รีวิว Marantz : PM8006 “อินทิเกรตแอมป์ที่สมบูรณ์แบบ สำหรับผู้มองหาทั้งคุณภาพเสียงและความคล่องตัวในการใช้งาน”
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอินทิเกรตแอมป์ในแวดวงไฮไฟรุ่นใหม่ที่ออกมามักจะเกาะกระแสและเอาใจตลาดด้วยฟีเจอร์ “ขาย AMP แถม DAC” บ้างก็ดูเหมือน “ขาย DAC แถม AMP”
แน่นอนว่าออปชั่นดังกล่าวย่อมมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ คนที่ชอบคงไม่ต้องถามหาเหตุผลอะไรให้มากมาย พวกเขาเหล่านั้นคงมองความคุ้มค่าโดยให้น้ำหนักไปที่ฟังก์ชั่นใช้งาน และมีความสนใจในระบบดิจิทัลสมัยใหม่ (USB-DAC, Bluetooth ฯลฯ) เป็นแน่แท้
สำหรับคนที่ไม่ชอบ ผมเดาได้เลยว่าคุณต้องเป็นนักเล่นเครื่องเสียงที่กระโดดเข้ามาในวงการนี้ตั้งแต่ยุค 90 หรือก่อนหน้านั้น และเคยผ่านระบบเสียงแยกชิ้นไม่ว่าจะเป็นชุดเล็กหรือชุดใหญ่มาพอสมควร ไม่ว่าเป็นซื้อมาเล่นเองหรือไปฟังของเพื่อน และโดยลึก ๆ แล้วคุณยังคงมีความรู้สึกว่าระบบเสียงอะนาล็อกและดิจิทัล ไม่ควรจะมารวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน !
ในขณะที่คุณอ่านถึงตรงนี้แล้วกำลังลังเลว่าตัวเองควรจะอยู่ในกลุ่มไหน ผมบอกได้เลยครับว่าให้เอาความรู้สึก ณ ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง เพราะทั้ง 2 ทางเลือกนั้นไม่มีสิ่งใดที่ถูก หรือสิ่งใดที่ผิด เพราะว่ารสนิยมและประสบการณ์ของเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
กับตัวเราเองเมื่อสองเดือนก่อนเราอาจจะเลือกแบบแรก แต่ตอนนี้เราอาจจะเลือกแบบที่สองก็เป็นได้ ดังเช่นผู้ผลิตเครื่องเสียงยี่ห้อ มาร้านทช์ “Marantz”
อินทิเกรตแอมป์ Series รุ่นรองอย่าง PM7005 ที่ออกมาเมื่อปีก่อน ใส่ DAC สเปคฯ สูง (ระดับที่แยกออกไปขายในราคาหมื่นกว่าบาทได้สบาย ๆ) มาในตัว แต่พอมาปีนี้อินทิเกรตแอมป์รุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง PM8006 กลับยกภาค DAC เหล่านั้นออกไป คงไว้แค่เพียงวงจรภาคขยายเสียง pure analog ที่ใส่เครื่องเครามาในตัวแบบจัดเต็ม !
คำถามคือ… แล้วมันยังคงความคุ้มค่าอยู่หรือไม่ ?
ดีไซน์เดิม เพิ่มเติมในรายละเอียด
อินทิเกรตแอมป์ PM8006 เป็นรุ่นล่าสุดใน PM ซีรีส์หมายเลข 8 ของทางมาร้านทช์ เช่นเคยมาร้านทช์ยังคงรักษาเอกลักษณ์รูปแบบการดีไซน์ของอินทิเกรตแอมป์ตระกูล PM เอาไว้อย่างเหนียวแน่น เอาเป็นว่าถ้ายกรุ่นก่อนหน้าอย่าง PM8005 มาวางเทียบกับ PM8006 มันคือฝาแฝดกันอย่างไม่ต้องสงสัย
ในแง่ของสเปคฯ มี 2 จุดที่เป็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างรุ่นใหม่อย่าง PM8006 และรุ่นก่อนหน้าอย่าง PM8005 นั่นคือ การออกแบบระบบวอลุ่มปรับเสียงแบบใหม่ และการออกแบบภาคโฟโนที่มาร้านทช์คุยว่ามันดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม
PM8006 เป็นอินทิเกรตแอมป์สเตริโอที่มาพร้อมกับกำลังขับข้างละ 70 วัตต์อาร์เอ็มเอส ที่โหลด 8 โอห์ม และเพิ่มขึ้นเป็น 100 วัตต์อาร์เอ็มเอส ที่โหลด 4 โอห์ม ช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 5 Hz – 100 kHz ความเพี้ยนรวมเชิงฮาร์มอนิก 0.02% แดมปิ้งแฟคเตอร์ 100
ตัวเลขเหล่านี้อาจจะดูไม่สวยหรือหวือหวามากนัก แต่ผมสังเกตว่าเขาบอกสเปคฯ มาแบบจริงใจมาก เมื่อเปิดดูในคู่มือใช้งานจะพบว่า ตัวเลขกำลังขับนอกจากจะวัดเป็น RMS แล้ว เขายังวัดในเงื่อนไขที่ขับพร้อมกันทั้ง 2 แชนเนล แล้วหาค่าเฉลี่ยจากการวัดในช่วงความถี่ตั้งแต่ 20 Hz – 20 kHz ด้วยต่างหาก ค่าความเพี้ยนรวมเชิงฮาร์มอนิกก็เช่นกัน
อินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ยังคงออกแบบและผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น ด้านหลังเครื่องสกรีน “Made in Japan” เอาไว้ชัดเจน และจัดว่าเป็นอินทิเกรตแอมป์รุ่นใหญ่รุ่นหนึ่งของทางมาร้านทช์ ลำพังตัวเครื่องไม่รวมน้ำหนักบรรจุภัณฑ์มีน้ำหนักถึง 12 กิโลกรัม
การเชื่อมต่อ
ในด้านการเชื่อมต่อแอมป์ตัวนี้มีอินพุตสัญญาณสเตริโอแบบซิงเกิ้ลเอ็นด์อันบาลานซ์จำนวน 6 ชุด ขั้วต่อเป็นแจ็ค RCA เคลือบทองอย่างดี แบ่งเป็นอินพุตสำหรับสัญญาณ line level จำนวน 5 ชุด และอินพุตโฟโนสำหรับใช้งานกับหัวเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียงชนิด MM อีก 1 ชุด
นอกจากนั้นยังมีอินพุตอีก 1 ชุดกำกับไว้ว่า “POWER AMP DIRECT IN” สำหรับเชื่อมต่อสัญญาณเสียงเข้ามาใช้งานเฉพาะวงจรขยายเสียงภาคเพาเวอร์แอมป์ในเครื่อง และตัดผ่านวงจรในส่วนของปรีแอมป์ทั้งหมด
สำหรับด้านเอาต์พุตนอกจากขั้วต่อสัญญาณ “AUDIO OUT” สำหรับต่อพ่วงกับอุปกรณ์บันทึกเสียงและช่องเสียบหูฟังที่ด้านหน้าของเครื่องแล้ว อินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ยังมีช่อง “PRE OUT” สำหรับเชื่อมต่อสัญญาณจากเอาต์พุตของภาคปรีแอมป์ในตัวออกไปใช้งานกับเพาเวอร์แอมป์ภายนอกได้ด้วย เรียกว่ารองรับการเชื่อมต่อพื้นฐานของระบบเสียงไฮไฟสเตริโอได้แทบทุกรูปแบบการใช้งานเลยจริง ๆ
ขนาดขั้วต่อสายลำโพงเขายังให้มา 2 ชุด (A, B) ซึ่งเราสามารถเลือกใช้งานชุดใดชุดหนึ่ง หรือจะใช้งานพร้อมกันทั้ง 2 ชุดก็ได้เพียงแค่พิจารณาเรื่องของอิมพิแดนซ์รวมให้เหมาะ
ขั้วต่อสายลำโพงที่มากับแอมป์รุ่นนี้เป็นขั้วต่อพิเศษที่มาร้านทช์สั่งทำขึ้นเอง ไม่มีขายทั่วไป มีชื่อเรียกว่า “Marantz SPKT-1+” เป็นขั้วต่อสายลำโพงแบบ 5 ทางไบดิ้งขนาดใหญ่แลดูแข็งแรง ผลิตจากก้อนโลหะทองเหลืองเคลือบผิวด้านนอกด้วยโลหะเงินเนื้อหนา (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าเคลือบด้วยนิเกิ้ล) ออกแบบให้เชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้าภายในเครื่องด้วยทางเดินสัญญาณที่สั้นและลัดตรงที่สุด
PM8006 มาพร้อมกับรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดรุ่น RC001PMND ซึ่งเป็นรีโมตรุ่นเดียวกับที่มากับเครื่องเล่นรุ่น ND8006 ของ Marantz ดังนั้นมันจึงสามารถใช้ควบคุมเครื่องเล่นรุ่นนี้ได้ด้วย
สำหรับขั้วต่อสายไฟเอซีเข้าเครื่องเป็นแบบถอดเปลี่ยนได้ ขั้วต่อเป็น AC INLET แบบ 2 ขาไม่มีกราวด์เปิดโอกาสให้สามารถอัปเกรดหรือเล่นกับการเปลี่ยนสายไฟเอซีคุณภาพสูงได้
การควบคุมสั่งงาน
ด้านหน้าเครื่องจะพบกับแผงหน้าปัดที่ดีไซน์แบบสมมาตรและแลดูเป็นระเบียบเรียบร้อยแม้ว่าจะมีปุ่มควบคุมนับสิบปุ่ม เลยก็ตาม
บนแผงหน้าปัดมีมุมหมุนขนาดใหญ่อยู่ 2 ปุ่ม ด้านซ้ายมือเป็นซีเล็คเตอร์เลือกอินพุต ด้านขวามือเป็นวอลุ่มเพิ่ม-ลดเสียง ปุ่มหมุนขนาดเล็กกว่าอีก 4 ปุ่มที่วางเรียงรายอยู่ด้านล่างเป็นปุ่มปรับแต่งเสียง (Tone Control) ซึ่งพิเศษกว่าอินทิเกรตแอมป์หรือปรีแอมป์ทั่วไปเพราะให้มาปรับได้ถึง 3 ช่วงความถี่ (BASS, MID, TREBLE) ด้านขวามือเป็นปุ่ม BALANCE สำหรับปรับสมดุลเสียงแชนเนลซ้าย/ขวา
ด้านซ้ายสุดแถวล่างเป็นปุ่ม POWER ที่กดเปิดแล้วจะเข้าสู่โหมดสแตนด์บาย ต้องกดปุ่มสีแดง “AMP POWER” ที่มุมขวาด้านบนของรีโมต หรือหมุนที่ปุ่มซีเล็คเตอร์ที่ตัวเครื่องอีกทีจึงจะเป็นการเปิดใช้งานเครื่องอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับปุ่มกดขนาดเล็กอีก 4 ปุ่มที่วางเรียงแถวอยู่บริเวณใจกลางแผงหน้าปัด สองปุ่มทางซ้ายมือทำหน้าที่เป็นปุ่มเลือกใช้ขั้วต่อสายลำโพงชุด A หรือ B
ถัดมาเป็นปุ่มกดใช้งานฟังก์ชั่น POWER AMP DIRECT เพื่อใช้งานเฉพาะส่วนของเพาเวอร์แอมป์ในตัว PM8006 และปุ่ม SOURCE DIRECT ตัดการทำงานของปุ่มปรับเสียงด้านล่างทั้งหมด (BASS, MID, TREBLE) เพื่อฟังแบบบริสุทธิ์นิยม (flat) และทำให้ทางเดินสัญญาณในวงจรขยายสั้นลง
ซึ่งตลอดการรีวิวนี้ผมเลือกกด SOURCE DIRECT เกือบตลอดเวลา ยกเว้นตอนที่ลองฟังเสียงจากสตรีมมิ่งที่มีการบีบอัดสัญญาณมาก ๆ อย่างเช่น ยูทูบหรืออินเตอร์เน็ตเรดิโอ และได้ลองใช้งานปุ่ม Tone Control ซึ่งก็พบว่ามันทำหน้าที่ช่วยปรับปรุงเสียงจาก low quality source เหล่านั้นได้ดีพอสมควรเลยทีเดียว
อินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ยังออกแบบให้ผู้ใช้สามารถเปิดหรือปิดใช้งานฟังก์ชั่นออโตสแตนด์บายและโหมด POWER AMP DIRECT ได้ด้วย ซึ่งวิธีการเปิด-ปิดมีระบุไว้ในคู่มือใช้งานชัดเจนดีแล้วคงไม่ต้องหยิบยกมาอธิบายซ้ำในที่นี้
Technical Insight
น้ำหนักตัวเครื่อง 12 กิโลกรัม ส่วนหนึ่งมาจากการเสริมแผ่นโลหะที่ส่วนฐานแท่นเครื่องถึง 3 ชั้น (Triple layer bottom plate) และภายในเครื่องที่เลือกใช้หม้อแปลงชนิดวงแหวนเทอร์รอยด์ขนาดเขื่องที่ได้รับการชีลด์ป้องกันการรั่วไหลของสนามแม่เหล็กถึง 2 ชั้น
ที่ส่วนฐานของขารองเครื่องมีการเปลี่ยนไปใช้วัสดุประเภทแผ่นเส้นใยอัดซึ่งบาง ๆ ซึ่งทีแรกผมมองว่ามันน่าจะดีกว่าวัสดุประเภทยางตรงที่ไม่ทิ้งรอยคราบเอาไว้บนพื้นผิวที่เราวางเครื่อง แต่ทางมาร้านทช์เขาคุยว่ามันมีผลในด้านการแดมปิ้งด้วย
สำหรับส่วนของวงจรอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่กวาดตามองหลาย ๆ จุดเลือกใช้ของเกรดดีเลยครับ บ้างก็เป็นออดิโอเกรด หรือที่มาร้านทช์สั่งผลิตโดยเฉพาะเช่นตัวเก็บประจุกรองไฟในหลาย ๆ ส่วน ทรานซิสเตอร์เอาต์พุตเท่าที่ส่องดูเห็นเป็นของยี่ห้อ Sanken ติดตั้งอยู่บนฮีทซิงค์ขนาดใหญ่
วงจรขยายสัญญาณเสียงทั้งในส่วนของปรีแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ (เมนแอมป์) เป็นวงจรแบบดีสครีตทั้งหมด และยังคงมีการใช้งานโมดูล HDAM (Hyper-Dynamic Amplifier Modules) ของทางมาร้านทช์ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้พัฒนามาจนเป็นเวอร์ชั่น HDAM-SA3 แล้ว ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นเดียวกับที่ใช้งานอยู่ในเครื่องรุ่นไฮเอ็นด์ของมาร้านทช์เอง
ด้านการออกแบบวงจรขยายเสียงใน PM8006 เป็นวงจรขยายแบบป้อนกลับกระแส “current feedback” ซึ่งเหมาะกับสัญญาณเสียง Hi-Res Audio ทั้งหลาย เพราะว่ามีแบนด์วิธด์กว้าง มีการตอบสนองต่อสัญญาณเสียงได้อย่างรวดเร็วฉับไว
วงจรขยายเสียงแบบป้อนกลับกระแสนี้ยังมีการเลื่อนเฟสของสัญญาณ ณ จุดป้อนกลับสัญญาณในปริมาณที่ต่ำมาก (very low phase shift) แล้วยังอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงของโหลดลำโพงที่ขับยาก ๆ น้อยกว่าวงจรขยายเสียงแบบป้อนกลับแรงดัน (voltage feedback) ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการชดเชยเฟสสัญญาณในลูปของการป้อนกลับมากเกินจำเป็น ซึ่งมันจะส่งผลเสียลามไปถึงเรื่องอื่น ๆ และทำให้คุณภาพเสียงแย่ลง
จุดเปลี่ยนสำคัญที่มาร้านทช์พัฒนาเข้ามาใน PM8006 ก็คือระบบวอลุ่มปรับเสียงที่เรียกว่า “electric volume circuit” โดยทั่วไปส่วนของวงจรปรับความดังในอินทิเกรตแอมป์หรือปรีแอมป์จะใช้วิธีการลดทอน (attenuate) สัญญาณ เมื่อเราเร่งเสียงวงจรนี้จะค่อย ๆ “ลดการลดทอน”
บางครั้งเราจึงเห็นเขาบอกระดับเสียงเป็นสเกลติดลบ แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนเป็นค่าศูนย์ (ไม่มีการลดทอน) ซึ่งหมายถึงเร่งดังสุด วงจรส่วนนี้โดยมากจะอาศัยแค่เพียงตัวต้านทานเปลี่ยนค่าได้ (potentiometer, pot) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีแถบความต้านทานเป็นรูปทรงโค้งวงกลมเกือกม้า
แถบความต้านทานนี้จะเปลี่ยนค่าไปตามองศาที่หมุนกวาดไปโดยมีแกนหน้าสัมผัสสัญญาณแตะอยู่ที่แถบความต้านนี้ตลอดเวลาและจะถูไปบนแถบความต้านทานในขณะที่เราหมุนวอลุ่ม
อุปกรณ์ตัวนี้หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วมันยังมีจุดอ่อนอยู่มาก เพราะเมื่อใช้งานไปแถบความต้านทานที่ว่านี้จะเกิดการสึกหรอไปเรื่อย ๆ รวมถึงเกิดความเสื่อมจากฝุ่นผงและสภาวะแวดล้อมอื่น ๆ เมื่อเสื่อมถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเสียงคร่อกแคร่ก แซ้บ ๆ ในขณะที่เราปรับเสียง เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างข้างซ้ายและขวา (โดยเฉพาะในช่วงระดับความดังที่ใช้บ่อย) ตลอดจนการเกิดเสียงรั่วไหลแม้ว่าจะเบาวอลุ่มลงจนสุดแล้ว
สำหรับ “electric volume circuit” ใน PM8006 คือการใช้ชิปวอลุ่มคอนโทรลแบบวงจรรวม (ไอซี) ของ JRC และใช้ potentiometer เป็นตัวปรับค่าระดับไฟฟ้าที่จะไปสั่งงานวงจรวอลุ่มในตัวชิปดังกล่าวอีกที ไม่ได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของทางเดินสัญญาณเสียงโดยตรง
มาร้านทช์คุยว่าการใช้ชิปตัวนี้ให้ผลลัพธ์ดีกว่าการใช้ potentiometer เป็นตัวปรับเสียงโดยตรงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการแยกช่องสัญญาณซ้าย/ขวาที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้เกิดครอสทอล์คหรือการแทรกแซงระหว่างช่องสัญญาณเสียงลดลง สมดุลเสียงซ้าย/ขวามีความแตกต่างกันน้อยลง ในขณะที่ยังคงฟิลลิ่งการใช้งานที่ไม่ต่างจากระบบเดิมที่เราคุ้นเคย
ของใหม่อีกส่วนหนึ่งที่มาร้านทช์ภูมิใจนำเสนอใน PM8006 คือ “Marantz Musical Phono EQ” วงจรโฟโนสเตจหรือภาคขยายเสียงจากหัวเข็ม ซึ่งออกแบบใหม่เป็นวงจรแบบ constant current feedback ซึ่งเป็นการนำหลักการออกแบบมาจาก Marantz SC-11S1 ปรีแอมป์รุ่นเรือธง
โฟโนสเตจนี้รองรับหัวเข็มประเภท MM หรือ MC High Output โดยมีความไวขาเข้าที่ 2 มิลลิโวลต์ อิมพิแดนซ์ขาเข้า 47 กิโลโอห์ม ส่วนของวงจรขยายแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนเพื่อลดอัตราขยายในแต่ละขั้นตอน และมีค่าความเพี้ยนลดลงจากในรุ่นเดิม PM8005 ถึงขั้นตอนละ 10 dB
โดยส่วนของวงจร RIAA EQ นั้นเลือกใช้โมดูล HDAM มีความค่าคลาดเคลื่อน RIAA อยู่ที่ ±0.5 dB ขณะที่ส่วนขยายเสียงเลือกใช้ชิปออปแอมป์คุณภาพสูงทำงานในโหมดคลาสเอ ค่า S/N Ratio อยู่ที่ 87 dB (อ้างอิงที่ 5 mV input, 1 W output) มาร้านทช์คุยว่าโฟโนสเตจชุดนี้ไม่ใช่แค่ของแถมแต่เป็นระดับ premium-class ที่ตั้งใจให้มาใช้งานจริงจังโดยไม่ต้องไปมองหาโฟโนปรีแอมป์แยกชิ้นข้างนอกให้เสียเวลา
ลองขับ Revel Concerta2 M16
ซิสเตมที่ผมใช้ทดสอบแอมป์ตัวนี้ทางด้านแหล่งสัญญาณผมใช้ Roon Nucleus ต่อกับ Marantz ND8006 (USB-DAC Mode) เล่นเพลงจากไฟล์ที่เก็บอยู่ใน External SSD รุ่น T3 ของ Samsungขนาด 500 GB สลับกับการสตรีมจาก TIDAL สัญญาณเอาต์พุตอันบาลานซ์ต่อออกมาจากช่องสัญญาณ FIXED OUTPUT ของ ND8006 การปรับความดังของเสียงอาศัยวอลุ่มที่ตัวอินทิเกรตแอมป์เพียงจุดเดียว
ผมใช้อินทิเกรตแอมป์ Marantz PM8006 ลองขับลำโพง Revel Concerta2 M16 เทียบกับอินทิเกรตแอมป์อย่าง Arcam FMJ A29 ซึ่งมีกำลังขับสูสีกัน น้ำเสียงที่ได้จากอินทิเกรตแอมป์ทั้งสองรุ่นผ่านการรายงานของลำโพง Revel มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้ต่างกันชนิดขาวเป็นดำ หรือฟ้ากับเหว
ผมเปิดฟังเพลงอัลบั้ม Chanson: The Space in Between ของศิลปิน Barb Jungr (Hi-Res Audio, PCM 24bit/192kHz) ในเพลงแทรคที่ 9 “La Chanson des Vieux Amants” ซึ่งผมมักจะใช้ฟังในกรณี critical listening (ที่จริงเพลงนี้จะฟังเอาเพลินก็ได้เหมือนกันนะ) พบว่า PM8006 ให้ดุลเสียงที่เปิดเผยกว่า และรับรู้ได้ถึงแบนด์วิดธ์ของเสียงที่กว้างกว่า
PM8006 ให้รายละเอียดของเสียงเด่นที่ความโปร่งใสและพลิ้วหวาน ฟังดูคล้ายแอมป์ลูกผสมระหว่างหลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์และโซลิดสเตทพุชพุล เนื้อเสียงมีบางอย่างคล้ายหลอดที่มีกำลังขับน้อย ๆ คือพลิ้ว สว่าง โปร่ง แต่ไม่ถึงกับหวานฉ่ำเหมือนหลอดไปซะทีเดียว ขณะที่ก็มีเรี่ยวแรงสามารถดันเนื้อเสียงอะคูสติกเบสในเพลงที่ 13 “No Regrets” ออกมาได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง
ขณะที่แอมป์ของ Arcam นั้นให้เสียงยูโรสไตล์ชัดเจน เสียงกลางมีเนื้อหนากว่า แบคกราวด์เสึยงมีความสงัด รายละเอียดอาจจะไม่ได้พร่างพราวเท่า แต่ก็ยังได้ยินรายละเอียดส่วนหลัก ๆ อยู่ครบถ้วน
เมื่อสลับกลับไปใช้แอมป์ของมาร้านทช์ ผมคิดว่าควรจะยืนยันสิ่งที่ได้ยินอีกครั้งด้วยเพลงร้อง จึงเลือกเพลงอัลบั้ม Tear of Missing (ไฟล์ริบจากแผ่นซีดีเวอร์ชั่นมาสเตอร์ 1:1) ของ Tong Li (ถงลี่) ที่ผมคุ้นเคยมาเปิดฟัง เสียงที่ได้ชูลักษณะเด่นของแอมป์ PM8006 ก็ถูกเน้นย้ำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รายละเอียดที่ผมได้ยินมันชัดเสียจนแทบจะจินตนาการเห็นอากัปกิริยาการร้องของตัวนักร้องได้เลย แน่นอนว่านอกจาก PM8006 แล้ว ส่วนหนึ่งต้องยกประโยชน์ให้ชุดฟรอนต์เอ็นและตัวลำโพงด้วย
อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ของผมแอมป์ที่มีแนวเสียงอย่างนี้บางครั้งมักจะไปตกม้าตายเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์ หากเราไปลองฟังมันในสภาพที่การเซ็ตอัปมีความบกพร่อง การแมตชิ่งถูกละเลย เสียงที่เราจะได้ยินมันคือการฟ้องความไม่สมบูรณ์เหล่านั้นออกมา ซึ่งถ้าหากเราไม่เข้าใจแล้วก็อาจจะหลงทางคิดว่าเป็นความบกพร่องของตัวแอมป์ได้ ในที่นี้ฟังกับลำโพงที่ใช้ไดรเวอร์โลหะล้วน ๆ อย่าง M16 แล้วได้เสียงออกมาอย่างนี้ มีความราบรื่นน่าฟังเช่นนี้ ก็ต้องนับถือในฝีมือทีมวิศวกรจูนเสียงของมาร้านทข์เขาแล้วล่ะครับ
ลองขับลำโพงตั้งพื้น Q Acoustics 3050
ลำโพงขับ 70 วัตต์ต่อข้างที่มีคุณภาพของ PM8006 ยังมากพอที่จะให้ผมยกมันมาลองใช้ขับลำโพงตั้งพื้นตัวเขื่องอย่าง Q Acoustics รุ่น 3050 ซึ่งใช้ไดรเวอร์เสียงกลาง/ทุ้ม (วูฟเฟอร์) ขนาด 6 นิ้วครึ่งถึง 2 ตัวต่อตู้
เมื่อได้ขับลำโพงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สเกลเสียงที่ได้จากแอมป์รุ่นนี้ก็ถูกขยายขึ้นมาตามกัน แน่นอนว่าเพลงที่มีเสียงทุ้มกระแทกกระทั้นอย่างดนตรีประเภทป็อปหรือป็อปร็อคก็ฟังสนุกสะใจได้อารมณ์เลยทีเดียว โดยที่ไม่ละทิ้งความละเมียดละไมในเส้นเสียงเหมือนที่ได้ยินเมื่อตอนที่ใช้ PM8006 ขับลำโพงของ Revel แต่ประการใด
ลำโพงของ Q Acoustics นั้นโดยเนื้อแท้เป็นลำโพงที่สามารถถ่ายทอดเสียงทุ้มให้หนักแน่นและมีพลัง ถ้าเปรียบเป็นนักมวยก็พูดได้ว่าเป็นพวกมวยหมัดหนักเอาเรื่อง ออกอาวุธได้อย่างมีชั้นเชิง ไม่ใช่ลำโพงประเภทให้เสียงโฉ่งฉ่าง เซ็งแซ่ เหมือนพวกมวยวัดที่ออกหมัดวืดวาดสับสน
ยิ่งพอได้มาจับคู่กับแอมป์ของมาร้านทช์มันเลยเหมือนนักมวยเบสิคดีได้มาเจอกับครูมวยที่รู้ใจรู้ทางกัน ผลลัพธ์ที่ออกมามันเลยดูลงตัวทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความกลมกล่อมงดงาม
ผมลองฟังเพลง “Back in Black” เวอร์ชั่นริปจากซีดีรีมาสเตอร์อัลบั้มชื่อเดียวกับเพลงของวง AC/DC มันรับรู้ได้ถึงพลังงานของเสียงที่ส่งผ่านมาจนถึงโสตประสาท ไม่ว่าจะเป็นกลองสแนร์ ไฮแฮท คิกดรัม หรือกีตาร์ไฟฟ้า มันออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีสปีดของเสียงที่ฉับไว ทำให้เกิดบรรยากาศของความสดและความมีชีวิตชีวา
ยังไม่ทันพ้นช่วงนาทีแรกผมก็พบว่าตัวเองนั่งโยกหัวเบา ๆ ตามจังหวะเพลงไปด้วยเสียแล้ว ช่วงกลางเพลงที่เป็นเสียงโซโลกีตาร์ โอ้โฮ อะไรมันจะชัดจะแจ้งและส่งผ่านพลังงานให้ผมรับรู้ได้ถึงใจขนาดนั้น เสียงกีตาร์และเบสไฟฟ้าในเพลงนี้ต้องได้ซิสเตมขนาดนี้เป็นอย่างน้อยล่ะครับ มันถึงจะฟังสะใจได้อารมณ์พระเดชพระคุณท่าน ! … ผมยังแอบรู้สึกนิด ๆ ว่ามันทำให้ห้องฟังที่เปิดแอร์เอาไว้เย็นฉ่ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาอย่างน่าประหลาด
หลังจากนั่งฟังไปโยกหัวไปได้สัก 3-4 เพลงให้พอหายง่วง ผมก็เปลี่ยนอารมณ์ไปฟังดนตรีอะคูสติกอัลบั้ม Johannes Brahms – Complete Works for Violin and Piano ศิลปิน Arabella Steinbacher, Robert Kulek (ไฟล์เสียงฟอร์แมต DSD) ซึ่งเป็นดนตรี Duet บรรเลงแค่ 2 ชิ้นแต่ให้บรรยากาศของเสียงดนตรีแผ่กว้าง มีความชุ่มฉ่ำของเสียงอาบเต็มทั่วทั้งห้องทดสอบเสียงของ GM2000
รายละเอียดเสียงที่สดใสเต็มไปด้วยชีวิตชีวาของเปียโนที่สนับสนุนเสียงเดี่ยวไวโอลินที่มีเนื้อเสียงนวลเนียนของ Arabella Steinbacher ล่องลอยอบอวลไปทั้งอาณาบริเวณที่ผมนั่งฟัง เป็นการฟังดนตรีที่สามารถจินตนาการได้ถึงอากัปกิริยาของนักดนตรีได้โดยที่ไม่ต้องตั้งใจฟัง เป็นการฟังดนตรีที่ทำให้รู้สึกคล้อยตามและเกิดสมาธิได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านดนตรีในแขนงนี้มาก่อน เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมากในระหว่างทำการทดสอบเครื่องเสียงในห้องฟังแห่งนี้
บรรยากาศในห้องฟังที่เมื่อครู่นี้เพิ่งร้อนระอุไปกับดนตรีของ AC/DC กลิ่นกรุ่นควันยังไม่ทันจางหายดี ก็กลับกลายเป็นบรรยากาศของความสงบ สมาธิ และดนตรีที่เต็มไปด้วยความงดงามของท่วงทำนอง
จากเสียงที่มีลักษณะชัดเจนจะแจ้งก็กลายมาเป็นความนุ่มนวล ละเมียดละไม เป็นอีกหนึ่งวาระที่ทำให้ผมเห็นว่ามาร้านทช์จูนเสียงของแอมป์ตัวนี้มาแบบผู้ที่มีประสบการณ์มานาน คือมัน “เอาอยู่” ทั้งดนตรีที่ขายความหนักแน่นสะใจ และดนตรีที่ขายความอ่อนโยนและความละเมียดละไมสบายหู
ผมยังรู้สึกอีกว่าแอมป์ตัวนี้มีแนวทางของการถ่ายทอดเสียงที่ค่อนข้างทันสมัยคือมันเปิดเผย แจกแจง และมีความกลมกล่อมลงตัวอยู่ในที ไม่ใช่เสียงเน้นสดใสระยิบระยับ หรือหวานนุ่ม อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา แอมป์แบบนี้แหละครับจะเหมาะมากกับการฟังเพลงจากไฟล์เสียงดิจิทัลรายละเอียดสูงสมัยใหม่
หรือจะเป็นการฟังเพลงจากฟอร์แมตอะนาล็อกที่ยังมีผมหายใจอยู่อย่างแผ่นเสียงก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ยิ่งถ้าการเล่นแผ่นเสียงของเรานั้นเป็นการเล่นจากอุปกรณ์ที่มีคุณภาพถึง ๆ หน่อยแล้วล่ะก็จะยิ่งเห็นคุณงามความดีของแอมป์รุ่นนี้มากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ
Phono Input
ผมยอมรับว่าหลังจากได้ลองเล่นอินพุต Phono ของ PM8006 แล้ว มันน่าสนใจมาก ! … เบื้องต้นผมเห็นด้วยว่าโฟโนสเตจใน PM8006 ไม่ใช่ของแถมที่ให้มาเพื่อให้มีฟังก์ชั่นครบ ๆ ไป
ผมลองใช้งานมันกับเทิร์นเทเบิ้ล 2 ชุด ได้แก่ เทิร์นเทเบิ้ล Rega P2 ติดหัวเข็ม Rega รุ่น Carbon อีกชุดเป็นเทิร์นเทเบิ้ล Thorens TD203 ติดหัวเข็ม SoundSmith รุ่น Carmen
เทิร์นฯ ชุดที่สองเป็นชุดที่ผมคุ้นเคยมานาน ตัวหัวเข็มแม้จะเป็นชนิด Moving Iron แต่ก็มีสเปคฯ (Output Voltage: 2.2 mV, Load: Resistance >/= 47 kohms) ที่สามารถใช้งานกับโฟโนสเตจสำหรับหัวเข็ม Moving Magnet ได้อย่างไม่มีปัญหา
จุดเด่นของโฟโนสเตจในตัว PM8006 คือ อัตราขยายที่สูงเพียงพอและสัญญาณรบกวนที่ต่ำ ข้อจำกัดคือมันไม่สามารถปรับแต่งอะไรได้เลย ทุกอย่างถูก fixed ไว้หมด ไม่เหมือน McIntosh MP100 ที่สามารถปรับคาพาซิทีฟโหลดที่อินพุตได้
เบื้องต้นผมลองยกเข็มไว้ก่อน เสียบอินพุต Phono แล้วเร่งวอลุ่มที่แอมป์ไปประมาณเที่ยงนาฬิกา เอาหูไปแนบหน้าลำโพง Q Acoutics 3050 มีแค่เสียงหึ่งเบา ๆ ที่ตัววูฟเฟอร์ และเสียงซ่าเบา ๆ ที่ตัวทวีตเตอร์
เสียงส่วนเกินเหล่านั้นถ้าหากนั่งที่จุดนั่งฟังจะไม่ได้ยินเลย นั่นหมายความว่าเมื่อเราเปิดฟังเพลงตามปกติเสียงส่วนเกินเหล่านั้นแทบจะไม่มีผลกระทบต่อเสียงเพลงที่เราฟังเลย นั่นคือการพิสูจน์คุณภาพของภาคขยายโฟโนขั้นแรกที่ผมถือว่ามันตัดเกรดสอบผ่านมาตรวัดของผมได้สบาย ๆ
อย่างไรก็ดีเมื่อลองเสียบกับเทิร์นที่โทนอาร์มไม่ได้มีสายกราวนด์แยกอย่าง Rega P2 เสียงส่วนเกินดังกล่าวดังขึ้นอีกเล็กน้อย และเริ่มได้ยินเบา ๆ เมื่อนั่งอยู่ที่จุดนั่งฟัง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นรบกวนการฟังเพลงตามปกติ
กับชุดเทิร์นฯ Rega P2 สุ้มเสียงที่ได้นั้นทำให้เทิร์นฯ ชุดนี้คุ้มค่าเกินราคาขายของมัน และสามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีของเทิร์นฯ ระดับเริ่มต้นที่ใช้เผยเสน่ห์ของแผ่นเสียงได้เป็นอย่างดี รายละเอียดดี บาลานซ์เสียงดี ประเมินว่ามันน่าจะทำให้หัวเข็มของ Rega แสดงศักยภาพของมันออกมาได้เต็มที่
เมื่อฟังกับ TD203 สุ้มเสียงที่ได้ถูกยกระดับขึ้นไปตามคุณภาพของเทิร์นและหัวเข็ม จุดเด่นคือบาลานซ์เสียงที่ดีเยี่ยม แบคกราวนด์สงัดพอสมควรถ้าไม่ไปเทียบปรีโฟโนแยกชิ้นระดับไฮเอนด์
เอาเป็นว่าไม่ต้องเทียบกับใครให้เสียเวลา ผมสรุปได้ว่าถ้าใครเป็นเจ้าของ TD203 ติดหัวเข็ม Sound Smith Carmen เหมือนที่ผมใช้งานอยู่ คุณจะ happy กับโฟโนในตัวของ PM8006 ได้แน่นอนครับ
แล้วถ้าจะอัปเกรดไปจากนี้แบบให้เห็นหน้าเห็นหลังกันเลย ไม่ใช่แค่ได้เสียงที่ต่างออกไป ผมคิดว่าคงต้องลงทุนกับโฟโนแยกชิ้นระดับเลยครึ่งแสนขึ้นไปเป็นอย่างน้อยครับ ประเภทโฟโนปรีแอมป์แยกชิ้นตัวละไม่กี่พันหรือหมื่นกว่าบาท อย่าได้ไปเสียเวลา
ความเห็นโดยสรุป
ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้ลองเล่นไป ผมประทับใจ PM8006 เป็นพิเศษอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเสียงที่เปิดกว้างมาก เสียงมีความโปร่งใส เปิดเผย และรักษาสมดุลได้ดี เรี่ยวแรงกำลังขับมีก๊อกสองให้ใช้งาน แต่อาจจะไปไม่ถึงก๊อกสาม สี่ ห้า โดยภาพรวมเป็นแอมป์ฟังเพลงที่เสียงดีคุ้มราคา ด้านออปชั่นคงไม่ต้องสาธยายกันซ้ำว่ามันทำอะไรได้บ้าง
ถ้าถามว่ามีอะไรที่ไม่ชอบหรือไม่ ผมตอบได้เลยว่าหน้าตา มันดูจำเจและดีไซน์ของแผงหน้าปัดไม่เข้ากับรสนิยมส่วนตัวของผม ส่วนตัวผมชอบดีไซน์ที่เรียบง่ายมากกว่า
อย่างไรก็ดี ผมก็ยังเห็นด้วยกับที่มาร้านทช์เขาคุยเอาไว้ว่า “PM8006 เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่สมบูรณ์แบบสำหรับนักเล่นฯ ที่มองหาทั้งคุณภาพเสียงและความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนใช้งาน” … ใช่เลยครับ มันมีคุณสมบัติเช่นนั้นจริง ๆ
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เอ็ม.ไอ.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โทร. 0-2254-3316-9 ต่อ 777
ราคา 51,900 บาท