fbpx
RECOMMENDEDREVIEW

รีวิว Astell&Kern : PEE51 “เมื่อ AK นำของดีในเครื่องเล่นรุ่นยอดนิยมมาให้ชื่นชมได้ง่ายขึ้น”

ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Astell&Kern ผู้ผลิตเครื่องเล่น hi-res audio ฉบับพกพาชื่อดัง ได้ประกาศเปิดตัวอุปกรณ์ประเภท DAC/Amp พกพา หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า ‘DAC หางหนู’ ออกมารุ่นหนึ่ง โดยใช้ชื่อรุ่นว่า ‘PEE51’ เปิดตัวมาในราคาราว ๆ 5 พันบาท ($149)

Astell&Kern PEE51 เป็น DAC หางหนูรุ่นแรกจากแบรนด์ผู้ผลิตที่สร้างชื่อมาจากเครื่องเล่น hi-res audio แน่นอนว่าทำให้มีคนตั้งคำถามว่าทางแบรนด์กำลังคิดจะทำอะไร ขายเครื่องเล่นก็แบบเดิมต่อไปก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ… ยอมรับว่าผมเองก็แอบตั้งคำถามนี้ในใจเหมือนกัน

คุณสมบัติและการออกแบบ
Astell&Kern หรือ AK ให้นิยามของ PEE51 ว่าเป็น ‘USB-C Dual DAC Amplifier Cable’ ให้เข้าใจง่ายก็ DAC หางหนู หรือ DAC/Amp ขนาดพกพาตัวเล็ก ๆ นี่แหละครับ องค์ประกอบหลักภายนอกเป็นขั้วต่อ USB-C สัญญาณดิจิทัลอินพุตเข้ามาผ่านทางสายเคเบิ้ลที่ติดตายตัวมากับบอดี้หลักของเครื่อง และมีเอาต์พุตเป็นแจ็ค 3.5mm

การออกแบบรวมถึงชิ้นงานนั้นถอดแบบมาจากเครื่องเล่นของ AK เอง คือมีโครงสร้างหลักทำจากโลหะ (Zinc Alloy) ดูแข็งแรงแน่นหนาดี งานผลิตดูประณีตเรียบร้อย มีการปาดทำเหลี่ยมมุมบนชิ้นงานให้เล่นแสงเงา ดูมีมิติ ทำสีเป็นสีเทาเมทัลลิกผิวด้านซึ่งทางผู้ผลิตเรียกว่าเป็นสี Titan

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC

องค์ประกอบหลักภายในนั้นเป็นชิป DAC รหัส CS43198 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเบอร์ยอดนิยมจาก Cirrus Logic โดยใน PEE51 นั้นมี CS43198 ใช้งานถึง 2 ตัวด้วยกันในลักษณะ Dual DAC แยกใช้งานซ้าย/ขวาแชนเนลละตัว รองรับการถอดรหัสสัญญาณเสียง hi-res audio ทั้งในรูปแบบของไฟล์ PCM ถึงระดับ 32bit/384kHz และ DSD ถึงระดับ DSD256

ตัวเครื่องอาศัยไฟเลี้ยง 5 โวลต์จากพอร์ต USB-C โดยตรง แผงวงจรไฟฟ้าเป็นแบบ 6 ชั้นเพื่อให้สามารถบรรจุชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเอาไว้ได้อาศัยพื้นที่เล็ก ๆ แค่ 14 x 41mm ด้านเอาต์พุตมีอิมพิแดนซ์ 2 โอห์ม จ่ายแรงดันไฟฟ้าได้ 2 โวลต์อาร์เอ็มเอส

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC

สายเคเบิ้ลทางด้านอินพุตที่ติดมาแบบตายตัวนั้นทางผู้ผลิตยืนยันว่าเป็นสายนำสัญญาณคุณภาพสูงที่สั่งผลิตขึ้นเป็นพิเศษ เป็นสายแบบ 4 แกน บิดเกลียวเข้าหากัน ภายในใช้ตัวนำไฟฟ้าเป็นทองแดงเคลือบเงินหนา 0.3 ไมครอน มีการชีลด์ป้องกันสัญญาณรบกวน แกนกลางของสายเป็นวัสดุ ‘Technora Aramid fiber’ ซึ่งสามารถทนแรงดึงได้สูงถึง 200 นิวตัน ช่วยตัวนำไฟฟ้ามีความทนทานไม่ขาดง่ายเมื่อถูกดึงรั้งจากการใช้งานตามปกติ

การใช้งาน
AK PEE51 ไม่มีสวิตช์เปิด-ปิด ซึ่งก็เหมือนกับ DAC หางหนูทั่วไปที่เสียบเข้าที่พอร์ต USB-C มันก็พร้อมทำงานเลย (มีบางรุ่นเท่านั้นที่ต้องเสียบเอาต์พุตด้วยถึงจะเริ่มทำงานได้) บนตัวเครื่องมีจุดไฟ LED สีขาวเล็ก ๆ คอยบอกสถานะของการทำงานว่าตัว DAC พร้อมทำงานอยู่หรือไม่

น่าเสียดายที่จุดไฟนี้ไม่ได้ออกแบบให้แสดง resolution (sample rate) หรือว่าแสดงรูปแบบของสัญญาณเสียง (PCM, DSD) เหมือนกับ DAC หางหนูรุ่นอื่น ๆ เช่น Zorloo Ztella MQA, hilidac Beam 2

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC

AK PEE51 สามารถใช้งานได้ทันทีกับอุปกรณ์ที่มีพอร์ตเชื่อมต่อ USB-C เช่น คอมพิวเตอร์ macOS / Windows หรือสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ที่รองรับการเชื่อมต่อแบบ OTG

สำหรับสมาร์ทโฟน iOS อย่างไอโฟน หรือแท็บเล็ต iPadOS อย่างไอแพดนั้น ‘ไม่สามารถเสียบใช้งานได้โดยตรง’ เนื่องจากตัว PEE51 ต้องการกระแสไฟเลี้ยงจากตัวอุปกรณ์เหล่านั้นมากกว่าที่ระบบปฏิบัติดังกล่าวยอมให้ใช้งานได้

ในการรีวิวครั้งนี้ เบื้องต้นผมมีโอกาสได้ลองเสียบใช้งาน PEE51 กับสมาร์ทโฟน Samsung Galaxy Note10+ ที่รันบน One UI 3.1 (Android 11) พร้อมหน่วยความจำ RAM 12GB โดยใช้งานกับแอปพลิเคขชันสตรีมหนัง สตรีมเพลงทั่วไป ตลอดจนแอปพลิเคชันที่เน้นการฟังเพลงอย่างมีคุณภาพเช่น USB Audio Player Pro

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC

สำหรับคอมพิวเตอร์ผมได้ลองใช้งานกับ MacBook Pro รุ่นล่าสุดที่ใช้ชิปประมวลผล Apple Silicon M1 โดยใช้งาน Roon เป็นแอปพลิเคชันหลักสำหรับการฟังเพลง

เบื้องต้นมีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือตัว PEE51 นั้นไม่มีปุ่มให้ปรับความดังเสียง ต้องอาศัยปรับความดังของเสียงเอาเองจากตัวสมาร์ทโฟนหรือจากตัวคอมพิวเตอร์ที่ต่อใช้งานอยู่ด้วยกัน ดังนั้นทุกครั้งที่เสียบใช้งานก่อนเล่นเพลงหรือเปิดวิดีโอ อย่าลืมตรวจสอบระดับเสียงว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะว่าหลายครั้งผมพบว่ามันอยู่ที่ระดับความดังสูงสุด !!

อีกจุดหนึ่งที่แนะนำให้พิจารณาคือ ผมพบว่าหัวขั้วต่อ USB-C ของ PEE51 นั้นค่อนข้างมีขนาดใหญ่และหนากว่าปกติ เท่าที่ได้ลองเสียบใช้งานกับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ 3-4 รุ่น พบว่าถ้าไม่ถอดเคสของสมาร์ทโฟนออกจะไม่สามารถใช้งานเสียบใช้งานได้เลย

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC
การใช้งานกับสมาร์ทโฟน ต้องพิจารณาเรื่องเคสร่วมด้วย ซ้ายมือในภาพเป็นตัวเคสที่ใช้งานไม่ได้

คือว่าขั้วต่อ USB-C มันเสียบเข้าไปได้ไม่สุดทั้งที่เคสบางรุ่นก็ถือว่าบางมากแล้ว ขณะที่ Zorloo Ztella MQA หรือ Meizu HiFi Audio Pro สามารถใช้งานได้ไม่มีปัญหา ดังนั้นใครที่สนใจ PEE51 อยู่อาจต้องพิจารณาใช้งานเคสสมาร์ทโฟนที่มีพื้นที่รอบพอร์ต USB-C โล่ง ๆ สักหน่อย หรือใช้เคสที่เปิดด้านล่างหมดอย่างที่ผมได้เลือกใช้กับ Samsung Galaxy Note10+ ของผม (บังเอิญมีให้เลือกใช้งานอยู่แล้ว)

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ผมคิดว่าอาจเป็น bug ของซอฟต์แวร์ในตัว AK PEE51 หรือความไม่เข้ากันอะไรบางอย่างของฮาร์ดแวร์ที่ใช้งาน นั่นคือ ในระหว่างใช้งานกับ MacBook Pro (และ Roon) ผมพบว่าหลายครั้งที่มีปรับความดังเสียงแล้วจู่ ๆ เสียงเกิดอาการเสียงเอียงซ้าย โดยเสียงข้างซ้ายจะดังกว่าข้างขวาชัดเจน

ทีแรกผมคิดว่าหูฟังมีปัญหาหรือขั้วต่ออาจหลุดหลวม แต่หลังจากตรวจสอบอย่างถ้วนถี่แล้วก็พบสาเหตุว่าเป็นเพราะการตั้งค่าสมดุลเสียงหรือ balance ในตัว PEE51 มันเปลี่ยนไปเอง คือมีการปรับบาลานซ์ไปทางซ้ายเอง เมื่อปรับกลับมาให้อยู่ตรงกลาง เสียงที่ได้ก็กลับมาฟังเป็นปกติครับ

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างใช้งาน MacBook Pro

อาการที่ว่านี้เกิดขึ้นแบบ random โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการปรับความดังของเสียงในตัว PEE51 และไม่เคยเกิดขึ้นกับ DAC หรือ DAC/Amp ตัวอื่น ๆ มาก่อน ขณะที่ในเวลาผมต่อเล่น AK PEE51 กับสมาร์ทโฟน ทุกอย่างนั้นเป็นปกติดีครับ ไม่เคยมีอาการเสียงเอียงซ้ายเกิดขึ้นเลย

จากประสบการณ์ผมคิดว่าลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นปัญหาในส่วนของซอฟต์แวร์ ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับว่าส่วนไหนที่ต้องปรับแก้ ในอนาคตหากมีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะมาแจ้งอัปเดตให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

คุณภาพเสียง
แบรนด์ AK นั้นสร้างชื่อขึ้นมาในฐานะผู้ผลิตเครื่องเล่น hi-res audio ได้เพราะหลาย ๆ ปัจจัย หนึ่งในนั้นคือเรื่องคุณภาพเสียง ดังนั้นเมื่อได้ฟัง PEE51 ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยที่มันได้ดำเนินรอยตามกันมา

PEE51 แสดงศักยภาพทางด้านน้ำเสียงที่เหนือกว่า DAC/Amp ในตัวสมาร์ทโฟนทั่ว ๆ ไปตั้งแต่ที่ได้ลองใช้งานกับแอปพลิเคชันง่าย ๆ อย่าง YouTube, FaceBook Watch หรือ Spotify ไม่ว่าจะเป็นด้านรายละเอียด เนื้อเสียง หรือว่าความไพเราะน่าฟัง

กำลังขับในตัวมันเพียงพอที่จะใช้งานกับหูฟังอินเอียร์อย่าง HiFiMAN RE400, Cat Ear Audio Mia, MoonDrop Starfield หรือว่า iBasso IT01s ได้สบาย ๆ และเพียงพอที่จะใช้ขับหูฟังที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่าง KOSS KSC35 หรือ Audeze LCD-1 ได้ด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะ Audeze LCD-1 ตั้งแต่ผมซื้อหูฟังพลานาร์แมกเนติกขนาดเล็กรุ่นนี้มาใช้ AK PEE51 น่าจะเป็น DAC/Amp หางหนูตัวแรกของผมที่สามารถขับ LCD-1 ออกมาได้ดีทั้งในแง่ของกำลังขับและน้ำเสียง

มันทำให้หูฟังรุ่นนี้มีสมดุลเสียงที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น นั่นคือปรับปรุงในย่านเสียงกลางถึงกลางสูงให้มีความละเมียดละไม มีน้ำมีนวลมากขึ้น เสริมจุดที่ตัวหูฟังเด่นอยู่แล้วเช่น เรื่องไดนามิกเสียงและมิติเสียงให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นไปอีก

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC

ภาพรวมจุดเด่นที่ทำให้น้ำเสียงของ AK PEE51 แตกต่างไปจาก DAC/Amp หางหนูรุ่นอื่น ๆ ก็คือ แบคกราวน์เสียงที่สงัด ขณะที่ยังสามารถสวิงช่วงไดนามิกของเสียงได้กว้างมาก มันให้เสียงที่มีพลัง เนื้อเสียงมีความอิ่มแน่นเข้มข้น ให้เสียงที่ไม่หลวมหรือใหญ่โตแบบกลวงใน

สังเกตได้ชัดมากเวลาฟังดนตรีซิมโฟนีออเคสตร้าขนาดใหญ่ที่มีเครื่องดนตรีหลายสิบชิ้น อย่างเพลง ‘Colas Breugnon, Op. 24: Overture’ จากอัลบั้ม Borelo!: Orchestral Fireworks (TIDAL, lossless 44.1kHz) เมื่อฟังผ่านหูฟังที่มีไดนามิกกว้างขวางอย่าง Audeze LCD-1 แล้ว DAC/Amp หางหนูตัวเล็ก ๆ อย่าง Zorloo Ztella MQA หรือ Meizu HiFi Audio Pro ให้เสียงเหมือนในวงมีชิ้นดนตรีบรรเลงอยู่น้อยกว่า

เรียกว่าพอสลับไปฟังจาก AK PEE51 แล้วเสียงมาเต็ม มวลเนื้อเสียงมาแน่นหนาเข้มข้นกว่ากันอย่างชัดเจน ช่วงสวิงของเสียงที่กว้างดัง-ค่อย หนัก-เบาชัดเจน ฟังแล้วสนุกเพลินหูโดยไม่ต้องช่วยลุ้น

ลักษณะเสียงของ DAC/Amp หางหนูรุ่นนี้ทำให้ผมมั่นใจที่จะบอกว่า หากคุณใช้มันฟังเพลงแล้วรู้สึกว่าเสียงแห้ง เสียงบาง หรือมีสมดุลเสียงที่เจี๊ยวจ๊าวฟังน่ารำคาญ ให้มั่นใจได้เลยว่าเสียงนั้นไม่ได้มาจาก AK PEE51

เพราะขนาดผมฟังเพลงสากลทั่วไปอย่างเพลง ‘Price Tag’ ของ Jessie J ในอัลบั้ม Who You Are (Deluxe Edition) ทั้งเวอร์ชันปกติและอะคูสติก (TIDAL, lossless 44.1kHz) เสียงที่ได้ยังน่าฟังมีน้ำมีนวล มีความหวานน่าฟังในน้ำเสียงเลยครับ ทั้งที่ตัวนักร้องเองใส่พลังและไดนามิกของเสียงเข้าไปแบบไม่ยั้งขนาดนั้น

อีกหนึ่งจุดที่ผมได้ลองใช้งาน AK PEE51 แล้ว รู้สึกประทับใจจนต้องหยิบยกมาพูดถึงเป็นพิเศษนั่นคือ DAC/Amp หางหนูรุ่นนี้สามารถถอดรหัสไฟล์เสียง DSD ออกมาได้ดีมาก ๆ

ขณะที่ DAC/Amp หลายรุ่นเสียงดีมากเมื่อเล่นไฟล์ PCM แต่เวลาเล่นไฟล์ DSD กลับให้เสียงไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น และได้แสดงจุดอ่อนบางประการออกมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เบาลงอย่างชัดเจน บ้างมีเนื้อเสียงที่เบาบางลงจนทำให้เสียงมีสมดุลเปลี่ยนไป

ขณะที่ AK PEE51 ทำหน้าที่ของมันได้ดีกว่านั้น เมื่อผมได้ลองฟังอัลบั้ม Appalachian Journey (Single SACD rip, .dsf) มันให้เสียงที่เต็มอิ่ม หนักแน่น เนื้อเสียงเข้มข้นชัดเจน แน่นอนว่าระดับความดังของเสียงก็ไม่ได้เบาบางลงด้วยเช่นกัน เสียงที่ได้เหมือนจำลองมาจาก DAC แยกชิ้นในชุดเครื่องเสียงปกติมาเลยล่ะครับ

อนึ่งสำหรับการเล่นไฟล์ DSD ผมพบว่าหากเล่นผ่านไดรเวอร์ USB ทั่วไปทั้งในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์, macOS (CoreAudio) และ Windows (WASAPI) ตัวแอปฯ เล่นเพลงและ PEE51 สามารถเล่นไฟล์ DSD64 และ DSD128 ได้โดยไม่ต้องแปลงเป็น PCM ก่อน

ส่วนในแอปฯ Roon (MacOS, Windows) ตัวแอปฯ ได้จำกัดการเล่น DSD ของ PEE51 เอาไว้ที่ DSD128 เท่านั้น

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC
ไม่ได้ใช้ native ASIO driver การเล่นจึงถูกจำกัดอยู่ที่ DSD128

จากประสบการณ์ที่เล่นมา DAC หลายตัวหากจะเล่น DSD256 หรือ DSD512 ได้โดยไม่ต้องแปลงเป็น PCM ก่อน จำเป็นต้องเล่นผ่านแอปฯ เล่นเพลงใน Windows และติดตั้งไดรเวอร์ native ASIO ของ DAC รุ่นนั้น ๆ เช่น Moon 380D DSD ที่ผมเคยรีวิวไว้นานแล้ว

หรือ DAC/Amp อีกรุ่นที่ผมกำลังรอรีวิวนั่นคือ Khadas Tone 2 Pro ที่สเปคฯ ระบุว่าเล่นไฟล์ DSD512 ได้ แต่ถ้าเล่นใน Roon (macOS) ที่ไม่ได้ใช้ native ASIO จะเล่นได้ถึง DSD256 เท่านั้น แต่ถ้าเล่นใน Roon (Windows 10) ซึ่งใช้งานไดรเวอร์ native ASIO ด้วยก็สามารถเล่นไฟล์ DSD ได้ถึง DSD512 ตามสเปคฯ

เช่นกันในเวลานี้ AK PEE51 ยังไม่มีไดรเวอร์ native ASIO ของตัวเองออกมาให้ใช้งาน ดังนั้นการเล่นไฟล์เสียง DSD จึงยังถูกจำกัดอยู่ที่ DSD128 ซึ่งในการใช้งานจริงก็ไม่ได้เป็นปัญหาสักเท่าไร เพราะไฟล์ DSD ที่เกิน DSD128 ตอนนี้ก็มีให้เลือกฟังไม่มากนัก

อัปเดต: ล่าสุด (28 เมษายน 2564) ทาง Astell&Kern ได้ปล่อยไดรเวอร์ native ASIO ของ PEE51 ออกมาแล้ว เป็นเวอร์ชันสำหรับคอมพิวเตอร์ Windows สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่  เท่าที่ได้ลองใช้งานพบว่ากับแอปฯ Roon ใน Windows 10 (คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป Acer Swift 5) พบว่า PEE51 สามารถเล่นไฟล์ DSD256 ได้โดยตรง (native) แล้ว

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC
PEE51 หลังจากติดตั้งไดรเวอร์ native ASIO แล้ว
Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC
หลังใช้งาน native ASIO ตัวแอปฯ Roon ก็ไม่จำกัดเอาไว้แค่ DSD128 แล้ว
Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC
หลังจากติดตั้งไดรเวอร์ native ASIO ตัว PEE51 ก็สามารถเล่นไฟล์ DSD256 ได้โดยตรงแล้ว

การใช้งานกับอุปกรณ์ iOS, iPadOS
การใช้งาน AK PEE51 กับอุปกรณ์ iOS หรือ iPadOS ที่เป็นขั้วต่อแบบ Lightning จำเป็นต้องใช้ ‘อะแดปเตอร์แปลงขั้วต่อ Lightning เป็น USB รุ่นนี้ของ Apple ซึ่งสามารถต่อไฟเลี้ยงเสริมเข้าไปได้ และตัวแปลงขั้วต่อ USB-A Male เป็น USB-C Female

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC
การใช้งานกับอุปกรณ์ iOS หรือ iPadOS ที่ใช้ขั้วต่อ Lightning ต้องอาศัยอะแดปเตอร์ที่สามารถพ่วงไฟเลี้ยงเสริมเข้าไปได้ด้วย

เวลาต่อใช้งานก็ให้เสียบสายชาร์จ Lightning ของไอโฟนหรือไอแพดเข้าไปที่อะแดปเตอร์ดังกล่าว เพียงเท่านี้ก็ไม่มีปัญหาเรื่องไฟเลี้ยงไม่เพียงพอสำหรับ AK PEE51 แล้วล่ะครับ เท่าที่ได้ลองกับแอปฯ สตรีมมิงเพลงและหนังทั่วไปใน iPhone 12 Pro Max ก็ใช้งานได้เลยครับ

UPDATE: หลังจากที่ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีตัวแปลง Lightning to USB-C รุ่นหนึ่ง (ddHiFi TC28i) สามารถใช้เชื่อมต่อ PEE51 ได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียบไฟเลี้ยงเพิ่ม จากการทดลองใช้งานก็พบว่าสามารถทำได้เช่นนั้นจริง ๆ ครับ จึงแนะนำเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ใช้ PEE51 กับ iPhone ที่มีขั้วต่อเป็นพอร์ต Lightning

Review Astell&Kern PEE51 hi-res audio portable USB DAC
PEE51 ขณะต่อใช้งานกับตัวแปลง Lightning to USB-C ของ ddHiFi รุ่น TC28i

ขณะที่เมื่อลองเล่นเพลง hi-res audio ผ่านแอปฯ อย่าง NePlayer ก็สามารถเล่นไฟล์ PCM hi-res ได้ตามปกติ แต่เมื่อเล่นไฟล์ DSD พบว่าสัญญาณเสียงนั้นได้ถูกแปลงเป็น PCM ก่อน (DSD to PCM) ไม่ได้เล่นในโหมด native หรือ DoP (DSD over PCM)

สำหรับ iPad รุ่นที่มีพอร์ตเชื่อมต่อเป็น USB-C อย่างเช่น iPad Pro (2020) พบว่าสามารถต่อใช้งานกับ AK PEE51 ได้โดยตรง ไม่ต้องต่อผ่านอะแดปเตอร์ใด ๆ และไม่ต้องเสียบไฟเลี้ยงเพิ่ม

Astell&Kern : PEE51 เหมาะกับใคร ?
ปัจจุบันการเล่นเพลงหรือสตรีมไฟล์เพลงคุณภาพสูง (lossless, hi-res audio) ด้วยสมาร์ทโฟนอาจเป็นเรื่องง่าย ๆ เพราะอาศัยแค่สมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นรุ่นดี ๆ หน่อยซึ่งยุคนี้สมรรถนะดีเกินพอไปมาก ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันเล่นเพลงที่เหมาะสมก็ใช้งานได้แล้ว

ทว่าสิ่งหนึ่งที่มักเป็นจุดอ่อนของสมาร์ทโฟนไม่ว่าจะเป็นในระดับราคาใดก็คือ ส่วนที่เกี่ยวกับระบบเสียงโดยตรง ทั้ง D/A Converter (DAC) และภาคขยายเสียง (Amplifier) ทำให้คนที่ยังชื่นชอบการฟังเพลงด้วยหูฟังแบบเสียบสายเลือกอัปเกรดโดยการเพิ่ม DAC/Amp ตัวเล็ก ๆ ที่บางครั้งเรียกภาษาแบบบ้าน ๆ ว่า ‘DAC หางหนู’ ซึ่งในปัจจุบันมีตัวเลือกออกมามากมาย หลากหลายคุณภาพและระดับราคา

เท่าที่ได้ลองเล่น DAC/Amp หางหนูมาหลายตัว ผมสามารถยืนยันได้ว่า AK PEE51 จัดว่าเป็นรุ่นหนึ่งที่เสียงดีมาก ๆ เรียกว่า ตั้งใจทำออกมาเพื่อ ‘ขายเสียง’ เลยก็ว่าได้

สำหรับคนที่คาดหวังอยากฟังไฟล์ DSD ให้ออกมาดีในชุดเครื่องเสียงแบบพกพา ผมว่า AK PEE51 นี่แหละครับที่อาจเป็นจิ๊กซอว์อีกตัวที่คุณกำลังค้นหา โดยเฉพาะคนที่ใช้งานสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์หรือคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป (โน้ตบุ๊ก) เป็นอุปกรณ์เล่นเพลง

ดังนั้น AK PEE51 จึงเหมาะที่จะเป็น DAC/Amp หางหนูตัวแรก สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้งานอุปกรณ์ประเภทนี้มาก่อน เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ใช้งบน้อย และมีความเสี่ยงต่ำ หลังจากนั้นจะอัปเกรดไปเล่น DAC/Amp ระดับสูงกว่านี้ หรือว่าขยับไปใช้เครื่องเล่น hi-res audio ของ AK เป็นการต่อยอดแนวเสียงของ PEE51 ก็ล้วนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทั้งสิ้น

สำหรับคนที่ตั้งคำถามว่า AK ทำ DAC/Amp หางหนูออกมาทำไม ? ทีนี้พอมองเห็นวิสัยทัศน์ของทางแบรนด์แล้วใช่ไหมครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Munkong Gadget
ราคา 4,390 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ