fbpx
KNOWLEDGE

คลายสงสัย IP เท่าไร กันน้ำ-กันฝุ่นได้มากน้อยแค่ไหน?

ปัจจุบันเวลาที่เรามองหาสมาร์ทโฟน หรือ gadget พกพาล้ำ ๆ สักตัวไว้ใช้งาน ก็มีบางครั้งที่ผู้ผลิตเขามีการบอกคุณสมบัติของสินค้าว่า “สามารถกันฝุ่นผง” หรือ “กันน้ำ” ด้วยการบอกสเปคฯ เป็นค่า “IP” อะไรสักอย่าง (ส่วนมากจะต่อท้ายด้วยตัวเลข) ซึ่งบางครั้งก็เหมือนกัน บางครั้งแตกต่างกัน

เพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านได้ทราบว่า IP แต่ละค่าตัวเลขที่แจ้งเอาไว้หมายถึงอะไร เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง เราได้รวบรวมเอาไว้ในบทความนี้แล้วครับ

แต่ก่อนอื่นเราอยากให้คุณทราบว่า การที่ผู้ผลิตแต่ละรายมักโฆษณาเพียงสั้น ๆ ว่า “กันน้ำได้” “กันฝุ่นได้” หรือ “ทนทานต่อสภาพอากาศ” แต่นั่นอาจไม่ได้หมายความว่าโทรศัพท์มือถือของคุณกันน้ำลึกได้เท่ากับกล้องโกโปร หรือนาฬิกาคาสิโอจีช็อค

ค่า IP นั้นย่อมาจาก “Ingress Protection” เป็นการบอกให้ทราบถึงความสามารถในการป้องกันการถูกรบกวนจากอนุภาคทั้งที่เป็นของแข็ง และที่เป็นของเหลว ตัวอย่างการกำหนดระดับความสามารถเช่น IP68

โดยตัวเลขที่ต่อท้ายนั้นมาจากคุณสมบัติในการผ่านการวัดค่าตามคะแนนมาตรฐาน ซึ่งกำหนดขึ้นโดย International Electrotechnical Commission (IEC) บอกให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นผ่าน “มาตรฐาน IEC : 60529” ระดับใด หรือที่รู้จักและเรียกกันติดปากในชื่อของ ค่า IP (IPXX)

ตัวเลข 2 หลักที่ต่อท้าย IP มีความหมายดังนี้ ตัวเลขตัวแรกบอกให้ทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการปกป้องจากอนุภาคที่เป็นของแข็งได้ในระดับใด

ส่วนตัวเลขตัวที่ 2 เป็นค่าความต้านทานต่อน้ำ ยิ่งตัวเลขมีค่าสูงขึ้นเป็นการบอกให้รู้ว่า ผลิตภัณฑ์ได้รับการปกป้องที่ดีขึ้น

การจะได้รับสัญลักษณ์ IPXX ได้อย่างถูกต้องและเป็นทางการนั้น ตัวผลิตภัณฑ์จะต้องผ่านการทดสอบพิเศษโดยบริษัทอิสระที่ได้รับการรับรองให้ทำการทดสอบเท่านั้น ดังนั้นบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์จึงไม่สามารถให้คะแนนค่า IP กับสินค้าของตัวเองได้

เราจะมาดูกันว่าตัวเลขแต่ละค่านั้นมีอะไรแตกต่างกัน (โดยเราได้อ้างอิงข้อมูลจาก www.jabra.com) ตัวเลขหลักแรกจะมีค่าตั้งแต่ 0-6

IP0X: ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่ได้รับการป้องกัน เลย หมายความว่าฝุ่นผงทั่วไปสามารถเล็ดลอดเข้าไปได้สบายอย่างง่ายดาย

IP1X: สามารถป้องกันอนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 มิลลิเมตร ความหมายคือ ผู้ใช้ไม่สามารถยื่นมือเข้าไปแตะส่วนที่ถูกปกป้องเอาไว้ได้โดยตรง แต่นิ้วมือของเราอาจมีโอกาสแหย่หรือเล็ดลอดเข้าไปได้

IP2X: สามารถป้องกันอนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่า 12.5 มม. ในกรณีนี้นิ้วมือไม่สามารถแหย่หรือเล็ดลอดเข้าไปได้เลย

IP3X: สามารถป้องกันอนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่า 2.5 มม. กรณีนี้เครื่องไม้เครื่องมือทั่วไปหรือสายไฟเส้นใหญ่จะเล็ดลอดเข้าไปไม่ได้

IP4X: สามารถป้องกันอนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 มม.

IP5X: สามารถป้องกันอนุภาคในระดับที่เรียกว่าฝุ่นผงได้ กันฝุ่นละอองทั่วไปได้ประมาณหนึ่ง ฝุ่นละเอียดอาจเล็ดลอดผ่านเข้าไปได้ แต่จะไม่ทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดความเสียหาย

IP6X: ป้องกันอนุภาคของแข็งได้โดยสมบูรณ์ ผลิตภัณฑ์นี้มีคุณสมบัติป้องกันฝุ่นละอองทุกรูปแบบ

สำหรับตัวเลข IP ในหลักที่ 2 มีค่าตั้งแต่เลข 0-9 บอกให้รู้ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ กันน้ำได้ดีแค่ไหน

IPX0: ผลิตภัณฑ์นี้ไม่สามารถกันน้ำได้เลย ถ้าน้ำเข้าคือ เสียหายแน่นอน

IPX1: สามารถกันน้ำที่ หยดหรือกระฉอกในแนวตั้งลงบนตัวผลิตภัณฑ์ได้

IPX2: สามารถกันน้ำที่กระเซ็นหรือหยดใส่ตัวผลิตภัณฑ์ ในมุมเฉียงไม่เกิน 15 องศาได้

IPX3: สามารถทนทานการถูกฉีดน้ำเข้าใส่ได้จนถึงมุมเฉียงระดับ 60 องศา

IPX4: สามารถทนทานต่อการสาดกระเซ็นของน้ำจากทุกทิศทางได้

IPX5: สามารถด้านทานต่อการฉีดด้วยน้ำแรงดันต่ำจากทุกทิศทางได้

IPX6: สามารถต้านทานต่อการฉีดด้วยน้ำแรงดันสูงจากทุกทิศทางได้

IPX6K: สามารถต้านทานต่อการฉีดด้วย น้ำที่มีแรงดันสูงมาก (ไม่ค่อยมีให้พบเห็น)

IPX7: สามารถจมน้ำได้ลึกสุด 1 เมตร เป็นเวลา 30 นาที

IPX8: สามารถจมน้ำได้ลึกกว่า 1 เมตร ผู้ผลิตอาจระบุระดับความลึกที่ชัดเจนเอาไว้ด้วย

IPX9K: ทนต่อการ ฉีดด้วยน้ำแรงดันและอุณหภูมิสูง ในระยะใกล้ เป็นกรณีพิเศษที่จะต้องกำหนดด้วยมาตรฐานอีกลักษณะหนึ่งแยกออกไป (ไม่ค่อยมีให้พบเห็น)

อย่างไรก็ดี มีอย่างหนึ่งที่เราอยากจะบอกเตือนไว้นั่นคือ มาตรฐานที่มีตัวเลขสูงกว่า ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีคุณสมบัติครอบคลุมมาตรฐานตัวเลขในระดับต่ำกว่าที่เหลือทั้งหมด อย่างเช่น สินค้าที่บอกว่าผ่านมาตรฐาน IPX7 หรือ IPX8 แม้ว่าสามารถจุ่มน้ำได้ลึกถึง 1 เมตรสบาย ๆ แต่ก็อาจเกิดความเสียหายได้ถ้าหาก ฉีดด้วยน้ำแรงดันสูงในปริมาณมาก

หากผลิตภัณฑ์ใดสามารถทนต่อน้ำได้ใน 2 ลักษณะ ค่าที่ปรากกฎจะถูกกำกับไว้ทั้ง 2 ค่า เช่น IPX6 / IPX8 (ทนต่อการฉีดด้วยน้ำแรงดันสูง/จมน้ำได้ลึกกว่า 1 เมตร)

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบ IP เป็นการเฉพาะนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ประการใด ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของผลิตภัณฑ์

มิหนำซ้ำบางผลิตภัณฑ์ทำการทดสอบแค่เพียงการกันน้ำ แต่ไม่ได้ทดสอบเรื่องกันฝุ่นในกรณีเช่นนี้จะแสดงค่าเฉพาะในส่วนกันน้ำ ตัวอย่างเช่น “IPX7” จะสังเกตได้ว่าจะใช้ X สำหรับค่าการกันฝุ่น เป็นการบอกให้ทราบว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ส่งทดสอบเรื่องการป้องกันอนุภาคของแข็ง

บางผลิตภัณฑ์อาจจะไม่แสดงค่า IP ให้เห็น เนื่องจากผู้ผลิตใช้มาตรฐานการรับรองตัวอื่นที่เป็นลักษณะเดียวกัน ผู้ใช้จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบเครื่องหมายวัดคุณภาพการกันน้ำกันฝุ่นแบบอื่นๆ บนผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจน ว่าสามารถป้องกันได้จริงหรือไม่

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ