fbpx
REVIEW

รีวิว EC Living by Electrocompaniet : S-1

ช่วงแรกทั้งวงการเครื่องเสียงจะงง ๆ อยู่หน่อยว่า พอเครื่องเล่นซีดี (cd player) หมดไปจากโลก พวกเขาจะเล่นจะฟังเพลงยังไงกันต่อไป.? ผ่านมาอีกสอง-สามปี พอคอมพิวเตอร์-ออดิโอ (computer audio) โผล่มา นักเล่น-นักฟังเพลงบางส่วนก็เริ่มมองเห็นแสงเลา ๆ ที่ปลายอุโมงค์แล้ว ในขณะที่ส่วนใหญ่ก็ยังคงหลงวนอยู่ในความมืดต่อไป..

ต่อมา หลังจากคนกลุ่มหนึ่งเริ่มหันไปเล่นไฟล์เพลงผ่านโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ร่วมกับ external USB-DAC และได้สัมผัสกับความงดงามของมาตรฐานเสียงระดับ High-Res Audio สักพัก อุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงอีกประเภทก็ก้าวเข้ามา.. มันคือ “มิวสิค สตรีมเมอร์”

Music Streamer… generation !

ยุคที่เล่นเพลงจากแผ่นซีดีด้วยเครื่องเล่นแผ่นซีดี (ด้านบนในภาพ) จะเป็นลักษณะของการเล่นแบบ “หนึ่ง-ต่อ-หนึ่ง” คือเครื่องเล่นหนึ่งตัวใช้ในหนึ่งซิสเต็ม/แผ่นเพลงหนึ่งแผ่นถูกใช้ในหนึ่งซิสเต็ม ถ้าต้องการย้ายเพลงไปเล่นกับซิสเต็มอื่นก็ต้องหยิบแผ่นออกไปเปิดกับเครื่องเล่นซีดีในอีกซิสเต็ม

ส่วนการ “Streaming” (ด้านล่างในภาพ) หมายถึงการเล่นแบบที่สามารถแชร์คอนเท็นต์ (เพลง) ไหลเวียนไปในซิสเต็มต่าง ๆ ได้ เหมือนสายน้ำที่สามารถไหลไปได้ทั่ว โดยอาศัยระบบ Wi-Fi network เป็นตัวเชื่อมโยงคอนเท็นต์ (เพลง) ไปในซิสเต็มต่าง ๆ เป็นระบบเพลย์แบ็คที่อาศัยการสั่งงานผ่านแอพลิเคชั่นที่โยงเข้าไปใน Wi-Fi network ด้วยระบบไร้สาย (wireless Wi-Fi network) โดยไม่ต้องเดินไปยกหัวเข็ม ไม่ต้องเดินไปเปลี่ยนแผ่นซีดี

ช่วงแรก 3-4 ปีที่ผ่านมา นักเล่นเครื่องเสียงกลุ่ม Computer Hi-Fi ใช้คอมพิวเตอร์+โปรแกรมเล่นไฟล์เพลงเป็นชุดเพลย์แบ็คในการเล่นไฟล์เพลงกับ USB-DAC ร่วมกับแอมปลิฟายและลำโพงในซิสเต็มเดิม ในขณะนั้น ระบบ Network Audio ยังคงอยู่ในระยะตั้งไข่ มาตรฐานกำลังถูกปรับปรุงทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ปัจจุบันนี้ ระบบการเล่นไฟล์เพลงด้วย Network ได้เดินทางมาถึงจุดลงตัวหมดแล้ว ทั้งในแง่ของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์

ซึ่งแน่นอนว่า Network Audio จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมในการฟังเพลงไปจากเดิม และแน่นอนว่า จำนวนของอุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงที่อาศัยระบบเน็ทเวิร์คจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีให้เลือกซื้อหลายระดับราคา และหลายรูปแบบการใช้งาน นับจากนี้เป็นต้นไป

EC Living by Electrocompaniet
Electrocompaniet เป็นแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงจากประเทศนอรเวย์ที่ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1973 โดยกลุ่มวิศวกรเครื่องเสียงที่มีประสบการณ์มายาวนานตั้งแต่ก่อนปี 1973 ไปอีก แอปลิฟายที่ออกแบบและผลิตโดยแบรนด์ Electrocompaniet นี้มีชื่อเสียงอย่างมากในแง่ของภาคขยายที่ให้ความเพี้ยน TIM หรือ Transient Intermodulation ที่ต่ำมาก ๆ ซึ่งพวกเขาค้นพบว่า

ความเพี้ยน TIM ที่ว่านี้มีผลเสียต่อคุณภาพความเป็นดนตรีของอุปกรณ์เสียง พวกเขาจึงหาวิธีการออกแบบที่พยายามควบคุมความเพี้ยน TIM มาโดยตลอด นั่นทำให้แอมปลิฟายของ Electrocompaniet มีชื่อเสียงมากในแง่ของเสียงที่สะอาด บริสุทธิ์ และให้ความเป็นดนตรีสูง

A : ขั้วต่อสำหรับเสียบอะแด๊ปเตอร์ไฟเลี้ยง
B : ขั้วต่อสาย LAN (RJ45)
C : ขั้วต่อสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์ (S/PDIF out)
D : ขั้วต่อสัญญาณดิจิตัล เอ๊าต์ (S/PDIF in)
E : ช่องสัญญาณดิจิตัลอินพุต Optical
F : ช่อง USB สำหรับ external HDD ที่ใช้เก็บไฟล์เพลง
G : ช่องสัญญาณอะนาลอกเอาต์

เมื่อโลกออดิโอย่างก้าวเข้าสู่ยุคของ Network Audio บริษัทเก่าแก่อย่าง Electrocompaniet ก็ไม่ได้มองข้ามเทรนด์ของโลก พวกเขาซุ่มพัฒนาระบบเสียงที่เพลย์แบ็คบนระบบเน็ทเวิร์คออกมาจนสำเร็จ และได้แยกเซ็คเม้นต์ของสินค้ากลุ่มนี้ออกมาตั้งชื่อใหม่ว่า “EC Living” เพื่อป้องกันความสับสนของลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันนี้ Electrocompaniet ในนามของ EC Living มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเน็ทเวิร์ค ออดิโอออกมาให้บริการอยู่ 4 รุ่น คือ RENA S-1, RENA SA-1, TANA L-1 และ TANA SL-1

ซึ่งโปรดักดิ์ทั้ง 4 รุ่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานบนระบบเน็ทเวิร์คทั้งหมด สามารถใช้งานได้ทั้งแบบแยกเดี่ยวแต่ละชิ้น หรือนำมาพ่วงกับระบบเน็ทเวิร์คเดียวกันเพื่อใช้งานในฟังท์ชั่น multi-zone/multi-room ก็ได้ โดยที่ RENA S-1 (Wireless Audio Streamer) = เป็นสตรีมเมอร์ หรือเพลย์เยอร์ที่ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลงบนเน็ทเวิร์ค / ไม่มีแอมป์ในตัว RENA SA-1 (Wireless Audio Streamer & Amplifier) = เป็นสตรีมเมอร์ + แอมปลิฟายในตัวขนาด 80W/ch แค่เพิ่มลำโพงเข้าไปหนึ่งคู่ ก็สามารถเล่นไฟล์เพลงได้เลย

TANA SL-1

TANA SL-1 (Speaker & Streamer) = เป็น All-in-One คือเป็นลำโพงวางหิ้งชนาดย่อมที่มีทั้งสตรีมเมอร์ที่ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลง+แอมปลิฟายในตัวเหมือน RENA SA-1 และสามารถเพิ่มลำโพง (Add-On) ได้ด้วย TANA L-1 (Add-On Speaker) = เป็นลำโพงแอ๊คทีฟแบบไร้สายที่นำมาเพิ่มเติมเข้ากับรุ่น TANA SL-1 เพื่อเล่นเป็นระบบเสียงสเตริโอ หรือเพิ่มโซน

TANA L-1

จริง ๆ แล้ว ทางผู้นำเข้าได้จัดส่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 รุ่นข้างต้นมาให้ผมทดลองใช้งานและลองฟังเสียงดูแล้ว ซึ่งแม้ว่าทั้งสี่รุ่นจะใช้ซอฟท์แวร์สตรีมเมอร์ตัวเดียวกัน คือสามารถใช้แอพฯ ตัวเดียวกันควบคุมการเล่นไฟล์เพลงและควบคุมการปรับตั้งฟังท์ชั่นต่าง ๆ ของอุปกรณ์ทั้ง 4 รุ่นนี้ได้หมด แต่ว่าในการใช้งานจริงนั้นก็อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต่างกันในแต่ละรุ่น เพื่อให้ภาพที่ชัดเจนมากที่สุด ในครั้งนี้ผมจะรีวิวโดยเจาะจงไปที่ตัว RENA S-1 ซึ่งเป็น wireless music streamer ก่อน

ใช้งาน RENA S-1 เป็นตัว Audio Streamer สำหรับขับหูฟัง
ภาค Analog Output ที่ส่งออกทางช่อง mini 3.5mm ของ RENA S-1 สามารถขับหูฟังได้ ผมได้ทดลองใช้หูฟังฟูลไซร้ 2 ตัวที่มีอยู่เสียบฟังดูแล้ว มันสามารถขับหูฟังทั้งสองตัวออกมาได้ดีทีเดียว..

ลองใช้ Sennheiser รุ่น HD650 ซึ่งมีอิมพีแดนซ์เท่ากับ 300 โอห์ม
ลองใช้ AKG รุ่น K702/65th ซึ่งมีอิมพีแดนซ์เท่ากับ 62 โอห์ม

ใช้งาน RENA S-1 เป็นตัว Audio Streamer
คำว่า “audio streamer” บ่งบอกความหมายว่า RENA S-1 จะทำหน้าที่ดึงไฟล์เพลงจากเซิร์ฟเวอร์ (ที่เก็บไฟล์เพลง) บนระบบเน็ทเวิร์คมาทำการ render (ถอดฟอร์แม็ต) ไฟล์ฟอร์แม็ตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น WAV, FLAC หรือ DSF ให้ออกมาเป็นสัญญาณ PCM หรือ DSD แล้วส่งออกไป 2 ทาง

ทางแรกคือส่งให้ภาค DAC ในตัวมันเองทำการแปลงเป็นสัญญาณ analog แล้วส่งสัญญาณอะนาลอกออกทางช่อง analog out หรือ LINE output ส่วนอีกทางคือส่งเป็นสัญญาณดิจิตัลออกทางช่อง digital output ผ่านขั้วต่อ S/PDIF output

ต่อสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตเข้าอินติเกรตแอมป์ Clef Audio รุ่น Soloist-50
ใช้ iPad ควบคุมการเล่นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ใน NAS (ตัวซ้ายมือชั้นล่างสุด)

เนื่องจาก RENA S-1 ถูกออกแบบมาให้เป็น “ทางเลือก” สำหรับคนที่มีชุดเครื่องเสียงอยู่แล้วและต้องการเพิ่มเติมความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงผ่านระบบเน็ทเวิร์คและระบบไร้สายเข้ามาในชุดเครื่องเสียงเดิม ผู้ผลิตจึงไม่ใส่ภาคเพาเวอร์แอมป์มาให้ แต่มีสัญญาณ analog output มาให้ผู้ใช้นำไปต่อเชื่อมกับช่องอะนาลอก อินพุตของอินติเกรตแอมป์ หรือปรีแอมป์ในซิสเต็มเดิมที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเป็นการใช้งานตัว RENA S-1 ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์ประเภท DAC อยู่ในซิสเต็ม

แต่ถ้าในซิสเต็มมีอุปกรณ์ประเภท DAC ที่มีคุณภาพสูงกว่าภาค DAC ในตัว RENA S-1 อยู่แล้วแต่ยังไม่มีตัว streamer ก็สามารถใช้ตัว RENA S-1 ทำหน้าที่เป็นสตรีมเมอร์ให้ แล้วต่อเชื่อมสัญญาณ digital out จากตัว RENA S-1 ออกทางช่อง S/PDIF output ไปผ่านกระบวนการแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะนาลอกด้วยอุปกรณ์ DAC ที่มีอยู่เดิมก็ได้

ใช้งาน RENA S-1 เป็นตัว Audio Streamer + Pre-amp
นอกจากนั้น คุณยังสามารถใช้งาน RENA S-1 ได้อีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากสัญญาณ analog output (หรือ LINE output) ของ RENA S-1 สามารถควบคุมระดับความดังได้ พูดง่าย ๆ คือบนแอพฯ EC Remote ที่ใช้ควบคุมการทำงานของตัว RENA S-1 มีวอลลุ่มที่ควบคุม gain ของสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตอยู่ด้วย ดังนั้น คุณจึงสามารถต่อเชื่อมสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ RENA S-1 เข้ากับเพาเวอร์แอมป์ได้โดยตรง แล้วอาศัยวอลลุ่มบนตัวแอพฯ ควบคุมระดับความดังได้

ใช้สายอะแด๊ปเตอร์ mini 3.5mm > RCA x 2 ต่อเอ๊าต์พุตจาก RENA S-1 ไปเข้าที่อินพุตปรีแอมป์ Feliks-Audio รุ่น Euforia
ใช้สาย RCA>RCA ต่อสัญญาณเอ๊าต์พุตจากช่องปรี-เอ๊าต์ฯ ของ Euforia ไปเข้าที่ช่องอินพุตของเพาเวอร์แอมป์ Audiolab รุ่น M-PWR (ตัวสีขาว-ชั้นที่สอง)

คุณสามารถพูดได้ว่า RENA S-1 มีคุณสมบัติของความเป็น “ปรีแอมป์” อยู่ในตัว หรือพูดให้ถูกเผงก็คือ มันมีคุณสมบัติของความเป็น digital pre-amp อยู่ในตัว เหตุผลก็เพราะว่านอกจากจะมีวอลลุ่มที่ใช้ควบคุมเกนของสัญญาณอะนาลอกเอ๊าต์พุตแล้ว RENA S-1 ยังมีช่อง digital input มาให้ถึง 2 ช่อง ติดขั้วต่อ S/PDIF (coaxial) และ Optical อย่างละช่อง

ทำให้คุณสามารถส่งสัญญาณดิจิตัล (PCM) เข้ามาให้ภาค DAC ในตัวของ RENA S-1 ทำการแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอกแล้วส่งออกทางช่องอะนาลอก เอ๊าต์พุตได้อย่างที่ปรีแอมป์ทั่วไปทำ เพียงแต่ว่า ภาคปรีแอมป์ของ RENA S-1 รองรับเฉพาะสัญญาณอินพุตที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลเท่านั้น ไม่มีอินพุตสำหรับสัญญาณอะนาลอกมาให้

คำว่า “Wireless” มีความหมายยังไง.?
คำว่า “Wireless” ที่ใช้กับ RENA S-1 บ่งบอกความหมายว่า ตัว RENA S-1 สามารถทำได้ทั้งในส่วน “รองรับ” ไฟล์เสียงดิจิตัลเข้ามาในตัว และสามารถ “ส่งออก” ไฟล์เสียงดิจิตัลไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นผ่านทางระบบ Wi-Fi ไร้สาย

ในแง่ของความสามารถในการ “รองรับ” ไฟล์เสียงดิจิตัลเข้ามาในตัวนั้น เนื่องจากปัจจุบัน มีแหล่งเก็บไฟล์เพลง (music server) อยู่หลายแหล่งที่สามารถดึงผ่านระบบเน็ทเวิร์คมาเล่นบนตัวสตรีมเมอร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่บน Local network อย่างเช่นอยู่ใน NAS (network-attached Storage) ที่เชื่อมต่ออยู่กับตัว router ด้วยสาย LAN หรือเป็นไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ใน external USB storage ที่เสียบเข้ากับช่อง USB ของตัว RENA S-1 หรือแม้แต่ไฟล์เพลงที่เก็บอยู่ในฮาร์ดดิสของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกันกับตัว RENA S-1 ด้วย

นอกจากนั้น ยังมีเซิร์ฟเวอร์ หรือที่เก็บไฟล์เพลงอีกจำนวนหนึ่งอยู่บน cloud storage อย่างเช่น เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง เซอร์วิสต่าง ๆ อาทิ TIDAL, Spotify, Qobuz, WiMP รวมถึงอินเตอร์เน็ต เรดิโอต่าง ๆ อีกจำนวนมหาศาล ซึ่งก็ถือว่าทั้งหมดนั้นเป็นแหล่ง inputs (หรือ source) ของ RENA S-1 ที่สามารถดึงมาเล่นบนตัว RENA S-1 แล้วส่งผ่านไปที่ชุดเครื่องเสียงของคุณได้ทั้งหมด

หน้าตาของแอพลิเคชั่น EC Remote ตอนเล่นไฟล์เพลงจากสตรีมมิ่งเซอร์วิส TIDAL (สังเกตโลโก้ TIDAL ที่ศรชี้)

ยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีอีกแหล่งที่มาของสัญญาณอินพุต ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งอินพุตของ RENA S-1 นั่นคือสัญญาณเสียงที่เพลย์แบ็คจากอุปกรณ์ไร้สาย iDevices ของค่ายแอ๊ปเปิ้ลซึ่งส่งมาที่ภาครับของ RENA S-1 ผ่านทางระบบ AirPlay นั่นเอง

เล่นไฟล์เพลงด้วยแอพฯ Onkyo HF Player แล้วลองส่งสัญญาณเสียงไปที่ตัว RENA S-1 ผ่านทาง AirPlay

เมื่อจิ้มแตะลงไปที่สัญลักษณ์ AirPlay จะปรากฏชื่อ “GM2000TEST” ปรากฏขึ้นมาแสดงให้รู้ว่าสัญญาณเพลงจาก iPhone กำลังถูกส่งไปที่ตัว RENA S-1 (ซึ่งผมตั้งชื่อไว้เป็น GM2000TEST) ซึ่งหากมีอุปกรณ์ของ EC Living ตัวอื่นอยู่ในวงเน็ทเวิร์คเดียวกัน จะปรากฏชื่อของอุปกรณ์ตัวนั้นเข้ามาอยู่ในรายชื่อที่ปรากฏให้เลือกเพิ่มขึ้น และคุณก็จะสามารถเลือกจิ้มโซนฟังได้ตามใจชอบ

ส่วนความสามารถในการ “ส่งออก” (หรือจะใช้คำว่า “แชร์” ก็ได้) ไฟล์เสียงดิจิตัลไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นผ่านทางระบบ Wi-Fi ไร้สายนั้น อธิบายได้ว่า ตัว RENA S-1 สามารถส่งสัญญาณเสียงไปที่อุปกรณ์ของ EC Living ตัวอื่น ๆ (อาทิ RENA SA-1 หรือ TANA SL-1) ได้ด้วยวิธีไร้สาย ซึ่งเป็นความสามารถในเชิง multi-zone นั่นเอง

การเชื่อมต่อ RENA S-1 เข้ากับระบบเน็ทเวิร์ค
เพื่อให้ใช้งาน RENA S-1 ได้ สิ่งแรกที่คุณต้องมีก็คือระบบ Wi-Fi home network อยู่ในบ้านโดยมี router เป็นศูนย์กลางของโครงข่าย เมื่อนำ RENA S-1 เชื่อมต่อเข้ากับ router จะด้วยวิธีใช้สายหรือไร้สายก็ได้ ก็จะทำให้ RENA S-1 สามารถสื่อสารและดึง/ส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ตัวอื่น ๆ ที่อยู่ใน network เดียวกันได้

ส่วนการควบคุมสั่งงานตัว RENA S-1 คุณสามารถทำได้สองทาง คือ (1) ผ่านแอพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนอุปกรณ์ไร้สาย iDevices หรือ Android Devices และ (2) ผ่านทาง web browser บนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows, Mac OS X หรือ Linux

หน้าตาของ Web Control ขณะเล่นเพลงจากเซิร์ฟเวอร์ (ภาพบน) และขณะเล่นเพลงจากสตรีมมิ่ง TIDAL (ภาพล่าง)

กรณีที่คุณใช้อุปกรณ์ไร้สายในการควบคุมสั่งงานตัว RENA S-1 ขั้นตอนแรกคือให้ดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “EC Remote” จาก App Store มาติดตั้งลงบนอุปกรณ์ iDevices ของคุณก่อน (ถ้าคุณใช้อุปกรณ์ Android ก็ไปดาวน์โหลดแอพฯ ตัวเดียวกันนี้จาก Google Play) ห

ลังจากติดตั้งแอพฯ EC Remote เสร็จแล้ว และตัวอุปกรณ์ไร้สายที่จะใช้ในการควบคุมสั่งงานตัว RENA S-1 ของคุณได้เข้าไปอยู่ใน Wi-Fi Network เดียวกันกับอุปกรณ์ตัว RENA S-1 แล้ว หลังจากคลิ๊กเปิดแอพฯ EC Remote ขึ้นมา คุณก็จะพบตัว RENA S-1 ปรากฏเป็นโซนหนึ่งอยู่ในแอพฯ ให้คลิ๊กที่ชื่อของ RENA S-1 ที่ปรากฏบนแอพฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับตั้งค่าต่าง ๆ ต่อไป (ดูเพิ่มเติมขั้นตอนเซ็ตอัพได้ที่ “ขั้นตอนเซ็ตอัพก่อนใช้งาน”)

เพื่อความเสถียรและคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด แนะนำให้ใช้วิธีเชื่อมต่อตัว RENA S-1 เข้ากับ router ด้วยสาย LAN (RJ45) และการเชื่อมต่อจะง่ายยิ่งขึ้นถ้าคุณปรับตั้ง security ที่ตัว router ไว้ที่ DHCP เพราะตัว router จะคุยกับอุปกรณ์ทุกตัวในเน็ทเวิร์คแล้วแจกไอพีเองอัตโนมัติ หลังจากเสียบสาย LAN ที่ตัว RENA S-1 เข้ากับ router แล้ว เปิดสวิทช์อุปกรณ์ทุกชิ้นที่เชื่อมต่ออยู่ในเน็ทเวิร์ค

จากนั้นก็ปล่อยไว้อย่างนั้นสักพัก ซึ่งในคู่มือของ RENA S-1 แนะนำให้ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีเพื่อให้ตัวเครื่อง RENA S-1 ตรวจเช็คเฟิร์มแวร์อัพเดตและทำการอัพเดตให้เสร็จในกรณีที่มีการอัพเดตเข้ามาพอดี ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนเชื่อมต่อระบบกับเน็ทเวิร์คเสร็จแล้ว ไม่ควรจะปิดเครื่อง RENA S-1 และตัว router ให้เปิดทิ้งไว้ตลอดเวลาเพื่อให้ตัวเครื่องทำการติดตั้งเฟิร์มแวร์ใหม่โดยอัตโนมัติเมื่อมีอัพเดตเฟิร์มแวร์เข้ามา

ทดลองใช้งาน
ผมทดลองใช้เพาเวอร์แอมป์สเตริโอ Audiolab รุ่น M-PWR มาเชื่อมต่อกับสัญญาณ analog output ของ RENA S-1 สองลักษณะ ลักษณะแรกคือเอาสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์พุตของ RENA S-1 ต่อผ่านปรีแอมป์หลอด Feliks-Audio รุ่น Euforia ก่อนไปที่เพาเวอร์แอมป์ Audiolab ต่อแบบนี้ผมปรับวอลลุ่มที่แอพฯ EC Remote ไว้สุด และใช้วิธีปรับความดังที่วอลลุ่มของปรีฯ

ขณะลองใช้งานกับชุดเครื่องเสียงบ้าน ผ่านปรีแอมป์หลอด Feliks-Audio รุ่น Euforia

ส่วนลักษณะที่สองคือต่อสัญญาณอะนาลอก เอ๊าต์จาก RENA S-1 ตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์ Audiolab โดยตรง ตอนฟังก็ใช้วิธีปรับความดังจากวอลลุ่มของแอพฯ EC Remote สายสัญญาณอะแด๊ปเตอร์ mini 3.5mm > RCA x 2 ที่ใช้ต่อเชื่อมระหว่างตัว RENA S-1 กับเพาเวอร์แอมป์ M-PWR ควรจะเน้นที่มีคุณภาพมากนิดนึง เพราะจะส่งผลกับคุณภาพเสียงมากพอสมควร ส่วนขั้วต่อ mini 3.5mm ที่ใช้ก็ไม่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับคุณภาพ ทำงานได้ปกติ คุณภาพเสียงก็ออกมาดี ฟังแล้วไม่มีความรู้สึกผิดปกติอะไรเลย ไม่ต่างจากขั้วต่อ RCA

ช่อง Line Output ของ RENA S-1 เป็นอะไรที่อาจจะทำให้คุณสะดุด เพราะมันไม่ได้ใช้ขั้วต่อ RCA อย่างที่เราคุ้นเคยกับมาตรฐานเครื่องเสียงทั่วไป แต่เป็นขั้วต่อ stereo mini 3.5mm เหตุผลนั้นเดาได้ไม่ยาก ก็เพราะว่าขั้วต่อ mini 3.5mm มันติดมากับ soundcard ที่ใช้อยู่ในตัว RENA S-1 นั่นเอง เมื่อผมลองพิจารณาจากสภาพโดยรอบแล้ว ผมว่าการที่จะเอาขั้ว mini 3.5mm ออกไป แล้วเอาขั้วต่อ RCA เข้ามาใส่แทนน่าจะทำได้ยาก เพราะพื้นที่จำกัด อีกอย่าง ถ้าจัดการกับอิมพีแดนซ์ไม่ได้ดีพอ เสียงที่ได้อาจจะแย่ลงได้ง่าย ๆ

สายสัญญาณอะนาลอกที่ต่อจากช่องเอ๊าต์พุต mini 3.5mm ของตัว RENA S-1 ไปที่อินพุตของปรีแอมป์ Euforia (และใช้ตอนต่อตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์ M-PWR) เป็นสายอะแด๊ปเตอร์ mini 3.5mm-to-phono RCA x2 ซึ่งเป็นสายที่ต่อขึ้นมาเอง (โดยคุณนัทนิค เปรมบุญ) โดยใช้สายตัวนำ pure silver รุ่น PSC-44CB ของเยอรมันยี่ห้อ Yarbo Audiophile ส่วนขั้วต่อ mini 3.5mm ใช้ของยี่ห้อ ViaBlue รุ่น T6s Phono Plugs 3.5mm Stereo Small กับขั้วต่อ RCA ก็ใช้ของ ViaBlue รุ่น T6s RCA Plugs XL ซึ่งเป็นของเยอรมันเช่นเดียวกัน

ลำโพงที่แม็ทชิ่งกับเพาเวอร์แอมป์ M-PWRได้ดีที่ผมใช้ในการทดลองฟังครั้งนี้มีอยู่ 2 คู่คือลำโพงวางขาตั้ง Mission รุ่น LX-2 กับ PSB รุ่น Imagine XB โดยจัดวางในห้องทดสอบของ GM2000 และเซ็ตอัพลักษณะการฟังแบบเอาจริงเอาจังในคุณภาพเสียง ลักษณะเดียวกับการฟังของนักเล่นเครื่องเสียงทั่วไป ไฟล์เพลงที่ผมเก็บอยู่บน External SSD ของ Samsung T3 มีทั้งไฟล์ PCM ที่ริปมาจากแผ่นซีดี, ไฟล์ไฮเรซฯ PCM และ DSD ที่โหลดซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต กับบางส่วนที่ริปมาจากแผ่น SACD และแผ่น DVD-Audio

ครั้งแรกที่เริ่มเสียบ external SSD เข้าไป ตัว RENA S-1 จะใช้เวลาค่อนข้างเยอะในการดึงข้อมูลต่าง ๆ ของไฟล์เพลงไปสร้าง Library ของต้วเอง ซึ่งเวลาที่ใช้จะขึ้นอยู่กับจำนวนไฟล์เพลงและลักษณะการจัดเก็บไฟล์ด้วย คือถ้าคุณจัดเก็บไฟล์ไว้ในโฟลเดอร์ที่แยกเลเยอร์หลาย ๆ ชั้น จะเสียเวลามากกว่าการเก็บอยู่ในโฟลเดอร์แค่ชั้นเดียว ซึ่งผมแนะนำให้ปล่อยทิ้งไว้จนกว่าตัวเครื่องจะจัดการดึงข้อมูลมาจัดการเสร็จจึงค่อยเริ่มใช้งาน อย่างไรก็ตาม เวลาที่ใช้ในการดึงข้อมูลและสร้างไลบรารี่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของ router ด้วยนะครับ

แนะนำให้ใช้ router ที่มีสมรรถนะสูงที่สุดที่หาได้ ซึ่งในคู่มือของ RENA S-1 แนะนำให้ใช้ router แบบ AC ที่มีความเร็วระดับ gigabit ยิ่งแรงยิ่งดี คือจะได้ทั้งความเร็วในการโหลดและความเร็วในการใช้งาน อีกทั้งได้ความเสถียรของระบบเน็ทเวิร์ค และได้ทั้งคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดอีกด้วย

ลองฟังเสียง
ไม่ต้องเดาก็รู้ว่า ความสงสัยของนักเล่นเครื่องเสียงยุคอะนาลอกที่มีต่ออุปกรณ์เครื่องเล่นไฟล์เพลงแบบนี้ก็คือ “เสียงของมันจะสู้เสียงของซีดีได้มั้ย.?” หรือจะได้คุณภาพเสียงออกมาสูงมากพอที่จะฟังแบบซีเรียสได้มั้ย.?

ซึ่งหากพูดถึงประเด็นนี้ ผมอยากจะเน้นย้ำอีกครั้งหลังจากเคยย้ำมาหลายครั้งแล้วว่า เสียงของเครื่องเล่นไฟล์เพลงประเภท Streamer หรือ Network Audio Player เหล่านี้ให้คุณภาพเสียงออกมา “ไม่ได้ด้อยไปกว่า” เสียงจากเครื่องเล่นแผ่นซีดีที่มีราคาพอ ๆ กันเลย แถมยังอาจจะดีกว่าเสียงของเครื่องเล่นซีดีรุ่นเก่า ๆ ส่วนใหญ่ซะด้วยซ้ำ แม้ว่าเครื่องเล่นซีดีเหล่านั้นจะมีราคาแพงกว่ามากก็ตาม

นั่นคือเปรียบเทียบกันโดยใช้ไฟล์ 16bit/44.1kHz ที่ริปมาจากแผ่นซีดีนะครับ แต่เมื่อไรที่เล่นไฟล์เพลงไฮเรซฯ ที่มีสเปคฯ สูงกว่า 16bit/44.1kHz เครื่องเล่นไฟล์เพลงเหล่านี้ก็จะให้เสียงที่มีคุณภาพเหนือกว่าเสียงที่ได้จากเครื่องเล่นแผ่นซีดีขึ้นไปอีกเยอะ (ภาค DAC ในตัว RENA S-1 รองรับได้สูงถึง 24bit/192kHz) ขั้นตอนแรกผมทดลองฟังด้วยไฟล์เพลงที่ผมเก็บไว้บน external SSD กับ RENA S-1 ซึ่งมีทั้งไฟล์ซีดีและไฮเรซฯ ทั้ง PCM และ DSD หลังจากลองฟังเก็บข้อมูลไประยะหนึ่ง ผมก็พอจะประเมินคุณภาพเสียงของ RENA S-1 ออกมาได้คร่าว ๆ แล้ว

ซึ่งลักษณะเสียงที่ RENA S-1 ให้ออกมามันช่วยสนับสนุนข้อสังเกตที่ผมเคยรู้สึกมาสักพักแล้ว นั่นคือ แม้ว่าอุปกรณ์ประเภทสตรีมเมอร์จะเป็นของใหม่สำหรับวงการเครื่องเสียงก็จริงอยู่ แต่ผมสังเกตว่า ถ้าเป็นผลผลิตจากบริษัทที่มีพื้นฐานในการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงระดับไฮ-ไฟฯ มาก่อน เสียงของสตรีมเมอร์ตัวนั้นมักจะมีลักษณะเสียงที่ “แตกต่าง” ไปจากสตรีมเมอร์ที่ออกแบบและผลิตโดยบริษัทที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านไฮ-ไฟฯ มาก่อน ผมสังเกตว่า เสียงของสตรีมเมอร์ที่ออกแบบและผลิตโดยบริษัทที่คลุกคลีอยู่ในวงการไฮ-ไฟฯ มาก่อนจะให้ “ความเป็นดนตรี” สูงกว่าสตรีมเมอร์ที่ออกแบบและผลิตมาจากบริษัทที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาทางไฮ-ไฟฯ เลย

เพราะอะไร.? เหตุผลที่ผมพอจะนึกออกก็น่าจะเป็นเพราะว่า บริษัทที่มีความรอบรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์+ไอทีเก่ง ๆ แทบทุกบริษัทจะสามารถออกแบบและสร้างสตรีมเมอร์ขึ้นมาได้ไม่ยาก แต่ผู้คนเหล่านี้มักจะขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการปรับจูนคุณภาพของเสียง ต่างจากบริษัทที่คลุกคลีอยู่ในวงการไฮ-ไฟฯ มาช้านานซึ่งจะมีความเข้าใจลักษณะของเสียงที่ดีฝังอยู่ในสายเลือด พวกเขาจึงสามารถปรับจูนวงจรอะนาลอก เอ๊าต์พุตให้ได้เสียงที่มีความเป็นดนตรีสูงกว่าได้ นี่คือลักษณะเสียงที่ผมพบจาก RENA S-1 หลังจากฟังมันมาระยะหนึ่ง จะว่าไปแล้ว ผมสะดุดหูมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ฟังแล้วล่ะ คุณสมบัติแรกที่เสียงของ RENA S-1 พุ่งเข้ากระแทกโสตประสาทของผมก็คือ “timing” ของจังหวะดนตรีที่ถูกต้อง มันให้สปีดของเพลงที่ตรงตามจังหวะเพลงมาก ๆ ไม่ว่าจะฟังเพลงช้าหรือเพลงเร็ว คุณจะถูกดูดเข้าสู่อารมณ์ของเพลงนั้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว หลุดพ้นจากการ “ฟัง” เข้าสู่ “รู้สึกร่วม” ไปกับลีลาอารมณ์ของเพลงนั้นได้อย่างแนบแน่น

timing คือคุณสมบัติสำคัญของอุปกรณ์เครื่องเสียงที่จะทำให้ได้เสียงที่มี “เป็นดนตรี” ออกมา ซึ่งเป็นความลับดำมืดที่ผมเองก็บอกไม่ได้ว่า คนออกแบบ RENA S-1 ทำอะไรกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคภายในตัวเครื่องบ้าง แต่สิ่งที่ผมสัมผัสได้จากน้ำเสียงที่พุ่งผ่านลำโพงออกมาก็คือว่ามันอุดมไปด้วยความเพลิดเพลินในการฟังอย่างมาก ทุกครั้งที่ผมนั่งลงฟังเพลงที่เล่นผ่าน RENA S-1 มันทำให้ผมต้องฟังมากกว่าหนึ่งเพลงเสมอ เพราะไม่แค่น้ำเสียงที่ชวนฟัง แต่เป็นเพราะวิธีจัดการกับไฟล์เพลงที่ง่ายต่อการเลือกเพลงฟังด้วยที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกกระหายไปกับการฟังไปเรื่อย ๆ ไม่อยากหยุด แค่ใช้ปลายนิ้วเลื่อน ๆ รูด ๆ ไปบน iPad ผมก็สามารถเลือกฟังอัลบั้มไหนก็ได้ในจำนวนนับร้อยอัลบั้มที่อยู่ในฮาร์ดดิสที่ผมเสียบเข้ากับช่อง USB ของตัว RENA S-1

หลังจากดื่มด่ำกับอรรถรสของเพลงนี้จบลงแล้ว ความอยากจะฟังเพลงนั้น -เพลงโน้น และเพลงนู้น จะตามมาเรื่อย ๆ ซึ่งเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ส่วนใหญ่จะมีคุณสมบัติข้อนี้อยู่ในตัว นั่นคือมีลักษณะของเสียงที่มีคุณภาพและดึงดูดให้ชวนฟัง และเสียงของ RENA S-1 ตัวนี้มันก็ชวนฟังจนผมมักจะลืมที่จะต้องวิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ ของเสียงไปเลย ถึงเวลาเอาจริง หลังจากวอร์มอัพ RENA S-1 มานานเกินอาทิตย์ ผมก็ลงมือฟังแบบวิเคราะห์หาตัวตนที่แท้จริงของมัน ช่วงแรกผมจะเน้นฟังไฟล์เพลง WAV 16/44.1 ที่ริปมาจากแผ่นซีดีกับมันไปเรื่อย ๆ และค่อย ๆ ประเมินผลทางเสียงของมันออกมา

ผมพบว่า ภาค DAC ในตัว RENA S-1 เป็นมิตรกับไฟล์ 16/44.1 มาก เสียงที่ได้ออกมามีลักษณะที่ “เต็ม” มาก.. โทนเสียงที่ออกมามีส่วนผสมอยู่ระหว่าง “ความเปิดเผย กระจ่างชัด + ความเนียนสะอาดของเนื้อเสียง” อยู่ในเกณฑ์ที่กำลังเหมาะเหม็งมาก หลังจากฟังผ่านไปหลาย ๆ อัลบั้ม คละกันไปทั้งงานเพลงของสังกัดที่เน้นคุณภาพเสียงและสังกัดคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไป RENA S-1 แสดงตัวตนออกมาให้ผมเห็นว่า มันไม่ได้ถูกจูนเสียงมาให้เน้นความชัดเจนมากไปกว่าความกลมกลืน ไม่พยายามจะผลักดันบางย่านเสียงให้โด่งล้ำออกมาเรียกร้องความสนใจ แต่เหมือนกับว่ามันยอมปล่อยให้ทุกความถี่สามารถสลับกันโชว์ออฟออกมาได้เสมอกัน ผลัดเวียนไปตามแต่อัลบั้มที่ถูกมิกซ์มา

ฟังบางอัลบั้มแล้วอาจจะรู้สึกว่าเสียงแหลมมันดีมาก โดดเด่นเหนือความถี่อื่น มีความโปร่งใส และให้โฟกัสที่คมชัด แยกตัวเสียงออกมาได้เป็นเม็ด ๆ แต่พอเปลี่ยนอัลบั้มฟังไปสักพัก ความรู้สึกของผมก็ถูกเปลี่ยน กลับจับได้ว่า RENA S-1 ให้เสียงกลางที่น่าฟังมาก คอนทราสน์ ไดนามิกออกมาสวยงาม ทั้งต่อเนื่องและราบลื่น แต่ละเฟสของเสียงร้องถูกร้อยรัดกันไปเป็นเนื้อเดียวแต่หลากสี มีอ่อนมีแก่เคล้าคละกันไปตลอด และในบางอัลบั้มมันกลับทำให้ผมรู้สึกตื่นตะหนกไปกับทรานเชี้ยนต์ของเสียงทุ้มที่ชวนสะดุ้ง ทึ่งไปกับความแน่นและฉับไวของหัวเสียงที่มีน้ำหนัก ให้แรงกระแทกที่รับรู้ได้ด้วยผิวหนัง

ผมว่า RENA S-1 เป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงที่มีส่วนผสมระหว่าง “มิวสิคเลิฟเวอร์” + “ซีเรียสไฮ-ไฟ” อย่างละครึ่ง ผมเชื่อว่า ความเพลิดเพลินในการฟังที่มันทำให้รู้สึกนั้นเป็นคุณสมบัติที่คนชอบฟังเพลงถวิลหา ไม่ว่าจะฟังเพลงแนวไหน พ๊อพ, ร็อค, แจ๊ส, อินดี้ หรือคลาสสิก คุณจะได้รับอรรถรสของบทเพลงเหล่านั้นออกมาได้ “ตรงตาม” ที่ซาวนด์ของเพลงประเภทเหล่านั้นมีอยู่ ส่วนคนที่ชอบฟังเพลงที่เน้นคุณภาพการบันทึกเสียงจะต้องถูกใจเสียงของ RENA S-1 ตัวนี้แน่ ๆ เพราะมันทำให้คุณรู้สึกทันทีว่าเพลงเหล่านั้นมี “ความพิเศษ” อยู่ในน้ำเสียง มีความแตกต่างที่เหนือชั้นกว่าเพลงตลาด ๆ อย่างชัดเจน ทั้งในแง่ประสิทธิภาพเสียงและอารมณ์ของเพลงที่ละเมียดละมัย

ตอนท้าย ๆ ผมได้ทดลองเล่นไฟล์เพลงบนสมาร์ทโฟนของแอ๊ปเปิ้ลแล้วยิงส่งมาที่ RENA S-1 ทาง AirPlay เสียงที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควร แม้ว่าเสียงจะสู้ตอนเล่นไฟล์ที่อยู่บนเน็ทเวิร์คไม่ได้ แต่ก็ได้ความสะดวกในกรณีที่มีเพลงอยู่ในสมาร์ทโฟน

สรุป
ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์ หรือออดิโอ สตรีมเมอร์ หรืออะไรก็สุดแล้วแต่ เชื่อเถอะว่า ถ้าได้ลองแล้วคุณจะต้องติดใจเหมือนผม ทั้งในส่วนของประสบการณ์ที่ได้จากการใช้งานและคุณภาพของเสียง ส่วนคนที่เล่นเครื่องเสียงมานานจนคุ้นชินกับคุณภาพเสียงที่ดีกว่ามาตรฐานตลาด ๆ ทั่วไปซะแล้ว ผมเชื่อว่าถ้ามีการทำ blind test ด้วยการให้ลองฟังเสียงโดยไม่ให้เห็นเครื่องที่เล่น คุณจะไม่สามารถชี้ชัดได้เลยว่า เสียงที่ได้ยินมาจากสตรีมเมอร์ตัวนี้หรือจากเครื่องเล่นซีดีราคาหลักแสนกันแน่.!


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท บูลด็อก ออดิโอ จำกัด
โทร. 02-321-0384, 02-321-0385, 083-758-7771
ราคา 32,900 บาท

ธานี โหมดสง่า

นักเขียนอาวุโสมากประสบการณ์ เจ้าของวลี "เครื่องเสียงและดนตรีคือชีวิต"