fbpx
REVIEW

รีวิว Panasonic : SC-HC1000

“Slim Stylish Compact Micro System” คือนิยามที่ทางพานาโซนิคให้ไว้กับเครื่องเสียงรุ่น SC-HC1000 ของพวกเขา และนั่นก็เป็นสิ่งเดียวกับที่ผมได้เห็นในงานเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ของทางพานาโซนิคเมื่อเร็ว ๆ นี้

SC-HC1000 ที่มองเผิน ๆ ก็เหมือนเครื่องเสียงทั่วไปที่เน้นความเรียบหรู ดีไซน์แบนบางโฉบเฉี่ยว กลับมีอะไรดี ๆ แอบซ่อนเอาไว้มากมายหลังจากที่ผมได้ลองเล่นด้วยตัวเอง มันทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่พานาโซนิคนิยามให้มันอย่างคร่าว ๆ นั้น เป็นการถ่อมตัวอย่างมาก เพราะมันทำให้คนที่ยังไม่รู้จักเครื่องเสียงชุดนี้ดีพอเผลอคิดไปเองได้ว่า “มันก็แค่หน้าตาดี” แล้วมองข้ามมันไป… ซึ่งนั่นเป็นอะไรที่น่าเสียดายยิ่งนัก

คุณสมบัติและการออกแบบ
ในด้านการออกแบบชัดเจนว่า Panasonic SC-HC1000 ถูกออกแบบมาให้เรียบหรูดูแตกต่างจากเครื่องเสียงทั่วไป ด้านหน้าเครื่องนั้นเรียบง่ายมาก แบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยม 3 ช่อง ด้านซ้ายและขวาเป็นลำโพงฟูลเรนจ์ขนาด 8 เซ็นติเมตรที่แอบซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากผ้าสีเทาดำ

ส่วนของตู้ลำโพงเป็นระบบตู้เปิด ส่วนของรีเฟล็กซ์พอร์ตดีไซน์เป็นแบบ ‘Twisted Acoustic Port’ หรือพอร์ตแบบท่อวนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้พื้นที่อันจำกัด

คลื่นเสียงความถี่ต่ำจาก ‘Twisted Acoustic Port’ จะถูกระบายออกไปทางด้านหลัง ในกรณีที่แขวนลำโพงไว้กับฝาผนังไม่ต้องกังวลคลื่นเสียงทุ้มที่สะท้อนออกไปทางด้านหลังนี้จะทำให้เสียงทุ้มโดยภาพรวมมีปริมาณมากจนเกินไป เพราะเขามีฟังก์ชั่นชดเชยเสียงที่เรียกว่า ‘Wall Mount Mode’ มาให้เลือกปรับใช้ตามความเหมาะสม

ภาคขยายเสียงในเครื่องเสียงชุดนี้มีกำลังขับรวมทั้งสิ้น 40W (RMS) และเป็นเทคโนโลยีภาคขยายเสียง ‘Lincs D-Amp’ เข้าใจว่าเป็นวงจรภาคขยายในกลุ่มของแอมป์ Class D ซึ่งเป็นที่นิยมในเครื่องเสียงสมัยใหม่

ช่องสี่เหลี่ยมตรงกลางบริเวณด้านหน้าของเครื่องซึ่งมีพื้นผิวสะท้อนแสงวาววับราวกับแผ่นกระจกทำหน้าที่เป็นฝาปิดหลุมใส่แผ่นซีดีแบบบานสไลด์ออกด้านข้าง เมื่อใส่แผ่นซีดีเข้าไปแล้วแผ่นซีดีจะวางตัวในแนวตั้ง (vertical front-loading) เป็นอีกหนึ่งดีไซน์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้พื้นที่อันจำกัด

หลุมใส่แผ่นซีดีแบบแนวตั้งด้านหน้าเครื่อง

เห็นหน้าตาเรียบ ๆ อย่างนี้ ปุ่มกดสั่งงานฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่ตัวเครื่องเขาก็มีนะครับแต่เขาเอาไปไว้ที่ด้านบนตัวเครื่องหมดเลยไม่ว่าจะเป็นปุ่ม เปิด/ปิดเครื่อง, ปุ่มเลือกอินพุต/จับคู่บลูทูธ, ปุ่มควบคุมการเล่นเพลง, ปุ่มเพิ่ม-ลดความดังของเสียง, ปุ่มตั้งโปรแกรมรายการโปรด, ปุ่มเลือกโหมดแขวนผนัง, ปุ่มเพิ่มเสียงทุ้มลึกและปุ่มเพิ่มมิติเสียงด้านกว้าง

จากด้านบนคล้อยไปทางด้านหลังเครื่องเป็นที่อยู่ของขั้วต่ออินพุตอย่างพอร์ต USB (ขัั้วต่อ USB-A) และ AUX IN (ขั้วต่อมินิ 3.5mm)

ปุ่มกดทั้งหมดที่ดีไซน์ไว้ด้านบนเครื่อง
ขั้วต่อ USB สำหรับ flash drive และอินพุต AUX สำหรับเล่นจาก source ภายนอก

ด้านหลังเครื่องนอกจากพอร์ต Ethernet (ขั้วต่อ RJ45) ยังมีช่องเสียบสายอากาศวิทยุ FM ที่อยู่หลบมุมอยู่บริเวณด้านบนและด้านล่างของฝาหลัง รวมถึงช่องเสียบสายไฟเอซีแบบ 2 ขาที่สามารถถอดเก็บได้ บริเวณฝาหลังของเครื่องยังมีร่องบากเผื่อเอาไว้สำหรับการติดตั้งแบบแขวนผนังอีกด้วยครับ

วัสดุส่วนใหญ่ของเครื่องเป็นพลาสติกเนื้อดี แลดูแน่นหนาแข็งแรง งานประกอบเรียบร้อยสมกับเป็นแบรนด์สินค้าชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น

อ้อ… ในกรณีที้เราจะใช้งานแบบไม่แขวนผนัง (แบบเดียวกับที่ผมใช้งานตลอดรีวิวนี้) เขาก็มีขาตั้งแบบตั้งโต๊ะมาให้เราประกอบเข้ากับส่วนฐานเครื่องนะครับ เวลาวางบนโต๊ะหรือชั้นวางตัวเครื่องก็จะเชิดหน้าขึ้นเล็กน้อยแลดูสวยสง่าภูมิฐานไม่ใช่ย่อย

นอกจากปุ่มควบคุมสั่งงานที่ตัวเครื่องแล้ว เขายังมีรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดมาให้ใช้งานด้วยครับ หยิบง่ายใช้สะดวกตามมาตรฐานของเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่

ขั้วต่อสายอากาศวิทยุ FM และขั้วต่อ Ethernet ด้านหลังเครื่อง

นอกจากการเล่นแผ่นซีดี, วิทยุ FM, การเล่นไฟล์ด้วย flash drive ทางพอร์ต USB แล้ว Panasonic SC-HC1000 ยังเล่นเพลงผ่านระบบเชื่อมต่อไร้สายบลูทูธได้ด้วยตามสมัยนิยม แต่ที่ถือได้ว่าเป็นไฮไลท์และทำให้เครื่องเสียงชุดนี้คือ ‘ความแตกต่าง’ อย่างแท้จริง

เมื่อเทียบกับเครื่องเสียงแบบรวมชิ้นทั่วไปก็คือ คุณสมบัติต่าง ๆ ที่ตามมาหลังจากการเชื่อมต่อมันเข้ากับระบบ network หรือระบบอินเทอร์เน็ตในบ้านของเรานั่นเอง ซึ่งเลือกได้อีกต่างหากว่าจะเชื่อมต่อแบบเสียบสาย LAN หรือแบบไร้สายด้วยสัญญาณ Wi-Fi

Panasonic Music Streaming, All Connected Audio และ Re-streaming sources
เมื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบ network หรือระบบอินเทอร์เน็ตในบ้านของเราแล้ว Panasonic SC-HC1000 จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นมาอีกหลายอย่างเลยครับ

อย่างแรกเลยก็คือ การใช้แอปฯ ชื่อ ‘Panasonic Music Streaming’ ในสมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุมสั่งงานตัวเครื่องแทนรีโมตคอนโทรลอินฟราเรด แอปฯ นี้ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งสมาร์ทโฟน Android และ iOS

นอกจากการทำหน้าที่รีโมตคอนโทรลอินฟราเรดแล้ว ‘Panasonic Music Streaming’ ยังเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี ‘All Connected Audio’ ที่ทำให้เครื่องเสียงของพานาโซนิครุ่นที่รองรับเทคโนโลยีนี้เช่น SC-HC1000 และลำโพงแอคทีฟไร้สายรุ่น SC-ALL2 สามารถเชื่อมโยงการเล่นเพลง การควบคุมสั่งงานถึงกันได้ทั้งหมดเมื่อนำมาเชื่อมต่ออยู่ในระบบ network เดียวกัน

การใช้งานแอปฯ Panasonic Music Streaming เชื่อมต่อกับ SC-HC1000

จากหน้าแอปฯ เราสามารถสตรีมเพลงจากในสมาร์ทโฟนไปเล่นที่เครื่องเสียงชุดใดก็ได้ หรือจะสตรีมจาก DLNA Music server ที่มีอยู่ภายในบ้านเราไปเล่นก็ได้ด้วยเช่นกันในรูปแบบของเครื่องเสียงระบบมัลติรูม

จากการลองใช้งานส่วนที่ทำให้ผมประหลาดใจพอสมควรก็คือเมื่อตอนที่ผมสตรีมจาก music server ของผมหรือเล่นไฟล์จาก flash drive ที่เสียบกับพอร์ต USB ด้านหลังเครื่อง SC-HC1000 สามารถเล่นเพลงที่เป็นไฟล์เสียงรายละเอียดสูง (hi-res audio) ได้ด้วยครับ โดยรองรับไปสูงสุดถึง 24bit/192kHz และรองรับไฟล์คุณภาพสูงในนามสกุล .wav และ .flac ได้ด้วยครับ

หน้าเมนูหลักของแอปฯ Panasonic Music Streaming ในขณะเล่นเพลง
เมนูเลือกอินพุต, เลือกเพลง และปรับตั้งค่าในส่วนที่เกี่ยวกับเสียง

แต่การสตรีมเพลงจาก music server ส่งไปยังระบบมัลติรูมในนาทีนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับเครื่องเสียงยุคนี้ ทางพานาโซนิคเลยทำให้มันไม่ธรรมดาด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่น ‘Re-streaming sources’ ที่สามารถทำให้ทุก ๆ source หรือช่องสัญญาณที่เราเล่นกับ SC-HC1000 สามารถสตรีมไปในระบบมัลติรูมได้ด้วย

ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, CD, FM หรือ USB ! ทุกอย่างสามารถสตรีมไปเล่นที่เครื่องเสียง All Connected Audio อื่น ๆ ในเครือข่ายเดียวกันได้ด้วย …

ว้าว อันนี้สิครับที่เรียกว่าพิเศษใส่ไข่กว่าเครื่องเสียงมัลติรูมทั่ว ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น การเล่นแผ่นซีดีในระบบมัลติรูม คุณไม่ต้องเสียเวลาไปริปออกมาเป็นไฟล์และเอาไปใส่ใน music server ไม่ต้องเบิร์นแผ่นทำสำเนาหลาย ๆ ชุดเพื่อที่จะไปเล่นในเครื่องแต่ละตัว

เพียงแค่ใส่แผ่นเข้าไปใน SC-HC1000 ถ้าหากระบบเครือข่ายของเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ด้วยมันจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายข้อมูลเพลงที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีข้อมูลครบถ้วนมากที่สุดอย่าง ‘Gracenote’ (แบบเดียวกับที่ iTunes ใช้อยู่) เพื่อไปดึงเอาข้อมูลต่าง ๆ ของแผ่นซีดีชุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพหน้าปกแผ่นซีดี, ชื่ออัลบั้ม, ชื่อศิลปิน, ลำดับเพลงหรือชื่อเพลง มาใช้งานบนตัวแอปฯ ‘Panasonic Music Streaming’

เมื่อเล่นแผ่นซีดีจะมีการดึงข้อมูลต่าง ๆ ของแผ่นมาจาก Gracenote

เพื่อให้การใช้งานในแอปฯ Panasonic Music Streaming มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ข้อมูลเหล่านั้นทำให้การ ‘Re-streaming sources’ จากแผ่นซีดีมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

เพราะเราสามารถมองเห็นเพลงทั้งหมดในแผ่นซีดีของเราจากหน้าจอสมาร์ทโฟน จะเชื่อมโยงหรือสตรีมเพลงเหล่านั้นไปเล่นในระบบเครื่องเสียงมัลติรูมเครื่องไหน ณ จุดใด ก็เพียงแค่ใช้นิ้วจิ้มเลือกเพลงเอาจากหน้าจอสมาร์ทโฟนเท่านั้นเอง เสียงเพลงเพราะ ๆ ของเราก็จะไปดังในจุดที่ต้องการเปิดฟัง… ว้าว เรียนตามตรงว่าฟังก์ชั่นนี้ถือได้ว่าค่อนข้างใหม่และล้ำมากสำหรับเครื่องเสียงรวมชิ้นในระดับนี้

ความศรัทธาที่ว่ากันด้วยเรื่องของคุณภาพเสียง
เรื่องเดียวที่ผมยังไม่ได้พูดถึงเลยในรีวิวนี้และคิดว่าท่านผู้อ่านหลายท่านก็เริ่มตั้งคำถามแล้วในใจก็คือ เสียงที่ได้จาก Panasonic SC-HC1000 เป็นอย่างไร ฟังไพเราะมากน้อยแค่ไหน? ในทีแรกที่รับเครื่องมา ผมก็ได้นั่งอ่านคู่มือและข้อมูลคุณสมบัติต่าง ๆ ก่อนการใช้งานจริงเช่นเดียวกันกับทุกครั้ง

ผมก็เกิดความรู้สึกเหมือนกันว่า เทคโนโลยีของเครื่องเสียงตัวนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ทว่าในที่สุดเสียงของมันล่ะเป็นอย่างไร? ก็เครื่องเสียงนี่นะไม่ให้คุยเรื่องเสียงได้อย่างไร…

จำได้ว่าเสียงแรกที่ผมได้ฟังจาก Panasonic SC-HC1000 เป็นการเปิดฟังจากสมาร์ทโฟนแล้วเชื่อมต่อผ่านสัญญาณบลูทูธง่าย ๆ มันเป็นเสียงที่ทำให้ผมผิดคาดเอามาก ๆ ใครจะไปคิดเล่าครับว่าเครื่องเสียงตัวนิดเดียวแถมยังบางอีกต่างหาก จะให้เนื้อเสียงที่เป็นเนื้อเป็นหนังจับต้องได้ถึงขนาดนี้

เสียงทุ้มมีแม้จะตัวเล็กน้อยแต่ก็ไม่ขาดแคลนไม่บางจ๋อย เสียงกลางและแหลมมีลักษณะเปิดเผย ไม่ทึบไม่อุดอู้ เคลือบผิวเอาด้วยสำเนียงเสียงที่นุ่มนวลชวนฟัง ห้ามนึกถึงเสียงจากมินิคอมโปฯ โลวเกรดประเภทที่ให้เสียงออกมากระป๋องประแป๋งโดยเด็ดขาด คนละเรื่องเลยครับ!

โอเคครับว่า ไดรเวอร์ฟูลเรนจ์ขนาดแค่ 3 นิ้วเศษสองตัว คงจะมีข้อจำกัดในคุณลักษณะต่าง ๆ ของเสียงโดยเฉพาะเรื่องแบนด์วิดธ์ (ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่เสียงทุ้มไปถึงเสียงแหลม) และไดนามิคเรนจ์ (ระดับความดังตั้งแต่เบาสุดจนถึงดังสุด) อยู่บ้าง แต่เท่าที่ไดรเวอร์ตัวเล็กกว่าฝ่ามือคู่นี้ถ่ายทอดออกมา พูดได้ว่ามันมี ‘ความเป็นดนตรี’ สูงพอสมควร

ความเป็นดนตรีภายใต้ข้อจำกัดทางกายภาพของตัวมันนี่แหละครับ ยิ่งเมื่อ source ที่ใช้ฟังเป็นสัญญาณที่มีคุณภาพสูงขึ้น เสียงที่ได้ก็ดีขึ้นไปด้วยเป็นอัตราส่วนแปรฝันตามกัน น่าเสียดายนิดหน่อยที่เขาไม่ได้ให้ช่องเสียบหูฟังมาด้วยไม่เช่นนั้นจะย่ิงใช้งานได้ครบเครื่องกว่าที่เป็นอยู่ล่ะครับ

มิติใหม่ของเครื่องเสียงรวมชิ้นคุณภาพสูงเกินราคา
ทุกครั้งที่ผมเขียนรีวิวเมื่อมาถึงการสรุปเนื้อหา ผมมักจะมีคำตอบในใจคร่าว ๆ แล้วว่าผมนั้นรู้สึกชอบพอสิ่งที่รีวิวอยู่นั้นมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร สำหรับ Panasonic SC-HC1000 คำตอบแรกคือผมชอบมันมาก

คำตอบที่สองคือความชอบของผมนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน ส่วนแรกมาจากคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครและดูเอาใจใส่กลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าออกแบบให้เล่นไฟล์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เล่นสตรีมมิ่งผ่านระบบมัลติรูมแล้ว จะต้องมองข้ามคนที่ยังเล่นแผ่นซีดีไปเสียทั้งหมด

แถมยังเอาเทคโนโลยีเก่าและใหม่มาบูรณาการซึ่งกันและกัน เกิดเป็นรูปแบบการเล่นที่เรียกว่า Re-streaming sources ที่ต้องบอกว่ามัน ‘เจ๋ง’ มาก นับได้ว่าเป็นการเกาะเทรนด์ของดิจิทัลออดิโอชนิดอยู่หัวขบวนเลยทีเดียว

ส่วนที่สองของคำตอบที่สองคือ เรื่องของคุณภาพเสียง ผมไม่ทราบว่าวิศวกรของพานาโซนิคปรุงแต่งมันออกมาได้อย่างไร ลำโพงตัวแค่นี้ อยู่ในตู้พลาสติกบาง ๆ เล็กแค่นี้ แต่ให้เสียงออกมาได้มีเสน่ห์น่าฟังขนาดนี้

มันทำให้ผมนึกถึงที่มาของชื่อ Panasonic ที่มาจากคำว่า “Pan” และ “Sonic” ซึ่งมีความหมายว่า “สร้างสีสันให้โลกด้วยเสียงจากบริษัทของเรา” (Bringing sound our Company creates to the world)… แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2731-8888
ราคา 10,990 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ