fbpx
REVIEW

รีวิว Cambridge Audio : CXA80 “อินทิเกรตแอมป์สัญชาติยุโรป สำหรับระบบเสียงยุคใหม่”

หลายเดือนก่อนเครื่องเสียงยี่ห้อแคมบริดจ์ ออดิโอ ‘Cambridge Audio’ จากประเทศอังกฤษได้เปิดตัวเครื่องเสียงในอนุกรมใหม่ CX Series มาเติมเต็มช่องว่างระหว่างเครื่องเสียงระดับเริ่มต้น-ระดับกลางอย่าง 651 Series และเครื่องเสียงในระดับสูงอย่าง 851 Series ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า CX Series มีรูปร่างหน้าตาและคุณสมบัติหลาย ๆ ประการกระเดียดไปทาง 851 Series แต่ค่าตัวนั้นดูเหมือนจะกระเดียดมาทาง 651 Series มากกว่า

อย่างเช่น Cambridge Audio รุ่น CXA80 อินทิเกรตแอมป์สเตริโอกำลังขับ 80 วัตต์ต่อข้างที่มาพร้อมกับอินพุต/เอาต์พุตอะนาล็อก และอินพุตดิจิทัลที่เรียกได้ว่า ‘พร้อมใช้งาน’ เพราะมีให้มาแบบครบ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินพุตดิจิทัลสำหรับใช้งานในยุคที่ดิจิทัลไฮไฟรายละเอียดสูงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป

อินทิเกรตแอมป์ยุคดิจิทัล
Cambridge Audio CXA80 มาพร้อมกับดีไซน์ที่เรียบง่ายตามสไตล์อินทิเกรตแอมป์สัญชาติยุโรป แต่ภายใต้ความเรียบง่ายนั้นกลับบรรจุเอาไว้ด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญสำหรับนักเล่นนักฟังที่พร้อมจะจ่ายในงบประมาณระดับนี้ อินพุตสำหรับสัญญาณอะนาล็อกสเตริโอด้านหลังเครื่องให้มาทั้งหมด 4 ชุด แต่ละชุดกำกับด้วยรหัสที่ดูทันสมัยนั่นคือ A1, A2, A3 และ A4 โดยที่ ‘A’ นั้นหมายถึง Analog นั่นเอง ไม่มีการระบุเป็น CD, Tuner, Tape บลา บลา บลา ตามที่เคยนิยมใช้กันมาเนิ่นนานจนดูล้าสมัยไปแล้วในเวลานี้แต่อย่างใด

รายละเอียดขั้วต่อด้านหลัง Cambridge Audio CXA80

อินพุตอะนาล็อกทั้ง 4 ชุดนี้เป็นขั้วต่อสัญญาณแบบอันบาลานซ์และใช้ขั้วต่อแบบ RCA ที่มีหน้าสัมผัสเคลือบทองอย่างดี นอกจากนั้นที่อินพุต A1 ยังได้เพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกเป็นขั้วต่อแบบบาลานซ์ (XLR) ให้ใช้งานด้วย เหมาะสำหรับ source ที่มีออพชั่นขั้วต่อสัญญาณเอาต์พุตแบบบาลานซ์มาให้ใช้งาน

โดยปกติขั้วต่อแบบบาลานซ์นี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบอันบาลานซ์เมื่อจำเป็นต้องเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณยาว ๆ (5-10 เมตรขึ้นไป) ยังมีอินพุตสัญญาณอะนาล็อกอีกหนึ่งชุดที่แผงหน้าปัดเครื่องด้านหน้า เป็นขั้วต่อมินิแจ็คสเตริโอ 3.5mm สำหรับใช้งานร่วมกับอุปกรณ์พกพา ที่วางไว้หน้าเครื่องก็เพื่อความสะดวกเวลาจะต่อใช้งาน

นอกจากอินพุตสำหรับสัญญาณอะนาล็ออกแล้ว CXA80 ยังมีช่องอินพุตสำหรับสัญญาณดิจิทัลมาให้ด้วยทั้ง S/PDIF Coaxial และ Optical สำหรับใช้งานกับ source จำพวกเครื่องเล่นสำเร็จรูปอย่างเครื่องเล่นซีดี/ดีวีดี/บลูเรย์หรือยูนิเวอร์แซล และอินพุตดิจิทัล USB (Asynchronous USB Audio) สำหรับคอมพิวเตอร์หรือ source สมัยใหม่ทั้งหลายที่มีเอาต์พุตเป็นพอร์ต USB ที่น่าสนใจคืออินพุตดิจิทัลทั้งหมดรองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงถึงระดับ 24bit/192kHz ซึ่งก็พอจะใช้ยืนยันได้ว่าทางแคมบริดจ์ฯ ให้ความสำคัญกับช่องอินพุตเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

รีโมตคอนโทรลที่สามารถใช้ควบคุมเครื่องเล่นอื่น ๆ ใน CX Series ได้ด้วย

ด้านหลังเครื่องยังพบพอร์ต USB-A อีกหนึ่งชุดสกรีนกำกับเอาไว้ว่า ‘BT100’ พอร์ตนี้ออกแบบเผื่อไว้สำหรับผู้ที่ต้องการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงแบบไร้สายผ่านสัญญาณบลูทูธ ซึ่งก็เพียงแค่ซื้ออุปกรณ์เสริม Bluetooth Receiver Dongle รุ่น BT100 ของทางแคมบริดจ์ฯ มาเสียบเข้าที่พอร์ตนี้ก็จะทำให้ CXA80 รองรับการเชื่อมต่อบลูทูธได้ทั้ง aptX และ A2DP

สำหรับในส่วนของเอาต์พุต CXA80 ให้ขั้วต่อสายลำโพงแบบไบดิ้งโพสต์สเตริโอมา 2 ชุด (Speaker A และ Speaker B) ซึ่งสามารถเลือกใช้งานชุดใดชุดหนึ่ง หรือจะใช้งานพร้อมกันก็ได้แต่ต้องระวังไม่ให้อิมพิแดนซ์เฉลี่ยรวมต่ำกว่าที่แนะนำเอาไว้นั่นคือ 4-8 โอห์ม นอกจากนั้นยังมีขั้วต่อสัญญาณอะนาล็อก Pre-Out และ Sub-Out มาเพิ่มทางเลือกในการเล่นกับซิสเตมได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ควบคุมสั่งงานได้สะดวกด้วยรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดที่สามารถใช้สั่งงานเครื่องรุ่นอื่น ๆ ใน CX Series ได้ด้วย

Technical Insight
แท่นเครื่องของอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ผลิตจากแผ่นโลหะที่มีการแดมป์เพื่อหวังผลทางอะคูสติกอันเนื่องมาจากการควบคุมเรโซแนนซ์ในเนื้อวัสดุ แผงหน้าปัดเป็นแผ่นอะลูมิเนียมปัดลายเสี้ยนเสริมความภูมิฐาน น้ำหนักเครื่อง 8.7 กิโลกรัม ตัวเครื่องที่ผลิตออกมามีทั้งสีดำและสีเงินให้เลือกตามรสนิยมและอัธยาศัย

Cambridge Audio CXA80 จัดว่าเป็นอินทิเกรตแอมป์สเตริโอขนาดกลางที่มาพร้อมกับขุมกำลังขับข้างละ 80 วัตต์อาร์เอ็มเอสที่โหลด 8 โอห์ม และขยับขึ้นไปเป็น 120 วัตต์อาร์เอ็มเอสเมื่อโหลดลดลงไปที่ 4 โอห์ม ช่วงความถี่ตอบสนองกินช่วงกว้างตั้งแต่ 5Hz – 60kHz (+/-1dB) ความเพี้ยนรวมเชิงฮาร์มอนิก THD (unweighted) ต่ำกว่า 0.002% ที่ความถี่ 1kHz และที่ 80% ของกำลังขับสูงสุด

ส่องภายในเครื่อง CXA80 ดูเทคนิคการออกแบบ

เมื่อวัดที่ความถี่ตั้งแต่ 20Hz – 20kHz และที่ 80% ของกำลังขับสูงสุด ความเพี้ยนนี้จะสูงขึ้น 10 เท่า แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากนั่นคือ ต่ำกว่า 0.02% สเปคฯ ของภาคขยายเสียงเช่นนี้ในเชิงเทคนิคถือได้ว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ทางด้านเอาต์พุตหูฟังมีความเพี้ยนรวมเชิงฮาร์มอนิก THD (unweighted) ต่ำกว่า 0.002% ที่ความถี่ 1kHz และสำหรับเอาต์พุตที่ 1 โวลต์แบนด์วิดธ์ 80kHz โหลด 32 โอห์ม

สำหรับค่าอัตราส่วนสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนหรือ S/N Ratio ของช่องเอาต์พุตหูฟัง ทางแคมบริดจ์ฯ แจ้งว่าขึ้นอยู่กับตำแหน่งของวอลุ่มแต่โดยทั่วไปแล้วจะดีกว่า 95dBr ในภาคของวงจรอิเล็กทรอนิกส์วงจรขยายส่วนใหญ่ออกแบบด้วยวงจรแบบดีสครีต ภาคขยายเอาต์พุตเป็นวงจรขยายเสียงแบบลิเนียร์ Class AB แยกวงจรแชนเนลซ้ายและขวาอิสระจากกันโดยจัดวางแผงฮีทซิงค์ให้เป็นเสมือนกำแพงกั้นการรบกวนระหว่างกันและกัน (ลด crosstalk) หรือป้องกันสัญญาณรบกวนใด ๆ ที่อาจจะเล็ดลอดมาจากตัวหม้อแปลงเทอร์รอยด์ขนาดใหญ่ที่อยู่คั่นกลาง

หม้อแปลงเทอร์รอยด์นี้มีการพันขดลวดทุติยภูมิ (ขดลวดทางด้านเอาต์พุต) ของวงจรไฟเลี้ยงแชนเนลซ้ายและขวาแยกอิสระจากกัน แยกชุดเรคติไฟเออร์และวงจรไฟเลี้ยงทั้งหมดตามแบบฉบับของแอมป์ที่มีดีไซน์แบบดูอัลโมโน เกรดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาประกอบขึ้นเป็น CXA80 หลายส่วนพบว่าเป็นชิ้นส่วนเกรดดีที่มักจะพบเห็นได้ในเครื่องเสียงระดับกลางขึ้นไปอย่างเช่น ปุ่มวอลุ่มคอนโทรลชนิดฟิล์มของยี่ห้อ ALPS หรือจำพวกตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุที่มีคุณภาพดีกว่าที่ใช้อยู่ในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั่ว ๆ ไป

เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้งาน CXA80 ยังมาพร้อมกับวงจรป้องกันที่มีชื่อว่า ‘CAP5’ ซึ่งย่อมาจาก Cambridge Audio Protection 5 เป็นวงจรป้องกันที่ประกอบไปด้วยการป้องกัน 5 ประเภทได้แก่

1. DC Detection คอยตรวจจับและป้องกันไฟกระแสตรงรั่วไหลออกไปทำลายลำโพง

2. Over Temperature Detection ตรวจจับอุณหภูมิที่สูงเกินไปเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะลุกลามอันเนื่องมาจากความร้อนผิดปกติ

3. Overvoltage / Overcurrent Detection ตรวจจับแรงดันหรือกระแสไฟฟ้าที่สูงผิดปกติ เพื่อไม่ให้มีโอกาสไปสร้างความเสียหายให้กับตัวแอมป์หรืออุปกรณ์รอบข้าง

4. Short Circuit Detection ตรวจจับการลัดวงจรที่ขั้วต่อสายลำโพง ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ เช่น วงจรขยายเกิดการโอเวอร์โหลดซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ภายในตัวเครื่อง อุปกรณ์รอบข้างทั้งทางตรงและทางอ้อม

5. Intelligent Clipping Detection ตรวจจับการขลิปยอดคลื่นของสัญญาณเสียงซึ่งโดยมากจะมีสาเหตุมาจากสัญญาณเกิดความผิดเพี้ยนในระดับเกินยอมรับได้และอาจจะส่งผลเสียโดยตรงกับลำโพงหรือวงจรในตัวเครื่องเอง

ใน CXA80 เมื่อวงจรป้องกันนี้ทำงานมันจะแสดงผลโดยการกระพริบของไฟบนหน้าปัดที่ตำแหน่ง DIRECT, SPEAKER, MUTE โดยทั่วไปมีความเป็นไปได้ว่าปัญหาทั้ง 5 ส่วนที่วงจร CAP5 คอยตรวจจับนี้อาจจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเชื่อมโยงกัน คือเกิดปัญหาหนึ่งแล้วลุกลามไปยังปัญหาต่อ ๆ ไป ถ้าหากมีวงจรป้องกันที่ครอบคลุมการตรวจตราอย่าง CAP5 ผู้ใช้ก็พอจะอุ่นใจได้ว่าแอมป์ตัวเก่งของท่าน วันร้ายคืนเลวจะไม่เผาลำโพงของท่านให้ไหม้เป็นจุลไปคาตา

นอกจากวงจรในส่วนของสัญญาณอะนาล็อกและภาคขยายเสียงส่วนหลัก CXA80 ยังมีส่วนของวงจรดิจิทัลเป็นภาค D/A Converter (DAC) ที่รองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงถึงระดับ 24bit 192kHz โดยหัวใจหลักของวงจรในส่วนนี้อยู่ที่ชิป DAC ของยี่ห้อ Wolfson รหัส WM8740

จากข้อมูลเบื้องต้นแม้ว่าอินพุตดิจิทัลของ CXA80 จะเป็นช่องอินพุตที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ที่อินพุต USB (USB-B) จะเป็นการเชื่อมต่อสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งข้ึนไปอีกเพราะมันถูกออกแบบให้เชื่อมต่อสัญญาณในโหมด Asynchronous USB ซึ่งในทางเทคนิคจะมี jitter ต่ำมาก ๆ สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งในโหมด USB Audio 1.0 (สูงสุด 24bit/96kHz) สำหรับคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าบางรุ่น และ USB Audio 2.0 (สูงสุด 24bit/192kHz) สำหรับคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ทั่วไป

คุณภาพเสียงและการขับลำโพงความไวต่ำ
การรีวิว CXA80 ในช่วงต้นอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้มีโอกาสได้ลองขับลำโพงอยู่หลายคู่ ทว่าลำโพง 2 คู่ที่ผมมีโอกาสได้ลองฟังอย่างจริงจังก็คือ NHT C-3 และ Mission VX-2 ด้วยความบังเอิญจริง ๆ ที่ลำโพงทั้ง 2 คู่นี้เป็นลำโพงที่มีความไวตามสเปคฯ ค่อนข้างต่ำ อย่าง C-3 นั้นมีความไวเพียงแค่ 85dB เป็นลำโพง 3 ทางระดับมิดเอนด์แก่ ๆ แถมยังเป็นลำโพงแบบตู้ปิดซึ่งขึ้นชื่อว่าขับไม่ง่ายนัก ทางผู้ผลิตจึงแนะนำให้ใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับต่อข้างระดับ 50 วัตต์ขึ้นไป

ขณะที่ลำโพง VX-2 มีความไวอยู่ที่ 85dB เช่นกัน แต่เป็นลำโพงตู้เปิดและเป็นลำโพงในกลุ่ม entry-level กำลังขับต่อข้างของแอมป์ที่ทางผู้ผลิตแนะนำเอาไว้คือ 20 วัตต์ขึ้นไป จากสเปคฯ ของลำโพงทั้ง 2 รุ่นจะพบว่า CXA80 นั้นไม่เป็นที่สงสัยว่าจะใช้งานกับลำโพงทั้งคู่ได้หรือไม่

ทว่าในการใช้งานจริงผลลัพธ์นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจ CXA80 + VX2 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมเชื่อสนิทใจเลยว่าอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้สามารถขับลำโพงรุ่นนี้ออกมาได้อย่างหมดจด ดุลน้ำเสียงที่ค่อนข้างทุ่มนุ่มของ VX2 ได้รับการชาร์จพลังให้ฟังดูกระตือรือร้นมากขึ้น แต่ละตัวโน้ตมีความกระฉับเฉง สด คมชัด โดยเฉพาะเสียงย่านความถี่ต่ำนั้นถ้าไม่บอกว่ามาจากลำโพงราคา 6-7 พันบาท แต่เป็นสักหมื่นกว่าบาท ก็คงไม่ได้ค้างคาใจอะไร

ตลอดการฟังชุดนี้ผมไม่มีความรู้สึกเลยว่ากำลังฟังลำโพงที่มีความไวต่ำ แต่เหมือนฟังจากซิสเตมที่มีมูลค่าเฉี่ยว ๆ เรือนแสนมากกว่า โดยเฉพาะช่วงที่ด้าน source ใช้งาน DAC ของ Chord รุ่น Qute EX ซึ่งเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ทางพอร์ต USB แล้วเล่นไฟล์จากโปรแกรม roon ในคอมพิวเตอร์ที่ผมเลือกมาใช้งานอยู่ประจำในห้องฟังเพลง (รัน roon ใน Windows 7 – 64bit)

ขณะลองขับลำโพง NHT C-3 ที่รีวิวอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

สำหรับ CXA80 + C-3 ผมรู้สึกว่าผมช่างโชคดีเหลือเกินที่ในระหว่างการรีวิวลำโพง C-3 มีอินทิเกรตแอมป์ราคาจับต้องได้ง่ายมากอย่าง CXA80 มาให้ใช้งาน เพราะลำโพงที่มีดีในตัวของมันเองอย่าง C-3 มันแทบไม่ต้องการแอมป์ที่มาช่วยปรุงแต่งเสียงอะไรเลย มันต้องการแต่ ‘กำลัง’ โดยเฉพาะ ‘กำลังที่ปนเปื้อนความผิดเพี้ยนอยู่น้อยมาก ๆ’ มาขับดันพลังให้ระเบิดออกมาจากตัวลำโพง ลำโพงรุ่นนี้ไม่ได้ต้องการแอมป์มาช่วยแดมปิ้งใด ๆ เสียงทุ้มของมันกระชับโดยธรรมชาติของดีไซน์

อินทิเกรตแอมป์ที่ออกแบบมาดีมากอย่าง CXA80 ทำหน้าที่เพียงแค่ช่วย ‘เติมเต็ม’ ฮาร์มอนิกของเสียงดนตรี ทำให้เสียงดนตรีที่แผ่ออกมาทั่วอาณาบริเวณห้องฟังมีรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น มีบรรยากาศและอารมณ์ร่วมในเสียงดนตรีปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่ง CXA80 ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี แม้ว่าเมื่อผมเปลี่ยนไปใช้แอมป์อื่นมันยังสามารถทำให้คุณภาพเสียงของลำโพง C-3 ทะยานสูงขึ้นไปได้อีก แต่ก็ต้องบอกว่าคุณภาพเสียงในระดับที่ CXA80 ส่งมอบออกมาให้นั้นมันดีพอเสียจนผมแทบไม่อยากตำหนิหรือหาที่จับผิดอะไรมันแล้วเช่นกัน

อินทิเกรตแอมป์อย่าง CXA80 ไม่พยายามจะทำให้ผมรู้สึกว่าเสียงที่ถ่ายทอดจากตัวมันนั้นมีความโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ มันปล่อยให้ดนตรีที่ผมเลือกฟังชี้นำไปตามสมควร ตามที่ควรจะเป็น กับลำโพง C-3 ผมไม่แน่ใจว่าอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้รีดประสิทธิภาพจากลำโพงได้สุดทางหรือไม่ แต่เชื่อเถอะครับว่ามันดีเกินพอสำหรับการเสพด้วยความชื่นชมโดยโสตประสาททุกส่วน แต่กับลำโพง VX-2 ผมมั่นใจเหลือเกินว่าอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้จะขูด คุ้ย แคะ เปลือยเอาทุกความสามารถของลำโพงรุ่นนี้ออกมาโชว์อย่างอะร้าอร่าม

ที่น่าทึ่งว่านั้นคือมันให้ลำโพงคู่ละไม่กี่พันบาทรุ่นนี้สามารถรองรับไฟล์เพลงรายละเอียดสูงหลาย ๆ อัลบั้มได้ดีเกินคาดไปมาก ๆ อย่างที่ได้เรียนไว้มันทำให้ลำโพงฟังดูแพงกว่าค่าตัวจริง ๆ ของมันเยอะเลยครับ นี่แหละประโยชน์ของการให้ความสำคัญกับการลงทุนในส่วนของแอมป์ มันดีอย่างนี้นี่เอง

ลองเล่นอินพุตดิจิทัล USB
นอกเหนือไปจากเรื่องของคุณสมบัติ ความสามารถและคุณภาพเสียงแล้ว อินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ยังมีฟังก์ชั่นปลีกย่อยสำหรับผู้ที่ต้องใช้มันอย่างเช่น ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงทุ้ม, ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงแหลมและปุ่มบาลานซ์ซ้าย/ขวา ซึ่งเขาออกแบบมาได้น่าสนใจทีเดียว คือมีให้ใช้ ใช้งานได้จริงแต่ไม่ได้อยากให้ใช้มากเท่าส่วนอื่น ๆ จึงทำเป็นปุ่มเล็ก ๆ 3 ปุ่มอยู่ข้างวอลุ่มคอนโทรลขนาดใหญ่ แถมยังกดซ่อนปุ่มให้ราบเรียบไปกับแผงหน้าปัดได้ด้วย อีกทั้งปุ่มทั้งหมดยังสกรีนด้วยสัญลักษณ์ปุ่มบาลานซ์นั้นเข้าใจได้ไม่ยาก แต่อีก 2 ปุ่มนั้นเป็นสัญลักษณ์ตัวโน้ตโดยกุญแจฟานั้นหมายถึงความถี่ต่ำ (bass) และกุญแจซอลนั้นหมายถึงความถี่สูง (treble)

แผงปุ่มควบคุมและขั้วต่อบนหน้าปัดเครื่อง

ปุ่มส่วนใหญ่บนแผงหน้าปัดของ CXA80 เป็นปุ่มกดเลือกอินพุตทั้งอะนาล็อกและดิจิทัล ที่เหลือก็มีปุ่มเลือกชุดลำโพง (SPEAKER A / SPEAKER B) และปุ่ม DIRECT ซึ่งสัญญาณเสียงจะลัดตรงผ่านวงจรปรับบาลานซ์ และการปรับ bass / treble จึงมีโอกาสเกิดความผิดเพี้ยนได้น้อยกว่า ภาษาคนเล่นเครื่องเสียงเขาบอกว่า ฟังแบบแฟลต (flat) หรือการฟังแบบที่ไม่มีการปรับแต่งเสียงเพิ่มเติมนั่นเอง

นอกจากฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว อินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ยังมีเมนูให้เข้าไปปรับตั้งค่าเพิ่มเติมซ่อนเอาไว้ด้วยครับ ทำได้โดยการกดปุ่มเลือก SPEAKER A และ SPEAKER B ค้างเอาไว้ในขณะที่เครื่องกำลังสแตนด์บาย การตั้งค่าต่าง ๆ นี้จะอาศัยปุ่มเลือกอินพุตอะนาล็อกทั้ง 4 ปุ่ม เลือกปรับตั้งได้ทั้ง การใช้หรือไม่ใช้ Clipping function (วงจรป้องกันการขลิปยอดคลื่นสัญญาณ) หรือจะเป็นฟังก์ชั่น Auto power down ตั้งระยะเวลาที่จะให้เครื่องปิดตัวลงถ้าหากไม่มีการใช้งาน

ปุ่มปรับบาลานซ์, ปุ่มปรับทุ้ม/แหลม ข้าง ๆ วอลุ่ม กดให้ปุ่มยื่นออกมาแล้วหมุนปรับได้

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ การปรับตั้งโหมดของอินพุต USB ระหว่าง USB 1.0 และ 2.0 คุณสมบัตินี้ทำให้อินพุตนี้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ได้อย่างหลากหลายโดยไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นเครื่องรุ่นเก่าหรือใหม่ อีกทั้งมันยังสะดวกมากถ้าหากนำเครื่องเล่นดิจิทัลสมัยใหม่อย่าง Clef Audio รุ่น Zero One ซึ่งมีเอาต์พุตเป็นพอร์ต USB มาใช้งานร่วมกัน

นอกเหนือไปจากการใช้คอมพิวเตอร์มาเล่นเพลง แถมใกล้ ๆ พอร์ต USB ของ CXA80 ยังออกแบบให้มีสวิตช์ ‘Ground Lift’ ทำหน้าที่แยกกราวนด์ของระบบเผื่อให้ใช้ในกรณีที่กราวนด์ของอุปกรณ์ที่จะนำมาต่อใช้งานมีปัญหาทำให้เกิดเสียงฮัม โดยที่ไม่ต้องเสียเวลานั่งฟังพิจารณาอะไรกันมากมาย ช่องอินพุตนี้ของอินทิเกรตแอมป์ CXA80 ทำให้ซิสเตมหนึ่งที่ผมใช้งานในระหว่างการรีวิวก็คือ Zero One + CXA80 กลายเป็นซิสเตมที่ทรงประสิทธิภาพ เรียบง่ายและไม่ต้องจ่ายแพง อีกทั้งยังรองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงได้ถึง 24bit / 192kHz

การใช้งานในลักษณะนี้นอกจากจะวัดความสามารถของภาคขยายเสียงคลาสเอบีใน CXA80 แล้ว ยังวัดความสามารถของภาค DAC ใน CXA80 ด้วยครับ จากน้ำเสียงที่ได้ฟังผมคิดว่านี่คือภาค DAC ที่สามารถใช้งานได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว คุณภาพเสียงที่ได้มีความเป็นดนตรีสูงในระดับเดียวกันกับ DAC แยกชิ้นรุ่น DAC Magic Plus ของยี่ห้อแคมบริดจ์เอง เป็นเสียงที่มีชีวิตชีวา มีความคึกคักกระฉับกระเฉงในขณะที่ยังคงรักษาคุณลักษณะอื่น ๆ ก็ความเป็นดนตรีเอาไว้มิให้ขาดตกบกพร่องไปเสียจนเกินยอมรับได้

นี่ผมคิดว่าเผลอ ๆ ทางแคมบริดจ์จะเอาวงจร DAC Magic Plus ใส่มาในอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ก็เป็นได้เพราะชิป DAC ที่ใช้ก็ยังเป็นเบอร์เดียวกัน แต่จะอย่างไรก็ตามสรุปสั้น ๆ ตรงนี้ว่าเสียงดีและคุ้มจริง ๆ ครับสำหรับฟีเจอร์นี้

ความเห็นโดยสรุป
นี่คืออินทิเกรตแอมป์ที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจตั้งแต่เรื่องของการออกแบบ ฟีเจอร์ ตลอดจนเรื่องของคุณภาพเสียงที่หลุดพ้นจากคำว่า ‘พอใช้ได้’ ไปไกลมากอีกทั้งยังมีเรี่ยวแรงมากพอสำหรับลำโพงความไวต่ำ หรือลำโพงที่พร้อมจะระเบิดคุณภาพเสียงของมันออกมาเมื่อเจอแอมป์แรงดีที่มีความเพี้ยนต่ำ CXA80 มีคุณสมบัติดังกล่าวในค่าตัวที่ไม่ต้องรูดกันจนหมดวงเงินบัตรเครดิต

สำหรับคนเล่นแผ่นเสียงอาจจะขัดใจบ้างเพราะมันไม่มีอินพุต Phono สำหรับหัวเข็มมาให้ แต่คุณสามารถลงทุนเพิ่มปรีโฟโนแยกชิ้นของแคมบริดจ์ได้ในราคาไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท ขณะที่การหายไปของอินพุต Phono ใน CXA80 ก็แลกมาด้วยอินพุตดิจิทัลที่จัดเต็มด้วยขั้วต่ออินพุตมาตรฐานทั้งที่ใช้งานกับเครื่องเล่นหรือทรานสปอร์ตทั่วไป และอินพุต USB สำหรับ source สมัยใหม่ และทั้งหมดรองรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูง

ตรงนี้น่าสนใจเพราะคุณสมบัติและคุณภาพเสียงของมันไม่ต่างอะไรกับการบรรจุ DAC แยกชิ้นคุณภาพดีเข้าไปใน CXA80 แถมยังประหยัดสายสัญญาณไปอีก 1 ชุด ดังนั้นอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้จึงเป็นเสมือนความฝันที่เป็นจริงได้ของคนที่มองหาเครื่องเสียงประเภทจ่ายน้อยแต่ใช้งานได้เยอะ ยิ่งถ้าเป็นคนที่สนใจระบบเสียงดิจิทัลสมัยใหม่ผมมองว่าคุณหาเหตุผลที่จะปฏิเสธแอมป์ตัวนี้ได้ไม่ง่ายเลยจริง ๆ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป จำกัด
โทร. 0-2229-7000
ราคา : 39,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ