fbpx
RECOMMENDEDREVIEW

รีวิว LG : Eclair Soundbar QP5 “ซาวด์บาร์ Dolby Atmos ตัวเล็กเสียงใหญ่ เปิดประสบการณ์ใหม่ทั้งดูหนังและฟังเพลง”

เมื่อพูดถึงลำโพงประเภท ‘ซาวด์บาร์’ ภาพจำแรกที่เรานึกถึงมักเป็นภาพของลำโพงที่มีลักษณะเป็นแท่งยาว บ้างก็มีขนาดใหญ่โตเทอะทะชนิดที่ว่าจัดวางได้ยากลำบากหรือต้องมองหาชั้นวางใหม่

ขณะเดียวกันก็มีลำโพงซาวด์บาร์อีกประเภทหนึ่งที่ตั้งใจออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดเพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการจัดวางหรือมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า ทว่าบางครั้งขนาดที่เล็กลงก็อาจมาพร้อมกับการลดทอนประสิทธิภาพลงไปด้วย

แต่สำหรับลำโพงซาวด์บาร์รุ่นใหม่ของแอลจีอย่าง LG Éclair Soundbar QP5 ทางผู้ผลิตเขายืนยันว่าประสิทธิภาพของมันเกินขนาดตัวไปมาก

คุณสมบัติและการออกแบบ
LG Eclair Soundbar QP5 (จากนี้ไปขอเรียกอย่างย่อว่า Eclair QP5) เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มลำโพงซาวด์บาร์ของแอลจีที่มาพร้อมกับจุดขายด้านการออกแบบอย่างชัดเจน เพราะนอกจากขนาดที่กะทัดรัดแล้วตัวลำโพงยังมีรูปทรงที่โค้งมน ภายนอกหุ้มด้วยผ้าตามแนวทางของเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นที่เน้นวัสดุเรียบง่าย มีสไตล์เฉพาะตัว

สำหรับการออกแบบทางด้านเทคนิค Eclair QP5 เป็นลำโพงซาวด์บาร์ขนาดมินิที่คุณสมบัติไม่ได้มินิไปตามขนาดตัว เพราะด้วยขนาดที่ยาวเพียง 11.7 นิ้วและสูงเพียง 2 นิ้วของตัวซาวด์บาร์เขาได้บรรจุตัวขับเสียงแบบฟูลเรนจ์เอาไว้ทั้งหมด 5 ตัว

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar

ตัวหนึ่งทำหน้าที่เป็นลำโพงเซ็นเตอร์, อีกสองตัวทำหน้าที่เป็นลำโพงซ้ายและขวา ตัวขับเสียงดังกล่าววางทำมุม 45 องศา เพื่อให้ได้มุมกระจายเสียงที่กว้างขวาง ขณะที่ตัวขับเสียงที่เหลืออีกสองตัวติดตั้งแบบยิงเสียงขึ้นด้านบนเพื่อสร้างมิติด้านสูงสำหรับรองรับระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS:X

นอกจากตัวลำโพงซาวด์บาร์หลักแล้ว Eclair QP5 ยังมาพร้อมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สายที่ออกแบบมาด้วยกันเพื่อเสริมมวลเสียงและรายละเอียดในย่านความถี่ต่ำ

ตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สายยังออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัดด้วยเช่นกันโดยใช้ตัวขับเสียงแบบ bi-directional ที่ภายในตัวลำโพงนั้นมีตัวขับเสียงสองตัวที่ตั้งใจออกแบบให้มีความสั่นสะเทือนต่ำ (Low Vibration Subwoofer) จากดีไซน์ภายในแบบสมมาตร

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar

เมื่อทำงานร่วมกับซับวูฟเฟอร์ไร้สายที่ออกแบบมาด้วยกันแล้วลำโพงชุดนี้ก็สามารถถ่ายทอดเสียงรอบทิศทางในระบบ 3.1.2 แชนเนล โดยอาศัยการสนับสนุนจากภาคขยายเสียงในตัวกำลังขับรวม 320 วัตต์ แบ่งเป็น 20 วัตต์สำหรับตัวขับเสียงแต่ละตัวในซาวด์บาร์ และอีก 220 วัตต์สำหรับตัวซับวูฟเฟอร์โดยเฉพาะ

มีหนึ่งความน่าสนใจคือลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้ทาง LG ก็ยังคงได้พันธมิตรเดิมอย่าง Meridian Audio ผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ชื่อดังมาช่วยในส่วนของการออกแบบและปรับจูนระบบเสียงเหมือนเช่นเคย หลังจากที่ทั้งสองแบรนด์เคยได้ร่วมงานกันมาแล้วหลายผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ซาวด์บาร์รุ่น SL9Y ที่เราเคยรีวิวไปก่อนหน้านี้

ลำโพงซาวด์บาร์ Eclair QP5 มีให้เลือกสองสีด้วยกัน ได้แก่ สีขาวและสีดำชาร์โคล วางจำหน่ายในราคา 18,990 บาท สามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ที่ ณ ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายที่เพาเวอร์บาย,โฮมโปร, เพาเวอร์มอลล์ ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.lg.com/th/audio/lg-qp5w หรือสอบถามข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลแอลจี 0-2878-5757

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar

การเชื่อมต่อและลองใช้งานเบื้องต้น
ครั้งแรกที่ได้รับ Eclair QP5 แค่กล่องบรรจุภัณฑ์ก็น่าสนใจแล้วครับ มันมีขนาดประมาณกล่องใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กหน้าจอใหญ่สักหน่อยเท่านั้นเองครับ ให้ลืมภาพของกล่องลำโพงซาวด์บาร์ที่มีขนาดใหญ่โตจนอาจมีปัญหากับการขนกลับบ้านด้วยรถอีโคคาร์คันน้อยไปได้เลย

แถมกล่องของ Eclair QP5 ก็ยังมาในเทรนด์รักษ์โลกโดยเขาได้เปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์แบบโฟมมาเป็นแบบกระดาษซึ่งสามารถรีไซเคิลได้ 100% และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม โดยได้รับการรับรอง SGS Eco-Product จากสถาบัน SGS จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อเลือกซื้อซาวด์บาร์รุ่นนี้เราก็ได้มีส่วนรับผิดชอบและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

เอาล่ะครับ มาถึงตัว Eclair QP5 บ้าง ผมยอมรับเลยว่าตัวจริงของลำโพงรุ่นนี้มันดูสวยกว่าที่เห็นในภาพเสียอีก ก็ไม่แปลกใจเลยไปได้รางวัล iF Design Award 2021 และ CES Innovation Awards 2021 มาแล้ว

และนอกจากบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วตัวลำโพง Eclair QP5 ก็ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน อย่างผ้าที่หุ้มผิวด้านนอกก็ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ และวัสดุรีไซเคิลมาจากขวดน้ำดื่ม ขณะที่พลาสติกที่ใช้ผลิตตัวตู้ลำโพงก็ผลิตมาจากพลาสติกรีไซเคิลด้วยเช่นกัน

แต่เห็นว่าผลิตจากวัสดุรีไซเคิลอย่างนี้อย่าประเมินว่ามันจะดูก๊องแก๊งนะครับคือเนื้องานของเขาประณีตเรียบร้อยดูดีมาตรฐานสูงเลย ตัวซาวด์บาร์กับตัวซับวูฟเฟอร์นี่ถือว่าค่อนข้างหนักเลยนะครับ เรียกว่าจะมองหรือสัมผัสของจริงก็รู้สึกได้ว่าเป็นสินค้าพรีเมียม

อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มาด้วยกันประกอบไปด้วยอะแดปเตอร์ไฟเลี้ยงของตัวซาวด์บาร์ สายไฟเอซีแบบสองเส้น เส้นหนึ่งไว้เสียบใช้งานกับอะแดปเตอร์ไฟเลี้ยงของตัวซาวด์บาร์ อีกเส้นหนึ่งเสียบใช้งานโดยตรงกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ สาย High-Speed HDMI สีขาวหนึ่งเส้น นอกจากนั้นยังมีรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดสีขาวให้มาอีกหนึ่งตัว

นอกจากการใช้รีโมตคอนโทรลในการควบคุมสั่งงานแล้วที่ตัวซาวด์บาร์ยังมีปุ่มควบคุมพื้นฐานอยู่ทางด้านหลังตัวซาวด์บาร์ด้วย นอกจากนั้นแอลจียังได้ออกแบบให้เราสามารถตั้งค่าและควบคุมสั่งงาน Eclair QP5 ผ่านแอปพลิเคชัน LG Soundbar ในสมาร์ทโฟนได้ด้วยครับ

การใช้งานก็ง่าย ๆ แค่เชื่อมต่อบลูทูธระหว่างสมาร์ทโฟนกับ Eclair QP5 แอปฯ ก็จะมองหา Eclair QP5 เจอแล้วให้สามารถตั้งค่าต่าง ๆ ได้ (ดูการใช้งานได้จากคลิปที่ประกอบในบทความนี้)

สำหรับการเชื่อมต่อสายระหว่างตัวซาวด์บาร์กับซับวูฟเฟอร์ก็ทำได้ง่าย ๆ เช่นกัน เริ่มจากสังเกตว่าที่ฐานด้านล่างซับวูฟเฟอร์สถานะของไฟ LED เป็นสีอะไร ถ้าเป็นสีแดงหมายความว่าซาวด์บาร์กับซับวูฟเฟอร์ยังไม่เชื่อมต่อกัน ให้กดปุ่ม POWER ปิดตัวซาวด์บาร์ จากนั้นกดปุ่ม PAIRING สังเกตให้ไฟแสดงสถานะเปลี่ยนเป็นสีเขียวกระพริบ จากนั้นกดปุ่ม POWER เพื่อเปิดตัวซาวด์บาร์ หากว่าการจับคู่สำเร็จแล้วไฟแสดงสถานะที่ซับวูฟเฟอร์จะติดสว่างเป็นสีเขียว

สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก Eclair QP5 มีขั้วต่อให้มาครบครันเลยทีเดียวตั้งแต่ HDMI IN/OUT (eARC/ARC) ที่รองรับ 4K Pass-Thru, OPTICAL IN และพอร์ต USB (USB-A) สำหรับเสียบเล่นเพลงจากแฟลชไดร์ฟหรือ external storage รวมถึงการเชื่อมต่อไร้สายเพื่อเล่นเพลงจากอุปกรณ์บลูทูธ

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar
ขั้วต่อและปุ่มควบคุมที่อยู่ด้านหลังลำโพงซาวด์บาร์

สำหรับระบบเสียงโฮมเธียเตอร์ที่ต้องการดึงศักยภาพจาก Eclair QP5 ออกมาอย่างเต็มที่ถ้าเล่นจากแหล่งสัญญาณภายนอกเช่น กล่องสตรีมมิงหรือเครื่องเล่นแผ่นบลูเรย์ให้เชื่อมต่อ HDMI OUT จากอุปกรณ์เหล่านั้นมาเข้าที่ HDMI IN ของซาวด์บาร์ แล้วเชื่อมต่อ HDMI OUT eARC/ARC จากซาวด์บาร์ไปเข้าที่อินพุต HDMI IN eARC/ARC ของทีวี

ซึ่งในรีวิวนี้แหล่งสัญญาณภายนอกผมเลือกใช้กล่อง Apple TV 4K รุ่นล่าสุด และทีวีผมใช้ LG 55SM9000PTA โดยเชื่อมต่อด้วยสาย HDMI ที่มากับตัวซาวด์บาร์และใช้สาย High Speed HDMI ของ Belkin เพิ่มเข้าอีกหนึ่งเส้น

ในกรณีที่เราเล่นคอนเทนต์จากตัวทีวีโดยตรง ซึ่งสมาร์ททีวีสมัยใหม่นอกจากช่องทีวีตามปกติแล้วก็ยังรองรับแอปฯ สตรีมมิงต่าง ๆ ด้วย ทำให้เราสามารถต่อใช้งานด้วยสาย HDMI เพียงเส้นเดียวได้เลยครับ (HDMI OUT eARC/ARC จากซาวด์บาร์ไปเข้าที่อินพุต HDMI IN eARC/ARC ของทีวี)

คุณภาพเสียง
เมื่อพิจารณาในเรื่องของคุณภาพเสียง ผมได้ลองฟังในโหมดของการฟังเพลงแบบง่าย ๆ นั่นคือเอาไฟล์เพลงใส่ไว้ในแฟลชไดร์ฟแล้วเสียบแฟลชไดร์ฟโดยตรงที่ด้านหลังตัวซาวด์บาร์

ข้อมูลทางเทคนิคจากแอลจีระบุว่าพอร์ต USB ของซาวด์บาร์นั้นรองรับฟอร์แมต FAT, FAT32, NTFS แต่ไม่รองรับ exFAT ขณะเดียวกันไฟล์เสียงที่รองรับนั้นรองรับไฟล์ flac ด้วย แถมยังรองรับไฟล์เสียงรายละเอียดสูงถึงระดับ 24bit/192kHz เท่าที่ผมได้ลองฟังดูก็พบว่าเสียงออกมาดีกว่าที่คิดพอสมควร

อย่างน้อยก็สามารถแยกมิติเสียงซ้าย/ขวาได้กว้างขวางเกินขนาดของตัวซาวด์บาร์ไปมาก เรียกว่าน้อง ๆ ระบบลำโพงสเตริโอที่แยกซ้าย/ขวาเลยล่ะครับ สมดุลเสียงโดยทั่วไปค่อนข้างกระจ่างชัดเจือด้วยความนุ่มนวลฟังสบายหู

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar

รายละเอียดในย่านความถี่สูงพอใช้ได้ไม่ถึงกับแจกแจงรายละเอียดระยิบระยับได้อย่างลำโพง Bowers & Wilkins Zeppelin (2021) ที่ใช้ไดรเวอร์แยกแต่ละย่านความถี่เสียง ซึ่ง ณ จุดนี้ผมเองก็พอเข้าใจได้ว่าไดรเวอร์ฟูลเรนจ์ตัวเล็ก ๆ ได้ออกมาประมาณนี้ก็ถือว่าน่าทึ่งแล้ว ยิ่งเมื่อทำงานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ก็ถือว่าเปิดฟังได้ดังเกินตัวไปมาก ๆ คือดังแล้วยังมีคุณภาพเสียงดีด้วย

การเลือกโหมดเสียง (Sound Effect) รูปแบบต่าง ๆ ให้เหมาะกับคอนเทนต์ที่กำลังฟังสามารถทำได้ทั้งการเลือกจากในแอปฯ หรือกดปุ่มที่รีโมตคอนโทรลโดยตรง ข้อมูลจากแอลจีบอกว่าในโหมด AI Sound Pro นั้นระบบในตัวซาวด์บาร์จะทำงานร่วมกับชิป AI ในสมาร์ททีวีรุ่นใหม่ ๆ ของแอลจีเองเพื่อเลือกปรับโหมดเสียงให้เหมาะกับคอนเทนต์ที่กำลังเล่นโดยอัตโนมัติ (ดูหนัง, ฟังเพลง, เล่นเกม)

อย่างไรก็ดีจากการใช้งานจริงกับสมาร์ททีวีของแอลจีรุ่นที่ออกมาสักพักแล้ว หรืออาจรวมถึงสมาร์ททีวีทั่วไปที่ไม่ใช่ของแอลจีเองผมแนะนำให้เลือกปรับโหมดเสียงด้วยตัวเอง (ได้ลองแล้วทั้งเวลาใช้ดูหนังและใช้ฟังเพลง)

อย่างการฟังเพลงจากพอร์ต USB ผมก็เลือกไปที่โหมด Music with Meridian คุณภาพเสียงที่ได้ถือว่าไม่เลวเลยนะครับ ฟังได้เพลินหูเลยทีเดียว ก็ตามที่ได้อรรถาธิบายเอาไว้ก่อนหน้านี้ และคุณผู้อ่านยังสามารถพิจารณาคุณภาพเสียงเพิ่มเติมได้จากคลิปประกอบในบทความนี้ด้วยครับ

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ถือได้ว่าเป็นจุดขายหลักก็ว่าได้ของ Eclair QP5 ก็คือ ลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้รองรับระบบเสียงรอบทิศทางเสมือนจริงในยุคนี้อย่าง Dolby Atmos และ DTS:X ด้วย

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar
การตั้งค่าและเมนูส่วนหลัก ๆ ในแอปฯ LG Soundbar (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)
Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar
การตั้งค่าและเมนูส่วนย่อยอื่น ๆ ในแอปฯ LG Soundbar (คลิกดูภาพใหญ่รายละเอียดสูง)

ในส่วนของ Dolby Atmos นี่ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก เพราะว่าถ้าใครที่ใช้บริการสตรีมมิงชื่อดังอย่าง Netflix หรือ Apple TV+ ทั้งคู่มีคอนเทนต์ที่เป็นระบบเสียง Dolby Atmos ให้เลือกเสพมากมาย ผมว่าการที่ลำโพงซาวด์บาร์ตัวเล็ก ๆ อย่าง Eclair QP5 ก็รองรับระบบเสียงนี้ด้วย ถือว่าเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่น่าสนใจมากครับ !

และจากที่ผมได้ลองรับชมคอนเทนต์เหล่านั้นรวมถึงไฟล์สาธิตอย่างเป็นทางการจาก Dolby กับลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้ พบว่า มันให้มิติเสียงให้กว้างขวางโอบล้อมจนน่าทึ่งมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้งานในพื้นที่ขนาดไม่กว้างขวางมาก หรือนั่งฟังแบบ near-field ทั้งมิติเสียงและพลังเสียงจาก Eclair QP5 ถือได้ว่าสามารถตอบสนองอรรถรสการรับชมได้แบบฟิน ๆ

อย่างไรก็ดีถ้าหากเทียบกับลำโพงซาวด์บาร์ Dolby Atmos ที่มีการยิงเสียงออกทางด้านข้างด้วยอย่าง LG SL9Y, Samsung HW-Q80R หรือระบบลำโพงแยกชิ้นที่มีลำโพง up-firing ด้วยอย่าง Polk Audio Monitor XT Series การแยกมิติเสียงของ Eclair QP5 อาจไม่ถึงขั้นโปร่งโล่ง กว้างขวาง หรือว่าสมจริงจนน่าขนลุกได้ขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นทำให้สูญเสียอรรถรสแน่นอนครับ

เอาเป็นว่าถ้าหากให้เพื่อนสักคนที่ไม่เคยเห็น Eclair QP5 มาก่อน ปิดตาแล้วเข้ามานั่งด้วยลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้ด้วยกัน ผมเชื่อว่าคงคาดเดาไม่ถูกแน่ ๆ ว่าเสียงที่ฟังอยู่นั้นมาจากลำโพงตัวเล็กแค่นี้

อ้อ ในโหมดการเล่นคอนเทนต์ที่เป็น Dolby Atmos เราสามารถตรวจสอบได้จากในแอปฯ LG Soundbar นะครับ คือถ้าเล่น Dolby Atmos อยู่ ในส่วนของการเลือกโหมดเสียงในหน้าแอปฯ ก็จะแสดงว่าเป็นโหมด Dolby Atmos ชัดเจนเลยครับ และไม่เปิดโอกาสให้เราเปลี่ยนโหมดเสียงด้วย

แต่ถ้าหากเรารับชมคอนเทนต์ที่เป็นเซอร์ราวด์ 5.1ch ทั่วไป ตรงส่วนนี้ก็อย่าลืมเลือกไปที่ Cinema นะครับ มิติเสียงก็ออกมากว้างขวางโอบล้อมน่าทึ่งเช่นกัน !

LG Eclair Soundbar QP5 เหมาะกับใคร ?
LG Eclair Soundbar QP5 เป็นลำโพงซาวด์บาร์ยุคใหม่ที่มาในสไตล์มินิมอล มีความเรียบง่ายและกะทัดรัดยิ่งขึ้น โดยมีขนาดประมาณหนึ่งในสามของลำโพงซาวด์บาร์ส่วนใหญ่เท่านั้นเอง แน่นอนว่าคุณสมบัตินี้จะตอบโจทย์ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่จำกัดอย่างคอนโด หรือการใช้งานในมุมส่วนตัวเล็ก ๆ ภายในบ้าน

Review LG Eclair QP5 compact Dolby Atmos soundbar

ไม่เพียงแค่การชูจุดขายในเรื่องของดีไซน์ ลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้ยังทำให้เราได้ทราบว่า ลำโพงซาวด์บาร์ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่หรือว่ามีรูปทรงเป็นแท่งแบบเดิม ๆ เสมอไป ก็สามารถให้คุณภาพเสียงที่ดีได้หากว่าได้มีการออกแบบที่ดีพอ

ดังนั้นสำหรับลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้ผมอยากจะบอกว่า “อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น ให้เชื่อในสิ่งที่ได้ยิน”

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ