fbpx
KNOWLEDGENEWSRECOMMENDED

ส่องเทรนด์เทคโนโลยีหูฟังไร้สายในปี 2023 มีอะไรน่าสนใจบ้าง ?

หูฟังไร้สายนั้นได้ผ่านช่วงเวลาของพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ในยุคของระบบเสียงสเตอริโอบลูทูธจนถึงความล้ำสมัยในปัจจุบันที่ตั้งแต่ระบบตัดเสียงรบกวนแบบแอ็คทีฟ (ANC), การเชื่อมต่อบลูทูธแบบมัลติพอยต์ และการชาร์จแบบไร้สาย ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีพื้นฐานเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยมา

ในปี 2023 ยังมีเทคโนโลยีอะไรที่จะเข้ามาเติมเต็มนวัตกรรมระบบเสียงไร้สายอีกหรือไม่ ? ในเวลานี้แหล่งข้อมูลของเราจะพาไปส่อง 3 เทรนด์เทคโนโลยีหูฟังไร้สายในปี 2023 มีอะไรน่าสนใจบ้างตามไปดูกัน

Bluetooth LE Audio
ในปี 2020 Bluetooth Special Interest Group (SIG) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาและกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีบลูทูธ ได้ประกาศเปิดตัว ‘LE Audio’ ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการส่งสัญญาณเสียงแบบไร้สายผ่านการเชื่อมต่อด้วยบลูทูธโดยใช้คลื่นสัญญาณวิทยุบลูทูธพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy) แทนคลื่นสัญญาณวิทยุบลูทูธแบบเดิม ๆ ซึ่งต้องใช้พลังงานมาก

สองปีต่อมาในตลาดก็เริ่มมีอุปกรณ์ที่รองรับ LE Audio ทยอยเปิดตัวออกมา ไม่ว่าจะเป็น หูฟังฟูลไซส์ หูฟังเอียร์บัด หรือลำโพง เมื่อจับคู่กับสมาร์ทโฟนที่รองรับ LE Audio อุปกรณ์เหล่านั้นได้เลือกใช้ตัวแปลงสัญญาณบลูทูธ (Bluetooth codec) แบบใหม่ที่เรียกว่า LC3 เป็นตัวแปลงค่าเริ่มต้นแทนตัวแปลง SBC

3 trends that will make wireless audio even better in 2023

Bluetooth SIG เผยว่า LC3 นั้นให้คุณภาพเสียงเทียบเท่ากับตัวแปลงบลูทูธที่เป็นค่าเริ่มต้นแบบเดิม ๆ อย่าง SBC แม้ว่ามีการใช้ข้อมูลเพียงแค่ครึ่งเดียวก็ตาม

เมื่อคำนึงถึงความหน่วงแฝงที่ต่ำกว่า, ความซับซ้อนที่ลดลง และการใช้หน่วยความจำที่น้อยลงของ LC3 ทั้งหมดนี้รวมกันทำให้ตัวอุปกรณ์เสียงไร้สายใช้พลังงานน้อยลงมากเพื่อให้บรรลุสิ่งเดียวกันกับที่เคยทำได้

ตามทฤษฎีแล้ว อายุการใช้งานแบตเตอรี่โดยประมาณในปัจจุบันอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ตัวอย่างเช่น AirPods Pro นั้นสามารถใช้งานได้สูงสุด 12 ชั่วโมงแทนที่จะเป็นแค่ 6 ชั่วโมง

สำหรับเกมเมอร์ เวลาหน่วงแฝงที่ต่ำลงหมายถึงการดีเลย์ที่น้อยลงระหว่างภาพยนหน้าจอและเสียงที่ได้ยินผ่านชุดหูฟังไร้สาย เหมาะมากเป็นพิเศษสำหรับเกมที่ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว

ขณะที่หนึ่งในฟีเจอร์ของ LE Audio ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ‘Auracast’ ซึ่งจะให้เราสามารถถ่ายทอดสตรีมเสียงผ่านบลูทูธไปยังผู้รับหลายคนที่อยู่ในระยะสัญญาณบลูทูธได้พร้อม ๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น การประกาศในสนามบิน การบรรยายที่หอศิลป์หรือในพิพิธภัณฑ์ ระบบแปลภาษาในงานประชุมนานาชาติ ตลอดจนการเผยแพร่ฟีดเสียงจากทีวีในโรงยิมไปยังหูฟังของแต่ละคนที่ออกกำลังกายอยู่

Ultra-wideband (UWB) audio
สิ่งหนึ่งที่ LE Audio ไม่ได้คาดหวังคือคุณภาพเสียงในระดับที่สูงกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะแม้ว่าตัวแปลงสัญญาณ LC3 จะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนข้อมูลที่สามารถใช้งานได้

โดยปกติในการรับฟังประสบการณ์เสียงความละเอียดสูงอย่างแท้จริงนั้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งมากเกินกว่าที่การเชื่อมต่อด้วยบลูทูธจะสามารถรองรับได้อย่างเสถียร นั่นเป็นเหตุผลที่ทุกสายตาจับจ้องไปที่อีกหนึ่งเทคโนโลยีอย่าง อัลตร้าไวด์แบนด์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า UWB

เทคโนโลยี UWB ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งข้อมูลจำนวนมากในระยะทางสั้น ๆ แต่ใช้พลังงานเพียง 10% ของพลังงานที่บลูทูธใช้

3 trends that will make wireless audio even better in 2023
ภาพจาก electronicdesign.com

ระยะทางสั้น ๆ ในที่นี้เรากำลังพูดถึงระยะทางแค่ระหว่างห้อง หรือระยะทางแค่ตรงข้ามที่จอดรถ และนั่นอาจเป็นทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับผู้ที่ต้องการฟังเสียงรายละเอียดสูง (hi-res audio) ด้วยหูฟังแบบไร้สายแทนที่การใช้งานหูฟังเสียบสายแบบเดิม ๆ

ในเวลานี้ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดที่ออกมาเผยเปิดว่ากำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี UWB สำหรับระบบเสียงแบบไร้สาย แต่จากหลาย ๆ เบาะแสในเวลานี้ทำให้เราสามารถประเมินได้ว่าการออกแบบระบบเสียงไร้สายอาจจะกำลังพัฒนารุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดดในไม่ช้านี้

ประการแรก เมื่อนายบ๊อบ สจ๊วต ผู้ก่อตั้ง MQA ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับเทคโนโลยี audio codec หรือตัวแปลงสัญญาณเสียงแบบใหม่ของบริษัทอย่าง ‘MQair’ โดยเขาระบุว่าตัวแปลงสัญญาณแบบใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อที่มีแบนด์วิดธ์สูงขึ้นของ UWB

แหล่งข่าวอย่าง Digital Trends เผยว่าได้สอบถามเรื่องนี้กับบ๊อบ สจ๊วต แล้วและเขาปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติม นั่นหมายความว่าเขารู้อะไรบางอย่างยังไม่พร้อมจะเปิดเผยในเวลานี้

ประการที่สอง Apple นั้นอยู่ในสถานการณ์แปลก ๆ มาระยะหนึ่งแล้ว สังเกตว่า Apple Music เพิ่งได้รับการอัปเกรดด้วยแคตตาล็อกของเพลงความละเอียดสูงแบบ lossless จำนวนมาก แต่หูฟังของ Apple แม้แต่รุ่นเรือธงอย่าง AirPods Max ยังไม่รองรับเพลงเหล่านี้ด้วยประสิทธิภาพเสียงสูงสุดอย่างที่ควรจะเป็น ถึงจะใช้งานแบบเชื่อมต่อด้วยสายหูฟังที่ออกแบบมาด้วยกันก็ตาม แต่ความต้องการดังกล่าวดูเหมือนว่าสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยเทคโนโลยี UWB

ประการที่สาม เทคโนโลยี UWB นั้นมีใช้งานอยู่แล้วในผลิตภัณฑ์หลายรุ่นของ Apple เช่นใน iPhone ทุกรุ่นในปัจจุบัน และ Apple ได้มีการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อควบคุมอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งอย่าง AirTag รวมทั้งยังได้บรรจุเทคโนโลยีนี้เอาไว้ในเคสชาร์จของ AirPods Pro 2 สิ่งเหล่านี้ทำให้ Apple ได้เปรียบเหนือโทรศัพท์มือถือฝั่ง Android บางรุ่นที่ปัจจุบันยังไม่มีการนำ UWB มาใช้งาน (ดูรุ่นที่มี UWB ได้ที่นี่)

อย่างไรก็ดีหูฟังไร้สายรุ่นปัจจุบันของ Apple ยังไม่มีรุ่นใดเลยที่พร้อมใช้งานเทคโนโลยีเสียงแบบ UWB

หูฟังไร้สายและเอียร์บัดไร้สายรุ่นปัจจุบันของ Apple จะไม่ทำงานกับเสียง UWB แต่ก็น่าคิดว่า Apple จะเปิดตัวชิป UWB ใหม่ เช่น ชิป U2 หรือเปล่า ? และใส่มันเข้าไปในหูฟัง AirPods Max รุ่นที่สอง ซึ่งถ้าหากทำเช่นนั้น Apple ก็จะมีหูฟังที่สามารถรองรับการฟังเพลงแบบรายละเอียดสูงโดยเฉพาะจาก Apple Music ได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นผลงานที่ยังไม่มีบริษัทอื่นสามารถทำได้ในเวลานี้หรือในอนาคตอันใกล้

3 trends that will make wireless audio even better in 2023

เครื่องช่วยฟังที่ดีกว่า ถูกกว่า และเพิ่มประสิทธิภาพการได้ยิน
ในที่สุดเมื่อรัฐบาลกลางได้ออกกฎใหม่เกี่ยวกับการขายเครื่องช่วยฟังที่ไม่ต้องสั่งโดยแพทย์ (OTC) ในปี 2022 ผู้ที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์เหล่านี้ก็มีทางเลือกใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มาจากแบรนด์เครื่องเสียงโดยตรงอย่าง Sony และ Bose

อย่าง Sony ได้เปิดตัวชุดเครื่องช่วยฟังขนาดเล็กที่มีราคาเพียงเศษเสี้ยวของราคาปกติที่เราต้องจ่ายสำหรับอุปกรณ์เหล่านี้ และจะตามมาด้วยรุ่นที่รองรับ Bluetooth ซึ่งมันดูเหมือนหูฟังแบบเอียร์บัดทั่วไปมากกว่า

นี่ไม่เพียงแต่จะผลักดันทั้งอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า เนื่องจากผู้บริโภคจะมีตัวเลือกมากขึ้น ช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ และถ้ายิ่งมีผู้สวมใส่มากเท่าใดก็จะยิ่งได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรมที่ดีขึ้นพร้อมราคาที่ถูกลง

ในปี 2023 ผู้ที่มีปัญหาในการติดตามการสนทนาในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายจะมีทางเลือกมากขึ้น และด้วยเทคโนโลยี Bluetooth LE Audio เครื่องช่วยฟังจะเข้ากันได้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงสมาร์ททีวี อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องช่วยฟังได้โดยตรง ทำให้มันมีประโยชน์ในการใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม


ที่มา: digitaltrends

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ