fbpx
REVIEW

รีวิว Onkyo : HT-S7805

สำหรับคนทั่วไปที่จด ๆ จ้อง ๆ เครื่องเสียงโฮมเธียเตอร์มาพอสมควรถ้าพูดถึงชุด home theater in the box แล้วอาจจะมีอาการ เบะปากให้เห็นในทันที ก็คงต้องเป็นอย่างนั้นแหละครับเพราะว่าเมื่อก่อนนี้ ชุด home theater in the box กลายเป็นของแถม สมัยหนึ่งใครซื้อทีวีแพงแพง ๆเครื่องนึงก็จะได้ลำโพงสูงชะลูด สวยงาม ไปประดับไว้ข้าง ๆ ทีวี เรื่องประสิทธิภาพว่ากันทีหลัง ขอให้เล่นแผ่น dvd หรือ bluray ได้ มีลำโพงครบทั้ง 5.1 channel เป็นอันใช้ได้

ผมไม่ได้แอนตี้ว่าชุด home theater in the box เสียงจะไม่ได้เรื่องซะทีเดียวนะครับ ตอนนั้นรู้สึกว่ามันเป็นส่วนประกอบที่ทำให้คนไม่ค่อยเห็นคุณค่ามันเท่าไหร่ มันกลายเป็นของแถมเสียจนยุคหนึ่งเรามองข้ามมันไป ตัวแปรของมันมักจะอยู่ที่ขนาดของพื้นที่ใช้งานเป็นหลัก ถ้าไว้ในห้องนั่งเล่นหรือห้องนอนที่ขนาดไม่ได้ใหญ่มากมันก็เป็นทางเลือกที่สะดวก แต่ชุดเหล่านั้นคุณภาพมันหยุดอยู่แค่นั้น ชุดดี ๆ หน่อยถ้าใครจะซีเรียสเรื่องเสียงมากขึ้นก็หาสายลำโพงมาเปลี่ยนเอา ดีขึ้นแค่ไหนคงต้องลุ้นกันเองครับ

ไม่ว่าจะเป็นภาคขยายเองหรือว่าตัวลำโพงเอง มันมักถูกออกแบบมาให้เข้าชุดกัน ใช้งานด้วยกัน บางทีขั้วต่อก็ยังเป็นขั้วแปลก ๆ ที่ไปเสียบกับคนอื่นเขาไม่ได้ก็เลยหมดสิทธิ์ที่จะขยับขยาย อันนี้คงเป็นเครื่องของการซื้ออนาคตที่ชุดแบบนี้ มักถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่เมื่อซื้อมาแล้วต้องอยู่กับมันไปจนกว่าจะเบื่อหรือไม่ก็หาใครมารับช่วงต่อไป

แต่ชุด home theater in the box ที่เราจะมารีวิวในวันนี้ไม่ใช่แบบนั้นครับ มันก็อาจจะดูเหมือนชุดโฮมเธียเตอร์อินเดอะบ็อกซ์ทั่ว ๆ ไปที่ตัดเอาเพลเยอร์หรือเครื่องเล่นแผ่นออก ให้ภาคขยาย และภาคถอดรหัสเสียงทั้ง Dolby Atmos และ DTS:X เชื่อมต่อผ่านระบบ network ได้ทั้ง Wi-Fi และระบบ LAN เรียกว่า Network A/V Receiver กันเต็มปากได้เลย มาพร้อมกับชุดลำโพงที่มาเป็นแพ็ค ทั้งหมดไม่ต้องไปหาเพิ่มเติมที่ไหนอีกแล้ว รวมถึงสายต่อเชื่อมต่าง ๆที่จำเป็นสำหรับการใช้งานก่อนที่จะลงทุนกับสาย ในราคาที่แพง ๆ

Onkyo HT-S7805 ที่จั่วหัวไว้ข้างบนล่ะครับคือชื่อเรียกของชุดนี้ โดยรายละเอียดของอุปกรณ์ต่าง ๆที่ให้มาก็จะมีชื่อรุ่นชื่อรหัส ของใครของมันตามนั้น ที่ผมบอกว่ามันไม่ใช่ชุด home theater in the box ทั่ว ๆ ไปก็เพราะว่า ตัวเมนหลักของชุดนี้ คือ Network AV Receiver 5.1.2 channel มันไม่ต่างอะไรกับ AV Receiver ทั่วไปที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด

เรียกว่าฟังก์ชันและประสิทธิภาพ Onkyo ให้มาแบบจัดเต็มอุดช่องว่างของชุดโฮมเธียเตอร์อินเดอะบ็อกซ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นชุดเครื่องเสียงสำหรับมือใหม่ เพียงแต่มันไม่มีเพลเยอร์ หรือแหล่งโปรแกรมให้ด้วยเท่านั้น

HT-S7805 เป็น ชุดโฮมเธียเตอร์ในระบบ 5.1.2 แชนเนล .2 แชนเนลที่เพิ่มขึ้นมานั่นก็คือการมีลำโพงอีก 1 คู่ ซึ่งเป็นลำโพงที่อยู่ในตู้เดียวกันกับลำโพงหลักคู่หน้าเพื่อรองรับทั้ง Dolby Atmos แล้วก็ DTS:X (โดยการ upgrade firmware ผ่าน internet) แต่ตัวขายจริงน่าจะพร้อมเสร็จสรรพตั้งแต่ยกออกมาจากกล่อง

ด้วยประสิทธิภาพของ receiver ตัวนี้ ประกอบไปด้วยภาคถอดรหัสดิจิตอลไปเป็นอะนาล็อก หรือ DAC เป็นชิพ 384KHz 32 bit พร้อมกับกำลังขับ 160 วัตต์ /แชนแนล ที่ 6 โอห์ม แน่นอนว่าต้องมีคนเอา AV Receiver HT-R695 ในชุด HTS-7805 ไปเทียบกับ AV Receiver ของออนเกียวที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด ให้รู้ว่าฟังก์ชันที่ออนเกียวให้มาใน HT-R695 ชุดนี้แทบไม่แตกต่างจาก AV Receiver ในแบบแยกชิ้นเลย

ที่สำคัญในการรองรับ ระบบภาพในรูปแบบของสัญญานวีดีโอก็ประกอบไปด้วยช่อง HDMI input มากถึง 8 ช่องที่รองรับสัญญาณ 4k/60Hz HDR และไม่ว่าอินพุตของคุณจะเป็นสัญญาณ Full HD 1080p ในรูปแบบไหน ฟังก์ชั่นสเกลเลอร์ของภาพใน HT-R695 ตัวนี้ก็สามารถสเกลออกมาเป็นสัญญาณ 4K เพื่อป้อนเข้าสู่โทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณ 4K ได้เต็ม ๆ

ยัง..ยังไม่หมดแค่นั้นครับ ด้วยความสามารถจากเดิมที่สามารถเล่นไฟล์พวก Lossless อย่างพวก DTS-HD Master หรือ Dolby True HD ได้แล้ว ยังสามารถเล่นไฟล์ที่ไปไกลได้ถึงระดับ Hi-Res อย่างพวก DSD ผ่านทางระบบเน็ตเวิร์ค หรือทางช่องต่อแบบ USB ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เก็บข้อมูลจำพวก external harddisk ได้อีกด้วย

ขั้วต่ออินพุตด้านหน้าให้มาเพียง HDMI เหมือนเอวีฯ แยกชิ้นรุ่นดังของเขา
เป็นเอวีฯ ที่ออกแบบหน้าตาได้สวยงาม ลงตัวรุ่นหนึ่ง

และเดี๋ยวนี้ในโลกของการเชื่อมต่อที่เป็นที่โปรดปรานของคนรุ่นใหม่ คือการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ถึงแม้ว่าจะเป็น อุปกรณ์ในระดับเริ่มต้นของชุดโฮมเธียเตอร์ก็ยัง ให้การเชื่อมต่อแบบไร้สายมาอย่างเต็มเหนี่ยวไม่ว่าจะเป็น Bluetooth/ Wifi หรือ Airplay ให้เลือกใช้งานตามวัตถุประสงค์ หรืออุปกรณ์ที่สามารถหยิบฉวยได้สะดวก

ปุ่มต่าง ๆ ถูกซ่อนเอาไว้อย่างเป็นระเบียบครบทุกฟังก์ชั่นบนรีโมท
ตัวรีโมทเองกลับลดปุ่มต่าง ๆ ลงรวมอยู่ใน Quick menu ที่ต้องอาศัยมองคำสั่งผ่านหน้าปัดเครื่อง หรือจอทีวี

โดยจัดการ การ setup ในโฮมเธียเตอร์ที่เรียกว่า AccuEQ ของออนเกียวก็ถูกจับมาใส่ใน AV Receiver ชุดนี้ด้วย ซึ่งเวอร์ชั่นนี้มันสามารถประมวลผลลำโพงในแชนแนลที่เพิ่มขึ้นมา เรียกว่า AccuReflex เป็นตัวเดียวที่ใช้ใน TX-NR656 ที่เราเคยทดสอบไป จุดประสงค์ก็เพื่อใช้ในการคำนวณเฟสของลำโพง ที่ใช้ในระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS:X ให้ตรงกันกับลำโพงคู่หน้าทำให้การทำงานสอดประสานกันระหว่างลำโพงคู่หน้าและลำโพงแชนเนลพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาเป็นไปอย่างพิเศษกว่าการรับฟังในระบบ 5.1 ธรรมดา ๆ

มาพูดถึงรายละเอียดของลำโพงที่ใช้กับ ชุดโฮมเธียเตอร์ชุดนี้ของออนเกียวกันสักหน่อย ลำโพงคู่หน้า มีชื่อรุ่นด้วยครับ SKF-693 เดาได้ SK น่าจะมาจาก speaker ส่วน F ก็คือ Front เป็นลำโพงที่กว้างประมาณ 15.5 ซม.ลึกประมาณ เกือบเท่าเท่ากันคือ 17 cm แต่ความสูงของมันสูงถึง 45 cm โดยมีผ้าคลุมเป็นตะแกรงพลาสติก ป้องกันความเสียหายอยู่ด้านในขึงเสียตึงเปรี๊ยะ ไม่สามารถถอดโชว์ให้เห็นถึงหน้าตาของตัวไดรเวอร์ได้

ที่สำคัญคือด้านหลังมันมีขั้วต่อลำโพงอยู่ 2 ชุด นั่นก็คือลำโพงคู่หน้าของชุดโฮมเธียเตอร์ชุดนี้จะมีลำโพงอยู่ด้านบนอีกข้างละ 1 ชุดสำหรับทำงานในระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS:X รู้จักขั้วต่อที่เป็นแบบสปริงเหนียบเขาทำโค้ดสีมาให้เรียบร้อย อีกทั้งยังมีตัวหนังสืออย่างถ้าเป็นคู่ซ้ายก็จะบอกว่า Height Left และ Front Left เป็นที่รู้กันว่า ควรจะต่อยังไงมาจากตัวแอมป์

ถามว่าลำโพงคู่หน้าของชุดนี้น่าจะเหมาะกับการวางบนหิ้งที่เป็นชั้นที่มีความสูงเดียวกับทีวี หรือไม่ก็ใช้การแขวนที่มีระดับความสูงใกล้เคียงกับจอภาพซึ่งด้านหลังของลำโพงก็มีตัวยึดสำหรับแขวนผนังมาให้เรียบร้อยทุกแชนเนล เพียงเจาะผนังด้วยน๊อตตัวเดียวที่คิดว่ารับน้ำหนักซักประมาณไม่เกิน 2 กิโลได้เท่านั้น

ตัว Center SKC-591N มีขนาดที่เล็กกว่าลำโพงคู่หน้าไปบ้าง แบบย่อส่วนลงมาประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นลำโพงตู้เปิดที่มีการออกแบบด้านข้างเป็นพลาสติกสีดำเล่นเงาเหมือนผิวไม้เปียโนสีด้วย ขนาดของไดร์เวอร์ก็จะดูเล็กกว่าลำโพงคู่หน้าไปใช้ร่วมกับลำโพงเซอร์ราวน์ด มียางรองชิ้นเล็ก ๆ ที่เอาไว้เพิ่มความมั่นคงเวลาวางหน้าทีวี ควรหยิบมาใช้เป็นอย่างยิ่ง เป็นยางชิ้นเล็ก ๆ มีกาวแปะไว้อีกด้านหนึ่งเอามาแปะกับลำโพงเซ็นเตอร์ตัวนี้ก็เป็นขายางไปเลยในตัวครับ

ตัวลำโพงเซอร์ราว SKR-590 ใช้ลำโพงที่เป็นไดเวอร์ขนาด 8 cm ขนาดเดียวกับที่อยู่ด้านบนของลำโพงคู่หน้า และเซ็นเตอร์ด้านหลังก็มีจุดแขวนผนังมาให้เหมือนกัน ตัวนี้น่าจะเหมาะกับการแขวนผนังมากที่สุดเพราะมีขนาดเล็กน้ำหนักเบา ทำมาเป็นตู้ปิดเสียด้วยเวลาแขวนผนังยิ่งดีเพราะจะได้เสียงย่านต่ำ ๆ เพิ่มขึ้นมาอัตโนมัติ

ตัวสุดท้ายก็คือลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เป็น active (เสียบไฟ) ในรุ่น SKW-658 Onkyo ใช้ไดเวอร์ ขนาด 8 นิ้ว ติดตั้งโดยยิงลงที่พื้น มีท่อ resonance ออกมาด้านหน้าเปิดให้ปากท่อบานออกคล้ายแตร เพราะไดร์เวอร์ที่ยิงลงพื้นตำแหน่งการวางของมันไม่ควรวางบนพื้นที่ที่สั่นกระพือง่าย ๆ ขาตั้งเป็นเดือยทรงกรวยขนาดใหญ่ ลบมุมตรงปลายไม่ให้แหลมมากนัก แต่ไม่ต้องกลัวครับเขาให้ยางรองมาด้วยในชุดสายลำโพงสำหรับวางบนพื้นแข็ง ๆ ไม่ให้มันเคลื่อนที่ได้ตามใจชอบ

ด้านหลังของมันก็มีเพียงแค่ปุ่ม volume และช่อง input LFE รวมไปถึงสาย power เพื่อเสียบไฟเท่านั้น ด้านหน้ามีความมันวาวดูสวยงามสามารถโชว์ได้โดยที่การทำงานจะเป็นลักษณะ auto switch ซึ่งจะปิด-เปิดเอง ตามสัญญาณอินพุตที่ป้อนเข้ามา มีไฟสีฟ้าบนตัวหนังสือคำว่า Onkyo ติดสว่างเพื่อแสดงให้รู้ว่ามันกำลังทำงานอยู่

ยังไม่หมดครับสิ่งสำคัญของ เครื่องเสียงประเภทนี้ก็คือเมื่อแกะกล่องออกมาแล้ว ต้องไม่ไปหาอุปกรณ์เพิ่มเติมที่ไหน อย่างเช่นพวกสายลำโพง Onkyo HTS-7805 ชุดนี้มีสายลำโพง เส้นเล็ก ๆ นะครับ ขนาดหน้าตัดประมาณ 0.5 มิลฯ ให้มาครบทุกแชนเนลทั้ง 7 แชนเนลซึ่งขนาดความยาวก็แตกต่างกันไปอย่าง 5 แชนเนลด้านหน้าที่รวม Dolby Atmos enabled channel มีความยาวแชนเนลละ 3 เมตร ส่วนเซอร์ราวด้านหลัง อีก 2แชนเนลเขาให้มาข้างละ 8 เมตร และสำหรับซับวูฟเฟอร์ก็เป็น RCA Jack ต่างหาก ขนาดความยาว 3 เมตร ก็น่าจะเพียงพอกับการวางลำโพงซับวูฟเฟอร์ในห้องทั่ว ๆ ไป

รู้จักตัวเลขสเปคของลำโพง ลำโพงชุดนี้เป็นลำโพงที่มีค่าความต้านทานที่ 6 โอห์มทุกตัว maximum input power หรือค่ากำลังขับสูงสุดที่รับได้อยู่ที่ 130 วัตต์ Onkyo จัด AV Receiver ให้มีกำลังขับที่เกินสเปคไปนิดหน่อยกำลังดี แต่ตัวเลขนึงซึ่งน่าตกใจก็คือ ค่าการตอบสนองการทำงานของลำโพง ที่ถือว่าต่ำมากสำหรับลำโพงชุดโฮมเธียเตอร์อินเดอะบ๊อกซ์เหมือนกับออนเกียวตั้งใจออกแบบมาให้ลำโพงชุดนี้ต้องการแอมป์ใหญ่ ๆให้มันทำงานออกมาได้ดี

คู่หน้าอยู่ที่ 84.5 dB ตัวลำโพงเซอร์ราวด์เพียงแค่ 81 dB เท่านั้น ต่ำไหมล่ะครับท่านผู้ชม นี่ถ้าเอาลำโพงชุดนี้ไปให้แอมป์โนเนมตัวอื่นขับ แล้วขับไม่ออกหรือไม่ค่อยมีเสียง ผมก็ไม่แปลกใจเลยเพราะดูตัวเลขแล้วลำโพงชุดนี้กว่าจะขับได้มันโหดเอาเรื่องทีเดียว

Setup
ชุดโฮมเธียเตอร์ HT-S7805 ชุดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อระบบเสียง 3d surround ที่ให้ลำโพงมาครบ เพียงพอที่จะถ่ายทอดระบบเสียงแบบ 3D อย่าง Dolby Atmos และ DTS:X โดยแชนเนลด้านหน้าจาก 3 แชนเนลเดิมก็เพิ่มเป็น 5 แชนเนล ส่วนลำโพงเซอร์ราวด์ที่เหลืออีก 2 แชนเนลจะเอาไว้ด้านข้างตรงตำแหน่งนั่งฟังหรือเยื่องไปทางด้านหลังประมาณ 30 องศาก็ได้ถ้ามีพื้นที่ด้านหลังเหลือ โดยหันลำโพงยิงเข้ามาหาจุดที่นั่งฟังเป็นหลัก

ลำโพงที่อยู่ด้านบนลำโพงหลักจะใช้หลักการสะท้อนเสียงของเพดานเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อสร้างเสียงที่สามารถลอยขึ้นไปอยู่สูงเหนือศีรษะได้เพราะฉะนั้น เพดานของห้องที่แนะนำกับการใช้งานชุดนี้ไม่ควรมีความสูงเกินกว่า 4 เมตร ซึ่งก็เป็นห้องชุดทั่วไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นตึกแถวที่มักจะมีชั้นลอย ยกเพดานไว้สูงน่าจะมีผลกับเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือเรื่องของวัสดุที่ใช้ทำฝ้าบนเพดานไม่ควรเป็นวัสดุ นุ่ม ๆ ควรเป็นฝ้าเรียบ หรือปูนฉาบไปเลยจะดีกว่า จะทำให้การสะท้อนเสียงที่เกิดขึ้นส่งผลกับคุณลักษณะของการสะท้อนเสียงที่ออกแบบมา อย่างกับห้องทดสอบของเรานั้นก็ยังไม่ถือว่าถูกต้องนักเพราะที่เพดานมีวัสดุซับเสียงติดตั้งมาอยู่แบบเต็มพิกัด แต่ก็อยากจะลองดูว่ากับระบบเสียง 3D ของชุดนี้มันจะแก้ไขออกมาได้ดีขนาดไหน

พารามิเตอร์นี้ของ Height Speaker ที่เอวีฯ ตัวอื่นไม่มี
AccuEQ จะกำหนดจุดตัดความถี่ของลำโพงแต่ละแชนเนลเองหลังจากขั้นตอนการเซ็ตอัพทุกอย่างเรียบร้อย

ผมพึ่งรู้ตอน setup นี่เองว่าทำไมออนเกียวเขาถึงแยกรหัส AV Receiver ตัวนี้ออกมาเป็น HT-R 695 เพราะว่าที่เมนูการ setup ของการเซ็ตแบบ 5.1.2 ตรงช่องคำว่า Height Speaker มีพารามิเตอร์ที่เขียนว่า Bundled Dolby Speaker ให้เลือก ผมแน่ใจว่ามีเฉพาะ HT-R695 ตัวนี้ตัวเดียวจริง ๆแล้วมันก็คือ Dolby Enabled Speaker ชนิดหนึ่ง แต่อาจเป็นเพราะว่าออนเกียวตั้งใจปรับจูนมาให้ใช้กับ AV Receiver ชุดนี้โดยเฉพาะนอกนั้นก็ไม่มีอะไรแตกต่างจาก TX-NR656 ของ Onkyo ที่เคยเทสผ่านไปเลย

อ้อ….อีกประเด็นหนึ่งที่นึกขึ้นได้ก็คือ ในการ setup โดยใช้ไมค์คาลิเบรทที่ให้มาด้วย เลเวลของซับวูฟเฟอร์ที่ setup ออกมาแทบไม่ต้องปรับแต่งอะไรเลย ระดับความดังนั้นพอดิบพอดี ไม่เป็นเรื่องให้ปวดหัว ปวดหู ถือว่าออนเกียวตั้งใจทำ HT-R695 ให้เข้ากับลำโพงชุดนี้มาก ๆ

Sit & Listen
มีความรู้สึกหนึ่งแวบเข้ามาในหัวก็คือ ชุดโฮมเธียเตอร์ชุดนี้มันเหมาะกับใคร?

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆนะครับถ้าคนที่มีงบประมาณจำกัด เอาว่าประมาณ 4 หมื่นบาทอยากได้ระบบเสียงในโฮมเธียเตอร์ซักชุดหนึ่งเอาแบบครบ ๆ เลยนะครับ แบกระเป๋ากันแล้วได้เท่านี้แหละ ถือว่าเป็นราคาที่เล่นชุดแยกชิ้นได้แต่ช้าก่อน..ตัวแปรมันอยู่ที่ลำโพงของออนเกียวชุดนี้ครับ ไม่ธรรมดาจริง ๆ

ในปัจจุบันนี้แหล่งโปรแกรมที่ใช้ล้วนแล้วแต่หลากหลาย อย่างเช่นการดูรายการทีวีย้อนหลังจาก youtube หรือการต่อเสียงตรง ๆ จากดิจิตอลทีวีบางคนอาจแย้งว่า อ้าว..ทีวีผมมีจูนเนอร์รับสัญญาณดิจิตอล มีลำโพงที่ให้เสียงในตัวอยู่แล้วต้องเอาชุดโฮมเธียเตอร์ไปต่อพ่วงด้วยอีกหรือ แสดงว่าคุณกำลังพลาดไคลแม็กของการดูทีวีที่สนุกไปกว่าครึ่ง

คงไม่ต้องบอกนะครับว่ามีรายการไหนบ้าง เวทีไหนบ้าง ที่ใช้เสียง หรือซาวน์ดของดนตรีเป็นตัวดึงดูดให้ดูรายการสนุกขึ้น งานมันจะพิถีพิถันออกมาให้สัมผัสได้หลายช่องทางแล้วเดี๋ยวนี้ บางครั้งเสียงเป็นอะไรที่ดึงดูดได้มากกว่าภาพเสียอีก ลำโพงที่ทีวีอาจน้อยเกินไปแล้วล่ะครับทีนี้ เอาว่าจะฟังแบบตั้งใจที่จะเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ commentator ได้วิเคราะห์กันไว้ ถ้าคุณฟังเสียงจากทีวีนะ อย่าได้ริไปคอมเม้นต์กับใครเขาเลยครับ
คือผมจะแสดงให้ดูว่ามันแฮปปี้ขนาดไหน ถ้าคุณเอาชุดโฮมเธียเตอร์มาใช้งานกับคอนเทนต์แบบนี้

ผมต่อ Chromecast เข้าไปที่ อินพุตหนึ่งของ HT-R695 เลือกดูย้อนหลังจากรายการใน youtube รายการใหม่ของคุณปัญญาเขานั่นแหละ ชื่อรายการ The Mark Singer ภาพเป็น 1080p ครับไม่ต้องอัพสเกลอะไรให้วุ่นวาย แต่เสียงนี่สิมาเป็นแบบ 2 แชนแนล AV Receiver ตัวนี้มีโหมดปรับเสียง 2 channel ให้เลือกกันพอสมควรทั้งแบบใช้แค่ 2 channel จนถึงฟังให้ครบหมดทั้ง 5.1.2 channel แบบผ่าน processor ทั้ง Dolby หรือ DTS ก็เลือกใช้ได้

แต่ผมว่าตัวเลือกของผมมันอยู่ที่นี่ครับ All Channel Stereo เห็นก็แต่จะมีอยู่ใน AV Receiver ของอ่อนเกี่ยวนี่แหละ มันทำเสียงสเตอริโอกับทุกแชนเนล คือถ้าทุกแชนเนลเป็น mono เสียงมันควรที่จะมา โฟกัสแปะอยู่ตรงกลางห้องใช่ไหมครับแต่เมื่อมันเป็นสเตอริโอ เสียงในโหมดนี้มันจะไปโฟกัสอยู่ที่หน้าจอ

ยิ่งผมใช้โปรเจคเตอร์จอประมาณ 90 กว่านิ้วด้วยแล้วยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของมัน เสียงมันกว้างออกไปรอบห้องโดยที่เสียงพูดที่ออกมาจากจอเราก็รู้สึกได้ว่ามันพูดออกมาจากจอจริง ๆโดยที่ถึงแม้ว่าลำโพง center มันจะตั้งอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งของจอประมาณเกือบ 50 cm ก็ไม่ได้รู้สึกเลยว่าเสียงมันออกมาจากลำโพง center ผมลองไปฟังดูใกล้ ๆ ตัวลำโพงที่เรียกว่าเป็นลำโพง Dolby Enabled ที่อาศัยด้านบนของลำโพงคู่หน้าของ Onkyo สิงสถิตอยู่ มันก็ยังทำงานตามไปด้วย ผมว่ามันช่วยได้เยอะที่ทำให้เสียง

ทำให้เสียงพูด หรือเสียงบรรยากาศต่าง ๆมันมีความสามารถของการโฟกัสในแนวดิ่งที่ดีขึ้น สูงขึ้น พูดง่าย ๆว่า มันทำให้เสียงมันสูงขึ้นกว่าตำแหน่งของลำโพงที่ตั้งอยู่บนขาตั้งธรรมดามากกว่าเท่าตัว อีกจุดหนึ่งคือด้วยระบบเสียงแบบนี้ถึงแม้ว่าผมจะนั่งใกล้กับลำโพงเซอร์ราวด์มากกว่าลำโพงคู่หน้าแต่ก็ไม่รู้สึกว่าเสียงของลำโพงเซอร์ราวด์มันจะเน้นออกมามากจนเกินพอดี แนะนำเลยครับกับใครที่เอาไปฟังกับแหล่งโปรแกรมที่ออกมาเพียงสองแชนเนล โดยเฉพาะเสียงเบสหรือเสียงความถี่ต่ำที่ออกมาจากซับวูฟเฟอร์ ซึ่งมักถูกกระแนะกระแหนมาตลอดว่า กับชุดโฮมเธียเตอร์อินเดอะบ็อกซ์ไม่ค่อยจะไ้ด้รับการยอมรับกับการฟังเพลงเท่าไหร่

แต่การฟัง ผ่านโหมดนี้ขอออนเกียวเสียงความถี่ต่ำของ เสียงกลอง และเสียงกีตาร์เบส โฟกัสขึ้นไปอยู่บนหน้าจอ ขนาด 90 กว่านิ้วได้สบาย ๆ ทั้ง ๆ ที่ซับวูฟเฟอร์เราตั้งอยู่กลางห้อง อันนี้ต้องยกความดีให้ การคาลิเบรท เรื่อง Timealignment และการปรับเซตเลเวลของวงจร AccuEQ ที่เพิ่มเติมมาด้วย AccuReflex มันช่วยได้จริง ๆ

ผมเริ่มชอบลำโพงชุดนี้ละ ก็ไม่รู้ว่า ถ้าใครซื้อ TX-NR656 แล้วไม่ได้ฟังลำโพงชุดนี้ก่อนจะเสียดายไหม มันไม่ใช่ลำโพงที่ ให้เสียงเบสหนักแน่นมากมายอะไรไม่ใช่ลำโพงที่ให้เสียงแหลมที่กรุ๊งกริ๊ง จะเป็นลำโพงที่ให้เสียงแบบจริงจัง ตรงไปตรงมา แบบที่ต้นฉบับออกมายังไงก็ให้เสียงออกมาอย่างนั้น

กับการเล่นในแบบโฮมเธียเตอร์ผมลองกับแผ่น San Andreas ที่เข้ารหัส Dolby Atmos มาด้วย ไม่ฉากแรกที่เปิดตัวขึ้นมา เสียงที่ประทับใจที่สุดคือเสียงความถี่ต่ำนั่นแหละครับ ผมไม่ได้คาดหวังไว้ตั้งแต่แรกว่า จะได้ยินเสียงความถี่ต่ำ เน้นคุณภาพมากมายอะไรจากซับวูฟเฟอร์ตัวนี้

มันสามารถถ่ายทอดเสียงความถี่ต่ำลึก ๆ แบบที่ซับวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้วบางตัวก็ยังไปไม่ถึง แต่ซับฯ SKW-658 ของออนเกียวตัวนี้ใช้ ไดเวอร์เพียงแค่ 8 นิ้ว โดยให้ตำแหน่งของไดเวอร์นั้นยิงลงที่พื้น มีผลอย่างมาก กับการช่วยสร้างฐานของเบสเพิ่มขึ้นมาเกินกว่าขนาดของไดเวอร์มันจะทำได้

เรื่องความสูงของเสียง จากเสียงของเฮลิคอปเตอร์ ก็ทำได้ดีประมาณนึงครับ ไม่ถึงกับลอยชัดอยู่บนหัวซะะทีเดียว แต่เสียงพูดที่ออกมาจากเซ็นเตอร์ตัวนี้ติดทุ้มมากไปนิด เลยยังฟังออกมาไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่เข้าใจว่าใช้ ไดเวอร์ตัวเดียวกับที่อยู่ในลำโพงเซอร์ราวด์แต่ว่าในเซอร์ราวน์ดจะเป็นตู้ปิดกับเซ็นเตอร์เจาะช่องเป็นตู้เปิดมีท่อพอร์ตออกมาเลยทำให้เสียงทุ้มมันต้องเล็ดลอดออกมาด้วย ก็ต้องยอมครับเพราะว่าข้อดีของมันก็คือการทนกับเสียงเอฟเฟคได้ดีกว่าลำโพงตู้ปิด อาจจะต้องยอมแลกกันกรณีนี้

มาถึงจุดนี้แล้วหลายคนคงลุ้นว่าจะลุยต่อดีหรือเปล่ากับฉากต่อไปของหนังเรื่องนี้ มาถึงขนาดนี้แล้วคงต้องลุยต่อแล้วล่ะครับ ผมนั้นลุ้นยิ่งกว่า เอามือพร้อมไว้ที่ปุ่มพร้อมจะลดความดังลงได้ทุกเมื่อ กันความเสียหายไว้ก่อนระดับความดังผมเปิดไว้ที่ 70 ตามหน้าปัด ผิดคาดครับ มือผม กลับค้างเก้อไว้อย่างนั้น

เสียงทุกอย่างถูกคอนโทรลไว้ภายใต้ความเหมาะสม เรื่องเสียงความถี่ต่ำที่จะสำลักออกมาจากซับวูฟเฟอร์นั้นไม่มีแม้แต่นิด แต่ถ้าจะให้ได้มวลใหญ่ ลงลึก ๆ ให้ห้องของเราสะเทือน แบบรู้สึกเหมือนกับแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ริกเตอร์ คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่เสียงรอยร้าวที่ไต่ไล่ขึ้นไปตั้งแต่พื้นไปจดเพดานห้องอันนี้สิถือว่าทำได้อย่างกับลำโพงชุดใหญ่ ๆ ทีเดียว

จัดว่าสอบผ่านไหม ยิ่งกว่าผ่านอีกครับ ผมรับประกัน ถ้าห้องของคุณไม่ใหญ่เกินกว่าห้องทดสอบของเราไปมากนัก ( 4×5 เมตร) อยากรู้ว่าแผ่นดินไหวมันให้เสียงเขยาะอารมณ์ได้ขนาดไหน ลองหาแผ่นนี้มาดู Onkyo HT-S7805 ทำให้หัวใจคุณเต้นผิดจังหวะได้เลย เอาคุณภาพเสียงมาด้วย ไม่ไช่เอาดังเข้าว่าอย่างเดียว

ไหน ๆ ก็มันรองรับครบทุกฟอร์เมตแล้วเลยต้องทดสอบ เล่นแผ่น DTS:X กันสักหน่อย หลังจากที่อัปเดตเฟิร์มแวร์ผ่านอินเตอร์เน็ตเรียบร้อย ตัวเครื่องก็บอกว่าให้เราทำการคาลิเบรทลำโพงทุกแชนแนลใหม่ ภายในประมาณ ไม่เกิน 10 นาที แผ่น DTS:X ที่เราเอามาใช้ก็เรื่องเดิมคือ The Last Witch Hunter บุคลิกของเสียงคล้าย ๆ กับตอนที่เราอัพเกรดเจ้าตัว TX-NR656 สุ้มเสียงการถอดรหัสของ DTS:X ผ่านโปรเซสเซอร์ของออนเกี่ยว ระดับเลเวลจะต่ำกว่า Dolby Atmos ประมาณ 5 dB คือต้องเร่งวอลลุ่มขึ้นไปประมาณ 4-5 dB ความดังของเสียงถึงจะเท่ากับที่เราฟังจากหนังที่บันทึกเสียงมาแบบ Dolby Atmos

เสียงเมื่อผ่าน ชุดโฮมฯ ชุดนี้ ความกว้างของเสียงมีมิติแผ่เลยออกไป แต่มวลเสียความเข้มข้นก็หายไปหน่อย เหมือนห้องกว้างขึ้น เหมือนนั่งห่างลำโพงมากขึ้น แต่ฉุกคิดนิดนึงตอนที่ฉากต่อสู้ที่ต้องการ dynamic หรือเสียงในแบบฉับพลันทันด่วน มันรู้สึกว่ายัง ไม่ถึงกับเต็มที่เท่าไหร่ ความกว้างกับบรรยากาศที่มันอบล้อมขึ้นไปด้านบน ดูจะมีความโดดเด่นกว่า ดูเหมือนว่าการเร่งวอลลุ่มขึ้นไปจะมีผลกับเรื่อง dynamic ของเสียงไปด้วย

ทางออกมันอยู่ที่สายลำโพงครับ ผมมีสาย Atlas Element 1.25 mm2 อยู่ชุดนึง ราคาของมันอยู่ที่หลักร้อยพอที่จะทำให้เสียงของชุดนี้จากอะไรที่มันอั่น ๆ อยู่ ก็ทะลุขีดจำกัดออกมาได้ เสียงเป็นตัวเป็นตนดีขึ้น กลางแหลมถึงหูพร้อม ๆ กันได้เรื่องโทนัลบาลานซ์ดีขึ้น แน่นอนว่ามันเลยมาถึงเรื่อง dynamic ของเสียงด้วย ใครดูหนังแอคชั่นบ่อย ๆแนะนำเลยครับ ให้รีบเปลี่ยนสายซะก่อน ก็ยังไม่สายนะ

Conclusion
Onkyo ออกแบบชุดลำโพง HT-S7805 ขึ้นมาเพื่อต้องการให้คนที่อยากได้อุปกรณ์ในโฮมเธียเตอร์ไม่ต้องยุ่งยากกับการตระเวนไปเลือกจับคู่ระหว่างแอมป์กับลำโพง อีกอย่างเขาทำแอมป์ที่เป็นภาคขยายอยู่แล้ว ทำไมเขาถึงจะทำลำโพงสักชุดให้เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับแอมป์ของเขาเองไม่ได้ เรื่องจริงมันก็แทบจะออกมาเป็นแบบนั้น

ด้วยราคาของเอวีรีซีฟเวอร์เมื่อบวกกับราคาของลำโพง ก็ถือว่าเพิ่มเงินขึ้นไปอีกนิดเดียว คนขายชอบครับ ทำให้การตัดสินใจของคนซื้อง่ายขึ้น ข้อจำกัดของการเล่นชุดลำโพงแบบนี้ Onkyo ไม่ได้ปิดกั้นให้คุณขยับก้าวไปข้างหน้าตลาดชุดโฮมเธียเตอร์สำเร็จรูปแบบนี้สำหรับคนที่ต้องการคุณภาพก็ไม่ได้มีตัวเลือกให้เลือกมากมายนัก ออนเกียวเลือกเอาสิ่งที่ตัวเองถนัดออกมาขาย ซึ่งก็แน่นอนและต้องมีคุณภาพเป็นเครื่องการันตี การที่ราคามันขึ้นไปชนกับเอ/วีฯ ระดับล่าง ๆ ที่พอบวกกับลำโพงที่มียี่ห้อได้หน่อย

บอกได้เลยครับ อันนั้นคง “เสี่ยงกว่า” แต่ถ้าคุณมีหลักการที่ดีที่ถูกต้องในการแมตซ์ชิ่ง นั้นก็เป็นกำไรของคุณแล้ว

เท่าที่เราลองลำโพงชุดนี้ไม่ใช่ของแถมแน่นอน โดยเฉพาะลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ทำให้เราทึ่งในความสามารถของมัน ถือว่าต้องยกนิ้วให้ที่มันทำให้เสียงความถี่ต่ำในห้องทดสอบของเราออกมาได้ดีกว่าที่เราคาดคิดไว้มากกับวูฟเฟอร์เพียงแค่ 8 นิ้ว

ผมถึงบอกไงว่าชุดโฮมเธียเตอร์ HT-S7805 ชุดนี้สำหรับพ่อบ้านที่ไม่เรื่องเยอะ (ไปที่ร้าน) เดินเข้าร้าน จ่ายตัง ขนขึ้นรถ…. (มาถึงบ้าน) แกะกล่อง ต่อสาย เสียบปลั๊ก…. นั่งดูมีความสุข ชุดโฮมฯ มันก็มีอยู่เท่านี้แหละครับ อะไรกันมาก

จุดเด่น
+ สามารถสเกลภาพ 1080p ได้ทุกความถี่ตั้งแต่ 24/50/60 Hz
+ ข้อดีของรีซีฟเวอร์ดูได้จาก TX-NR656
+ ซับวูฟเฟอร์ในชุด SKW-658 ทำหน้าที่ได้โดดเด่นมาก
+ เป็นชุดโฮมฯ ที่มีศักยภาพสามารถเพิ่มเติมประสิทธิภาพได้ในอนาคต

ข้อสังเกต
– AccuEQ เวลาใช้งานยังกำหนดจุดอ้างอิงที่ตำแหน่งเดียว
– ลำโพงสำหรับ 3D Sound ในแชนเนลที่เพิ่มขึ้นมามีข้อจำกัดที่ต้องศึกษาให้ดีก่อน
– การต่อเชื่อมกับเน็ตเวิร์คทางสายแลนชอบหลุดเองบ่อยครั้ง
– เสียงจากลำโพงเซ็นเตอร์ติดทุ้มมากไปนิด


จัดจำหน่ายโดย
POWER BUY
ศูนย์บริการ โทร. 0-2229-7630-2
ราคา 38,900 บาท

ธนภณ พูลเจริญ

Content Contributor ที่ปรารถนาจะถ่ายทอดประสบการณ์ในแวดวงโฮมเธียเตอร์ ทีวี และระบบเสียงมัลติรูมในแง่ของความคุ้มค่าของการใช้งาน เปิดมุมมองสู่ความต้องการที่ชัดเจนให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยี