รีวิว Cambridge Audio : Evo 75 “วิวัฒนาการของเครื่องเสียงไฮไฟที่ได้รับการพิสูจน์และยอมรับ”
ถ้าหากจำไม่ผิดเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ผมมีโอกาสได้รู้จักเครื่องเล่นสตรีมเมอร์รุ่น StreamMagic 6 ของเคมบริดจ์ ออดิโอเป็นครั้งแรก นอกจากเรื่องของน้ำเสียงแล้ว จุดเด่นหนึ่งของ StreamMagic 6 คือการออกแบบที่ค่อนข้างล้ำสมัยกว่าเครื่องเสียงคลาสเดียวกันในยุคนั้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปร่างหน้าตา หรือการมีแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่ออกแบบมาใช้งานโดยเฉพาะ แน่นอนว่าที่ทำให้ผมยังคงจำได้มาจนถึงตอนนี้ก็คือเรื่องของ ‘คุณภาพเสียง’
ในเวลานั้นเครื่องเสียงสตรีมเมอร์ในกลุ่มไฮไฟยังจับทิศทางไม่ค่อยได้ เครื่องที่ดีสมบูรณ์ในหลาย ๆ ด้านก็ราคาเกินคำว่าจับต้องได้ง่ายไปเยอะ ส่วนเครื่องที่ราคาจับต้องได้ง่ายจริง ๆ ก็ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางเท่าใดนัก ยังตกหล่นตรงโน้นตรงนี้อยู่บ้าง ทว่า StreamMagic 6 เป็นหนึ่งในเครื่องเสียงสตรีมเมอร์ราคาจับต้องได้ที่คนไฮไฟในเวลานั้นให้การยอมรับ
กาลเวลาผ่านมาเกือบสิบปี วันนี้เคมบริดจ์ ออดิโอ ได้อัปเดตเครื่องเสียง StreamMagic มาแล้วหลายเจนเนอเรชัน อีกทั้งยังต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การฟังเพลงในยุคนี้มากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Cambridge Audio Evo 75
คุณสมบัติและการออกแบบ
Cambridge Audio Evo 75 เป็นหนึ่งในเครื่องเสียง StreamMagic รุ่นล่าสุดของเคมบริดจ์ ออดิโอ มาพร้อมนิยาม ‘The Evolution of Hi-Fi’ หรือ ‘วิวัฒนาการของเครื่องเสียงไฮไฟ’ ออกแบบเป็นเครื่องเสียงประเภท All-in-One Player หรือเครื่องเสียงไฮไฟแบบรวมชิ้น หมายความว่าเป็นเครื่องเสียงที่มีทั้งส่วนของเครื่องเล่น (source) และภาคขยายเสียง (amplifier) รวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน
สำหรับผม Cambridge Audio Evo 75 เป็นอีกหนึ่งเครื่องเสียงไฮไฟในกลุ่ม ‘สตรีมมิงอินทิเกรตแอมป์’ ที่พยายามหลอมรวมความเป็นเครื่องเสียงไฮไฟเข้ากับเครื่องเสียงไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ โดยเฉพาะในแง่ของการออกแบบซึ่งทางเคมบริดจ์ฯ เผยว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากอินทิเกรตแอมป์รุ่นตำนานอย่าง Cambridge Audio P40 โดยเฉพาะในส่วนของการประดับตกแต่งลายไม้ที่ด้านข้างตัวเครื่อง
ด้านรายละเอียดทางเทคนิค Evo 75 มาพร้อมกับภาคขยายเสียง Class D ตระกูล Ncore ของ Hypex จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการพิสูจน์และยอมรับในแวดวงเครื่องเสียงไฮไฟมาแล้วระยะหนึ่ง โดยภาคขยายเสียง Class D ใน Evo 75 มีกำลังขับข้างละ 75 วัตต์ (อ้างอิงที่โหลด 8 โอห์ม) ตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 20Hz – 20kHz (+0/-3dB)
สตรีมมิงอินทิเกรตแอมป์ Evo 75 ถือได้ว่าเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการเชื่อมต่อของชุดเครื่องเสียงสเตริโอสมัยใหม่ ทางด้านเอาต์พุตนั้นสามารถเลือกเชื่อมต่อใช้งานได้ทั้งลำโพง (ทางขั้วต่อสายลำโพง), หูฟัง (ช่องเสียบหูฟัง 3.5mm ), หูฟังไร้สายบลูทูธ (Bluetooth 4.2 / aptX HD), เอาต์พุตปรีแอมป์ (stereo RCA) และเอาต์พุตปรีเอาต์สำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ (RCA)
สำหรับทางด้านอินพุต Evo 75 รองรับการเชื่อมต่อสัญญาณอินพุตทั้งสัญญาณอะนาล็อกและดิจิทัล โดยสัญญาณอะนาล็อกนั้นเป็นช่องสัญญาณไลน์อินสเตริโอ 1 ชุด (Analogue Audio Inputs)
สำหรับอินพุตสัญญาณดิจิทัลนั้นมีให้เลือกใช้ทั้งแบบไร้สาย และแบบที่เชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณ โดยการเชื่อมต่อแบบไร้สายนั้นมีทั้งทางบลูทูธ (Bluetooth 4.2 / aptX HD) และ Wi-Fi (Dual Band 2.4GHz / 5GHz)
ส่วนการเชื่อมต่อสัญญาณดิจิทัลแบบเสียบสาย Evo 75 มีให้มาทั้งขั้วต่อ TOSLINK (optical), S/PDIF (coaxial), TV ARC (HDMI ARC) และพอร์ต Ethernet (RJ45) รวมทั้งการเล่นไฟล์เพลงโดยตรงจาก USB Media ทางพอร์ต USB-A ที่ด้านหลังเครื่อง
โดยขั้วต่อ TOSLINK นั้นรองรับสัญญาณดิจิทัล 24bit/96kHz ส่วนขั้วต่อ S/PDIF และ TV ARC นั้นรองรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูง 24bit/192kHz โดยอาศัยความสามารถของวงจร DAC ในตัว Evo 75 ซึ่งเลือกใช้ชิป DAC ESS Sabre ES9016K2M
สำหรับไฮไลต์จริง ๆ ของ Cambridge Audio Evo 75 คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มสตรีมมิง StreamMagic โดยตรง ซึ่งอาศัยการเชื่อมต่อระบบเน็ตเวิร์คทางช่อง Ethernet หรือ Wi-Fi
การเชื่อมต่อนี้เปิดโอกาสให้เครื่องเสียงรุ่นนี้สามารถสตรีมเพลงได้โดยตรงจากแหล่งสัญญาณเสียงคุณภาพสูง ตลอดจนเทคโนโลยีสตรีมมิงสมัยใหม่ เช่น Airplay 2, Chromecast built-in, Internet Radio, Spotify Connect, TIDAL Connect, TIDAL, Qobuz, Media Library (UPnP) และ Roon Ready
ซึ่งช่องทางการสตรีมมิงนี้เองที่ได้เผยศักยภาพของวงจรภาค DAC ในตัว Evo 75 ซึ่งนอกจากรองรับไฟล์เสียง PCM ไปได้สูงสุดถึง 384kHz แล้วยังรองรับไฟล์เสียงในรูปแบบ DSD ไปถึง DSD256 รวมทั้งไฟล์เสียง MQA ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรูปแบบของไฟล์เสียงรายละเอียดสูงสมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับสำหรับวงการไฮไฟในเวลานี้
แกะกล่องลองใช้งาน
Cambridge Audio Evo 75 เป็นสตรีมมิงอินทิเกรตแอมป์ขนาดย่อม ๆ ที่มีหน้ากว้างเพียง 12.5 นิ้วเท่านั้น โดยมีขนาดเครื่องอยู่ที่ 317 x 89 x 352mm (กว้าง x สูง x ลึก) น้ำหนักแค่ 5 กิโลกรัม แต่มาพร้อมคุณสมบัติมากมายตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น และที่สะดุดตาก็คือจอแสดงผล LCD ขนาดใหญ่ซึ่งกินพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของหน้าปัดเครื่อง
บริเวณขอบด้านขวาของจอแสดงผลมีปุ่มควบคุมสั่งงานพื้นฐานอยู่จำนวนหนึ่งที่ออกแบบให้กลมกลืนไปกับหน้าจออย่างแนบเนียน ดูสะอาดตา ทำให้บนหน้าปัดเครื่องดูเรียบหรูทันสมัยและดูดีมีสไตล์ในคราวเดียวกัน
ส่วนแผงด้านข้างตัวเครื่องที่ประดับด้วยลายไม้วอลนัทนั้นสามารถเลือกเปลี่ยนเป็นแผงลวดลายรูปคลื่นสีเทาดำแลดูหรูหราทันสมัยแบบโมเดิร์นได้ด้วยครับ เพียงดึงแผงข้างเดิมที่ยึดด้วยแรงแม่เหล็กออก แล้วเปลี่ยนแผงข้างใหม่ที่เขาให้มาด้วยในกล่องเขาไปแทนเท่านั้นเอง
บนหน้าปัดมองเห็นปุ่มควบคุมที่เด่นชัดปรากฏอยู่เพียงปุ่มเดียว คือปุ่มหมุนสีดำใหญ่ทางด้านขวามือ ซึ่งถ้าหากมองด้วยสายตาก็เห็นว่ามีอยู่เพียงปุ่มเดียว แต่ความจริงแล้วมันมี 2 ปุ่มวางซ้อนกันอยู่ โดยอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นวงแหวนสีเงินพร้อมพื้นผิวลายตารางกันลื่น
โดยปุ่มด้านนอกนั้นทำหน้าที่เป็นปุ่มหมุนปรับความดังเสียงหรือ volume control ขณะที่วงแหวนสีเงินด้านในนั้นทำหน้าที่เป็นซีเลคเตอร์สำหรับเลือกแหล่งสัญญาณเสียง
นอกจากปุ่มควบคุมบนหน้าปัดเครื่องแล้ว การควบคุมสั่งงาน Evo 75 ยังสามารถทำได้จากรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง ซึ่งออกแบบมาได้สวยงามดูดีมีสไตล์เช่นกัน
หน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่นั้นครบถ้วนทั้งความสว่าง (สามารถหรี่ความสว่างหรือปิดได้) และความคมชัดในระดับที่สามารถใช้งานได้จริง มองเห็นได้ชัดเจนจากตำแหน่งนั่งฟัง แสดงข้อมูลสำคัญ ๆ ได้หลากหลาย รองรับการแสดงผลอื่น ๆ นอกจากภาษาอังกฤษ
เท่าที่ผมได้ลองก็เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น แสดงถึงความเอาใจใส่ในส่วนของซอฟต์แวร์ควบคุมและส่วนประสานงานผู้ใช้ (UI, User Interface) ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างประณีตและพิถีพิถัน การตอบสนองต่อคำสั่งต่าง ๆ ในการเล่นเพลงทำได้รวดเร็วฉับไว ไปตามสั่ง แสดงถึงซอฟต์แวร์ปรับแต่งมาอย่างดี
การควบคุมสั่งงานจากแอปฯ ‘StreamMagic’ ในสมาร์ทโฟน (iOS และ Android) เป็นอีกหนึ่งวิธีในการควบคุมสั่งงาน Evo 75 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสมาร์ทด้วยครับ ซึ่งผมแนะนำให้ผู้ใช้ Evo 75 เลือกวิธีควบคุมสั่งงานจากแอปฯ เป็นหลัก และใช้การควบคุมสั่งงานอื่น ๆ เป็นการเสริมความสะดวก อย่างที่ผมใช้รีโมตคอนโทรลอินฟราเรดเวลาจะสั่งงานบางฟังก์ชันอย่างรวดเร็ว เช่น การเพิ่ม-ลดเสียง หรือเวลาจะข้าม/ย้อนเพลง
ในแอปฯ นอกจากเมนูในส่วนของการเล่นเพลงจาก source หรืออินพุตต่าง ๆ แล้ว ยังมีส่วนให้เราสามารถปรับการทำงานของ Evo 75 อีกหลายส่วนเลยครับ ตั้งแต่การตั้งชื่อเครื่อง การเลือกใช้/ไม่ใช้หรือการตั้งชื่ออินพุตหรือ source ต่าง ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้พอสมควรเลยทีเดียวครับ จุดนี้ลองใช้แล้วผมประทับใจเลยครับ
สำหรับการเล่นไฟล์เสียงรายละเอียดสูงไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของไฟล์เสียง PCM, DSD หรือ MQA สามารถสตรีมได้จากทั้ง Media Library และในโหมด Roon Ready เมื่อใช้งานร่วมกับแอปฯ Roon ในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็น Roon Core อย่าง Roon Nucleus
อีกหนึ่งช่องทางที่ Evo 75 สามารถเข้าถึงไฟล์เสียงแบบ lossless และไฟล์เสียง MQA ได้ก็คือการสตรีมจาก TIDAL (TIDAL Master) ซึ่งสามารถสตรีมได้โดยตรงจาก TIDAL ในแอปฯ StreamMagic, สตรีมผ่านทาง TIDAL Connect หรือสตรีมจาก TIDAL ในแอปฯ Roon ก็ได้
นอกจากนั้นผมยังได้รับข้อมูลมาจากผู้ใช้งานบางท่านแจ้งว่าช่องอินพุต coaxial ของ Evo 75 ก็รองรับการถอดรหัสเสียง MQA ด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่าหากเล่นแผ่น MQA-CD ในเครื่องเล่นซีดีที่มีดิจิทัลเอาต์พุตแบบ coaxial ถ้าต่อสัญญาณมาเข้าที่ Evo 75 ก็จะได้รับประโยชน์จากการถอดรหัสเสียง MQA ด้วยเช่นกัน
ไม่มีข้อสงสัยในความเป็นดนตรี
ช่วงเวลาเดือนเศษที่ผมได้ลองใช้งานสตรีมมิงอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้ นอกจากประสบการณ์ในการใช้งานที่อยู่ในระดับดีถึงดีเยี่ยมแล้ว ผมยังรับรู้ได้ชัดเจนถึงคุณภาพเสียงที่เหนือกว่าสตรีมมิงอินทิเกรตแอมป์ระดับเริ่มต้นอย่างก้าวกระโดด
ในช่วงแรกของการทำความรู้จักกัน ผมมีโอกาสได้ลองฟัง Internet Radio จาก Evo 75 แม้ทราบดีว่าแหล่งสัญญาณเหล่านี้มีบิตเรตข้อมูลค่อนข้างต่ำจนไม่น่าจะคาดหวังในเรื่องของคุณภาพเสียงได้ ทว่าผมกลับได้ยินน้ำเสียงที่น่าฟังกว่าที่เคยได้ยินในโอกาสอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีที่เปิดเพลงหรือเป็นรายการพูดคุยสนทนาทั่วไป
สำหรับในคาบเวลาที่ ‘ฟังเอาเรื่อง’ หรือฟังเพื่อพิจารณาคุณภาพเสียงอย่างเข้มงวด ผมเลือกฟังจาก 3 แหล่ง ได้แก่ การสตรีมจาก TIDAL ในแอปฯ StreamMagic, การสตรีมจาก Media Library (ผมใช้ Minimserver เป็น media server) และการสตรีมจากแอปฯ Roon ใน MacBook Pro M1 (RAM 16GB, SSD 1TB) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นช่องทางในการเข้าถึงไฟล์เสียงคุณภาพสูงทั้งสิ้น
กำลังขับ 75 วัตต์ต่อข้างในสตรีมมิงอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้สามารถขับลำโพงอย่าง Revel Concerta2 M16 หรือ Polk Audio Reserve R200 ได้อย่างสบาย ๆ พร้อมทั้งถ่ายทอดน้ำเสียงที่งดงามด้วยรายละเอียดที่กระจ่างชัด สะอาด และฟังไพเราะไปตามเนื้อหาสาระของเพลง
ผมลองฟังเพลงไทยฟังง่าย ๆ ที่คุ้นหูอย่างอัลบั้มเสือตัวที่ 11 ของพงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ที่ผมสตรีม lossless จาก TIDAL เสียงที่ Evo 75 ขับขานผ่านลำโพงเสียงสะอาดของ Polk Audio ไม่มีสัมผัสของความหยาบกร้านหรือแข็งความกระด้างเจือปนอยู่เลย การตอบสนองต่อไดนามิกของเสียงก็ดีมากด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะในเพลง ‘แรงยังมี’ ซึ่งมีรายละเอียดพรั่งพรูออกมามากมาย ทำให้ได้ยินว่า Evo 75 เป็นแอมป์ Class D อีกรุ่นที่มีสมดุลเสียงดี และมีน้ำเสียงที่น่าฟังจนทำให้หลายคนอาจจะลืมประสบการณ์แย่ ๆ ที่เคยมีกับแอมป์ Class D ไปได้เลยครับ
ในช่วงเวลาที่ผมรีวิวอยู่นี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่มีงานของ Pink Floyd ที่เป็นไฟล์ MQA ถูกปล่อยออกมาให้สตรีมทาง TIDAL ได้พอดี ผมมีโอกาสได้ลองฟังอัลบั้ม Wish You Were Here และ The Wall เทียบกับไฟล์เวอร์ชันที่ริปมาจากแผ่นซีดีรีมาสเตอร์
Cambridge Audio Evo 75 สามารถถ่ายทอดความดีงามในเวอร์ชัน MQA ออกมาด้วยรายละเอียดที่ฟังลื่นไหลสบายหูกว่า พื้นเสียงที่สงัดกว่า ขณะที่รายละเอียดของเสียงมิได้ลดน้อยถอยลงไปเลย รายละเอียดในย่านเสียงทุ้มในเวอร์ชัน MQA ที่มีความชัดเจนกว่าไฟล์ 16bit/44.1kHz ที่ริปมาจากแผ่นซีดี และด้วยอัลบั้มของ Pink Floyd นี่เองที่ทำให้เห็นว่า Evo 75 สามารถเล่นต่อเนื่องระหว่างเพลงหรือ gapless playback ได้อย่างเนียน ๆ ราบรื่นไร้รอยต่อโดยสิ้นเชิง
ช่วงหนึ่งผมลองได้ลองสตรีมไฟล์เสียง MQA อัลบั้ม Oopiib Sings Impression 2 ทาง Media Library นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเสียงที่ดีที่สุดจากเพลงในอัลบั้มนี้ ภาพรวมของเสียงคือ ความหวานนุ่มนวลและกระจ่างสดใสในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะในเพลง ‘Woman and Sea’ เสียงร้องหวาน ๆ ตรงหน้าผมที่ชัดและสมจริงจนแทบจับต้องได้
ประสบการณ์ดังกล่าวย้อนมาอีกครั้งเมื่อผมสตรีมไฟล์ DSD (.dsf) ที่ริปมาจากแผ่น SACD อัลบั้ม Teresa Teng Concert Live ของ Teresa Teng ทาง Media Library
เสียงที่ได้จาก Evo 75 ที่ขับขานผ่านลำโพง Reserve R200 คือประสบการณ์ที่น่าจดจำอีกครั้งหนึ่งสำหรับผม เพราะมิเพียงรายละเอียดของเสียงร้องและเสียงดนตรีเท่านั้นที่ผมรับรู้ได้ แต่มันยังได้นำพาบรรยากาศของคอนเสิร์ตในครั้งนั้นนั่งไทม์แมชีนมาส่งถึงห้องฟังของผมอีกด้วยครับ อนึ่งในการเล่นอัลบั้มผมยังพบว่าการเล่นไฟล์ DSD จาก Media Library ก็รองรับการเล่นแบบ gapless playback ด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้ที่ใช้แอปฯ Roon หรืออุปกรณ์ Roon Core การเชื่อมต่อ Evo 75 ในโหมด Roon Ready คือความสะดวกสบายในการใช้งานและคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยมในคราวเดียวกัน และมากกว่าครี่งหนึ่งในคาบการใช้งาน Evo 75 แบบฟังเอาเรื่อง ผมใช้มันในโหมด Roon Ready นี่แหละครับ ผมสังเกตว่าความสะดวกในการใช้งานโหมดนี้ทำให้ผมใช้เวลาอยู่กับการฟังเพลงต่อเนื่องและยาวนานกว่าปกติ ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะเหตุผลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเองครับ
Cambridge Audio Evo 75 เหมาะกับใคร ?
หลังจากที่ได้ลองเล่นส่วนตัวผมค่อนข้างชอบพอ Cambridge Audio Evo 75 ผมว่ามันคือเครื่องดิจิทัลไฮไฟอเนกประสงค์ยุคใหม่ที่มีความสามารถรอบด้าน มันถูกออกแบบมาเพื่อคนที่เสพดนตรีด้วยการสตรีมในแทบทุกรูปแบบ ทั้งจากผู้ให้บริการระดับแนวหน้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือสตรีมไฟล์เสียงคุณภาพสูงทั้งในรูปแบบ lossless และ hi-res audio จากมิวสิกเซิฟเวอร์ของเราเอง
คุณสมบัติเหล่านั้นมีเครื่องเสียงหลายรุ่นพยายามรังสรรค์ออกมาเช่นกัน แต่ถ้าพูดถึงการทำออกมาอย่างพิถีพิถัน ใช้งานแล้วพบปัญหาน้อย รวมทั้งตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง ที่สำคัญคือคุณภาพเสียงที่ก้าวข้ามคำว่าระดับเริ่มต้นมาแล้ว ผมว่าในนาทีนี้ Cambridge Audio Evo 75 คือชื่อแรก ๆ ที่ผมนึกถึงครับ
ใครที่สมัครสมาชิกบริการสตรีมเพลงอย่าง TIDAL หรือ Qobuz เอาไว้ มีไลฟ์สไตล์ในการฟังเพลงจากไฟล์เสียงคุณภาพสูง และต้องการขยับอัปเกรดจากเครื่องเสียงในระดับเริ่มต้น ผมว่าสตรีมมิงอินทิเกรตแอมป์รุ่นนี้คืออีกหนึ่งตัวเลือกลำดับต้น ๆ ที่อยากให้เก็บไว้พิจารณาครับ !
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เพาเวอร์ บาย จำกัด
Power Buy Call Center
โทร. 02-904-2120
ราคา: 89,900 บาท