fbpx
EXPERIENTREVIEW

รีวิว MoonDrop : Starfield “หูฟังเสียงดีที่รังสรรค์จากศาสตร์และศิลป์”

ก่อนอื่นขอสารภาพว่าเราเพิ่งเคยได้ยินชื่อของ มูนดร็อป “MoonDrop” เป็นครั้งแรกเหมือนกับหลายท่านที่กำลังอ่านรีวิวนี้ จากประวัติความเป็นมานี่คือแบรนด์หูฟังจากประเทศจีนที่ไม่ได้เพิ่งจะมาเริ่มทำหูฟังขาย เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่มีจุดเด่นในด้านการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องความสวยงามและคุณภาพเสียงดังเช่น หูฟังรุ่นล่าสุดอย่าง มูนดร็อป รุ่น สตาร์ฟิลด์ (Starfield)

การออกแบบ
MoonDrop Starfield เป็นหูฟังประเภทอินเอียร์มอนิเตอร์ (IEM) มาพร้อมกับดีไซน์ที่โดดเด่นสะดุดตาด้วยสีน้ำเงินเข้มเมทัลลิกมีประกายเกล็ดระยิบระยับ (glittering shine) ชวนให้นึกถึงดวงดาวที่สุกสว่างพร่างพราวบนท้องฟ้าในคืนเดือนมืด

 

24AWG Litz 4N OFC Cable
ขั้วต่อสายหูฟังแบบ 2-pin

สายหูฟังแบบสายถักที่ถอดเปลี่ยนได้ที่ใช้ขั้วต่อแบบ 2-pin (0.78mm 2-pin connector) ก็มีสีสันที่มาใน theme เดียวกัน ตัวนำไฟฟ้าเป็นทองแดงปลอดออกซิเจนความบริสุทธิ์สูง (24AWG Litz 4N OFC)

หูฟัง Starfield ใช้ตัวขับเสียงแบบไดนามิกขนาด 10mm ที่มีไดอะแฟรมขึ้นรูปจากโพลีเอธิลีน (PET) ที่ได้รับการเสริมความแกร่งด้วยวัสดุที่มีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีอย่างเส้นใยคาร์บอนนาโนทูบ (carbon nanotube) ซึ่งมีคุณสมบัติที่แข็งแรงและเหนียวกว่าเหล็กกล้า มีความยืดหยุ่นสูง และมีน้ำหนักเบา

ทำให้ไดอะแฟรมที่มีความหนาเพียง 6 ไมครอน มีความแกร่งและทนทานต่อการขยับเพื่อผลักมวลอากาศให้เกิดเป็นคลื่นเสียงในตัวหูฟังได้ นอกจากนั้นภายในระบบมอเตอร์ของตัวไดรเวอร์ยังออกแบบขึ้นอย่างพิถีพิถัน

เช่น การเลือกใช้ขดลวดวอยซ์คอล์ย CCAW (Copper-clad Aluminum Wire) ของยี่ห้อ Daikoku จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีน้ำหนักเบามากทำให้ตัวไดรเวอร์สามารถตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันหรือ dynamic transient ได้ดี ทำงานร่วมกับแม่เหล็กรูบิเดียม พร้อมห้องอาการแบบ 2 ชั้น ชั้นในทำจากทองเหลืองเคลือบทองคำ เจาะรูระบายคลื่นเสียงด้านหลังเพื่อให้ได้สมดุลเสียงที่ดี

หูฟัง MoonDrop Starfield มาพร้อมแพคเกจกล่องกระดาษดีไซน์สวยงาม ในกล่องมีจุกซิลิโคนมาให้เลือกใช้งานทั้งหมด 6 คู่ 6 ขนาดต่างกัน, ฟิลเตอร์กันฝุ่นสำรอง 3 คู่ พร้อมปากคีบพลาสติกสำหรับช่วยเปลี่ยนตัวฟิลเตอร์ และกระเป๋าเล็ก ๆ สำหรับเก็บหูฟัง

Starfield เป็นหูฟัง IEM ขนาดไม่ใหญ่ที่ค่อนข้างมีน้ำหนัก ตัวบอดี้หรือ housing เหมือนทำจากโลหะเนื้อแน่นให้ความรู้สึกทนทาน เวลาสวมใส่ให้ความรู้สึกกระชับดี (ฟิตติงดี) การซีลเสียงภายนอกทำได้ดีมาก ๆ เรียกว่าน้อง ๆ ระบบที่เป็น active noise cancelling เลยทีเดียว

ตัวสายหูฟังที่มีขนาดค่อนข้างเล็กให้ตัวได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง และไม่มีไมโครโฟนิกให้รำคาญหู ด้วยขนาดที่เล็กถึงเล็กมากเมื่อเทียบกับหูฟังในระดับเดียวกันอย่าง iBasso IT01 อาจทำให้ระแวงได้ว่าใช้งานจริงจะทนทานแค่ไหน ซึ่งก็คงต้องดูกันในระยะยาวต่อไป ข้อดีของมันคือเวลาเก็บในกระเป๋าใบเล็กที่ให้มามันใช้พื้นที่น้อยดี

คุณภาพเสียง
MoonDrop Starfield เป็นหูฟังที่ใช้เวลาเบิร์นอินไม่นานสุ้มเสียงก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง จากสเปคฯ ความไวที่ 122dB/Vrms (@1kHz) และอิมพิแดนซ์เฉลี่ย 32 โอห์ม (±15% @1kHz) สอดคล้องกับการใช้งานจริงที่เป็นหูฟังขับง่าย สามารถใช้งานกับสมาร์ทโฟนหรือ DAC/AMP พกพาประเภทหางหนูทั่วไปได้สบาย ๆ

เอาเป็นว่าเรื่องของกำลังขับนั้นไม่ใช่ปัญหา ทว่าด้วยความที่ Starfield เป็นหูฟังที่มีแบนด์วิดธ์กว้างมากคือ 10Hz-36000 Hz (วัดแบบ free field วางไมค์ห่าง 1/4 นิ้ว) และมีบุคลิกเสียงค่อนข้างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในย่านความถี่เสียงกลางขึ้นไปจนถึงความถี่สูงซึ่งหูคนเราไวต่อความผิดเพี้ยนอย่างมาก ทำให้หูฟังรุ่นนี้ค่อนข้างฟ้องคุณภาพของ source หรืออุปกรณ์ต้นทาง มากกว่าที่จะพยายามประนีประนอม

นั่นหมายความว่า ถ้าหากคุณใช้สมาร์ทโฟนทั่วไปเล่นเพลงและช่องหูฟังที่มากับตัวเครื่อง เสียงที่ได้จาก Starfield อาจฟังดูขาด ๆ เกิน ๆ หรือตกหล่นไปบ้าง โดยเฉพาะถ้าหากสมาร์ทโฟนนั้นไม่ใช่รุ่นที่ตั้งใจทำออกมาให้เสียงดีเป็นพิเศษอย่าง LG V30/V30+

แต่ก็สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการต่อเพิ่ม DAC/AMP คุณภาพดีอย่าง iBasso DC02, Meizu Hi-Fi Audio Pro, Zorloo Ztella MQA DAC หรือ iFi hip-dac

Samsung Galaxy Note10+ ต่อกับ Meizu Hi-Fi Audio Pro

ยิ่งถ้าสมาร์ทโฟนรุ่นนั้น ๆ ไม่มีช่องเสียบหูฟังในตัวด้วยแล้ว DAC/AMP เหล่านี้ โดยเฉพาะที่เป็นดีไซน์หางหนูของ iBasso, Meizu หรือ Zorloo นั้นสามารถดึงศักยภาพของเสียงจากหูฟัง MoonDrop Starfield ออกมาได้ดีกว่าอะแดปเตอร์ของทางแบรนด์เองเช่น ตัวแปลงของ Apple หรือของ Samsung แน่นอนครับ ฟังเทียบรอบเดียวรู้เรื่องเลย ทั้งในแง่รายละเอียดและความกว้างของเสียง

ลองใช้งานกับ Zorloo Zetella MQA DAC ที่ต่อเล่นเพลงจากแล็ปท็อป

ในกรณีที่ใช้งานเครื่องเล่นเพลงแบบพกพา Sony NW-A100TPS สามารถใช้งานกับ Starfield ได้เข้าขากันดี สามารถใช้ฟังเพลงได้หลากหลายแนว แต่ที่เด่นสุดน่าจะเป็นแนวเพลงร้อง, แจ๊ซ, ดนตรีอะคูสติก หรือ ป๊อปร็อคก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

MoonDrop Starfield จัดได้ว่าเป็นหูฟัง IEM ราคาไม่แรงอีกรุ่นหนึ่งที่มีสมดุลเสียงดีมาก ทุกย่านเสียงที่มันถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงที่มีพลัง มีเนื้อเสียงและมีรายละเอียด ไม่ใช่ว่าเด่นย่านเสียงหนึ่งมาก ๆ แล้วไปป้อแป้ในย่านเสียงอื่น ๆ

ด้านการถ่ายทอดมิติเสียงก็มีสมดุลดี ด้านกว้างอาจไม่ถึงกับกว้างมาก (ก็ไม่ถึงคับแคบอึดอัด) แต่มันได้ด้านลึกเข้าเสริมทำให้รายละเอียดต่าง ๆ ในเพลงฟังดูมีเสน่ห์ ไม่ยัดเยียดหรือรุกเร้าจนเกินงาม จัดว่าเป็นหูฟังสายดีเทลอีกรุ่นที่ให้เสียงไม่ยัดเยียดหรือโฉ่งฉ่างเลย คนออกแบบเขาปรับจูนจัดบาลานซ์เสียงมาได้ดีเลย

ในอัลบั้ม Band On The Run ของ Paul McCartney and Wings (ไฟล์ hi-res audio 24bit/96kHz) หูฟังรุ่นนี้เหมาะมากถ้าจะฟังเพื่อแกะโน้ตกีตาร์หรือซินธีไซเซอร์ เพราะท่ามกลางเสียงมากมายในเพลงก็ไม่สามารถบดบังรายละเอียดของกีตาร์และซินธีไซเซอร์ที่ถ่ายทอดออกมาจากหูฟัง Starfield ได้

ด้านการตอบสนองความถี่เมื่อเทียบกับหูฟัง 1MORE รุ่น Quad Drivers ชัดเจนว่า Starfield ไม่มีเสียงทุ้มที่ใหญ่และอิ่มหนาเหมือนกับ Quad Drivers เสียงทุ้มของหูฟัง Starfield เป็นเสียงทุ้มที่มีน้ำหนัก กระชับและคมชัด เน้นสปีดและความเป็นธรรมชาติของเสียงทุ้มมากกว่าจะให้เนื้อเสียงที่อิ่มหนาเกินจริง มันจึงฟังดูคล้ายกับเสียงทุ้มจากลำโพงขนาดเล็กดี ๆ ที่ใช้ไดรเวอร์ขนาดไม่เกิน 4-5 นิ้ว มากกว่าเสียงทุ้มจากไดรเวอร์ขนาดใหญ่ (6.5-8 นิ้วขึ้นไป)

ฟังกับ Sony NW-A100TPS

เสียงทุ้มอาจฟังดูมีทรวดทรงที่ไม่ถึงกับอวบอิ่ม แต่ไม่ขาดหายหรือเบาบางอย่างแน่นอน ชัดเจนมากเมื่อลองฟังเทียบกับหูฟัง iBasso IT01 (3,990 บาท) และ IT01s (7,990 บาท) ทั้งที่ราคาของ Starfield (4,590 บาท /$109.99) นั้นใกล้เคียงกับ IT01 ทว่าเสียงทุ้มของ Starfield หรือภาพรวมของเสียงทั้งหมดฟังคล้ายไปทาง iBasso IT01s มากกว่า เพียงแต่มวลเนื้อเสียงในย่านความถี่ต่ำลึก ความกระจ่างชัดของรายละเอียดและการแยกระนาบชั้นของมิติเสียงยังเป็นรอง IT01s อยู่บ้าง

MoonDrop Starfield เหมาะกับใคร ?
นี่คือหูฟัง IEM ที่มีหน้าตาคูล ๆ แอบมุ้งมิ้งพองามเป็นจุดขาย ส่วนเรื่องเสียงมันเป็นหูฟังสายดีเทล สายบาลานซ์ ที่เน้นการถ่ายทอดเสียงจากต้นฉบับมากกว่าจะมาจูนให้เอาใจหูของใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าชอบเสียงทุ้มหนา ๆ หนัก ๆ เยอะ ๆ หรือมิติเสียงที่กว้าง โปร่งโล่ง สุดขอบฟ้า ขอแนะนำให้ข้ามหูฟังตัวนี้ไปเลย มันไม่ตอบโจทย์คุณแน่นอน

แต่ถ้าหากคุณต้องการหูฟังที่ให้เสียงครบ ให้ความสำคัญกับทุกย่านเสียง ฟังดนตรีได้หลากแนวหลายสไตล์ ใช้งานง่ายขับไม่ยาก หรือใช้เป็นหูฟังมอนิเตอร์เวลาตัดต่อวิดีโอหรือเช็คเสียง MoonDrop Starfield เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี ในราคาคุ้มค่า และไม่น่ามองข้ามเป็นอันขาด


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Hi-Fi Go

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ