fbpx
REVIEW

รีวิว Revel : Concerta2 M16 ลำโพง 2 ทางที่ก้าวข้ามพรมแดนของคำว่า “ลำโพงเสียงดีที่คุ้มค่า”

เมื่อ 18 ปีก่อนผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงาน Madrigal Audio Laboratories ซึ่งในเวลานั้นเป็นบริษัทหนึ่งในเครือของ Harman International Industries

จุดหมายหลักของทริปนั้นคือไปเยี่ยมชมส่วนงานออกแบบ วิจัยและผลิตลำโพงไฮเอ็นด์ยี่ห้อเรเวล “Revel” โดยมีคุณเควิน เวค (Kevin Voecks) นักออกแบบลำโพงมากประสบการณ์ของ Revel เป็นเจ้าหน้าที่กิตติมศักดิ์พาเยี่ยมชมแทบทุกส่วนภายในโรงงาน รวมถึงห้องฟังส่วนตัวที่บ้านของเขา

ภาพจำในครั้งนั้นคือเบื้องหลังการออกแบบภายในโรงงานระดับโลกที่ทำไดรเวอร์เอง ทำตู้เอง ทำสีตู้เอง (เป็นยี่ห้อแรก ๆ ที่ทำสีลำโพงด้วยเกรดเดียวกับสีพ่นรถยนต์) มีเครื่องฉีดพิมพ์สามมิติเอง (เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน) มีระบบยิงแสงเลเซอร์วิเคราะห์การทำงานของไดรเวอร์ลำโพงด้วยคอมพิวเตอร์ มีห้องแล็บชั้นดีสำหรับการทำมอนิเตอร์ลำโพงต้นแบบตลอดจนการทดสอบฟังเปรียบเทียบกับลำโพงของคู่แข่งอย่างละเอียดยิบ

ห้องแล็บส่วนที่ทำการฟังเปรียบเทียบลำโพงยี่ห้ออื่น (ภาพประกอบจากเอกสาร White Paper ของลำโพง Concerta2 M16)

พูดได้ว่านี่คือโรงงานผลิตลำโพงระดับโลก ซึ่งนอกจาก Revel แล้วยังมีลำโพงชื่อดังที่ 2 ยี่ห้อที่กำเนิดจากโรงงานแห่งนี้ได้แก่ JBL และ Infinity ครั้งนั้นลำโพง Revel ที่ผมได้รับเชิญพร้อมกับสื่อจากทั่วโลกให้ไปชมเบื้องหลังการผลิตก็คือรุ่น Ultima Salon ราคาขายในเวลานั้นเมื่อคูณด้วยค่าเงินในเวลานี้อยู่ที่ระดับเลยครึ่งล้านบาท

จากนั้นชื่อของ Revel ก็ติดอยู่ในทำเนียบลำโพงระดับไฮเอ็นด์ที่ผมคิดว่าหลายคนใฝ่ฝัน ทว่าอาจจะต้องทำงานเก็บเงินอยู่หลายปีหรือไปจับพลัดจับผลูถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลใหญ่สักงวด จึงจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ

ทว่าลำโพง Revel รุ่นใหม่ในปัจจุบันอย่าง Concerta2 M16 ที่ทางบริษัทมหาจักรฯ ตัวแทนจำหน่ายในปัจจุบันส่งมาให้ผมได้ลองฟังคู่นี้ทราบในเบื้องต้นว่าขายอยู่คู่ละ 29,990 บาทเท่านั้น และที่น่าสนใจกว่านั้นคือคนออกแบบลำโพงรุ่นนี้เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบลำโพงรุ่น Ultima Salon ครับ !

ถอดรหัสพันธุกรรม
ก่อนอื่น ก่อนจะไปว่ากันในรายละเอียดของลำโพงคู่นี้ ทราบหรือไม่ครับว่าลำโพงรุ่นนี้ได้รับการสรรเสริญจากสื่อในแวดวงไฮไฟที่่มีความน่าเชื่อถือมาแล้วมากมาย หยิบยกเอามาพูดถึงแค่พอสังเขปก็มี รางวัล “Best Standmount Loudspeaker 2017” จากนิตยสาร WHAT HIFI (UK) และรางวัล “Editor’s Choice Award” จากนิตยสาร THE ABSOLUTE SOUND ถึง 2 ปีซ้อนคือในปี 2017 และ 2018

ท่านที่รู้จักนิตยสารเหล่านี้ดีคงเข้าใจได้ทันทีว่าลำโพงคู่นี้ย่อมไม่ธรรมดา โดยเฉพาะลำโพงจากอเมริกา ไม่บ่อยนักที่ได้รับการสรรเสริญในระดับนี้จากสื่อทางฝั่งสหราชอาณาจักรหรือ UK (United Kingdom)

ที่หยิบยกมาอ้างถึงข้างต้นมิได้จะให้รู้สึกคล้อยตามหรือเชื่อเขาไปเสียทั้งหมดนะครับ ผมเพียงแค่รู้สึกว่าอะไรมันจะปานนั้น สื่อสองฝั่งรุมกันเชียร์ขนาดนี้แสดงว่าลำโพงรุ่นนี้มันต้องมีดีอะไรแน่ ๆ อีกใจก็นึกค้านระคนท้าทายว่า… มันจะจริงเร้อ ? ต้องขอจับมาลองพิสูจน์ดูหน่อยซิว่าจะแน่สักแค่ไหน !

Concerta2 M16 เป็นลำโพงตู้เปิด 2 ทาง 2 ไดรเวอร์ วัสดุที่ใช้ทำไดอะแฟรมของไดรเวอร์ทั้ง 2 ตัวเป็นวัสดุอะลูมิเนียมเหมือนกัน ในระหว่างการลองฟังในเบื้องต้นผมมีความรู้สึกว่า ทำไมลำโพงคู่นี้ให้เสียงไม่เหมือนกับที่ผมเคยได้ยินจากลำโพงในระดับราคานี้ ?

ระหว่างที่กำลังครุ่นคิดว่าคนออกแบบเขาทำได้อย่างไร ? ผมก็ไปเจอคลิปวิดีโอในยูทูบทางช่อง Analog Planet ของคุณไมเคิล เฟรมเมอร์ รีวิวเวอร์ชื่อดังจากสำนักสเตอริโอไฟล์ เขาไปสัมภาษณ์คุณเควิน เวค ที่งาน T.H.E. Show Newport Beach เอาไว้

ในคลิปผมมีความรู้สึกว่าคุณเควิน จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องของแบนด์วิดธ์ ความกระจ่างชัดของเสียง ทั้งในแนวแกนและนอกแนวแกน เนื่องจากเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องวางลำโพงในห้องที่มีปริมาตร ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วแน่นอนว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสะท้อนของคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นจากการการตอบสนองนอกแนวแกนของเสียงได้ การทำให้คลื่นเสียงนอกแนวแกนมีการตอบสนองที่ดีตั้งแต่ต้นเป็นอะไรที่สมควรทำ

รายละเอียดการออกแบบตัวไดรเวอร์ ภาพประกอบจากเอกสาร White Paper ของลำโพง Concerta2 M16

การที่จะบรรลุผลเช่นนั้นเขาจึงให้ความสำคัญตั้งแต่การการออกแบบตัวไดรเวอร์ ตลอดจนการจัดวางตำแหน่งของไดรเวอร์ อีกทั้งยังไปนำเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ ของการออกแบบลำโพงรุ่นใหญ่กว่าอย่าง Performa3 Series มาใช้กับลำโพงรุ่นนี้ด้วย

โดยเฉพาะการออกแบบตัวขับเสียงในย่านความถี่สูงหรือทวีตเตอร์ เขาใช้ทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียมขนาด 1 นิ้ว ที่ออกแบบให้มีความถี่เรโซแนนซ์ต่ำมาก ต่ำจนสามารถออกแบบจุดตัดความถี่ครอสโอเวอร์เอาไว้ที่ความถี่ 2.1 kHz ได้เลย

ซึ่งทวีตเตอร์ที่ต้องทำงานในช่วงความถี่ค่อนข้างต่ำอย่างนี้ต้องถือว่าเป็นอะไรที่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนักโดยเฉพาะทวีตเตอร์โดมโลหะเพราะมันเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงมาก หากตัวทวีตเตอร์ไม่เจ๋งจริงแล้วล่ะก็เสียงที่ออกมารับรองว่าฟังไม่เป็นสับปะรดเลยล่ะ

ทวีตเตอร์โดมอะลูมิเนียมและเวฟไกด์พิเศษ

ผมสังเกตว่าทวีตเตอร์ตัวนี้ยังมีแผงควบคุมมุมกระจายเสียงหรือเวฟไกด์ ตรงนี้ก็มีรายละเอียดของการออกแบบอยู่ครับ เขาบอกว่ามันเป็น “Fourth generation Acoustic Lens waveguides” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ Revel และพัฒนามาจนเป็นเวอร์ชั่นที่ 4 แล้ว

สำหรับไดรเวอร์ขับเสียงกลาง/ต่ำ เป็นไดรเวอร์กรวย (ไดอะแฟรม) อะลูมิเนียมขนาด 6 นิ้วครึ่ง (6.5″ deep anodized aluminum cone woofers) ที่ให้ความสำคัญกับส่วนของระบบแม่เหล็กและการขยับเคลื่อนที่ตัวของไดอะแฟรมให้มีความนิ่ง ความเสถียรมากที่สุดไม่ว่าจะขยับมากหรือน้อย เพื่อหวังผลให้มันถ่ายทอดเสียงที่มีความผิดเพี้ยนต่ำ

ไดรเวอร์เสียงกลาง/ทุ้มกรวยอะลูมิเนียมขนาด 6.5 นิ้ว

ไดรเวอร์ทั้งสองตัวยึดกับตู้ลำโพงโดยเก็บซ่อนสกรูไว้อย่างดี มีหน้ากากผ้ายึดด้วยแรงแม่เหล็ก ตัวตู้เป็นดีไซน์ทรงโค้งเพื่อหวังผลในการลดการสั่นค้างภายในและการสะท้อนที่ผิวหน้าตู้ พื้นผิวด้านนอกทำสีไฮกลอสเงางาม เลือกได้ทั้งตู้สีขาวเงาและสีดำเงาดูโมเดิร์นไม่ใช่น้อย

ท่อเปิดขนาดใหญ่ด้านหลังตู้เป็นดีไซน์ที่เขาเรียกว่า “Constant Pressure Gradient Port Design” ผมเปิดดูใน White Paper ของการออกแบบลำโพงรุ่นนี้ เขาว่านี่เป็นเทคโนโลยีสิทธิบัตรของทาง Harman เองเลยนะครับ มันไม่ใช่แค่ท่อเปิดที่มีปากผายออกเท่านั้นแต่ยังมีกลไกต่าง ๆ เพื่อรีดมวลลมให้พุ่งผ่านออกมาอย่างรวดเร็วและไม่มีเสียงรบกวน ให้มวลเสียงที่ระบายออกมาไปช่วยสนับสนุนมวลเสียงที่ออกจากตัวไดรเวอร์ได้อย่างกลมกลืน

พูดเหมือนง่ายแต่ทำจริงจะง่ายอย่างที่พูดหรือเปล่า ต้องลองฟังจากของจริงดูครับ เอกสาร White Paper ที่ว่านี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ของการออกแบบลำโพง Concerta2 Series สนใจเข้าไปโหลดมาดูได้ครับที่ คลิ้กที่นี่

ซิสเตมและเซ็ตอัป
ลำโพง M16 (ต่อไปจะเรียกย่อสั้นอย่างนี้นะครับ) มีอิมพิแดนซ์เฉลี่ย 6 โอห์ม ความไว 86dB (2.83V @ 1M) ช่วงตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ลึก 55Hz ที่ -3 dB, 50Hz ที่ -6 dB และ 45Hz ที่ -10 dB สำหรับการตอบสนองในย่านความถี่สูงไม่ได้มีแจ้งในข้อมูลทางเทคนิค (#แปลกดีครับ) แนะนำให้ใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับตั้งแต่ 50-120 วัตต์ ขั้วต่อสายลำโพงเป็นแบบไบดิ้งโพสต์ 5 ทางและเป็นขั้วต่อแบบซิงเกิ้ลไวร์ (#ถูกใจครับ)

แอมป์ตัวแรกที่ผมลองใช้ขับลำโพง M16 ในช่วงของการทำความรู้จักกันคืออินทิเกรตแอมป์สเตริโอ Arcam FMJ A29 กำลังขับข้างละ 80 วัตต์ (อ้างอิงโหลด 8 โอห์ม) ส่วนตัวลำโพงวางบนขาตั้งสเตนเลสสูง 24 นิ้วของพี่ปุ๊แห่งร้าน Rezet วางลำโพงห่างจากฝาผนังห้องทุกด้านอย่างที่ควรจะเป็น

ผมไม่ต้องเสียเวลาเบิร์นฯ ลำโพงคู่นี้นานเลยครับ เพราะดูจากสภาพและริ้วรอยต่าง ๆ รอบตัวตู้แล้วมันน่าจะถูกใช้งานมาพอสมควร แต่ไม่ถึงขั้นที่มีชิ้นส่วนใดแลดูสึกหรอหรือเกิดความเสียหายนะ

อย่างที่ได้เรียนไว้แล้วว่า แค่ครั้งแรกที่เปิดฟังผมก็รู้สึกแล้วว่ามันเป็นลำโพงมีของ เสียงที่ออกมามันน่าสนใจ ที่ว่าน่าสนใจคือมันไม่มีอะไรขาดหรือเกิน เสียงทุกย่านมาครบ สม่ำเสมอ สมดุลเสียงดีมาก และเสียงมีลักษณะเปิดกระจ่างชัดเจนสดใส เปิดเพลงลูกทุ่งก็ได้อารมณ์ เปลี่ยนไปฟังแจ๊ซก็เข้ากันดี หันไปหาเพลงคลาสสิคก็ฟังเพลิน บทจะไปเพลงร็อคมันก็ร็อคกับเขาได้หน้าตาเฉย !

ขั้วต่อสายลำโพงแบบซิงเกิลเอ็นด์ ใช้งานสะดวก ในภาพต่อใช้งานอยู่กับสายลำโพง Nordost Blue Heaven Leif

ระหว่างนั้นผมจำเป็นต้องสลับซิสเตมไปรีวิวชุดไฮเอนด์ของ NAD Masters Series ในชุดใช้เครื่องเล่น NAD M50.2 และแอมป์ NAD M32 ซึ่งมีกำลังขับข้างละ 150 วัตต์ (อ้างอิงโหลด 8 โอห์ม)

ใช้งานในชุดไฮเอ็นด์ก็สามารถเข้ากันได้ดี

ทีแรกผมว่าจะหาลำโพงอื่นมาใช้งาน แต่เมื่อลองใส่ M16 เข้าไปใช้ดูก็พบว่ามันไม่ได้เป็นตัวถ่วงของซิสเตมในระดับนี้เลยครับ จะปรับ จะเปลี่ยนอะไรเข้าไปมันก็แจกแจงถ่ายทอดออกมาได้หมด สุดท้ายแล้วผมก็คงมันเอาไว้ตลอดการฟังทดสอบ

ถามว่ามันไม่มีอะไรให้ตำหนิได้หรือ ? ถ้าตั้งใจจะจับผิดกันก็มีครับ เสียงกลางของลำโพงคู่นี้ไม่ได้มีรายละเอียดชัดคมเข้ม และพุ่งเปิดออกมาเหมือนลำโพง 3 ทางคุณภาพดี

ในลำโพง 3 ทางการแยกไดรเวอร์มิดเรนจ์ออกมานั้นอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงกับความไม่กลมกลืนกันของไดรเวอร์ที่มีจำนวนมากขึ้น แต่เมื่อมันถ่ายทอดเสียงในย่านความเสียงกลางเราจะได้ยินเสียงหลักส่วนใหญ่ออกมาจากไดรเวอร์มิดเรนจ์ ทำให้เสียงนั้นมีความคมเข้มและชัดถ้อยชัดคำกว่าเสียงจากลำโพง 2 ทาง ซึ่งการสร้างเสียงกลางขึ้นมาต้องอาศัยความร่วมมือจากไดรเวอร์ 2 ตัว ความคม ความชัด ก็อาจจะถดถอยไปบ้างโดยธรรมชาติ

ระหว่างนั้นผมยังมีโอกาสได้ลองสลับไปฟังลำโพง M16 กับ Marantz PM8006 อินทิเกรตแอมป์กำลังขับข้างละ 70 วัตต์ (อ้างอิงโหลด 8 โอห์ม) รุ่นใหม่ของมาร้านทช์ อาจจะด้วยที่ตัวแอมป์ยังใหม่มากเพราะส่งมาถึงผมในสภาพใหม่แกะกล่อง ช่วงแรกลำโพงจึงฟ้องว่าเสียงยังฟังดูขาด ๆ เกิน ๆ อยู่บ้าง โดยเฉพาะในย่านความถี่กลางถึงสูง ต้องให้เวลาปรับตัวกันไปสักพัก รวมถึงการขยับตำแหน่งลำโพงอีกเล็กน้อยก็เข้ากันได้ดี

แต่สุดท้ายแล้วหลังจากที่ผมพิจารณาทุก ๆ องค์ประกอบ ช่วงฟังเอาสาระจริงจังหรือ critical listening ผมก็เลือกใช้ Arcam FMJ A29 มาแมตช์กับลำโพง M16 ครับ

คุณภาพเสียง
เมื่อสลับกลับมาใช้อินทิเกรตแอมป์ของ Arcam อีกครั้งทีนี้ผมก็เริ่ม fine tune ทั้งซิสเตมจนกระทั่งได้ตำแหน่งวางลำโพงที่ใช้อ้างอิงเสียงต่อจากนี้คือ ระยะห่างของลำโพงข้างซ้ายและขวาอยู่ที่ 165 เซ็นติเมตร ระยะห่างผนังด้านหลังลำโพงถึงหน้าตู้ลำโพง 140 เซ็นติเมตร ระยะนั่งฟังห่างจากระนาบลำโพง 190 เซ็นติเมตร

ด้านฟรอนต์เอนด์เปลี่ยนมาใช้ Roon Nucleus + Mytek Liberty DAC ที่ใช้ไฟเลี้ยงแบบลิเนียร์จาก Clef Audio LSD-5 (#เสียงดีขึ้นมากกกกก) ด้านฟรอนต์เอ็นด์ยังใช้งานเครื่องเล่นแผ่นเสียง Thorens TD203 ติดหัวเข็ม SoundSmith Carmen + โฟโนปรีแอมป์ SoundSmith #MMP3 สายสัญญาณเสียงและสายไฟในซิสเตมเป็น Nordost และ Furutech ที่ใช้งานกันมาจนคุ้นเคย

ราวครึ่งหนึ่งของการรีวิวผมสตรีมเพลงมาฟังจาก TIDAL มากกว่าครึ่งหนึ่งของเพลงที่สตรีมมาฟังเป็นไฟล์ MQA ลำโพง M16 สามารถจำแนกความแตกต่างของเสียงที่ได้จากเพลงในอัลบั้มเดียวกันอย่าง Journey To Mozart แต่เวอร์ชั่นหนึ่งเป็นไฟล์ losslessปกติใน TIDAL และอีกเวอร์ชั่นหนึ่งเป็นไฟล์ MQA ใน TIDAL ได้อย่างชัดเจน

ที่จริงผมได้ยินความแตกต่างของเพลงทั้ง 2 เวอร์ชั่นตั้งแต่ตอนที่ฟังกับ NAD M32 แล้วครับ แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าเมื่อเปลี่ยนมาใช้แอมป์ที่กำลังขับและคลาสต่ำลงมามา ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวังครับแอมป์ของ Arcam ก็สามารถทำให้ M16 สำแดงคุณภาพการถ่ายทอดเสียงของมันออกมาได้

ผมได้ยินเสียงเพอคัสชั่นทั้งหลายมีความสดใส ชัดเจน และมีตำแหน่งแห่งหนฉีกตัวลอยออกจากลำโพงได้อย่างน่าทึ่ง หัวเสียงมีอิมแพ็คสดและชัดมาก เวทีเสียงเปิดโล่งออกไปโดยรอบราวกับห้องฟังแห่งนี้ไม่มีฝาผนัง เสียงเครื่องสายในย่านความถี่ต่ำลึกแม้จะไม่ได้ทิ้งตัวดำดิ่งเป็นฐานแน่นลงไป แต่ก็ได้ยินว่าเป็นเสียงที่มีมวลเนื้อ มีน้ำหนัก ไม่ใช่เสียงที่เบาลอยฟุ้งหรือกลวงในแต่อย่างใด

ผมสนใจรายละเอียดและมวลเสียงของดนตรีประเภทเครื่องสายจากลำโพง M16 เสียงลักษณะนี้ผมไม่ค่อยได้ยินจากลำโพง 2 ทางที่มีไดรเวอร์กลาง/ทุ้มขนาด 6.5 นิ้วเลย โดยเฉพาะที่ราคาขายในระดับนี้ มันเป็นเสียงฟังสดใสและหวานในตัวโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวช่วยอย่างแอมป์หลอด เช่นในอัลบั้มดนตรีคลาสสิคชุด “La Fille mal gardée” ของสังกัด Decca

ในแทรค “Hérold: La fille mal gardée / Act 1 – 16. Simone – 19. Storm and Finale” เสียงของหมู่เครื่องสายที่เรียงร้อยออกมาสอดประสานกับเครื่องเป่าเสียงหวาน ทุกรายละเอียดมันล่องลอยสว่างไสวพลิ้วหวานอยู่กลางอากาศ อยู่ระหว่างลำโพงทั้งสอง อยู่ด้านข้างลำโพง แต่ละเสียงถูกจัดระเบียบช่องไฟอย่างสวยงาม ฟังแล้วเพลินหูมากครับ ยืนยันอีกครั้งครับว่าเสียงอย่างนี้ผมไม่ได้ยินมานานแล้วจากลำโพงในระดับราคานี้

เป็นลำโพงที่มีความเป็นดนตรีสูงเมื่อเทียบค่าตัวกันบาทต่อบาท มันอาจจะมีรายละเอียดสู้ลำโพงอีกหลายรุ่นที่มีราคาสูงกว่าไม่ได้ แต่เมื่อเทียบเสียงที่ได้กับค่าตัวกันบาทต่อบาทแล้ว ผมมั่นใจว่า Revel Concerta2 M16 ไม่เป็นรองใคร ลักษณะเช่นนี้เทียบได้กับลำโพงอย่าง Wilson Audio Sabrina ลำโพงคู่ละ 5 แสนกว่าบาทที่ผมว่าเสียงของมันฟังเพลินกว่าลำโพงเฉียดล้านหลาย ๆ รุ่น

ช่วงท้าย ๆ ของการฟังในช่วง critical listening ผมอยากลองฟังว่าถ้าเพิ่มภาระเข้าไปให้ลำโพง 2 ทางขนาดตัวเท่านี้มันจะรับไหวได้แค่ไหน ผมลองเปิดเพลง บ้าหอบฟาง ที่ผมริบจากแผ่นซีดีบ็อกซ์เซ็ตครบรอบ 26 ปีอัสนี-วสันต์ แล้วค่อย ๆ เร่งวอลุ่มของ Arcam A29 ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเสียงเริ่มคับห้อง รายละเอียดยังคงถูกตรึงนิ่ง

ผมเหลือบไปมองบนหน้าปัดของ A29 ระดับเสียงไปที่ตัวเลข 52 แล้ว ! (สูงสุด 99) แต่ทุกเสียงยังไม่มีอาการไหววูบหรือเสียขบวนไปแต่อย่างใด

ซิสเตมหลักที่ใช้รีวิว ตัวลำโพงจะขับด้วยอินทิเกรตแอมป์ Arcam FMJ A29 ซึ่งเข้ากันได้ดีมาก

ผมรีเช็คอีกทีด้วยเสียงร้องในเพลง “Danny Boy” ของ Harry Belafonte จากอัลบั้ม Belafonte: At Carnegie Hall เวอร์ชั่น 24bit/96kHz จาก HDtracks ที่เลือกเพลงนี้เพราะนักร้องยืนนิ่งที่สุดแล้วครับ แต่เสียงร้องของเขาที่เปลี่ยนระดับความดังไปมาถ้าลำโพงไม่แน่จริง คุมเฟสของคลื่นเสียงไม่อยู่ มันจะมีอาการวูบวาบไปมาตามเสียงร้องแต่ละท่อน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมได้ยินจากลำโพงของ Revel คู่นี้

ในช่วงกลางถึงท้ายเพลงที่มีดนตรีแบ็คอัพเสริมขึ้นมา เสียงที่ได้ยินจากลำโพงคู่นี้แบ่งระนาบชัดเจนระหว่างเสียงร้องและเสียงดนตรี แต่ทั้งหมดยังคงถูกมัดตรึงอยู่ในบรรยากาศเดียวกัน ฟังแล้วก็ได้อารมณ์เหมือนนั่งฟังการแสดงสดอยู่จริง ๆ

ผมปิดท้ายการฟังในช่วง critical listening นี้ด้วยอัลบั้ม “Rain Forest Dream” ของ Joji Hirota ที่สตรีมจาก TIDAL ในเพลง “Demon Dance” เสียงที่ผมได้ยินจากลำโพง Revel คู่ละ 3 หมื่นบาทมีทอนมันเกินค่าตัวไปมาก ความดุดันของดนตรีในเพลงนี้แทบจะทำอะไรลำโพงสองทางคู่นี้ไม่ได้เลย มิติเสียงคมชัด เสียงทุ้มหนักแน่นดุดันเกินตัว

เสียงเพอคัสชั่นต่าง ๆ มันพรั่งพรูออกมาชนิดที่ว่าฟังแล้วอยากเร่งวอลุ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งฟังยิ่งสะใจจนผมต้องร้องอุทานออกมาว่า “โอ้ว คุณพระ !” (เสียงจริงต้องขอเซ็นเซอร์ไว้ครับ มันไม่สามารถออกสื่อได้ !)

ผมเชื่อว่าถ้าหากใครไม่เคยฟังจากลำโพงในระดับที่สูงกว่านี้สัก 3-4 เท่าตัวจนหูเสียไปแล้ว มาได้ยินอย่างผมนี่รับรองว่าต้องรักลำโพง Revel คู่นี้เหมือนผมแน่นอนครับ

ลำโพง 2 ทางที่ผมเลือกใช้อ้างอิง
“เปิดเผย กระจ่าง มีรายละเอียดและมวลเนื้อพอเหมาะพอตัว” คือนิยามอย่างหยาบ ๆ ที่ผมมอบให้ลำโพง Revel Concerta2 M16 มันเป็นลำโพงอเมริกันลำหักลำโค่นดีเกินตัวที่ให้เสียงมีเสน่ห์แบบลำโพงสไตล์ยุโรป

เป็นลำโพงขนาดเล็กที่ครบเครื่องและพร้อมจะถ่ายทอดเสียงที่มีความเป็นดนตรีสูง บางครั้งมันทำให้ผมเขียนรีวิวแล้วรู้สึกลำบากใจว่าจะทำอย่างไรให้ตัวอักษรของผมมันสามารถบรรยายสิ่งที่ผมได้ยินได้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

หลังจบการรีวิวนี้ผมตั้งใจว่าจะขอยืมทางมหาจักรฯ ไว้ใช้ทดสอบร่วมกับเครื่องเสียงอื่น ๆ อีกสักพัก เพราะลำโพงที่มีคุณสมบัติอย่างนี้สามารถไปอยู่ในซิสเตมราคาหลักหมื่น หลักแสน ได้อย่างไม่ต้องอายใคร

มันก้าวข้ามพรมแดนของคำว่า “ลำโพงเสียงดีที่คุ้มค่าไปแล้วครับ !”


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด
โทร. 0-2256-0020-9
ราคา 29,990 บาท/คู่

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ