fbpx
HOW TOKNOWLEDGERECOMMENDED

รู้จัก LDAC เมื่อระบบเสียงไร้สาย คุณภาพเสียงไปไกลกว่าที่เคย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหากว่าคุณมีโอกาสได้เป็นเจ้าของหูฟังไร้สายรุ่นใหม่ ๆ ของโซนี่ อาจสังเกตได้ว่าหูฟังของคุณมาพร้อมกับเทคโนโลยี LDAC นอกจากหูฟังของโซนี่แล้ว ปัจจุบันก็มีหูฟังอีกหลายยี่ห้อที่เลือกใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน

ทว่า LDAC คืออะไร แตกต่างหรือเหนือกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างไรบ้าง ?

LDAC ระบบเสียงไร้สายที่มุ่งหมายเรื่องคุณภาพเสียง
LDAC เป็นเทคโนโลยี codec (Coder/Decoder) หรือการเข้ารหัส/ถอดรหัสสัญญาณเสียงไร้สายซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท Sony ยังไม่ชัดเจนว่า LDAC นั้นย่อมาจากอะไรเนื่องจาก Sony ไม่เคยเปิดเผยในเรื่องนี้

Codec LDAC นั้นแตกต่างจากเทคโนโลยีการสตรีม Bluetooth แบบเดิม ๆ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีสตรีมไร้สายบลูทูธซึ่งผสมผสานระหว่างการเข้ารหัส/ถอดรหัสแบบไร้การสูญเสีย (lossless compression) และการเข้ารหัส/ถอดรหัสแบบมีการสูญเสียข้อมูลบางส่วน (lossy compression) เพื่อใช้ในการส่งผ่านสัญญาณเสียงรายละเอียดสูง

What is LDAC wireless hi-res audio bluetooth codec
ภาพจาก Sony

สำหรับรายละเอียดทางเทคนิคแล้ว LDAC นั้นเลือกใช้การส่งข้อมูลด้วยบิตเรตระดับ 330/660/990kbps สำหรับ sample rate ที่ 48kHz และ 96kHz หรือด้วยบิตเรตระดับ 303/606/909kbps สำหรับ sample rate ที่ 44.1kHz และ 88.2kHz

คุณลักษณะเฉพาะดังกล่าวนั้นเหนือกว่าเทคโนโลยีบลูทูธเก่า ๆ อย่าง Codec SBC ที่กำหนดใช้โดยกลุ่ม Bluetooth Special Interest Group ซึ่งใช้บิตเรตเพียงแค่ 345kbps สำหรับ sample rate ที่ 48kHz หรือ Codec aptX ของบริษัท Qualcomm ที่ใช้บิตเรต 384kbps สำหรับ sample rate ที่ 48kHz นั่นหมายความว่าในทางเทคนิคแล้ว LDAC นั้นให้คุณภาพเสียงเหนือกว่า Codec บลูทูธอื่น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อพิจารณาในทางเทคนิคแล้วมีเพียง LDAC ที่บิตเรตสูงสุด 990kbps เท่านั้นที่ถือว่าเป็นระบบเสียงไร้สายที่เป็น wireless hi-res audio อย่างไรก็ดีมีการพิสูจน์ทางเทคนิคในเชิงลึกเช่นกันว่า LDAC นั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณเสียงแบบ hi-res audio ระดับ 24bit/96kHz ที่ให้คุณภาพเสียงระดับ studio quality อย่างแท้จริง เช่น บทความจากเว็บไซต์ SoundGuys หรือบทความจาก Android Authority

What is LDAC wireless hi-res audio bluetooth codec

LDAC ไม่ใช่ความพยายามเพียงหนึ่งเดียวในการนำเสียงความละเอียดสูงมาสู่โลกของหูฟังไร้สาย เนื่องจากทาง Qualcomm ก็ได้แนะนำ Codec aptX HD (หรือที่รู้จักในชื่อ aptX Lossless) ในปีค.ศ. 2016 เพื่อเปิดใช้งานการสตรีมด้วยบิตเรตที่สูงขึ้นถึงระดับ 576kbps เมื่อใช้กับหูฟังหรือลำโพง Bluetooth ที่ใช้งานร่วมกันได้ (มีตัวถอดรหัส aptX HD)

เราสามารถใช้งาน LDAC ได้อย่างไร ?
ในขณะที่ Sony พัฒนาเทคโนโลยี LDAC และได้ผลักดันการใช้งานอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ขณะที่ตัวเข้ารหัส LDAC นั้นเป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส นั่นเป็นเหตุให้ LDAC ได้ถูกนำไปใช้งานในผลิตภัณฑ์ของยี่ห้ออื่น ๆ ด้วย

รวมถึงสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เวอร์ชันตั้งแต่ Android 8.0 “Oreo” ที่เปิดตัวในปีค.ศ. 2017 ดังนั้นหากคุณมีสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เวอร์ชันดังกล่าวหรือใหม่กว่า นั่นหมายความว่าคุณสามารถใช้ LDAC กับผลิตภัณฑ์ไร้สายที่เข้ากันได้

เนื่องจากเทคโนโลยu LDAC นั้นพัฒนาโดยโซนี่ จึงไม่แปลกที่โซนี่มีผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุบ LDAC มากที่สุด รวมทั้งหูฟังไร้สายระดับพรีเมียมรุ่นใหม่ล่าสุดของโซนี่ทั้ง WH-1000XM4 และ WF-1000XM4 ขณะที่แบรนด์ Anker ก็ได้นำ LDAC ไปใช้งานในหูฟังรุ่น Soundcore Liberty 3 Pro

LDAC ยังถูกนำมาใช้งานในหูฟัง Technics EAH-AZ60, Edifier NeoBuds Pro, Philips Fidelio T1, HiFiMAN Deva, HiFiMAN Deva Pro หรือหูฟังเกมมิงเฮดเซ็ต Audeze Mobius ก็ได้นำ LDAC มาใช้งานด้วยเช่นกัน

LDAC ยังถูกนำมาใช้งานในลำโพงไร้สาย, ระบบเสียงโฮมเธียเตอร์, ลำโพงซาวด์บาร์, เครื่องเล่นดิจิทัลวอล์คแมน, เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลพกพา ฯลฯ หรือแม้แต่โมดูล Bluetooth DAC/AMP ของ FiiO รุ่น BTR3, BTR5 รวมทั้งเครื่องเสียงติดรถยนต์ Kenwood KKX9020DABS ก็รองรับ LDAC ด้วยเช่นกัน

What is LDAC wireless hi-res audio bluetooth codec
ภาพจาก majorhifi.com

สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Apple ยังไม่มีรุ่นใดเลยที่สนับสนุน LDAC ไม่ว่าจะเป็นหูฟังไร้สายตระกูล AirPods หรือ iPhone และ iPad แม้ว่าบริการสตรีมเพลง Apple Music ในปัจจุบันนั้นได้ให้บริการสตรีมในส่วนของ Lossless และ Hi-Res Lossless แล้วก็ตาม

สำหรับ Bluetooth Codec ที่ Apple ได้เลือกใช้ในผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของตนเองก็คือ AAC ซึ่งเน้นที่ความเสถียรในการเชื่อมต่อมากกว่าเรื่องของคุณภาพเสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพเสียงนั้นใช้ไม่ได้ เนื่องจากในผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ นั้น Bluetooth Codec เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ องค์ประกอบที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงเท่านั้นเอง

การเปิดและตรวจสอบการใช้งาน LDAC ในอุปกรณ์แอนดรอยด์
ปัจจุบันสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์แอนดรอยด์ส่วนใหญ่นั้นสนับสนุนเทคโนโลยี LDAC ทว่าในบางรุ่นอาจจำเป็นต้องเปิดใช้งานผ่านเมนูตัวเลือกนักพัฒนา (Developer options) โดยเข้าไปที่ Settings > Developer options > Bluetooth Audio Codec แล้วเลือก LDAC

What is LDAC wireless hi-res audio bluetooth codec
ภาพจาก Sony

สำหรับเมนูนักพัฒนานั้นสามารถเปิดใช้งานได้โดยเข้าไปที่ About phone แล้วกดซ้ำ ๆ ที่ Build number ประมาณ 7-10 ครั้ง อย่างไรก็ดีในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์บางรุ่นอาจสามารถเลือกตัวเลือก LDAC โดยตรงเลยในเมนูเชื่อมต่อบลูทูธ และส่วนเมนูปลีกย่อยหลังจากการเชื่อมต่อบลูทูธกับอุปกรณ์ที่เข้ากันได้แล้ว


ที่มา: Sony

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ