fbpx
HOW TOKNOWLEDGERECOMMENDED

การริปแผ่น MQA-CD ให้ได้ไฟล์เสียง MQA ที่สมบูรณ์แบบ

สำหรับคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของฟอร์แมตเสียง MQA หรือ Master Quality Authenticated คงทราบดีว่ารูปแบบหนึ่งของการนำเสนอฟอร์แมตเสียงนี้คือ การผลิตออกมาในรูปแบบของแผ่น MQA-CD

แผ่น MQA-CD คืออะไร ? ริปได้เหมือนแผ่นซีดีออดิโอปกติหรือไม่ และมีวิธีการริปอย่างไร ?

MQA-CD
แผ่น MQA-CD มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกับแผ่นซีดีออดิโอทั่วไป เมื่อนำไปเล่นในเครื่องเล่นซีดีปกติจะได้คุณภาพเสียงเทียบเท่ากับแผ่นซีดีนั่นคือ มีรายละเอียดของสัญญาณอยู่ที่ 16bit/44.1kHz

แต่ถ้าหากเครื่องเล่นซีดีนั้น ๆ มีภาคถอดรหัสสัญญาณดิจิทัลที่รองรับการถอดรหัสฟอร์แมต MQA ด้วย คุณภาพเสียงที่ได้ก็จะเหนือกว่าการเล่นแผ่นซีดีทั่วไป คือจะได้คุณภาพเสียงในระดับเทียบเท่าสัญญาณ hi-res audio (มากกว่า 16bit/44.1kHz) เนื่องจากข้อมูลพิเศษที่แนบเข้าไปในแผ่น MQA-CD นั้นมีข้อมูลที่จะบอกภาคถอดรหัสสัญญาณดิจิทัลว่าต้องทำอย่างไรให้ได้คุณภาพเช่นนั้น

ลักษณะดังกล่าวมีความคล้ายคลึงแผ่นซีดีที่มีการเข้ารหัสสัญญาณ HDCD ซึ่งในยุคหนึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างสูงสำหรับแผ่นซีดีที่ทางโปรดิวเซอร์คาดหวังในคุณภาพเสียงเป็นพิเศษ เพียงแต่ MQA-CD นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่า ซึ่งก็เป็นไปตามยุคสมัยของการพัฒนา

ความแตกต่างของรูปแบบสัญญาณใน MQA-CD และ MQA File
นอกจากการเล่น MQA-CD โดยหยิบแผ่นโหลดเข้าไปในเครื่องเล่นตามปกติ เรายังสามารถนำแผ่น MQA-CD ไปริปออกมาเป็นไฟล์เสียงเพื่อให้นำไปเล่นในคอมพิวเตอร์ กับเครื่องเล่นไฟล์เสียงหรือกับเน็ตเวิร์คสตรีมเมอร์ได้

ทว่าการริปไฟล์เสียงจาก MQA-CD นั้นเหมือนการริปแผ่นซีดีออดิโอตามปกติหรือไม่ ริปอย่างไร แล้วจะได้ไฟล์ที่เข้ารหัส MQA มาด้วยหรือเปล่า ?

ก่อนอื่นเราไปดูกันก่อนว่าไฟล์เสียงจาก MQA-CD นั้นมีรูปแบบอย่างไร จากภาพจะเห็นการกระแสข้อมูล MQA หรือ MQA Stream ที่ถูกอ่านออกมาจากแผ่น MQA-CD นั้นมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับรูปแบบไฟล์เสียงในแผ่นซีดีหรือ PCM Audio ตามปกติมาก แตกต่างกันที่ MQA Stream นั้นมีข้อมูลพิเศษแนบมาในสัญญาณด้วย (ส่วนที่เป็นแถบสีเทา)

แต่ถ้าหากอยู่ในฟอร์แมตของไฟล์เสียง MQA (MQA File) โดยสมบูรณ์แบบนั้นจำเป็นต้องมีส่วนที่เรียกว่า Header หรือข้อมูลส่วนแรกที่ไฟล์จะถูกมองเห็นหรืออ่านข้อมูลแปะติดมาด้วย ซึ่งส่วน Header นี้ก็มีข้อมูลสำคัญจำนวนหนึ่งที่ระบุตัวตนของไฟล์แนบติดมาด้วยซี่งในนั้นมีรายละเอียดของสัญญาณที่เป็นต้นฉบับด้วย

ภาพแสดงสัญญาณข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ

โดยทั่วไปสัญญาณที่อ่านออกมาจากแผ่น MQA-CD นั้นเป็นลักษณะของ MQA Stream ที่ไม่มีข้อมูล Header แปะอยู่ ขอเพียงแค่ ‘ฮาร์ดแวร์’ ในตัวเครื่องเล่นซีดีที่รองรับ MQA ตรวจจับลักษณะของ MQA Stream ได้ มันก็ทราบทันทีว่ากำลังเล่นสัญญาณเสียงที่เป็นฟอร์แมต MQA อยู่ แล้วก็ playback ออกมาเลย

แต่ถ้าหากเป็นรูปแบบของไฟล์เสียง MQA อย่างที่ซื้อแบบเป็นไฟล์ดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์จำหน่ายไฟล์ต่าง ๆ เช่น HighResAudio, 2L หรือ e-Onkyo เป็นไฟล์เสียง MQA ที่สมบูรณ์แบบ

หมายความว่าเป็นไฟล์ที่มีข้อมูล MQA Stream และมี Header แนบมาด้วย เมื่อ ‘ซอฟต์แวร์’ แอปฯ เล่นเพลงในคอมพิวเตอร์ ในสมาร์ทโฟน หรือในเครื่องเล่นเพลงแบบพกพามองเห็น มันก็จะทราบได้ทันทีว่านั่นคือไฟล์เสียง MQA โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเล่นก่อน

การริปแผ่น MQA-CD
จากหัวข้อก่อนหน้า เราได้ทราบแล้วว่ารูปแบบของสัญญาณที่อ่านได้จากแผ่น MQA-CD นั้นอ่านออกมาได้เฉพาะส่วนที่เป็น MQA-Stream

นั่นคือรูปแบบเดียวกับสัญญาณที่เราริปออกมาจากแผ่น MQA-CD ไม่ว่าเราจะริปจากซอฟต์แวร์ริปแผ่นซีดีใด ๆ (EAC, Foobar, dBPoweramp, XLD, Sony Music Centre) ข้อมูลในไฟล์เสียง MQA ที่ได้นั้นจะไม่มีส่วนของ Header แนบมาด้วย (ไฟล์เสียง MQA ที่ไม่สมบูรณ์แบบ)

ปัจจุบันซอฟต์แวร์เล่นเพลงบางตัว ยกตัวอย่างเช่น Roon ในคอมพิวเตอร์ หรือ USB Audio Player Pro สามารถสั่งให้สแกนข้อมูล MQA ก่อนได้ เมื่อสแกนแล้วมันก็สามารถทราบได้ว่าไฟล์นั้น ๆ เป็นไฟล์เสียง MQA โดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนของ Header เอาไว้บอกสถานะ

แต่ปัญหาก็คือ ซอฟต์แวร์บางตัว โดยเฉพาะในเครื่องเล่นพกพาเช่น Walkman รุ่น NW-A100 ของโซนี่ยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ มันจึงมองข้ามส่วนที่เป็น MQA Stream ไปเลย แล้วเล่นเฉพาะในส่วนของ PCM Audio ตามปกติ (16bit/44.1kHz)

ทางผู้พัฒนา MQA จึงได้ช่วยแก้ปัญหานี้โดยการทำซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งชื่อ MQA Tag Renaming Application ออกมา เพื่อให้ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ Windows หรือ macOS ที่ต้องการริปไฟล์จากแผ่น MQA-CD ให้ได้ไฟล์เสียง MQA ที่สมบูรณ์แบบ (มี Header แนบมาด้วย) สามารถทำได้เองแล้ว โดยมีวิธีการและลำดับขั้นตอนดังนี้

1. เข้าไปที่ https://www.mqa.co.uk/tag435sdf43te แล้วเลือกดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ MQA Tag Renaming Application ตามระบบปฏิบัติของคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่ แล้วทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ตามปกติ จะได้แอปฯ หรือโปรแกรมที่ชื่อ ‘MQA Tag Restorer’ เพิ่มเข้ามาในคอมพิวเตอร์

2. ทำการริปไฟล์จากแผ่น MQA ด้วยซอฟต์แวร์ริปเพลงคุณภาพดีตามปกติ ไฟล์ที่ริปจาก MQA-CD แนะนำว่าต้องริปเป็นไฟล์ flac เท่านั้น สำหรับคนที่ใช้ dBPoweramp CD Ripper สามารถเลือกริปเป็นไฟล์ uncompressed flac ได้ด้วย (ความหนาแน่นของข้อมูลเทียบ wav แต่ใส่ metadata ได้สมบูรณ์แบบเหมือน flac)

MQA-CD ในขณะริปด้วย dBPoweramp CD Ripper

3. เปิดแอปฯ MQA Tag Restorer แล้วลากไฟล์ flac ทั้งหมดที่ริปมาจากแผ่น MQA-CD มาวางในหน้าต่างของ MQA Tag Restorer ตัวซอฟต์แวร์จะทำการประเมินไฟล์ที่ริปมาโดยอัตโนมัติทีละไฟล์

ไฟล์ใดที่มี MQA Stream ก็จะได้รับการเพิ่มส่วนของ Header เข้าไป ตั้งชื่อไฟล์ให้ใหม่โดยใส่ .mqa เพิ่มเข้าไปด้วย แล้วเซฟไฟล์แยกไว้ใน folder ใหม่ชื่อ MQA

เมื่อเสร็จกระบวนการ เราก็ได้จะได้ไฟล์เสียง MQA มา 2 ส่วน ส่วนแรกคือที่เราริปมาโดยตรงจากแผ่น MQA-CD (ไม่มี Header) และอีกส่วนในโฟลเดอร์ MQA ที่ MQA Tag Restorer สร้างขึ้นมาให้ใหม่เป็นไฟล์เสียง MQA ที่สมบูรณ์แบบ (มี Header)

ไฟล์เสียง MQA ที่สมบูรณ์แบบ (มี Header) ซึ่งสร้างขึ้นใหม่โดย MQA Tag Restorer

เพียงเท่าที่เราก็สามารถริปไฟล์จากแผ่น MQA-CD ให้ได้เป็นไฟล์เสียง MQA ที่มีรูปแบบเหมือนกับไฟล์ที่เราซื้อแบบดาวน์โหลดมาได้แล้วครับ เหนือสิ่งอื่นใด ๆ การริปไฟล์จากแผ่นแนะนำให้ทำไว้ใช้งานส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อการละเมิดสิทธิของเจ้าของงาน ไม่ควรทำซ้ำเพื่อการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่ทำให้เจ้าสิทธิงานนั้น ๆ เสียผลประโยชน์อันพึงมี… อย่าทำ อย่าทำ !

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ