รีวิว Klipsch : The Nines “ลำโพงแอคทีฟที่ทำให้คุณภาพเสียงและความเรียบง่าย กลายเป็นเรื่องเดียวกัน”
ผมได้ฟังเสียงของลำโพง Klipsch รุ่น The Nines ซึ่งเป็นรุ่นท้อปในกลุ่มลำโพงแบบแอคทีฟระดับพรีเมียมของ Klipsch ครั้งแรกในงานโอเพ่นเฮาส์ของร้าน Theater House ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ครั้งแรกที่เห็นสิ่งที่สะดุดตาเห็นจะหนีไม่พ้นดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ของลำโพงยี่ห้อนี้ ไล่เรียงไปจนถึงเรื่องของงานตู้สวย ๆ ที่ตกแต่งด้วยเป็นผิวไม้วีเนียร์แท้
ทว่าสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผมมากไปกว่านั้นคือทฤษฎีในการออกแบบลำโพงระบบแอคทีฟของ Klipsch และพลังเสียงที่ผมได้ยินในเบื้องต้น ซึ่งเข้าใจว่าแม้ปัจจัยแวดล้อมในเวลานั้นยังไม่อำนวยนักแต่ก็ยังพอสัมผัสได้ถึง ‘ความพิเศษ’ ที่รอโอกาสจะถูกปลดปล่อยออกมาจากลำโพงคู่นี้
คุณสมบัติและการออกแบบ
ด้วยความที่เป็นลำโพงแอคทีฟในตระกูลสูง Klipsch The Nines รวมถึงรุ่นรองในตระกูลเดียวกันอย่าง The Sevens และ The Fives จึงมาพร้อมกับการออกแบบที่พิเศษกว่าลำโพงแอคทีฟระดับเริ่มต้นของแบรนด์เอง
ความพิเศษที่ว่านี้คือการออกแบบให้ The Nines (และเพื่อนร่วมตระกูลเดียวกัน) เป็นลำโพงระบบแอคทีฟโดยแท้ตามนิยามที่ได้กล่าวถึงเอาไว้ในบทความนี้ (https://www.avtechguide.com/passive-vs-active-speakers-buyers-guide/) กล่าวคือ มันไม่ใช่แค่ลำโพงที่มีภาคขยายเสียงในตัวเท่านั้น แต่วงจรตัดแบ่งความถี่เสียงในตัวลำโพงยังเป็นระบบแอคทีฟด้วย เมื่อทำงานร่วมกับภาคขยายเสียงระบบไบแอมป์แยกขับไดรเวอร์ทั้งสองส่วน จึงทำให้ Klipsch The Nines เป็นลำโพงระบบแอคทีฟที่สมบูรณ์แบบโดยนิยาม (แอคทีฟไบแอมป์)
Klipsch The Nines เป็นลำโพงแอคทีฟแบบสองทาง โดดเด่นด้วยทวีตเตอร์ Tractrix horn โดม Titanium LTS vented ขนาด 1 นิ้ว ทำงานร่วมกับวูฟเฟอร์ช่วงชักยาวขนาด 8 นิ้วที่ไดอะแฟรมเป็นกรวยไฟเบอร์คอมโพสิต ตัวขับเสียงทั้งหมดทำงานในโหมดไบแอมป์แอคทีฟครอสโอเวอร์ โดยมีภาคขยายเสียงในตัวกำลังขับ 20 วัตต์ขับทวีตเตอร์ และ 100 วัตต์ขับวูฟเฟอร์ ของลำโพงแต่ละข้าง
ตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 34Hz-25kHz (+/- 3dB) หากใช้งานฟังก์ชัน DYNAMIC BASS EQ ระบบจะช่วยหนุนความถี่ช่วง 22Hz ให้เด่นขึ้นมาเมื่อเปิดฟังเบา ๆ ประมาณ 35% ของปุ่มปรับความดังเสียง (ประมาณ Loudness ที่บูสต์เฉพาะในย่านความถี่ต่ำ ๆ)
ด้านตัวตู้ลำโพงเป็นระบบสะท้อนเสียงทุ้ม (เบสรีเฟลกซ์) โดยมีท่อเปิดทรงปากแตรอยู่ด้านหลัง โครงสร้างตู้ลำโพงผลิตจากวัสดุ MDF ตกแต่งผิวตู้ด้วยผิวลายไม้วีเนียร์แท้ ตัวตู้ลำโพงที่อยู่ในรีวิวนี้เป็นผิวลายไม้วอลนัท พร้อมหน้ากากผ้าสีขาวนวล ๆ ดูหรูหราคลาสสิกและดูดีเอาเรื่องเลยทีเดียว
ตัวลำโพงแบ่งออกเป็นลำโพงหลัก (Primary) และลำโพงรอง (Secondary) ลำโพงหลัก (Primary) คือลำโพงข้างที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์อยู่ข้างในและเป็นส่วนที่มีขั้วต่อสารพัดว่าไปตั้งแต่สายไฟเอซีเข้าเครื่องแบบ IEC สามขา และขั้วต่อสัญญาณในรูปแบบต่าง ๆ ว่าไปตั้งแต่ขั้วต่อสัญญาณขาเข้า/ขาออกสำหรับสัญญาณอะนาล็อก (ขั้วต่ออาร์ซีเอ PHONO/LINE IN, ขั้วต่อ 3.5mm AUX IN, ขั้วต่อ RCA SUB OUT)
ขั้วต่อรับสัญญาณอีกส่วนหนึ่งสำหรับสัญญาณดิจิทัล มีให้เลือกทั้ง HDMI ARC, OPTICAL และ USB AUDIO (Type-B) โดยวงจร D/A Converter หรือ DAC ในตัวลำโพงนั้นรับรองสัญญาณเสียง hi-res audio ในรูปแบบของสัญญาณ PCM ระดับ 24bit/192kHz นอกจากนั้นแล้วลำโพง Klipsch The Nines ยังสามารถรับสัญญาณขาเข้าแบบไร้สายทาง Bluetooth 5.0 พร้อม aptX HD (SBC, AAC, aptX, aptX HD)
สำหรับขั้วต่อด้านหลังตู้ลำโพงบริเวณมุมล่างซ้าย เป็นขั้วต่อสัญญาณแบบสี่ขา (4-Pin Connector) เป็นจุดเชื่อมต่อสัญญาณเสียงระหว่างลำโพงหลักและลำโพงรอง สังเกตว่าเมื่อตัวลำโพงเป็นระบบไบแอมป์ แยกแอมป์สำหรับขับทวีตเตอร์ และแอมป์สำหรับขับวูฟเฟอร์
การเชื่อมต่อและการใช้งานเบื้องต้น
นอกจากตัวลำโพงหลักและลำโพงรองแล้ว Klipsch The Nines ยังมาพร้อมอุปกรณ์มาตรฐานไม่ว่าจะเป็นสายไฟเอซียาวสองเมตร, สายลำโพงพิเศษแบบสี่ขา (4-Pin Connector) ความยาวสี่เมตรสำหรับใช้เชื่อมต่อระหว่างลำโพงหลักและลำโพงรอง พร้อมสายเพิ่มความยาวอีกสองเมตรในกรณีที่สายยาวสี่เมตรไม่พอใช้งาน, สาย USB (Type-B to Type-A) ความยาว 1.5 เมตร รวมถึงสาย HDMI ความยาว 1.5 เมตร
ที่ตัวลำโพงหลักนอกจากขั้วต่อด้านหลังตู้ลำโพงแล้ว ที่ด้านบนของตู้ลำโพงยังมีส่วนของระบบควบคุมสั่งงานแบบล้อเลื่อนที่มีลักษณะคล้าย scroll wheel ของเมาส์ที่ใช้สั่งงานคอมพิวเตอร์แต่มีขนาดใหญ่กว่าอยู่สองชุด ชุดหนึ่งทำหน้าที่เลือกช่องทางที่ใช้ในการรับสัญญาณขาเข้า อีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ปรับระดับความดังของเสียง
นอกจากการควบคุมสั่งงานที่ตัวลำโพงหลักโดยตรงแล้ว ลำโพง Klipsch The Nines ยังมาพร้อมกับรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดที่สามารถใช้ควบคุมสั่งงานได้แทบทุกฟังก์ชัน
ส่วนตัวผมว่าตัวจริงของลำโพง Klipsch The Nines นั้นดูดีกว่าที่เห็นบนหน้าจอ ตัวตู้มีน้ำหนักมากข้างละ 12 กิโลกรัมกว่า ๆ ลองเคาะดูสัมผัสได้ถึงความแข็งแรงแน่นหนา แม้แต่ตัวลำโพงรองที่ไม่ได้มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์อยู่ข้างในเหมือนตัวลำโพงหลักก็ตามมันก็ยังหนักเอาเรื่องอยู่ดี ใต้ฐานลำโพงรองด้วยแผ่นไม้คอร์กบาง ๆ ป้องกันลำโพงลื่นไถลและช่วยกันริ้วรอยขีดข่วนบนพื้นผิวของวัสดุที่ตู้ลำโพงจะไปวางด้วย
ตัวลำโพงหลักออกแบบให้สามารถใช้งานเป็นลำโพงข้างซ้ายหรือข้างขวาก็ได้ (เลือกจากสวิตช์ด้านหลังตู้ลำโพง) เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในชุดเครื่องเสียง ส่วนลำโพงรองก็ใช้งานเป็นลำโพงอีกข้างหนึ่งที่เหลือ
สำหรับการเชื่อมต่อสัญญาณขาเข้าที่ช่องทางต่าง ๆ ของลำโพงนั้นในเบื้องต้นทาง Klipsch ได้แนะนำเอาไว้ประมาณนี้ การเชื่อมต่ออินพุต HDMI ARC นั้นเหมาะจะใช้งานกับสมาร์ททีวีรุ่นใหม่ที่มีขั้วต่อ HDMI ARC/eARC (เช่น Xiaomi Q1E) เพื่อเชื่อมโยงเสียงจากคอนเทนต์ในทีวีมาออกลำโพง The Nines ในกรณีที่สัญญาณขาออกจาก HDMI ของทีวีให้ตั้งค่าเอาไว้ที่ PCM หรือ LPCM
ขั้วต่อ OPTICAL นั้นเปิดกว้างสำหรับเชื่อมต่อกับทีวีรุ่นเก่า ๆ ที่ไม่มี HDMI ARC หรือเครื่องเล่นซีดี/ดีวีดี/บลูเรย์ หรือแหล่งสัญญาณเสียงดิจิทัลอื่น ๆ ที่มีเอาต์พุต OPTICAL ซึ่งในที่นี้ผมได้ลองเชื่อมต่อกับ Belkin SOUNDFORM CONNECT Audio Adapter with AirPlay 2 ทำให้ผมสามารถเล่น AirPlay 2 กับลำโพงแอคทีฟรุ่นนี้ได้ ก็แนะนำไว้เป็นอีกหนึ่งไอเดียในการใช้งานครับ นอกเหนือไปจากการสตรีมไร้สายด้วยบลูทูธในตัวลำโพง
สำหรับขั้วต่ออินพุต USB ผมต่อกับแล็ปท็อป (Acer Swift 5, Apple MacBook Pro M1) ที่เล่นเพลงจากแอปฯ Roon โดยใช้ DAC ในลำโพง The Nines ซึ่งรองรับ hi-res audio ด้วย ทำหน้าที่ถอดรหัสเสียง
ด้านช่องอินพุตรับสัญญาณอะนาล็อก ส่วนที่เป็นขั้วต่อ RCA ผมใช้งานกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง Thorens TD 203 + หัวเข็ม Soundsmith Carmen สลับกับสตรีมเมอร์อย่าง Bluesound Node X ส่วนอินพุต AUX ผมใช้งานกับสตรีมเมอร์คุณภาพดีราคาย่อมเยาอย่าง WiiM Pro
เรียกว่าผมได้ลองใช้งานกับขั้วต่อเกือบทั้งหมดด้านหลังลำโพงหลัก เหลือเพียงขั้วต่อซับวูฟเฟอร์ซึ่งผมเห็นว่าในกรณีใช้งานในห้องของผมอาจไม่จำเป็นนัก เพราะว่าไดรเวอร์ 8 นิ้วของลำโพงนั้นก็ให้พลังเสียงเหลือเฟืออยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่เน้นใช้ดูหนังการเพิ่มซับวูฟเฟอร์เข้ามาเพื่อเสริมความกระหึ่มก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจเหมือนกันครับ
Klipsch Connect
นอกจากด้านฮาร์ดแวร์แล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจของ Klipsch The Nines ก็คือซอฟต์แวร์ ลำโพงรุ่นนี้มี companion app ในสมาร์ทโฟนชื่อ Klipsch Connect
Klipsch Connect สามารถใช้งานได้โดยการเชื่อมต่อลำโพงกับสมาร์ทโฟนทางบลูทูธ ตัวแอปฯ เปิดโอกาสให้เราสามารถใช้สมาร์ทโฟนทำหน้าที่ควบคุมสั่งงานได้เหมือนกับเป็นรีโมตคอนโทรล เช่น การเลือกอินพุตหรือการปรับความดังเสียง รวมถึงการตั้งค่าพื้นฐาน ตลอดจนการอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้ตัวลำโพง
สำหรับการตั้งค่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสียงโดยตรงก็มีการปรับ EQ, การเปิดใช้งาน Dynamic Bass และการเปิดใช้งาน Night Mode ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ตามสภาวะการใช้งานหรือรสนิยมส่วนบุคคล ทว่ามีอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญเป็นพิเศษนั่นคือ ส่วนของ ‘Speaker Placement’
Speaker Placement ทำหน้าที่ช่วยปรับชดเชยเสียงในย่านความถี่ต่ำให้เหมาะสมตามตำแหน่งการจัดวางลำโพง หากเราวางลำโพงเอาไว้ที่มุมห้อง ก็ให้เลือกไปที่ ‘Corner’ ฟังก์ชันนี้จะลดเสียงทุ้มลึกลงไป 6dB เพื่อลดอาการบูมหรือเสียงทุ้มบวมอื้ออึงซึ่งเป็นไปตามปกติของระบบอะคูสติกในห้อง และในกรณีที่เราวางลำโพงแนบชิดผนังซึ่งเสียงทุ้มที่ถูกหนุนขึ้นมาตามสภาพอะคูสติกก็ลดลงไปเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการวางที่มุมห้อง กรณีนี้ให้เลือกไปที่ ‘Wall’ เพื่อให้เสียงทุ้มลึกถูกปรับลดลงไป 3dB
สำหรับกรณีที่เราวางลำโพงห่างจากมุมห้องและผนังห้อง ให้เลือกไปที่ ‘Other’ ระบบจะไม่มีการปรับลดเสียงทุ้มลึกลงเลย เนื่องจากไม่ต้องชดเชยปริมาณเสียงทุ้มที่ถูกหนุนขึ้นมาเป็นพิเศษจากสภาพอะคูสติกของห้อง ในรีวิวนี้เนื่องจากผมพอมีที่ทางในการจัดวางลำโพงอย่างเป็นอิสระ ผมจึงได้เลือกตั้งค่า ‘Speaker Placement’ ไว้ตรงนี้
คุณภาพเสียง
ลำโพง Klipsch The Nines เป็นลำโพงที่แนวเสียงออกได้ทั้งสองหน้า คือได้ทั้งบู๊และบุ๋น ฟังเพลงนิ่ม ๆ หวาน ๆ ลีลาอ่อนช้อยก็เคลิบเคลิ้มตามได้ไม่ยาก พอเปลี่ยนไปฟังเพลงที่มีความรุกเร้าหรือหนักแน่นดุดัน วงจรแอคทีฟไบแอมป์และวูฟเฟอร์ 8 นิ้วของลำโพงคู่นี้ได้สำแดงฤทธิ์เดชของมันออกมาให้เป็นที่ประจักษ์
สมดุลเสียงในภาพรวมของลำโพงรุ่นนี้มีลักษณะผ่อนคลายมากกว่ารุกเร้า สมดุลเสียงตลอดย่านความถี่เสียงมีลักษณะกระเดียดไปทางอบอุ่นนุ่มนวลเล็กน้อย ทวีตเตอร์โดมไทเทเนียมที่เป็นระบบฮอร์นโหลด ไม่มีลักษณะพุ่ง เกร็งกระด้างหรือแข็งกร้าวเลย ใครที่ไม่ชอบทวีตเตอร์โดมโลหะที่เสียงแข็ง ๆ สบายใจได้
เข้าใจว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ตัวไดอะแฟรมของทวีตเตอร์นั้นมีตำแหน่งอยู่ลึกเข้าไปด้านในตู้มากกว่าไดอะแฟรมของวูฟเฟอร์ คล้ายกับว่าเป็นการจัดไทม์อะไลน์เมนต์ให้ตัวขับเสียงทั้งสองส่วนไปในตัว ตลอดการฟังลำโพงคู่นี้ผมจึงรู้สึกว่ามันฟังได้รายละเอียดและฟังสบายหูกว่าที่คิด
ผมเริ่มต้นทำความคุ้นเคยกับลำโพงด้วยเพลงแจ๊ซที่พักหลังผมเริ่มฟังบ่อยจนคุ้นเคยอย่าง ‘So What’ จากอัลบั้ม Kind of Blue ของ Miles Davis ผมฟังเพลงนี้ทั้งจากการเล่นแผ่นเสียงสปีด 45 rpm [แผ่นสังกัด Mobile Fidelity Sound Lab รหัส MFSL 2-45011] และฟังจากการสตรีมไฟล์เสียงรายละเอียดสูง 24bit/192kHz [HDtracks]
ในกรณีแรกผมพบว่าภาคโฟโนปรีแอมป์ในลำโพงรุ่นนี้เสียงดีเอาเรื่องเลยทีเดียว ขณะที่การสตรีมจาก Bluesound Node X นั้นก็ให้อารมณ์เข้าถึงบทเพลงได้ดีไม่เป็นรองกัน
ผมสังเกตว่าแม้ลำโพงซ้าย-ขวาจะวางห่างกันถึง 1.90 เมตร แต่เนื้อเสียงจากเปียโน เครื่องเป่าทุกชิ้นในเพลงนี้ก็ยังมีมวลเนื้อเสียงเข้มข้น มีรายละเอียดและบรรยากาศออกมาดีเยี่ยมแทบไม่ได้ต่างไปจากชุดเครื่องเสียงแบบแยกชิ้นชั้นดีเลย
มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่า เสียงเครื่องเป่าแม้จะออกมาในลักษณะสดใสละเมียดละไม ไม่ใช่ลักษณะของความแผดจ้า ทว่าก็ยังเจือด้วยรสชาติของความกัดหูนิด ๆ ตามธรรมชาติของเครื่องดนตรีประเภทนี้ทำให้เสียงนั้นฟังดูสมจริงมากขึ้นไปอีกเหมือนที่ผมเคยได้ยินจากลำโพงพาสสีฟรุ่นไฮเอนด์ของ Klipsch เอง
สำหรับอะคูสติกเบสในเพลงนี้ตัวลำโพง The Nines สามารถถ่ายทอดความอิ่มใหญ่ของเสียงทุ้มออกมาได้พร้อม ๆ กับรายละเอียดที่อยู่ในแต่ละโน้ต คือ ถ้าเราไม่ทราบรายละเอียดของลำโพงรุ่นนี้มาก่อน ก็คงนึกว่ากำลังฟังลำโพงและชุดเครื่องเสียงแยกชิ้นดี ๆ สักชุดอยู่ล่ะครับ
เช่น เดียวกับอัลบั้ม Fairytales ของศิลปิน Radka Toneff & Steve Dobrogosz ซึ่งผมก็มีโอกาสได้ฟังทั้งเวอร์ชันแผ่นเสียง [แผ่น The 40th Anniversary Gatefold Edition แผ่นสังกัด ODIN รหัส ODINLP9582] และไฟล์ MQA ที่ริปมาจากแผ่นเวอร์ชันแผ่น Hybrid SACD [The Original Master Edition – MQA แผ่นสังกัด ODIN รหัส ODINCD9561] ซึ่งชั้น CD-Layer นั้นเป็นข้อมูล MQA-CD ที่เข้ารหัสไฟล์เสียง MQA มา ไม่ว่าจะเป็นการฟังจากสื่อหรือไฟล์ในรูปแบบไหน สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาจากลำโพง Klipsch The Nines คือความเป็นดนตรีที่น่าฟัง นอกจากเสียงร้องใส ๆ หวาน ๆ แล้ว เสียงเปียโนในงานเพลงชุดนี้ก็ได้รับการถ่ายทอดออกมาในลักษณะที่คมชัดสดใสเช่นกัน
เมื่อลองสตรีมเพลงจาก TIDAL ผมพบว่ามากกว่า 90% ของเพลงที่ผมเคยเลือกเก็บเอาไว้ในคอลเล็คชัน สามารถเปิดฟังกับลำโพง The Nines ได้สบาย ๆ ไปตั้งแต่ ร็อครุ่นเก๋าอย่างอัลบั้ม Back in Black ของ AC/DC อัลบั้ม The Wall ของ Pink Floyd หรือว่าเพลงจีนแนวป๊อปสมัยใหม่ของศิลปิน Chen Jia และ Shen Dan เรื่อยไปจนถึงเพลงคลาสสิกที่บรรเลงด้วยวงดนตรีซิมโฟนีออเคสตราหลายสิบอัลบั้ม
ในห้วงเวลาแห่งการฟังเพลงเหล่านั้น ผมรู้สึกว่าตัววูฟเฟอร์นั้นทำหน้าที่ได้ดีเกินคาด คือ มันให้เสียงทุ้มที่มีน้ำหนัก มีแรงปะทะ และมีความนุ่มแน่นผสมผสานอยู่ด้วย เรียกว่าจะฟังเอาสาระก็เพลินหูเพลินตาดี (เสียงดีแถมลำโพงสวย) หรือจะฟังสนุกคึกคักยังไหว… สบาย ๆ เลย
ทว่ามีงานเพลงชุดหนึ่งที่ทำให้ผมต้องนั่ง ‘หูผึ่ง’ (อาจแอบมีอ้าปากค้างเบา ๆ ด้วย เสียดายที่ผมมองไม่เห้นตัวเองในเวลานั้น) ก็คืองานเพลงอัลบั้ม Carmen Ballet, Carnaval Overture, Incidental Music To “Hamlet” โดย Arthur Fiedler / The Boston Pops Orchestra [TIDAL Master, MQA 44.1kHz]
ตลอดทั้ง 13 แทรคแรกที่เป็นงานเพลง ‘Carmen, ballet for strings & percussion’ เสียงที่ผมได้ยินนั้นราวกับว่าไม่ได้มีลำโพงแค่สองตัววางอยู่ตรงหน้าผม ด้วยลักษณะของเวทีเสียงที่ทั้งกว้างและลึก มิติของชิ้นดนตรีที่พร้อมจะไปโผล่ที่ตรงโน้นทีตรงนี้ที ประกอบไดนามิกของเสียงที่ฉวัดเฉวียนขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามบทเพลง สร้างความตื่นตาตื่นใจในการฟังได้ดีมาก ๆ
ครั้นพอฟังถึงท่อน ‘Second Intermezzo’ ท่วงทำนองของเพลงที่ถ่ายทอดผ่านลำโพงคู่นี้ก็กลับกลายเป็นความอ่อนหวานละมุนละไม ให้สัมผัสได้ถึงไดนามิกคอนทราสต์ที่ฟังแล้วชวนให้เคลิบเคลิ้มไปโดยไม่รู้ตัว ก่อนจะปลุกเร้าอารมณ์ให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งด้วยเพลงถัดไปอย่าง ‘Bolero’ และ ‘Toreador’
โอเคว่า อารมณ์ร่วมที่ผมได้สัมผัสอยู่นี้ส่วนหนึ่งมาตัวบทเพลงเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าอีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากการถ่ายทอดของชุดเครื่องเสียงที่ใช้งานอยู่โดยมีเจ้าลำโพง Klipsch The Nines เป็นกระบอกเสียงปลายทางด่านสุดท้าย เพราะหลายวาระที่ผมได้ฟังงานเพลงชุดนี้มันก็ไม่ได้เข้าถึงอารมณ์เหมือนอย่างที่ได้สัมผัสอยู่ ณ เวลานี้… (อยากบอกว่า นี่ผมพิมพ์สดแบบถ่ายทอดโดยตรงมาจากโสตประสาทถึงปลายนิ้ว ในขณะที่กำลังฟังเพลงนี้ผ่านลำโพง Klipsch The Nines)
เครื่องเสียงชั้นดีที่ย่อส่วนมารวมไว้ในตัวลำโพง
จากรายละเอียดตามที่ผมได้บอกเล่ามาตั้งแต่ต้น ประกอบกับคลิปบันทึกเสียงจากส่วนหนึ่งของเพลงที่ผมได้ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของลำโพงคู่นี้ ผมเชื่อเหลือเกินว่าผู้อ่านหลายท่านคงได้คำตอบสิ่งที่ถามอยู่ในใจไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะในแง่ของ ‘คุณภาพเสียง’
ในด้านของฟังก์ชันและการใช้งาน Klipsch The Nines ทำให้ผมรู้สึกว่านี่คือ ‘ลำโพงแอคทีฟพันธุ์แท้’ ที่มีความครบเครื่องมาก ๆ รุ่นหนึ่ง มันเหมือนการรวมเอาเครื่องเสียงสเตริโอชั้นดีมาย่อส่วนรวมไว้ในตัวลำโพง
อย่างน้อยก็เหมือนมี ‘อินทิเกรตแอมป์+ดิจิทัลทูอะนาล็อกคอนเวอร์เทอร์’ แถมยังเป็นภาคขยายเสียงแบบไบแอมป์แอคทีฟครอสโอเวอร์ซะด้วย แถมทั้งหมดยังเป็นความลงตัวที่แมตชิ่งกันมาเรียบร้อยจากผู้ผลิตเอง ตัดปัญหามิสแมตช์หรือความไม่เข้ากันระหว่างภาคขยายเสียงและลำโพงซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญระดับ critical ในระบบเครื่องเสียงออกไปเลย
ดังนั้น Klipsch The Nines คือลำโพงแอคทีฟระดับพรีเมียมที่พร้อมจะท้าทายชุดเครื่องเสียงแยกชิ้นทั้งในระดับราคาเดียวกัน หรือแม้ในระดับราคาที่สูงกว่า หมายความว่า เครื่องเสียงแยกชิ้นที่ราคารวม ๆ ทั้งชุดแล้วแพงกว่าลำโพงรุ่นนี้ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะให้เสียงออกมาได้ดีกว่านี้นั่นเองครับ !
สำหรับ pain point หนึ่งในลำโพงรุ่นนี้ที่ต้องเรียนกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ในยุคนี้มีลำโพงแอคทีฟบางรุ่นที่รองรับการเชื่อมต่อและการสตรีมผ่านระบบเน็ตเวิร์กได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น B&W Formation Duo หรือ KEF LSX
ทว่า ณ เวลานี้การขาดคุณสมบัติในส่วนนี้ของ Klipsch The Nines ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอีกต่อไป ในเมื่อเราสามารถลงทุนเพิ่มสตรีมเมอร์คุณภาพดีในราคาไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาทอย่าง WiiM Pro ไปจนถึงระดับไม่เกินสามหมื่นบาทอย่าง Bluesound Node X เพื่อเสริมให้ลำโพงรุ่นนี้มีความครบเครื่องมากยิ่งขึ้นไปอีก … ‘Hearing is Believing’ ครับ
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย:
บริษัท โฮม ไฮ-ไฟ จำกัด
02-448-5489, 02-448-5465-6
www.sound-republic.com
ราคา 65,900 บาท