fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รีวิว LG : OLED65E8PTA

พักนี้อดไม่ได้ที่ต้องหาโอกาสใช้เวลาผ่อนคลายสมองกันบ้าง ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีทองปีหนึ่งของ OLED TV ก็ว่าได้ เพราะอย่างน้อยเราก็ได้เห็น OLED TV จากแบรนด์อื่น ๆ กันบ้าง จึงทำให้อุ่นใจได้ว่าเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่มีการสนับสนุนจากผู้ผลิตทีวีชั้นนำ ไม่ใช่ทำเองผลิตเองอยู่คนเดียวอีกต่อไป

ปัญหาถัดมาของเทคโนโลยี OLED TV สำหรับหลาย ๆ คนก็คือ ทำยังไงให้ราคามันต่ำลง ซึ่งมันอาจจะยังไม่มีเห็นในเร็ววันนี้ เพราะด้วยคุณภาพจากเทคโนโลยีของมันถือว่ามันถูกวางตัวอยู่ในตลาด Hi-End ของทีวีในแบบไดเรกต์วิว อย่างไม่ต้องสงสัย

ปีนี้ OLED TV ของ LG ก็ได้ยกระดับความสามารถของทีวีของตนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ถือว่ามันเป็น OLED TV ตัวแรกในปี 2018 ที่เราได้ทดสอบกับ OLED65E8PTA OLED TV ขนาด 65 นิ้วตัวนี้จะยกระดับความเป็น Hi-End ของทีวีของตนออกมาได้อย่างชัดเจนขนาดไหน ในขณะที่ตัวเลือกปัจจุบันนี้มันไม่ใช่จะมีแต่ LG อีกต่อไป คำตอบของผมมันวางอยู่ในห้อง รอให้เราทดสอบอยู่ตรงหน้าแล้ว

OLED65E8PTA คือ Hi-end OLED ทีวีที่จะมาไขความลับให้กับคนที่กำลังจะจ่ายเงินเรือนแสนเพื่อซื้อทีวีเครื่องนึง มันจะตรึงให้คุณนั่งอยู่ติดกับเก้าอี้ตรงหน้ามันได้นานขนาดไหน มาทำความเข้าใจกับมันให้กระจ่างกันเลยครับ

บางแล้วยังเสียบวางอยู่บนโต๊ะได้ สุดยอด!
ปีที่แล้ว OLED แสดงให้เห็นว่าเรื่องความบางนั้นอย่าได้คิดจะมาแข่งกับเทคโนโลยีนี้ ในรุ่น W7 มันถึงขนาดเป็นวอลล์เปเปอร์ติดผนังมาแล้ว เรื่องการดีไซน์ทีวีในเจเนอเรชันถัดไปของ LG จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะว่าผู้บริโภคเสพความบางกันจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว E8 ตัวนี้จึงเน้นออกมาในรูปแบบของความหรูหราซะมากกว่า ด้วยการนำวัสดุที่เป็นกระจกมาใช้เพื่อทำให้มันสามารถตั้งหรือแขวนได้ตามใจชอบ

เห็นได้ชัดว่า LG จำเป็นต้องเปลี่ยนมันให้สวยงามขึ้น LG จึงปรับปรุงรูปลักษณ์ของ OLED65E8 จากช่วง E7 ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่พาเนล OLED ยังคงติดอยู่กับแผ่นกระจกอยู่ กระจกจะถูกทำให้กว้างขึ้นไปอีกเล็กน้อยจากขอบทั้งหมดของหน้าจอ แต่หน้าจอจะถูกห่อด้วยกรอบสีดำบาง ๆ เหมือนเดิม

ปล่อยให้กระจกเลยออกมารอบด้านบนซ้ายและขวาเกือบสองสามนิ้ว ในขณะที่เวลานำมาตั้งอยู่บนโต๊ะมันก็ต้องมีขาตั้งใช่ไหมครับ ผมว่าวิศวกรของ LG คงไปเห็นที่ตั้งนามบัตรบนโต๊ะทำงานเป็นแน่ ทีวีตัวนี้ก็เปรียบเหมือนกับนามบัตรเสียบลงไปบนขาตั้งแล้วล็อกด้านหลังด้วยนอต 3 ตัว เพื่อบีบแท่งโลหะที่ยึดจอเข้ากับขาตั้ง แค่นั้นเป็นอันเสร็จพิธี ฉลาด ช่างสังเกตชะมัด

เป็นการออกแบบที่ใช้วัสดุน้อยชิ้นแต่ก็ได้ประโยชน์ใช้งานตามที่ต้องการ ด้วยขาตั้งตัวนี้ทำให้มันเอียงทำมุมประมาณ 15 องศา คุณสามารถวางบนชั้นวางเตี้ย ๆ หรือวางบนพื้นในแนวทางการออกแบบสมัยนี้ที่นิยมดีไซน์บ้านให้โล่ง ๆ เน้นการตกแต่งที่มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น ทีวีตัวนี้มันจึงเหมือนกับกรอบรูปที่ตั้งให้เป็นจุดสนใจ แต่ก็ไม่ได้เด่นซะจนดูแปลกตาไป

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกก็คือ LG ดีไซน์ขาตั้งของ E8 ตัวนี้ออกมาได้อย่างกล้ามาก ๆ จนเกือบทำผมไม่กล้าทดสอบ เพราะมันเอียงไปข้างหลังเล็กน้อย และเสียบกับฐานที่กว้างเพียงแค่ 50 ซม. มันจึงสวิงได้เมื่อเราไปสัมผัสมัน ก็คงต้องปล่อยมันอยู่อย่างนั้น เวลาจับเวลาเสียบอะไรก็ระวังมากขึ้น มันทำให้ขอบกระจกอยู่สูงขึ้นมาจากพื้นนิดเดียว

อันที่จริงก็พอที่จะให้สายสัญญาณเล็ก ๆ ลอดไปด้านหน้าได้ อย่างตอนทดสอบผมใช้ซาวด์บาร์วางอยู่ด้านหน้าก็ให้สาย HDMI ลอดออกมาที่ซาวด์บาร์ได้พอดี

คุณสมบัติเด่น
ด้านหลังของ E8 ตัวนี้เป็นที่คาดเดาได้ว่าจะเป็นตัวเลือกในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ โดยแบ่งเป็นการรับอินพุตที่มาจากด้านหลังตรง ๆ และเสียบเอาจากด้านข้างโดยทำฝาปิดช่องรับนี้เอาไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย ช่อง HDMI ซึ่งมีทั้งหมด 4 ช่องรองรับ 4K HDR สูงสุดที่ 60 เฟรมต่อวินาที แล้วก็ยังมีช่อง input USB ให้มากถึง 3 ช่อง ซึ่งเป็นจุดเด่นแต่ไหนแต่ไรของทีวีที่มาจากค่ายนี้

จุดเชื่อมต่อมีให้ใช้อย่างเหลือเฟือโดยเฉพาะ USB มีให้ถึง 3 ช่อง

ไม่เพียงแค่มีช่องรับ input ที่เหลือเฟือแล้ว ตัว Media Player ในทีวีเองยังมีความสามารถที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เล่นไฟล์วิดีโอสมัยนี้ได้ทุกชนิดนะผมว่า มีฟังก์ชันไม่แพ้พวกกล่อง mediabox ที่แยกออกมาต่างหาก LG ยังใช้ WebOS เป็นตัวเชื่อมโยงการใช้งานสู่ Smart TV ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ไอคอนที่เข้าถึง คอนเทนต์ต่าง ๆ ยังเป็นแบบแถวเลื่อนอยู่ด้านล่างของหน้าจอเหมือนเดิม

ปุ่มปิด-เปิดด้านหลัง มีไว้เผื่อฉุกเฉิน

OLED65E8 ตัวนี้ยังแนะนำระบบ ThinQ AI ใหม่ของ LG เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ThinQ เป็นระบบแพลตฟอร์มแบบเปิดซึ่งช่วยให้อุปกรณ์และเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านของคุณสามารถสื่อสารกันได้โดยที่ทีวีอาจเป็นศูนย์กลางการควบคุมและรับข้อมูลส่งต่อให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อทั้งหมดเหล่านี้ถ้าจะเริ่มเข้าสู่ยุค IoT จริง ๆ กันแล้ว

ส่วนสำคัญของ ThinQ คือความสามารถในการควบคุมด้วยเสียง ฟังก์ชันนี้ได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับตัวเลือกเสียงที่มีให้ในทีวี OLED ของปีที่แล้ว มันทำความเข้าใจกับคำพูดในการพูดคุยมากขึ้น และครอบคลุมการควบคุมการตั้งค่าทีวีได้หลากหลายขึ้น ระบบการจดจำเสียงยังพิสูจน์ว่าเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการค้นหาเนื้อหาจากหลากหลายแหล่งที่มา รวมถึง Netflix, YouTube และในอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศ

ขั้วต่อด้านหลัง

แต่ที่สำคัญคือระบบนี้ยังต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ก็เป็นภาษาอังกฤษที่ไม่ต้องดัดสำเนียงให้เหมือนกับเจ้าของภาษาเป๊ะครับ OLED65E8 ซึ่งคงมีการบ้านของระบบนี้ที่ทำให้ต้องขบคิดก็คือ ต้องทำให้มันเข้าใจทั้งสองภาษา เพราะส่วนใหญ่เราก็ยังใช้ภาษาไทยในการเสิร์ชอยู่ดี

ลำโพงรุ่น RW-1 ใช้เป็นรูปประกอบเท่านั้น ไม่ได้ขายรวมอยู่ในชุดนี้

Alpha 9
แม้คุณสมบัติพิเศษที่กล่าวมามันจะทำให้เห็นความแตกต่างระหว่าง OLED ในปีนี้กับปีที่แล้ว แต่คุณลักษณะอัจฉริยะของ OLED65E8 จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีตัวประมวลผลตัวใหม่ที่ชื่อ Alpha 9 ที่อยู่ใน OLED รุ่นใหม่ของแอลจี แน่นอนว่าชิปประมวลผล Alpha 9 มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของภาพ, การปรับ และจัดการสัญญาณรบกวน, การประมวลผลภาพเคลื่อนไหว, ความละเอียดของสีสัน รวมไปถึงการทำระบุตำแหน่ง Tone Mapping แบบไดนามิกของแอลจีสำหรับแหล่งข้อมูลจาก HDR เพื่อทำให้การแสดงผลสมบูรณ์ขึ้น

เช่นเดียวกับ OLED TV ของปีที่ผ่านมา OLED65E8 สามารถรองรับรูปแบบ HDR ที่หลากหลายได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม HDR 10, Dolby Vision และรูปแบบ HDR ที่ออกอากาศในฟอร์แมต HLG นอกจากนี้ยังมีการตั้งค่าโหมดการปรับแต่งภาพโดยผู้เชี่ยวชาญด้าน HDR ของ Technicolor เพิ่มขึ้นมา ซึ่งดูแล้วก็เป็นโหมดที่ดูสบายตามากครับ เหมาะกับการรับชมในที่แสงน้อย ๆ ที่ต้องการคุณภาพของสีสันที่ถ่ายทอดออกมาใกล้เคียงกับระบบฟิล์มแบบเดิม

คุณลักษณะล่าสุดทั้งหมดที่น่าสนใจนี้ถูกสร้างขึ้นโดย Alpha 9 กลับได้รับการปรับเทียบขั้นสูงโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิดีโอระดับมืออาชีพ ซึ่งดูเหมือนว่าสมาร์ททีวีตัวนี้จะได้รับการประคบประหงมมาเป็นพิเศษ ให้มันคงดึงดูดผู้ที่หลงใหล ‘ภาพ’ ได้สนิทอย่างเห็นได้ชัด

Setup
ที่ผมคิดว่าเป็นการปรับปรุงบางอย่างของ OLED65E8 คือความสว่าง ความสว่างสูงสุดในหน้าต่าง HDR ไล่สเกลไปน่าจะเลย 800 nits กับการวัดค่าแถบสีที่เรียกว่า HDR Cripping สังเกตดูว่าทุกสีจะไปหยุดอยู่ที่ความสว่างที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเราไม่ได้เห็นแบบนี้บ่อยนัก ถ้าเป็นพวกแอลอีดีทีวีบางครั้ง บางสีมักจะสว่างกว่า บางสีก็จะด้อยกว่า

แถบความสว่างของสัญญาณ HDR ที่ไปถึงกว่า 800 nits สว่างกว่าตัวเดิม

แบบนี้คาดเดาได้ว่าในโหมด HDR จะทำให้สีสันสดใสเทียบจากแอลซีดี OLED ปีที่ผ่านมาซึ่งหมายความว่า OLED65E8 มีความสว่างกว่า E7 เพียงเล็กน้อย แต่ภาพ HDR ของ OLED65E8 จะเจิดจ้าขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับรุ่น E7 ในโหมด HDR

แถบสีที่ทำได้ดีมาก ไล่สเกลได้ใกล้เคียงกันทุกสี

เป็นอีกครั้งที่ LG ทำได้ดีกับการใช้ Dynamic Tone Mapping ตัวใหม่ร่วมกับชิปประมวลผล Alpha 9 ซึ่งก็เป็นชิปประมวลผลที่ทำขึ้นมาเพื่อการนี้เช่นกัน ทำให้ภาพ HDR ของ OLED ตัวนี้ไม่เพียงทำให้ดูสดใสและมีชีวิตชีวามากขึ้น

ผมยังคิดว่า การกำหนดแสงให้สีที่ถูกต้องมันจะทำให้เราเห็นสีสันแปลก ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน จริง ๆ แล้วก็เห็นอยู่ประจำนี่แหละในชีวิตจริง แต่มันไม่เคยเข้าไปอยู่ในจอทีวีแบบนี้ นี่ไม่นับ Dolby Vision ซึ่งเป็น HDR ที่มีเมตาดาตาเป็นแบบไดนามิก ส่งผลให้มีความถูกต้องแม่นยำ และประมวลผลได้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก

รายละเอียดของตึกชัดเจนมาก
แถบความสว่างของสัญญาณ HDR ที่ไปถึงกว่า 800 nits สว่างกว่าตัวเดิม สีอาจไม่สดแบบจี๊ดจ๊าด พอดีๆ

พรสวรรค์ใหม่ ๆ ของ OLED65E8 ที่พูดกันจนถึงตอนนี้ทำให้เราอาจลืม จุดแข็งแบบเดิมของ OLED นั่นก็คือความดำสนิทของภาพบนจอ มันไม่ต้องมาวิตกกับแสงจ้า ๆ จากไฟด้านหลังของแอลซีดีทีวี ทำให้ฉากมืดกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น และเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่ต้องคอยประนีประนอมกับส่วนที่มืดหรือสว่างของภาพ ทำให้ภาพมีความคมชัดสูง (เพราะทุกพิกเซลใน OLED TV เปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง)

ก็หมายความว่าภาพดังกล่าวจะมีแสงที่เข้มข้นเป็นหมื่น ๆ ล้าน ๆ ดวง หรือบางครั้งถ้าต้องการก็มีแสงเพียงไม่กี่สิบดวงมันก็สว่างออกมาบนพื้นหลังที่ดำสนิท แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังไม่ใกล้เคียงกับทีวีจอแอลซีดี
ที่ดีที่สุดถ้าเทียบกันในแง่ของความสว่างสูงสุด

สีผิวคน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ OLED ตัวนี้ทำได้โดดเด่นมีนํ้ามีนวล

Sit & See
OLED65E8 เป็น OLED ที่กำลังถูกท้าทายจากแรงกดดันทั้งภายในและภายนอก ที่ว่าภายในก็คือคงมีคนตั้งคำถามว่าแล้วเจ้า E8 เจเนอเรชันนี้มันต่างกับ OLED ตัวเจเนอเรชันที่ 7 ขนาดไหน ส่วนแรงกดดันภายนอกก็คือ OLED ค่ายอื่นที่ซุ่มพัฒนากันอย่างขะมักเขม้น ก็ดูเหมือน Alpha 9 จะสร้างความแตกต่างให้กับภาพของทีวีตัวนี้ให้ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

การปรับปรุงที่น่าประทับใจคือ ความคมชัดของ OLED65E8 บนภาพ 4K ในโหมดของ HDR รูปแบบต่าง ๆ อย่าง Dolby Vision ที่เราคิดว่าการนำมาใช้กับการแพร่ภาพในแบบ Streaming มันทำได้ดีกว่า OLED ยุคก่อนหน้านี้ จากหนังซีรีส์เรื่อง Godless

ตอนพระเอกของเราตื่นขึ้นมาเห็นแสงแรก หลังจากสลบไปกี่วันไม่รู้ ฉากนี้รู้สึกได้เลยว่า แสงของ OLED ที่ใครบอกว่ามันไม่มีพลัง ฉากนี้ทำเอาผมถึงกับต้องหรี่ตาเลยทีเดียวกับแสงจากดวงอาทิตย์ แต่เป็นเพราะการควบคุมความสว่างจาก Dolby Vision ทำให้เราสามารถเห็นเมฆที่อยู่บนท้องฟ้าทุกก้อน แม้แต่รายละเอียดรอยเปื้อนบนเสื้อผ้าของพระเอกของเราที่อยู่ด้านหลัง ก็ไม่ได้จมหายไปจากการถ่ายแบบย้อนแสงโดยใช้แสงอาทิตย์เป็นแสงหลัก

ในขณะที่แสงแรงๆ ก็ยังเห็นรายละเอียดในที่มืดได้
นี่ก็อีกฉากนึงที่ต้องเห็นขอบฟ้ากับก้อนเมฆที่ชัดเจน

ถือว่าอุปกรณ์กล้องวิดีโอที่ใช้ถ่ายทำปัจจุบันนี้พัฒนาไปไกลมาก ๆ ที่สามารถเก็บแสงเก็บภาพแบบนี้ออกมาได้ แต่ผลงานพวกนี้เกินครึ่งไม่ได้ถูกถ่ายทอดลงบนปลายทางที่มีความสามารถพอจะถ่ายทอดมันออกมาได้ แต่ E8 ทำได้

ขณะที่ในฉากมันมืดอย่างฉากถัดมาในโรงนา แม้เพียงมีแสงจากตะเกียงเพียงสองดวงก็สามารถส่งต่ออารมณ์และเรื่องราวของสีหน้าท่าทางออกมาได้อย่างครบถ้วน ขณะที่กล้องของเราก็ยังไม่สามารถที่จะแยกแสงส่วนที่สว่างกับที่มืดออกมาได้เหมือนกับการมองผ่านสายตา เรื่องสีสันที่ออกมาจากทีวีตัวนี้จริง ๆ ผมก็ออกจะตื่นตาตื่นใจกับ OLED ทุกครั้งที่เห็นพัฒนาการของมัน

ส่วนหนึ่งก็เห็นจะจริงกับการจัดการเรื่องของพิกเซลนอยซ์ (เกิดการรบกวนการทำงานในแต่ละพิกเซล ทำให้การแสดงผลไม่นิ่ง) ได้ดีขึ้น โดยภาพที่ได้จะเป็น Dolby Vision Cinema กับ Dolby Vision Cinema Home สองโหมดเท่านั้นที่ใช้ดูระหว่างปิดไฟกับเปิดไฟ ตั้งแต่ E7 ตัวเก่า ผมก็ว่ามันจัดการพิกเซลน้อยได้ดีแล้ว มาถึงตัวนี้มันกลับดียิ่งขึ้นอีก

ขนาดขยับเข้าไปดูใกล้ ๆ ยังเห็นการเต้นของพิกเซลน้อยมาก แน่นอนว่ามันทำให้เรารู้สึกถึงภาพที่มันคมชัดมีรายละเอียดมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าอย่างใบหน้าของนักแสดงไม่ถึงต้องขนาดซูมใกล้ ๆ ก็ยังเห็นริ้วรอย เห็นความหยาบกร้านที่เป็นร่องรอยอันเกิดจากการสู้ชีวิตมาอย่างลำบากลำบน

ถ้าดูภาพกับคอนเทนต์ที่เป็น 4K กับทีวีตัวนี้ อยากแนะว่าควรขยับเข้าไปใกล้ ๆ เลยครับ จะใช้งานความใหญ่ของมันได้แบบคุ้มค่า การนั่งห่างมากเกินไปเป็นเรื่องที่ล้าสมัยแล้วกับทีวี 4K ตัวนี้ แม้จะเป็นสัญญาณที่มาจากดิจิทัลทีวีในบ้านเราที่แพร่ภาพกันอยู่ที่ HD (1080i) ก็เหอะ

ตั้งแต่ในเวอร์ชันที่แล้ว OLED ก็ไม่ทำให้ผิดหวังกับสัญญาณเหล่านี้เลย ยิ่งถ้าเป็นการถ่ายทอดสดที่เก็บรายละเอียดของสีสันและความละเอียดในระดับ High definition ด้วยแล้วจะเห็นความละเอียดระดับรูขุมขนกันเลย
ทีเดียว การอัพสเกลจากสัญญาณ HD ที่น้อยกว่า 4K ถึงกว่า 4 เท่าทำได้อย่างสะอาดสะอ้านหมดจด

อันที่จริงปัญหาส่วนหนึ่งมักมาจากต้นทางจากการแพร่ภาพสัญญาณที่ผ่านมาทางอากาศ คิดอยู่ว่า Tuner ในทีวีตัวนี้คงต้องไปทำอะไรบางอย่างกับสัญญาณที่เข้ามาก่อนที่จะนำไปสเกลเพิ่มเพื่อแสดงผล

E8 ให้โหมดปรับภาพที่ได้ Technicolor มาดูแลให้เพิ่มขึ้นมาอีกโหมดนึง เท่าที่รู้มา Technicolor กับ Philips จับมือกันทำ HDR ฟอร์แมตนึงขึ้นมาที่ชื่อ SL-HDR1 มีส่วนร่วมในการเสนอฟอร์แมต HDR ที่สมัคร ATSC 3.0 พร้อม ๆ กับ Dolby Vision แต่ทั้งคู่ก็เป็นเพียงแค่ HDR ทางเลือกของแผ่นบลูเรย์ 4K

เห็นได้ชัดว่าทีวีในกลุ่ม Hi-End ของ LG มันจะสามารถสนับสนุน HDR เกือบทุกฟอร์แมตตอนนี้ได้มากที่สุดแล้ว จากไฟล์ 4K ของหนังเรื่อง Sicario เป็น ฟอร์แมตที่ใช้ HDR มาตรฐานทั่วไปที่ใช้ในแผ่นบลูเรย์ 4K สำหรับ LG E8 ตัวนี้จะมีโหมด Technicolor expert เป็นหมวดย่อยเพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้กับสัญญาณ HDR ปกติ ซึ่งภาพที่ออกมาถือว่าผ่านการคาลิเบรตมาได้อย่างลงตัว ความสว่างเหมาะกับการดูภาพยนตร์ในห้องที่ปิดไฟมืดสนิทมาก ๆ เพราะว่าพลังแสงและ Black Level ถือว่าปรับแต่งมาได้อย่างพอดีจริง ๆ

เรื่องสีสันและความละเอียดอย่างที่บอกแล้วว่าทีวีตัวนี้พัฒนาโปรเซสเซอร์ขึ้นมาเพื่อยกระดับของสีจาก OLED โดยมันจะใช้น้ำหนักสีได้มากขึ้นในทุกสี แต่ไม่ถึงกับสดอิ่มฉูดฉาดพร่ำเพรื่อ คงสรุปได้ว่าเรื่องสีนี่แหละที่ทำให้ OLED แต่ละตัวทำออกมาได้แตกต่างกัน ทีนี้ก็อยู่ที่คนชอบสไตล์ใครสไตล์มันแล้วละครับ

Technicolor expert มันก็กลายเป็นโหมดที่ผมใช้งานมากที่สุด ทั้งดูทีวี ทั้งดูหนัง มันลดความสว่างโดยรวมลงนิดหน่อย ปรับให้การเพ่งจอของเราในฉากสว่าง ๆ ไม่ต้องหรี่ตามาก ทำให้เห็นรายละเอียดในฉากมืดได้มากขึ้น แล้วรู้สึกสบายตาดีด้วยเมื่อต้องปิดไฟ ซึ่งเวอร์ชันนี้ของ OLED น่าจะมีการแก้ไขการแสดงผลของโทนสีอยู่บ้าง เพราะก่อนหน้านี้จะรู้สึกว่าสีสันมันสด และดูร้อนแรงจริงจังกว่านี้

ไม่ต่างอะไรมากกับทีวีจากค่ายเกาหลีด้วยกัน แต่เหมือน OLED ตัวนี้ถูกจูนมาใหม่ เก็บความสว่างความร้อนแรงของสีสันให้ออกมาแต่พอดี สังเกตได้จากพวกป้ายไฟที่เห็นจากการแข่งขันกีฬา แสงมันไม่ค่อยโอเวอร์พุ่งเข้าตาซะทีเดียว ซึ่งแต่ก่อนนี้คุณลักษณะนี้ของ OLED มันโดดเด่นมาก ในความเป็นจริงมันก็ไม่ควรที่จะสว่างจ้ารบกวนสมาธินักกีฬานะ

ในโหมดกีฬา หรือภาพที่มีการเคลื่อนไหวของวัตถุเร็ว ๆ อันนี้วัดพลังงานการประมวลผลของชิปประมวลผลกันเลย เป็นส่วนหนึ่งที่ LG หยิบ Alpha 9 มาใช้กับ E8 ตัวนี้ เพราะผมพบว่าการประมวลผลของภาพของการเคลื่อนที่ของลูกวอลเลย์บอล หรือวัตถุเล็ก ๆ บนภาพ ไม่มีกระตุก หรือร้ายแรงถึงขนาดเฟรมบางเฟรมถูกตัดหายไปเป็นอันขาด

โดยผมแค่ปรับโหมด True Motion ไปที่ Smooth โดยไม่จำเป็นต้องปรับโหมดภาพเป็น Sport เสมอไป เพราะโหมดนั้นผมคิดว่าสีสันมันจะถูกเร่งขึ้นมาให้จัดจ้านน่ากลัวไปนิด ส่วนพารามิเตอร์อื่น ๆ ที่ LG มักมีไว้ในเมนูกับทีวีของเค้า ก็สามารถเลือกปรับได้ถ้าต้องการการจูนที่ละเอียด แต่นั่นก็คือไปเพิ่มภาระของการประมวลผลของภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าไม่จําเป็นจริง ๆ แล้วผมไม่อยากแนะนำให้ไปปรับแต่งอะไรมันมากนัก เพราะที่มีอยู่นี่ก็เยี่ยมแล้ว

ลำโพงที่ซ่อนอยู่ในกระจก สวยงามกลมกลืน แต่ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง

ดูเหมือนตอนที่ LG จะตัดสินใจใส่ Sound Bar ลงมาในทีวีในรุ่น E7 ก่อนหน้านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นในระดับหนึ่งว่าระบบเสียงของทีวีที่ติดมาจากโรงงานมันก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก แต่พอมาถึงรุ่น E8 ตัวนี้ความคิดต่อยอดแบบนั้นมันถูกตอนให้เป็นหมัน โดย LG เลือกเอาความสวยงามมาก่อนเป็นหลัก

ระบบเสียงของทีวีตัวนี้จึงไม่ควรคาดหวังมากนัก ถึงแม้ว่ามันจะสามารถถอดรหัส Dolby Atmos ได้ด้วยตัวมัน แต่มันก็ต้องพึ่งพาลำโพงที่ดีที่จะทำให้เสียงออกมาได้ใหญ่โตอลังการเพียงพอที่จะทำให้คุณตื่นเต้นได้ E8 พยายามใส่เสียงความถี่ต่ำเอามาไว้ด้านหลังของจอ แต่เมื่อมันทำงานมันก็ทำให้ชุดพลาสติกด้านหลังนั้นสั่นกระพือ ก็คงไม่ต้องบอกว่าเราจะคาดหวังความถี่ต่ำจากการทำงานแบบนี้ได้มากน้อยขนาดไหน

Conclusion
OLED65E8 เป็นปรากฏการณ์ทางทีวีที่ LG ทำให้เห็นแล้วว่าสำหรับจอภาพไดเรกต์วิวในยุคนี้ มันยังสามารถพัฒนาด้วยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ไปได้อีกอย่างควบคู่กัน มันสมองการประมวลผล Alpha 9 ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาก็เพื่อช่วยลดหรือขจัดจุดอ่อนของเทคโนโลยี OLED ก่อนหน้านี้

มันยังช่วยปรับปรุงระบบปฏิบัติการของแอลจี และใช้ประโยชน์จากระบบ Dynamic Tone Map แบบใหม่ของ LG เพื่อทำให้ประสบการณ์ HDR ที่ผู้บริโภคได้สัมผัสมาก่อนหน้านี้ จะพึงพอใจมากยิ่งขึ้นไปอีก ผมยังเดาไม่ออกเลยว่ากว่าที่จะก้าวข้ามความละเอียดระดับ 4K เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรกับจอภาพกันอีกบ้าง

จุดหลัก ๆ ของ E8 ที่เปลี่ยนแปลงภายนอกอย่างเรื่องของการดีไซน์ มันเหมือนจะทำให้ร่วมกับยุคสมัยมากขึ้น LG คงยังเน้นเรื่องจุดขายหลักในเรื่องของคุณภาพของภาพ และเพิ่มจุดขายรองในเรื่องของดีไซน์การออกแบบไปพร้อม ๆ กัน แต่ถ้ามองในแง่ของพันธมิตรในวงการจอภาพแสดงผล LG ยังเป็นคนเดียวที่มีพันธมิตรกับเขาไปทั่ว เป็นทีวีเจ้าเดียวที่รองรับ HDR เกือบทุกฟอร์แมตก็ว่าได้ (ยกเว้น HDR ที่บางค่าย บางผู้ผลิตนำเสนอขึ้นมาเอง)

Technicolor คือตัวล่าสุดที่นำมาใส่ใน E8 ตัวนี้ ซึ่ง LG ก็ไม่รอช้าให้ฟอร์แมตเหล่านั้นมันเกิดนำมาปรับแต่งใช้กับสัญญาณภาพ HDR 10 ทันที มิหนำซ้ำสัญญาณภาพ HD ธรรมดาที่ไม่มี HDR ก็พอได้อานิสงส์ตรงนี้ไปด้วย มันเลยทำให้ OLED ในปีนี้ของ LG ดูดีขึ้นไปอีกมากทีเดียว

ผมยังไม่รู้ว่าในซีรีส์ 8 ของ OLED ปีนี้ LG จะเอาเข้ามากี่โมเดล แต่เชื่อว่าการจับตลาด Hi-End ของทีวีด้วยซีรีส์นี้คงร้อนระอุทีเดียวครับ..


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท แอลจี อีเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 02 204 8888 (สำนักงานใหญ่)
ราคา 199,990 บาท

ธนภณ พูลเจริญ

Content Contributor ที่ปรารถนาจะถ่ายทอดประสบการณ์ในแวดวงโฮมเธียเตอร์ ทีวี และระบบเสียงมัลติรูมในแง่ของความคุ้มค่าของการใช้งาน เปิดมุมมองสู่ความต้องการที่ชัดเจนให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบเทคโนโลยี