fbpx
KNOWLEDGE

“aptX HD” Bluetooth คืออะไร? แล้วเราจะใช้งานมันได้อย่างไร?

การมาของ “aptX HD” ทำให้เทคโนโลยีการส่งสัญญาณเสียงแบบไร้สายผ่าน Bluetooth ด้วยคุณภาพเสียงระดับ Hi-Res Audio คือสิ่งที่เป็นไปได้ แต่มันคืออะไร ทำงานอย่างไร และต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง บทความนี้จะพาเราไปไขข้อสงสัยทั้งหมด

aptX Bluetooth คืออะไร?
ก่อนที่เราจะคุยกันเรื่อง “aptX HD” ที่อ่านออกเสียงว่า แอปเท็กซ์ เอชดี ต้องขอย้อนความไปเล่าเรื่องของที่มาของมันนั่นคือเทคโนโลยี “aptX” ธรรมดากันก่อน

aptX คือขั้นตอนวิธีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงที่ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 1980 เป็นที่นิยมใช้งานในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์และกิจการวิทยุกระจายเสียง มาในยุคปัจจุบัน aptX ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่มาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีส่งสัญญาณแบบไร้สาย Bluetooth ซึ่งเป็นที่นิยมใช้งานแพร่หลายทั้งในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, เอวีรีซีฟเวอร์, หูฟังไร้สาย ตลอดจนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ

ความเจ๋งของ aptX เมื่อนำมาใช้กับสัญญาณเสียงก็คือ มันจะให้คุณภาพในระดับเกือบจะเหมือนเสียงที่ได้จากแผ่นซีดี นั่นหมายความว่า มันยังเป็นรองเสียงจากแผ่นซีดีอยู่บ้าง เนื่องจาก aptX นั้นใช้กระบวนการบีบอัดสัญญาณเพื่อให้ข้อมูลมีขนาดเล็กลง สามารถรับ-ส่งกันได้อย่างราบรื่นและมีความหน่วงช้าเกิดขึ้นน้อยที่สุด

ขณะเดียวกันมันก็ถูกทำให้มีคุณภาพเสียงที่ดีกว่า Bluetooth ทั่วไป แต่เดิมนั้น aptX จะมีการบีบอัดสัญญาณในอัตราส่วน 4:1 โดยมีอัตราความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลอยู่ที่ 352kbps (กิโลบิตต่อวินาที)

aptX HD กับคุณภาพเสียงที่ดีกว่าเดิม
ปัจจุบัน aptX ได้พัฒนาจนมาเป็น aptX HD หรือที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘aptX Lossless’ ซึ่งได้พัฒนาไปจากเดิมอย่างมากเพื่อหวังผลในคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น

อีกด้านหนึ่ง aptX HD เกิดมาเพื่อตอบสนองต่อยุคของระบบเสียงรายละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio ซึ่ง ณ ปัจจุบันมันรองรับไปถึงระดับ 24bit/48kHz ด้วยอัตราส่วนการบีบอัดข้อมูลที่ 4:1 เท่าเดิม แต่มีความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลมากขึ้นเป็น 576kbps

ปัจจุบัน aptX HD เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท Qualcomm ผู้ผลิตชิปประมวลผลชื่อดังในสมาร์ทโฟน และได้รับการโปรโมตว่า aptX HD นั้นให้คุณภาพเสียง “ดีกว่าแผ่นซีดี” ไปแล้ว

อยากฟังเสียงจากเทคโนโลยี aptX HD ต้องมีอะไรบ้าง?
การจะฟังเสียงจากเทคโนโลยี aptX HD สิ่งแรกที่เราต้องมีก็คือ อุปกรณ์ที่มีชิปรับ-ส่งสัญญาณ Bluetooth รหัส CSR8675 อยู่ในเครื่อง ชิปตัวนี้ไม่เพียงแต่ได้รับการออกแบบให้รองรับสัญญาณเสียง 24bit เท่านั้น แต่มันยังมาพร้อมกับภาคประมวลผลสัญญาณเสียงที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ารุ่นก่อนหน้านี้

นอกจากนั้นแล้วทาง Qualcomm ยังอ้างว่ามันมีอัตราส่วนสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนที่ดีขึ้นด้วยทั้งทางฝั่งอุปกรณ์ที่เข้ารหัสสัญญาณ และทางฝั่งอุปกรณ์ที่ถอดรหัสสัญญาณ อีกทั้งยังมีความเพี้ยนที่ต่ำลงด้วยตลอดทั้งย่านความถี่ 10Hz-20kHz

ชิปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดำตัวโตในภาพคือ CSR8675

ด้วยความที่การใช้งาน aptX HD จะต้องใช้ชิปตามที่ระบุมา ดังนั้นเท่ากับว่าสิ่งแรกที่ต้องพิจารณาหากต้องการใช้งาน aptX HD นั่นก็คืออุปกรณ์นั้น ๆ มีชิปตัวนี้ (CSR8675) อยู่หรือเปล่า การใช้งาน aptX HD เป็นเรื่องของส่วนฮาร์ดแวร์โดยตรง และไม่สามารถเพิ่มคุณสมบัตินี้ได้ด้วยการอัปเดตซอฟต์แวร์

อย่างไรก็ดีอุปกรณ์ที่รองรับ aptX HD จะมีคุณสมบัติที่เรียกว่า backward compatible หมายความว่ามันสามารถใช้งานกับอุปกรณ์ที่รองรับ aptX ธรรมดาได้ด้วย (แต่คุณภาพที่ได้ก็คงเทียบเท่ากับ atpX ธรรมดาด้วยเช่นกัน)

อุปกรณ์อะไรบ้างที่รองรับ aptX HD?
สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแอนดรอยด์จำนวนหนึ่งเป็นอุปกรณ์รุ่นแรก ๆ ที่รองรับ aptX HD โดยมี LG G5 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่เชื่อมต่อ Bluetooth ด้วย aptX HD ได้ สมาร์ทโฟนของ LG รุ่นถัดมาหลังจากนั้นก็ดำเนินรอยตามมาโดยตลอดโดยเฉพาะรุ่นที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงรุ่นล่าสุดอย่าง G7 ThinQ

 

Huawei P20 และ P20 Pro แม้ไม่ได้ใช้ชิปประมวลผลตระกูล Snapdragon ของ Qualcomm แต่ก็ยังรองรับ aptX HD กับเขาด้วย

นอกจาก LG แล้วก็ยังมีสมาร์ทโฟนของ Sony, OnePlus, Huawei, HTC และ Google Pixel หลายรุ่นที่รองรับ aptX HD ด้วยเช่นกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า iPhone ของ Apple ยังไม่มีรุ่นใดเลยที่รองรับ aptX codec (coder/decoder) ขณะที่ Samsung Galaxy S9, S9 Plus รวมถึงรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Note 9 นั้นรองรับเพียงแค่ aptX เท่านั้น

การตั้งค่า aptX HD ในสมาร์ทโฟน LG V30+

สำหรับอุปกรณ์ในกลุ่มของเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา ยี่ห้อ Astell & Kern นั้นเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของ aptX HD ควบคู่ไปกับเครื่องเล่นตระกูล Walkman ของ Sony

ในกลุ่มของหูฟังที่รองรับ aptX HD ได้แก่ Beyerdynamic รุ่น Xelento Wireless และ Aventho ในกลุ่มหูฟังไร้สายก็อย่างเช่น NAD รุ่น Viso HP70, PSB รุ่น M4U 8 หรือ Sony รุ่น WH-1000XM2

Sony WH-1000XM2 รองรับ aptX HD ด้วยเช่นกัน

สำหรับในกลุ่มของเครื่องเสียงไฮไฟในบ้านรุ่นที่รองรับ aptX HD ก็มี ยี่ห้อ Naim รุ่น Uniti Star, Atom และ Nova ยี่ห้อ Cambridge Audio รุ่น Edge A และ Edge NQ ลำโพงแอคทีฟจากประเทศเดนมาร์กอย่าง Dali รุ่น Callisto ก็รองรับ aptX HD ด้วยเช่นกัน

ในเว็บไซต์ของ aptX เองมีรายชื่อของอุปกรณ์ที่รองรับ aptX HD อีกยาวเหยียด และอาจมีการอัปเดตเพิ่มเติมได้อีกในภายหลัง ใครที่สนใจเทคโนโลยีนี้อย่าลืมแวะเวียนเข้าไปเช็คดูนะครับว่ามีรายชื่อรุ่นอุปกรณ์ที่เรากำลังเล็งเอาไว้อยู่หรือเปล่า

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ