fbpx
REVIEW

รีวิว Bose : SoundTouch Wireless Link Adapter

ผมรู้จักเทคโนโลยีซาวด์ทัช ‘SoundTouch’ ของโบส ‘Bose’ มานานพอดูครับ นานพอที่จะพูดได้ว่านี่คืออีกหนึ่งนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้สินค้าของโบสเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น SoundTouch ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อเครื่องเสียงรุ่นถัดจากนั้นมาของโบสเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชุดเครื่องเสียงสำหรับฟังเพลงหรือใช้งานในระบบโฮมเธียเตอร์

ดังนั้นเครื่องเสียงของโบสที่ออกมาใหม่ในช่วงนี้ถ้ารุ่นใดมีคำว่า SoundTouch นั่นหมายความว่ามันสามารถเชื่อมโยงสัญญาณเสียงเพลงเสียงดนตรี ไปถึงกันได้โดยอาศัยระบบเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายข้อมูลหรือที่เรารู้จักกันในนิยามสั้น ๆ ว่า ‘ระบบ network’

มิใช่แค่เพียงเครื่องเสียงของโบสอีกต่อไป
ย้อนหลังกลับไปราว ๆ ไม่เกิน 2 ปี ระบบเสียง SoundTouch ของโบสนั้นมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับระบบ network audio มาตรฐาน UPnP หรือ DLNA ที่มีใช้งานในเครื่องเสียงทั่วไป ต่างกันเพียง SoundTouch นั้นไม่ใช่ Universal Plug and Play เพราะมันถูกออกแบบมาสำหรับเครื่องเสียงของโบสเท่านั้น

นั่นหมายความว่าในระบบใด ๆ ที่เป็น SoundTouch จะมีแต่เครื่องเสียงของโบสเท่านั้น เครื่องเสียงเดิมที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะดีเลิศเลอเพียงใด หากไม่ใช่ยี่ห้อโบสแล้วจะเล่น SoundTouch เรามีทางเลือกเดียวคือต้องเปลี่ยนไปซื้อเครื่องเสียงของโบสมาใช้เท่านั้น

หรือแม้แต่เครื่องเสียงของโบสเองหากเป็นรุ่นที่ออกมาก่อนหน้านี้ หรือรุ่นที่ยังไม่รองรับ SoundTouch ก็เข้าข่ายต้องเสียเงินซื้อใหม่เช่นกัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ SoundTouch กลายเป็นของสงวนไว้สำหรับเครื่องเสียงรุ่นใหม่ ๆ ของโบสเท่านั้น โอกาสในการเข้าถึง SoundTouch ในอดีตที่ผ่านมาจึงถูกจำกัดไปโดยปริยาย…

ทว่า ณ เวลานี้โบสได้สร้างอีกหนึ่งปรากฏการณ์ปลีกย่อยนั่นคือ ‘SoundTouch Wireless Link Adapter’ อุปกรณ์ตัวเล็ก ๆ ที่สำคัญเสียเหลือเกิน เพราะมันมีหน้าที่ทำให้เครื่องเสียงอื่น ๆ ทั้งหมดที่เราใช้งานอยู่

ไม่ว่าจะเป็นลำโพงบลูทูธง่าย ๆ หรือเครื่องเสียงไฮเอนด์ราคาหลักล้าน สามารถเข้าถึงระบบ SoundTouch ของโบส ได้ด้วยการจ่ายเงินเพิ่มอีก 6,900 บาท สำหรับค่าตัวของ SoundTouch Wireless Link Adapter (ต่อไปนี้จะขออนุญาตเรียกให้สั้นลงเป็น ST WLA นะครับ)

ขั้วต่อทั้งหมดที่มากับตัวเครื่อง สังเกตว่าช่อง AUDIO OUT ชุดเดียวกันจะใช้กับทั้งสัญญาณดิจิทัลและอะนาล็อก
ข้างใต้ตัวเครื่องที่มีขอบฐานเป็นวัสดุประเภทยาง สามารถวางได้อย่างมั่นคงบนทุกพื้นผิว

ST WLA เป็นอุปกรณ์ตัวเล็ก ๆ ขนาดย่อมกว่าฝ่ามือ ภายในบรรจุเอาไว้ด้วยส่วนที่เป็นหัวใจหลักของ SoundTouch Engine (ฮาร์ดแวร์ประมวลและซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงาน) ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวกลางระหว่างระบบ SoundTouch ของโบสกับชุดเครื่องเสียงของเรา

ขอเพียงชุดเครื่องเสียงนั้นมีอินพุตที่รับสัญญาณอะนาล็อก (mini 3.5mm หรือ RCA) หรือสัญญาณดิจิทัล (Optical/TosLink) ได้ด้วยเท่านั้น เมื่อเอา ST WLA ไปเชื่อมต่อทั้งหมดก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ SoundTouch ไปโดยปริยาย

เชื่อมต่อแบบไหนดี?
อุปกรณ์มาตรฐานที่มาพร้อมกับ ST WLA ประกอบไปด้วย อะแดปเตอร์จ่ายไฟเลี้ยงพร้อมทั้งชุดตัวแปลงขั้วเสียบไฟบ้านหลากหลายรูปแบบสำหรับมาตรฐานปลั๊กไฟในประเทศต่าง ๆ, สายสัญญาณเสียงที่ปลายทั้งสองด้านเป็นแจ็ค mini 3.5mm (แจ็คตัวผู้ทั้ง 2 ด้าน), สายแปลงแจ็ค mini 3.5mm ตัวเมียเป็นแจ็ค RCA ตัวผู้สเตริโอ, สายดิจิทัลแบบออปติคที่ด้านหนึ่งเป็น Mini Optical 3.5mm อีกด้านหนึ่งเป็นขั้ว Optical/TosLink ที่ใช้กับเครื่องเสียงทั่วไป พูดได้ว่าให้อุปกรณ์พื้นฐานมาครบเครื่องพร้อมใช้งานกันเลยทีเดียว

อุปกรณ์มาตรฐานที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง

การเชื่อมต่อขั้นพื้นฐานคือการเชื่อมต่อ ST WLA เข้ากับระบบ network ในบ้าน สำหรับการควบคุมสั่งงานและการเชื่อมต่อ ST WLA เข้าในระบบ จำเป็นต้องอาศัยสมาร์ทโฟน iOS หรือ Android ที่ติดตั้งแอพฯ ‘SoundTouch Controller’ แล้วเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับตัวเครื่องและระบบเน็ตเวิร์คในบ้านของเราเนื่องจาก ST WLA เชื่อมต่อระบบเน็ตเวิร์คได้ทางระบบไร้สาย Wi-Fi เท่านั้น

ซึ่งขั้นตอนในการเชื่อมต่อสามารถทำตามลำดับขั้นตอนที่แนะนำไว้ในตัวแอพฯ ‘SoundTouch Controller’ ได้เลย หลังจากนั้นเมื่อเปิดแอพฯ มาทุกครั้งก็จะมองเห็น ST WLA เข้าไปอยู่เป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งในระบบ SoundTouch ครับ

หน้าแอพฯ SoundTouch Controller ในขณะที่ควบคุมอุปกรณ์ SoundTouch ที่เชื่อมต่ออยู่ในระบบ

การใช้งาน ST WLA จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับระบบเสียงภายนอกเพราะตัวมันไม่มีภาคขยายเสียงขนาดใหญ่และลำโพง สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นว่า ST WLA เปิดโอกาสให้ใช้งานเอาต์พุตจากตัวมันได้ 2 รูปแบบด้วยกันคือ สัญญาณเอาต์พุตอะนาล็อก (ใช้ DAC ในตัว ST WLA) และสัญญาณเอาต์พุตดิจิทัล (ใช้ DAC ภายนอก)

วิธีพิจารณาว่าจะเชื่อมต่อแบบไหนดีก็ไม่ยากครับ… ถ้าเครื่องเสียงของเราไม่มี DAC ในตัว ไม่มีอินพุตสัญญาณดิจิทัล ตัวเลือกเดียวที่ต่อใช้งานได้คือ ต่อสัญญาณอะนาล็อกจาก ST WLA ออกไป

แต่ถ้าเครื่องเสียงของเรามีอินพุตที่รับสัญญาณดิจิทัลได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามั่นใจว่า DAC ในตัวเครื่องเสียงของเรามีคุณภาพเหนือกว่าที่อยู่ในตัว ST WLA ก็แนะนำให้เลือกเชื่อมต่อด้วยสัญญาณดิจิทัล หรือจะลองเปรียบเทียบฟังระหว่างการเชื่อมต่อทั้งสองแบบก็ได้ครับในกรณีที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง 2 รูปแบบ

เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบ SoundTouch แล้ว เพลงที่เปิดฟังได้จะมาจากทั้งส่วนที่ออนไลน์อย่างอินเตอร์เน็ตเรดิโอ, ไฟล์เพลงที่อยู่ในเซิฟเวอร์ NAS มาตรฐานทั่วไป (UpnP/DLNA), ไฟล์เพลงที่แชร์มาโดยตรงจากคอมพิวเตอร์ รวมถึงสัญญาณเสียงที่เชื่อมต่อเข้ามาทางอินพุตสัญญาณบลูทูธ ‘Bluetooth’ และอินพุตสัญญาณอะนาล็อก AUX IN ที่ด้านหลังของตัว ST WLA เอง… แหม่ เรียกว่าครบถ้วนเลยทั้งแบบไร้สายและแบบใช้สาย

คุณสมบัติพื้นฐานและข้อจำกัด
ฟอร์แมตไฟล์เสียงที่ระบบ SoundTouch รองรับและสามารถเล่นได้ปัจจุบันคือ MP3, AAC, M4A (รวมทั้ง Apple Lossless [ALAC]), WMA (ไม่รวม WMA Lossless) และ FLAC (จำกัดแค่ 16 bit / 44.1 Khz) ซึ่งมีเพียงฟอร์แมตไฟล์ FLAC เท่านั้นที่ถูกจำกัดเอาไว้แค่ sample rate 44.1kHz นอกนั้นรองรับไปถึง 96kHz

ระหว่างการใช้งานผมยังพบว่าหากเล่นเพลงจาก NAS ที่ใช้ซอฟต์แวร์ Minimserver ยังมีเรื่องติดขัดอยู่บ้างเช่นไม่สามารถเล่นไฟล์เพลงที่มีชื่อเป็นภาษาไทยทั้งที่ไฟล์เหล่านี้เคยเล่นผ่านระบบ network อื่น ๆ ได้ตามปกติ อาจจะต้องรอให้ทาง Minimserver มีการอัพเดตเวอร์ชั่นใหม่

อีกหนึ่งข้อจำกัดคือ การใช้งานในส่วนของสตรีมมิ่งเซอร์วิส ที่ระบบ SoundTouch รองรับอยู่ในปัจจุบัน บางตัวอย่างเช่น Spotify หรือ SiriusXM ก็ยังไม่มีการให้บริการในบ้านเรา รายที่ระบบ SoundTouchรองรับอยู่อย่างเช่น Amazon Music หรือ Deezer ก็ต้องบอกว่ามันยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในบ้านเราเท่าที่ควร

เมื่อเสียงดนตรีแผ่กว้างไปอย่างทั่วถึง
ในการรีวิว ST WLA ผมมีโอกาสได้หยิบยืมลำโพงรุ่น SoundTouch 10 มาลองใช้งานด้วยกันและพบว่าระบบ SoundTouch ที่มาพร้อมกับ ST WLA สามารถพูดได้ว่ามันเหมือนกับระบบ SoundTouch ในเครื่องเสียงรุ่นอื่น ๆ ของโบสไม่มีผิดเพี้ยน

มันสามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบ สามารถเล่นหรือควบคุมระดับเสียงให้สัมพันธ์กับเครื่องเสียง SoundTouch ตัวอื่น ๆ ในระบบได้ เลือกเพลงเดียวกันให้เล่นพร้อมกันได้ทั้ง ST WLA และ SoundTouch 10 หรือจะแยกกันเล่นคนละเพลงก็ทำได้โดยสะดวก

แต่ที่แตกต่างไปจากปกติคือ ผมสามารถเลือกใช้เครื่องเสียงมาใช้กับเจ้า ST WLA ได้ตามใจชอบ อย่างเช่นชุดแรก ผมใช้ลำโพง Bose รุ่น SoundDock XT ซึ่งโดยปกติไม่สามารถเชื่อมต่อทั้งระบบ Network และ Bluetooth แต่มันมีช่องรับสัญญาณอะนาล็อก AUX IN เมื่อเชื่อมต่อกับ AUX OUT ของ ST WLA ลำโพง SoundDock XT ก็กลายเป็นลำโพงที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง Network และ Bluetooth … ว้าว ผมล่ะนับถือไอเดียของคนออกแบบจริง ๆ มันทำให้ลำโพงรุ่นเก่าของโบสเองกลายเป็นลำโพงรุ่นใหม่ได้เฉยเลยโดยไม่ต้องลงทุนซื้อใหม่ทั้งหมด

หน้าแอพฯ SoundTouch Controller ในขณะฟังเพลงจาก
Internet Radio และฟังเพลงช่องทางอื่น ๆ

ผมลองเชื่อมต่อ SoundDock XT + ST WLA เข้ากับ SoundTouch 10 ผ่าน Wi-Fi Router ตัวเดียวกัน วาง SoundDock XT + ST WLA บนโต๊ะทำงานของผม แล้ววาง SoundTouch ไว้ที่มุมห้อง ขณะที่เปิดเพลงเบา ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศความรื่นรมย์ในระหว่างทำงาน เครื่องเสียงทั้ง 2 ชุดสร้างสนามเสียงแผ่กว้างไปทั่วทั้งบริเวณสำนักงานของ GM2000 โดยไม่จำเป็นต้องเปิดให้เสียงดังหนวกหู

น้ำเสียงที่ได้จากทั้ง 2 ชุด แม้จะไม่กระหึ่มใหญ่โตเท่าเครื่องเสียงแยกชิ้น แต่ก็ยังคงจัดว่าเกินตัว เกินตัวอย่างที่เราสามารถคาดหวังได้จากเครื่องเสียงยี่ห้อนี้มาตลอด ยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นบรรยากาศการทำงานของผมเป็นอะไรที่มีความสุขมาก แม้ว่าเสียงเพลงนั้นจะมาจากแค่เครื่องเสียงชุดเล็ก ๆ อย่างนี้

หน้าแอพฯ SoundTouch Controller ในขณะสตรีมไฟล์เพลง (.FLAC) จาก Minimserver

สำหรับการควบคุมสั่งงานผ่านแอพฯ SoundTouch Controller ในฐานะที่ได้ลองเล่นระบบ SoundTouch มาตั้งแต่เริ่มต้น ผมว่าแอพฯ SoundTouch Controller รุ่นล่าสุดนี้มีคุณภาพดีขึ้นมาก แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบอยู่ดี อย่างไรก็ดีก็ยังถือว่าใช้งานได้อย่างสบายใจล่ะครับ เพียงแต่ว่า UI ของมันผมว่ายังสวยงามลงตัวได้มากกว่านี้อีกนะครับ อันนี้คงต้องรออัพเดตในอนาคตต่อไปล่ะครับ

กับการฟังที่จริงจังในคุณภาพมากขึ้น
ผมเข้าใจว่ามีคนใช้เครื่องเสียงคุณภาพสูงจำนวนหนึ่งที่อยากจะลองเล่นระบบเสียงผ่าน Network อย่าง SoundTouch ดูบ้าง แต่ก็ยังสงสัยว่ามันจะให้คุณภาพเสียงออกมาได้ดีแค่ไหน เพื่อไม่ให้เป็นการค้างคาใจผมจัดการเชื่อมต่อ ST WLA เข้ากับอินทิเกรตแอมป์ Marantz HD-AMP1 ที่เพิ่งรีวิวไปหมาด ๆ ก่อนหน้านี้ทางช่อง ANALOG IN 1 ของ HD-AMP1 โดยใช้สายสัญญาณที่แถมมากับเครื่อง

ขณะต่อฟังกับแอมป์ Marantz HD-AMP1 ทางช่อง Optical

ลำโพงที่ใช้มี 2 คู่สลับไปตามวาระได้แก่ Mission LX2 และ PSB Imagine XB ในชุดเครื่องเสียงที่ถ่ายทอดรายละเอียดได้มากขึ้นเช่นนี้ทำให้ทราบว่าภาค DAC ในตัว ST WLA นั้นเหมาะกับเครื่องเสียงชุดเล็ก ๆ มากกว่า

เพราะเมื่อต่อสัญญาณอะนาล็อกออกไปใช้งานกับ SoundDock XT ผมไม่ติดใจเสียงที่ออกมาเลย อาจจะด้วยข้อจำกัดของตัวลำโพงเองก็เป็นได้ แต่เมื่อผมต่อใช้งานกับชุดเครื่องเสียงแยกชิ้นระดับนี้ก็พบว่า DAC ในตัว ST WLA นั้นเป็นรอง DAC ในตัว HD-AMP1 อย่างชัดเจน

เพราะเมื่อผมต่อ Optical จาก ST WLA (เสียบเข้าไปที่ช่อง AUDIO OUT ของ ST WLA เหมือนกัน) ไปเข้าที่อินพุต Optical In ของ HD-AMP1 นั้นหมายความว่ากำลังใช้งาน DAC ในตัว HD-AMP1 อยู่ ซึ่งสุ้มเสียงที่ได้นั้นดีขึ้นอย่างชัดเจน มวลเนื้อเสียงอิ่มแน่น ชัดเจน มากขึ้นตลอดทั้งย่านความถี่เสียง

ในเพลงพระราชนิพนธ์ชื่อ ‘Lullaby’ หรือ ‘ค่ำแล้ว’ ขับร้องโดย Michele Pillar จากอัลบั้ม The Jazz King: H.M. The King Bhumibol Adulyadej Musical Compositions โดย Larry Carlton & Guests – All Star Jazz เสียงกลางและแหลมฟังดูหวานละมุนราบรื่นขึ้นเยอะเลยครับ ได้ฟังแล้วเผลอเคลิ้มตามไปเลยทีเดียว

 

GM2000 Behind the Scene…

นี่คือส่วนหนึ่งของเบื้องหลังการรีวิวเครื่องเสียงที่ท่านแทบมองไม่เห็นในคลิป
เพราะมันคือ BOSE SoundTouch Wireless Link Adapter
เจ้ากล่องสีดำเล็ก ๆ ข้างแอมป์ Marantz HD-AMP1 ตัวสีทอง ๆ นั่นเองครับ
BOSE SoundTouch Wireless Link Adapter ทำให้เครื่องเสียงชุดไหน ๆ ก็เล่นระบบ SoundTouch ได้ แถมเสียงดีไม่เบาซะด้วย

Posted by GM 2000 Magazine on Wednesday, January 18, 2017

 

คาดว่าทางวิศวกรของโบสที่ออกแบบ ST WLA มาคงคิดเพื่อในกรณีนี้เอาไว้แล้วโดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้กับเครื่องเสียงแยกชิ้นซึ่งสามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้ดีเช่นนี้ และในการใช้งานจริงมันก็ได้ผลอย่างมาก จนต้องบอกว่า… นี่ไงใช่เลย ขอบคุณจริง ๆ สำหรับออปชันนี้

 

Live แกะกล่องลองเล่น Bose SoundTouch Wireless Link

Posted by GM 2000 Magazine on Friday, December 23, 2016

 

ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกของ SoundTouch
จำได้ว่าผมสะดุดตาสินค้าตัวนี้ตั้งแต่แรกเห็น เจ้า ST WLA คือสินค้าที่แสดงออกถึงวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างของโบส วิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างให้สินค้ายี่ห้ออื่น ๆ มีโอกาสได้ใช้งานเทคโนโลยี SoundTouch มิได้สงวนไว้ใช้เฉพาะสินค้าของตัวเอง

ไม่ว่าเราจะมีเครื่องเสียงในรูปแบบไหนใช้งานอยู่ จะเป็นลำโพงแอคทีฟ, ลำโพงบลูทูธ, มินิคอมโป หรือแม้แต่ซาวนด์บาร์ ไปจนถึงชุดเครื่องเสียงแยกชิ้นตั้งแต่ชุดเล็กง่าย ๆ ไปจนถึงชุดไฮเอ็นด์ ยี่ห้อใดรุ่นใดก็ได้ ขอให้มีอินพุตที่รับสัญญาณอะนาล็อก หรือสัญญาณดิจิทัล Optical แค่นั้นก็เพียงพอ

เมื่อพิจารณาไปถึงฟังก์ชั่นที่เสริมเข้ามาด้วยอย่างการเชื่อมต่อบลูทูธ ตลอดจนค่าตัวที่ 6,900 บาท นี่คือทางเลือกที่ประหยัดและคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์สำหรับการเข้าสู่โลกของ SoundTouch จริง ๆ ครับ และที่สำคัญนี่คือเครื่องเสียงไฮเทคจากโบสที่จะทำให้… นักเลงเครื่องเสียงรุ่นลายครามคุยเรื่องเดียวกันกับเด็ก Gen Z !


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท อัศวโสภณ จำกัด
โทร. 02-266-8136-8, 02-234-6467-8, 02-633-0212-3
ราคา 6,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ