รีวิว Audio-Technica : AT-LP60XUSB “เครื่องเล่นแผ่นเสียงยุคดิจิทัล ใช้ง่าย เสียงดี ริปเป็นไฟล์ดิจิทัลได้ด้วย”
กระแสความนิยมของแผ่นเสียงนั้นมีแนวโน้มที่ช่วยต่ออายุของสื่อบันทึกเสียงแบบจับต้องได้ชนิดนี้ไม่ให้ถูกกลืนหายไปในยุคของสตรีมมิง อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่เริ่มต้นสนใจการเล่นแผ่นเสียงอาจมีเรื่องที่เป็นกังวลอยู่บ้าง เช่น แผ่นเสียงเล่นยากหรือเปล่า ? จะเล่นแผ่นเสียงต้องจ่ายแค่ไหน ?
เมื่อพิจารณาจากทั้งสองตัวแปรผมว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงในระดับเริ่มต้นก็น่าสนใจ และถ้าเอาเรื่องของชื่อเสียงและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ มาพิจารณาด้วยชื่อของ Audio-Technica AT-LP60X มักจะถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง
เครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบอัตโนมัติยุคดิจิทัล
โดยพื้นฐานแล้ว Audio-Technica AT-LP60X เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับเริ่มต้นที่ตั้งใจออกแบบมาให้ใช้งานง่าย มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมาก ๆ (user friendly) โดยออกแบบให้มีกลไกขับเคลื่อนแผ่นเป็นระบบสายพาน ระบบการทำงานเป็นแบบออโตเมติก (Fully Automatic Belt-Drive Turntable) รองรับการเล่นแผ่นเสียงทั้งสปีด 33 1/3 และ 45 rpm
นอกจากนั้นยังรองรับการเล่นแผ่นเสียงทั้งขนาด 12 นิ้วและ 7 นิ้ว โดยแผ่นประเภทหลังนั้นรองรับทั้งแผ่นแบบรูตรงใจกลางมีขนาดเล็กและแบบรูตรงใจกลางมีขนาดใหญ่
ระบบควบคุมสั่งงานการเล่นแผ่นเสียงเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ การเล่น การหยุดเล่น การยกหัวเข็มขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนความเร็วรอบหมุน สามารถกดปุ่มสั่งงานเอาได้เลยราวกับเป็นเครื่องเล่นซีดี และเมื่อแผ่นถูกเล่นไปจนจบแล้วระบบก็จะช่วยยกหัวเข็มขึ้นก่อนจะนำทั้งหัวเข็มและโทนอาร์มกลับไปวางไว้ที่เดิม (ที่พักโทนอาร์ม)
ตัวเครื่องมาพร้อมกับหัวเข็ม Audio-Technica AT3600L นอกจากนั้นยังมีภาคโฟโนปรีแอมป์มาในตัวซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะใช้งานหรือไม่
อย่างไรก็ดี Audio-Technica AT-LP60X ในปัจจุบันนั้นได้มีการแตกแขนงออกไปอีกสองรุ่น ได้แก่ Audio-Technica AT-LP60XBT (ราคา 8,900 บาท) ซึ่งมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อบลูทูธกับหูฟังหรือลำโพงไร้สายเพิ่มเข้ามา ซึ่ง BT ในชื่อรุ่นก็หมายถึง Bluetooth นั่นเอง
อีกรุ่นหนึงคึอ Audio-Technica AT-LP60XUSB (ราคา 7,500 บาท) รุ่นนี้มีส่วนของขั้วต่อ USB สำหรับใช้งานในลักษณะของออดิโออินเทอร์เฟซเชื่อมกับคอมพิวเตอร์เพิ่มเข้ามา เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถแปลงแผ่นเสียงเป็นไฟล์ดิจิทัลได้แบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องอาศัยตัวช่วยอื่นเพิ่มเติม
ในฐานะที่เป็นคนเล่นไฟล์เสียงดิจิทัลด้วย ผมจึงสนใจ AT-LP60XUSB มากกว่า และนั่นคือที่มาของรีวิวนี้
แกะกล่อง
เช่นเดียวกับ AT-LP60X ความสะดวกและง่ายของ AT-LP60XUSB นั้นสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่แกะกล่อง นี่คือเทิร์นเทเบิ้ลหรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงกึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับการออกแบบ ติดตั้ง ปรับตั้งค่า มาแบบพร้อมใช้งานจากโรงงาน
สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องทำหลังจากแกะกล่องมีเพียงแค่วางแพลตเตอร์อะลูมิเนียมครอบสวมลงบนแกนหมุน คล้องสายพานเส้นแบนเอาไว้กับแกนมอเตอร์ ปลดล็อคโทนอาร์มให้เป็นอิสระ สวมฝาครอบพลาสติกใสเข้ากับแกนบานพับสองจุดที่ด้านหลังเครื่อง เพียงเท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้ว คาดว่าใช้เวลาทั้งหมดไม่น่าจะเกิน 10-15 นาที แม้เป็นคนที่ไม่เคยใช้งานเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาก่อนก็ตาม
สำหรับตัวเครื่องที่วัสดุส่วนใหญ่เป็นพลาสติกและมีน้ำหนักค่อนข้างเบานั้นสำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้งานเครื่องเล่นแผ่นเสียงในระดับสูงมาก่อนอาจไม่ได้ทำให้เกิดความกังวลอะไรมากนักเนื่องจากงานผลิตก็ประณีตเรียบร้อยดี เพียงแต่ไม่ได้รู้สึกถึงความบึกบึน มั่นคง หนักแน่นอะไรทำนองนั้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านี่คือเครื่องเล่นในระดับเริ่มต้นที่ทั้งเครื่องพร้อมใช้งานยังราคาย่อมเยากว่าหัวเข็มบางรุ่นเสียอีก
อย่างไรก็ดี ที่ฐานล่างของเครื่องก็ได้รับการออกแบบให้มีขายางที่มีความยืดหยุ่นและให้ตัวได้ประมาณหนึ่งเพื่อบรรเทาแรงสั่นสะเทือนส่วนเกินจากปัจจัยแวดล้อม ก็ถือว่าเป็นความพยายามในการทำให้เครื่องทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพภายใต้ต้นทุนอันจำกัด
สำหรับหัวเข็ม Audio-Technica AT3600L ที่มาพร้อมกับเครื่องเป็นหัวเข็มประเภทแม่เหล็กเคลื่อนที่ (Moving Magnet, MM) รุ่นยอดนิยมของแบรนด์ โดยยึดมากับตัวโทนอาร์มยาวคืบเศษที่ได้มีการตั้งค่าแรงกดปลายเข็ม (tracking force) ที่เหมาะสมมาแล้ว สามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องไปวุ่นวายกับการปรับตั้งค่าเหล่านั้น
แต่ความง่ายนั้นก็แลกมาด้วยการออกแบบที่ไม่อำนวยให้สามารถเปลี่ยนหัวเข็มทั้งหัว หรือปรับตั้งค่าอะไรที่ตัวโทนอาร์มได้อีกแล้ว มีเฉพาะชิ้นส่วนอะไหล่ของปลายหัวเข็มแบบตรงรุ่นเท่านั้นที่ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนใหม่ได้เองหากว่าใช้งานไปแล้วในส่วนนี้เกิดความสึกหรอ ไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนหัวเข็มใหม่หมดทั้งตัว ซึ่งราคาก็จัดว่าย่อมเยาเช่นกัน
การเชื่อมต่อและการใช้งาน
ขั้วต่อทั้งหมดของ AT-LP60XUSB นั้นรวมกันอยู่ที่ด้านหลังเครื่อง ว่าไปตั้งแต่ขั้วต่อไฟเลี้ยงจากอะแดปเตอร์ 12V ที่มาด้วยกัน ขั้วต่อสัญญาณเอาต์พุต 3.5mm ซึ่งสามารถเชื่อมต่อใช้งานได้ง่าย ๆ ด้วยสาย 3.5mm to Stereo RCA แบบง่าย ๆ ที่ให้มาด้วย และขั้วต่อ USB (Type-B) สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็มีสาย USB แถมมากับตัวเครื่องด้วยเช่นกัน
และเนื่องจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้มีโฟโนปรีแอมป์มาในตัวและสามารถเลือกใช้หรือไม่ใช้งานได้ จึงมีสวิตช์เลือก ‘Phono’ หรือ ‘Line’ อยู่ใกล้ ๆ กันด้วย สำหรับวิธีใช้งานจำง่าย ๆ ว่าตัวอักษรที่กำกับอยู่ที่ตัวสวิตช์นั้นหมายถึงขั้วต่อปลายทางที่เราจะนำ AT-LP60XUSB ไปเชื่อมต่อด้วย (ควรทำความเข้าใจในส่วนนี้ให้ถ้วนถี่เพื่อป้องกันความสับสน)
ในกรณีที่อุปกรณ์ปลายทางของเรามีส่วนของโฟโนปรีแอมป์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินทิเกรตแอมป์, ปรีแอมป์ หรือโฟโนปรีแอมป์แยกชิ้น ขั้วต่อรับสัญญาณของอุปกรณ์เหล่านั้นก็มักกำกับเอาไว้ว่าเป็น Phono ก็ให้เลือกสวิตช์ที่ด้านหลัง AT-LP60XUSB ไปที่ ‘Phono’ ซึ่งกรณีนี้โฟโนปรีแอมป์ในตัว AT-LP60XUSB จะไม่ถูกใช้งาน
ตรงกันข้ามหากว่าอุปกรณ์ปลายทางของเราไม่มีโฟโนปรีแอมป์ ไม่ว่าจะเสียบสัญญาณเข้าทางช่อง CD, AUX, Tuner, Tape, Line In หรืออะไรที่ตามที่ไม่ใช่ Phono ก็ให้เลือกไปที่ ‘Line’ กรณีนี้โฟโนปรีแอมป์ในตัว AT-LP60XUSB จะถูกใช้งาน ดังนั้นเมื่อเลือกสวิตช์ไปที่นี่สายสัญญาณที่เชื่อมต่อออกไปจึงไม่ควรเสียบเช้าในช่องอินพุตที่ได้มีการกำกับคำว่า ’Phono’ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขยายสัญญาณเสียงซ้ำซ้อนกัน
โดยสรุปก็คือ ถ้าจะใช้โฟโนปรีแอมป์ในตัว AT-LP60XUSB ให้เลือกไปที่ ‘Line’ แต่ถ้าหากเลือกใช้โฟโนปรีแอมป์ภายนอกให้เลือกไปที่ ‘Phono’
สำหรับการควบคุมสั่งงาน ปุ่มควบคุมสั่งงานทั้งหมดของเครื่องนั้นรวมอยู่ทางด้านหน้า ด้วยดีไซน์ที่เป็นระบบอัตโนมัติสมบูรณ์แบบ (Fully Automatic) ทำให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนี้ให้ประสบการณ์คล้ายกับการเล่นแผ่นซีดีมาก
คือจะเริ่มเล่นก็แค่กด START ปุ่มเดียว แพลตเตอร์ก็จะหมุน โทนอาร์มก็จะยกหัวเข็มไปวางที่แทรคแรกให้เอง ถ้าจะหยุดเล่นก็แค่กดปุ่ม STOP โทนอาร์มจะยกหัวเข็มขึ้นแล้วเลื่อนมาเก็บเข้าที่ตัวพักอาร์ม ขณะที่แพลตเตอร์ก็จะหยุดหมุน คือย้อนกลับไปสู่สถานะแรกก่อนที่เราเริ่มเล่นโดยอัตโนมัติ
หรือถ้าเราเล่นไปเรื่อย ๆ จนจบเพลงสุดท้ายของหน้าแผ่น ฟังก์ชัน AUTO STOP ของ AT-LP60XUSB ก็จะสั่งให้โทนอาร์มจะยกหัวเข็มขึ้นแล้วเลื่อนมาเก็บเข้าที่ตัวพักอาร์ม จากนั้นแพลตเตอร์ก็จะหยุดหมุนโดยอัตโนมัติ
นอกจากระบบที่เป็นการทำงานแบบอัตโนมัติแล้ว ก็มีบางฟังก์ชันที่ผู้ใช้อย่างเราสามารถกำหนดได้เองอย่างเช่น ความเร็วรอบหมุนโดยการกดเลือกที่ปุ่มด้านซ้ายมือ (ซ้ายสุด) ว่าจะให้เล่นแผ่นที่ความเร็วรอบ 33 1/3 หรือ 45 รอบต่อนาที (rpm) หรือการเลือกขนาดของแผ่นเสียงว่าเป็นขนาด 12 นิ้ว หรือ 7 นิ้ว เพื่อให้เครื่องสามารถกำหนดตำแหน่งของแทรคแรกได้อย่างถูกต้อง
และถ้าหากต้องการยกหรือวางหัวเข็มก็อย่ายกเองอย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบแมนน่วล แต่ให้กดปุ่มด้านขวามือสุดที่หน้าเครื่อง ฟังก์ชันนี้เปิดโอกาสให้เราสามารถพักการเล่นชั่วคราว หรือเริ่มต้นเล่นที่แทรคใด ๆ หรือช่วงเวลาใด ๆ ก็ได้
คุณภาพเสียง
ด้วยความที่ตัว AT-LP60XUSB เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ค่อนข้างสำเร็จรูป สุ้มเสียงจึงมีความกลมกล่อมลงตัวมาเป็นทุนเดิม ภาพรวมของเสียงมีลักษณะนุ่มนวลมากกว่าแจกแจง รายละเอียดอื่น ๆ ถือว่าดีพอใช้งานได้ พอจะให้ได้ยินคุณลักษณะที่ดีของแผ่นเสียงได้สบาย ๆ
สุ้มเสียงแม้ว่าจะไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่มีตำหนิใหญ่ ๆ ที่เป็นมลพิษกับการฟังเพลง ในระหว่างทดสอบใช้งานผมมีโอกาสได้ฟังทั้งแผ่นที่ได้รับการยอมรับว่าเสียงดีเป็นพิเศษ และแผ่นเพลงทั่วไปโดยเฉพาะแผ่นเสียงเพลงไทยที่ได้มีการจัดทำขึ้นมาใหม่ในยุคนี้หลาย ๆ ชุด ทั้งที่เป็นอัลบั้มใหม่เลย หรืออัลบั้มเก่ายอดนิยมที่เอามาทำใหม่
ผมว่าแนวเสียงของ AT-LP60XUSB สามารถใช้ฟังเพลงได้หลากหลายแนว ตั้งแต่เพลงช้าที่มีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น เพลงร้อง pop, jazz ทั่วไป ไปจนถึงเพลงร็อคหนัก ๆ หรือดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟังสนุกคึกคักก็ยังฟังได้อารมณ์ดีเหมือนกัน
สำหรับภาคโฟโนปรีแอมป์ในตัวเมื่อเทียบกับโฟโนปรีแอมป์ภายนอก คุณภาพเสียงที่ได้ถือว่าดีพอสมควร มีอัตราขยายเพียงพอและมีสัญญาณรบกวนต่ำ เรียกว่าสามารถนำไปใช้งานกับอินทิเกรตแอมป์ที่ไม่มีโฟโนปรีแอมป์ในตัวอย่าง Clef Audio 1250A หรือ Cambridge Audio AXA25 ได้อย่างไม่ขัดเขินเลยครับ แถมยังได้คุณภาพเสียงที่ดีมาก ๆ ด้วย
เมื่อลองเทียบกับโฟโนปรีแอมป์ในอินทิเกรตแอมป์รุ่นเล็ก ๆ อย่าง NAD C316BEE V2 ผมพบว่าโฟโนปรีแอมป์ใน AT-LP60XUSB นั้นไม่ได้เป็นรองทั้งในแง่ของอัตราขยาย, สัญญาณรบกวนที่ต่ำ หรือแม้แต่เรื่องของคุณภาพเสียง แต่ถ้าหากขยับไปใช้งานกับอินทิเกรตแอมป์ในระดับสูงกว่านั้นอย่าง Marantz PM7000N หรือ NAD C3050 LE แนะนำให้ใช้โฟโนปรีแอมป์ของอินทิเกรตแอมป์เหล่านั้นแทนโฟโนปรีแอมป์ใน AT-LP60XUSB จะได้คุณภาพเสียงที่น่าพอใจกว่า
ในกรณีที่เราคิดจะอัปเกรดด้วยโฟโนปรีแอมป์แยกภายนอก ตัวอย่างเช่น iFi Zen Phono (8,xxx บาท) หากพิจารณาในแง่ของคุณภาพเสียง ก็สามารถพูดได้ว่าเป็นการ ‘อัปเกรด’ เนื่องจาก Zen Phono นั้นให้เสียงที่กว้างขึ้น เสียงทุ้มที่ลงได้ลึกกว่าเดิม เสียงกลางและแหลมที่มีลักษณะผ่อนปรนฟังสบายหูกว่าเล็กน้อย รวมถึงอัตราขยายแรงที่แรงกว่ากันนิดหน่อย แต่ลำพังราคาของ Zen Phono นั้นก็สูงกว่าตัวเครื่องเล่นไปแล้ว ดังนั้นตัวเลือกนี้จึงอาจยังไม่ใช่การอัปเกรดที่คุ้มค่านัก เว้นเสียแต่ว่าเป็นการซื้อมาใช้งานไปพลาง ๆ ระหว่างรออัปเกรดไปใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นที่สูงกว่านี้ โดยเฉพาะรุ่นที่เปิดโอกาสให้สามารถเปลี่ยนหัวเข็มได้ทั้งหัว
การริปแผ่นเสียงเป็นไฟล์ดิจิทัล
นอกจากการใช้เล่นเพลงจากแผ่นเสียงแล้ว AT-LP60XUSB ยังสามารถทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์สำหรับแปลงสัญญาณจากแผ่นเสียงให้เป็นไฟล์ดิจิทัลได้ด้วย
การเชื่อมต่อในโหมด USB นั้นภายในตัวเครื่องจะเลือกใช้โฟโนปรีแอมป์ในตัวโดยอัตโนมัติ พร้อมวงจร A/D Converter ทำหน้าที่แปลงสัญญาณอะนาล็อกเป็นดิจิทัล ด้วยความละเอียดสูงสุดที่ 16bit/48kHz
การใช้งานในโหมดนี้สามารถใช้งานได้กับคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบปฏิบัติการ Windows (Windows 7 หรือใหม่กว่า) และ macOS (Mac OS X หรือใหม่กว่า) สำหรับซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบันทึกไฟล์เสียงนั้นทางออดิโอเทคนิก้าแนะนำนั้นเป็น ‘Audacity’ ซึ่งเป็นฟรีแวร์และมีให้ใช้งานทั้งใน Windows และ Mac
จากการลองริปซึ่งหมายถึงการแปลงแผ่นเสียงเป็นไฟล์ดิจิทัลด้วย AT-LP60XUSB และ Audacity ผมพบว่าไฟล์เสียง .wav ความละเอียด 16bit/44.1kHz ให้เสียงที่มีความน่าฟังใกล้เคียงกับการฟังจากแผ่นเสียงโดยตรง และพอจะทดแทนกันได้ในกรณีที่เราไม่สะดวกที่จะเปิดฟังเพลงจากแผ่นเสียงโดยตรง
ทว่าที่เป็นไฮไลต์จริง ๆ ต้องยกให้กับความง่ายในการริปเพราะว่า AT-LP60XUSB นั้นแทบจะ ‘เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ ตั้งแต่เครื่องเล่นแผ่นเสียง โฟโนปรีแอมป์ และออดิโออินเทอร์เฟซ ซึ่งคุณภาพการริปและคุณภาพเสียงที่ได้นั้นหากเทียบกับค่าตัวแล้วถือว่าไม่มีอะไรต่ำกว่าความคาดหวังครับ คุ้มค่ามาก ๆ
AT-LP60XUSB เหมาะกับใคร ?
อย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นว่าสำหรับผู้ที่เริ่มต้นสนใจการเล่นแผ่นเสียงอาจมีเรื่องที่เป็นกังวลอยู่บ้าง เช่น แผ่นเสียงเล่นยากหรือเปล่า ? จะเล่นแผ่นเสียงต้องจ่ายแค่ไหน ?
ส่วนตัวหลังจากที่ได้ลองเล่น Audio-Technica AT-LP60XUSB แล้ว ผมคิดว่านี่คือ ‘ตัวเลือกลำดับต้น ๆ’ ที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างลงตัวและคุ้มค่า ผมมั่นใจที่จะยืนยันเช่นนั้นเพราะว่ามีโอกาสได้พิสูจน์มันมาแล้วร่วมสองเดือนเศษ
ลำพังตัวผมเองจากที่เคยคิดว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียงถ้าจะให้ดีต้องเป็นเครื่องเล่นระบบแมนน่วลหรืออัตโนมือเท่านั้น ราคาต้องไปถึงระดับนั้นระดับนี้เท่านั้น สุ้มเสียงจึงจะฟังแล้วได้เนื้อหาสาระ แต่ AT-LP60XUSB ของ Audio-Technica ทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ หันมาพิจารณาเครื่องเล่นแผ่นเสียงในระดับเริ่มต้นด้วยทัศนคติที่เป็นกลางมากขึ้น
สำหรับคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ช่วยให้การริปแผ่นเสียงเป็นไฟล์ดิจิทัลเป็นเรื่องง่ายที่ใคร ๆ ก็ทำเองได้ที่บ้าน ก็เป็นอะไรที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในยุคนี้ อีกทั้งยังทำให้การฟังเพลงจากแผ่นเสียงไม่ได้ถูกปิดกั้นให้ฟังจากแผ่นเสียงโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียว
ดังนั้นสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มมาสนใจการเล่นแผ่นเสียง เรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ การเริ่มต้นกับเครื่องที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและใช้งานง่าย นอกจากไม่ทำให้หลงทางแล้วยังทำให้การเล่นแผ่นเสียงไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากจนอยากเลิกเล่นไปก่อนเวลาอันควร ทำนองเดียวกับที่เขาว่า ‘การติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ เม็ดต่อ ๆ ไปนั้นมันจะก็ราบรื่น’
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย:
บริษัท อาร์ทีบี เทคโนโลยี จำกัด (https://audiotechnica.bentoweb.com/en)
โทร. 02-2871988 ต่อ 8871-3
ราคา 7,500 บาท (เครื่องสีดำ Black หรือสีเทา GunMetal)