fbpx
KNOWLEDGE

MQA ฟอร์แม็ตใหม่ของระบบเสียงรายละเอียดสูง

เมื่อประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา คนที่ได้ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของระบบเสียงรายละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio คงจะพอได้ยินคำว่า เอ็มคิวเอ ‘MQA’ ผ่านหูมาบ้าง

ทราบหรือไม่ครับว่า นี่คือฟอร์แมตการเข้ารหัสข้อมูลเสียงดิจิทัลที่ถูกสร้างมาเพื่อทำลายกำแพงข้อจำกัดต่าง ๆ และความสับสนที่เกิดขึ้นกับฟอร์แมต Hi-Res Audio มาอย่างต่อเนื่อง นี่คือ solution ที่ได้รับการหมายมั่นปั้นมือว่าจะนำพาให้ Hi-Res Audio เป็นที่นิยมแพร่หลายไปในวงกว้างมิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงภายในแวดวงเครื่องเสียงไฮไฟแต่เพียงอย่างเดียว

เรามาทำความรู้จัก ‘MQA’ ไปตามลำดับขั้นจากรากฐานของมันไปไล่เรียงไปจนถึงการใช้งานในภาคปฏิบัติกันดีกว่าครับ ก่อนอื่นคุณอาจจะจำเป็นต้องทราบไว้สักหน่อยว่า MQA นั้นย่อมาจากคำว่า Master Quality Authenticated คิดค้นขึ้นโดย เมอริเดียน ออดิโอ ‘Meridian Audio’ บริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงระดับไฮเอนด์ชื่อดังจากประเทศอังกฤษ

เป็นฟอร์แมตไฟล์เสียงดิจิทัลที่ถูก ‘คิดเผื่อ’ เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ในขั้นตอนการบันทึกเสียงต้นฉบับ การเข้ารหัสด้วยวิธีบีบอัดข้อมูล หรือแม้กระทั่งวิธีการนำไฟล์เสียงไปเปิดฟัง

โดยปกติแล้วไฟล์ฟอร์แมต Hi-Res Audio ไม่ว่าจะเป็นฟอร์แมต PCM หรือ DSD เป็นที่ทราบกันดีว่า สำหรับคนที่คุ้นเคยว่ายิ่งไฟล์มีความละเอียดหนาแน่นของข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ขนาดไฟล์และบิตเรตที่ใช้ก็จะยิ่งทวีคูณมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัญหาหลัก ๆ ที่ตามมาก็คือเรื่องของการเก็บข้อมูลที่สิ้นเปลืองพื้นที่ความจุใน storage device อย่างมาก

อีกปัญหาคือกระแสของข้อมูลดิจิทัลที่ต้องวิ่งไปมาอยู่ในระบบการส่งผ่านข้อมูลอย่างเช่น ในระบบเน็ตเวิร์คที่สตรีมจากมิวสิกเซิฟเวอร์ หรือที่สตรีมมาจากผู้ให้บริการเพลงออนไลน์ทั้งหลายจะมีประสิทธิภาพต่ำและสิ้นเปลืองแบนด์วิดธ์เป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากขนาดและบิตเรตไฟล์ของข้อมูล Hi-Res Audio ที่อยู่ในระดับสูงเกินไป

หน้าที่ของ MQA ก็คือ การนำสัญญาณเสียงต้นฉบับโดยตรงมาทำการ ‘แพ็ค’ หรือ ‘จัดเก็บ’ เสียใหม่ด้วยกระบวนการวิธีที่ทางเมอริเดียนอ้างว่าเป็นฟอร์แมต lossless (ไร้การตกหล่นสูญเสียของข้อมูล) เหมือนการพับกระดาษหลายทบให้เล็กลง เมื่อคลี่กระดาษออกมาก็จะกลายเป็นกระดาษแผ่นใหญ่เหมือนเดิม

เทคโนโลยี MQA เริ่มเป็นยอมรับให้เป็นฟอร์แมตเสียงคุณภาพสูงในหลากหลายแพลทฟอร์มเนื่องจากเป็นการเข้ารหัสเสียงที่มีประสิทธิภาพ และสามารถย้อนคืนคุณภาพเสียงในระดับเทียบเท่ากับต้นฉบับในสตูดิโอได้ด้วยเทคนิคพิเศษที่อาศัยความสามารถในการถอดรหัสย้อนคืนคุณภาพเสียงของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ประกอบกัน

โดยปกติแล้ว กระบวนการถอดรหัสย้อนคืนคุณภาพเสียงที่เรียกว่า “unfolding” นั้นจะมีอยู่ 2 ขั้นตอนด้วยกัน การ “unfolding” ขั้นแรกจะเรียกว่า “Core Decoding” ซึ่งสามารถทำได้ด้วยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ในแอปฯ เล่นเพลงหลาย ๆ แอปฯ เช่น Tidal, Roon, Amarra หรือ Audirvana (Update มีนาคม 2562 – ในปัจจุบันสามารถทำได้ในแอปฯ TIDAL สำหรับอุปกรณ์ Android และ iOS แล้ว)

สำหรับขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการทำ unfolding นั้นเรียกว่า “rendering” จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับภาค DAC ในอุปกรณ์นั้น ๆ อย่างเข้มงวด คุณภาพในการ rendering จะขึ้นอยู่กับวงจรภาคฟิลเตอร์ขาออกของ DAC นั้น ๆ ในทางปฏิบัติแล้วในส่วนนี้จะได้รับการปรับแต่งโดยละเอียดสำหรับแต่ละรุ่นโดยเฉพาะ

ผลลัพธ์สุดท้ายของไฟล์ MQA จึงเป็นไฟล์ Hi-Res Audio เหมือนตามต้นฉบับ แต่มีขนาดไฟล์และบิตเรตที่ย่อมเยาพอ ๆ กับไฟล์เสียงในฟอร์แมตซีดี ง่ายต่อการดาวน์โหลดหรือสตรีมมาฟังสด ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้การซื้อเพลงผ่านการดาวน์โหลดหรือการสตรีมไฟล์ Hi-Res Audioไปฟังสด ๆ ทันที ณ เวลานั้น สามารถทำได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้นชนิดที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน

และเมื่อนำไปใช้งานร่วมกับฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นที่รองรับไฟล์ MQA ด้วยแล้ว เสียงที่เราได้ยินก็จะไม่ต่างอะไรกับการฟัง Hi-Res Audio โดยตรง หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าจะได้เสียงดีกว่าเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น MQA ยังมีคุณสมบัติที่เรียกว่า backwards compatible แม้แต่อุปกรณ์หรือระบบรุ่นเก่า ๆ ที่ไม่รองรับ MQA ก็ยังสามารถเปิดฟังได้เช่นกันเพียงแต่คุณภาพเสียงจะไม่ดีเท่าระบบที่รองรับ MQA โดยตรง แต่อย่างไรก็ดีเสียงที่ได้ก็จะยังดีว่าการฟังจากไฟล์ CD Quality ตามปกติ ทางเมอริเดียนเขาคุยเอาว่าไว้อย่างนั้นนะครับ

ดังนั้นข้อสรุปในเบื้องต้นนี้ก็คือ MQA หรือ Master Quality Authenticated นั้นคือเทคโนโลยีฟอร์แมตไฟล์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่ในขั้นตอนของการทำมาสเตอร์เพลงต้นฉบับเพื่อให้คุณภาพเสียงในระดับนั้นยังคงอยู่ครบถ้วน และสามารถส่งต่อความครบถ้วนนั้นไปจนถึงปลายทางสุดท้ายนั่นคือในระบบเสียงของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ