fbpx
KNOWLEDGERECOMMENDED

รู้จัก Wi-Fi 7 มาตรฐานการเชื่อมต่อใหม่แห่งอนาคต ด้วยเทคโนโลยีไร้สายที่อาจเร็วกว่าการต่อสาย !

ในเวลานี้อาจจะดูแปลกและเร็วไปสักหน่อยหากจะมาพูดถึงมาตรฐานใหม่อย่าง Wi-Fi 7 เพราะมาตรฐาน Wi-Fi 6 นั้นก็ยังเป็นของใหม่ซิง ๆ เพิ่งเริ่มมีใช้กันไม่นาน (ช่วงปลายปีที่แล้ว) และยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร อุปกรณ์ที่รองรับก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น Wi-Fi 7 จึงอาจใช้เวลาอีกหลายปีในการพัฒนาและแนะนำออกสู่ตลาด

อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ถึงคุณสมบัติของ Wi-Fi 7 นั้นจะทำให้เรามองเห็นทิศทางของการพัฒนาสินค้าไอทีหรือสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต

Wi-Fi 7 จะมาเมื่อไร และจะใช้ชื่อ Wi-Fi 7 อย่างนี้ใช่หรือไม่ ?
Qualcomm ผู้ผลิตชิปชื่อดังประเมินว่า Wi-Fi 7 น่าจะเริ่มใช้งานประมาณปี 2024 โดยใช้การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ในปีนี้เป็นจุดเริ่มต้น

แน่นอนว่านี่เป็นการคาดเดาบางส่วน แต่ผู้ผลิตชิปอย่าง Qualcomm ก็น่าจะมีข้อมูลความน่าจะเป็นอยู่ในมือพอสมควร แต่ช่วงเวลาที่จะใช้งานจริงก็ยังคงต้องรอให้ทาง Wi-Fi Alliance ทำการสรุปและกำหนดขึ้นเป็นมาตรฐาน รวมทั้งเรื่องของระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งช่วงกลางปี 2020 นี้น่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับชื่อของ Wi-Fi 7 แม้ว่าจะเป็นชื่อที่คาดเดากันไปล่วงหน้า แต่จากแนวโน้มที่มาตรฐาน 802.11ac และ 802.11ax ถูกกำหนดให้เรียกว่า Wi-Fi-5 และ Wi-Fi 6 ตามลำดับเพื่อให้ลดความซับซ้อน ดังนั้นชื่อ Wi-Fi 7 จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับมาตรฐานใหม่สำหรับ Wi-Fi ในอนาคต

ในเวลานี้สำหรับกลุ่มนักพัฒนา ชื่อทางเทคนิคของ Wi-Fi มาตรฐานใหม่นี้มีชื่อว่า ‘802.11be’ แต่ยังไม่มีการประกาศใช้งานอย่างเป็นทางการอีกเช่นกัน

ประสิทธิภาพ
ปัจจุบันมาตรฐาน Wi-Fi 6 ได้เพิ่มความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเหนือกว่า Wi-Fi 5 อย่างมาก มากกว่าราว ๆ 2-3 เท่า โดย Wi-Fi 5 มีเพดานความเร็วอยู่ที่ 3.5Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) ขณะที่ Wi-Fi 6 นั้นอยู่ที่ 9.6Gbps ส่วน Wi-Fi 7 นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 30Gbps เรียกว่าเร็วกว่ากันแบบคนละเรื่องเลยทีเดียว

Wi-Fi 5 (802.11ac) 3.5Gbps
Wi-Fi 6 (802.11ax) 9.6Gbps
Wi-Fi 7 (802.11be) 30.0Gbps

และนั่นหมายความว่า Wi-Fi 7 จะทำให้การสตรีมวิดีโอรายละเอียดสูงมีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น, ครอบคลุมระยะที่กว้างและไกลมากขึ้น ขณะที่ยังช่วยลดปัญหาคอขวด และการแย่งแบนด์วิดธ์กันในระหว่างอุปกรณ์

ในอนาคตเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแค่รับ-ส่งข้อมูลได้เร็วมากขึ้น แต่อาจรองรับการตรวจจับตำแหน่งทางกายภาพและอัตราการเต้นของหัวใจได้ด้วย ทำให้ลูกหลานที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านสามารถคอยดูแลสุขภาพเบื้องต้นของท่านได้จากทางไกล

ทว่าคุณสมบัติในส่วนนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐาน Wi-Fi 7 หรือไม่ จนกว่าที่มาตรฐานนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในอีก 4 ปีข้างหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น Wi-Fi 7 ได้รับการคาดหมายว่าจะทำให้ Internet of Things พัฒนาไปเป็น Internet of Everything เพราะระบบสมาร์ทโฮมที่บ้านของเราจะแสนรู้มากยิ่งขึ้น

เช่น เมื่อเรากลับถึงบ้านระบบอินเทอร์เน็ตที่บ้านซึ่งทำงานร่วมกับระบบกล้องวงจรปิดที่บ้าน จะสามารถรับรู้ได้ถึงการมาของเจ้าของบ้าน ระบบก็จะสั่งเปิดล็อคประตูโดยอัตโนมัติ โดยที่เจ้าของบ้านไม่ต้องกดปุ่ม สแกนนิ้ว หรือออกคำสั่งใด ๆ เลย

บันได 3 ขั้นในการพัฒนา
การจะได้มาซึ่งคุณสมบัติและประสิทธิภาพในระดับนั้นจึงต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายส่วนประกอบกัน ซึ่งทาง Qualcomm นั้นได้ประเมินลำดับขั้นหลัก ๆ การพัฒนามาตรฐาน Wi-Fi 7 เอาไว้ 3 ช่วงด้วยกัน ดังนี้

ขั้นที่ 1 – การใช้งานช่วงความถี่ 6GHz
นี่เป็นการพัฒนาจาก Wi-Fi 6 อย่างชัดเจน ปัจจุบันอุปกรณ์ Wi-Fi นั้นได้รับการอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ 2 ช่วงด้วยกันนั่นคือ 2.4GHz และ 5GHz (อุปกรณ์บางตัวเช่น ไวไฟเราเตอร์ จะมีการแยกใช้งานช่วงความถี่อีกส่วนของ 5GHz เช่น เราต์เตอร์ไวไฟแบบไตรแบนด์ที่มีการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณ 5GHz จำนวน 2 ชุด)

อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐของยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังร่วมกันผลักดันให้มีการนำช่วงความถี่ 6GHz มาใช้กับการเชื่อมต่อ Wi-Fi โดยเฉพาะกับมาตรฐาน Wi-Fi 6 และมาตรฐานใหม่ ๆ ในอนาคต

การเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi ด้วยคลื่นความถี่ 6GHz นั้นมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยมในพื้นที่โล่งแจ้ง เช่น สนามกีฬา หรือในวิทยาเขตสถานศึกษา สำหรับเราต์เตอร์ในบ้านก็อาจจะถึงเวลาได้ใช้งานแบบไตรแบนด์หรือเชื่อมต่อด้วยช่วงความถี่ 3 ช่วงอย่างแท้จริง

ขั้นที่ 2 – การพัฒนาเทคโนโลยีอัปลิงก์
การอัปเกรดครั้งใหญ่ของมาตรฐาน Wi-Fi ใหม่ คือเรื่องของการอัปลิงก์หรือการเพิ่มขีดความสามารถในการอัปโหลดข้อมูล ผ่านเทคโนโลยีที่พัฒนาในรูปแบบของ MU-MIMO (Multi-user Multiple Input Multiple Output) โดยจะใช้ชื่อว่า UL MU-MIMO

เทคโนโลยี MU-MIMO คือการสร้างช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูลกับอุปกรณ์หลาย ๆ ตัวแบบคู่ขนานแยกอิสระจากกัน ในเวลาเดียวกัน เพื่อลดปัญหาคอขวดในการเชื่อมต่อแบบเดิม ๆ ที่มีช่องทางการเชื่อมต่อช่องทางเดียวแล้วสลับสับเปลี่ยนการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์แต่ละตัววน ๆ กันไป

ส่งผลให้ได้การเชื่อมต่อข้อมูลที่มีคุณภาพสูงขึ้น ลดโอกาสเกิดปัญหาคอขวด และทำให้ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลดียิ่งขึ้น สำหรับ UL MU-MIMO หรือ Uplink MU-MIMO นั้นก็เป็นการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำเทคโนโลยี MU-MIMO มาใช้ปรับปรุงคุณภาพของการอัปโหลดข้อมูล เพื่อเสริมให้คุณภาพการเชื่อมต่อ Wi-Fi มีประสิทธิภาพดีขึ้นทั้งการดาวน์โหลดและการอัปโหลด

นั่นหมายความว่าเทคโนโลยี Wi-Fi กำลังจะมีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของการทำไลฟ์สตรีมมิงหรือการแชร์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่อย่างไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง

การพัฒนาเทคโนโลยีนี้คาดว่าจะเปิดโอกาสให้สามารถเชื่อมต่อกับยูสเซอร์ได้ถึง 8 คนพร้อม ๆ กัน ข้อมูลบางส่วนจาก Qualcomm เผยว่าเราอาจเริ่มเห็นการใช้งานเทคโนโลยีนี้ประมาณช่วงปี 2022

ขั้นที่ 3 – การอัปเกรดครั้งใหญ่ของ 802.11be
ในขั้นตอนนี้คาดหมายกันว่าจะเป็นการพัฒนามาตรฐาน Wi-Fi ใหม่แบบยกเครื่องใหม่ทั้งหมด จนไปสู่อีกระดับของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยการพัฒนาที่สำคัญ ๆ จะมีหัวข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

CMU-MIMO (Clustering Multi-user Multiple-Input Multiple-Output):
นี่เป็นโปรเจ็คต์ที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมันจะเปิดโอกาสให้เครือข่ายการเชื่อมต่อแบบ Mesh ระหว่างเสาอากาศทุกประเภทสามารถสร้างเครือข่ายข้อมูลที่รองรับ MU-MIMO เป็นเครือข่ายการเชื่อมต่อในวงกว้างได้

ซึ่งเสาอากาศเหล่านั้นสามารถติดตั้งอยู่ได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวเราต์เตอร์เอง, ที่ตัวอุปกรณ์ หรือบนเดสก์ท็อป เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสร้างเครือข่ายข้อมูลประสิทธิภาพสูงได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น

Multi-band data management:
เมื่อเทคโนโลยีใหม่มาถึง เราเตอร์ส่วนใหญ่จะสามารถเข้าถึงการใช้งานช่วงความถี่พาหะทั้ง 3 ช่วงความถี่ เป็นอิสระจากกัน นั่นคือความถี่ 2.4GHz, 5GHz และ 6GHz

นั่นคือส่วนหนึ่งของมาตรฐาน 802.11be ที่เปิดโอกาสให้ระบบเครือข่ายสามารถส่งข้อมูลระหว่างกันโดยใช้ช่วงความถี่ 2 หรือ 3 ช่วงได้พร้อม ๆ กัน และสามารถไปประกอบรวมกันที่ปลายทางได้อย่างไม่มีการตกหล่น ด้วยเทคนิคการรวมแพคเกจข้อมูล ทำให้การใช้ช่วงความถี่มากกว่า 1 ช่วง ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลจึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ที่จริงแล้วมีผู้เชี่ยวชาญบางคนได้คาดเดาเอาไว้ว่าเมื่อถึงเวลานั้น การเชื่อมต่อ Wi-Fi อาจจะเร็วกว่าการเชื่อมต่อด้วยสายแล้วก็เป็นได้ !

Better modulation and compression:
มาตรฐาน Wi-Fi แต่ละมาตรฐาน ล้วนแล้วแต่ได้รับการปรับปรุงวิธีในการส่งข้อมูลผ่านคลื่นความถี่ออกไป เพื่อให้สัญญาณนั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถส่งข้อมูลได้มากขึ้นและเร็วขึ้น แน่นอนว่า Wi-Fi มาตรฐานใหม่อย่าง Wi-Fi 7 ก็จะได้รับการพัฒนาในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผนึกรวมสัญญาณที่ดีขึ้นหรือการบีบอัดข้อมูลที่มีประสิทธภาพสูงมากขึ้น

อุปกรณ์ที่รองรับ
ปัจจุบันในขณะที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงเริ่มทำตลาดอุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 6 ดังนั้นมันจึงอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงอุปกรณ์ที่รองรับ Wi-Fi 7 ในเวลาที่แม้แต่ข้อกำหนดต่าง ๆ ก็ยังคงไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดีหากว่าการประเมินของทาง Qualcomm นั้นถูกต้อง มาตรฐาน Wi-Fi 7 จะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ยิ่งไปกว่าการมาของ Wi-Fi 6 และนั่นก็หมายถึงตัวอุปกรณ์ที่ต้องได้รับการอัปเกรดมากกว่าที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ตัวอุปกรณ์เราเตอร์ แต่รวมถึงสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป


ที่มา: GizChina, Digital Trends

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ