fbpx
KNOWLEDGERECOMMENDED

รู้จักเทคโนโลยี Bluetooth 5.0 เหมือนหรือต่างอย่างไรกับ Bluetooth 5.1, 5.2 และ 5.3

ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของหูฟังไร้สาย ลำโพงไร้สาย ระบบและอุปกรณ์สวมใส่แบบไร้สาย ทำให้เทคโนโลยีบลูทูธกลายเป็นเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคย ผลการสำรวจของกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีบลูทูธหรือ Bluetooth Special Interest Group (SIG) ประเมินว่าจะมีอุปกรณ์บลูทูธมากถึง 7 พันล้านเครื่อง ทั่วโลกภายในปี 2026 ซึ่งมากขึ้นกว่าปี 2022 เกือบ 2 พันล้านเครื่อง นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าทึ่งมาก

ปัจจุบันเทคโนโลยีบลูทูธมีมาเกือบ 25 ปีแล้ว และเดิมทีการคิดค้นเทคโนโลยีนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแทนที่พอร์ตอนุกรม RS-232 ที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ

ทุกวันนี้ มีชิปบลูทูธกระจายอยู่ทั่วไปในอุปกรณ์พกพาหรืออุปกรณ์ใช้งานอยู่กับที่เกือบทุกชิ้นที่มีใช้งานกันอยู่ ข่าวดีก็คือเทคโนโลยีนี้ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจำเป็น Bluetooth LE ซึ่งใช้พลังงานต่ำ (และถูกนำมาใช้งานกับ Bluetooth 5.2), 5.0, 5.1, 5.2 และตอนนี้ 5.3 ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย พร้อมด้วยศักยภาพมากมายเพื่อรองรับอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) และการฟังเพลงแบบไร้สาย

หากคุณกำลังพิจารณาอุปกรณ์ Bluetooth แต่คุณไม่แน่ใจว่าคุณต้องการใช้ Bluetooth เวอร์ชันใด หรือตัวเลขเหล่านั้นมีความสำคัญหรือไม่ แนะนำให้ติดตามบทความนี้ต่อไป

Bluetooth 5.0 เป็นเทคโนโลยีล่าสุดของ Bluetooth ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่อไร้สายระยะใกล้ที่พบได้ในอุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟน สมาร์ทวอทช์ แท็บเล็ต หูฟังและลำโพงไร้สาย แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และอื่น ๆ

อย่างที่ทราบกันดี บลูทูธช่วยให้อุปกรณ์ของเราสื่อสารกันแบบไร้สายได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ตราบใดที่อุปกรณ์ทั้งสองอยู่ใกล้กัน นอกจากนี้ยังให้สามารถส่งสัญญาณเสียงจากอุปกรณ์เล่นเสียง (เช่น สมาร์ทโฟน) ไปยังลำโพงไร้สาย เพื่อเปิดโอกาสให้เราสามารถฟังเพลงได้ดังและมีรายละเอียดมากขึ้นทั้งที่บ้าน ในสวนสาธารณะ หรือบนชายหาดได้

หากเราไปเลือกซื้อลำโพงหรือชุดหูฟังไร้สายราคาประหยัดที่ยังมีขายอยู่ในปัจจุบัน Bluetooth เวอร์ชันเก่าที่สุดที่น่าจะเห็นในสเปกฯ ของอุปกรณ์เหล่านั้นก็คือ Bluetooth 4.2 ซึ่งเปิดตัวในปี 2014 แม้ว่าจะเป็นรุ่นที่เก่ากว่า แต่ก็ยังพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพบางรุ่น ซึ่งมักจะเป็นคุณสมบัติรองจากการสตรีมผ่าน Wi-Fi อีกที

จาก v4.2 เราขยับไปที่ Bluetooth 5.0 (เปิดตัวในปี 2016), เวอร์ชัน 5.1 (เปิดตัวเดือนมกราคม ปี 2019), เวอร์ชัน 5.2 (เปิดตัวเดือนธันวาคม ปี 2019) และล่าสุดคือ Bluetooth 5.3 ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ปี 2021

Bluetooth 5.3 เป็นเวอร์ชันที่ล้ำหน้าที่สุดในเวลานี้ ประโยชน์ของมันรวมถึงการมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้น (หมายถึงอายุแบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้น) การเชื่อมต่อไร้สายที่เสถียรยิ่งขึ้นในระยะไกล และการรบกวนที่น้อยลง พบได้ในอุปกรณ์รุ่นล่าสุด (มักจะเป็นรุ่นไฮเอนด์) เช่น ตระกูล iPhone 14, Apple AirPods Pro 2, EDIFIER WH950NB, Xiaomi Buds 4 Pro, SOUL S-TRACK, SOUL S-TRON, Samsung Galaxy Buds 2 Pro หรือ Redmi Buds 4 Pro

อย่างไรก็ตาม Bluetooth 5.3 ก็ยังไม่ใช่สเปกฯ ที่จะมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ เสมอไป โดยอุปกรณ์รุ่นล่าสุดอย่าง Sony WH-1000XM5, Apple HomePod 2 ก็ยังใช้ Bluetooth 5.2 หรือเวอร์ชันก่อนหน้า ดังนั้นควรตรวจสอบก่อนตัดสินใจซื้อ

Bluetooth 5.0 มีความหมายว่าอะไร ?
เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนอย่าง Bluetooth 4.2 Low Energy เทคโนโลยี Bluetooth 5.0 มีความเร็วมากกว่าสองเท่า ระยะห่างในการเชื่อมต่อดีกว่าสี่เท่า และสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้มากเป็นแปดเท่า

หากคุณต้องการตัวเลขที่ชัดเจนกว่านั้น เรากำลังพูดถึงแบนด์วิธระดับ 2Mbps ในทางปฏิบัตินี่หมายถึงการเชื่อมต่อทางอากาศที่รวดเร็วและเชื่อถือได้ ซึ่งส่งผลต่อการอัปเดตเฟิร์มแวร์และการอัปโหลดข้อมูลที่รวดเร็วมากขึ้น

ด้วยระยะเชื่อมต่อที่ไกลขึ้น ประมาณ 800 ฟุต (หรือ 240 เมตร เพิ่มขึ้นจาก 60 เมตรหรือ 200 ฟุตใน Bluetooth 4.2)

ลำโพงและหูฟังไร้สายของเราควรใช้งานได้ไกลจากแหล่งกำเนิดเสียงมากกว่าบลูทูธ 4.2 LE ทว่าในโลกความเป็นจริง กำแพงและสิ่งกีดขวางจะกระทบกับตัวเลขเหล่านั้นเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าเป็นการอัปเกรดครั้งใหญ่อยู่ดี และช่วยให้การเชื่อมต่ออุปกรณ์ Internet of Things เช่น กล้องวงจรปิด หลอดไฟอัจฉริยะ ตู้เย็นอัจฉริยะ เทอร์โมสแตทอัจฉริยะ และอื่น ๆ สามารถใช้งานได้ครอบคลุมทั่วทั้งบ้าน

และเนื่องจากการใช้ช่องสัญญาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงความถี่ 2.4GHz ซึ่งถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เทคโนโลยีนี้จึงสามารถคาดหวังการเชื่อมต่อไร้สายที่ดีกว่า ในทุก ๆ สถานที่ที่เรานำไปใช้งาน ตั้งแต่สนามกีฬาไปจนถึงศูนย์การค้า

นอกจากนั้นเรายังสามารถเชื่อมต่อหูฟังไร้สายมากกว่าหนึ่งคู่กับแหล่งเสียงเดียวผ่าน Bluetooth ได้ด้วยคุณสมบัติ Dual Audio ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกใน Bluetooth 5.0

Bluetooth 5.0 ยังเปิดโอกาสให้ลำโพงบลูทูธสามารถจับคู่ทำงานในระบบเสียงสเตอริโอได้ เช่น HUAWEI Sound Joy

Bluetooth 5.0 สามารถตรวจพบสัญญาณรบกวนที่ขอบของย่านความถี่ 2.4GHz และ LTE ที่อยู่ใกล้เคียง และป้องกันการรบกวนกันโดยอัตโนมัติ คุณสมบัตินี้จะทำให้การฟังเพลงมีความกระจ่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากอุปกรณ์ไร้สายใด ๆ

Bluetooth 5.1
เป็นที่ยอมรับว่า Bluetooth 5.1 เป็นการอัปเกรดเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการปรับปรุงอย่างก้าวกระโดดจากเวอร์ชัน 4.2 เป็น 5.0 อย่างไรก็ดี Bluetooth 5.1 ช่วยให้อุปกรณ์บลูทูธสามารถระบุตำแหน่งของคุณได้

ดังนั้นนี่จึงเป็นเทคโนโลยีที่ปูทางไปสู่คุณสมบัติ “Find My Earbuds” ในแอปฯ นอกจากนี้ยังมีข้อดีเล็กน้อยในแง่ของการจับคู่ที่รวดเร็วขึ้นและการใช้พลังงานที่ลดลง รวมถึงการจัดการที่ดีขึ้นเล็กน้อย เช่น สัญญาณ ‘พร้อมเชื่อมต่อ’ ที่แรงขึ้นเมื่อมันพร้อมแสดงบนอุปกรณ์ของเรา

Bluetooth 5.2
Bluetooth 5.2 สามารถพบได้ในปี 2021 และ 2022 ในหูฟังไร้สายเช่น Sony WF-1000XM4, Samsung Galaxy Buds 2 และ Beats Studio Buds และสมาร์ทโฟนเช่น Samsung Galaxy S22 Ultra และ Samsung Galaxy Z Fold 3 5G

Bluetooth 5.2 มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงอุปกรณ์เสียงเป็นหลัก คือ LE Audio ซึ่งย่อมาจาก Low Energy Audio มีตัวแปลงสัญญาณเสียงใหม่ที่เรียกว่า LC3 ซึ่งมีเสียงคุณภาพดีขึ้นแต่ใช้พลังงานน้อยลง

Bluetooth 5.2 ยังอนุญาตให้สามารถสตรีมข้อมูลที่ซิงโครไนซ์หลายรายการ ในทางปฏิบัติให้ลองนึกถึงหูฟังไร้สายแบบ true wireless ที่แยกหูฟังข้างซ้ายและขวาอิสระจากกัน ก่อนหน้านี้หูฟังไร้สายประเภทนี้เพียงข้างเดียวเท่านั้นที่จะเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ของคุณ ในเวลาเดียวกันหูฟังอีกข้างที่เหลือก็จะอาศัยการเชื่อมต่อผ่านหูฟังข้างแรกอีกทอดหนึ่ง

สำหรับ Bluetooth 5.2 มันเปิดโอกาสให้หูฟังทั้งสองข้างสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของเราได้โดยตรง นี่ไม่เพียงแต่เป็นการปรับปรุงความน่าเชื่อถือของการเชื่อมต่อเท่านั้น แต่ยังช่วยลดปัญหาความล่าช้าหรือการซิงค์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างหูฟังข้างซ้ายและข้างขวาได้อย่างมาก

นอกจากนั้นแล้วอุปกรณ์ประเภทเครื่องช่วยฟังก็ได้รับการปรับปรุงอย่างมากด้วย Bluetooth 5.2 ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถใช้งานได้นานขึ้นมากต่อการชาร์จแต่ละรอบ และวิศวกรก็สามารถทำออกแบบหูฟังให้มีขนาดที่เล็กกะทัดรัดมากขึ้น

Bluetooth 5.3
Bluetooth 5.3 เป็นเวอร์ชันล่าสุดและดีที่สุดในเวลานี้ ดังนั้นจึงพบได้ในอุปกรณ์รุ่นล่าสุด อย่างไรก็ดี Bluetooth 5.3 เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันที่มีการอัปเกรดเล็กน้อย โดยมีคุณสมบัติหลักสี่ประการ

คุณสมบัติแรกเรียกว่า Periodic Advertising Enhancement เป็นวิธีทำให้อุปกรณ์บลูทูธมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากไม่มีคุณสมบัตินี้ อุปกรณ์บลูทูธจะส่งข้อมูลเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลถูกส่งไปแล้ว แต่ด้วยคุณสมบัตินี้จะช่วยให้อุปกรณ์มีการตรวจสอบเพียงครั้งเดียวว่าได้รับข้อมูลที่ส่งแล้ว เป็นการช่วยประหยัดพลังงานและอาจเพิ่มอายุการใช้งานแบตเตอรี่

คุณสมบัติถัดไป เรียกว่า Encryption Key Size Control Enhancements ซึ่งช่วยให้อุปกรณ์โฮสต์สามารถระบุจำนวนอักขระในคีย์การเข้ารหัสของอุปกรณ์ที่รับได้ ลดการกลับไปกลับมาระหว่างอุปกรณ์ทั้งสอง คุณสมบัตินี้ควรทำให้การถ่ายโอนข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การปรับปรุงส่วนที่สามเรียกว่า Connection Sub Rating ถูกออกแบบมาเพื่อสลับการใช้งานระหว่างอุปกรณ์ Bluetooth สามารถทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยปกติแล้ว จะมีรอบการใช้งานสองช่วง คือ แบบใช้งานน้อยและแบบใช้งานหนัก แบบใช้งานน้อยสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องการเน้นมาก เช่น เครื่องช่วยฟัง ในสภาวะการใช้งานทั่วไป

แต่ถ้าเราใช้เครื่องช่วยฟังนั้นเพื่อฟังเพลงแบบไร้สายหรือรับสายจากโทรศัพท์ของเรา เครื่องจะเปลี่ยนเป็นวงจรการใช้งานหนัก เนื่องจากมีความต้องการใช้งานอุปกรณ์มากขึ้น

Connection Sub Rating จะทำให้การสลับการใช้งานที่ว่านั้นทำได้อย่างราบรื่นขึ้นและจับผิดได้ยากขึ้น ทำให้ผู้ใช้มีประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น

สุดท้าย คือการปรับปรุงที่เรียกว่า Channel Classification Enhancement สิ่งนี้ทำให้การเชื่อมต่อไร้สายของคุณปลอดภัยมากขึ้นและอ่อนไหวต่อสัญญาณรบกวนน้อยลง โดยการอนุญาตให้อุปกรณ์ทำการจำแนกช่องเมื่อแพ็กเก็ตข้อมูลถูกส่งผ่านช่องความถี่ที่แตกต่างกัน

Bluetooth 5.0 ช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้นหรือเปล่า ?
คำถามนี้ตอบได้ว่า ไม่มันไม่ได้ช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้น หูฟังไร้สายคู่หนึ่งที่ใช้ Bluetooth 5.0 จะไม่ให้คุณภาพเสียงที่ดีไปกว่าอีกคู่ที่ใช้ Bluetooth 4.2 หรือถ้าหากมันเสียงดีกว่านั่นก็ไม่ใช่เพราะเวอร์ชันของ Bluetooth ที่ใหม่กว่า

แม้ว่าเวอร์ชันบลูทูธจะไม่ส่งผลต่อคุณภาพเสียง แต่จะสร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับคุณสมบัติต่าง ๆ ของหูฟัง เช่น หูฟังที่มีบลูทูธเวอร์ชันใหม่กว่าสามารถมีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น เชื่อมต่อในระยะที่ไกลขึ้น และคุณสมบัติต่างๆ เช่น การเชื่อมต่อแบบ Multipoint ซึ่งช่วยให้คุณสลับไปมาระหว่างอุปกรณ์ไร้สายได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องจับคู่ใหม่ทุกครั้ง

นอกจากนั้นบลูทูธเวอร์ชันใหม่กว่ายังมีแบนด์วิธให้ใช้งานได้มากกว่า ช่วยให้สามารถเปิดใช้งานตัวแปลงสัญญาณคุณภาพสูง เช่น aptX HD ซึ่งเป็นตัวแปลงสัญญาณ Bluetooth ที่สามารถส่งสัญญาณเสียงความละเอียดสูงแบบไร้สายได้

ดังนั้น แม้ว่าบลูทูธเวอร์ชันใหม่กว่าไม่ได้หมายความว่ามีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น แต่ก็สามารถเปิดใช้งานผ่านชุดคุณสมบัติต่าง ๆ ที่มีความสามารถมากกว่าได้

Bluetooth 5.1 หรือ Bluetooth 5.2 แบบไหนที่ดีกว่า ?
Bluetooth แต่ละเวอร์ชันล้วนพัฒนาจากเวอร์ชันก่อนหน้า แน่นอนว่า 5.2 ดีกว่า 5.1 เพราะมีการเพิ่มคุณสมบัติหลักสามประการ ได้แก่ Enhanced Attribute Protocol (EATT), Low Energy Power Control (LEPC) และ Isochronous Channels

EATT อนุญาตให้เล่นเสียงจากสองแอปฯ พร้อมกันได้ในขณะเดียวกันก็ลดความหน่วงช้าลงด้วย ขณะที่ LEPC ปรับการใช้พลังงานให้เหมาะสมโดยการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ Bluetooth อยู่ห่างจากกันมากแค่ไหน ทำให้ได้คุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้นและการเชื่อมต่อไร้สายที่เสถียรยิ่งขึ้น

สำหรับ Isochronous Channels วิธีนี้ทำให้สามารถสตรีมเสียงไปยังหูฟังไร้สายแต่ละข้างแยกกัน แทนที่จะเป็นการเชื่อมต่อหูฟังเพียงข้างเดียวแล้วค่อยเชื่อมต่อหูฟังอีกข้างเป็นทอด ๆ ไป เราจึงสามารถใช้งานหูฟังแบ true wireless แบบแยกกันทีละข้าง ในขณะที่เก็บอีกข้างหนึ่งเอาไว้ในเคสชาร์จ

Bluetooth 5.3 เป็นการเชื่อมต่อแบบ lossless หรือเปล่า ?
น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเชื่อมต่อไร้สายผ่ายบลูทูธไม่ได้มีแบนด์วิดธ์เพียงพอที่จะจัดการกับไฟล์เสียงแบบ lossless อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่มีหูฟังไร้สายชนิดใดที่สามารถอธิบายได้ว่าไม่มีการสูญเสียข้อมูล เนื่องจากการรับ-ส่งข้อมูลผ่านบลูทูธมักอาศัยการบีบอัดข้อมูลร่วมด้วยเสมอ แม้ว่าสิ่งนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในไม่ช้า …

ในปี 2022 บริษัท Qualcomm ได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มเสียงไร้สาย 2 แพลตฟอร์ม ที่สามารถรองรับการส่งผ่านบลูทูธแบบ Lossless ที่ความละเอียดระดับ 16bit/44.1kHz (คุณภาพเทียบเท่าซีดี)

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า Apple และ Sonos กำลังมองหาวิธีการส่งเพลงแบบไร้สายไปยังหูฟัง (อาจหมายถึงการเลิกใช้ Bluetooth ไปด้วย) ดังนั้นในอนาคตเราอาจจะได้ฟังเพลงแบบไร้สายโดยไม่มีการสูญเสียข้อมูลอย่างแท้จริงก็เป็นได้


ที่มา: whathifi

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ