fbpx
REVIEW

รีวิว Clef Audio : Zero One

“คนไทยถ้าตั้งใจทำอะไรก็ไม่แพ้ใครในโลก” ส่วนตัวผมไม่ค่อยเคลิบเคลิ้มกับประโยคทองดังกล่าวสักเท่าไร เพราะอะไรน่ะหรือครับ ก็เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญน่ะสิ จะเป็นคนประเทศไหน ๆ ก็ตามถ้าตั้งใจทำอะไรมันควรจะออกมาดีหรืออย่างน้อยก็ไม่อายใคร จริงไหมครับ และผลงานที่ทำออกมาต่างหากล่ะครับที่จะเป็นตัวพิสูจน์ความตั้งใจว่า ‘ไม่แพ้ใครในโลก’ จริงหรือเปล่า…

ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเมดอินไทยแลนด์รุ่นล่าสุดจากทางยี่ห้อ เคลฟ ออดิโอ ‘Clef Audio’ รุ่น ซีโร่วัน ‘Zero One’ เครื่องนี้

Zero One คืออะไร?
สำหรับท่านที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับระบบเสียงสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายข้อมูล (Network) เมื่อเห็นรูปร่างหน้าตาของเจ้า Zero One ครั้งแรกแล้วอาจจะเกิดคำถามขึ้นมากมายว่ามันจะใช้งานอย่างไร นี่หรือคือเครื่องเล่นเพลง?

ในตัวถังขนาดย่อมที่ทำจากโลหะหลายชิ้นส่วนประกอบกัน มีแผ่นปิดฝาบนและแผงหน้าปัดที่ทำจากอะลูมิเนียมอะโนไดซ์สีเงินเทา มันแทบไม่มีชิ้นส่วนตรงไหนให้มองดูว่าเป็นเครื่องเสียงเลย ไม่มีจอแสดงผล… ไม่มีปุ่มกดใด ๆ… ไม่มีรีโมตคอนโทรลอินฟราเรด… บนแผงหน้าปัดมีเพียงสวิตช์เปิด-ปิดแบบโยกขึ้น-ลงเพียงตัวเดียวอยู่ทางขวามือ

ด้านหน้าไม่มีปุ่มอะไรเลยนอกจากสวิตช์เปิด-ปิดเพียงตัวเดียว ส่วนด้านหลังก็มีเท่าที่เห็น

ครั้นอ้อมไปดูที่ด้านหลังเครื่องก็ดูเหมือนจะยังไม่มีตัวช่วยอยู่ดีเพราะนอกจากขั้วต่อ AC INLET แบบ 3 ขามีระบบสายดินแล้ว เท่าที่เห็นก็มีเพียงพอร์ต Ethernet (RJ45) และพอร์ต USB อีก 4 ช่อง… ไม่มีขั้วต่อ ANALOG RCA หรือ DIGITAL COAXIAL / OPTICAL แบบที่คุ้นเคย…

เอาล่ะสิ บางท่านคงได้แต่เกาหัวแกรก ๆ ก่อนจะพึมพำว่า “แล้วจะใช้งานมันยังไง”

ส่วนตัวผมเรียก Zero One จาก Clef Audio เครื่องนี้ว่าเป็น ‘Transport Network Music Streamer’ หรือจะเรียกแค่ ‘Transport Music Streamer’ ก็ได้ครับ คำว่า ‘Transport’ นั้นหมายถึง มันไม่มีตัวแปลงสัญญาณเสียงดิจิทัลเป็นอะนาล็อก (Digital to Analog Converter, DAC) อยู่ในตัว แต่จะส่งสัญญาณออกไปทางดิจิทัลเอาต์พุตที่เป็นพอร์ต USB

ส่วนคำว่า ‘Network Music Streamer’ หมายความว่า มันเป็นเครื่องเล่นเพลงที่ใช้วิธีดึงกระแสข้อมูลเสียง (streaming) ซึ่งเป็นสัญญาณดิจิทัลผ่านทางระบบ Network มาเล่นผ่านทางพอร์ต Ethernet

เมื่อพิจารณาในเชิงเทคนิคของระบบเสียง Network Audio แล้ว เจ้า Zero One จึงจัดเข้าข่ายเป็น ‘media renderer’ ที่ไม่มี DAC ในตัวนั่นเอง เรียกแบบให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ file transport ที่สตรีมเพลงจาก network แล้วปล่อยเอาต์พุตออกทางพอร์ต USB ไปเข้า USB DAC ภายนอก

จากการค้นข้อมูลผมพบว่าบางครั้งเครื่องเล่นอย่าง Zero One จะถูกเรียกว่าเป็นอุปกรณ์ประเภท ‘Music Player Daemon (MPD)’ ทว่าส่วนตัวผมไม่ชอบชื่อนี้เลย มันดูเข้าใจยากพิลึก เหมือนจะเหมาะกับบรรดาเด็กเนิร์ดหรือโปรแกรมเมอร์ที่ใสแว่นหนา ๆ มากกว่าผู้ใช้กลุ่ม consumer หรือผู้บริโภคทั่วไปนะครับ สำหรับคนที่สนใจศึกษาเรื่อง MPD เชิญที่เวบไซต์นี้ได้เลยครับ https://www.musicpd.org/

เครื่องเสียงที่มีลักษณะการใช้งานแบบเดียวกันนี้ในปัจจุบันจะยังไม่มีตัวเลือกมากมายนัก แต่ในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะเป็นที่นิยมเหมือนกันครับ ที่เห็นมีขายแล้วในแวดวงไฮไฟก็อย่างเช่นยี่ห้อ Auralic รุ่น Aries เป็นต้น หรืออย่างยี่ห้อ Moon รุ่น 180 MiND ซึ่งมีลักษณะในการใช้งานใกล้เคียงกัน เพียงแต่ไม่มีเอาต์พุตเป็นพอร์ต USB เหมือนอย่างใน Zero One และ Aries

ซึ่งตรงนี้ถือว่าค่อนข้างเสียเปรียบครับ เพราะพอร์ต USB เป็นอะไรที่ค่อนข้างเปิดกว้างมากกว่าสำหรับสัญญาณเสียงรายละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio

ใช้งานอย่างไร?
ผมมองว่าคนที่จะสนใจ Zero One นั้นมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่อยากลองเล่นเพลงจากไฟล์เสียงคุณภาพสูง แต่ไม่อยากจะไปข้องแวะกับคอมพิวเตอร์จะด้วยไม่ถนัดหรือไม่ไว้ใจในคุณภาพก็แล้วแต่ เรียกว่าอยากเล่นไฟล์แต่ไม่อยากยุ่งกับคอมพิวเตอร์โดยตรง เจ้า Zero One ก็จะทำหน้าที่แทนคอมพิวเตอร์ได้ในกรณีต่อใช้งานร่วมกับ USB DAC

อีกกลุ่มหนึ่งน่าจะเป็นคนที่มี USB DAC คุณภาพดีให้เสียงเป็นที่น่าพอใจใช้งานอยู่แล้ว และเกิดสนใจอยากจะลองเล่นระบบเสียงที่เชื่อมต่อถึงกันหรือควบคุมสั่งงานผ่านระบบ network ได้ด้วย แทนที่จะต้องไปซื้อ Network Streamer/Player เครื่องใหม่ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าเสียงจะเป็นอย่างไร ก็แค่เพิ่ม Zero One เข้าไปต่อใช้งานกับ USB DAC ที่มีอยู่ เท่านี้ก็บิงโก!

และไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ในการใช้งาน Zero One คุณจำเป็นต้องมีระบบ network ในบ้าน จะเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตหรือเป็นแค่ network อยู่ในวงจำกัดก็ได้ครับ แต่ควรจะมีระบบไร้สาย Wi-Fi รวมอยู่ด้วย ซึ่งผมคิดว่าในปัจจุบันเงื่อนไขเหล่านี้คงจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นแล้วกระมังครับ หากติดขัดหรือไม่สะดวกกันจริง ๆ ทางเคลฟออดิโอก็น่าจะช่วยเป็นธุระในส่วนนี้ได้โดยไม่เหลือบ่ากว่าแรง

ลองจับคู่ใช้งานกับชุดเครื่องเสียงไฮไฟสเตริโอตามปกติใน ในภาพลองฟังกับ
Micromega MyDAC (เครื่องสีขาวตัวเล็ก ๆ ในชั้นกลางของชั้นวาง) และ
Audiolab 8300CD (เครื่องสีดำขนาดใหญ่ทางด้านหน้า)

สำหรับการเชื่อมต่อใช้งาน Zero One ที่แน่ ๆ ก็คือพอร์ต Ethernet นี่แหละครับเชื่อมต่อโดยตรงพอร์ต Ethernet ของ Wi-Fi Router ถ้าหากจำเป็นต้องใช้สายยาว ๆ เกิน 10 เมตรขึ้นไป แนะนำให้เลือกใช้งานสาย LAN มาตรฐาน Cat 6 เป็นอย่างน้อยครับ สำหรับ Wi-Fi Router ถ้าเลือกได้แนะนำให้ใช้แบบที่มีพอร์ต Ethernet เป็น Gigabit LAN

เรียนย้ำอีกครั้งว่า Zero One ไม่มี DAC ในตัว แต่มีพอร์ต USB สำหรับส่งสัญญาณไปถอดรหัสที่ USB DAC ภายนอกได้ ดังนั้นพอร์ต USB ใดพอร์ตหนึ่งที่ด้านหลัง Zero One จึงจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับ USB DAC หรืออินพุต USB ในโหมด USB Digital Input ของปรีแอมป์ อินทิเกรตแอมป์หรือลำโพงแอคทีฟ (ซึ่งภายในจะมี USB DAC บิลต์อินมาในตัว)

สำหรับไฟล์เพลงที่จะมาเล่นหรือเปิดฟังกับ Zero One และอุปกรณ์ข้างเคียงดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยพื้นฐานคุณมีทางเลือก 2 วิธี วิธีแรกคือ การเก็บไฟล์เพลงไว้ใน USB Storage ใด ๆ (flash drive, external hdd / SSD) แล้วนำมาเสียบเข้าที่พอร์ต USB ที่เหลือด้านหลังเครื่อง Zero One จากนั้นคอยเรียกมาเปิดฟังได้โดยตรง (วิธีการจะกล่าวถึงต่อไป)

อีกวิธีคือ การเก็บไฟล์เพลงไว้ในอุปกรณ์ประเภท NAS (Network Attach Storage) แล้วติดตั้งซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่น (แอพฯ) ให้มันทำงานเป็น UPnP Media Server ถ้าคุณมีของยี่ห้อ QNAP หรือ Synology ผมแนะนำแอพฯ ชื่อ Minimserver ครับ (แอพฯ ฟรี) สำหรับผู้ใช้งานที่มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสักหน่อย คุณอาจจะใช้คอมพิวเตอร์ Windows หรือ Mac ติดตั้งแอพฯ Minimserver แล้วตั้งค่าให้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็น UPnP Media Server ได้เช่นกัน

อย่าลืมว่าอุปกรณ์ทั้งหมดที่ว่ามาต้องเชื่อมต่ออยู่ในระบบ network เดียวกันด้วยนะครับ ตัวเครื่องเล่นเพลงพร้อมแล้ว เพลงพร้อมแล้ว ทีนี้จะควบคุมสั่งงานกันอย่างไร ในเมื่อตัวเครื่่องไม่มีจอแสดงผลอะไรเลย ปุ่มกดสั่งงานก็ไม่มี รีโมทคอนโทรก็ไม่ได้ให้มา?… คืออย่างนี้ครับ Zero One นี่เป็นเครื่องเล่นเพลงสมัยใหม่โดยแท้ครับ การควบคุมสั่งงานรวมถึงการแสดงผลทั้งหมดเขาออกแบบให้มันย้ายไปอยู่ที่แอพฯ ในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตหมดแล้วครับ

ซึ่งรายละเอียดในส่วนของแอพฯ และการตั้งค่าทางผู้ผลิตเขาได้แนะนำเอาไว้ในคู่มือใช้งานของเครื่องบ้างแล้ว มีให้เลือกใช้ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ Android และ iOS แต่น่าเสียดายว่าทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ผู้ใช้งานบางส่วนอาจจะเข้าใจเรื่องที่เข้าใจไม่ง่ายนักยากขึ้นไปอีก อยากให้เวอร์ชั่นต่อ ๆ ไปมีการแนะนำแอพฯ ที่อัพเดตกว่านี้และมีส่วนที่เป็นภาษาไทยด้วยก็ดีนะครับ

รายละเอียดทางเทคนิค และข้อจำกัด
Zero One เป็นเครื่องเสียงที่ทำงานบนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (LINUX OS) ฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่ภายในเครื่องนอกจากส่วนที่เป็นภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ ใช้หม้อแปลงเทอร์รอยด์อย่างดีแล้ว ก็เป็นระบบคอมพิวเตอร์ขนาดย่อมที่ถูกประยุกต์มาใช้ออกแบบเป็นเครื่องเสียงไฮไฟ

ประกอบไปด้วยชิพประมวลผล 900MHz ARM Cortex-A7 Quad Core Processor, หน่วยความจำ RAM (LPDDR2 SDRAM) ขนาด 1 GB, พอร์ต Ethernet 10/100 (RJ45), พอร์ต USB จำนวน 4 ช่อง, บริโภคกำลังไฟฟ้า 800 mA (ไม่ได้แจ้งชัดเจนว่าที่ idle หรือ Max) และมี ROM ในตัวสำหรับเก็บข้อมูลระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์พื้นฐานของเครื่องเท่านั้น ไม่ได้ถูกออกแบบให้เก็บไฟล์เพลง และไม่มีฮาร์ดดิสก์หรือ media storage ใด ๆ ในตัวเครื่องครับ

มีให้ต่อใช้งานเพียงเท่านี้ไม่ซับซ้อนแต่ใช้งานได้ดีจริง

สำหรับรายละเอียดของการปรับแต่งอื่น ๆ ทางผู้ผลิตได้แจ้งให้ผมทราบบ้างแล้วบางส่วนแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากทางผู้ออกแบบได้ขอเอาไว้ เพราะถือว่า top secret สูตรลับเฉพาะของเขาซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการปรับจูนน้ำเสียงด้วย

ลำพังถ้าหากมีใครสักคนมาบอกอย่างนี้ผมคงเลือกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่สำหรับ Zero One ผมเองมีโอกาสได้เห็นมันตั้งแต่เป็นเครื่องต้นแบบเวอร์ชั่นแรก ๆ หลายเวอร์ชั่นอยู่ครับ กว่าจะออกมาเป็น Zero One ตัวที่วางขายจริงจังได้อย่างนี้ ได้ทราบว่าความเปลี่ยนแปลงในแต่ละเวอร์ชั่นเกิดขึ้นกับทั้งการปรับแต่งทางเทคนิค และการปรับแต่งเรื่องของน้ำเสียงซึ่งเขาทำกันอย่างจริงจังพอสมควร

Zero One รองรับการเล่นไฟล์เพลงในฟอร์แมตยอดนิยมต่าง ๆ ตั้งแต่ FLAC, WAVE, AIFF, MP3, AAC, ALAC และ DSD (DoP) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะกับเครื่องเสียงไฮไฟที่ราคาแค่หมื่นกว่าบาทเช่นนี้ อย่างไรก็ดีอย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นว่ามันต้องทำงานร่วมกับ USB DAC อื่น ๆ เฉพาะฉะนั้นแล้วความสามารถของ USB DAC ที่จะมาใช้งานร่วมกับ Zero One ก็มีส่วนในการกำหนดว่าคุณจะเล่นไฟล์เพลงฟอร์แมตใดได้บ้าง และรองรับไปถึง resolution ในระดับใด

อีกเรื่องที่คุณควรทราบไว้คือ ด้วยความที่ Zero One ทำงานบนระบบปฏิบัติการ LINUX OS ดังนั้นมันจึงไม่รองรับไดรเวอร์ของ USB DAC บางรุ่น ทำให้มันใช้งานด้วยกันไม่ได้ ตรงนี้คุณสามารถตรวจสอบได้จากผู้ผลิต USB DAC ที่คุณใช้งานอยู่ว่ามันรองรับการต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์ LINUX หรือไม่

เท่าที่ผมได้ลองแล้วก็พบว่า Fostex HP-A4, Chord Qute HD, Chord Qute EX และ Audioquest DragonFly (ทุกรุ่น) ไม่สามารถใช้งานกับ Zero One ได้ คือเมื่อเสียบใช้งานงานแล้ว Zero One จะมองไม่เห็นตัว USB DAC เลย สำหรับ USB DAC หรือ USB INPUT

ที่ผมลองแล้ว “ไม่มีปัญหา” คือ iFi microiDSD, ลำโพง Micromega MySpeaker BT, เครื่องเล่น Marantz SA-14S1, Audiolab 8300CD, Micromega MyDAC และ Meridian Explorer 2 สำหรับท้ายสุดนี้พบว่า Zero One สามารถสตรีมไฟล์ MQA ไปออกที่ Explorer 2 ได้อย่างราบรื่นด้วยครับ แต่ผมยังไม่สามารถหาวิธีควบคุมอะนาล็อกวอลุ่มในตัว Explorer 2 ได้เมื่อต่อใช้งานกับ Zero One ส่วนตรงนี้คงต้องฝากทางให้ผู้ผลิตนำไปปรับแก้ต่อไป

การทดลองใช้งานและคุณภาพเสียง
หลังจากผ่านพ้นช่วงแห่งความสับสนในการใช้งานส่วนที่เกี่ยวกับตัวแอพฯ คอนโทรล ผมได้ข้อสรุปว่า Zero One เป็นเครื่องเสียงที่เรียกได้ว่าถูกปรับตั้งค่าต่าง ๆ มาแบบให้พร้อมใช้งาน การตั้งค่าเพิ่มเติมอาจจะเข้าไปทำเพิ่มได้ทางเวบบราวเซอร์ของคอมพิวเตอร์โดยเข้าไปตั้งค่าได้ที่ zeroone.local/

ซึ่งผมพบว่าจะมีก็แค่ช่วงแรก ๆ ที่อาจจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการตั้งค่าเบื้องต้น เช่น การเลือก output ว่าจะให้ใช้งาน USB DAC ตัวไหน หรือตั้งค่าของโหมดวอลุ่มคอนโทรล หลังจากนั้นก็ใช้งานได้ตามปกติ ไม่มีอะไรยุ่งยากวุ่นวาย แค่เปิดสวิตช์ของเครื่องแล้วรอราว ๆ ครึ่งนาที เมื่อดวงไฟสีแดงที่หน้าเครื่องเปลี่ยนเป็นสีฟ้า หมายความว่าเครื่องพร้อมใช้งานแล้ว

ในด้านของการควบคุมสั่งงาน ผมพบว่าแอพฯ ที่ในคู่มือแนะนำเอาไว้ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก แถมยังทำให้ผมมีปัญหากับการใช้งานในช่วงแรก ๆ ด้วยครับ ผมว่ามันใช้งานยากและซับซ้อนไปหน่อย

ถ้าคุณใช้อุปกรณ์ iOS แอพฯ ในกลุ่ม UPnP Controller อย่าง ‘PlugPlayer’ หรือ ‘8player’ ทำหน้าที่ได้ดีสมควร แค่เลือก Zero One เป็น renderer เลือกเพลงจาก server ก็เล่นได้แล้วครับ แต่ถ้าคุณสามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่เป็น Android กับ Zero One ได้ ผมก็ขอแสดงความยินดีไว้ล่วงหน้าตรงนี้เลยครับ เพราะเมื่อติดตั้งแอพฯ ‘Bubble UPnP’ มันคือตัวเลือกที่ ‘ดีที่สุด’ ในการใช้งานร่วมกับ Zero One แล้วล่ะครับ…

ผมได้ลองกับทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแอนดรอยด์แทบทุกระดับราคา การใช้งานราบรื่นและเสถียรดีที่สุดแล้วครับ ด้านฟังก์ชั่นก็ไร้ที่ติ สามารถสตรีมเพลงจาก TIDAL ได้อีกต่างหาก มี UI ที่สวยงามและทำงานได้ฉับไว มันใช้งานได้ดีชนิดที่ว่าไม่ต้องเสียเวลาไปลองตัวอื่นเลยครับ ยิ่งเมื่อพ่วงกับแอพฯ อีกตัวที่มีชื่อว่า ‘Musixmatch’ มันก็ทำให้เจ้า Zero One กลายเป็น ‘เสือติดปีก’ เลยล่ะครับทีนี้

ใช้งานร่วมกับ iFi microiDSD เล่นได้ตั้งแต่ไฟล์ 16bit/44.1 ไปจนถึง DSD256 ในโหมด (DOP)

ในชุดเครื่องเสียงสำหรับใช้งานแบบตั้งโต๊ะและใช้งานกับหูฟัง (Shure SRH-940) ผมพบว่า USB DAC ที่มีความสามารถสวนทางกับขนาดตัวเครื่องอย่าง iFi microiDSD เข้าขากับ Zero One ได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย เช่นเดียวกับลำโพงแอคทีฟ Micromega MySPEAKER BT ที่รับสัญญาณจาก Zero One เข้าไปทางอินพุต USB ด้านหลังลำโพง ซึ่งทั้งสองรูปแบบการใช้งานให้คุณภาพเสียงที่ดีเป็นที่น่าพึงพอใจเกินค่าตัวของ Zero One ไปไกลเลยครับ แต่เนื่องจาก micro iDSD นั้นสามารถรองรับไฟล์ hi-res audio ได้กว้างกว่ามาก

เมื่อลองเล่นกับ Zero One มันจึงพาให้เครื่องเสียงเมดอินไทยแลนด์ตัวนี้เล่นไฟล์ไปได้ไกลถึงฟอร์แมต DSD256 ซึ่งมี sample rate สูงกว่าซีดีถึง 256 เท่า! สูงกว่าเอสเอซีดี 4 เท่า (Quad-DSD) … และที่จริง micro iDSD นั้นไปได้ถึง DSD512 (Octa-DSD) แต่ผมเองหาไฟล์ระดับนี้มาลองไม่ได้แล้ว ในแง่มุมเรื่องของน้ำเสียง ผมว่าทรานสปอร์ตอย่าง Zero One มีผลทำให้เสียงจาก USB DAC และซิสเตมเครื่องเสียงที่ผมคุ้นเคยมีความ ‘น่าฟัง’ กว่าตอนที่เล่นจากคอมพิวเตอร์ทั่ว ๆ ไป พอสมควรเลยล่ะครับ

ยิ่งถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ในระดับเดียวกันกับ Zero One พูดได้เลยว่า ยากจะให้คุณภาพเสียงดีกว่านี้ คุณภาพเสียงในที่นี้ผมเมื่อใช้อธิบายคำว่า ‘น่าฟัง’ ที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น มันคือลักษณะของเสียงที่มีความนิ่ง มั่นคง และผ่อนคลายในเวลาเดียวกัน จังหวะของดนตรีดำเนินไปอย่างแช่มช้า แต่ไม่เชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไปตามกระแสธารของดนตรีนั้น ๆ

ลองใช้ Samsung Galaxy View แท็บเล็ตจอยักษ์เป็นรีโมตคอนโทรล
ผ่านแอพฯ Bubble UPnP ภาพปกอัลบั้มมันชัดเจนเต็มตาดีเหลือเกิน

การจับคู่ Zero One กับ DAC นั้นมีส่วนอย่างมาก ถ้ามันเป็นอะไรที่ลงตัวกันแล้วอย่างเช่นกับ DAC ของ iFi หรือ DAC อื่น ๆ ตามที่ได้กล่าวอ้างถึงในรีวิวนี้ คุณลักษณะอีกประการหนึ่งก็จะโดดเด่นออกมามันที นั่นคือ การจำลองรูปวงของเสียงที่กว้างขวาง ซึ่งมาพร้อมกับเนื้อเสียงสะอาด โปร่งเบา แต่ไม่เบาบางหรือกลวงใน

หางเสียงโดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่มีความถี่สูง ๆ นั้นมีลักษณะหวานหูน่าฟังเลยทีเดียว มันทำให้เสียงที่ลอยมากระทบโสตประสาทเป็นอะไรที่ฟังแล้วตกหลุมรักได้ง่ายมาก ถ้าจะหาคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ได้ดีอย่างนี้ ผมว่านอกจากต้องจ่ายแพงกว่าแล้วยังอาจจะวุ่นวายกับซอฟต์แวร์และการปรับแต่งอีกพอสมควรเลยล่ะครับ

ตลอดการฟังเพื่อการรีวิว Zero One ผมสังเกตว่าอัลบั้มซีดีหลายชุดที่ผมไม่ได้ฟังนานแล้ว ถูกเลือกมาใส่ playlist มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอัลบั้มเพลงไทยทั้งหลาย ส่วนไฟล์ PCM hi-res นั้นถูกเลือกมาบ้างประปราย กระทั่งชั่วขณะหนึ่งของการฟัง ผมก็เริ่มสังเกตว่า… เอ๊ะ ทำไม playlist ล่าสุดมันไพเราะโดนใจเป็นพิเศษ… เอ๊ะ ใน playlist เป็นไฟล์ DSD มากกว่าครึ่งหนึ่งเลยนี่หน่า หรือเครื่องเสียงที่ผมฟังอยู่นี้เขาจูนเสียงมาให้เข้ากับฟอร์แมต DSD เป็นพิเศษ

ผมมิอาจทราบได้ว่านี่คือความตั้งใจหรือความบังเอิญ แต่ที่แน่ ๆ กดปุ่ม play แล้วลงไปดิ้นตายเพราะเบาหวานตรงนั้นได้เลยครับ… โอยเสียงจะหวานอะไรเบอร์นี้ #หวาน #น้ำตาลเรียกพี่

“THE MUSIC BOX!”
ด้วยความที่เป็นคนตามติดการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลออดิโอมาโดยตลอด ผมว่าการที่ดิจิทัลสมัยใหม่คุณภาพดีขึ้นแต่มีราคาสวนทางกันนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว แต่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับ Clef Audio Zero One ก็คือ มันเป็นผลงานของกลุ่มคนไทยที่แสดงให้เห็นแล้วว่า… ถ้าตั้งใจทำอะไรก็ไม่แพ้ใครในโลก ขอแสดงความชื่นชมและคารวะไว้ ณ ที่นี้ครับ

คนที่เคยปรามาสระบบเสียงดิจิทัลแยกชิ้นราคาย่อมเยา ว่ามันช่างแห้งแล้งไม่น่าฟัง ผมว่าต้องหาโอกาสลองเจ้า Zero One ให้จงได้ครับ แล้วคุณจะพบว่า การได้ฟังเสียงของซิสเตมที่ใช้ Zero One เป็น source… เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะปฏิเสธมัน

บทสรุป ณ ที่นี้ก็คือ Clef Audio Zero One เป็น ‘ทรานสปอร์ตเน็ตเวิร์คมิวสิกสตรีมเมอร์’ ที่คุ้มเงินที่สุดในเวลานี้ ถ้าคุณรู้สึกว่าชื่อของมันยาวเกินไป เรียกมันว่า ‘กล่องดนตรี’ หรือ ‘THE MUSIC BOX’ อย่างที่ผมเรียกมันก็ได้ครับ ความหมายมันไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไรหรอกครับ


ผลิตและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เคลฟ ออดิโอ จำกัด
โทร. 0-2932-5981
ราคา : 15,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ