fbpx
RECOMMENDEDREVIEW

รีวิว MOON : ACE “All-in-One Music Player ที่ครบถ้วนทั้งดิจิทัลและอะนาล็อก”

เมื่อปีที่แล้ว MOON (จากบริษัท Simaudio) เครื่องเสียงชื่อดังสัญชาติแคนาดาที่สร้างชื่อในทำเนียบเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์มานานหลายปีได้เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ในชื่อรุ่นว่า ‘ACE’ พร้อมด้วยนิยาม ‘All-in-One Music Player’

สอดคล้องกับคุณสมบัติของเครื่องเสียงรุ่นนี้ที่ทีมวิศวกรของ MOON ตั้งใจทำให้มันเป็นเครื่องเสียงไฮไฟชิ้นเดียวที่มีความเบ็ดเสร็จในตัวมันเอง ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานมันได้อย่างเรียบง่ายในสไตล์มินิมอล เช่น การเพิ่มลำโพงเข้าไปอีกแค่คู่เดียวเท่านั้น !

All-in-One Music Player ที่ครบถ้วนทั้งดิจิทัลและอะนาล็อก
หากย้อนเวลากลับไปสัก 20-30 ปี หรือแม้กระทั่งบางส่วนในปัจจุบัน พฤติกรรมของคนที่เล่นเครื่องเสียงไฮไฟยังนิยมเล่นแบบ ‘แยกชิ้น’ มากกว่าแบบ ‘รวมชิ้น’

เช่น ถ้าเป็นแอมป์ก็เล่นแบบแยกชิ้นปรี-เพาเวอร์ไปเลยดีกว่าไปเล่นอินทิเกรตแอมป์ หรือเครื่องเล่นซีดีก็เล่นแบบแยก CD Transport + DAC ไปเลย ไม่ใช่เครื่องเล่นซีดีแบบชิ้นเดียวที่เบ็ดเสร็จในตัว

แม้แต่ในเครื่องเสียงระดับเริ่มต้นหลายคนก็ยังมีความเชื่อว่าเล่นแบบแยกชิ้นไปเลยน่าจะดีกว่า เช่น มีงบอยู่ 20,000 บาท แทนที่จะมองหาอินทิเกรตแอมป์ในระดับ 20,000 บาท แต่เรากลับมองหาชุดปรี-เพาเวอร์ที่อยู่ในงบเท่านี้

นี่ผมกำลังพยายามชี้นำหรือเปล่าว่า แบบไหนดีกว่ากัน ?

ที่จริงแล้วจะเลือกแบบไหนนั้น มันไม่มีคำว่าถูกหรือผิดหรอกครับ หากเราเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังนั้น… หลังจากที่เรายกมันออกจากร้าน เอากลับไปใช้งานที่บ้านเราแล้ว

เครื่องแยกชิ้นนั้นมีโอกาสที่จะออกแบบให้เสียงดีกว่าได้… แต่ก็ไม่เสมอไป

เครื่องแยกชิ้นนั้นมีโอกาสที่จะ mix & match ต่างรุ่น หรือต่างยี่ห้อ เพื่อให้ได้เสียงที่ถูกใจได้… แต่ก็ไม่เสมอไป

แต่ที่แน่ ๆ คือ เครื่องแยกชิ้นต้องใช้สายดิจิทัล สายสัญญาณอะนาล็อก และสายไฟเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ชุด ซึ่งถ้าเราเลือกใช้สายชั้นดี ก็หมายถึงงบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มกันอีกพอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับ MOON ACE นอกจากมันจะเป็น ‘อินทิเกรตแอมป์’ ซึ่งมีความหมายว่าได้รวมปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์เอาไว้ในเครื่องเดียวแล้ว มันยังเป็นอินทิเกรตแอมป์ที่มี DAC และ music streamer ในตัวด้วยต่างหากครับ

การเชื่อมต่อก็มีให้เลือกใช้ตั้งแต่ขั้วต่อเบสิกอย่างอินพุตอะนาล็อก (RCA, mini 3.5mm) ซึ่งมีทั้งสำหรับสัญญาณระดับไลน์เลเวล และสัญญาณเสียงจากหัวเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียง (MM หรือ MC high level) ช่องอินพุตของ MOON ACE ยังสามารถตั้งค่าให้เป็นโหมด ‘HT BYPASS’ เพื่อต่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์โปรเซสเซอร์ในระบบเสียงโฮมเธียเตอร์

อ้อ… ช่องเสียบหูฟังก็ยังมีมาด้วยแถมเป็นแจ็ค 6.3mm (หรือ 1/4”) ซะด้วย เป็นการบอกเป็นนัย ๆ ว่าขับหูฟังใหญ่ได้สบาย ๆ

หรือจะเป็นการเชื่อมต่อสัญญาณดิจิทัลทางขั้วต่อ optical, coaxial, USB, Ethernet และการเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่าน Wi-Fi หรือ Bluetooth (aptX)

Technical Insight
แม้ว่าจะไม่ใช่เครื่องเสียงรุ่นที่อยู่ในระดับบนของยี่ห้อ MOON แต่ภายใต้แท่นเครื่องดีไซน์คุ้นตาของ MOON ACE ก็มาพร้อมกับวัสดุและงานประกอบระดับเกรดเอ เห็นเครื่องย่อม ๆ อย่างนี้้แต่หนักเอาเรื่องนะครับ แน่นหนาบึกบึน ตามเหลี่ยมมุมเก็บงานอย่างดีไม่มีคมหรือแหลมบาดมือเลย

จอแสดงผลบนหน้าปัดเครื่องเป็นจอ OLED แสดงผลเป็นสีขาวบนพื้นสีดำ แสดงผลตัวอักษรและกราฟิกต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน หรี่ความสว่างได้ 3 ระดับ ข้อมูลส่วนหลักอย่าง ตัวเลขแสดงระดับ volume ใหญ่สะใจถูกใจผมมากเลยครับ อยู่ห่างจากตัวเครื่อง 4-5 เมตร ก็ยังมองเห็นตัวเลขบนหน้าปัดได้สบาย ๆ

ภายใต้แผ่นโลหะปิดด้านบนฝาเครื่องที่หนักเกินคาด และเต็มไปด้วยช่องระบายความร้อนเกือบเต็มพื้นที่ เผยให้เห็นวงจรไฟฟ้าบนแผงวงจรพิมพ์แบบเพลตทรูโฮลที่มีมากกว่า 1 เลเยอร์ ที่ล้วนแล้วแต่เลือกใช้อุปกรณ์เกรดดีทั้งสิ้น

ที่เห็นชัดเจนก็อย่างเช่น ตัวต้านทานของยี่ห้อ DALE หรือตัวเก็บประจุชนิดฟิล์มพลาสติกของ WIMA มีทั้งอุปกรณ์ที่เป็นแบบเสียบ pin แบบ surface-mounted ส่วนของวงจรภาคขยายเสียงมีการใช้ทั้งวงจรแบบดีสครีตและวงจรรวม (ไอซี)

แนวทางการออกแบบมีทั้งส่วนที่เป็นวงจรสมัยใหม่ เช่น ซีเล็กเตอร์, วอลุ่มปรับเสียง ขณะที่วงจรภาคขยายเสียงหลักยังเลือกใช้วงจรขยายเสียงแบบลิเนียร์ Class AB มีกำลังขับในโหมดสเตริโอข้างละ 50 วัตต์ต่อแชนเนลเมื่ออ้างอิงโหลด 8 โอห์ม และเพิ่มเป็นข้างละ 85 วัตต์ ต่อแชนเนลเมื่ออ้างอิงโหลด 4 โอห์ม

แม้ว่าเอาต์พุตวงจรขยายหลักใน MOON ACE จะเลือกใช้ชิปไอซีขยายเสียง LM3886 ข้างละ 2 ตัว แทนการออกแบบด้วยวงจรแบบดีสครีต แต่สเปคฯ ที่เคลมมาก็ไม่ได้ดูขี้เหร่เลยครับ ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 10Hz – 80kHz (+0/-3.0 dB) S/N Ratio 100dB ที่กำลังขับสูงสุด

โดยมีความเพี้ยน THD% 0.02% ตลอดช่วงความถี่ 20Hz-20kHz ที่กำลังขับ 50 วัตต์ และความเพี้ยน IMD อยู่ที่ 0.005% เท่านั้น และผมยังทราบมาว่าแอมป์ยี่ห้อไฮเอนด์อย่าง Jeff Rowland บางรุ่นก็ออกแบบด้วย LM3886 เหมือนกัน อย่างเช่น Jeff Rowland Model 10 หรือ Jeff Rowland Concentra / Concentra II

MOON ACE มีภาคจ่ายไฟเป็นแบบลิเนียร์ขนาดใหญ่ กินพื้นที่เกือบ 1 ใน 3 ของเครื่อง เด่นด้วยหม้อแปลงเทอร์รอยด์ขนาดใหญ่ถึง 320 VA (ในคู่มือแจ้งไว้เพียง 250 VA) ตัวก็ประจุฟิลเตอร์สำหรับภาคขยายเสียงหลักที่มีความจุรวม 20,000 ไมโครฟารัด มีการแยกภาคจ่ายไฟส่วนย่อย ๆ ตามความเหมาะสมกับวงจรในแต่ละส่วน

สำหรับวงจร MiND ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้อินทิเกรตแอมป์ตัวนี้สามารถเชื่อมต่อระบบ network ได้ เป็นโมดูลแยกอิสระชัดเจน ติดตั้งแยกส่วนซ้อนอยู่บนแผงวงจรหลักของเครื่อง เครื่องที่ส่งมารีวิวนี้ยังเป็น MiND เวอร์ชันแรก ซึ่งก็พัฒนามาจนกระทั่งรองรับ hi-res audio ทั้งฟอร์แมต PCM และ DSD แล้ว

แต่รุ่นปัจจุบันทั้งหมดทราบว่ามีการอัปเกรดเป็นโมดูล MiND 2 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคุณสมบัติของมันก็อัปเกรดทั้งในส่วนของการรองรับ hi-res audio ที่ resolution สูงขึ้น นอกจากนั้นยังรองรับการถอดรหัส MQA เรียบร้อยแล้ว ทราบแล้วผมก็เสียดายเล็ก ๆ ที่ตัวรีวิวไม่ได้ติดตั้งโมดูล MiND 2 มา

อย่างไรก็ดีผมเคยลองเล่น MiND 2 แล้วเหมือนกัน เมื่อครั้งที่ไปลองฟัง MOON 390 จึงพอจะจินตนาการให้มันเชื่อมโยงกันได้บ้าง แต่หลัก ๆ ก็คงรีวิวไปตามสภาพเครื่องจริงที่ได้รับมาในคราวนี้ครับ

สำหรับส่วนของวงจรภาค DAC ใน MOON ACE ผมทราบจากในคู่มือว่าเลือกใช้ชิป DAC / Digital Filter เบอร์ ESS 9010 ออกแบบให้รองรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงสุดถึง 384kHz สำหรับฟอร์แมต PCM และ DSD256 สำหรับฟอร์แมต DSD ทางอินพุต USB และ Ethernet สำหรับช่องทางรับสัญญาณดิจิทัลอื่น ๆ ก็ลดหลั่นกันไป

ลองเล่น ลองใช้งาน
ส่วนตัวผมเคยใช้งานเครื่องเสียงประเภท All-in-One มาแล้วหลายรุ่น เครื่องเสียงบางรุ่นพอได้ลองใช้งานแล้วรู้สึกว่าเหมือนมันเป็น source หรือต้นทางที่ให้กำเนิดสัญญาณเสียง ที่มีภาคขยายเสียงหรือแอมป์เป็นส่วนเสริมเข้ามา

ในขณะที่เครื่องเสียงบางรุ่นผมลองใช้งานแล้วรู้สึกว่ามันเป็นแอมป์ที่เสริมส่วนของการทำหน้าที่เป็น source เพิ่มเข้ามา

สำหรับ MOON ACE ผมกลับรู้สึกว่ามันเป็นทั้งสองอย่างครับ ความรู้สึกแรกคือ มันเป็นแอมป์ เพราะว่ามันมีสิ่งต่าง ๆ ที่อินทิเกรตแอมป์ดี ๆ สักเครื่องจะพึงมี

แอปฯ MiND ใช้ได้ทั้งในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต แต่อย่างหลังจะใช้งานสะดวกกว่า

แต่เมื่อได้ลองสั่งงานผ่านแอปฯ ‘MiND’ ในแท็บเล็ต ซึ่งมันก็สามารถสั่งงานได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การเลือกอินพุต การปรับความดังเสียง หรือการเลือกเพลงมาเปิดฟัง ซึ่งพฤติกรรมการใช้งานในลักษณะโดยปกติมันก็ไม่มีอินทิเกรตแอมป์ทั่วไป

การใช้งานทั่วไปถือว่าใช้ง่ายไม่ซับซ้อนครับ รีโมตคอนโทรลอินฟราเรดที่ใช้แบตเตอรี่แบบถ่านกระดุมมีไว้สำหรับควบคุมฟังก์ชันหลัก ๆ เช่นเลือกอินพุต, วอลุ่ม, เงียบเสียง, เปิด/ปิดสแตนด์บาย, หรี่ความสว่างจอแสดงผล แต่ไม่ได้ทำครบทุกหน้าที่ เช่นการตั้งค่า Setup ที่ต้องไปกดปุ่มบนหน้าปัดเครื่อง

มีบางจุดที่คิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เช่น การตั้งค่า Setup ที่ต้องเลื่อนเมนูด้วยการหมุนปุ่มวอลุ่ม แต่เวลาจะกดเลือก แทนที่จะสามารถกดที่ปุ่มวอลุ่มได้เลยเหมือนเครื่องเสียงหลาย ๆ รุ่น แต่เครื่องเสียงรุ่นนี้กลับต้องไปกดปุ่ม OK บนหน้าปัดอีก จะควบคุมการเลือกค่าต่าง ๆ ผ่านรีโมตคอนโทรลก็ทำไม่ได้เช่นกัน

อย่างเช่นตอนที่ผมจะจับคู่อุปกรณ์บลูทูธกับสมาร์ทโฟน ก็ต้องไปนั่งกด ๆ หมุน ๆ ปุ่มบนหน้าปัด ไม่ได้สะดวกอย่างที่คิดไว้ แต่ถ้าหากจะพิจารณาให้เป็นกลางและดูเป็นธรรมกับ MOON ACE สักหน่อยก็ต้องบอกว่ายังมีเครื่องเสียงที่มีขั้นตอนการจับคู่อุปกรณ์บลูทูธยุ่งมากยากกว่านี้อยู่เหมือนกันครับ

เมนู Setup ของอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ เปิดโอกาสให้ตั้งค่าในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้งานเป็นส่วนใหญ่ เช่นการตั้งค่าเกี่ยวกับอินพุต ที่สามารถเลือกตั้งค่าได้ทั้งเปิด/ปิดการใช้งาน, ชื่ออินพุต, การชดเชยระดับเสียง หรือการเปิดการใช้งาน HT BYPASS สำหรับบางอินพุต

นอกจากนั้นแล้วยังมีส่วนของการตั้งค่าที่เกี่ยวกับการเชื่อมต่อ Network, Bluetooth และส่วนอื่น ๆ ที่สามารถศึกษาเข้าใจได้ไม่ยากจากคู่มือใช้งาน หรือแม้แต่จากประสบการณ์

เบื้องต้นผมลองใช้อินพุตบลูทูธลิงก์กับมือถือแล้วเปิดดูวิดีโอใน NetFlix หรือ YouTube แล้ว ภาพกับเสียงยังตรงกัน ไม่มีปัญหา lag หรือเสียงกับภาพไม่ตรงกัน และเสียงออกมาดีมากอย่างที่ควรจะเป็น ผมได้ลองดูรายการเพลงอย่าง The Rapper ซีซัน 2 เสียงที่ออกมามันฟินกว่าที่เคยฟังจากลำโพงในทีวีเยอะเลย

อย่างไรก็ดีผมพบว่าสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ไม่รองรับ aptX อย่าง iPhone X และ iPad 6th Gen นั้น เมื่อรับชมวิดีโอแล้วยังพบปัญหาภาพและเสียงไม่ค่อยตรงกันอยู่บ้าง ไม่เป๊ะแบบตอนที่ผมใช้สมาร์ทโฟนที่รองรับ aptX อย่าง Samsung Galaxy A9 2018 และที่รองรับ aptX HD อย่าง LG V30+

เมื่อลองใช้ฟังเพลงจาก source ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นระบบสตรีมมิงและที่เล่นจากไฟล์เพลงที่อยู่ในเครื่อง (ใช้แอปฯ เล่นเพลง USB Audio Player Pro) สุ้มเสียงนั้นไม่ได้ขี้เหร่เลยแม้แต่น้อยหากพิจารณาในแง่ที่ว่ามันเป็นระบบการเชื่อมต่อแบบไร้สาย !

ส่วนที่ไม่สามารถแสดงผลเป็นภาษาไทย

ดังนั้นในแง่ของความหลากหลายในประโยชน์ใช้สอย ต้องบอกว่า MOON ACE สอบผ่านในระดับเกรดเอ เพราะมันไม่ใช่แค่ใช้งานได้ แต่ผลลัพธ์ซึ่งหมายถึง ‘คุณภาพเสียง’ ยังทำได้ดีมากด้วยครับ (นี่ขนาดลองแค่บลูทูธ) อย่างน้อยก็ยังเป็นเสียงที่ฟังได้เพลิน ๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย

ปัญหาเล็ก ๆ ที่ผมเจอขณะที่รีวิวนี้คือ จอแสดงผลบนหน้าปัดของ MOON ACE ยังไม่รองรับภาษาไทยครับ แต่ถ้าเป็นการควบคุมผ่านแอปฯ ‘MiND’ การแสดงผลภาษาไทยไม่มีปัญหาเลย

ลองฟังเสียง
หลังจากได้ลองฟังโดยต่อกับลำโพงที่คุ้นเคยอย่างเช่น Revel Concerta2 M16 หรือ Audiovector QR1 กำลังขับที่มีใน MOON ACE ทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อเล่นไฟล์เสียง hi-res audio กับลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์ชนิดพิเศษอย่าง QR1

เมื่อเทียบกับแอมป์ที่ผมใช้งานอยู่ทั้ง Marantz PM8006 และ Arcam FMJ A29 เสียงที่ได้จาก MOON ACE ดูจะเป็นรองแค่เรื่องของพละกำลังในเวลาที่ฟังเพลงที่ต้องรีดเค้นพลังของแอมป์ออกมาเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นเพลงทั่วไปที่ไม่ได้ต้องการไดนามิกเฮดรูมมาก ๆ ผมว่าเสียงของ MOON ACE ดูจะได้เปรียบในเรื่องของรายละเอียดและความละเมียดละไมเสียด้วยซ้ำไปครับ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ PM8006

เมื่อพิจารณาในภาพรวม สุ้มเสียงที่ได้จากภาคขยายเสียงของอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ มีความสะอาด นิ่ง ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ดีตามแนวทางของแอมป์โซลิดสเตทชั้นดี แต่ยังไม่ถึงขั้นกระจ่างใสแบบทะลุปรุโปร่ง แจกแจงรายละเอียดแบบหมดจดสุด ๆ หรือให้เสียงเข้มข้นหนาแน่นเหมือนอย่างที่ผมเคยได้ยินจากแอมป์โซลิดสเตทในระดับสูงกว่านี้โดยเฉพาะของ MOON เอง

การประนีประนอมในลักษณะดังกล่าวทำให้ผมสามารถเปิดฟังเพลงที่ชอบ แต่เรื่องของการบันทึกเสียงยังขาด ๆ เกิน ๆ อย่างอัลบั้ม Singles 1969-1981 ของ Carpenters (PCM 24bit/96kHz), Tapestry ของ Carole King (PCM 24bit/192kHz) หรืออัลบั้ม Divide ของ Ed Sheeran (PCM 24bit/96kHz) ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น คือเปิดฟังได้เพลิน ๆ และเปิดฟังได้ดังพอสมควรโดยไม่รู้สึกระคายหู

รายละเอียดเหล่านี้ชัดเจนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต่อใช้งานช่องอินพุต USB โดยเล่นเพลงจากแอปพลิเคชัน roon ในคอมพิวเตอร์ ในโหมดนี้ถ้าหากใช้คอมพิวเตอร์ Windows จะมีไดรเวอร์ที่เป็น native ASIO ของ MOON ACE มาให้เลือกใช้ด้วย ทำให้สามารถเล่นไฟล์ DSD ได้ถึงระดับสูงสุดที่รองรับนั่นคือ DSD256

ลองเล่นอินพุต USB เล่นเพลงจาก roon ควบคุมผ่านแอปฯ roon remote

ผมได้ลองเล่นไฟล์ DSD หลาย ๆ ชุดที่สั่งซื้อแบบดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์ nativedsd.com เสียงที่ได้มีรายละเอียดความเป็นธรรมชาติ และไร้ซึ่งเสียงคมแข็งอย่างระบบเสียงดิจิทัลคุณภาพต่ำ

โดยเฉพาะอัลบั้มที่ต้นฉบับบันทึกเป็นสัญญาณ DSD มาตั้งแต่ต้นอย่าง Tchaikovsky Ballet Suites for Piano Duo หรือ Super Audio CD Sampler ของสังกัด Pentatone

การมีโมดูล MiND บิลต์อินมาใน MOON ACE นั้นถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจครับ เพราะผมเองเคยรีวิว MiND 180 ซึ่งเป็นสตรีมเมอร์ที่ไม่มี DAC ในตัวรุ่นแรก ๆ ของ MOON มาแล้วและผมชอบมันมาก

โมดูล MiND ที่อยู่ในอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่รุ่นใหม่ล่าสุดเหมือนกับ MiND 2 แต่ก็ได้พัฒนามาจากเวอร์ชันแรกเยอะพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของการควบคุมผ่านแอปฯ MiND ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญสำหรับแพลตฟอร์ม network audio ของ MOON

คุณภาพเสียงจากที่ได้เมื่อผมลองสตรีมไฟล์ lossless จาก TIDAL และสตรีมจาก UPnP Media Servers (Minimserver ใน Windows 10) เป็นเสียงที่น่าฟังกว่าสตรีมเมอร์หรือเอวีรีซีฟเวอร์ราคาย่อมเยาทุกรุ่นที่ผมเคยได้ลองฟังมา

ซึ่งรีวิวนี้ผมเลือกเชื่อมต่อด้วยสาย LAN ผ่านพอร์ต Ethernet ของเครื่องซึ่งโดยทั่วไปแล้วให้เสียงดีกว่าการเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi ยิ่งถ้าเปลี่ยนจากสาย LAN ธรรมดาเป็นสายเกรดไฮไฟเช่น ของ Transparent เหมือนอย่างที่ผมได้ลอง ก็จะได้คุณภาพเสียงที่ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเนื้อเสียงและการเน้นย้ำในน้ำหนักของเสียง

ในการใช้งานเราสามารถสตรีมเพลงมาฟังได้จากทั้ง Web Radios, Music Services, Local Library (ไฟล์เพลงที่อยู่ในตัวอุปกรณ์แอปฯ คอนโทรล) และ UPnP Media Servers นอกจากนั้นมันยังรองรับการสตรีมไฟล์ DSD64 จาก UPnP Media Servers ด้วย แต่ยังไม่รองรับถึง DSD256 เหมือนรุ่นที่อัปเกรดเป็น MiND 2 แล้ว

อินพุตโฟโนเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผมไม่พลาดลองฟังแน่นอนครับ โดยส่วนตัวผมชอบโฟโนปรีแอมป์ของ MOON เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้มาลองคราวนี้ก็ไม่ผิดหวังครับ ผมลองต่อมันกับเทิร์นเทเบิล Thorens TD 203 + หัวเข็ม Soundsmith Carmen

มันยังคงเป็นปรีโฟโนที่ noise ต่ำมาก และไร้เสียงฮัม เสียงจี่ น่ารำคาญ เกนขยายก็มากพอที่จะใช้งานได้อย่างไม่อึดอัด เสียงที่ออกมาเด่นในเรื่องของอิ่มแน่นของเนื้อเสียง ขณะที่ภาพรวมยังฟังดูโปร่งกระจ่างอย่างเป็นธรรมชาติ

หากคิดจะลงทุนซื้อปรีโฟโนมาอัปเกรด ถ้าราคาไม่สูงกว่า 15,000-20,000 บาท ผมคิดว่าเป็นการเสียเวลาเปล่าครับ เพราะที่อยู่ในตัวมันก็เสียงดีเหลือเฟืออยู่แล้วล่ะครับ

MOON ACE เหมาะกับใคร ?
หลายครั้งหลายคราในระหว่างการรีวิว MOON ACE ผมพบว่าเครื่องเสียงที่วางเรียงรายอยู่ในชุด หรือที่อยู่ในชั้นวางรอบ ๆ ห้องไม่จำเป็นต้องเปิดใช้งาน หรือหยิบมาใช้ร่วมกันเลย เพราะว่าทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังมันเบ็ดเสร็จตั้งแต่ในตัว MOON ACE เองแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการสตรีมจาก TIDAL หรือ UPnP Music Server ซึ่งอาศัยแค่คอมพิวเตอร์ตัวเดียว และระบบเน็ตเวิร์คที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เพียงเท่านี้้โสตประสาทก็พร้อมจะฟินกับเสียงเพลงเพราะ ๆ ได้แล้วครับ

ด้วยสิ่งที่เครื่องเสียงรุ่นนี้เป็นอยู่ หากพิจารณาในแง่ของราคาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าไฮเอนด์ ผมมองว่ามันคุ้มค่ากว่าการไปซื้อแบบแยกชิ้น เพราะทุกอย่างมันลงตัวมาจากโรงงานแล้ว อีกทั้งยังไม่ต้องเผื่องบให้กับสายสัญญาณหรือสายไฟด้วย

ดังนั้นหากถามว่า MOON ACE เหมาะกับใคร ?

ผมคิดว่าคงต้องเป็นคนที่ชอบฟังเพลง มีรสนิยมดี ชอบเครื่องเสียง และมีความต้องการเครื่องเสียงสำหรับใช้งานในแบบพรีเมี่ยมไลฟ์สไตล์ที่เน้นความเรียบง่าย หรือคนที่มองหาเครื่องเสียงชุดรองไปใช้งานภายในบ้าน นอกจากชุดหลักที่เป็นซิสเตมใหญ่กว่านี้ รับรองว่านี่คือ ตัวเลือกชั้นดีที่คุณกำลังมองหาแน่นอนครับ !


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เอลป้า ชอว์ จำกัด
โทร. 0-256-9683-5
ราคา 110,000 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ