fbpx
EXPERIENTREVIEW

รีวิว LG : SL9Y Dolby Atmos Wi-Fi Soundbar with Wireless Subwoofer

ปัจจุบันลำโพงซาวด์บาร์เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายคนมองหาเพื่อเพิ่มคุณภาพเสียงให้กับทีวี เหตุผลหลักคงเป็นเรื่องของความสะดวก แต่เรื่องของคุณภาพเสียงนั้นก็สำคัญ ทำให้หลาย ๆ ยี่ห้อได้พยายามนำเสนอลำโพงซาวด์บาร์ออกมาโดยชูจุดเด่นในด้านคุณภาพเสียง อย่างเช่น ลำโพงซาวด์บาร์ LG รุ่น SL9Y เป็นต้น

คุณสมบัติและการเชื่อมต่อ
SL9Y เป็นลำโพงซาวด์บาร์ที่มาพร้อมกับจุดเด่นหลายประการ ที่เห็นได้ชัดคือดีไซน์ที่ดูเรียบง่ายเพรียวบาง แต่แฝงไว้ด้วยพลังเสียงกำลังขับรวมทั้งระบบ 500 วัตต์ ในระบบเสียง 4.1.2 แชนเนล รองรับทั้งระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS:X

ออกแบบให้ใช้งานได้ทั้งในโหมดวางบนชั้นวางและโหมดติดตั้งบนฝาผนัง รองรับระบบเสียง Dolby Atmos 4.1.2ch ด้วยลำโพง up-firing (โหมดวางบนชั้นวาง) หรือด้วยลำโพง down-firing (โหมดติดตั้งบนฝาผนัง)

กำลังขับรวม 500 วัตต์ใน LG SL9Y นั้นอยู่ในตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สาย 220 วัตต์ ขับไดรเวอร์เสียงทุ้มขนาด 7 นิ้ว สำหรับอีก 280 วัตต์นั้นรวมอยู่ในตัวลำโพงหลัก แบ่งเป็น 50 วัตต์ 2 ชุด สำหรับชุดลำโพงสเตริโอด้านหน้า อีก 50 วัตต์ 2 ชุดสำหรับชุดลำโพงที่ยิงเสียงขึ้นด้านบน (up-firing) และอีก 40 วัตต์ 2 ชุด สำหรับชุดลำโพงที่ยิงเสียงออกด้านข้างเพื่อไปสะท้อนผนังสร้างเอฟเฟ็คต์เสียงเซอร์ราวด์หลัง

ความพิเศษอีกส่วนหนึ่งของลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้คือทาง LG ได้ร่วมพัฒนาระบบเสียงกับยี่ห้อเมอริเดียน (Meridian) หนึ่งในผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ชื่อดัง ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีการประมวลผลสัญญาณดิจิทัล การปรับแต่งเสียง และเทคโนโลยีระบบเสียงรายละเอียดสูง (hi-res audio) 24bit/192kHz

LG SL9Y ยังมาพร้อมกับ Google Assistant Built-in และ Chromecast ในตัวให้สามารถสตรีมเพลงจากแอปฯ ที่รองรับการ cast อย่างเช่น Spotify (Spotify Connect) นอกจากนั้น LG SL9Y ยังมาพร้อมกับช่องทางการเชื่อมต่อที่หลากหลายทั้ง HDMI (HDMI 2.0, HDCP 2.2 : 4K pass through-In / Out), Optical, Bluetooth และ Wi-Fi (2.4GHz / 5GHz)

ขนาดของ LG SL9Y เหมาะกับทีวีขนาดประมาณ 55-65 นิ้ว ซึ่งในรีวิวนี้ได้ต่อใช้งานกับทีวี 55 นิ้วรุ่น 55SM9000PTA ของ LG ทางช่อง HDMI (ARC) และ Apple TV 4K เพื่อใช้ในการสตรีมหนังจาก Netflix และ Apple TV+

ฟังก์ชัน
ลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้ตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์และตัวลำโพงหลักเชื่อมต่อกันด้วยระบบไร้สายโดยอัตโนมัติ คือเมื่อเสียบสายไฟให้ลำโพงเปิดขึ้นมาพร้อมทำงาน ตัวลำโพงทั้งคู่จะมองหาและเชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติ หรือกดปุ่ม Pairing ที่ด้านหลังตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์

การควบคุมสั่งงานลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้สามารถทำได้จากตัวรีโมตคอนโทรลโดยตรง หรือผ่านแอปฯ การควบคุมที่ตัวรีโมตนั้นก็เรียบง่าย ปุ่ม F นั้นเอาไว้เลือก source ที่จะใช้งาน ปุ่ม Sound Effect ใช้สำหรับการเลือกโหมดเสียงต่าง ๆ

ปุ่ม Sound Effect นี้สามารถเลือกโหมดเสียงได้ตั้งแต่ Music, Movies, Bass Boost, Standard และ ASC (Adaptive Sound Control) ซึ่งโหมดสุดท้ายนี้ระบบจะเลือกโหมดเสียงที่เหมาะสมให้อัตโนมัติตามประเภทของคอนเทนต์ ในกรณีที่กำลังฟังระบบเสียง Dolby Atmos ตัวเลือก Sound Effect นี้จะใช้งานไม่ได้

ส่วนปุ่มตั้งค่าที่อยู่ด้านล่างปุ่ม Sound Effect นั้นเมื่อกดวนไปจะเป็นตัวเลือกให้ตั้งค่าชดเชยระดับเสียงของแชนเนลต่าง ๆ เช่น ‘OVC’ (overhead channels), ‘S’ (Side channels) และ ‘WF’ (Subwoofer channels) รวมทั้ง ‘R’ ในกรณีที่มีการต่อใช้งานลำโพงเสริมคู่หลังแบบไร้สายด้วย (ต้องซื้อแยกต่างหาก)

ด้านบนตัวลำโพงซาวด์บาร์ยังมีปุ่มควบคุมระบบสัมผัส และขั้วต่อ USB ที่ขอบด้านบนสำหรับเล่นไฟล์เพลงจากอุปกรณ์ external storage ซึ่งมาพร้อมกับฝาปิดเรียบร้อยหากไม่ได้ใช้งาน

Dolby Atmos
ในโหมดใช้งานกับการชมภาพยนตร์ที่มาพร้อมกับระบบเสียง Dolby Atmos หน้าจอแสดงผลตรงกลางซาวด์บาร์ SL9Y โชว์คำว่า Dolby Atmos ชัดเจนเพื่อยืนยันว่าเสียงที่ฟังอยู่เป็นการถอดรหัสสัญญาณเสียง Dolby Atmos

ในเรื่องภาพยนตร์เรื่อง Into the Storm (2014) ฉากในช่วง 1:16:00 โดยประมาณ ขณะที่รถตรวจการณ์ที่อยู่ใจกลางพายุขนาดยักษ์กำลังถูกหอบขึ้นฟ้า ฉากนี้เมื่อเร่งเสียงให้สมจริงมากยิ่งขึ้น ยิ่งสร้างบรรยากาศความน่ากลัวของธรรมชาติ และความกดดันเป็นเท่าทวีคูณ

ช่วงเวลากว่า 3 นาทีเศษในฉากดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ต้องบอกว่ารับชมแล้วแทบเผลอหยุดหายใจ เพราะบรรยากาศเสียงรอบ ๆ ตัวจากสารพัดซาวด์เอฟเฟ็คต์นั้นเสมือนกับพาเราเข้าไปอยู่ในใจกลางของพายุจริง ๆ

แม้ว่าการแยกเสียงด้านบนและด้านกว้างจะยังไม่ชัดเท่ากับ Samsung Q80R แต่ในแง่ของการถ่ายทอดบรรยากาศความอึกทึก ความอื้ออึงอลหม่านการนั้น SL9Y ดูเหมือนจะทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี

อีกฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ LG SL9Y สามารถถ่ายทอดความหลอนของภัยธรรมชาติได้ดีคือฉากเปิดของภาพยนตร์เรื่องนี้ หรือในช่วงเวลาประมาณ 39:00 เสียงฟ้าร้อง เสียงลมหมุน ไม่เพียงแต่อยู่รอบ ๆ จุดที่เรานั่งชม แต่มันลอยไปอยู่เหนือศีรษะของเราด้วย โดยเฉพาะเสียงฟ้าร้องคำรามและเสียงของเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย !

ในภาพยนตร์ The Matrix เวอร์ชันรีมิกซ์/รีมาสเตอร์ใหม่ล่าสุดเป็น 4K HDR และระบบเสียง Dolby Atmos ฉากบุกตะลุยคู่แบบดูโอ้ของนีโอและทรินิตี้ในช่วงเวลา 1:42:00 เสียงลูกกระสุนและเศษปรักหักพังที่ปลิวว่อนไปทั่วทั้งห้องฟัง ไม่ใช่เพียงแค่กระตุ้นเลือดลมของผู้ชมให้สูบฉีดไปทั่วร่าง แต่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกเละเทะฉิบหายวายป่วงได้เป็นอย่างดี

เช่นเดียวกับหลายฉากในภาพยนตร์เรื่อง San Andreas ที่ซาวด์เอฟเฟ็คต์ในหลาย ๆ ฉากได้เปิดโอกาสให้ SL9Y สร้างบรรยากาศความลุ้นระทึกได้เป็นอย่างดี เสียงถล่มของซากปรักหักพังต่าง ๆ ในแต่ละฉากถ่ายทอดความน่าประหวั่นพรั่นพรึงออกมาได้ค่อนข้างสมจริง

ในโหมดดูหนังหรือภาษาทางการว่าโหมดภาพยนตร์ เสียงจากซาวด์บาร์ชุดนี้ทำให้เรารู้สึกแบบว่า…ขออีกนิดนะ ในแง่ความเปรี้ยวเกรี้ยวกราด หรือที่ภาษาวัยรุ่นเขาว่าความ “เฟียร์ส” Fierce ของเสียงอีกสักหน่อย ก็จะอร่อยเหาะสมบูรณ์แบบมากขึ้นแน่

แต่ถ้าหากเป็นในโหมดฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์ที่มีซาวด์แทร็คเป็นดนตรีเพราะ ๆ อย่าง Ford v Ferrari หรือ Bohemian Rhapsody

การถ่ายทอดรายละเอียดของเสียงออกมาด้วยความสุขุม นุ่มนวล ละมุนละไมในแบบฉบับเดียวกับเครื่องเสียงของ Meridian มันก็เป็นอะไรที่ทำให้ตำหนิกันไม่ลง เพราะมันชมแล้วรู้สึกอิ่มเอมมากกว่าจะมานั่งเพ่งเล็งแต่ความไม่สมบูรณ์แบบเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น

Music
ในโหมดฟังเพลง LG SL9Y รองรับการสตรีมผ่านเทคโนโลยี Chromecast, Bluetooth หรือเปิดฟังโดยตรงจากช่องอินพุต USB ซึ่งรองรับแต่ไฟล์เสียงแบบบีบอัดข้อมูล (compressed audio)

การสตรีมไฟล์เสียงรายละเอียดสูง (hi-res audio PCM) สามารถทำได้โดยการสตรีมจากไฟล์เสียงที่อยู่ใน UPnP/DLNA Server โดยใช้แอปฯ LG Wi-Fi Speakers

ติงไว้เรื่องหนึ่งสำหรับแอปฯ LG Wi-Fi Speaker นั้นคุณภาพถือว่าพอใช้ได้ แต่ไม่มีอะไรโดดเด่น รองรับการเข้าถึง UPnP Music Server ได้จริงแต่ตอนส่งสัญญาณออกไปที่ลำโพงยังต้องอาศัยการเชื่อมต่อผ่าน Chromecast

อีกทางเลือกหนึ่งคือการเปิดฟังโดยตรงจาก source ที่สามารถสตรีมเพลงได้ อย่างเช่น กรณีนี้เราได้ลองฟังเพลงโดยการสตรีมจาก TIDAL โดยเปิดฟังจากแอปฯ TIDAL ใน Apple TV 4K โดยตรง และเชื่อมต่อสัญญาณออกมาทาง HDMI พบว่าลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้ให้เสียงที่ดีเดินคาด

แว้บแรกที่เสียงออกมาบอกได้เลยว่าได้ยินเสียงอย่างนี้ไม่บ่อยครั้งนักจากลำโพงประเภทซาวด์บาร์ ยิ่งน้อยครั้งลงไปอีกกับลำโพงซาวด์บาร์ในระดับราคานี้ คือ ถ้าให้หลับตาฟังก็เหมือนฟังจากชุดเครื่องเสียงสเตริโอขนาดย่อมดี ๆ นี่เอง

ในเวลาฟังเพลงโหมดเสียง Sound Effect สามารถเลือกไปที่ Music ได้เลย เสียงออกมาดีมาก แต่ถ้าดูหนังที่ต้นฉบับมาเป็นสเตริโอหรือ 5.1 แชนเนลธรรมดา ไม่ใช่ Dolby Atmos (หากต้นฉบับส่งมาเป็น Dolby Atmos แท้ ๆ อยู่แล้วโหมดเสียงนี้จะปล่อยผ่านไปตรง ๆ ไม่ยอมปรับแต่งให้เสียของ) ก็กดไปที่ Movie ได้เลยครับ เสียงออกมาดีเลย ตรงไปตรงมา ไม่ต้องคิดมากให้วุ่นวาย

ให้เสียงออกมากว้างมีมิติโอบล้อมมากขึ้น แถมยังจำลองมิติเสียงในด้านความสูงออกมาได้ด้วย เอาไว้ดูซีรีส์เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย หรือหนังไทยทั่วไปที่เป็นระบบเสียงสเตริโอธรรมดา บอกเลยว่าได้อารมณ์ดีมาก

LG SL9Y เหมาะกับใคร ?
LG SL9Y เป็นลำโพงซาวด์บาร์อีกรุ่นในจำนวนไม่มากนักที่เหมาะสำหรับการลงทุนซื้อไปใช้ฟังดูหนัง-ฟังเพลงในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน (50:50, 60:40) เป็นลำโพงซาวด์บาร์เหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด แต่ต้องการเสียงที่กระหึ่มหนักแน่นและทรงพลังในระดับที่ตอบสนองความพึงพอใจได้

ที่น่าสนใจคือนอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว แบรนด์และเทคโนโลยีของ Meridian ที่ปรากฏอยู่บนตัวลำโพงก็ยังไม่ได้ทำให้ซาวด์บาร์ชุดนี้มีราคาที่ขยับไปไกลจนเกินเอื้อม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะแนะนำให้ LG SL9Y จึงเป็นอีกหนึ่งลำโพงซาวด์บาร์สำหรับดูหนัง-ฟังเพลงที่มีความคุ้มค่าในระดับ Best Buy !


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท แอลจี อีเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2204-8888 (สำนักงานใหญ่)
ราคา 24,990 บาท

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ