fbpx
KNOWLEDGE

Advanced HDR โดย Technicolor คืออะไร?

Technicolor เป็นส่วนหนึ่งของวงการฮอลลีวูดมานานกว่าศตวรรษ และตอนนี้มุ่งมั่นที่จะเข้ามาสร้างความโดดเด่นในบ้านของคุณ ด้วยอาวุธใหม่ที่เรียกว่า “Advanced HDR”

บริษัทได้เผชิญการแข่งขันอย่างเข้มข้นในตลาด HDR (High Dynamic Range) สำหรับที่การใช้งานในบ้าน ด้วย HDR เป็นตัวทำให้ภาพจากวิดีโอที่เล่นภายในบ้าน ณ วันนี้ดูดีขึ้นมาก ทั้งแง่การเพิ่มคอนทราสต์และการปรับภาพให้สดใสขึ้น

นั่นคือเป็นสิ่งที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทีวีที่มีคุณภาพดี มันให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจกว่าเรื่องรายละเอียดในระดับ 4K และถือได้ว่า 4K HDR คือคุณสมบัติพื้นฐานของทีวีแห่งอนาคต นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ Technicolor (และอีกหลายบริษัท) พยายามจะมีฟอร์แมต HDR ที่สอดคล้องกับสินค้าของตัวเอง

ตอนนี้มาตรฐานอุตสาหกรรมสำหรับ HDR10 ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รูปแบบการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix หรือ Amazon อยู่ในเครื่องรับโทรทัศน์ที่รองรับการเชื่อมต่อบลูเรย์แบบ 4K ตั้งแต่ระดับราคาไม่แพง นอกจากนั้นยังมีฟอร์แมต HDR หลัก ๆ อีก 3 รูปแบบไม่ว่าจะเป็น HDR10+, HLG (hybrid log gamma) และแน่นอนว่ารวมถึง Dolby Vision

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Technicolor ได้พัฒนา “Advanced HDR” ด้วยเช่นกัน แต่ในปัจจุบันมาตรฐานดังกล่าวมีอยู่ในทีวีทั่วไปโดยเฉพาะทีวีของทาง LG ถามว่ามันมีคุณสมบัติทางด้านเทคนิคเพียงพอที่จะเทียบชั้น Dolby Vision และ HDR10+ ได้หรือไม่? มันจะได้รับความนิยมแพร่หลายได้เหมือน HDR10 หรือไม่? มันจะมีตัวเลขหรือสัพท์ทางเทคนิคอะไรเพียงพอจะมาเรียกความสนใจได้หรือไม่ ต้องมาตามไปดูกัน

HDR-2-U
ขอให้ทราบไว้ว่า คำว่า “Advanced HDR” นั้นจะครอบคลุมกลุ่มเทคโนโลยี HDR ทั้งหมดของทาง Technicolor สำหรับมาตรฐานภายในบ้านมันจะมี HDR อยู่ 3 ฟอร์แมตด้วยกัน นอกจากนั้นยังตัวเทคโนโลยีที่เอื้อต่อผู้ให้บริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix หรือ Vudu อีกด้วย มาดูพื้นฐานของแต่ละฟอร์แมตกันว่าเป็นอย่างไร

SL-HDR1: Single-Layer HDR1
นี่น่าจะเป็นรูปแบบสัญญาณที่น่าสนใจที่สุด เป็นมาตรฐานสัญญาณพื้นฐาน SDR (Standard Dynamic Range) สำหรับทีวีทั่วไป แต่มีการ “ซ่อน” ข้อมูล HDR ไว้ภายใน หมายความว่าการออกอากาศเพียงครั้งเดียวสามารถใช้งานได้ทั้งกับทีวี SDR รุ่นเก่าทั่ว ๆ ไป และทีวี HDR รุ่นใหม่ที่รองรับสัญญาณ HDR ได้พร้อม ๆ กัน

สำหรับการถ่ายทอดสดกีฬา การสตรีมเพียงสัญญาณเดียวทำให้การกระบวนผลิตสื่อทำง่ายขึ้น นั่นหมายความว่าการบรรจุทั้งสัญญาณ HDR และ SDR เข้าไปในสัญญาณการแพร่ภาพนั้นทำได้ไม่ยาก การทำเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้แพร่ภาพ : วิธีที่ง่ายกว่าราคาก็จะถูกกว่าด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้กับทีวีทุกเครื่อง

ส่วนข้อเสียจะเกิดการสูญเสียคุณภาพของภาพและการบรรจุเมทาดาต้าแบบไดนามิค (มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา) ทำได้น้อยกว่ามาตรฐาน SL-HDR2 แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงดีกว่ามาตรฐาน SDR หากจะเปรียบเทียบคุณภาพในการทำงานของ SL-HDR1 จะคล้ายคลึงกับ HLG (Hybrid Log Gamma) สำหรับรูปแบบสัญญาณ SL-HDR1 นี้จะถูกนำไปใช้กับมาตรฐานการแพร่ภาพแบบ ATSC3.0 ในอนาคต

ตัวสัญญาณ SDR และ HDR ในการส่งรูปแบบสัญญาณ SL-HDR1 หนึ่งครั้งนั้น ภาพทางด้านบนคือโครงสร้างรูปแบบการรวมสัญญาณเนื้อหาต่าง ๆ ที่จะส่ง ส่วนภาพทางด้านล่างเป็นส่วนที่ทีวีจะดึงไปใช้ โดยสัญญาณ SDR จะถูกสร้างจากสัญญาณ HDR โดยอัตโนมัติ

SL-HDR2: Single-Layer HDR2
ฟอร์แมตนี้เป็น HDR แบบเต็มรูปแบบโดยใช้พื้นฐานของ HDR10 นำมาเพิ่มข้อมูลเมทาดาต้าแบบไดนามิคลงไป ทำให้แต่ละภาพในแต่ละฉากบนทีวีของคุณดูดีที่สุด

การทำงานจะทำการเพิ่มข้อมูลเมทาดาต้าแบบคงที่ลงไปในสัญญาณ HDR ในทุกฉากแทนที่จะใช้เพียงหนึ่งข้อมูล HDR กับหนังทั้งเรื่อง โดยมี HDR10+ และ Dolby Vision นำการใช้เมทาดาต้าแบบไดนามิคนี้ไปใช้

ข้อเสียของการใช้รูปแบบสัญญาณลักษณะนี้มีเช่นเดียวกับ HDR ทั่วไป ทีวีแบบ SDR จะไม่สามารถนำสัญญาณดังกล่าวไปใช้ได้ แต่นี้ไม่ใช่ปัญญากับการสตรีมมิ่งหรือกับบลูเรย์ 4K โดยสัญญาณ SL-HDR2 สามารถสตรีมไปกับการสตรีมสัญญาณ SDR ได้ สำหรับการแพร่ภาพออกอากาศการขาดสัญญาณ SDR ทำให้ผู้ที่ใช้เครื่องรุ่นทั่วไปใช้งานไม่ได้

SL-HDR3: Single-Layer HDR3
ฟอร์แมตนี้ใช้รูปแบบสัญญาณ HLG เป็นพื้นฐาน แต่เพิ่มเมทาดาต้าเข้าไป เป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพของภาพสำหรับรูปแบบนี้ให้ดีขึ้น แต่นี่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นหลังจากนี้คงมีรายละเอียดออกมามากขึ้น

นับว่าเป็นตัวย่อที่เยอะเลยทีเดียวกับ 5 ตัวอักษรและ 3 ตัวเลข แต่ถึงอย่างไรสิ่งสำคัญที่ควรจดจำคือ SL-HDR1 สามารถทำงานร่วมกับทีวีที่ไม่ใช่ SDR ได้ ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการแพร่ภาพออกอากาศ

ส่วน SL-HDR2 ใช้เมทาดาต้าแบบไดนามิค เป็นการเพิ่มคุณภาพของรูปแบบสัญญาณ HDR ให้สูงขึ้น โดยมี HDR10+ กับ Dolby Vision นำไปใช้

ส่วน SL-HDR3 ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นโดยเชื่อมโยงกับ HLG ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเช่นกัน จึงยังคงไม่ต้องกังวลใด ๆ ในขณะนี้

นี่เป็นภาพ SDR ที่สร้างขึ้นจากสัญญาณวิดีโอ HDR โดยใช้รูปแบบสัญญาณ HLG (ซ้าย) และรูปแบบสัญญาณ SL-HDR1 (ขวา) : ข้อมูลจาก Whitepaper ของ Technicolor

บางที Advance HDR อาจจะรวมถึงกระบวนการแปลงสัญญาณ SDR ไปเป็น HDR ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ Technicolor ที่มีชื่อเรียกว่า “Intelligent Tone Management” สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมจะขออธิบายในลำดับถัดไป

คุณสามารถดูได้จากที่ไหนบ้าง?
ด้วยรูปแบบสัญญาณวิดีโอที่มีอยู่ คำถาม 2 ข้อก็คือ ในปัจจุบันมีเนื้อหาที่พร้อมจะใช้งานอยู่หรือไม่ และคุณสามารถเล่นเนื้อหาดังกล่าวบนทีวีของคุณได้หรือเปล่า

คำตอบสั้น ๆ คำตอบแรกยังไม่มีก็เลยนำไปสู่คำตอบที่ 2 (จะมีก็ต่อเมื่อคอนเทนท์พร้อม)

ขณะนี้ยังไม่มีสื่อที่จะรองรับกับ Advanced HDR ไม่ว่าจะเป็นทีวี บลูเรย์ หรือเกม แต่ก็มีวิดีโอทดสอบปล่อยออกมาอย่างที่เห็นจากภาพทางด้านบนในการแข่งขันเบสบอลของทีม Dodgers แต่ในแง่ของคอนเทนต์ใหม่ ๆ ยังไม่มีปรากฏ

ซึ่งอาจจะต้องรอการเปลี่ยนแปลงเมื่อระบบการแพร่ภาพ ATSC 3.0 มาถึงในปี 2020 หากถ้าเราได้เห็นระบบ ATSC 3.0 เริ่มแพร่ภาพโดยใช้ SL-HDR1 เราคงจะได้เห็นระบบอื่นอย่าง การสตรีมมิ่งด้วย SL-HDR2 เป็นที่แพร่หลาย อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะเห็น SL-HDR2 ในแผ่นบลูเรย์ Ultra HD ด้วย

ภาพเปรียบเทียบการให้สีขาวที่สว่างกว่าและสีดำที่ดำลึกกว่า เมื่อใช้เทคโนโลยี Advanced HDR ของ Technicolor (ภาพล่าง)

แม้ว่าจะมีการเริ่มแข่งขันกันของระบบ HDR แต่ทาง LG ยังอุบไต๋สำหรับ Technicolor ไว้อยู่ หากคุณซื้อทีวี LG ในวันนี้บางทีคุณอาจจะได้ทีวีที่สามารถถอดรหัส Advanced HDR ไปก็เป็นได้

ภาพเปรียบเทียบการให้สีขาวที่สว่างกว่าและสีดำที่ดำลึกกว่า เมื่อใช้เทคโนโลยี Advanced HDR ของ Technicolor (ภาพล่าง)

นี่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของทาง LG เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบพื้นฐานต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้ที่สามารถอธิบายความได้ดีที่สุดเห็นจะเป็น ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ คุณ Tim Alessi:

“แนวทางของ LG ได้ให้การสนับสนุนรูปแบบ HDR ที่หลากหลาย เพื่อส่งมอบประสบการณ์จากโรงภาพยนตร์ไปสู่บ้านเรือน และลบความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับความสามารถในการทำงานร่วมกันได้

อย่างเช่น เราเป็นเจ้าแรก ๆ ที่แนะนำและสนับสนุนให้สัมผัสประสบการณ์ระดับพรีเมี่ยมอย่าง Dolby Vision และให้การสนับสนุน HLG นอกเหนือไปจากการให้การสนับสนุน HDR10 เราจึงเล็งเห็นถึงการรวม Advanced HDR จาก Technicolor เข้ามาสร้างความต่อเนื่องของปรัชญานี้”

แน่นอน ทีวี LG ไม่รองรับ HDR10+ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะเนื่องจากเป็นรูปแบบที่ถูกสร้างขึ้นโดยคู่แข่งอย่าง ซัมซุง และเช่นกัน Dolby Vision ไม่รองรับในทีวีของทางซัมซุง

OLED ของทาง LG และ UHD LCD รุ่นใหม่ในเร็ว ๆ นี้ของ LG จะมีโหมดปรับภาพ “Technicolor Expert Mode” เป็นหนึ่งในโหมดปรับภาพมาตรฐานที่ติดมากับเครื่อง ซึ่งทาง LG รับรองภาพที่เห็นจะมีความใกล้เคียงกับที่ได้จาก Technicolor mastering suites

นอกเหนือจาก LG แล้ว ยังมี Funai บริษัทผลิตทีวีภายใต้แบรนด์ Philips และอีกหลายแบรนด์ ได้ให้การสนับสนุน Technicolor Advanced HDR สำหรับสินค้าในปี 2019

แม้ขณะนี้ LG จะเป็นบริษัทเดียวที่สนับสนุน Advanced HDR จาก Technicolor แต่เร็ว ๆ นี้คงมีเพิ่มเข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงและขยายฐานลูกค้าให้โตยิ่งขึ้น ใน 2 ปีที่ผ่านมา Technicolor น่าจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่านี้ หากมีรูปแบบและความพยายามหาสินค้าให้ผู้ผลิตสื่อได้ผลิตให้ผู้บริโภคได้ดู

มีบริษัทอื่นอีกหรือไม่ที่สนับสนุน Technicolor Advanced HDR? ดูเหมือนว่าซัมซุงจะไม่สนใจ เนื่องจากผลักดัน HDR10+ ของซัมซุงเอง Vizio ใช้ Dolby Vision ตั้งแต่เริ่มต้น ในขณะที่ Sony เพิ่งมาใช้ Dolby Vision ในปีนี้ ทั้ง 2 บริษัทอาจจะหันมาสนับสนุน Advanced HDR ในอนาคต

Advanced HDR ปรากฏอยู่ในร่างมาตรฐานการออกอากาศที่กำลังจะใช้เป็นมาตรฐานในจีน หากมาตรฐานดังกล่าวถูกนำมาใช้จริงนั่นก็หมายความว่าบริษัทต่าง ๆ ในจีนมีความพร้อมในการจัดจำหน่ายมากขึ้น TCL หรือ Hisense อาจมีการตอบรับ

ทาง Technicolor อ้างว่าเราจะได้เห็นทีวีที่ติดตั้งตัวถอดรหัสสัญญาณ Advanced HDR มาในเครื่องจำนวนมากขึ้นอย่างแน่นอนในงาน IFA trade show ช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ อีกทั้งยังแจ้งมาอีกว่าจะได้เห็นบริษัทที่รองรับ Advanced HDR มากขึ้นในงาน CES 2019 ในช่วงเดือนมกราคม ปีหน้าด้วย

Advanced HDR ของ Technicolor น่าสนใจพอสมควร แต่ในขณะนี้ดูยังไกลไปสำหรับสิ่งที่ต้องมีในทีวีเครื่องถัดไป และยังไม่มีความมั่นใจในความสำเร็จของ Advanced HDR

คำถามก็คือ… ตอนนี้ Technicolor สามารถโน้มน้าวผู้ผลิตสื่อต่าง ๆ ให้หันมาเลือก Advanced HDR ได้หรือยัง โดยภาพที่ได้มีคุณภาพดีด้วยการลงทุนที่ต่ำเพียงพอแล้วหรือไม่เมื่อเทียบกับมาตรฐาน HDR ตัวอื่น ๆ ด้วยวิธีการดังกล่าวผลลัพธ์ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ตามรอดูกันต่อไปว่าผลจะออกมาเช่นไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใกล้มาถึงของ ATSC3.0

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ