fbpx
REVIEW

รีวิว Moon : 380D DSD

พักหลังนี้เวลาทราบข่าวว่ามี DAC ออกใหม่ นอกจากชื่อยี่ห้อและชื่อรุ่นก็มีข้อมูลอยู่อีกแค่ 2-3 อย่างล่ะครับที่ผมมักจะมองหาก่อนเป็นลำดับต้น ๆ หนึ่งในนั้นคือ ฟอร์แมตและรายละเอียดของสัญญาณดิจิทัลที่มันสามารถรองรับได้ อีกส่วนคือเรื่องของการอัปเกรดไม่ว่าจะเป็นส่วนของตัวฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์

ตรงนี้สำคัญนะครับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘high-res audio‘ ซึ่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิสัยทัศน์และการมองการณ์ไกลที่แตกต่างกันจะทำให้สินค้าบางรุ่นจำต้องหลุดจากขบวนรถด่วน high-res audio ไปตั้งแต่เพิ่งออกจากต้นทางไม่กี่สถานี ขณะที่สินค้าบางรุ่นยังสามารถเกาะติดตามขบวนไปได้อีกไกลแสนไกล และ Moon 380D DSD คือหนึ่งในตัวอย่างสินค้าประเภทหลังที่ผมได้กล่าวถึงไปข้างต้น

การออกแบบและส่วนงานวิศวกรรม
380D DSD คือเครื่องเสียงประเภท D/A Converter หรือ DAC แบบแยกชิ้น อยู่ในตระกูล Neo Series ซึ่งเป็นไฮเอนด์ในระดับราคาที่สามารถจับต้องได้ไม่ยากของ Moon (SimAudio) ผู้ผลิตเครื่องเสียงไฮเอนด์ยี่ห้อเก่าแก่ของประเทศแคนาดา

จุดเด่นของ DAC รุ่นนี้คือมันรองรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงที่ไปไกลถึงระดับ DXD – 32bit 384kHz (มากกว่า 8 เท่าของ CD) และ DSD256 – 1bit 11.2896MHz (4 เท่าของ SACD) ซึ่งนับว่าครอบคลุมมากกว่า 98-99% ของไฟล์เพลงดิจิทัลรายละเอียดสูงที่มีอยู่ในเวลานี้ ดังนั้นไม่ต้องเสียเวลาคิดให้เมื่อยสมองเลยครับว่ามันเป็น DAC ที่ถูกสร้างมาเพื่อดิจิทัลรายละเอียดสูงหรือเปล่า

380D DSD มาในตัวถังรูปแบบเดียวกับ Neo Series รุ่นอื่น ๆ แผงหน้าปัดของเครื่องมีสีให้เลือก 3 รูปแบบคือ สีดำล้วน, สีเงินล้วน และสีทูโทนซึ่งตรงกลางหน้าปัดจะเป็นสีดำตัดกันกับส่วนชิ้นด้านข้างที่เป็นสีเงิน เครื่องตัวอย่างสำหรับการรีวิวที่ผมได้รับมาก็เป็นสีทูโทนครับ ส่วนตัวผมเห็นว่ามันสวยลงตัวดีเหมือนกัน

ตามข้อมูลของผู้ผลิต DAC รุ่นนี้เป็นรุ่นที่พัฒนาจากพื้นฐานของ DAC รุ่น Evolution Series 650D ซึ่งเป็นรุ่นที่อยู่ในตระกูลสูงกว่า Neo Series นั่นหมายความว่าผมสามารถคาดหวังอะไรดี ๆ จาก Evolution Series ได้ด้วย ทั้งที่จ่ายน้อยกว่า

380D DSD มีช่องอินพุตสัญญาณดิจิทัลมาให้เลือกใช้อย่างจุใจถึง 8 ช่อง ครอบคลุมเกือบทุกประเภทของขั้วต่อสัญญาณดิจิทัลได้แก่ AES/EBU 2 ช่อง (XLR), Coaxial SPDIF 3 ช่อง (RCA 2 ช่อง และ BNC 1 ช่อง), TosLink 2 ช่อง และ USB 1 ช่อง

นอกจากนั้นแล้วยังให้เอาต์พุตสัญญาณดิจิทัลแบบ Coaxial SPDIF มาอีก 1 ชุด รวมทั้ง monitor loop สำหรับสัญญาณดิจิทัล SPDIF ที่เผื่อเอาไว้ให้ต่อพ่วงกับอุปกรณ์ดิจิทัลภายนอกอย่างเช่น อุปกรณ์ digital room correction หรือ digital recorder ตลอดจนช่องต่อสำหรับฟังก์ชันควบคุมอื่น ๆ เช่น SimLink, 12V trigger, RS-232 และ IR ports

ที่ด้านหลังเครื่องนี้ยังมีตัวอักษรระบุเอาไว้ชัดเจนว่าเครื่องรุ่นนี้ผลิตในประเทศแคนาดา

ด้านหน้าเครื่องโดดเด่นด้วยจอแสดงผลแบบ 7-segment สีแดงตัวเขื่องที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากระยะนั่งฟัง ด้านซ้ายมือของจอแสดงตำแหน่งอินพุตที่เลือกฟังเป็นตัวอักษรและตัวเลขตั้งแต่ ‘d1’ ถึง ‘d8’ ส่วนด้านขวามือแสดงฟอร์แมตและ sample rate ของสัญญาณที่เครื่องรับเข้ามาถอดรหัส

หากเป็นกลุ่มสัญญาณ PCM และ DXD จะแสดงเป็นตัวเลขความถี่ตั้งแต่ ‘44.1kHz’ ไล่ไปจนถึง ‘384kHz’ แต่ถ้าเป็นฟอร์แมต DSD จะแสดงผลเป็น ‘dSd’ สำหรับ DSD64, ‘dSd.2’ สำหรับ DSD128 และ ‘dSd.4’ สำหรับ DSD256

ปุ่มกดฟังก์ชันต่าง ๆ จะวางไว้ทางด้านซ้ายมือประกอบไปด้วยปุ่ม Standby, Display, Mute, Monitor และปุ่มกดเลือกอินพุต ทางด้านขวามือเป็นไฟ LED แสดงประเภทของอินพุตที่กำลังใช้งาน การควบคุมระยะไกลสามารถทำได้ด้วยรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดรุ่น CRM-2 ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกันกับเครื่องเสียงรุ่นอื่น ๆ ของ Moon ได้ด้วย

ในส่วนของงานวิศวกรรมทาง Moon ยังคงให้ความสำคัญกับโครงสร้างตัวถังที่มีเนื้องานเนี๊ยบและแน่นหนาสามารถต่อต้านการสั่นสะเทือนที่จะมารบกวนได้เป็นอย่างดี อย่าง 380D DSD แม้ว่าจะเป็นแค่ DAC ที่ไม่มีชิ้นส่วนกลไกอะไรข้างในตัวเครื่องมากมายแต่ก็ยังมีน้ำหนักถึง 7.5 กิโลกรัม

สำหรับส่วนที่เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์มีการใช้แผงวงจรพิมพ์แบบ 4 เลเยอร์ที่ฉาบด้วยทองแดงความบริสุทธิ์สูง เพื่อให้การออกแบบทางเดินสัญญาณสามารถทำได้สั้นและลัดตรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้การนำสัญญาณมีความเที่ยงตรงแม่นยำและมี S/N Ratio ที่ดีกว่า

ในส่วนของการจัดวางผังวงจรเป็นแบบสมมาตร มีการคัดเกรดอุปกรณ์ในส่วนต่าง ๆ เท่าที่เห็นก็เป็นไปตามมาตรฐานของ Moon ที่ไม่ได้เลือกใช้อุปกรณ์เกรดไฮโซแพงเว่อร์ ๆ ทั้งหลาย แต่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาตรฐานสูงซึ่งเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ความแม่นยำสูงอื่น ๆ ด้วย

ภาครับสัญญาณจากอินพุต USB มีวงจรแยกกันทางไฟฟ้า (galvanic isolation) เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนจากคอมพิวเตอร์หรือมิวสิคเซิฟเวอร์จะแพร่เล็ดลอดเข้ามา คอยทำหน้าที่เป็นกันชนคอยสกรีนเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง

ผ่านเข้ามาก็ยังเจอกับวงจรประมวลผลสัญญาณดิจิทัล M-AJiC32 (MOON Asynchronous Jitter Control in 32-bit mode) ที่ Moon พัฒนาขึ้นเอง คอยทำหน้าที่จัดการในส่วนของโหมดอะซิงโครนัสเพื่อกำจัด jitter สมทบด้วย “Dual Jitter Control System” เทคโนโลยีเฉพาะของ Moon ที่คอยทำหน้าที่ลด jiiter ให้ต่ำเตี้ยลงไปอีกจนถึงระดับต่ำกว่า 1 พิโกวินาที ซึ่งถือว่าต่ำมาก ๆ แล้วในอุตสาหกรรมนี้

ภาค DAC ใน 380D DSD เป็นหน้าที่ของชิพ SABRE32 Ultra DAC / Digital Filter เทคโนโลยี 32-bit Hyperstream เบอร์ ES9016 ของยี่ห้อ ESS ซึ่งเป็นเบอร์เดียวกันกับที่ใช้อยู่ใน Mytek Stereo 192 DSD และ Ayre QB-9 DSD

ส่วนของวงจรภาคอะนาล็อกเอาต์พุตจัดวงจรเป็นแบบบาลานซ์แท้ (fully balanced differential circuit) และมีการใช้วงจร DC servo ซึ่งทางเทคนิคแล้วมีข้อดีหลายประการทั้งในแง่ของไดนามิกเรนจ์, ไดนามิกเฮดรูม, การถ่ายทอดรายละเอียดตลอดจน S/N Ratio ที่ดีขึ้น ภาคอะนาล็อกฟิลเตอร์เป็นแบบ 18dB/octave

ในส่วนของภาคจ่ายไฟซึ่งทาง Moon มักจะเน้นเป็นพิเศษอยู่เสมอ ทำให้ใน 380D DSD ต้องใช้ภาคจ่ายไฟที่มีการควบคุมระดับแรงดันไฟฟ้า (regulation) มากมายถึง 11 ชุด และใช้หม้อแปลงเทอร์รอยด์แยก 2 ลูก แยกส่วนของวงจรดิจิทัลและอะนาล็อกเด็ดขาดจากกันตั้งแต่หม้อแปลงไฟฟ้าเลยทีเดียว

Connections and Upgraded Options
มันเป็นเรื่องที่สามารถคาดเดาได้ไม่ยากเลยครับว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของ DAC ตัวนี้คือกลุ่มผู้ที่ฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เพราะในบรรดาช่องอินพุตสัญญาณดิจิทัลที่ให้มามากมายถึง 8 ช่องนั้น ช่องอินพุต USB มีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นช่องอินพุตเดียวที่รองรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงไปถึงระดับ 32bit 384kHz และ DSD256 รวมถึง resolution อื่น ๆ ที่ต่ำกว่านี้ทั้งหมด ดังที่ได้แจ้งไว้แล้วข้างต้น อีกทั้งยังทำงานในโหมดอะซิงโครนัสยูเอสบีซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นระบบที่มี jitter ต่ำมาก

สำหรับอินพุต (และเอาต์พุต) สัญญาณดิจิทัลช่องอื่น ๆ นั้นแม้จะประสิทธิภาพต่ำกว่าแต่ก็รองรับสัญญาณ hi-res audio ขึ้นไปถึงระดับ 24bit 192kHz ซึ่งก็ถือว่าไม่ธรรมดาอยู่เหมือนกัน

นอกจากขั้วต่อต่าง ๆ ที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานแล้ว จะพบว่าพื้นที่บางส่วนด้านหลังเครื่องนั้นเผื่อเอาไว้สำหรับแผงวงจรส่วนเสริม (optional board) ซึ่งปกติถ้าไม่ได้ติดตั้งช่องว่างที่ถูกเจาะเอาไว้สำหรับขั้วต่อต่าง ๆ ของแผงวงจรส่วนเสริมจะถูกปิดเอาไว้ด้วยแผ่นเหล็กสีดำดูเรียบร้อย

แผงวงจรส่วนเสริมที่สามารถติดตั้งเพิ่มให้กับ 380D DSD ได้มีอยู่ 2 ออปชันด้วยกัน ออปชันแรกคือ แผงโมดูล MiND (MOON intelligent Network Device) ซึ่งถ้าติดตั้งเข้าไปจะเท่ากับเป็นการเพิ่มอินพุตชุดที่ 9 ให้กับตัวเครื่อง เป็นอินพุตสำหรับรับสัญญาณสตรีมมิ่งจากระบบ network audio ซึ่งสามารถรับได้ทั้งทางอินพุต Ethernet (RJ45) และแบบไร้สายทาง WiFi ซึ่งคุณสมบัติและการใช้งานจะเทียบเท่ากับเครื่องรุ่น 180 MiND ของ Moon

แผงวงจรเสริมอีกออปชันที่สามารถเพิ่มเข้าไปใน 380D DSD ได้ก็คือ โมดูลเอาต์พุตอะนาล็อกที่สามารถปรับระดับความดังของเสียงได้ (Optional variable analog outputs) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นปรีแอมป์ในตัวเพื่อให้สามารถต่อพ่วงกับเพาเวอร์แอมป์ได้โดยตรง

โมดูลนี้มีเอาต์พุตให้เลือกใช้ทั้งสัญญาณแบบบาลานซ์และซิงเกิลเอนด์ วงจรวอลุ่มปรับระดับความดังเสียงที่อยู่ในโมดูลนี้เป็นวงจรที่มีชื่อว่า ‘M-eVOL’ ซึ่ง Moon ได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานใน Evolution Series

จุดเด่นของวอลุ่มชนิดนี้คือมันถูกออกแบบขึ้นด้วยการนำตัวต้านทานเล็ก ๆ มาต่อกันเป็นลักษณะ array ทำให้แต่ละระดับความดังจะไม่มีการสูญเสียคุณภาพของเสียงลงไป อีกทั้งยังสามารถปรับเพิ่ม-ลดความดังได้อย่างละเอียดทีละ 1.0dB และสามารถควบคุมได้ด้วยรีโมตคอนโทรล

ก็นับว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจนะครับ จ่ายเท่าที่ต้องการจะใช้ ตรงไหนไม่ใช้ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งเครื่องตัวอย่างที่ส่งมารีวิวนี้ก็ไม่ได้ติดตั้งแผงวงจรเสริมทั้งสองมาด้วยนะครับ

สำหรับราคาของแผงวงจรเสริมทั้งสองเท่าที่ผมสอบถามล่าสุดคือเพิ่มเงินจากรุ่นมาตรฐานอีก 22,800 บาท สำหรับการเพิ่มโมดูล variable analog outputs หรือเพิ่มเงินอีก 46,000 บาท สำหรับการเพิ่มโมดูล MiND

Sound Quality
ในการรีวิวครั้งนี้ผมมุ่งเน้นไปที่การใช้งานอินพุต USB ของ 380D DSD เป็นหลักเนื่องจากเป็นอินพุตที่คาดว่าจะสามารถเผยศักยภาพของ DAC ตัวนี้ออกมาได้อย่างหมดเปลือก ขณะเดียวกันยังมีโอกาสได้ลองนำไปใช้งานกับทรานสปอร์ตสตรีมเมอร์รุ่น 180 MiND ด้วยครับโดยการเชื่อมต่อผ่านช่องเอาต์พุต AES/EBU ของ 180 MiND และอินพุต AES/EBU (d1) ของ 380D DSD

ปกติแล้ว Moon 180 MiND ที่ผมใช้งานอยู่ ผมจะต่อมันกับ DAC ของ Moon รุ่น 300D v.2 ซึ่งก็ให้น้ำเสียงออกมาได้ไพเราะน่าฟังและมีความเป็นดนตรีที่ดีในระดับหนึ่ง เป็นชุดคู่หูของ Moon ที่คุ้มค่าการลงทุนมาก ๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อ 380D DSD เข้ามาทำหน้าที่แทนมันก็ได้แสดงศักยภาพที่เหนือกว่าออกมาได้ตามคาด

ซิมโฟนีออเคสตร้าทุกชุดที่ผมเปิดฟังมันเหมือนมีจำนวนเครื่องดนตรีมากขึ้น อยู่ในโถงที่ถูกถ่วงขยายกว้างขึ้นไปในทุกมิติ ภาพรวมของเสียงทั้งหมดโปร่งโล่งกระจ่างชัดมากขึ้นแต่ไม่ได้สูญเสียความอิ่มเข้มของมวลเนื้อเสียงไปเลยแม้แต่น้อย เหมือนตัวต่อจิ๊กซอว์ที่มีขนาดภาพใหญ่ชัดเต็มตามากขึ้นอีกทั้งยังมีจำนวนชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยครับ

เสียงเบสดรัมและทิมปานีมีอิมแพ็คที่คมและแน่นกว่าเดิมมาก อีกทั้งยังทิ้งน้ำหนักลงพื้นแผ่ขยายออกไปทั่วทั้งห้องฟัง มันไม่ใช่ความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยแล้วล่ะครับ แต่มันไปไกลกว่ากันมาก

ในลักษณะการใช้งานเป็นชุด network audio เช่นนี้ทำให้ผมมีโอกาสได้ฟังเปรียบเทียบมันกับ Lumin A1 สตรีมเมอร์ระดับไฮเอนด์อีกตัวที่ผมได้รีวิวลงในเล่มเดียวกันนี้ ในแง่ของการรองรับไฟล์ high-res audio 180 MiND + 380D DSD ซึ่งรองรับ resolution สูงสุดที่ 24bit/192kHz ยังเป็นรอง Lumin A1 ที่รองรับไฟล์ DSD ด้วย

ทางด้านน้ำเสียงมันมีความแตกต่างกันในลักษณะที่มีดีกันไปคนละด้าน น้ำเสียงของ A1 นั้นเข้ากับเพลงทั่ว ๆ ไปได้ดี น้ำเสียงค่อนข้างผ่อนปรนกว่า ฟังง่ายกว่า ขณะที่ชุดของ Moon นั้นเป็นลักษณะของเสียงที่ค่อนข้างเถรตรงและชี้ชัดแจกแจงมากกว่า

ถ้าในแง่ของการใช้งานเป็นสตรีมเมอร์ Lumin A1 ดูเหมือนจะเด่นกว่า เบ็ดเสร็จเรียบง่าย ขณะที่ 380D DSD นั้นเหมือนเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับคนที่เล่น 180 MiND อยู่แล้วและต้องการอัปเกรด DAC

หรือจะเป็นคนที่เพิ่งซื้อ 380D DSD ไปต่อเล่นกับทรานสปอร์ตหรือคอมพิวเตอร์ แล้วต้องการเสริมคุณสมบัติด้าน network audio เข้าไปในระบบ ก็เพียงแค่เพิ่ม 180 MiND หรือใส่ option board เข้าไปในตัว 380D DSD เท่านั้นเอง

สำหรับการใช้งานอินพุต USB ถ้าใช้งานกับคอมพิวเตอร์ Mac สามารถใช้งานได้เลยไม่ต้องติดตั้งไดรเวอร์ แต่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ Windows จำเป็นต้องติดตั้งไดรเวอร์ที่สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ Moon เองมาติดตั้งเสียก่อน

ค่อนข้างจะเป็นจังหวะที่ดีที่ผมมีโอกาสได้ลองฟัง 380D DSD ทั้งในซิสเตมมูลค่าหลักแสนและมูลค่าเป็นหลักล้าน ต้องบอกว่ามันเด่นมากในซิสเตมหลักแสน ตลอดการฟังลำโพงอย่าง GoldenEar Triton One ผมรู้สึกอยู่เกือบตลอดเวลาว่าคุณงามความดีของเสียงที่ผมได้ยินได้ฟังอยู่นั้นส่วนหนึ่งต้องยกประโยชน์ให้กับ 380D DSD

เพราะเมื่อเทียบกับตอนที่ DAC ตัวอื่น ๆ มันก็ทำให้ผมคิดถึง DAC ของ Moon อยู่ร่ำไป ขณะเดียวกันมันก็ไม่ทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นตัวถ่วงเมื่อมีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในซิสเตมหลักล้าน หลายท่านที่ได้ฟังซิสเตมเดียวกันนี้ต่างแปลกใจเมื่อได้ทราบราคาของ DAC ตัวนี้ ส่วนใหญ่จะคิดว่าราคาของมันเป็น 2 เท่าของราคาที่เป็นอยู่จริง

โดยสรุปคร่าว ๆ น้ำเสียงของ 380D DSD เป็นลักษณะที่ค่อนข้างจริงจังขึงขัง สะอาด สมดุลเสียงไม่มีตำหนิ คล้าย ๆ กับแอมป์โซลิดสเตตชั้นดีทั้งหลาย มีความเป็นกลางค่อนข้างสูงสามารถฟ้องคุณภาพของการบันทึกเสียงออกมาได้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา โชว์มิติเวทีเสียงที่เด่นมากทั้งด้านกว้างและด้านลึก

โดยเฉพาะด้านลึกถอยไปไกลแล้วยังไม่ขาดความสัมพันธ์กับภาพรวมของเสียงทั้งหมด มิติตัวตนของเสียงที่อยู่ห่างออกไปในเวทีเสียงด้านลึกยังคงรักษาน้ำหนักและเนื้อเสียงเอาไว้ได้ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ใช่ว่าจะพบกันได้ใน DAC ราคาระดับนี้เสมอไป

มันให้พื้นหลังของเสียงที่สะอาด สงัดและนิ่งมากโดยเฉพาะกับการต่อใช้งานช่องบาลานซ์เอาต์พุตไปเข้าบาลานซ์อินพุตแท้ ๆ ของอินทิเกรตแอมป์อย่าง Ayre AX-5 หรือโคตรแอมป์ Swiss Made อย่าง Soulution 530 ทำให้รายละเอียดต่าง ๆ ของเสียงไม่จำเป็นต้องได้ยินเฉพาะเวลาเปิดฟังดัง ๆ เท่านั้นแต่ยังสามารถได้ยินครบถ้วนจากระดับเสียงที่แผ่วเบาได้ด้วยต่างหาก

ในระหว่างการเล่นเพลง บางครั้งที่มีการเปลี่ยนความถี่ sample rate ของเพลงที่เล่น จากเพลงที่ sample rate หนึ่ง ไปยังอีกเพลงที่มี sample rate หรือฟอร์แมตต่างกัน อาจจะมีดัง ‘แซ้บ’ เบา ๆ เล็ดลอดออกมาให้ได้ยินบ้างจากลำโพง แต่ไม่ถึงขั้นน่าเป็นกังวลอะไรเพราะเป็นระดับเสียงที่ค่อนข้างเบาครับ (ขณะเปิดฟังที่ระดับความดังตามปกติ)

นี่เป็นอีกสาระหนึ่งที่ผมจะบอกว่า ผมเจออีกแล้ว DAC ที่สามารถแสดงให้รับรู้ได้ว่าจริง ๆ แล้วเราควรจะได้ยินอะไรจากไฟล์เพลงที่มีรายละเอียดสูง ไฟล์ฟอร์แมต DSD ที่ริปมาจาก SACD หรือที่ได้มาจากซื้อด้วยวิธีดาวน์โหลดถูกเลือกมาเปิดฟังกับ DAC ตัวนี้ชุดแล้วชุดเล่า

โดยเฉพาะเสียงที่ได้ยินจากอัลบั้ม Super Audio CD Sampler ของสังกัด PantaTone หรือ Virtuoso Pieces of Chinese Percussion (2002 MARCO POLO 8.225963SACD) ของ Yim Hok-Man มันยิ่งตอกย้ำรายละเอียดความสมจริงทั้งในแง่ไดนามิก รายละเอียดยิบย่อยและความลื่นไหลต่อเนื่องที่หาได้ยากเหลือเกินในฟอร์แมตเสียงดิจิทัลยุคโบราณ แต่วันนี้สิ่งเหล่านี้มันได้เกิดขึ้นแล้วโดยมี 380D DSD เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดนั่นเอง

ช่วงหนึ่งของการลองฟังผมเลือกไฟล์เพลงตัวอย่างจากสังกัด 2L ของนอร์เวย์มาเปิดฟัง ในจำนวนนั้นมีทั้งไฟล์ 24/352.8 และ DSD128 คุณพระ! มันเสียงดีมาก ใส กระจ่างคมชัด สะอาดและเนียนลื่นหู การกระชากของไดนามิกเสียงจากเบาไปดัง ดังกลับลงมาเบา ฟังแล้วน่าตื่นตาตื่นใจมากจนแทบขนลุกขนชันกันเลยทีเดียว

เมื่อได้ยินเช่นนั้นผมเลยเกิดนึกอยากลองเปรียบเทียบงานเพลงชุดเดียวกันที่เป็นไฟล์ DSD64 และ DSD128 ของสังกัด OPUS3 จากสวีเดน ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า เสียงที่ได้จากDSD128 ฟังดูเหนือกว่า DSD64 อย่างชัดเจน ทั้งความใส ความคมชัด และรายละเอียดของเนื้อเสียง มันใสกระจ่าง สะอาดและเหมือนจริงมากครับ!

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าเป็นไฟล์ DSD256 สิ่งที่ผมได้ยินจาก DAC ตัวนี้จะน่าอัศจรรย์แค่ไหน น่าเสียดายว่าในขณะที่ผมรีวิวอยู่นี้ไฟล์ DSD256 ส่วนใหญ่ที่ผมมีจะเป็นไฟล์ตัวอย่างจากเว็บไซต์ http://nativedsd.com จึงยังมีโอกาสได้ลองฟังกับเพลงไม่มากนัก แต่ก็มากพอที่จะพิสูจน์ว่า DAC ตัวนี้สามารถรองรับ native resolution ของ DSD256 ได้จริง แถมยังเสียงดีมาก ๆ ไม่ทำให้ผิดหวังเลย

แต่ขอใส่หมายเหตุเอาไว้สักเล็กน้อยว่า สำหรับไฟล์ DSD256 ผมต้องเล่นจากโปรแกรม Foobar2000 ที่ติดตั้งและปรับแต่งตามที่ Moon แนะนำเอาไว้ในเว็บไซต์ของพวกเขาเท่านั้นจึงจะเล่นไฟล์ DSD256 ได้ ถ้าเป็นโปรแกรมเล่นเพลง JRiver 20 บน Windows 7 (64bit) ซึ่งใช้งานกันอยู่เป็นประจำ ผมพบว่ามันเล่น DSD256 กับ 380D DSD ไม่ได้

ไม่แน่ใจว่าเพราะมันมองเห็นเฉพาะไดรเวอร์ WASAPI ของ 380D DSD เท่านั้นหรือเปล่า เพราะถ้าเป็น DAC อื่น ๆ ที่รองรับ DSD256 อย่าง iFi micro iDSD ซึ่ง JRiver 20 มองเห็น native ASIO driver ของตัว DAC ด้วยก็สามารถเล่น DSD256 ได้ผ่านฉลุย

สำหรับการเล่นเพลงบนคอมพิวเตอร์ Mac ผมพบว่าทั้งโปรแกรม Audirvana Plus 2.0 และ Decibel ที่ผมใช้งานอยู่บน Mac ยังไม่รองรับการเล่นไฟล์ DSD256 ครับ

Affordable High-End DAC
Moon 380D DSD เป็น DAC ที่เสียงดีมากทั้งเวลาเล่นไฟล์ฟอร์แมต PCM และ DSD แต่ที่ทำให้ผมประทับใจเป็นพิเศษเห็นจะเป็นไฟล์ที่ระดับแตะขอบบน ณ เวลานี้ของแต่ละฟอร์แมต ไม่ว่าจะเป็น PCM 352.8, 384 หรือ DSD128, DSD256

จริงอยู่ว่าในปัจจุบันมี DAC หลายตัวที่สามารถเล่นไฟล์ในระดับนี้ได้ แต่ 380D DSD ทำให้ผมประทับใจในความแตกต่างที่เหนือกว่าอย่างชัดเจน คือไม่ใช่แค่เล่นได้ แต่มันสามารถแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า เราสมควรจะได้ยินอะไรบ้างเมื่อ high-res audio ได้รับการพัฒนาให้มี resolution สูงขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเทงบประมาณที่มีอยู่ไปจนหมดหน้าตัก ประการหลังนี่อาจจะสำคัญเป็นพิเศษนะครับ ในยุคที่สภาพเศรษฐกิจในบ้านเรายังเข้าเกียร์ว่างเช่นนี้


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
บริษัท เอลป้า ชอว์ จำกัด

โทร. 0-2256-9683-5
ราคา : สอบถามตัวแทนจำหน่าย (เนื่องจากเป็นเครื่องที่รีวิวไว้ตั้งแต่ปี 2557) 

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ