกว่านั้นและสามารถเลือกเล่นเพลงได้อย่างใจ ผมแนะนำให้เล่นเพลงจากเครื่องเล่นซีดีหรือสตรีมเมอร์ โดยจะเลือกต่อใช้งานลำโพงทางช่องอินพุตอะนาล็อก (ไฟ LED แสดงสถานะที่ตัวลำโพงเป็นสีม่วง) หรืออินพุตดิจิทัล Optical ก็ได้ (ไฟ LED แสดงสถานะที่ตัวลำโพงเป็นสีแดง) ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากให้ DAC ในตัวลำโพงทำงาน หรืออยากให้ DAC ในตัวเครื่องเล่นของเราทำงาน

ตัวอย่างที่ผมได้ลองต่อใช้งานกับ AirPlay 2 Adapter รุ่น SOUNDFORM CONNECT ของ Belkin พบว่าต่อสัญญาณดิจิทัลเข้ามาที่อินพุต Optical ของลำโพงเสียงดีกว่า (คือใช้ DAC ในตัวลำโพง)

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
การต่อใช้งานกับอุปกรณ์สตรีมเมอร์ภายนอก (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ใช้สตรีมเมอร์ WiiM Pro Plus ผมพบว่าการเลือกให้ DAC ในตัวสตรีมเมอร์ทำงานโดยการต่ออะนาล็อกไลน์เอาต์ออกไปเข้าลำโพงเลยได้เสียงที่รายละเอียดดีกว่า เนื้อเสียงมีความอิ่มเข้มเต็มกว่า อ้อ ช่องอินพุต Optical ของลำโพงรองรับไฟล์เสียง hi-res audio จำกัดอยู่ที่ 24bit/96kHz เท่านั้นนะครับ

ดังนั้นในกรณีนี้การต่อใช้งานทางอินพุตอะนาล็อกของลำโพงจึงเปิดกว้างสำหรับการฟังเพลงแบบสตรีมไฟล์เสียง hi-res audio มากกว่า เพราะว่าการถอดรหัสและแปลงเสียงดิจิทัลเป็นอะนาล็อกเป็นหน้าที่ของตัวเครื่องเล่นเองไม่ใช่ตัวลำโพง

อีกหนึ่งความสามารถของช่องอินพุตอะนาล็อกในลำโพงรุ่นนี้คือ มันต่อเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงได้โดยตรงด้วย ในที่นี้ผมได้ลองต่อเล่นกับ Thorens TD203 ที่ติดตั้งหัวเข็ม Audio-Technica AT-VM95ML เท่าที่ได้ลองฟังเสียงผมว่าโฟโนปรีแอมป์ในตัวลำโพงคุณภาพเสียงใช้ได้เลย คือโอเคถ้าเราไม่ได้คิดจะเอาไปเทียบกับโฟโนปรีแอมป์แบบแยกชิ้น ผมฟังแล้วไม่ติดอะไรนะครับ ฟังเพลิน ๆ ได้สบายเลยครับ

สำหรับคนที่เล่นเทิร์นเทเบิ้ลรุ่นเบสิกอย่าง Audio-Technica AT-LP60XUSB ซึ่งมีโฟโนปรีแอมป์มาในตัวเหมือนกัน ก็อยากลองฟังเทียบกันดูครับว่าชอบเสียงของโฟโนปรีแอมป์ในตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือโฟโนปรีแอมป์ในตัวลำโพงมากกว่ากัน

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
การต่อใช้งานกับอุปกรณ์สตรีมเมอร์ภายนอก (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

Klipsch The Three Plus เหมาะกับใคร ?
อย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นว่าลำโพงรุ่น The One Plus นั้นเหมาะที่จะเป็นลำโพงไร้สายตั้งโชว์ในบ้านแบบสวย ๆ ให้ฟังเพลงเพลิน ๆ แต่ถ้าเป็นคนที่จริงจังกับเรื่องของคุณภาพเสียงมากกว่านั้น หรือเป็นคนที่ฟังเพลงหลากหลายไม่จำกัดแนวเพลงลำโพงอย่าง The Three Plus สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ลงตัวกว่า

Review Klipsch The Three Plus Wireless Desktop Speaker
ลำโพงรุ่น The Three Plus ที่ผมชอบ (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

ยิ่งถ้าหากเราไม่ได้นิยามลำโพงสไตล์นี้ เป็นแค่ลำโพงสำหรับการฟังเพลงแบบลำลองเพียงอย่างเดียว คุณอาจจะชอบลำโพงรุ่นนี้เหมือนผมก็เป็นได้ คือนอกจากเรื่องคุณภาพเสียงที่โดดเด่นกว่าลำโพงบลูทูธทั่วไปแล้วผมมองว่า The Three Plus ยังมีคุณสมบัติเทียบเคียงลำโพงแอคทีฟแบบย่อม ๆ ไปแล้ว

ผมชอบที่อินพุตของมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงบลูทูธหรือ AUX IN แบบง่าย ๆ เหมือนลำโพงบลูทูธทั่วไป เท่ากับว่ามันเปิดโอกาสให้เราสามารถขยับขยายระบบได้ง่ายมากซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่ค่อยได้พบกันง่าย ๆ ในลำโพงสไตล์นี้


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย:
บริษัท โฮม ไฮ-ไฟ จำกัด
02-448-5489, 02-448-5465-6
www.sound-republic.com
ราคา: Klipsch The One Plus 12,900 บาท
           Klipsch The Three Plus 19,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ