fbpx
REVIEW

รีวิว NAD : D 3020 V2 “เพลงและดนตรีจากนี้ไป”

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้รีวิวอินทิเกรตแอมป์ NAD รุ่น D3020 แทบไม่น่าเชื่อว่าในเวลานั้นมันอยู่ในช่วงปลายอายุของรุ่นแล้ว หมายความว่ามัน กำลังจะตกรุ่น ที่ว่าแทบไม่น่าเชื่อก็เพราะมันยังดูล้ำสมัยอยู่เลย มันดูเหมือนสินค้ารุ่นใหม่ที่เพิ่งออกมาในปี 2018 มากกว่า ทั้งที่ความจริงแล้วมันเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2013 โน่น

หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา NAD ก็ได้เปิดตัว “D 3020 V2” หรือ “D3020 เวอร์ชัน 2” ออกมา หน้าตาของมันแทบไม่ต่างไปจากเดิม จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า V2 นั้นจะมีอะไรเป็นจุดขาย เพราะว่ารุ่นเดิมนั้นทราบว่าเขาได้ discontinued หรือเลิกผลิตเลิกจำหน่ายไปเรียบร้อยแล้ว

ความเหมือนที่แตกต่าง
รายละเอียดทางเทคนิค NAD D 3020 V2 ยังคงเป็นอินทิเกรตแอมป์สเตริโอที่มีกำลังขับข้างละ 30 วัตต์ต่อข้าง เมื่ออ้างอิงที่โหลด 8 โอห์ม และเพิ่มกำลังขับชั่วขณะได้มากกว่า 100 วัตต์ เมื่ออ้างอิงที่โหลด 8 โอห์ม

ช่วงความถี่ตอบสนองหรือ Frequency Response ตั้งแต่ 20Hz-20kHz มีความเบี่ยงเบนในระดับ 0dB-0.3dB นั่นหมายความว่ากราฟ Frequency Response ของมันแทบจะตรงเป๊ะเป็นไม้บรรทัดเลยทีเดียว ความเพี้ยนรวมในเชิงฮาร์มมอนิกส์หรือ Total Harmonic Distortion ต่ำกว่า 0.005%

ส่วนของวงจรภาคขยายเสียงยังคงเลือกใช้ภาคขยายเสียง “Hybrid Digital Amplifier” ที่มีประสิทธิภาพสูง พัฒนาขึ้นตามแนวทางของภาคขยายเสียง “NAD PowerDrive” ในอดีตที่ออกแบบโดย Bjørn Erik Edvardsen วิศวกรในตำนานของ NAD ปัจจุบันชื่อของเขาได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งในชื่อรุ่นของเครื่องเสียง NAD บางรุ่น โดยต่อท้ายเป็นชื่อตัวย่อว่า “BEE”

จุดเด่นของวงจรขยายเสียงแบบ “NAD PowerDrive” ก็คือ คุณสมบัติในการจ่ายกระแสเพื่อรองรับเวลาที่ลำโพงมีอิมพิแดนซ์ลดต่ำลง ซึ่งเป็นปกติที่อิมพิแดนซ์ของลำโพงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามความถี่เสียง บางช่วงความถี่มันอาจมีอิมพิแดนซ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผู้ผลิตลำโพงได้แจ้งไว้ บางช่วงความถี่มันก็มีอิมแดนซ์ลดลงไปจากค่าเฉลี่ย

ขณะเดียวกันปรัชญาของ “NAD PowerDrive” ยังออกแบบให้รองรับการจ่ายแรงดันไฟฟ้าและทำงานร่วมกับวงจร soft clipping เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเพี้ยนอันเนื่องมาจากการ clipping ของสัญญาณ (รูปคลื่นสัญญาณเกิดความผิดเพี้ยนอย่างฉับพลัน) ซึ่งทั้งหมดนี้ทาง NAD คุยว่ามันถูกยกเอามาไว้ในอินทิเกรตแอมป์เครื่องเล็ก ๆ ตัวนี้ด้วย

ความแตกต่างระหว่างรุ่น D 3020 V2 (บน) และ D 3020 รุ่นเดิม (ล่าง)

ถึงตรงนี้เราจะมาดูความแตกต่างระหว่าง D3020 และ D 3020 V2 กันบ้าง เรื่องแรก รุ่น V2 จะไม่มีอินพุต USB Type-B สำหรับต่อเล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์ แต่มีอินพุต PHONO (MM) สำหรับต่อฟังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง ในรุ่น V2 ยังตัดอินพุตอะนาล็อก AUX ออก 1 ชุด แล้วเพิ่มเอาต์พุต PreOut แบบ 3.5mm มาให้ใช้งานแทน

นอกเหนือจากนี้แล้วสิ่งที่เคยมีอยู่ในรุ่นเดิม ยังคงมีให้ใช้งานในรุ่น V2 ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขั้วต่ออินพุตสัญญาณดิจิทัลแบบ Coaxial และ Optical รองรับสัญญาณ PCM 24bit/192kHz, ขั้วต่ออินพุตสัญญาณอะนาล็อก AUX แบบ RCA, ขั้วต่อเอาต์พุตสำหรับซับวูฟเฟอร์แบบ 3.5mm ซึ่งมีตัวแปลงขั้วต่อจาก 3.5mm ตัวผู้เป็น RCA ตัวเมีย ให้มาด้วยเพื่อความสะดวกในการใช้งาน รวมถึงขั้วต่อสัญญาณ +12V Trigger ก็ยังคงมีอยู่ในรุ่น V2

ช่องเสียบหูฟัง 3.5mm ที่ด้านหน้าเครื่องซึ่งใช้วงจรขยายเสียงแยกต่างหากสำหรับหูฟังโดยเฉพาะ ที่ด้านบนของเครื่องยังคงมีปุ่มกดแบบสัมผัสทั้งปุ่ม Power/Standby และปุ่มกดเลือก Source เหมือนในรุ่นเดิม

ปุ่มเพิ่มปริมาณความถี่ต่ำเพื่อชดเชยสำหรับลำโพงขนาดเล็กหรือ Bass EQ ก็ยังมีให้ใช้งานในรุ่น V2 เช่นกัน รวมถึงการเชื่อมต่อแหล่งสัญญาณเสียงภายนอกแบบไร้สาย Bluetooth (รองรับ aptX)

ทีนี้มาดูในส่วนของ “ความแตกต่าง” ระหว่าง D3020 รุ่น V2 กับรุ่นแรกบ้าง นอกเหนือจากเรื่องของอินพุต/เอาต์พุต ตามที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ ยังมีความแตกต่างในส่วนของขั้วต่อสายไฟเอซีด้านหลังเครื่องหรือAC Inlet

ในรุ่นเดิมจะเป็นขั้วต่อแบบ C6 ซึ่งเห็นบ่อยในอุปกรณ์ไอทีอย่างเช่นอะแดปเตอร์ของคอมพิวเตอร์ laptop ทำให้หาสายไฟอัปเกรดโดยตรงได้ยากกว่าและมีทางเลือกน้อยกว่า ขั้วต่อแบบ C14 ที่ใช้อยู่ในรุ่น V2 เพราะเครื่องเสียงไฮไฟส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้กัน

ปุ่มหมุนวอลุ่มคอนโทรลที่มีดีไซน์แตกต่างกัน (V2 อยู่ด้านขวามือ)

ขยับมาด้านหน้าเครื่อง มองเผิน ๆ เหมือนว่า NAD จะไม่ได้ทำอะไรกับรุ่น V2 แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นปุ่มหมุนวอลุ่มนั้นมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์เล็กน้อย แต่ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือรีโมตคอนโทรลอินฟราเรด ในรุ่นใหม่เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะไม่เป็นยางเหนียวเหนอะมือแน่นอน เพราะตัวรีโมตทำจากพลาสติกสีดำแบบง่าย ๆ เลยครับ อาจดูไม่สวยไม่เท่เท่ารุ่นเดิมแต่ใช้งานได้อย่างสบายใจแน่นอน

รีโมตคอนโทรลของรุ่น V2 (ขวามือ) ที่ใช้งานได้มากกว่าเดิม
ด้านบนยังคงเป็นปุ่มกดแบบสัมผัสเหมือนเดิม

นอกจากนั้นรีโมตคอนโทรลตัวใหม่ยังมีปุ่มคำสั่งมากกว่าในรุ่นเดิม คราวนี้เราสามารถกดปุ่ม BASS EQ ได้จากรีโมตโดยตรง ไม่ต้องมุดไปกดที่ด้านหลังเครื่องแล้ว ยังมีปุ่ม DIM ให้กดหรี่ไฟบนหน้าปัดของเครื่องได้โดยตรง ที่เพิ่มเติมจากนั้นคือรีโมตตัวนี้สามารถใช้เรียนรู้คำสั่งจากรีโมตของทีวีที่เชื่อมต่ออยู่ได้ด้วย (เมื่อเชื่อมต่อทางช่อง optical)

เครื่องเสียงตั้งโต๊ะ
ผมตัดสินใจไม่ทดลองฟังอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ในห้องทดสอบตามปกติ เพราะอยากจะลองใช้งานมันอย่างที่มันได้ถูกออกแบบมานั่นคือใช้งานเป็น Hi-Fi Gadget สำหรับคนฟังเพลงที่รักความสะดวกและมีรสนิยมในการฟังเพลงที่ดี

โชคดีที่โต๊ะทำงานของผมมีพื้นที่กว้างขวางพอสำหรับการวางลำโพงด้วย ลำพังตัว D 3020 V2 นั้นไม่ต้องการพื้นที่เยอะหรอกครับ footprint มันเล็กนิดเดียวเอง ใช้พื้นที่น้อยกว่าโทรศัพท์ภายในที่วางอยู่บนโต๊ะทำงานของผมด้วยซ้ำ

ส่วนที่เปลืองที่สักหน่อยก็คือลำโพงเพราะต้องวางห่างกันประมาณหนึ่งเพื่อสร้างมิติเสียงสเตริโอ ผมจึงเลือกใช้ลำโพงขนาดเล็กอย่าง Acoustic Energy AE100 ซึ่งผมมีคิวที่จะรีวิวมันในลำดับต่อไป (AE100 เป็นรุ่นเล็กรองลงมาจาก AE109)

ผมใช้ Bose SoundTouch Wireless Adaptor ในการสตรีมไฟล์เพลงจาก Spotify แล้วส่งสัญญาณดิจิทัลออกมาเข้าที่อินพุต Optical ของ D 3020 V2 เพื่อเพิ่มความสามารถในด้านการสตรีมมิ่ง

ทดลองใช้งานบนโต๊ะทำงานกับลำโพง AE100

เวลาจะฟังไฟล์เสียงจากคอมพิวเตอร์ (ฟังเพลงและดูวิดีโอ) ผมเสียบ Audioquest DragonFly Red เข้ากับคอมพิวเตอร์แล้วต่อสายแปลง Mini 3.5mm to RCA มาเข้าที่อินพุต AUX ของ D 3020 V2

ถ้าจะฟังอะไรก็ตามจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ผมเชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านั้นกับ D 3020 V2 ทางสัญญาณ Bluetooth เพียงเท่านี้ก็ดูเหมือนว่าเครื่องเสียงชุดเล็กบนโต๊ะทำงานของผมก็ตอบโจทย์ผมได้หมดแล้ว เหลือแค่เรื่องของ “เสียง”

ด้วยความที่รุ่น V2 ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปมากในส่วนของภาคขยายเสียง เสียงที่ได้ยินจากเครื่องเสียงชุดเล็ก ๆ นี้ก็ยังคงมีเอกลักษณ์ของ NAD ปรากฏอยู่อย่างเหนียวแน่นแม้ว่าผมจะเปลี่ยนจากลำโพง NHT มาเป็นลำโพงของ Acoustic Energy แล้วก็ตาม

เอกลักษณ์ในที่นี้หมายถึง เสียงที่ไม่พยายามจะเน้นให้ชัดหรือตั้งใจให้เราได้ยินว่ามันเด่นตรงไหน แต่กลับเป็นเสียงที่ปล่อยให้เราอยู่กับดนตรีมากกว่า อย่างเวลาผมฟังอะคูสติกกีตาร์เพราะต้องการใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับงาน มันก็ให้เสียงกีตาร์ที่กังวานหวานเหมือนฟังจากดนตรีสด

ในช่วงเย็นหลังเลิกงาน ซึ่งปกติผมจะนั่งทำงานต่ออีกราว ๆ 30 นาที ถึง1 ชั่วโมง บางครั้งผมก็เลือกฟังเพลงป็อปในยุค 90 เพื่อให้หายคิดถึง โดยหมุนวอลุ่มให้ดังกว่าปกติเล็กน้อย เสียงที่ออกมาก็ทำให้ผมมีความสุขมาก มากกว่าตอนที่ผมฟังจากลำโพงบลูทูธตัวเล็ก ๆ บนโต๊ะชนิดเทียบกันไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

ผมเคยคิดว่าซิสเตมบนโต๊ะทำงานของผมน่าจะต้องไปจบที่ลำโพงแบบแอคทีฟ แต่ตอนนี้ผมกลับมาคิดว่า ถ้าเรามีลำโพงขนาดเล็กในดวงใจของเราอยู่แล้ว จะไปเสียเวลามองหาลำโพงตัวอื่นทำไม เพิ่ม D 3020 V2 เข้าไปน่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจบแบบ happy ending ง่ายกว่า

มินิซิสเตมในมุมหนึ่งของบ้านหรือที่ทำงาน
สำหรับคนที่บ้านมีพื้นที่จำกัด หรือกำลังจัดมุมผ่อนคลายภายในสถานที่ทำงาน NAD D 3020 V2 เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในยุคนี้ได้แบบคูล ๆ เลยทีเดียว เรียนย้ำอีกสักรอบว่า โดยเฉพาะคนที่มีลำโพงในดวงใจอยู่แล้ว

ลองใช้งานกับเครื่องเสียงชุดเล็ก ๆ ฟังเสียงจากสมาร์ทโฟนโดยการเชื่อมต่อทาง Bluetooth

ผมย้าย D 3020 V2 ที่ประจำการอยู่บนโต๊ะทำงานของผมไปจัดชุดเล็ก ๆ ที่มุมหนึ่งของห้องทำงานในกองบรรณาธิการ GM2000 เปลี่ยนจากฟังคนเดียวไปฟังแบบเผื่อแผ่เพื่อนร่วมงานด้วย แน่นอนว่าการใช้งานในลักษณะนี้ถ้าเสียงไม่ดีจริง แทนที่เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้าของเรา (ในกรณีที่เป็นร้านค้า) ได้ฟังแล้วจะนึกขอบคุณคนที่จัดหามา ก็อาจกลายเป็นความหงุดหงิดน่ารำคาญได้ เพราะไอ้ที่ฟังอยู่มันไม่ใช่ดนตรีแต่เป็นได้แค่ noise แทนที่จะใช้ต้อนรับขับสู้ก็กลับกลายเป็นขับไล่ไสส่งไปเสียฉิบ

ชุดที่ใช้ฟังในซิสเตมนี้นอกจาก D 3020 V2 และลำโพง AE100 แล้ว ยังได้เพิ่มเทิร์นเทเบิ้ล Thorens TD203 ที่ติดหัวเข็ม Soundsmith รุ่น Carmen เข้ามาด้วยเพื่อลองใช้งานอินพุต Phono ของแอมป์ อุปกรณ์ทั้งหมดเสียบใช้ไฟเอซีผ่านปลั๊กราง+ฟิลเตอร์ รุ่น PowerBridge 8 ของยี่ห้อ Clef Audio

ในคาบการฟังนี้ผมยังได้เปลี่ยน source ที่เชื่อมต่อทาง Bluetooth จากไอแพดไปเป็นสมาร์ทโฟน LG V30+ ซึ่งรองรับ Bluetooth aptX HD และเปลี่ยนจากการสตรีมเพลงจาก Spotify ไปเป็นการสตรีมไฟล์ lossless จาก TIDAL เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้น

https://youtu.be/8TiXIizIALo

ลองใช้งานอินพุตโฟโนโดยการต่อฟังกับ Thorens TD 203 ติดหัวเข็ม Soundsmith Carmen
สังเกตว่าจอแสดงผลหน้าเครื่องเวลาเลือกอินพุตโฟโน จะขึ้นสัญลักษณ์ MM แทน คำว่า Phono

ขณะที่นั่งพิมพ์ต้นฉบับอยู่นี้ผมได้ยินเสียงเพลงจากแผ่น LP ชุด Jazz At The Pawnshop ของสังกัด จากประเทศสวีเดน ยังดังพรั่งพรูตัวโน้ตไปทั่วทั้งห้อง เปลี่ยนพื้นที่กองบรรณาธิการของเราให้เป็นแจ๊ซคลับชั่วคราวที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากไปกว่าเครื่องเสียงเล็ก ๆ แค่ชุดเดียว

ผมนั่งที่โต๊ะทำงานห่างออกมาประมาณ 3 เมตร ระหว่างที่เพลงในหน้า A แทรคที่ 1 “Lady Be Good” ซึ่งมีความยาวถึง 9 นาทีกำลังบรรเลง ผมกลับรู้สึกว่า ทำไมเพลงถึงจบเร็วจัง เหลือบไปมองที่มาของเสียง ก็ยิ่งนึกชื่นชมเจ้าแอมป์ตัวเล็ก ๆ ที่แทบจะโดนกลืนหายไปในซิสเตม แต่มันกลับทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งผ่านความเป็นดนตรีแผ่กระจายไปทั่วทั้งห้องได้อย่างยอดเยี่ยม ผมมั่นใจว่านี่คือชุดรับแขก ไม่ใช่ชุดไล่แขกแน่นอน

เสียงเปียโนและแซกโซโฟนพลิ้ว ๆ แฝงด้วยความนุ่มนวลอบอุ่นตอนต้นเพลงว่าฟังเพลินแล้ว พอเป็นท่อนที่บรรเลงด้วยไวบราโฟน เสียงมันกังวานหวานจับใจ ผมนั่งทำงานอยู่หลังจอมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ได้ยินแล้วยังต้องขยับตัว ชะโงกหน้าออกมาฟังให้ได้ยินเต็ม 2 รูหู ชุดนี้มันน่าฟังกว่าที่ผมคิดอีกนะครับ

นั่งฟังที่โต๊ะทำงานยังเสียงดี สำหรับเครื่องเสียงที่เป็นชุดรับแขก

อ้อ ผมมัวแต่ไปพุดถึงในภาพรวม เกือบลืมพูดถึงคุณภาพของโฟโนสเตจหรือภาคขยายสัญญาณเสียงจากหัวเข็มที่เพิ่มเข้ามาในรุ่น V2 เลยครับ ทีแรกผมก็นึกปรามาสอยู่ในใจว่าวงจรโฟโนสเตจที่มีเกนขยายสูงมาก และไวต่อสัญญาณรบกวนมาก ๆ มาซุกอยู่ในแอมป์ตัวแค่นี้ มันจะไม่ถูกวงจรส่วนอื่นรบกวนหรือ? ทั้งวงจรดิจิทัล วงจรภาคจ่ายไฟ (แบบสวิตช์โหมดอีกต่างหาก) แถมวงจรพวกนี้ยังวางไว้ไม่ห่างกันมากด้วย

ในทางเทคนิคก็ไม่ทราบว่ายังไงล่ะครับ แต่ในทางปฏิบัติแล้วผมว่าโฟโนสเตจของ D 3020 V2 เงียบสงัดและเสียงดีกว่าโฟโนสเตจแยกชิ้นบางตัวเสียอีก มั่นใจว่าหูผมไม่ได้อุปาทานไปเองแน่นอนครับ ขณะที่นั่งพิมพ์อยู่นี่ก็ได้ยินในสิ่งที่กำลังบอกเล่าอยู่ เรียกว่าเป็นประสบการณ์ที่ถ่ายทอดกันแบบสด ๆ เลยทีเดียว

เพลงและดนตรีจากนี้ไป
ในบทบรรณาธิการของ GM2000 ฉบับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้เขียนถึงบทความในเว็บไซต์ www.rollingstone.com ที่พูดถึงอนาคตของอุตสาหกรรมเพลง ความตอนหนึ่งได้ชี้นำเอาไว้ว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเพลงจะเหลืออยู่แค่สตรีมมิ่งและแผ่นเสียง แผ่นซีดีและไฟล์เพลงแบบดาวน์โหลดอีกไม่นานจะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไปและตายไปในที่สุด ซึ่งก็ไม่ทราบว่าบังเอิญมาพ้องกับการออกแบบ D 3020 V2 โดยบังเอิญหรืออย่างไร

อย่างเช่นความเปลี่ยนจากรุ่นเดิมมาเป็นรุ่น V2 ที่ได้ตัดอินพุต USB ออกไป แล้วเพิ่มอินพุตโฟโนมาแทน ก็มีคนสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่าวิศวกรของ NAD อาจมองว่าในปัจจุบัน USB DAC ที่รองรับ 24bit/96kHz นั้นมีอยู่เกลื่อนตลาดแถมยังราคาไม่แพง ยกตัวอย่างเช่น Audioquest รุ่น Dragonfly Red/Black ซึ่งเสียงดีคุ้มเงินมากทั้ง 2 รุ่น ถ้าใครอยากเล่นก็จ่ายเพิ่มอีกแค่ไม่กี่พันบาท

แล้วเอาส่วนที่ตัดออกไปนั้นแลกด้วยโฟโนสเตจชั้นดีที่ผมก็ได้พิสูจน์แล้วว่าของเขาไม่ใช่แค่ราคาคุยในแผ่นกระดาษ แต่เป็นของจริงระดับเครื่องแยกชิ้นบางรุ่นยังอาย

ดังนั้นใครที่จะไปลองฟังแอมป์ตัวนี้ ผมแนะนำให้ขอลองฟังแผ่นเสียงนะครับ ถ้าเป็นแผ่น Jazz At The Pawnshop ที่ผมยกตัวอย่างมานี่ด้วยยิ่งดีครับ และขอให้จำไว้ 3 เรื่องหลัก ๆ ครับ เลือกยี่ห้อที่ไว้ใจได้ แมตช์ซิสเตมกันเข้ากัน การเซ็ตอัปเบื้องต้นอย่าให้บกพร่อง เครื่องเสียงไซส์มินิอย่างนี้ก็ให้ความสุขกับเราได้แน่นอนครับ

แล้วคุณจะเข้าใจได้เองว่าเล่นเครื่องเสียงให้ได้เสียงดี ไม่จำเป็นต้องถมเงินลงไปเยอะ ๆ เสมอไป


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 0-2276-9644
ราคา 19,000 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ