fbpx
HOW TOKNOWLEDGERECOMMENDED

[Buyer’s Guide] รู้จัก/เลือกใช้ ลำโพงแบบพาสสีฟและลำโพงแบบแอคทีฟ

ปัจจุบันด้วยความหลากหลายในทางเลือกของอุปกรณ์เครื่องเสียงทำให้รูปแบบหรือประเภทของเครื่องเสียงนั้นอาจมีความแตกต่างไปจากเดิม

โดยปกติในชุดเครื่องเสียงไฮไฟแบบเดิม ๆ นั้นประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสัญญาณเสียง (source), อินทิเกรตแอมป์หรือเครื่องขยายเสียง และลำโพงแบบพาสสีฟอีกหนึ่งคู่

เบื้องต้นก็มีแค่นั้น แต่ถ้าหากเราแยกย่อยเส้นทางเดินของสัญญาณเสียงออกเป็นส่วน ๆ จะพบว่ามันสามารถมันสามารถย่อยออกได้เป็นหลายส่วนด้วยกันขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งานในแต่ละกรณี

รู้จักลำโพงแบบพาสสีฟ (passive speakers)
อุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสัญญาณเสียงนั้นทำหน้าที่เล่นเพลง มันสามารถเป็นได้ทั้งเครื่องเล่นซีดี, มิวสิคสตรีมเมอร์, เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ หรือว่าสมาร์ทโฟน จากนั้นเป็นส่วนของปรีแอมป์ซึ่งทำหน้าที่เลือก source และควบคุมระดับเสียง

หากเราใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียง เราอาจต้องการโฟโนปรีแอมป์เพื่อขยายสัญญาณเสียงจากหัวเข็มพร้อมทั้งทำการอีควอไลซ์สัญญาณก่อนส่งต่อให้กับปรีแอมป์ ซึ่งปรีแอมป์หรืออินทิเกรตแอมป์บางรุ่นอาจมีโฟโนปรีแอมป์ในตัวอยู่แล้ว

Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide
ภาพประกอบจาก www.whathifi.com

เนื่องจากสัญญาณจากปรีแอมป์ยังมีความแรงไม่มากพอที่จะขับลำโพงได้โดยตรง เราจึงต้องการส่วนที่เรียกว่าเพาเวอร์แอมป์เพื่อมาทำหน้าที่นี้ และเราเรียกเครื่องเสียงที่มีปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์รวมอยู่ในเครื่องเดียวกันว่าอินทิเกรตแอมป์

อย่างไรก็ดีสัญญาณจากเพาเวอร์แอมป์ก็ยังไม่ได้เชื่อมต่อกับตัวขับเสียงในลำโพงระบบพาสสีฟโดยตรง แต่มันยังผ่านเข้าไปในวงจรฟิลเตอร์ที่ทำหน้าที่ตัดแบ่งความถี่เสียง (passive crossover network) ซึ่งถ้าหากเป็นลำโพงแบบพาสสีฟสองทาง สัญญาณเสียงก็จะถูกแยกเป็นชุดสัญญาณเสียงในย่านความถี่สูงสำหรับทวีตเตอร์ ขณะที่สัญญาณย่านความถี่อื่น ๆ นั้นถูกส่งไปชุดตัวขับเสียงกลาง/ทุ้ม

ในกรณีที่เป็นระบบลำโพงแบบพาสสีฟสามทาง สัญญาณจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ย่านความถี่สูง, ย่านความถี่เสียงกลาง และย่านความถี่เสียงทุ้ม

เนื่องจากวงจรฟิลเตอร์ที่ทำหน้าที่ตัดแบ่งความถี่เสียงนี้ไม่ต้องการแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าในการทำงาน ดังนั้นจึงถือว่ามันเป็นทำงานเป็นแบบ ‘พาสซีฟ’

รู้จักลำโพงแบบแอคทีฟ (active speakers)
ในระบบลำโพงแบบแอคทีฟสัญญาณเสียงและการเชื่อมต่อต่าง ๆ จะเริ่มมีความแตกต่างกันตั้งแต่ในช่วงที่สัญญาณผ่านออกมาจากปรีแอมป์แล้ว สัญญาณจากเอาต์พุตของปรีแอมป์จะผ่านเข้าไปในวงจรตัดแบ่งความถี่เสียงแบบแอคทีฟ (active crossover network)

วงจรตัดแบ่งความถี่เสียงนี้ทำหน้าที่เหมือนวงจรตัดแบ่งความถี่แบบพาสสีฟยกเว้นแต่ว่ามันทำงานกับสัญญาณในระดับไลน์ (line level) แทนที่จะเป็นสัญญาณในระดับที่ใช้ขับลำโพงโดยตรง (speaker level)

Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide
ภาพประกอบจาก www.whathifi.com

ข้อดีของการทำงานกับสัญญาณในระดับไลน์ทำให้ตัวอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถให้ความสำคัญกับปรับแต่งให้มีความแม่นยำสูงแทนที่จะเป็นเรื่องของการรองรับกำลังขับ ดังนั้นการออกแบบโดยปกติก็มักเลือกใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบแอกทีฟคุณภาพสูง

นอกจากนั้นในระบบที่มีความซับซ้อนมากขึ้น หรือเป็นผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ก็อาจมีการประมวลผลสัญญาณดิจิทัลเพื่อรีดประสิทธิภาพในระดับสูงสุดออกมาจากตัวขับเสียงแต่ละตัวในลำโพง ทำให้ตัวขับเสียงในลำโพงสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำมากขึ้น มีความกลมกลืนกันมากขึ้น และสามารถปรับแต่งให้ได้ผลลัพธ์ตรงกับความต้องการของผู้ออกแบบได้ง่ายยิ่งขึ้น

สัญญาณเสียงแต่ละย่านความถี่จากวงจรตัดแบ่งความถี่เสียงแบบแอคทีฟจะถูกส่งต่อไปยังภาคขยายเสียงสำหรับตัวขับเสียงแต่ละส่วนตามความเหมาะสม

Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide
(ซ้าย) ตัวอย่างวงจรตัดแบ่งความถี่เสียงแบบพาสสีฟ, (ขวา) ตัวอย่างวงจรตัดแบ่งความถี่เสียงแบบแอคทีฟ [ภาพประกอบจาก www.whathifi.com]

ความแตกต่างของลำโพงแบบแอคทีฟและลำโพงที่มีภาคขยายเสียงในตัว
ในขณะที่ลำโพงแบบแอคทีฟทั้งหมดจำเป็นต้องอาศัยภาคขยายเสียง แต่ไม่ได้หมายความว่าลำโพงที่มีภาคขยายเสียงในตัว (powered speakers) ทั้งหมดจะถูกนิยามว่าทำงานในระบบแอคทีฟ เนื่องจากลำโพงที่มีภาคขยายเสียงบางรุ่นมีเส้นทางเดินของสัญญาณเหมือนกับลำโพงระบบพาสสีฟ เพียงแต่รวมเอาภาคขยายเสียงเอาไว้ในตัวตู้ลำโพงเท่านั้นเอง

นอกจากนั้นยังมี powered speakers บางรุ่นที่มีขั้วต่อสายลำโพงออกมาจากตัวลำโพงหลัก (master/primary speaker) ซึ่งมีภาคขยายเสียงในตัว เพื่อให้ต่อสายลำโพงออกไปเชื่อมต่อเข้ากับลำโพงรอง (slave/secondary speaker) ที่มีการทำงานแบบระบบพาสสีฟ

Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide
ตัวอย่างการเชื่อมต่อลำโพงรองที่เป็นระบบแอคทีฟไบแอมป์ในของลำโพงของ Klipsch สังเกตว่าการเชื่อมต่อเป็นขั้วต่อแบบ 4 pin (tweeter+, tweeter-, woofer+, woofer-)
Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide
ตัวอย่างการเชื่อมต่อลำโพง powered speaker ที่ใช้วงจรตัดแบ่งความถี่แบบพาสสีฟ การเชื่อมต่อระหว่างลำโพงหลักกับลำโพงรองอาศัยขั้วต่อแค่ speaker+ และ speaker-
Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide
ตัวอย่างการเชื่อมต่อลำโพง powered speaker ที่ใช้วงจรตัดแบ่งความถี่แบบพาสสีฟ การเชื่อมต่อระหว่างลำโพงหลักกับลำโพงรองอาศัยขั้วต่อแค่ speaker+ และ speaker-

ดังนั้น powered speakers รุ่นราคาย่อมเยาส่วนใหญ่มักจะออกแบบเป็นลักษณะดังกล่าว ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้อาจได้ประโยชน์จากข้อดีของระบบลำโพงแบบแอคทีฟไม่เต็มที่นัก เพื่อให้เข้าใจตรงกันเราจะเรียกลำโพงในลักษณะนี้ว่า ‘passive powered speakers’

ลำโพงแบบแอคทีฟสมัยใหม่
ขณะที่ลำโพงแบบแอคทีฟนั้นมีจุดเด่นและข้อดีทางเทคนิคที่ชัดเจน การรวมเอาความซับซ้อนของระบบมารวมเอาไว้ในตัวลำโพงยังดึงดูดผู้ใช้งานในแง่ของความกะทัดรัด ความเรียบง่าย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คนฟังเพลงจำนวนหนึ่งคนสนใจมันมากกว่าระบบเครื่องเสียงที่เป็นแบบแยกชิ้น

ในปัจจุบันด้วยเทคนิควิยาการที่ก้าวล้ำทำให้เราได้เห็นลำโพงแบบแอคทีฟมีให้เลือกหลากหลายมากขึ้นและไม่ได้มีเพียงแค่ภาคขยายเสียงบรรจุมาในตัวลำโพง

บ้างก็ได้บรรจุเอาฟังก์ชันการทำงานล้ำ ๆ ผนวกรวมเข้ามาด้วย เช่น วงจรแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อก (DAC) ที่รองรับ hi-res audio, โมดูลสตรีมมิง ทำให้มีทั้งการเชื่อมต่อทางอินพุตอะนาล็อก, อินพุตดิจิทัล หรือการสตรีมแบบไร้สายไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, Spotify Connect, TIDAL Connect หรือ AirPlay 2

ลำโพงแอคทีฟเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการนำเสนอระบบเสียงแบบ ‘ออล-อิน-วัน’ ซึ่งลดความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์เครื่องเสียงหรือสายสัญญาณต่าง ๆ ให้เหลือน้อยที่สุด แต่ยังคงฟังก์ชันการทำงานหลัก ๆ เอาไว้ไม่ได้เป็นรองระบบเสียงแบบแยกชิ้น ตัวอย่างเช่น ลำโพง KEF LSX, B&W Formation Duo หรือ Klipsch The Nines

ลำโพงแบบพาสสีฟ vs ลำโพงแบบแอคทีฟ เลือกใช้แบบไหนดี ?
โดยปกติแล้วการเลือกลำโพงสักคู่มาใช้งาน อาจมีหลายปัจจัยที่เราควรต้องพิจารณา เช่น จะเป็นลำโพงตั้งพื้นหรือลำโพงวางขาตั้งดี, ลำโพงตู้ปิดหรือว่าลำโพงตู้เปิดดี รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ยี่ห้อ ราคา หรือว่าคุณภาพเสียง

อีกปัจจัยหนึ่งก็อาจจะเป็นเรี่องของการทำงานว่าจะเลือกเป็นลำโพงแบบพาสสีฟหรือลำโพงแบบแอคทีฟดี และปัจจุบันลำโพงหลายยี่ห้อก็มีตัวเลือกออกมาให้พิจารณาทั้งสองประเภท

เมื่อตัดปัจจัยปลีกย่อยเช่นฟังก์ชันต่าง ๆ ออกไปก่อนแล้วกลับไปที่พื้นฐานของลำโพงทั้งสองประเภทเรามาดูกันว่ามันมีข้อควรพิจารณาอะไรบ้าง

Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide

ลำโพงแบบพาสสีฟนั้นมีจุดเด่นที่ชัดเจนมากในแง่ของการปรับเปลี่ยนหรือการอัปเกรด ทั้งตัวลำโพงเองและแอมป์ที่ใช้ เนื่องจากทั้งสององค์ประกอบนั้นมันแยกส่วนกัน เราสามารถเปลี่ยนลำโพงได้ทั้งขนาดหรือประเภท

หรือการเปลี่ยนแอมป์ที่สามารถทำได้ทั้งการเพิ่มกำลังขับ หรือการเลือกแมตชิ่งทั้งประเภทของวงจรขยายเสียงเช่น แอมป์หลอดหรือแอมป์โซลิดสเตท, แอมป์คลาสเอบีหรือคลาสดี ซึ่งบางคนอาจมองเป็นความยุ่งยาก ขณะที่บางคนอาจมองว่าเป็นความสนุกในการที่ได้เสาะแสวงหาหรือได้ทดลองไปเรื่อย เหมือนเชฟที่มีโอกาสได้ทดลองและคิดค้นสูตรอาหารที่ตัวเองถูกใจ และไม่ชอบยึดติดอยู่กับอะไรที่สำเร็จรูปมากเกินไป

สำหรับลำโพงแบบแอคทีฟจุดเด่นที่ชัดเจนของลำโพงประเภทนี้นอกจากความแม่นยำและการสูญเสียที่น้อยกว่าของวงจรตัดแบ่งความถี่เสียงแบบแอคทีฟดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว องค์ประกอบหลักอย่างตัวลำโพงและแอมป์ยังได้รับการคัดสรรค์และจับคู่กันมาจากแล้วจากโรงงาน ดังนั้นปัญหาเรื่องของความไม่เข้ากันหรือมิสแมตช์ระหว่างลำโพงและแอมป์นั้นจึงสามารถตัดออกไปได้เลย

Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide

Passive vs. Active Speakers Buyer's Guide

ด้วยเหตุนี้ลำโพงแบบแอคทีฟจึงเหมาะมากสำหรับคนฟังเพลงที่ชอบความเรียบง่าย สำเร็จรูป แต่ยังไม่ได้ละทิ้งเรื่องของคุณภาพเสียง นอกจากนั้นลำโพงแบบแอคทีฟสมัยใหม่ยังได้บรรจุเอาฟังก์ชันล้ำ ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานหรือไลฟ์สไตล์ของการฟังเพลงของผู้คนในยุคนี้เข้ามาด้วย ดังนั้นจึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ผลิตลำโพงแบรนด์ดังหันมาให้ความสำคัญกับลำโพงแบบแอคทีฟมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้นสรุปว่าถ้าหากคุณกำลังมองหาลำโพงที่สามารถอัปเกรดแอมป์ได้ง่ายหรือสามารถเลือกแมตชิ่งระบบได้ตามชอบใจ ลำโพงแบบพาสซีฟน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

แต่ถ้าหากคุณต้องการลำโพงที่มีความสำเร็จรูปพร้อมใช้งานได้เลย หรือสามารถสตรีมแบบไร้สายได้ง่าย สามารถใช้งานแทนที่อุปกรณ์ได้เกือบทั้งซิสเตมแบบออลอินวัน ลำโพงแบบแอคทีฟจะเหมาะสมกว่า


ที่มา: whathifi, aperionaudio

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ