fbpx
REVIEW

รีวิว Sony : CAS-1

วันที่ 5 ตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว (2558) ทางโซนี่ ประเทศไทย ได้จัดงานเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่โดยชูเรื่องของ Hi-Res Audio เป็นไฮไลต์ นอกจากสินค้าในกลุ่มเครื่องเล่นวอล์คแมน หูฟัง และเครื่องเสียงรถยนต์แล้ว ทางโซนี่ยังได้ถือโอกาสเปิดตัวชุดเครื่องเสียงคอมแพ็คซิสเต็ม CAS-1 ซึ่งมาในภาพลักษณ์ใหม่ที่ภายนอกดูเรียบง่ายแต่ภายในนั้นแสนจะไฮเทคโนโลยี

นอกจากความไฮเทคแล้ว ความน่ารักน่าชังของมันก็เป็นส่วนหนึ่งในที่มาที่ไปของการรีวิวนี้ด้วยครับ

First Impression: Design & Engineering
SONY CAS-1 เป็นชุดเครื่องเสียงตั้งโต๊ะไซส์มินิที่มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นตัวเมนยูนิต (Main Unit) ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องเสียงชุดนี้ มีรูปร่างเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมแนวตั้งสีดำ ขนาด 55x178x210 มิลลิเมตร

ภายในประกอบไปด้วยภาคถอดรหัสสัญญาณเสียงดิจิทัลและภาคขยายเสียง ซึ่งยังแยกกันอิสระระหว่างภาคขยายเสียงสำหรับขับลำโพงที่ส่งผ่านออกไปทางขั้วต่อสายลำโพงด้านหลังตัวเมนยูนิต และภาคขยายเสียงสำหรับหูฟังซึ่งส่งผ่านออกไปทางขั้วต่อหูฟัง 3.5mm ทางด้านหน้าของตัวเมนยูนิต

องค์ประกอบหลักอีกสองส่วนก็คือ ตู้ลำโพงสำหรับระบบเสียงสเตอริโอข้างซ้ายและขวาอย่างละตัว ดีไซน์ตั้งใจออกแบบมาให้เข้ากันกับส่วนเมนยูนิตทั้งเรื่องของขนาด (95x178x172 มิลลิเมตร) และรูปร่างหน้าตาที่ดูเหมือนเครื่องเสียงไฮไฟตามบ้านเราดี ๆ นี่แหละครับ แต่เอาไปย่อส่วนให้เล็กลงจนมีความน่ารักน่าชัง ดูน่าจะใช้งานได้สะดวกขึ้น

ทำให้มันเป็นชุดเครื่องเสียงแยกชิ้นขนาดเล็กที่มีความ ‘เป็นกันเอง’ สูง ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้รู้สึกถึงข้อจำกัดที่ต้องทำใจเรื่องคุณภาพอะไรกันมากมายเหมือนเครื่องเสียงขนาดเล็กราคาถูกทั่วไป

ตัวตู้ลำโพงที่ทำจากไม้แล้วปิดลายผิวไม้จนดูสวยงามมีราคานั้นทำจาก MDF หนา 12 มิลลิเมตร ตกแต่งด้วยผิวไม้ birch plywood เป็นลำโพงที่มีขนาดเล็กแต่ให้ความรู้สึกหนักแน่นไม่ต่างไปจากลำโพงไฮไฟชั้นดีคู่หนึ่ง ไม่ใช่ตู้พลาสติกกระป๋องกระแป๋งแต่อย่างใด

ระบบรีเฟล็กซ์พอร์ตแบบยิงลงด้านล่าง ให้เสียงอิ่มเกินตัวและช่วยลดปัญหาเสียงเบสบวม เบลอ เวลาตั้งลำโพงใกล้ฝาผนัง ขั้วต่อสายลำโพงใช้แบบไบดิ้งโพสต์อย่างดีหน้าสัมผัสเคลือบทอง สามารถจับยึดสายลำโพงได้อย่างแน่นหนา

ขาลำโพงด้านหน้าที่เป็นสไปค์ทำจากโลหะทองเหลืองออกแบบให้สูงกว่าด้านหลังเพื่อให้ลำโพงเชิดหน้าขึ้นประมาณ 8 องศา ทำให้ได้มุมกระจายเสียงที่ดีกว่าเวลานั่งฟังอยู่ที่โต๊ะทำงานในช่วงระยะห่างจากลำโพง 75-200 เซนติเมตร (กรณีที่วางลำโพงสูงกว่าปกติ จะมีขาลำโพงแบบสั้นให้เลือกเปลี่ยนใช้งานได้ด้วย หน้าลำโพงจะตั้งฉากไปกับแนวระนาบ)

ด้านเทคนิคออกแบบเป็นลำโพงระบบตู้เปิด 2 ทาง ใช้ตัวขับเสียงแยกกัน 2 ตัว ตัวหนึ่งทำหน้าที่ในย่านความถี่กลาง/ทุ้ม ใช้ไดรเวอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 62 มิลลิเมตร ที่เห็นถึงความตั้งใจในการออกแบบให้ได้เสียงที่ดี เช่น โครงเป็นแบบหล่อขึ้นรูป ระบบแม่เหล็กรัดด้วยวงแหวนและฝาครอบทองแดงเพื่อลดทอนความผิดเพี้ยน

กรวยลำโพงทำจากเส้นใยคาร์บอนถักสานจริง ๆ ไม่ใช่พลาสติกราคาถูกปั๊มลายหลอกตา อีกหนึ่งตัวขับเสียงเป็นทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 14 มิลลิเมตรที่ดีไซน์ให้มีขอบเซอร์ราวนด์ขนาดใหญ่เพื่อการตอบสนองความถี่ที่ราบรื่นขึ้นไปถึงระดับ 50kHz นอกจากองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ส่วนแล้ว

สิ่งที่โซนี่ให้มาพร้อมกันกับ CAS-1 ประกอบไปด้วย แผ่นเพลตโลหะหนา 5 มิลลิเมตรที่ใช้วางรองข้างใต้ตู้ลำโพงแต่ละข้างเพื่อความมั่นคงและลดแรงสั่นสะเทือนจากพื้นโต๊ะไปด้วยในตัว, อะแดปเตอร์จ่ายไฟให้กับตัวเมนยูนิตที่แยกออกมาต่างหาก อาจจะดูรุงรังสักหน่อยในช่วงของการติดตั้งใช้งานแต่มันมีข้อดีในแง่ของการแยกสัญญาณรบกวนและความร้อนออกมาจากตัวเมนยูนิต อีกทั้งยังช่วยให้ตัวเมนยูนิตไม่ต้องมีขนาดใหญ่เทอะทะเกินความจำเป็น, สายลำโพงและสายยูเอสบี (USB Type A – B) มาตรฐานสำหรับใช้งานร่วมกับ CAS-1 และรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดขนาดเล็กกว่าห่อขนมคิทแคท

Technical Insight: Multi Connection Hi-Res Audio
ขนาดที่กะทัดรัดของ SONY CAS-1 เป็นอะไรที่สวนทางกับความสามารถของมันโดยสิ้นเชิง มันเป็นเครื่องเสียงระบบดิจิทัลสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์การฟังเพลงโดยการฟังจาก ‘ไฟล์ดิจิทัล’

ซึ่งเครื่องสามารถรองรับฟอร์แมตไฟล์เสียงยอดนิยมในปัจจุบันได้แทบจะทุกรูปแบบตั้งแต่ไฟล์เสียงธรรมดาทั่วไปจนถึงไฟล์เสียงรายละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio (สูงสุดคือ PCM 24bit/192kHz และ DSD 1bit/2.8MHz) รองรับไฟล์ฟอร์แมต DSD, WAV, FLAC, ALAC, AIFF, MP3, AAC, WMA ทางช่อง USB-A ที่หน้าเครื่องซึ่งรองรับการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นดิจิทัล Walkman ของโซนี่เองรวมถึงอุปกรณ์เก็บข้อมูลไฟล์ประเภท external storage ทั้งหลาย

อีกช่องทางหนึ่งที่รองรับ Hi-Res Audio ได้เช่นกันนั่นคือขั้วต่ออินพุต USB-B ที่ด้านหลังเครื่องสำหรับเชื่อมต่อเล่นไฟล์จากคอมพิวเตอร์

นอกจากการเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณตามปกติแล้ว อีกช่องทางหนึ่งคือผ่านการเชื่อมต่อแบบไร้สายบลูทูธ (Bluetooth) ซึ่งรองรับทั้งเทคโนโลยี SBC หรือ ACC เหมือนในระบบบลูทูธทั่วไป รวมถึงเทคโนโลยี ‘LDAC (low latency codec) Wireless Streaming’ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยวิศวกรของโซนี่เพื่อรองรับการส่งสัญญาณไร้สายด้วยอัตราการส่งผ่านข้อมูลที่สูงกว่าระบบไร้สายทั่วไปถึง 3 เท่า มีประสิทธิภาพสูงและให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าระบบไร้สายทั่วไป

อย่างไรก็ดีระบบนี้ในปัจจุบันยังมีใช้งานค่อนข้างจำกัดและยังพบเห็นได้เฉพาะในอุปกรณ์ของโซนี่เอง การจับคู่เครื่องเสียงรุ่นนี้กับอุปกรณ์อื่น ๆ สามารถทำได้สะดวกมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) ซึ่งมีมาใน CAS-1 ด้วยเช่นกัน

สัญญาณที่รับมาทางแต่ละอินพุตจะผ่านเข้าสู่วงจรถอดรหัสและแปลงสัญญาณโดยเป็นหน้าที่ของชิพ Burr-Brown PCM1795 ซึ่งเป็น DAC ระบบ 32 บิตตัวเดียวกับที่ใช้งานอยู่ในเครื่องเล่น Hi-Res Audio รุ่น HAP-Z1ES ของทางโซนี่เอง การปรับความดังของเสียงออกแบบเป็นวอลุ่มระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเลือกใช้ชิพคุณภาพสูงเบอร์ NJW1194

วงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดประกอบขึ้นบนแผงวงจรแบบ 4 ชั้น ที่สามารถแยกชั้นกราวนด์และระบบไฟเลี้ยงให้เป็นอิสระจากกัน สามารถลดทอนสัญญาณรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับภาคขยายเสียงใน CAS-1 นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน หรือที่โซนี่เรียกว่า ‘Dual amplifiers’

ส่วนแรกเป็นวงจรภาคขยายเสียง Full Digital ‘S-Master HX’ ซึ่งโซนี่ใช้เวลาพัฒนาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีเพื่อรองรับระบบเสียง Hi-Res Audio โดยเฉพาะ

อีกส่วนคือภาคขยายเสียงสำหรับหูฟังซึ่งเลือกใช้ชิพสำเร็จรูปตัวดังอย่าง TA6120A จาก Texas Instrument ซึ่งเป็นชิพที่ใช้อยู่ใน DAC/AMP รุ่น PHA-2 ของโซนี่ และเป็นชิพภาคขยายหูฟังที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุดตัวหนึ่ง ให้คุณภาพเสียงที่ดีพร้อมทั้งกำลังขับที่เหลือเฟือสำหรับการใช้งานขับหูฟังทั่ว ๆ ไป

นอกจากนั้นที่ด้านหลังเครื่อง CAS-1 ยังมีสวิตช์เลือกอัตราขยายระหว่าง HI กับ LOW ของภาคขยายหูฟังที่ว่านี้ด้วยครับ ทำให้การแมตช์กับหูฟังที่หลากหลายสามารถทำได้ง่ายขึ้น เบื้องต้นแนะนำให้ลองที่ LOW ก่อน ถ้ารู้สึกว่าต้องเร่งวอลุ่มมากหรือเร่งจนสุดแล้วก็ยังดังไม่พอ ก็ค่อยเลือกไปที่ HI ที่สำคัญอย่าลืมเบาวอลุ่มลงก่อนด้วยนะครับ

นอกจากส่วนของฮาร์ดแวร์ที่สามารถจับต้องได้แล้วใน CAS-1 ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทางโซนี่ภูมิใจนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ‘Pulse Height Volume’ หรือ ‘Low Volume Mode’ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเวลาเปิดฟังเพลงเบา ๆ แก้ปัญหาทั้งในเรื่องของไดนามิกเสียงและเรื่องของสมดุลความถี่เสียง ทำให้เครื่องเสียงขนาดเล็กชุดนี้สามารถคงคุณภาพเสียงเอาไว้ได้ไม่ว่าจะเปิดฟังดังหรือเบา

การแก้ปัญหาที่ว่านี้มีทั้งในส่วนของการปรับระดับแรงดันไฟฟ้าในภาคจ่ายไฟ การลดทอนสัญญาณรบกวนในระบบภาคจ่ายไฟ ตลอดจนส่วนของวงจรดิจิทัลโปรเซสเซอร์ซึ่งทั้งหมดมารวมอยู่ในเครื่องเสียงเล็ก ๆ ชุดนี้ได้อย่างน่าทึ่ง

ฟังเสียง Hi-Res Audio แบบใช้สายและไร้สาย
SONY CAS-1 ชุดที่ผมได้มาลองฟังนี้ดูเหมือนจะเป็นสินค้าตัวอย่างโดยสมบูรณ์แบบ มันมาในกล่องกระดาษสีน้ำตาลตุ่น ๆ ที่ดูเหมือนยังไม่ใช่กล่องของสินค้าที่วางจำหน่ายจริง มันไม่มีคู่มือใช้งานติดมาด้วย ผมลองหาไฟล์คู่มือใช้งานจากในเว็บไซต์ของโซนี่เองก็ยังไม่เจอ โชคดีที่ผมยังพอทำความเข้าใจกับฟังก์ชั่นเบสิกต่าง ๆ ได้ไม่ยากเย็นนัก

ว่าไปตั้งแต่สวิตช์เลือกให้เครื่องปิดสแตนด์บายเองหรือไม่เมื่อไม่ได้ถูกใช้งานไปสักระยะ, สวิตช์เลือกเกนขยายของแอมป์สำหรับหูฟัง, ปุ่มกดเพื่อการ Pairing Bluetooth ที่อยู่ทางด้านหลัง ส่วนด้านหน้าก็เป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง, ปุ่มกดเลือกฟังเสียงของอินพุตทั้ง 3 ชุด, วอลุ่มคอนโทรลพร้อมไฟแสดงระดับความดังของเสียง, พอร์ต USB-A ที่มีฝาปิดให้ดูเรียบร้อยในเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน และช่องเสียบหูฟัง 3.5mm

หลังจากจัดแจงเชื่อมต่อสายลำโพงและวางลำโพงในตำแหน่งพร้อมฟังบนโต๊ะทำงานแล้ว ผมรู้สึกชอบใจตัวลำโพงที่มันถูกออกแบบให้เงยหน้าขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้มุมยิงเสียงของลำโพงตรงกันกับระดับของการฟังเสียงของหู เพราะว่าโต๊ะทำงานส่วนใหญ่มักจะอยู่ต่ำกว่าระดับหูราว ๆ 30 เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย ถ้าไม่เงยลำโพงขึ้นมาเช่นนี้เสียงก็จะจมหายไปหมด และส่วนหนึ่งก็อาจจะไปสะท้อนกับพื้นโต๊ะสร้างปัญหาทางอะคูสติกตามมาได้อีก

ก่อนอื่นสิ่งที่แทบทุกคนต้องสงสัยเกี่ยวกับเครื่องเสียงแยกชิ้นขนาดย่อส่วนชุดนี้นั่นคือ เสียงมันจะออกมาประมาณไหน? เรียนตามตรงว่าเสียงของมันทำให้ผมผิดคาดไปพอสมควร เมื่อนั่งฟังในลักษณะ near-field ตามที่มันได้ถูกออกแบบมา เสียงที่ได้จาก CAS-1 คืออะไรที่พูดได้ว่า amazing ทั้งในแง่ของน้ำหนักเสียงที่เกินตัวไปมาก

โดยเฉพาะเสียงทุ้มที่พูดได้ว่ามีครบถ้วนทั้งความอิ่มแน่นและรายละเอียด แน่นอนว่าอาจจะไม่เท่าลำโพงที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่ก็ดีเกินกว่าที่หลายคนจะประเมินเมื่อได้เห็นขนาดของเครื่องเสียงชุดนี้ นอกจากน้ำหนักเสียงแล้วมันยังมีเรื่องของมิติ เวทีเสียงรวมถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรจะได้ยินเพื่อยืนยันความเป็นดนตรีในสิ่งที่โสตประสาทได้ยิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการเล่นไฟล์เพลง Hi-Res Audio บางครั้งเสียงที่ได้จาก CAS-1 ก็ทำให้ต้องกลับมานั่งทบทวนดูใหม่ว่า ที่จริงแล้วแค่นี้ก็อาจจะพอแล้วหรือเปล่า สำหรับความสุขในการฟังเพลงที่ไม่ต้องลงทุนมากมายจนเกินเหตุ ยิ่งถ้าคุณใช้ชีวิตอยู่บนโต๊ะทำงานวันละหลาย ๆ ชั่วโมง ผมว่านี่แหละทางเลือกที่คุณต้องเก็บไว้เป็น wish list ลำดับต้น ๆ

ไฟล์เพลง Hi-Res Audio ที่ทำให้ผมขนลุกเมื่อได้ยินเสียงจาก CAS-1 นั่นคือ ไฟล์ DSD เพลง ‘The Beat Goes On – Soul Bossa Nova’ จากอัลบั้มชื่อเดียวกับเพลงของ Emilie-Claire Barlow เสียงกลองชุดในเพลงนี้ทำให้ผมได้รับรู้ถึงประสิทธิภาพที่ได้จากลำโพงน่ารักน่าชังคู่นี้ “มันได้ขนาดนี้เลยเหรอ” ผมจำได้ว่านั่นคือสิ่งที่ผมเผลออุทานในใจออกไป

ผมมีโอกาสได้ลองใช้งานอินพุตทั้ง 3 ชุดของ CAS-1 พบว่าอินพุต USB-B ที่ผมต่อใช้งานกับ Mac mini บนโต๊ะทำงานของผม ใช้งานสะดวกพอสมควรและสามารถคาดหวังในคุณภาพเสียงที่ดีโดยเฉพาะจาก Hi-Res Audio ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อใช้งานแอปฯ เล่นเพลงชั้นดีอย่าง Roon หรือ Audirvana Plus 2.0 สำหรับอินพุตบลูทูธเป็นอะไรที่ตอบโจทย์อย่างมากในเรื่องของความสะดวก

การจับคู่กับ source ที่ให้สัญญาณบลูทูธสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการกดปุ่ม ‘Pairing’ ที่ด้านหลังเครื่อง แล้วเลือก ‘CAS-1’ จากในตัวเลือกอุปกรณ์บลูทูธตัวที่จะนำมาจับคู่กัน เรื่องคุณภาพเสียงนั้นถือว่าหายห่วง ตัวแปรจะไปอยู่ที่ตัวเพลงและตัวเครื่องเล่นที่จะมาจับคู่กับ CAS-1 เสียมากกว่า สำหรับคนที่ใช้เครื่องเล่นรุ่นใหม่ ๆ ของโซนี่เองโดยเฉพาะเครื่องเล่น Hi-Res ตระกูล Walkman ที่มีระบบบลูทูธแบบ LDAC มาด้วยก็จะยิ่งได้คุณภาพที่ดีขึ้นไปอีก

ขนาดว่าผมลองใช้แค่เครื่องเล่น Walkman รุ่นเล็กของเค้าอย่าง NW-A20 ก็ยังได้รับสิทธิ์นั้นด้วยเช่นกัน ส่วนอินพุต USB-A ซึ่งรองรับ Hi-Res Audio เช่นกันและน่าจะใช้งานได้ง่ายที่สุดเพราะเอา external storage มาเสียบก็เล่นเพลงที่อยู่ในนั้นได้ทันทีทั้งจากการกดเล่นด้วยรีโมตคอนโทรลหรือผ่านแอปฯ SongPal ในสมาร์ทโฟน

แต่เนื่องจาก CAS-1 ไม่มีหน้าจอแสดงผลของตัวเอง การกดเล่นด้วยรีโมตจึงทำได้แค่การเล่นเพลงที่อยู่ใน external storage ไล่ไปทีละเพลง ที่จริงปัญหานี้น่าจะหมดไปเมื่อใช้แอปฯ SongPal แต่ผมกลับพบว่ามันยังใช้งานไม่ได้จริงตามที่คิดไว้ เหมือนกับว่าตัวแอปฯ ณ ปัจจุบันที่ทำการรีวิวอยู่นี้ยังไม่สามารถทำงานร่วมกับอินพุต USB-A ได้อย่างสมบูรณ์โดยเฉพาะ SongPal บน Android OS แต่ปัญหานี้อาจจะสามารถแก้ไขได้ถ้าหากมีการอัพเดตแอปฯ ในอนาคต

From Hi-Res, to Hi-Res, for Hi-Res
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาการที่โซนี่แสดงท่าทีโปรโมตระบบเสียง Hi-Res Audio เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นอาจจะเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดในสินค้ากลุ่มเครื่องเล่น Walkman ทว่าในกลุ่มเครื่องเสียงบ้านหรือเครื่องเสียงไฮไฟนั้น ความเป็นโซนี่กับ Hi-Res Audio อาจจะยังแสดงตัวออกมาไม่ชัดเจนนัก

จนกระทั่ง CAS-1 ได้ปรากฏตัวขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ นี่คือเครื่องเสียงยุคใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานของคนฟังเพลงที่นิยมการฟังจากไฟล์ดิจิทัลโดยตรงโดยเฉพาะผู้ที่มีรสนิยมและต้องการคุณภาพในระดับที่มากกว่า ‘อะไรก็ได้’ นี่คือเครื่องเสียงที่ทางโซนี่เพิ่มเข้ามาเพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างเครื่องเสียงบ้านแยกชิ้นชุดใหญ่และชุดเครื่องเสียงฉบับพกพา

เป็นเครื่องเสียงที่ให้ความสุนทรีย์ได้ทั้งทางโสตประสาทและทางสายตา บอกตามตรงอย่างเปิดเผยว่า “ผมหลงรักมันเข้าให้แล้วล่ะ”


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด
โทร.(ศูนย์ข้อมูลโซนี่) 0-2715-6100
ราคา : 28,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ