fbpx
REVIEW

รีวิว NAD : D 3020

เมื่อ 40 ปีก่อน ผู้ผลิตเครื่องเสียงจากเกาะอังกฤษยี่ห้อ เอ็นเอดี “NAD” หรือ “New Acoustic Dimension” ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งเอาไว้ในวงการเครื่องเสียงไฮไฟด้วยอินทิเกรตแอมป์ NAD รุ่น 3020 ซึ่งออกแบบโดย Bjørn Erik Edvardsen (ปัจจุบันตัวอักษรย่อชื่อเขา ‘BEE’ ได้รับเกียรติให้เป็นตัวอักษรต่อท้ายชื่อแอมป์บางรุ่นของ NAD)

จุดเด่นของ NAD 3020 ก็คือคุณภาพเสียงที่โดดเด่นเกินค่าตัวตามที่ทางบริษัทได้ตั้งใจเอาไว้แต่แรก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ภายใน 3 ปีแรกนับตั้งแต่ออกวางตลาด แอมป์รุ่นนี้จึงมียอดขายสูงถึง 5 แสนเครื่อง ในเวลาต่อมามันถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเครื่องเสียงไฮไฟที่ขายดีที่สุดรุ่นหนึ่งในประวัติการณ์

NAD 3020 รุ่นในตำนาน

ว่ากันว่าแอมป์ที่มีกำลังขับเพียงแค่ 20 วัตต์ต่อข้างในโหมดสเตริโอรุ่นนี้ให้น้ำเสียงที่มี “ความเป็นดนตรี” ฟังไพเราะกว่าแอมป์ขนาดใหญ่บางรุ่นในยุคนั้นที่มีกำลังขับและราคาสูงกว่ากันเป็นสิบเท่าเสียอีก

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาความสำเร็จของ NAD 3020 มิได้ถูกแช่แข็งเอาไว้แต่เพียงในอดีต แต่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันยุคสมัย ทันต่อเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้น ๆ ผ่านมารุ่นแล้วรุ่นเล่าจนกระทั่งมาเป็นรุ่น D 3020 ที่ผมกำลังรีวิวอยู่นี้

Hybrid Digital Amplifier
ในปัจจุบันแอมป์ NAD D 3020 คือพัฒนาการล่าสุดของแอมป์ 3020 ในตำนาน เป็นรุ่นสืบทอดเจตนารมย์ของ 3020 ในตำนานที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากที่สุด เปลี่ยนตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ฟังก์ชัน ตลอดจนหัวใจสำคัญซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงจรอิเล็กทรอนิกส์โดยตรงนั่นคือภาคขยายเสียงที่มีชื่อเรียกว่า “Hybrid Digital Amplifier”

ก่อนจะพูดถึง Hybrid Digital DAC Amplifier ต้องขอเท้าความที่มาที่ไปกันสักนิด… แต่เดิมโดยเฉพาะรุ่นดั้งเดิมอย่าง 3020 มันเกิดขึ้นมาในยุคที่ใคร ๆ (คนส่วนใหญ่บนโลกนี้) ก็ใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นแหล่งสัญญาณ วงจรภาคขยายเสียงจึงถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกัน เป็นวงจรขยายเสียงแบบอะนาล็อกล้วน ช่องสัญญาณอินพุตก็รับเฉพาะสัญญาณอะนาล็อก แถมยังมีอินพุตให้ต่อใช้งานกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงโดยตรงด้วย

มาในยุคปัจจุบันที่ ยุคที่ใคร ๆ (คนส่วนใหญ่บนโลกนี้) ก็หันมาเสพดนตรีจากสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์มากกว่าเครื่องเล่นแผ่นเสียง การออกแบบ D 3020 จึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย และนั่นคือที่มาของ “Hybrid Digital Amplifier”

“Hybrid Digital Amplifier” เป็นวงจรภาคขยายเสียงที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาออกแบบ ทำให้ D 3020 มีขนาดเครื่องเล็กลงเหลือแค่ประมาณครึ่งหนึ่งของแอมป์ตระกูล 3020 ทุกรุ่นที่ผ่านมา แต่มีกำลังขับติดตัวมาถึง 30 วัตต์ต่อข้างในโหมดสเตริโอ อ้างอิงที่โหลด 8 โอห์ม และเกิดความเพี้ยนต่ำกว่า 0.005%

ตามสเปคฯ ยังแจ้งไว้ด้วยว่า Hybrid Digital Amplifier ใน D 3020 สามารถจ่ายกำลังขับแบบไดนามิก (ชั่วขณะ) ได้มากกว่า 100 วัตต์ต่อข้างที่โหลด 4 โอห์ม แถมทาง NAD ยังคุยว่ามันอาจจะเสียงดีกว่าแอมป์ 100 วัตต์คุณภาพต่ำเสียอีก ดังนั้นอย่าเพิ่งได้ปรามาสขนาดตัวและกำลังขับแค่ 30 วัตต์ของมัน

นอกจากเรื่องของคุณภาพที่มิได้เป็นรองแล้ว “Hybrid Digital Amplifier” ยังเหนือกว่าด้วย “ประสิทธิภาพ” เพราะวงจรขยายประเภทนี้มีประสิทธิภาพสูง (ตัวเล็กกำลังขับเยอะ) มีอัตราสูญเสียพลังงานต่ำ (ไม่ร้อนเหมือนแอมป์อะนาล็อก) กำลังไฟฟ้าที่ใช้ตอนสแตนด์บายเขาว่ายังต่ำกว่า 0.5 วัตต์เสียอีก

ทางเลือกในการเชื่อมต่อใช้งาน
การทำความรู้จัก NAD D 3020 สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับระบบเสียงดิจิทัลสมัยใหม่อาจต้องเปิดใจกันสักนิด เพราะอินทิเกรตแอมป์ไซส์น่ารักน่าชังรุ่นนี้มีอินพุตอะนาล็อกสเตริโอมาให้ใช้งานเพียงแค่ 2 ชุด (AUX1, AUX2) ที่เหลือจะเป็นอินพุตสำหรับสัญญาณดิจิทัลทั้งหมดได้แก่ อินพุต Optical (OPTICAL1, OPTICAL2) และ Coaxial ซึ่งรองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงถึงระดับ 24bit/192kHz

ขั้วต่อต่าง ๆ ด้านหลังเครื่องของ D 3020 จะเห็นว่าใช้พื้นที่ค่อนข้างคุ้ม

นอกจากนั้นยังมีช่องอินพุต USB (USB type B) สำหรับต่อเล่นกับคอมพิวเตอร์มาให้อีก 1 ชุด รองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงถึงระดับ 24bit/96kHz และเป็นการเชื่อมต่อแบบ “asynchrounous mode” ซึ่งมีประสิทธิภาพในการจัดการกับ jitter ได้อย่างดีเยี่ยม

ส่วนแสดงผลด้านบนและเป็นปุ่มกดระบบสัมผัสด้วย
ส่วนแสดงผลด้านหน้าเครื่องตัวเล็กไปหน่อย แต่ถ้านั่งใกล้แบบนี้จะไม่มีปัญหา

jitter คือค่าความเหลื่อมล้ำทางเวลาในการประมวลผลสัญญาณดิจิทัล ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพเสียง การจัดการกับ jitter ในเครื่องเสียงไฮไฟนั้นได้ถูกพัฒนามาโดยตลอดตั้งแต่ในยุคปี 90 จนกระทั่งปัจจุบัน การเชื่อมต่อทางพอร์ต USB ที่เป็นแบบ “asynchrounous mode” เป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมใช้กันในเครื่องเสียงไฮไฟตั้งแต่ระดับเริ่มต้นถึงระดับไฮเอ็นด์

นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งอินพุตดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้เชื่อมต่อกับ D 3020 ได้ด้วยระบบไร้สาย เป็นการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณบลูทูธคุณภาพสูง (aptX Bluetooth) ที่ออกแบบให้มีเสารับสัญญาณอยู่ในตัวเครื่องไม่ต้องมีเสาอากาศยื่นยาวออกมาให้เกะกะ ใช้งานสะดวกสำหรับคนฟังเพลงในยุค digital generation แม้ว่าจะไม่ใช่ “ตัวเลือก” ที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุดก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันตอบโจทย์เรื่องความสะดวกมากที่สุด

ภายในพื้นที่ด้านหลังเครื่องอันจำกัดของ NAD D 3020 ยังมีขั้วต่อสัญญาณ Subwoofer Output (3.5 mm) สำหรับต่อเพิ่มแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ภายนอก ที่ด้านหน้าเครื่องยังมีขั้วต่อหูฟัง 3.5 mm ให้อีก 1 ช่อง

เอาต์พุตหูฟังนี้ทราบว่ามีการแยกวงจรภาคขยายเสียงหูฟังออกจากวงจรขยายเสียงหลัก ไม่ได้ใช้ภาคขยายเสียงชุดเดียวกับที่ต่อสัญญาณออกลำโพง ยังมีปุ่ม “Bass EQ” ช่วยปรับเพิ่มปริมาณความถี่ต่ำลึก ซึ่งผมได้ลองใช้งานภายหลังพบว่ามันมีประโยชน์เหมือนกันเวลาที่เราเล่นลำโพงที่มีขนาดเล็กพิเศษอย่าง NHT SuperZero 2.1 การใช้ “Bass EQ” จะช่วยเพิ่มความมีน้ำมีนวลในเนื้อเสียงได้โดยไม่ไปทำลายคุณลักษณะด้านอื่น ๆ แต่ถ้าวางลำโพงค่อนข้างใกล้ฝาผนังการชดเชยเสียงตรงนี้ก็ดูจะไม่ค่อยมีความจำเป็นนัก

รีโมตคอนโทรลจับถนัดมือดี แต่ส่วนที่เคลือบผิวด้วยยาง
ดูจะไม่เหมาะกับอากาศบ้านเราสักเท่าไร

รีโมตคอนโทรลอินฟราเรดที่มากับเครื่องมีขนาดกะทัดรัดเหมือนตัวเครื่อง จับถือใช้งานได้ถนัดมือพอสมควร ตัวรีโมทใช้แบตเตอรี่แบบกระดุม อาจจะหาเปลี่ยนไม่ง่ายเท่าแบตเตอรี่ยอดนิยมอย่างขนาด AA หรือ AAA บ้าง แต่ก็แลกมาด้วยข้อดีที่ทำให้ตัวรีโมตมีน้ำหนักที่เบามือกว่า

Desktop Mode
ก่อนอื่นต้องบอกว่า D 3020 นั้นมีขายในบ้านเรามาสักพักแล้ว ผมเองเคยสนใจอยากลองฟังมันอยู่หลายวาระ แต่ก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดจึงคลาดกันมาโดยตลอด จนมาเห็นอีกทีก็เพราะทางบริษัท โคไน๊ซ์ ฯ หรือบ้านทวาทศินเขาเอามันมาจัดโปรโมชั่นเข้าชุดกับลำโพงรุ่นมินิเหมือนกันอย่าง NHT SuperZero 2.1 ในราคาที่เรียกว่าค่อนข้างถูกเลยทีเดียวสำหรับสินค้าไฮไฟระดับแบรนด์เนมอย่างนี้

การใช้งาน D 3020 กับ NHT SuperZero 2.1 บนโต๊ะทำงานหรือใช้งานแบบ Desktop Mode ดูเหมือนจะเหมาะกับเครื่องเสียงชุดนี้มาก เหตุผลแรกคือมันเป็นเครื่องเสียงแยกชิ้นที่มีขนาดกะทัดรัดพอที่จะวางบนโต๊ะทำงานได้โดยไม่เบียดบังอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ มากนัก

เหตุผลที่สองคือภายใต้ความกะทัดรัดนั้นมันตอบโจทย์การใช้งานได้ค่อนข้างครอบคลุม เรียกว่าเพิ่มคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นแบบตั้งโต๊ะหรือพกพาเข้าไปอีกชุดเดียว ผมก็สามารถยกชุดเครื่องเสียงไฮไฟมาไว้บนโต๊ะทำงานได้แล้ว จะเปิดฟังออกลำโพงเลย หรือจะฟังจากหูฟังเลยก็สะดวกทั้งนั้น

มันทำให้ผมนึกถึงชุดเครื่องเสียงที่ผมได้เคยรีวิวไปแล้วอย่างชุดเครื่องเสียง Sony CAS-1 หรือ DAC/AMP ขนาดตั้งโต๊ะอย่าง Marantz HD-AMP1 ที่นึกถึงมิใช่ว่า D 3020 มีอะไรไปลอกเลียนเครื่องเสียงเหล่านั้นแต่อย่างใด แต่เพราะพวกมันมีลักษณะการใช้งานและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือคนที่อยากย่อส่วนชุดเครื่องเสียงไฮไฟสเตริโอมาไว้บนโต๊ะทำงาน

อย่างใน D 3020 นี่ชัดเจนมากครับ เพราะตั้งใจออกแบบตัวเครื่องมาให้วางในแนวตั้งเลย ซึ่งนอกจากจะประหยัดพื้นที่จัดวางบนโต๊ะแล้ว ในเชิงวิศวกรรมการวางตัวเครื่องในลักษณะนี้ยังเอื้อให้การระบายความร้อนจากตัวเครื่องมีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย

ส่วนแสดงผลที่ตัวเครื่อง D 3020 มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ ด้านบนและด้านหน้า ด้านบนนั้นจะเป็นทั้งส่วนแสดงผลและปุ่มกดแบบสัมผัส เวลาเปิด-ปิดเครื่องก็แค่แตะค้างที่สัญลักษณ์วงกลมที่มีเส้นขีดผ่ากลางวง ถ้าสัญลักษณ์นี้เป็นสีส้มแสดงว่าปิดเครื่องสแตนด์บายอยู่ ถ้าเป็นสีขาวแสดงว่าเครื่องทำงานอยู่ ถัดลงมาเป็นสัญลักษณ์รูปตัวเอส ‘S’ หมายถึง ‘Source’ หรือการเลือกช่องสัญญาณที่รับเข้ามา แตะเพื่อเลือกวนไปในแต่ละช่องสัญญาณ

ด้านหน้าจะเป็นการแสดงผลช่องสัญญาณที่เลือกฟัง และระดับความดังของเสียงโดยแสดงผลเป็นตัวเลขติดลบ ยิ่งติดลบน้อยก็ยิ่งเสียงดังมากขึ้นตามคอนเซ็ปต์ของ attenuator ด้านหน้าเครื่องจะไม่มีปุ่มระบบสัมผัส การควบคุมมีเพียงจุดเดียวคือที่ปุ่มหมุนปรับเพิ่ม-ลดความดังของเสียงที่เป็นแบบ optical encoder (วอลุ่มแบบหมุนฟรี ควบคุมระดับความดังผ่านการเข้ารหัสดิจิทัลด้วยเซ็นเซอร์แสง)

เรื่องแรกที่ต้องขอชมเชยคือแอมป์ตัวนี้มี noise floor ต่ำมาก ซึ่งตรงนี้สำคัญนะครับเพราะใน Desktop Mode เราจะนั่งใกล้ลำโพงมาก (near-field listening) หากแอมป์นั้นมีเสียงฮัม เสียงจี่ หรือ noise floor มากเกินควรไปแม้แต่เพียงน้อย มันจะได้ยินชัดมากกว่าปกติ ยิ่งนั่งในห้องที่เงียบ ๆ ขนาดได้ยินเสียงพัดลมของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คด้วยแล้วล่ะก็ มันจะเป็นอะไรที่น่ารำคาญมาก

แต่สิ่งที่ผมได้ยินจาก D 3020 ในขณะที่ยังไม่เปิดเสียงคือ “ความเงียบสงัด” มันเงียบเหมือนไม่ได้เปิดเครื่อง !

เมื่อเปิดเพลงฟังผมว่าเสียงที่ได้จาก D 3020 + SuperZero 2.1 มันไม่ต่างอะไรกับการ “ยกเอาเครื่องเสียงแยกชิ้นในห้องฟังทั้งชุดมาตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน”

แม้ลำโพงเล็กอย่าง SuperZero 2.1 จะไม่ได้เน้นความอึกทึกครึกโครมของเสียงเหมือนอย่างลำโพงประเภทมัลติมีเดียที่มีซับวูฟเฟอร์แต่ก็ไม่ได้ให้เสียงที่ผอมบางหรือไม่มีเนื้อเสียงแต่ประการใด หรือถ้าจะต่อแอคทีฟซับวูฟเฟอร์เพิ่มตัว D 3020 เองก็พร้อมจะให้ทำได้ทันที

บางครั้งที่ผมฟังจาก source ที่มีคุณภาพเสียงดีสักหน่อยอย่างการสตรีมเพลงจาก TIDAL หรือเปิดเพลงไฟล์เพลงมาฟังผ่านแอปฯ เล่นเพลงขั้นเทพอย่าง roon … เสียงที่ได้ต้องบอกว่า “เอ็นจอยเกินค่าตัว” จริง ๆ

ต้องเรียนย้ำอีกทีว่ามันเหมือนยกไฮไฟซิสเตมมาไว้บนโต๊ะ มันมีเวทีเสียงกว้างและมีอาณาบริเวณที่ชัดเจนกว่าการฟังจากหูฟัง รายละเอียดยิบย่อยประเภทที่แอบซ่อนอยู่ในรายละเอียดอีกทีมันมีความกระจ่างชัดแบบที่ลำโพงมัลติมีเดียทั่วไปไม่สามารถให้ได้

เสียงร้องที่มีมิติตัวตนชัดเจนอยู่ตรงหน้า เสียงกีตาร์ที่เหมือนมีคนมานั่งดีดให้ฟังอยู่ตรงหน้า เสียงอะคูสติกเบสที่อยู่ด้านหลังนักร้อง เครื่องสายที่อยู่ด้านขวามือของเวทีเสียงห่างไปทางด้านหลังลำโพง และกลุ่มเครื่องสายในแถวหลังของเวทีเสียงในเพลง ‘Sway’ จากอัลบั้ม Turn Up The Quiet ของ Diana Krall เหมือนผมกำลังนั่งฟังมินิคอนเสิร์ตอยู่แถวหน้าสุดอย่างไรอย่างนั้น

หรืออย่างอัลบั้ม James Newton Howard & Friends หรือ The Amanda Album: Growing Up In Hollywood Town – West Of Oz เวอร์ชั่น 24bit/96kHz จาก HDtracks ผมฟังเครื่องเสียงชุดนี้แล้วถามตัวเองว่ามันมีอะไรขาดตกบกพร่องหรือไม่?

ถ้าไม่นับเรื่องมวลเสียงความถี่ต่ำลึกที่ลำพัง NHT SuperZero 2.1 เพียงคู่เดียวไม่สามารถตอบสนองได้ ผมนึกไม่ออกจริง ๆ ครับว่าผมควรจะคาดหวังอะไรจากมันอีก… ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ผมหลงรักเครื่องเสียงเล็ก ๆ ง่าย ๆ ชุดนี้เข้าให้แล้วสิครับ

In-room Mode
เป็นแอมป์ดิจิทัลแล้วเสียงจะดีเหรอ?… ถ้าให้พูดกันตรง ๆ ผมว่านี่เป็นคำถามที่ช่างไม่ทันสมัยเอาเสียเลยสำหรับปี 2018 ตลอดการรีวิว NAD D 3020 ไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่ผมทำให้คิดหรือระลึกว่ามันเป็นระบบแอมป์อะไร เป็นแอมป์อะนาล็อกหรือดิจิทัล หรือเป็นแอมป์ดิจิทัลที่เสียงดีแค่ไหน จะมีเสียงแข็ง หยาบ แห้ง เหมือนแอมป์ดิจิทัลระดับ entry level เมื่อ 20 ปีก่อนหรือเปล่า.. nothing ครับ สิ่งเหล่านั้นไม่มีแว้บเข้ามาอยู่ในหัวผมเลย

นอกจากการทดสอบใช้งานใน Desktop Mode แล้วผมยังได้ลองยกอินทิเกรตแอมป์ D 3020 ไปใช้งานในห้องฟังทดสอบของ GM2000 ซึ่งในขณะนั้นมีลำโพงมินิมอนิเตอร์รุ่น Motion 35XT ของยี่ห้อ Martin Logan เซ็ตอัปใช้งานอยู่ เท้าความสักนิดว่าผมเองเคยฟัง D 3020 ขับลำโพงเล็ก ๆ ของ PSB ที่โชว์รูมบ้านทวาทศินมาแล้ว เสียงน่าประทับใจครับ มาคราวนี้ก็เลยถือโอกาสลองฟังกับลำโพงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นดูบ้าง

Motion 35XT เป็นลำโพง 2 ทาง 2 ตัวขับเสียง ใช้เบสมิดเรนจ์กรวยอะลูมิเนียมขนาด 6.5 นิ้ว ทวีตเตอร์เป็นไดรเวอร์แบบ Folded Motion XT Transducer ที่พัฒนาแตกหน่อมาจากไดรเวอร์ประเภทริบบ้อน เป็นลำโพง 4 โอห์ม ที่มีความไวสูงถึง 92 dB ดังนั้นผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ NAD D 3020 สามารถขับลำโพงคู่นี้ได้สบาย ๆ

ลองยกมาใช้งานจริงจังในห้องฟัง

ในการฟังวาระนี้ผมใช้คอมพิวเตอร์ (headless computer) ที่ลงโปรแกรม roon ไว้เป็น source สำหรับอินพุต USB ของ D 3020 ใช้เทิร์นเทเบิ้ล Thorens รุ่น TD 203 ติดหัวเข็ม Sound Smith รุ่น Carmen และโฟโนปรีแอมป์ Sound Smith Model #MMP3 ต่อเข้าทางช่องอะนาล็อกอินพุตของ D 3020

นอกจากนั้นผมยังใช้ Bose SoundTouch Wireless Adaptor ในการสตรีมไฟล์เพลงจาก Spotify แล้วส่งสัญญาณดิจิทัลมาเข้าที่อินพุต Optical 1 ของ D 3020 เครื่องเสียงเล็ก ๆ ในห้องฟังชุดนี้จึงครบถ้วนทั้ง analog source, digital source และ digital streaming source

ลองเชื่อมต่อใช้งานทั้งอินพุตอะนาล็อกและดิจิทัล

เบื้องต้นผมพบว่า ตัวลำโพงต้องขยับตำแหน่งใหม่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับตอนที่ขับด้วยแอมป์ Marantz PM-10 โดยผมขยับลำโพงข้างซ้ายและขวาเข้าหากันอีกราว ๆ 2-3 นิ้ว แล้วขยับลำโพงถอยไปชิดฝาผนังด้านหลังลำโพงอีกราว ๆ 1 คืบ เพื่อเสียงที่ได้มีความเข้มข้นของมวลเนื้ออยู่ในระดับที่ผมพอใจ

เสียงที่ได้จากไฟล์รายละเอียดสูงอัลบั้ม All for You (A Dedication to the Nat King Cole Trio) มีความละม้ายที่ผมได้ยินตอนใช้ Marantz PM-10 ขับลำโพง Martin Logan คู่นี้มาก หากจะมีอะไรย่อหย่อนไปบ้างก็คงเป็นฮาร์มอนิกเสียงในย่านความถี่ต่ำ ส่วนความสะอาดเกลี้ยงเกลา ความคมชัดจะแจ้ง ความใสกระจ่าง แอมป์ตัวเล็กจาก NAD เครื่องนี้มิได้มีความบกพร่องในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นเลย

ในระหว่างการฟังผมมีข้อสังเกตเมื่อนั่งในระยะห่างจากตัวเครื่องเพียง 2-3 เมตร จอแสดงผลด้านหน้าของ NAD D 3020 ก็มองเห็นยากแล้ว เพราะตัวอักษรต่าง ๆ มันมีขนาดเล็กไปหน่อย อีกทั้งในเวลาเล่นอินพุต USB ที่ตัวเครื่องจะไม่มีการแจ้ง resolution ของสัญญาณดิจิทัลที่รับเข้ามาเปิดฟังเหมือนอย่างใน Audiolab M-One หรือ Marantz HD-AMP1 การจะสังเกตว่าขณะนั้นกำลัง playback แบบ bit-perfect อยู่หรือเปล่า จึงต้องสังเกตเอาเองที่ตัวแอปฯ roon

อีกเรื่องหนึ่งคือ แอมป์ตัวนี้น่าจะหาสายไฟเอซีอัปเกรดมาเปลี่ยนยากกว่าปกติ เนื่องจาก AC Inlet ของมันไม่เหมือนแบบที่ใช้ในเครื่องเสียงทั่วไป อย่างไรก็ดีผมเห็นมีตัวแปลงหรือสายไฟที่เข้าหัวปลั๊กแบบนี้อยู่บ้างเช่นของยี่ห้อ Furutech หรือ Audioquest

เมื่อลองสตรีมเพลงจาก Spotify มาฟัง ผมพบว่าดิจิทัลโปรเซสเซอร์ของ D 3020 ทำหน้าที่ของมันได้ดีมาก และมีคุณภาพเสียงดีกว่าการต่อเอาต์พุตอะนาล็อกออกมาจากตัว SoundTouch Wireless Adaptor โดยตรง มันทำให้การฟังสตรีมมิ่งแบบง่าย ๆ เป็นอะไรที่ฟังเอาเนื้อหาสาระได้เลยล่ะครับ ไม่ใช่ว่าต้องฟังแบบหยวน ๆ ในคุณภาพเสียงกันไป

เมื่อเปลี่ยนมาฟังจาก analog source บ้าง ผมเลือกแผ่นเสียง 3-4 แผ่นที่มีแนวเพลงต่างกันมาเผื่อว่าเสียงจาก D 3020 จะเข้ากับแนวใดแนวหนึ่งเป็นพิเศษ แค่แผ่นแรกที่ลงเข็มเปิดฟังเสียง สิ่งที่ผมได้ยินมันเป็นเสียงที่ผมคุ้นเคย มันเป็นเสียงที่ผมเคยฟังจากแอมป์อื่น ๆ ที่ผมว่ามันมีคุณภาพเสียงที่ดี มันนุ่มนวลชวนฟัง มันมีความอิ่มเอิบในมวลเนื้อเสียงอย่างที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงส่วนใหญ่ควรจะถ่ายทอดออกมาได้ มันเป็นเสียงที่น่าฟังในแบบฉบับของเทิร์นเทเบิ้ล

ฟังแผ่นเสียงก็ออกมาดี เสียงน่าฟังมาก

ฮึ่ย มันผิดคาดมาก ๆ ผมไม่คิดว่ามันจะรองรับ analog source ได้ดีและให้เสียงออกมาน่าฟังขนาดนี้เลยครับ อย่างที่ได้เรียนไว้หลายครั้งในรีวิวนี้ว่า NAD D 3020 ไม่ทำให้ผมคิดถึงตัวมัน ไม่ทำให้คิดว่ามันใช้ภาคขยายเสียงแบบสวิตช์โหมด (แอมป์ดิจิทัล) หรือภาคขยายเสียงแบบลิเนียร์ (แอมป์อะนาล็อก) แต่มันแค่ทำให้ผมรู้สึกเสมอว่ากำลังฟัง “เพลง” ไม่ได้กำลังฟัง electronic noise อย่างแน่นอน ! น่าทึ่งครับ น่าทึ่งมาก ๆ

สืบทอดเจตนารมย์
ผมไม่แปลกใจเลย ไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไม NAD จึงยังให้ชื่อรุ่นแอมป์ตัวนี้ว่า D 3020 ทั้งที่มันแทบจะไม่มีอะไรที่เหมือนกับ NAD 3020 เมื่อ 40 ปีที่แล้วเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตาหรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ข้างใน เพราะเมื่อได้ลองเล่น ลองฟัง อินทิเกรตแอมป์หุ่นกะทัดรัดตัวนี้แล้ว สิ่งที่ในสมองของผมสามารถประมวลข้อมูลจนออกมาเป็นนิยามให้มันได้ก็คือ “คุณภาพเสียงและความคุ้มค่า”

ซึ่งนั่นก็คงจะเพียงพอแล้วสำหรับการสืบทอดเจตนารมย์ของการออกแบบ NAD 3020 เครื่องเสียงในตำนานของวงการไฮไฟ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 0-2276-9644
ราคา 19,000 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ