fbpx
REVIEW

รีวิว Marantz : HD-AMP1

เมื่อปีก่อนผมมีโอกาสได้รีวิว Marantz HD-DAC1 เครื่องเสียงในอนุกรม MusicLink Series ที่เกิดมาจากวิสัยทัศน์ของทีมออกแบบเครื่องเสียงมาร้านทซ์ตั้งแต่ปีค.ศ.1990 เพื่อให้เป็นเครื่องเสียงไฮไฟแนวคิดใหม่สไตล์มินิมอลลิสต์

ที่เรียกมินิมอลลิสต์ เพราะว่ามันมามีรูปลักษณ์ที่กะทัดรัด แม้จะดูว่าแอบหรูหราแต่ภาพลักษณ์ที่ปรากฏก็ยังคงดูสมถะเรียบง่าย เรียบง่ายเหมือนกับว่าไม่ได้มีพิษสงอะไรแต่คุณสมบัติและความสามารถพื้นฐานของมันไม่ได้มินิมอลตามไปด้วยเลย เช่นเดียวกับ Marantz HD-AMP1 เครื่องเสียงรุ่นใหม่ล่าสุดใน MusicLink Series

อินทิเกรตแอมป์ตัวเล็กในแบบฉบับของมาร้านทซ์
HD-AMP1 เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่มีรูปร่างหน้าตาละม้ายกับ HD-DAC1 ราวกับเป็นฝาแฝด การออกแบบโดยพื้นฐานเป็นอินทิเกรตแอมป์สเตริโอขนาดตั้งโต๊ะ ภาคขยายเสียงเป็นวงจรแบบ Class D กำลังขับข้างละ 35 วัตต์ (ที่โหลด 8 โอห์ม) หรือ 70 วัตต์ (ที่โหลด 4 โอห์ม) ช่วงความถี่ตอบสนอง 20Hz – 50kHz

สง่าราศีของอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้

นอกจากวงจรขยายเสียงแบบ Class D แล้ว ทีมออกแบบของมาร้านทช์ยังได้นำเอาเทคโนโลยีการป้อนกลับสัญญาณในโหมดกระแสไฟฟ้าหรือ ‘Current Feedback Technology’ มาใช้ในวงจรขยายเสียงของอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ด้วย เทคโนโลยีนี้มาร้านทช์อ้างว่าพวกเขาได้พัฒนานำมาใช้งานเป็นเวลากว่า 55 ปีแล้ว เริ่มใช้ครั้งแรกตั้งแต่ในยุคที่มาร้านทช์สร้างชื่อด้วยแอมป์หลอดสุญญากาศโน่น

อีกส่วนหนึ่งที่เข้าใจว่าแฟนๆ ของยี่ห้อมาร้านทช์น่าจะเห็นกันจนชินตาแล้ว โดยเฉพาะในเครื่องเสียงระดับบนๆ ของมาร้านทช์นั่นคือวงจร HDAM-SA2 (ตัวย่อ HDAM มาจากคำว่าเต็มว่า ‘Hyper Dynamic Amplifier Module’) วงจรนี้ทางมาร้านทช์ได้พัฒนามาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วโดยมีใช้ครั้งแรกในเครื่องเล่นซีดี

เทคโนโลยีนี้เป็นการใช้วงจรขยายสัญญาณขนาดเล็กคุณภาพสูงแบบดิสครีตที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าแทนที่การใช้ไอซีออปแอมป์ทั่วไปซึ่งมักจะถูกออกแบบมาให้ใช้งานอย่างเอนกประสงค์ มิได้จำเพาะมาสำหรับใช้งานในอุปกรณ์เครื่องเสียงไฮไฟ

ขั้วต่ออินพุตต่างๆ ด้านหลังเครื่อง และขั้วต่อสายลำโพง
ที่หยิบยืมมาจากเครื่องรุ่นไฮเอนด์ของมาร้านทช์เอง

HDAM ใน HD-AMP1 ยังเป็นเจนเนอเรชั่นล่าสุด HDAM-SA2 ที่พัฒนาให้มีแบนด์วิดธ์กว้างขึ้น, มีการตอบสนองที่ฉับไวมากขึ้นและมีความเพี้ยนต่ำลง ในรุ่น HD-AMP1 นี้มีการใช้วงจร HDAM-SA2 ในวงจรอยู่ 3 ส่วนได้แก่ วงจรอะนาล็อกขาเข้า, วงจรแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาล็อกและในวงจรภาคขยายหูฟัง ก่อนจะว่ากันในรายละเอียดอื่นๆ ต่อไป

สิ่งหนึ่งที่อยากเรียนให้ทราบคือ HD-AMP1 เป็นเครื่องเสียงในอนุกรม MusicLink Series ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องของ stylish & performance คือเป็นผู้ที่หลงใหลตัวสินค้าทั้งในเรื่องของหน้าตาและคุณภาพอันโดดเด่น

ดังนั้นการวางระดับและราคาของ HD-AMP1 จึงอยู่เหนือกว่าแอมปลิฟายใน PM Series จนขึ้นไปแตะระดับกลางสูงหรือระดับไฮเอนด์ของมาร้านทช์เอง สังเกตได้จากสนนราคาระดับเฉียดครึ่งแสนบาท อุปกรณ์เครื่องเคราส่วนประกอบต่างๆ ที่เป็นระดับพรีเมี่ยม (ตัวถัง, คอนเน็คเตอร์ต่างๆ หรือขั้วต่อสายลำโพง) สิ่งเหล่านี้ปรากฎชัดเจนตั้งแต่แรกเห็นครับ เหลือก็แต่เรื่อง performance ที่ผมต้องศึกษาและพิจารณาจาก HD-AMP1 หลังจากนั้น

DAC ในตัว ไม่ใช่แค่ของแถม
HD-AMP1 เป็นอินทิเกรตแอมป์สมัยใหม่ตามสมัยนิยมที่ไม่ได้มีเพียงแค่อินพุตสัญญาณอะนาล็อก (ANALOG 1, ANALOG 2) ขณะที่อินพุต Phono ที่เคยมีในอินทิเกรตแอมป์ของมาร้านทช์หลายๆ รุ่นหายไป แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคืออินพุตสัญญาณดิจิตอล ที่ใส่มาชนิดที่เรียกไม่ได้ว่าเป็น ‘ของแถม’ แต่จัดเต็มจนบางทีผมอยากจะเรียกมันว่าเป็น DAC ที่มีภาคขยายเสียงเสียด้วยซ้ำ แถมยังรองรับไฟล์เสียงยอดนิยมครบถ้วนทั้ง WAV, ALAC, FLAC, AIFF, MP3, AAC และ WMA

อินพุตสัญญาณดิจิตอลที่เด่นสุดคือ อินพุต Asynchronous ‘USB-DAC’ (USB-B) ที่รองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงไปไกลถึงระดับ 32bit/384kHz, DSD2.8 / DSD5.6 / DSD11.2 … ใช่แล้วครับ ไปถึงระดับ Quad-DSD เลยและเหนือ PCM 24bit/192kHz ไปอีกเท่าตัว โดยมีหัวใจของการทำงานอยู่ที่ชิพ DAC รหัส SABRE ES9010K2M จาก ESS ลำพังสเปคฯ พื้นฐานอย่างนี้พอจะสนับสนุนความเห็นของผมเรื่องที่ว่าอินพุตสัญญาณดิจิตอลในอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ไม่ใช่ของแถมได้ไหมครับ

ใช่ว่าจะมีเพียงแค่อินพุต USB-DAC ที่น่าสนใจ HD-AMP1 ยังมีอินพุต Coaxial, Optical ที่รองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงถึงระดับ 24bit/192kHz ด้านหน้าเครื่องยังมีพอร์ต USB-A สำหรับใช้งานกับอุปกรณ์ iOS (ไอโฟน, ไอพอดทัช, ไอแพด) ทั้งในโหมดชาร์จแบตและเล่นเพลง อีกทั้งยังสามารถเล่นเพลงจาก USB Flash Drive ได้ด้วย

ทำความรู้จัก HD-AMP1
เห็นตัวเล็กๆ อย่างนี้อย่าเพิ่งปรามาสเชียวนะครับว่า HD-AMP1 จะเป็นแอมป์ที่มาร้านทช์ทำมาเพื่อขายหน้าตาเพียงอย่างเดียว ตัวเล็กๆ อย่างนี้น้ำหนักเกือบ 6 กิโลเลยนะครับ

ยิ่งรู้ว่าข้างในเป็นแอมป์ Class D ก็ยังแปลกใจว่าทำไมถึงหนักเกินคาด แต่พอดูสเปคฯ อีกที อ่อ กำลังขับของเขาเบิ้ลได้เป็นเท่าตัวเลยเมื่ออิมพิแดนซ์ของโหลดลดจาก 8 เหลือ 4 โอห์ม นั่นหมายความมันเป็นแอมป์ Class D ที่มีกำลังสำรองดีมาก แบบนี้เรียกว่าไม่โม้เอาตัวเลขกำลังขับบนกระดาษให้เยอะเข้าว่า แต่เป็นตัวเลขกำลังขับที่ใช้งานได้จริง เป็นกำลังขับในเชิงพลวัต (dynamic power)

วงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายใน HD-AMP1

เมื่อได้มีโอกาสจับเครื่องมาใช้งานจริง ก็ต้องบอกว่าแอมป์หน้าตาเรียบๆ แบบ HD-AMP1 นี่ลูกเล่นหรือคุณสมบัติต่างๆ นั้นไม่ได้กะทัดรัดไปตามตัวเลย บนหน้าปัดเรียบๆ มองเห็นปุ่มต่างๆ อยู่แค่ไม่มีปุ่ม

ลูกบิดขนาดใหญ่ด้านซ้ายสำหรับเลือกอินพุตที่จะฟัง ด้านขวามือถัดมาเป็นจอแสดงผลสไตล์ Porthole หรือช่องอากาศข้างเรือซึ่งได้กลายเป็นลายเซ็นของเครื่องเสียงมาร้านทช์ไปแล้ว ลูกบิดใหญ่อีกตัวด้านขวามือเป็นวอลุ่มคอนโทรล ถัดมาด้านล่างเป็นเอาต์พุตหูฟัง (6.3mm headphone output)

บนหน้าปัดของ HD-AMP1 ยังมีปุ่ม SETUP เพื่อเข้าถึงเมนูการตั้งค่าต่างๆ ของเครื่อง ซึ่งมีตั้งแต่ระดับความสว่างของหน้าจอแสดงผล, เลือกโหมดแสตนด์บายอัตโนมัติ, เลือกโหมดการใช้งานกับ iPod, เลือกดิจิตอลฟิลเตอร์, เกนขยายของเอาต์พุตหูฟัง, การปรับชดเชยเสียงทุ้มหรือเสียงแหลม, ปรับสมดุลซ้าย/ขวา หรือการตั้งค่าต่อตรง (S.Direct) บายพาสทุกฟังก์ชั่นปรับเสียงที่ว่ามาเพื่อฟังแบบ flat (ไม่มีการปรับแต่งเสียง) ซึ่งตลอดการรีวิวผมเลือกไว้ตรงนี้

นอกจากนั้นในกรณีที่ใช้งานลำโพงขนาดเล็ก หรือชุดลำโพง Sub+Sat แบบ 2.1 แชนเนล ที่ด้านหลังเครื่อง HD-AMP1 ยังมีขั้วต่อ SUBWOOFER OUT สำหรับให้ต่อพ่วงใช้งานกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ได้ด้วย

ตลอดการรีวิวอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ผมเน้นใช้งานตามจริงคือ ใช้งานที่อินพุต USB-DAC เป็นหลัก โดยมีคอมพิวเตอร์ที่เล่นเพลงจากโปรแกรม roon เป็นแหล่งสัญญาณต้นทาง สลับกับเน็ตเวอร์คทรานสปอร์ตอย่าง Clef Audio Zero One

สำหรับอินพุตอะนาล็อกของ HD-AMP1 มีการลองใช้งานบ้างเป็นครั้งคราวแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าอินพุต USB-DAC เนื่องจากในปัจจุบันผมเองฟังเพลงจากแหล่งสัญญาณอะนาล็อกไม่บ่อยนัก แต่เหนือสิ่งอื่นใด คงเป็นเพราะอินพุต USB-DAC ของอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้มีคุณสมบัติและคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยม

ผมว่าถ้าเทียบกับ USB-DAC แบบแยกชิ้นทั่วไป ภาค DAC ในตัว HD-AMP1 ควรจะต้องมีมูลค่ามากกว่า 50% ของราคาเครื่องเลยทีเดียว อันนี้ผมยืนยันความเห็นอย่างจริงจังเลยนะครับ

ลองขับลำโพงความไวต่ำ
ช่วงแรกของการทดสอบภาคคุณภาพเสียง ผมลองใช้แอมป์ตัวนี้ขับลำโพงราคาประหยัดและมีความไวค่อนข้างต่ำอย่าง Mission VX2 (คู่ละ 8,750 บาท ตู้เปิด สองทาง ความไว 85dB) ตลอดจนลำโพงตู้ปิดความไวค่อนข้างต่ำอย่าง XAV Klaszix 1A (26,500 บาท ตู้ปิด สองทาง ความไว 87dB) และ NHT C-3 (42,200 บาท ตู้ปิด สามทาง ความไว 87dB) สิ่งที่พบเจอกับหูของตัวเองก็คือ HD-AMP1 แสดงพฤติกรรมชัดเจนว่ามันขับลำโพงอย่าง VX2 ได้ง่ายที่สุด รองลงมาก็ Klaszix 1A ส่วนลำโพง C-3 นั้นต้องเรียกว่าพอจะใช้งานได้แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้วก็ยังไม่ใช่แอมป์ที่จะรีดเค้นประสิทธิภาพของลำโพงรุ่นนี้ออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

USB-DAC ในตัวรองรับไฟล์ 24bit/352.8kHz
USB-DAC ที่บิลต์อินมานี้ยังรองรับ DSD 11.2MHz ด้วยครับ​

น้ำเสียงที่ฟังดูเหมือนจะเป็นบุคลิกของอิมเกรตแอมป์ตัวนี้คือ การแจกแจงรายละเอียดซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสียงที่มีความนุ่มนวลของมวลเนื้อเสียง มันทำให้ลำโพง VX2 ฟังดูคุ้มค่าเกินค่าตัว เสียงกลางทุ้มลงไปถึงย่านความถี่ต่ำๆ มี definition หรือการแยกแยะรายละเอียดที่เด็ดขาดชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในภาพรวมถือว่าแมตช์กันดีเลยล่ะครับทั้งในแง่ของกำลังขับและคุณภาพเสียง ตัวเลขความไวที่ 85dB ของ VX2 ไม่ใช่อุปสรรคเลยสำหรับอินทิเกรตแอมป์กำลังขับข้างละ 35 วัตต์ตัวนี้ เรียกว่าเปิดฟังอัลบั้ม Companion (ไฟล์ DSD64) ของ Patricia Barber ฟังได้แบบเพลินๆ ทั้งอัลบั้มเลยล่ะ

สำหรับการใช้ขับลำโพง Klaszix 1A ผมชอบความราบรื่นในเสียงกลางที่ได้จากชุดนี้เป็นพิเศษ มันเป็นเสียงที่ชัด เต็ม สะอาดและมีรายละเอียดเต็มไปหมดแม้จะใช้ระดับวอลุ่มของ HD-AMP1 ค่อนข้างสูงก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในวิสัยที่พูดได้ว่าขับได้ สุ้มเสียงในภาพรวมคล้ายเสียงที่ได้จากแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอนด์ไตรโอด เป็นเสียงที่สว่างสดใสแต่ฟังลื่นหู ขณะที่เสียงทุ้มมีปริมาณจำกัด ลำพังฟังเพลงร้องเบาๆ หรือแจ๊ซที่มีดนตรีน้อยชิ้นไม่เน้นอึกทึกก็พอฟังได้เพลินๆ แต่ถ้าจะให้ได้อรรถรสเต็มที่กับดนตรีที่ดุดันกว่นั้นควรหาลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่แมตช์กันมาต่อพ่วงที่ SUBWOOFER OUT ของ HD-AMP1 น่าจะดี

ลองขับลำโพง Mission LX2
ในช่วงท้ายก่อนที่ผมจะมาเขียนสรุปเป็นรีวิวนี้ ผมมีโอกาสได้ลองฟัง HD-AMP1 กับลำโพงรุ่นใหม่ของ Mission นั่นคือ Mission LX2 ซึ่งอยู่ใน Series ที่สูงกว่า VX2 ลำโพง LX2 มีความไวแค่ 85dB อิมพิแดนซ์เฉลี่ยอยู่ที่ 6 โอห์ม ลำพังตัวเลขเหล่านี้ออกจะน่าเป็นห่วงอยู่เหมือนกันสำหรับแอมป์ที่มีกำลังขับ 35 วัตต์ต่อข้าง

แต่อย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นว่ากำลังสำรองของ HD-AMP1 นั้นจัดว่าไม่ธรรมดา ประกอบกับตัวลำโพง LX2 มีอิมพิแดนซ์ต่ำสุดตามสเปคฯ อยู่ที่ 4.1 โอห์ม ก็ถือว่ายังไม่สาหัสจนเกินไปนักสำหรับแอมป์ที่มีเรี่ยวแรงเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ไม่เยอะอย่างนี้ สำหรับผลลัพธ์ที่ออกมาผมถือว่ายอดเยี่ยมเลยครับ

มันเหมือนส่วนผสมระหว่างประสบการณ์ที่ได้จากตอนที่ฟังกับลำโพง VX2 และลำโพง Klaszix 1A คือมันเป็นความรู้สึกที่ได้หลังจากฟังเสียงน่ะครับ ไม่ใช่เรื่องของสมการ 1+1 เท่ากับ 2 หรอกครับ ทว่าในภาพรวมถือว่าน่าพอใจเลย บวกลบคูณหารแล้วเหมือนข้อจำกัดต่างๆ จะน้อยลงไปเยอะ

ระหว่างใช้งานร่วมกับลำโพง Mission LX2

ลำพังเปิดเพลงที่ริบมาจากแผ่นซีดีก็ฟังออกแล้วว่านี่คือส่วนผสมที่ลงตัวกันดีคู่หนึ่ง ขนาดเป็นอัลบั้มเพลงทั่วๆ ไปอย่างชุด All-4-One อัลบั้มเปิดตัวของ 4 หนุ่มวง All-4-One เอามาเปิดในพ.ศ.นี้ กับซิสเตมนี้ยังให้ความอิ่มเอมในการฟังได้ดีเยี่ยม กับซิสเตมง่ายๆ แต่เสียงดีมากเกินคาดแบบนี้แหละครับ

เพื่อพิสูจน์ว่า 35 วัตต์ใน HD-AMP1 สามารถขับ LX2 ได้ดี และภาค USB DAC ใน HD-AMP1 สามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีได้เกินคุ้ม ผมยังเลือกไฟล์เพลงจากอีกหลายๆ อัลบั้มมาพิจารณา หนึ่งในนั้นคืออัลบั้ม Tears Of Missing ของ Tong Li (ถงลี่)

มันเป็นเรื่องน่าแปลกพอสมควรนะครับที่แอมป์ Class D ตัวนี้กลับไปให้เสียงละม้ายคล้ายคลึงกับแอมหลอดซิงเกิ้ลเอนด์ไตรโอด มันโปร่ง มันสว่างสดใส และมีเกรนเสียงที่ละเอียดและเกลี้ยงเกลา ความหยาบกร้านรกหูของแอมป์ Class D เมื่อในอดีตกลายเป็นเรื่องของความทรงจำสีจางๆ ไปเสียแล้วเมื่อเทคโนโลยีของแอมป์ Class D เดินทางมาได้จนถึงจุดนี้

แอมป์ Class D กับ แอมป์ Class D
ด้วยความบังเอิญหรือด้วยโชคชะตามิทราบ ในวาระที่กำลังฟัง HD-AMP1 กับ LX2 ผมก็ได้รับอินทิเกรตแอมป์รุ่นใหม่ของยี่ห้อเดน่อน ‘Denon’ มาลองฟังด้วย มันคือ Denon PMA-50 อินทิเกรตแอมป์ที่ใช้ภาคขยายเสียงแบบ Class D เช่นกัน มีกำลังขับข้างละ 30 วัตต์ที่โหลด 8 โอห์ม และเพิ่มขึ้นเป็น 50 วัตต์เมื่อโหลดลดลงเป็น 4 โอห์ม

หลายท่านที่ทราบว่ายี่ห้อ Marantz และ Denon ซึ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกันของ D+M Group (DMGlobal) คงมีการแบ่งเทคโนโลยีแอมป์ Class D ซึ่งกันและกัน สุ้มเสียงก็คงจะไปในแนวทางเดียวแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วจากน้ำเสียงที่ได้ยิน มันไม่ใช่เลยครับ แอมป์ทั้งคู่เมื่อใช้ขับลำโพง LX2 มันให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน

ผมยังคงยืนยันว่า HD-AMP1 ให้เสียงผ่าน LX2 คล้ายแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอนด์ไตรโอด เด่นมากที่เสียงกลางและแหลม ถ้าจัดระเบียบของซิสเตมให้ดี เซ็ตอัพเหมาะสม เสียงทุ้มที่เด่นน้อยกว่า มันก็แค่ฟังเด่นน้อยกว่า แต่จะไม่ใช่ตัวปัญหาที่คอยลดทอนอรรถรสในการฟังเพลง ขณะที่ PMA-50 ถ่ายทอดน้ำเสียงผ่านลำโพง LX2 ในโทนที่นุ่มนวลกว่า ละมุนละไมกว่า มีสมดุลเสียงค่อนไปทางกลางทุ้มมากกว่ากลางแหลม

รายละเอียดที่ถ่ายทอดออกมาไม่ใช่ลักษณะจะแจ้งชัดเจนเหมือนอย่าง HD-AMP1 คือถ้าเสียงจาก HD-AMP1 เปรียบเป็นกาแฟเอสเปรสโซ เสียงจาก PMA-50 ก็เป็นกาแฟลาเต้จากหัวเชื้อกาแฟเดียวกันอะไรประมาณนั้นล่ะครับ

อินทิเกรตแอมป์เสียงดียุคใหม่กับแนวคิดทันสมัย
ด้วยความรู้สึกจากใจจริง ครั้งแรกที่่เห็น HD-AMP1 ผมคิดว่ามันเป็นแค่เครื่องเสียงในกลุ่มไลฟ์สไตล์ที่ไม่สามารถจะมาเอาจริงเอาจังอะไรกับคุณภาพเสียง

แต่พอได้ใช้งานจริงๆ แล้ว อินทิเกรตแอมป์หน้าตาดีตัวนี้ก็ได้ฉายแววของเครื่องเสียงไฮไฟยุคใหม่ออกมา คำว่ายุคใหม่ในที่นี้คือแนวคิดไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ ว่าไปตั้งแต่เรื่องของการใส่วงจร DAC ชั้นดี (ชนิดที่ว่าทำแยกขายอีกรุ่นก็ได้) มาในตัว หรือการนำวงจรแอมป์ Class D ที่ยุคหนึ่งคนไฮไฟเขาไม่เอากันมาใช้โดยให้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้พิสูจน์ตัวของมันเอง แล้วอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างน่าชื่นชม

ถ้าชอบเครื่องเสียงน้อยชิ้น เล่นง่าย แต่สุ้มเสียงออกมาแล้วทำให้อ้าปากค้างได้… ผมว่า Marantz HD-AMP1 ตัวนี้มิสามารถมองข้ามไปได้เลยจริงๆ ครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เอ็ม.ไอ.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โทร. 0-2254-3316-9
ราคา : 49,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ