fbpx
KNOWLEDGE

ช่องต่อสัญญาณเสียงแบบ Optical คืออะไร และควรใช้งานเมื่อไร?

เคยสงสัยไหมว่าช่องต่อรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูในส่วนของขั้วต่อสัญญาณเสียงที่เขียนว่า “optical” คืออะไร? คุณจะพบช่องนี้ได้จากทางด้านหลังเครื่องคอมพิวเตอร์, ทีวี HD, เครื่องรีซีฟเวอร์ และอื่น ๆ แต่แทบไม่มีใครใช้ช่องต่อดังกล่าว

ช่องต่อเล็ก ๆ ที่โดนปล่อยทิ้งไว้ช่องนี้อาจจะเป็นเครื่องช่วยชีวิตคุณได้ ลองมาดูกันว่าช่องต่อดังกล่าวเป็นยังไง และคุณสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร

ช่องต่อเสียงออปติคัลคืออะไร?
ในการเชื่อมต่อโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นต่าง ๆ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และอุปกรณ์ภาพและเสียง มักใช้สัญญาณไฟฟ้าเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณอนาล็อกหรือดิจิตอล โดยจะถูกส่งไปในรูปแบบของคลื่นสัญญาณไฟฟ้าผ่านตัวนำ ของสายเคเบิลทุกแบบ

ไม่ว่าจะเป็นสายลำโพงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงจากยุค 1970 ไปจนถึงสาย HDMI ที่ใช้กับทีวี HD รุ่นใหม่ ๆ ภายในล้วนแล้วประกอบไปด้วย สายไฟ สายไฟ และสายไฟเป็นจำนวนมาก

สายสัญญาณแบบ Optical เป็นอีกหนึ่งสายสัญญาณในตลาดภาพและเสียง สายออปติคัลแตกต่างจากมาตรฐานสายสัญญาณอื่น ๆ ระบบการเชื่อมต่อโดยสายออปติคจะใช้สาย Fiber optic และแสงเลเซอร์ ในการส่งผ่านข้อมูลสัญญาณเสียงระหว่างอุปกรณ์

โดยมาตรฐานดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1983 โดยโตชิบา เดิมทีได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานสำหรับเครื่องเล่นซีดี (นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางครั้งจึงเรียกว่าสาย TOSLINK นั่นก็เพราะมาจากคำว่า Toshiba-Link)

คุณสามารถตรวจสอบว่าอุปกรณ์ของคุณรองรับสายสัญญาณเสียง TOSLINK ได้โดยดูหลังเครื่องว่ามีช่องต่อสำหรับ TOSLINK หรือไม่ ด้วยการมองหาช่องต่อที่เขียนว่า “Optical Audio” หรือ “TOSLINK” หรือ “Digital Audio Out (Optical)” หรือชื่อที่คล้ายกันนี้

แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำป้ายกำกับเพื่อบอกว่าช่องไหนเป็นช่อง TOSLINK ให้วุ่นวาย เนื่องจากช่องดังกล่าวโดดเด่นกว่าช่องอื่น ลักษณะเป็นช่องขนาดเล็กมีบานพับเหมือนประตูที่เปิดเข้าด้านในเพียงอย่างเดียว นอกจากรูปทรงที่เด่นชัดแล้ว หากเปิดเครื่องคุณจะเห็นแสงเลเซอร์สีแดงสว่างออกมารอบ ๆ บานประตูดังกล่าว

แม้จะเป็นมาตรฐานที่ใช้กันมากว่า 30 ปี ประโยชน์ที่ได้รับจากช่องดังกล่าวมีเพียงไม่กี่อย่าง ถึงแม้ TOSLINK ยุคใหม่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นแล้วก็ตามที มันก็ยังคงเป็นช่องเดียวที่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์

นั่นคงเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนอยากรู้มานาน แต่ก็มีอีกหลายคำถามเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็น เมื่อไร TOSLINK จะหมดไป มันจะเป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่หรือไม่

เวลาโดยเฉลี่ยที่ผู้ใช้งานโฮมเธียเตอร์จะสนใจเปลี่ยนเครื่อง สาย TOSLINK ก็จะถูกแทนที่ด้วยสาย HDMI หรือเปล่า (สาย HDMI ไม่เพียงใช้งานง่าย มันยังสามารถส่งผ่านสัญญาณภาพและเสียงไปได้พร้อมกัน

อีกทั้งยังรองรับสัญญาณเสียงที่มีรายละเอียดสูงอย่าง Dolby TrueHD และ DTS HD Master Audio ได้อีกด้วย แต่สำหรับสาย TOSLINK ไม่รองรับภาพและสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงมาก ๆ)

อรรถประโยชน์จากช่องสัญญาณเสียงแบบออปติค (ในปัจจุบันก็ยังมีประโยชน์)
ในเมื่อสาย HDMI สามารถเข้ามาแทนที่ TOSLINK ได้ ทำไมถึงยังต้องสนใจ TOSLINK อยู่ ?

คงต้องยอมรับความจริงที่ว่าสาย TOSLINK มีความจำเป็นสำหรับชุดเครื่องเล่นวิดีโอน้อยมาก มันถูกแทนที่ด้วยสาย HDMI แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าสาย TOSLINK จะต้องถูกเก็บเข้ากรุ กลายไปมาตรฐานสำหรับขั้วต่อสายที่มีอยู่แค่ในพิพิธภัณฑ์

ระบบการเชื่อมต่อผ่าน TOSLINK ยังคงสามารถรองรับเสียงที่มีรายละเอียดสูงได้สูงสุดถึง 7.1 แชนเนล สำหรับผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่ติดตั้งระบบเองมักไม่ค่อยเห็นความแตกต่างทางด้านคุณภาพเสียงระหว่างการเชื่อมต่อผ่านสาย HDMI กับการเชื่อมต่อผ่านสาย TOSLINK ได้ชัดเท่าไรนัก

บทความนี้ไม่ได้พยายามโน้มน้าวให้คุณเปลี่ยนจากสาย HDMI ไปใช้สาย TOSLINK แทน ซึ่งหากอุปกรณ์ทั้งหมดของคุณและทุกอย่างสามารถทำงานตามที่คุณต้องการได้ดีอยู่แล้วก็ใช้งานกันต่อไป

จุดประสงค์ของบทความนี้ก็เพื่อเน้นให้เห็นว่ามาตรฐาน TOSLINK นั้นเป็นขั้วต่อที่อยากจะใช้ขึ้นมาถึงจะเห็นคุณค่า มีไว้เผื่อต้องการนำไปใช้กับระบบเสียงแบบดิจิทัลขึ้นมาวันไหน เมื่อนั้นแหล่ะคุณถึงคิดว่าคุณโชคที่มีมัน หรือเมื่อคุณคิดว่าไม่มีทางที่จะจัดการกับระบบเสียงให้เป็นไปตามที่คุณต้องการได้ TOSLINK ก็จะเข้ามาช่วยคุณได้ในวันนั้น

ลองมาดูสถานการณ์ทั่วไปสัก 3 กรณี เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้งาน TOSLINK มาดูกันซิ ว่ามันทำอะไรได้บ้าง

มันช่วยให้อุปกรณ์เครื่องเสียงยุคเก่ายังทันสมัยใช้งานได้
นี่อาจเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่หันมาใช้และนิยมเชื่อมต่อผ่านทาง TOSLINK กันในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย หากคุณมีรีซีฟเวอร์เครื่องเก่าซึ่งยังคงให้คุณภาพเสียงที่ดีอยู่ โดยรีซีฟเวอร์เครื่องดังกล่าวมีช่องเชื่อมต่อทุกสิ่งอย่างที่มี ๆ กันอยู่ทั่วไป ยกเว้นอินพุต HDMI

คุณไม่จำเป็นต้องย้อนเวลาเพื่อกลับจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อรีซีฟเวอร์ที่ดีกว่าเครื่องที่ใช้อยู่ และไม่จำเป็นต้องหาทางขายเครื่องเก่าทิ้งเพื่อซื้อเครื่องรุ่นใหม่ที่ทันสมัยกว่า และมีขั้วต่อครบทุกอย่าง (ยกเว้นเครื่องเก่ามันไม่ไหวจริง ๆ แล้ว)

โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็น ทีวี เครื่องเล่นบลูเรย์ เครื่องเล่นเกม และอุปกรณ์ส่วนใหญ่มักจะมีช่องต่อเอาต์พุต TOSLINK มาให้ คุณสามารถเชื่อมต่อสัญญาณภาพจาก HDMI จากแหล่งสัญญาณ (กล่องเคเบิ้ล) ไปยังทีวี จากนั้นทำการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงผ่านสาย Optical ไปยังรีซีฟเวอร์ซึ่งต่อเชื่อมกับชุดลำโพงของคุณ

พึงจำไว้ TOSLINK อยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 1983 มันจึงเป็นหนทางที่ดีสำหรับการเชื่อมต่อสัญญาณภาพและเสียงร่วมกับรีซีฟเวอร์ที่มีอายุย้อนหลังกลับไปนับสิบปี เนื่องจากเครื่องเหล่านั้นจะมีขั้วต่อ TOSLINK มาให้พร้อมกับตัวเครื่องรีซีฟเวอร์อยู่แล้ว

ใช้สำหรับแยกการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงออกจากสัญญาณภาพ
คุณสามารถแยกสัญญาณเสียงที่มากับสาย HDMI ออกไปใช้อิสระได้ แต่มันอาจจะดูค่อนข้างจุกจิกอยู่บ้าง โดยจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณเสียง หรืออะแดปเตอร์แปลงหัวสัญญาณและอุปกรณ์อื่นอีกหลายอย่าง

หากคุณต้องการที่จะแยกสัญญาณเสียงจากแหล่งสัญญาณดิจิทัลแล้ว วิธีการที่ง่ายที่สุดทำได้โดยเชื่อมต่อผ่านทางช่อง TOSLINK

ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการใช้เครื่องเล่น Blu-ray ของคุณใช้เล่นแผ่น CD โดยไม่ต้องการเปิดทีวีในระหว่างรับฟังเพลงจากแผ่นซีดี หากเครื่องเล่น Blu-ray มีช่อง TOSLINK อยู่แล้วคุณสามารถส่งสัญญาณเสียงผ่านทางสายออปติคัลไปยังรีซีฟเวอร์ได้เลย

อุปกรณ์แปลงสัญญาณดิจิทัล Optical เป็นอะนาล็อก

หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง: คุณมีชุดลำโพงที่สภาพดีซึ่งติดตั้งเข้ากับรีซีฟเวอร์ที่คุณภาพยังดีอยู่ แต่รีซีฟเวอร์มีอายุอานามอยู่มานานมากแล้วจึงไม่มีช่องต่อสัญญาณเสียงดิจิทัลและช่องต่อ TOSLINK จึงจำเป็นต้องเสียเงินอีกไม่กี่ร้อยบาทเพื่อซื้ออุปกรณ์แปลงสัญญาณแสงเป็นสัญญาณเสียงอะนาล็อก มาต่อไว้ระหว่างเอาต์พุตของเครื่องเล่นและอินพุตอะนาล็อกของรีซีฟเวอร์ เท่านี้ก็เรียบร้อย ข้อจำกัดในเรื่องการใช้งานสัญญาณดิจิทัลกับอุปกรณ์ที่รับแต่สัญญาณอะนาล็อกก็จะหมดไป

จะทำอย่างไรถ้าคุณต้องการใช้หูฟังแบบอะนาล็อกต่อเข้ากับทีวีของคุณ แต่คนข้างกายของคุณต้องการจะฟังเสียงจากลำโพงของทีวีโดยตรง จะทำยังไงให้ทั้งคู่สามารถฟังเสียงได้ด้วยระดับความดังเสียงที่แตกต่างกัน

โดยปกติแล้วเครื่องรับโทรทัศน์และรีซีฟเวอร์ต่างก็มีช่องเสียบหูฟังติดมาให้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อเสียบหูฟังเข้ากับทีวีหรือรีซีฟเวอร์ เครื่องก็จะหยุดปล่อยเสียงออกลำโพง ในกรณีแบบนี้คุณสามารถนำตัวแปลง TOSLINK มาใช้งานส่งสัญญาณเสียงที่ต้องการได้อีกเช่นกันในการ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลว่าเสียงจะไม่ออกเนื่องจากโดนมาตรฐานการป้องกันการก็อปปี้เหมือนกับช่อง HDMI

ช่วยกำจัดเสียงฮัมเนื่องจากกราวน์ลูป
หากมองกราวน์ลูปในแบบวิศวกรรมไฟฟ้าแล้วละก็ นั่นจะกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนเลยทีเดียว แทนที่จะลงลึกไปอธิบายความหมายว่ากราวน์ลูปคืออะไร (ไว้มีโอกาสผู้แปลจะนำข้อมูลมานำเสนออีกที) คงยากไปนิด

เอาเป็นว่าโดยทั่วไปกราวน์ลูปจะเกิดขึ้นเมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีสายดินติดเครื่องต่อใช้งานมากกว่า 1 อุปกรณ์ โดยอุปกรณ์บางตัวระบบลงกราวน์ไม่ดีเท่าที่ควรจึงเกิดเสียงรบกวนความถี่ต่ำ ๆ (ฮัม) ดังออกลำโพง

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดกราวน์ลูปขึ้นในอุปกรณ์ทางด้านความบันเทิงภายในบ้านเห็นจะเป็นเพราะสายสัญญาณที่ใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ากับทีวีนั้นมีระบบกราวน์ที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างในกรณีที่ปลั๊กไฟและอุปกรณ์มีเดียต่าง ๆ ได้เชื่อมต่ออยู่กับระบบกราวน์เดียวกัน (หวังว่าระบบกราวน์ในบ้านของท่านจะต่อระบบเข้ากับระบบไฟหลักและเชื่อมต่อลงดินภายนอกบ้านอย่างถูกต้อง)

แต่สาย Coaxial จากเครื่องเล่นตัวหนึ่งถูกต่อสายดินไว้กับระบบกราวน์จากที่อื่น (มักจะเชื่อมต่อเข้ากับท่อน้ำเหล็กหรือต่อเข้ากับหัวก๊อกน้ำทองเหลืองที่อยู่ใกล้กับสายไฟเข้าบ้าน)

การเชื่อมต่อระบบกราวน์จาก 2 จุดดังกล่าวมา จะทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างตำแหน่ง ความแตกต่างของการถ่ายเทพลังงานไฟฟ้า และค่าความต่างศักย์ของพลังงานไฟฟ้าระหว่างตำแหน่งการลงกราวน์ทั้งสอง

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการทำให้ระบบไฟฟ้าติดขัดไหลเวียนพลังงานไม่สะดวก หากโชคดีระบบกราวน์ไม่เกิดปัญหาใด ๆ หรือคุณไม่ทันสังเกต ก็จะไม่พบความผิดปกติใด ๆ แต่ในบางครั้งก็อาจจะเกิดเสียงฮัมออกลำโพงให้ได้ยินอย่างชัดเจน อีกทั้งอาจจะทำความเสียหายให้กับอุปกรณ์ได้อีกด้วย

หากจะให้สมบูรณ์แบบเราจะต้องหาแหล่งที่มาซึ่งทำให้เกิดกราวน์ลูปและแก้ไขมัน แต่ในบางครั้งคุณอยู่ในสภาวะที่ดีอยู่แล้ว (ขอให้โชคดีในการหาต้นเหตุที่ทำให้ระบบกราวน์มีปัญหาถ้าหากคุณอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นต์ขนาดใหญ่)

ในกรณีเช่นนี้คุณสามารถตัดเสียงรบกวนจากระบบเสียงของคุณออกได้โดยการแยกอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงฮัมด้วยการเชื่อมต่อผ่านสาย TOSLINK เนื่องจากว่าสาย TOSLINK เป็นสายใยแก้วนำแสงซึ่งสร้างขึ้นมาจากพลาสติกหรือแก้ว จึงไม่สามารถนำไฟฟ้าใด ๆ ไปส่งผลให้เกิดสัญญาณรบกวนขึ้นกับระบบกราวน์


แม้ว่า HDMI จะสามารถแทนที่ TOSLINK ได้เนื่องจากมีความสามารถที่เหนือกว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายกว่า แม้สาย TOSLINK ดูจะด้อยค่าแต่อย่างไรก็ยังคงติดมาให้กับเครื่องเล่นมีเดียรุ่นใหม่ ๆ เสมอ

หากไม่เกิดอะไรขึ้นก็ดูเหมือน TOSLINK ไม่มีความจำเป็นแต่หากต้องการใช้ขึ้นมานี่แหล่ะ TOSLINK จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ประหยัดเวลาในการหาวิธีเชื่อมต่อได้มาก

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ