fbpx
RECOMMENDEDREVIEW

รีวิว Bowers & Wilkins : Formation Duo “ลำโพงแอคทีฟที่มาพร้อมกับแพลตฟอร์มมิวสิกสตรีมมิงที่ดีที่สุดในเวลานี้”

ในขณะที่ยังมีผู้คนจำนวนหนึ่งหลงมนต์เสน่ห์ของเครื่องเสียงไฮไฟแบบแยกชิ้นที่ผู้ใช้สามารถเลือก mix & match ได้ตามความพอใจ ทั้งในแง่ของงบประมาณ คุณภาพและแนวเสียง แต่สำหรับผู้คนอีกจำนวนหนึ่งเครื่องเสียงที่แพ็ครวมและแมตช์ทุกอย่างมาให้แล้ว อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยเฉพาะถ้าใช้ง่ายแล้วยังได้คุณภาพเสียงที่ดีด้วย

Formation Series รุ่น ‘Formation Duo’
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Bowers & Wilkins หรือ B&W ผู้ผลิตลำโพงชื่อดังจากสหราชอาณาจักรได้แนะนำเครื่องเสียงไฮไฟซีรีส์ใหม่ ‘Formation Series’ (ฟอร์เมชัน ซีรีส์)

โดยชูจุดเด่นเป็นระบบเสียงไฮไฟและลำโพงในระบบแอคทีฟที่รองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย รองรับการสตรีมมิง รวมทั้งการใช้งานระบบมัลติรูม ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

ไม่เพียงแค่ความสะดวกเท่านั้น ด้านคุณภาพเสียงก็ยังรองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูง (hi-res audio 24bit/96kHz) ด้วยเช่นกัน และด้วยความที่เกือบทุกรุ่นใน Formation Series เป็นเครื่องเสียงในกลุ่มลำโพง มันจึงมีต้นทุนเป็นองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากลำโพงระบบพาสสีฟรุ่นดังทั้งหลายของทางแบรนด์ โดยเฉพาะรุ่นสูงสุดของ Formation Series ในเวลานี้อย่าง ‘Formation Duo’

Formation Duo เป็นระบบลำโพงแอคทีฟสเตริโอแยกซ้าย-ขวาอิสระ โดยพื้นฐานออกแบบเป็นลำโพง 2 ทาง 2 ตัวขับเสียง ซึ่งแค่เห็นรูปร่างหน้าตาก็ทราบดีว่าได้รับการถ่ายทอด DNA มาจากลำโพงรุ่นพี่ทั้งหลายแบบเต็ม ๆ

ไม่ว่าจะเป็นทวีตเตอร์ Carbon dome ขนาด 1 นิ้ว เหมือนในลำโพงรุ่น 700 Series ติดตั้งแบบ on-top มีห้องอากาศทรงกระสวยยึดเกาะผ่านวัสดุแดมปิ้งอยู่ด้านบนของตู้ลำโพง

ตัวตู้ทำสีด้าน (ขาวหรือดำ) ขณะที่ tweeter chamber ทำเป็นสีไฮกลอส ตัวตู้มีสัดส่วนหน้าแคบ ก้นลึก ผนังข้างตู้มีความโค้งมน และไดรเวอร์ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นพี่

สำหรับตัวขับเสียงกลาง/ทุ้มขนาด 6.5 นิ้ว มีไดอะแฟรมเป็น Continuum Cone ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีล่าสุดมาจากลำโพง 800 Series ซึ่งเป็นลำโพงไฮเอนด์ระดับพรีเมียมของ B&W เอง ตัวขับเสียงหรือ unit driver แต่ละตัวมีภาคขยายเสียงกำลังขับ 125 วัตต์ของตัวเองแยกขับอิสระในระบบแอคทีฟไบแอมป์

นั่นหมายความว่าในลำโพง 1 ข้างนั้นมีภาคขยายเสียงกำลังขับ 125 วัตต์ถึง 2 ชุดด้วยกัน เพียงพอให้ใช้งานและแมตช์กันมาเรียบร้อยแล้วกับ unit driver ทั้ง 2 ส่วน เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยมาจากห้องวิจัยและพัฒนาของ B&W

ลำโพง Formation Duo มีช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 25Hz-33kHz ด้านการเชื่อมต่อสามารถทำได้ทั้งแบบไร้สายอย่างบลูทูธ (รองรับ aptX HD) และการเชื่อมต่อกับระบบเน็ตเวิร์คทั้งแบบไร้สาย Wi-Fi หรือการเชื่อมต่อด้วยสายทางพอร์ต Ethernet

ซึ่งการเชื่อมต่อระบบเน็ตเวิร์คนี้ทำให้ตัวลำโพงรองรับการสตรีมเพลงผ่านเทคโนโลยี AirPlay 2, Spotify Connect รวมทั้ง Roon Ready

คุณสมบัติในด้านการเชื่อมต่อเหล่านี้มีอยู่ในสินค้า Formation Series รุ่นอื่น ๆ ในเวลานี้ด้วยเช่นกัน และถ้าหากมีการใช้งานเครื่องเสียง Formation มากกว่า 1 จุด มากกว่า 1 ซิสเต็ม ทั้งหมดจะเชื่อมต่อ คุยกัน แบ่งปันข้อมูลระหว่างกันด้วยระบบการเชื่อมต่อแบบโครงข่ายร่างแหหรือ Mesh ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระบบเน็ตเวิร์คไร้สายที่ทันสมัยมากในปัจจุบัน

การเชื่อมต่อแบบโครงข่ายร่างแหหรือ Mesh มีจุดเด่นที่การรักษาแบนด์วิดธ์ของสัญญาณทำให้การรับ-ส่งข้อมูลระหว่างกันไม่เกิดลักษณะคอขวดขึ้นมาในระหว่างการใช้งาน

Formation Family
นอกจาก Formation Duo ซึ่งเป็นรุ่น Flagship ของ Formation Series แล้ว สินค้าใน Formation Series ยังมีตัวเลือกเป็นรุ่นย่อยอีก 5 รุ่นประกอบไปด้วย Formation Flex, Formation Wedge, Formation Bar, Formation Bass และ Formation Audio

Formation Flex ออกแบบเป็นลำโพง 2 ทาง ขนาดตั้งโต๊ะใช้ทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว และตัวขับเสียงกลาง/ทุ้มขนาด 4 นิ้ว พร้อมภาคขยายเสียงในตัว 2 ชุดกำลังขับชุดละ 50 วัตต์ ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 50Hz-28kHz ออกแบบให้ใช้งานเพียงแค่ตัวเดียวเป็นลำโพงเฉพาะจุด หรือว่าจะใช้งาน 2 ตัวเป็นระบบเสียงสเตริโอสำหรับมุมฟังเพลงแบบส่วนตัว

สำหรับ Formation Wedge เป็นลำโพงสเตริโอตั้งโต๊ะแบบชิ้นเดียว ประกอบไปด้วยไดรเวอร์ทั้งหมด 5 ตัว เป็นทวีตเตอร์โดมขนาด 1 นิ้วสองตัว มิดเรนจ์ FST ขนาด 3.5 นิ้วสองตัว และซับวูฟเฟอร์ขนาด 6 นิ้วอีกหนึ่งตัว ขับด้วยภาคขยายเสียงทั้งหมด 5 ชุด กำลังขับ 80 วัตต์ 1 ชุดสำหรับซับวูฟเฟอร์ ที่เหลือมีกำลังขับชุดละ 40 วัตต์ สำหรับไดรเวอร์ส่วนอื่น ๆ ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 35Hz-28kHz

ขณะที่ Formation Bar ออกแบบเป็นลักษณะของลำโพงซาวด์บาร์ ขั้วต่ออินพุต optical และการรองรับระบบเสียง Dolby Digital เพิ่มเข้ามา ใช้ไดรเวอร์ทั้งหมด 9 ตัว แบ่งเป็นทวีตเตอร์โดมขนาด 1 นิ้วสามตัว และไดรเวอร์กลาง/ทุ้มขนาด 2.6 นิ้วอีกหกตัว ขับด้วยภาคขยายเสียงกำลังขับ 60 วัตต์ ทั้งหมด 6 ชุด ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 40Hz-28kHz

Formation Bass เป็นลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สายสำหรับใช้งานร่วมกับ Formation Series รุ่นอื่น ๆ ใช้ไดรเวอร์ขนาด 6.5 นิ้วแบบช่วงชักยาวจำนวนสองตัว ขับด้วยภาคขยายเสียงกำลังขับ 250 วัตต์ ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 20Hz-150Hz

สำหรับ Formation Audio เป็นรุ่นเดียวที่ไม่ได้มาในรูปแบบของลำโพง แต่เป็นเหมือนอุปกรณ์ฮับสำหรับระบบเสียง Formation ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อกับระบบเครื่องเสียงแบบเดิม ๆ เพื่อให้เครื่องเสียงที่ใช้งานอยู่เดิมสามารถใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ หรือเชื่อมต่อใช้งานร่วมกับระบบเสียงมัลติรูมของ Formation Series ได้

โดย Formation Audio มีอินพุตให้เลือกใช้ทั้งแบบอะนาล็อกสเตริโอ (RCA) และแบบดิจิทัล (optical) รวมทั้งการเชื่อมต่อมาตรฐานในรูปแบบต่าง ๆ ของ Formation Series เช่น Bluetooth (aptX HD, AirPlay 2, Spotify Connect และ Roon Ready)

ขั้วต่อด้านหลังเครื่องของ Formation Audio

ด้านขั้วต่อสัญญาณเอาต์พุตของ Formation Audio ก็มีให้เลือกใช้ทั้งแบบอะนาล็อกสเตริโอ (RCA) และแบบดิจิทัล (coaxial) พร้อมเชื่อมต่อใช้งานกับทั้งแหล่งสัญญาณ (เครื่องเล่นซีดี, เครื่องเล่นแผ่นเสียง, ทีวี ฯลฯ) และแอมปลิฟายเออร์ (อินทิเกรตแอมป์, ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์)

การเชื่อมต่อและการติดตั้งใช้งาน
ภายใต้รูปลักษณ์ที่ดูเหมือนลำโพงธรรมดาทั่วไป Formation Duo (รวมทั้ง Formation รุ่นอื่น ๆ) ได้แพ็ครวมหลายสิ่งอย่างเอาไว้ในตัว ไม่ว่าจะเป็น วงจรออดิโออินเตอร์เฟซ, วงจรดิจิทัลโปรเซสเซอร์, วงจรภาคขยายเสียงและลำโพง รวมทั้งระบบซอฟต์แวร์อัจฉริยะสำหรับควบคุมสั่งงาน มันทำให้ผมรู้สึกว่านี่คือตัวอย่างของของคำว่า ‘less is more’ โดยแท้

เพราะว่าเครื่องเสียงที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเช่นนี้ แท้จริงแล้วมันกลับทำหน้าที่แทนเครื่องเสียงทั้งซิสเตมได้อย่างสบาย ๆ เบสิกที่สุดคือ การทำหน้าที่เป็นเหมือนลำโพงบลูทูธ แต่คุณสมบัตินี้เป็นแค่ ‘เศษเสี้ยว’ ของความสามารถที่ Formation Duo และเครื่องเสียง Formation รุ่นอื่น ๆ ทำได้

ขั้วต่อต่าง ๆ ที่ฐานล่างของลำโพง Formation Duo

เพราะเมื่อเสียบปลั๊กไฟ แล้วเปิดแอปฯ ‘Bowers Home’ ในสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นแอปฯ หลักที่จำเป็นสำหรับการเซ็ตอัปเครื่องเสียง Formation Series ทุกรุ่น ตัวแอปฯ จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อเครื่องเสียง Formation เข้ากับระบบเน็ตเวิร์คในบ้าน โดยมี wizard หรือคำแนะนำที่เป็นภาพกราฟิกและคำอธิบายที่เข้าใจง่ายแสดงเป็นลำดับขั้น

ขั้นตอนการเชื่อมต่อลำโพงเข้ากับระบบเน็ตเวิร์ค เริ่มจากลำโพงข้างซ้าย

ซึ่งเท่าที่ได้ลองมาหลายวาระในระหว่างการรีวิว (เนื่องจากมีการสลับสับเปลี่ยนเครื่องหลายชุด หลายวาระ) ก็พบว่าการติดตั้งทุกครั้งสามารถทำได้อย่างง่ายดายและราบรื่น ผมพบว่ามันใช้เวลาน้อยกว่าการติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะอย่าง Google Chromecast เสียอีก

และถ้าเทียบกับเครื่องเสียงไฮไฟที่มีคุณสมบัติทัดเทียมกันแล้ว ความสะดวกในการติดตั้ง Formation Duo รวมทั้งรุ่นอื่น ๆ ใน Formation Series ถือว่าอยู่ในระดับยืนหัวแถวทั้งด้านความง่าย และความสะดวกรวดเร็ว

ตัวลำโพง Formation Duo ไม่มีการระบุว่าตัวไหนเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวา ข้างของลำโพงจะถูกกำหนดหรือ assign ตอนที่เราตั้งค่าให้มันเข้าไปอยู่ในระบบเน็ตเวิร์ค

จากนั้นก็เพิ่มลำโพงข้างขวาเข้าไป

นอกจากการใช้ตั้งค่าเบื้องต้นรวมถึงการตั้งค่าในส่วนอื่น ๆ เช่น การตั้งชื่อเครื่อง, อัปเดตเฟิร์มแวร์, การปรับแต่งเสียง, การตั้งค่า bass management หรือการเลือกสลับข้างลำโพงซ้ายกับขวาแล้ว แอปฯ ‘Bowers Home’ ซึ่งแอปฯ หลักนั้นยังใช้เป็นรีโมตคอนโทรล ควบคุมสั่งงานการเล่นเพลงไปด้วยในตัว

รวมถึงการทำ grouping ในระบบมัลติรูม (แชร์เพลงในระบบ, แยกปรับความดังของเสียง) ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้ดีพอสมควร แต่ยังต้องอาศัยการเรียนรู้ทำความเข้าใจกันอยู่สักพัก ไม่ได้ใช้ง่ายมากถึงขนาดว่าสามารถใช้ได้คล่องมือภายใน 2-3 นาทีเลย

เมื่อเชื่อมต่อ Formation Duo เข้ากับระบบเน็ตเวิร์คแล้วลำโพงแอคทีฟคู่นี้ก็เหมือน ‘เสือติดปีก’ ที่พร้อมแสดงศักยภาพของมันออกมา ไม่ได้เป็นแค่ลำโพงบลูทูธธรรมดาทั่วไป แต่กลายเป็นเครื่องเสียงที่สามารถทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ Spotify Connect เมื่อฟังเพลงจาก Spotify

หรือถ้าฟังเพลงจากอุปกรณ์ของ Apple (iOS, iPadOS, macOS) ก็สามารถสตรีมไร้สายผ่าน AirPlay/AirPlay 2 ได้เลย

แต่ที่ผมถือว่าเป็นไฮไลต์สำหรับคนที่เน้นคุณภาพเสียงมากเป็นพิเศษ โดยการฟังเพลงไฟล์เสียงดิจิทัลรายละเอียดสูง (hi-res audio) หรือการสตรีมเพลงอย่างมีคุณภาพ เครื่องเสียง Formation ทุกรุ่นมาพร้อมกับคุณสมบัติ Roon Ready รองรับการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน Music Management/Playback ชื่อดังอย่าง Roon

เมื่อใช้งานร่วมกับ Roon ในโหมด Roon Ready

ข้อดีของการใช้งานร่วมกับ Roon ก็คือ เราไม่ต้องไปวุ่นวายกับการเรียนรู้เรื่องแพลตฟอร์มเน็ตเวิร์คสตรีมมิงอื่นใดอีก แค่มีแอปฯ Roon ในคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เป็น Roon Core แค่เลือกเอาต์พุตสัญญาณเสียงให้ส่งไปที่เครื่องเสียง Formation

ไม่ว่าเราจะมีไฟล์เสียงรายละเอียดสูงในฟอร์แมตใด PCM, DSD หรือ MQA (ที่สตรีมจากไฟล์หรือจาก TIDAL Service ใน Roon) สัญญาณที่ส่งมาถึงเครื่องเสียง Formation จะเป็นสัญญาณที่เครื่องเสียง Formation สามารถเล่นได้อย่างแน่นอน ไม่ต้องห่วงว่าจะมีเสียงประหลาดแปลกปลอมดังออกมา

ซึ่งในเวลานี้ Formation ทุกรุ่นนั้นรองรับสัญญาณดิจิทัลสูงสุดคือ PCM 24bit/96kHz (native) อย่างไรก็ดีแอปฯ Roon นั้นมีราคาค่อนข้างสูง (ราคาต่อปีประมาณ 3,800 บาท ราคาตลอดชีพคือ 22,000 บาท) ทาง B&W เขาเลยแถมรหัสมาให้ลองใช้งานฟรี 60 วัน กับเครื่องเสียง Formation Series ทุกรุ่น

จากที่ได้ลองเล่นผมแนะนำเลยครับว่า “ของมันต้องมี” โดยเฉพาะถ้าคุณเลือกรุ่นท็อปอย่าง Formation Duo ที่เน้นคุณภาพเสียงเป็นพิเศษ และเล่นเพลงจากไฟล์ hi-res audio หรือไฟล์ lossless เสียเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนั้นแอปฯ Roon เอง ยังมีความสามารถในการทำ grouping ระบบมัลติรูมด้วยเช่นกัน สามารถสั่งงานได้โดยตรงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือสั่งงานจากแอปฯ Roon Remote ในสมาร์ทโฟนที่ทางผู้พัฒนาแอปฯ Roon เขามีให้ผู้ใช้แอปฯ ของเขาได้ใช้งานฟรี ๆ

การเชื่อมต่อแบบไร้สายที่แท้ทรู
เรียนตามตรงว่าครั้งแรกที่ผมได้รับเครื่องเสียง Formation มาลองใช้งานผมประเมินล่วงหน้าเลยว่าสุดท้ายแล้วก็คงต้องสรุปที่การเชื่อมต่อเน็ตเวิร์คด้วยสาย LAN ทางพอร์ต Ethernet เพื่อความเสถียรและความราบรื่นในการใช้งานเหมือนกับเครื่องเสียงหลาย ๆ รุ่น

แต่ในความเป็นจริงแล้วผมกลับพบว่า B&W Formation Series ทุกรุ่นที่ผมได้ลอง สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi (เราเตอร์ TP-Link AX6000) ที่บ้านของผมได้โดยปราศจากปัญหา

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใช้งานไปแล้วแอปฯ ไม่เจอเครื่อง, ใช้งานแล้วฮาร์ดแวร์/ซอฟต์แวร์เกิดค้าง หรือเด้งหลุดไปจากระบบ หรือความหน่วงช้าในการควบคุมสั่งงาน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้นกว่า 80% ของเครื่องเสียงที่ผมเคยได้ลองและเป็นเครื่องเสียงที่สามารถเชื่อมต่อระบบเน็ตเวิร์คได้

ผมจำได้ว่าเมื่อครั้งที่รีวิวลำโพง KEF LSX ผมได้ข้อสรุปว่าลำโพงทั้ง 2 ข้างควรเชื่อมต่อกันด้วยสาย LAN ด้านอินพุตถ้าทำได้ต่อสาย LAN ไปเลยก็จะดีกว่า แต่สำหรับ Formation Duo หรือ Flex มันไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้นเลย

ตลอดเวลาที่ลองใช้งาน Formation Flex หรือรีวิว Formation Duo สายเคเบิ้ลชนิดเดียวที่ผมต่อใช้งานก็คือ สายไฟเอซีครับ… ที่เหลือสามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายได้เลย !

หากลองแล้วไม่เวิร์ค แทนที่จะพิจารณาไปใช้วิธีการเชื่อมต่อด้วยสาย LAN ให้รุงรัง ผมแนะนำให้มองหาวิธีปรับปรุงระบบ Wi-Fi ในบ้านแทนครับ ก็ถือโอกาสอัปเกรดระบบ Wi-Fi ในบ้านไปเลยก็แล้วกัน หากไม่สะดวกจริง ๆ ค่อยพิจารณาเรื่องการต่อสาย LAN เอานะครับ

อีกเรื่องที่อยากแนะนำว่า must have หรือ “ของมันต้องมี” สำหรับ Formation Duo ก็คือ ขาตั้งที่เขาออกแบบมาด้วยกันครับ จริงอยู่ว่าขาตั้งนั้นเป็นอุปกรณ์เสริม เราสามารถใช้ Duo กับขาตั้งที่อาจมีอยู่แล้วก็ได้

แต่ด้วยน้ำหนักของตัวลำโพง (ข้างละ 10.6 กิโลกรัม) ปริมาณความร้อนจำนวนมากของตัววงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ฐานตู้ลำโพง (ซึ่งเป็นเรื่องปกติ) เป็นเหตุผลให้ขาตั้งที่จะใช้งานกับ Duo ต้องมีคุณสมบัติมั่นคงแข็งแรง มีระดับความสูงพอเหมาะ สามารถรองรับและระบายความร้อนที่ฐานตู้ลำโพงได้ดี

ปุ่มควบคุมที่ซ่อนไว้บริเวณฐานล่างของลำโพง ใช้งานได้ดีในระยะใกล้ ๆ มีประโยชน์พอสมควร สั่งงานได้รวดเร็วทันใจ

ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับเรื่องของความสวยงามแล้ว ผมว่าขาตั้งของเขาเป็นอะไรที่คุ้มค่าน่าลงทุนครับ ขาตั้งที่ออกแบบมาให้ใช้กับลำโพงรุ่นนี้ทำจากวัสดุอะลูมิเนียมเนื้อแน่น (ลองเคาะดูมีเรโซแนนซ์หรือการสั่นค้างสั้นมาก) ออกแบบและผลิตมาได้เรียบร้อยสวยงามลงตัวดีมากครับ

อีกทั้งยังสามารถยึดกับฐานของตัวลำโพงได้อย่างแน่นหนา มีช่องให้ลอดสายไฟผ่านลงมาที่ฐานของขาตั้งได้ด้วย แน่นอนว่าทั้งเรื่องของหน้าตาและผลลัพธ์น้ำเสียงมันได้ถูกแมตช์กันมาแล้วจากโรงงานอีกเช่นกัน

คุณภาพเสียง
ก่อนจะว่ากันด้วยเรื่องของคุณภาพเสียงผมอยากเอ่ยชมแพลตฟอร์มสตรีมมิง Formation Wireless Technology นี้อย่างเป็นทางการอีกสักครั้ง จะว่าอวยกันอย่างออกนอกหน้าก็ไม่ปฏิเสธล่ะครับ ก็ผมว่ามันดีจริง

ดีจริงในที่นี้ว่าไปตั้งแต่เรื่องพื้นฐานของระบบมัลติรูมอย่างเช่นการทำ grouping เชื่อมต่อและควบคุมเครื่องเสียงมากกว่า 1 ชุดได้จากจุดเดียวกัน หรือเรื่องของการแชร์คอนเทนต์ที่เปิดโอกาสให้สามารถแชร์จาก source อย่างทีวี หรือ analog source อย่างเทิร์นเทเบิ้ลได้ด้วย (กรณีที่ใช้ Formation Audio ด้วย)

ลองจินตนาการดูสิครับว่า มันจะดีแค่ไหนที่เสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เปิดอยู่ในห้องฟังหลัก สามารถแชร์ไปได้ทั่วทุกจุดในบ้านที่มีเครื่องเสียง Formation ติดตั้งอยู่ ทุก ๆ บริเวณในบ้านสามารถสร้างเสียงดนตรีที่เราเปิดฟังอยู่ได้อย่างอิสระ และการเลือกเปิดเพลง การปรับระดับเสียงยังสามารถควบคุมสั่งงานได้จากสมาร์ทโฟนของเรา หรือของสมาชิกอื่น ๆ ในครอบครัว

เอาล่ะครับ คุณสมบัติที่ว่ามาอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เครื่องเสียงมัลติรูมหลาย ๆ แพลตฟอร์มก็มีสิ่งเหล่านั้นปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษโบรชัวร์หรือบนหน้าเว็บไซต์ แต่เวลาใช้งานจริงมันอาจไม่ได้ราบรื่น ไม่ได้คล่องตัว หรือยืดหยุ่นได้อย่างที่คุยไว้… แต่นั่นไม่ใช่สำหรับเครื่องเสียง Formation ครับ !

ตลอดเวลาในการรีวิวผมสังเกตว่า Formation Duo ให้เสียงที่สะอาดมาก ไม่มีเสียงรบกวนแปลกปลอม “no hiss, no hum” แถมระบบยังทำงานในโหมดสแตนด์บายอัตโนมัติ (auto standby) เมื่อไม่ได้ฟังเพลงสักพักลำโพงมันจะปิดเองเข้าสู่โหมดสแตนด์บาย

เมื่อเราจะฟังก็เพียงแค่สั่งเปิดเพลง (จากแอปฯ เล่นเพลงต่าง ๆ) ระบบของ Formation Duo ก็ถูกปลุกให้พร้อมทำงานโดยอัตโนมัติ… อะไรจะสะดวกรู้ใจถึงขนาดนั้น

ในด้านคุณภาพเสียง ลำโพง Formation Duo ได้ถอดแบบเสียงของลำโพง Bowers & Wilkins ออกมาแบบสำเนาถูกต้อง มันทำให้ผมนึกถึงเสียงที่เคยได้ยินจากลำโพงในระดับมิดเรนจ์ถึงระดับไฮเอนด์ของยี่ห้อนี้หลาย ๆ รุ่น

และถ้าหากเทียบกับเครื่องเสียงแยกชิ้น ลำโพงแอคทีฟรุ่นนี้เล่นง่ายมากครับเพราะหลังจากเชื่อมต่อ Duo เข้ากับระบบเน็ตเวิร์คแล้ว สิ่งที่ผมต้องสนใจอย่างเดียวคือ การหาตำแหน่งจัดวางลำโพง ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรกับการหาตำแหน่งการจัดวางลำโพงในระบบเสียงสเตริโอทั่วไป

เครื่องเสียงบนชั้นวางทั้งหมดไม่ได้ถูกเปิดใช้งานเลย แค่ลำโพงคู่เดียวก็เอาอยู่

Formation Duo สามารถทำให้ผมเพลินได้แม้แต่การฟังจากการสตรีมเพลงจาก Spotify ที่ไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพเสียงมากนัก นั่นหมายความว่ามันไม่ใช่ลำโพงที่ให้เสียงเที่ยงตรงเสียจนปราศจากการประนีประนอม แต่มันเป็นลำโพงที่ให้เสียงค่อนข้างเอาใจหูและให้รายละเอียดได้ดีในเวลาเดียวกัน

เมื่อฟังจาก source ที่มีคุณภาพเสียงดีขึ้น เช่น ไฟล์ที่สตรีมจาก TIDAL และการเล่นเพลงจากไฟล์เสียง hi-res audio ผ่านแอปพลิเคชั่น Roon ในคอมพิวเตอร์

อย่างเช่น ตอนที่เปิดฟังอัลบั้ม Fairytales โดยศิลปิน Radka Toneff / Steve Dobrogosz เวอร์ชันรีมาสเตอร์เป็นไฟล์ MQA โดยสตรีมจาก TIDAL (Master) ผมพูดได้ว่านี่เป็นอีกครั้งที่ผมสามารถเข้าถึงความพิเศษของเพลงในอัลบั้มชุดนี้

สิ่งที่ถ่ายทอดจากลำโพงรุ่นนี้เผยให้ได้ยินถึงสมดุลเสียงของตัวลำโพงที่ดียิ่งขึ้นไปอีก และนี่เป็นอีกครั้งที่ผมสามารถเข้าถึงอารมณ์ของเพลงที่มีแค่เสียงร้องและเปียโนได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเพลง ‘Come Down in Time’ และเพลง ‘Wasted’

การเน้นย้ำในน้ำหนักเสียงเปียโนแต่ละครั้งที่นักดนตรีกดคีย์ลงไป การเอื้อนหรือการผ่อนลมหายใจในเสียงร้อง เป็นอีกหนึ่งลำโพงแอคทีฟที่มีโทนัลบาลานซ์ และการถ่ายทอดไดนามิกคอนทราสต์ดีเยี่ยมเกินคาด

เช่นเดียวกับอารมณ์ที่สัมผัสได้ในระหว่างการฟังอัลบั้ม evo sessions ของ Chlara หรืออัลบั้ม Stardust ของ Willie Nelson ใน TIDAL อย่างอัลบั้มชุดหลังนี้สตรีทมาฟังแค่ lossless เท่านั้นนะครับ ไม่ใช่ MQA ยังรู้สึกว่าเสียงดีมาก ๆ เลย ฟังแล้วอิ่มเอมมีความสุขครับ

ในอัลบั้ม Chronology Of A Dream: Live At The Village Vanguard โดยศิลปิน Jon Batiste (TIDAL Master, MQA) ซึ่งเป็นงานบันทึกการแสดงสด รายละเอียดเสียงที่หลุดลอยออกมาจาก Formation Duo มีความสะอาดเป็นธรรมชาติและมีชีวิตชีวา

โดยเฉพาะเสียงเครื่องเป่าซึ่งรับรู้ได้ถึงอารมณ์ร่วมของนักดนตรี ไม่ใช่แค่เล่นไปตามหน้าที่ ในระหว่างที่ฟังงานชุดนี้กับ Formation Duo ผมสังเกตว่าตัวเองเร่งเสียงให้ดังขึ้นเป็นระยะ ๆ คือ มันยิ่งฟังยิ่งสะใจได้อารมณ์ รายละเอียดของเสียงหลุดลอยออกมาแผ่ไปทั่วห้องฟัง

มันทำให้รู้สึกว่าลำโพงคู่นี้เหมือนมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง แต่ไม่ได้หมายถึงขนาดที่ใหญ่ขึ้นแบบสูบลมให้พองออกนะครับ หากแต่เป็นเรื่องพลังที่แฝงอยู่ในเสียง เวลามีการเคาะหรือกระแทกน้ำหนักเข้าไปในการบรรเลง มันมีน้ำหนัก มันมีมวลเนื้อหนาแน่น ไม่ใช่แค่เสียงที่ดังกว่าหรือเสียงที่ดังขึ้นเพียงอย่างเดียว

ในระหว่างการรีวิว Formation Duo ผมสังเกตว่ามากกว่า 50% ของเพลงที่ผมเลือกฟังเป็นดนตรีอะคูสติก ซึ่งดูจะขัดแย้งกับภาพลักษณ์สุดแสนจะไฮเทคของตัวลำโพงอยู่บ้าง แต่นั่นก็แค่เรื่องของความรู้สึก

ผมจำได้ว่าตอนเลือกฟังอัลบั้ม La Fille Mal Gardée อำนวยเพลงโดย John Lanchbery งานชุดดังของสังกัด Decca และ The Royal Ballet – Gala Performance บรรเลงโดย The Orchestra of the Royal Opera House อำนวยเพลงโดย Ernest Ansermet ซึ่งเป็นไฟล์ฟอร์แมต DSD ที่ผมริปมาจากแผ่น SACD โดยตรง

ในระหว่างการฟังงานระดับขึ้นหิ้งทั้ง 2 อัลบั้มกับ Formation Duo ผมหรี่ไฟในห้องให้สลัวกว่าปกติ ด้วยความรู้สึกที่ว่า…ไหน ๆ มันก็คล้ายกับว่าไม่ได้ฟังจากเครื่องเสียงอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปมองมันเสียเลย หรี่ให้มันได้บรรยากาศเหมือนไปฟังในคอนเสิร์ตฮอลล์จริง ๆ เลยดีกว่า…ว่าแล้วผมก็ได้หันไปถ่ายทอดความรู้สึกนั้นผ่านแป้นพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่วางอยู่ข้างตัวโดยไม่รอช้า

Formation Duo เหมาะกับใคร ?
คุณเป็นคนที่ชอบฟังเพลงหรือเปล่า ?

คุณคาดหวังในเรื่องของคุณภาพเสียงด้วยใช่มั้ย ?

คุณฟังเพลงจากมือถือหรือสตรีมจากออนไลน์ด้วยใช่มั้ย ?

คุณมองหาเครื่องเสียงที่เล่นง่าย ใช้งานสะดวกด้วยใช่หรือเปล่า ?

ถ้าคำตอบคือ ‘ใช่’ มากกว่า 1 ข้อ ผมว่าลำโพงแอคทีฟที่มาพร้อมกับแพลตฟอร์มมิวสิกสตรีมมิงที่ดีที่สุดในเวลานี้อย่าง Formation Duo น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่คุณอาจมองหามาตลอดทั้งชีวิตก็เป็นได้


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท มิวสิคพลัสซีนีมา จำกัด
โทร. 0-2681-7500
ราคา : 179,000 บาท/คู่

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ