fbpx
EXPERIENT

ลองฟังไฟล์ MQA จาก TIDAL เทียบตัวต่อตัวกับไฟล์ Lossless CD Quality

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากไฟล์เสียงดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทกับวงการไฮไฟอย่างต่อเนื่องแล้ว การสตรีมมิ่งเพลงยังได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับวงการไฮไฟด้วยเช่นกัน การสตรีมมิ่งเพลงของแต่ละผู้ให้บริการอาจจะมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป

แต่เรื่องหนึ่งที่ผมเชื่อว่าฟังเล่นนักฟังอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษแน่นอนก็คือ “คุณภาพเสียง” ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าถ้าพูดถึงคุณภาพเสียง ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งอย่าง TIDAL ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับและรู้จักแพร่หลาย

ถ้าหากเราสมัครแพ็คเกจ TIDAL HiFi ราคา 258 บาทต่อเดือน เราจะได้ฟังเพลงในคุณภาพระดับ lossless cd quality หรือเทียบเท่าที่ฟังจากซีดี

ไม่เพียงเท่านั้นครับในปัจจุบัน TIDAL ยังมีเพลงอีกจำนวนหนึ่งที่เข้ารหัส MQA มา ใน TIDAL เขาจัดหมวดหมู่เรียกว่า “Master” ซึ่งใครที่สมัครแพ็คเกจ TIDAL HiFi ก็สามารถฟังได้ด้วยเช่นกัน เพลงเหล่านี้จะมีคุณภาพระดับ Master สมชื่อล่ะครับ คือให้คุณภาพเสียงที่เหนือกว่า cd quality ขึ้นไปอีก

ซิสเตมที่ใช้ลองฟัง

เขาคุยว่ามันจะได้คุณภาพเสียงเทียบเท่ากับมาสเตอร์หรือต้นฉบับกันเลยทีเดียว ยิ่งถ้าหากเรามีอุปกรณ์ที่รองรับการถอดรหัส MQA ด้วยคุณภาพเสียงที่ได้ก็จะยิ่งเข้าใกล้ต้นฉบับที่เขาบันทึกมาจากสตูดิโอมากยิ่งขึ้น… ว้าว

ในระหว่างที่ผมทำการรีวิว NAD M50.2 เครื่องเล่นตัวนี้ใช้ระบบปฏิบัติการ BluOS มันสามารถสตรีมเพลงจาก TIDAL ได้ด้วยครับ และที่น่าสนใจกว่าคือมันรองรับ MQA ด้วย !

หลังจากที่ได้ลองฟังไฟล์ MQA ที่สตรีมจาก TIDAL กับเครื่องเสียงในห้องทดสอบเสียงของ GM2000 แล้ว ผมก็เกิดอยากลองเทียบกับเพลงเดียวกันที่ไม่ใช่ MQA ดูบ้าง

บังเอิญว่ามีเพลงอยู่อัลบั้มหนึ่งใน TIDAL มันมีให้เลือกฟังทั้งเวอร์ชั่นธรรมดา (lossless cd quality) และเวอร์ชั่น MQA ผมเองได้ฟังเทียบเสียงแล้วคิดว่าอยากจะนำประสบการณ์ตรงนั้นมาแบ่งปันคุณผู้อ่านทุกท่านด้วย เลยจัดการบันทึกคลิปวิดีโอเอาไว้ เชิญรับชมรับฟังตามอัธยาศัยครับ

อัลบั้มที่ใช้ในการเปรียบเทียบเสียง

แนะนำให้ฟังจากหูฟังและเลือกที่ 1080p HD หรืออย่างน้อย 720p HD นะครับ โดยเฉพาะท่านที่ดูผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต

คลิปแรกนี้เป็นการฟังเสียงจากไฟล์ MQA แม้จะเป็นการสตรีมมิ่งจากอินเทอร์เน็ทแต่เมื่อฟังแล้วจะพบว่ามันสามารถถ่ายทอดรายละเอียดและอารมณ์ของบทเพลงออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ผมเองไม่เคยฟังต้นฉบับจริง ๆ ของเพลงนี้

แต่ถ้าอนุมานว่า MQA ให้คุณภาพได้เทียบเคียงกันแล้ว ก็ต้องถือว่าต้นฉบับเพลงนี้บันทึกเสียงมาได้ดีเยี่ยมเลยทีเดียว

หลังจากฟังไฟล์ MQA ไปแล้ว คลิปด้านล่างนี้คือเมื่อตอนที่ผมฟังเพลงเดียวกัน อัลบั้มเดียวกัน และคงทุกอย่างในซิสเตมไว้เหมือนกันทั้งหมดรวมถึงระดับ volume แต่คราวนี้เปลี่ยนไปเปิดจากไฟล์เวอร์ชั่น lossless cd quality ใน TIDAL แทน

เมื่อได้ฟังเทียบกันแล้วสิ่งแรกที่รับรู้ได้ทันทีคือ เวทีเสียงที่หุบแคบลงมา (แม้จะไม่ถึงกับแย่ แต่ฟังออกชัดเจนว่าไม่กว้างเท่า) บรรยากาศหรือแอมเบี๊ยนต์ของเสียงก็ลดลง การทอดประกายหางเสียง ความกังวานมันทอดตัวไปได้ไม่ไกลเท่าเสียงที่ได้ยินจากไฟล์ MQA

ชัดเจนว่าแบนด์วิดธ์มันแคบลง การตอบสนองความถี่ทั้งด้านทุ้มและแหลมถ่างขยายออกไปได้ไม่ไกลเท่าไฟล์ MQA เป็นผลทำให้รายละเอียดของเสียงฟังดูห้วนขึ้นและมีบรรยากาศรอบ ๆ ตัวเสียงที่บางเบากว่า

เมื่อฟังต่อเนื่องจะพบว่าชิ้นดนตรีมีโฟกัสหรือตัวตนไม่ชัดเจนเท่าตอนที่ฟังจากไฟล์ MQA ยิ่งถ้าสลับกลับไปฟัง MQA อีกครั้งจะพบว่าเราสามารถจินตนาการถึงตัวตนหรืออากัปกิริยาของดนตรีแต่ละชิ้น โดยเฉพาะไวโอลินโซโล่ได้ง่ายกว่ากันมาก

ภาพรวมของเสียงที่ได้จากไฟล์ MQA จะมีความกระจ่างชัด และความโปร่งใสมากกว่า แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นถ้าหากไม่ได้ฟังเทียบกับเวอร์ชั่น MQA เลย ผมว่าเวอร์ชั่น lossless cd quality ของอัลบั้มชุดนี้ก็ไม่ได้ให้เสียงที่เลวร้ายแต่อย่างใด

อย่างว่าล่ะครับ ของแบบนี้มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ และเช่นเคยผมอยากให้ประสบการณ์เหล่านี้ได้รับการบอกเล่าส่งผ่านไปถึงทุกท่านที่กำลังเปิดชมเปิดอ่านอยู่นี้ หากคุณผู้อ่านอยากเผื่อแผ่ประสบการณ์นี้เหมือนกัน สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการแชร์บทความนี้ออกไปถึงคนอื่น ๆ ด้วย… ขอบคุณมากครับ

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ