fbpx
HOW TOKNOWLEDGE

7 เคล็ดไม่ลับกับการเลือกซื้อลำโพง Soundbar

ก่อนหน้านี้ลำโพงประเภท “ซาวด์บาร์ (Soundbar)” ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญอะไรมากนัก เป็นเพียงแค่ลำโพงที่เข้ามาเสริมเพิ่มคุณภาพเสียงให้กับทีวีที่มีลำโพงภายในคุณภาพไม่ค่อยดีเท่านั้น

มาถึงทุกวันนี้ซาวด์บาร์ยังคงทำหน้าที่เดิมของมันอยู่ แถมยังได้รับความนิยมมากขึ้นมีสินค้าออกมาให้เลือกใช้กันมากมายหลากหลายรุ่น

โดยมีคุณสมบัติและคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น จนเข้ามาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับระบบโฮมเธียเตอร์ขนาดย่อม และไม่ได้เป็นเพียงตัวเลือกเสริมอีกต่อไป

และนี่คือ 7 เคล็ดไม่ลับกับการเลือกซื้อลำโพง Soundbar

1. ขนาดของลำโพงซาวด์บาร์
• ซาวด์บาร์มีรูปร่างและขนาดตั้งแต่เล็กกะทัดรัดไปจนถึงขนาดใหญ่ยักษ์

• คุณไม่จำเป็นต้องจับคู่ความกว้างของซาวด์บาร์ให้เข้ากับขนาดทีวีของคุณ เว้นแต่คุณจะต้องการทำเช่นนั้นด้วยเหตุผลด้านความสวยงาม

• ซาวด์บาร์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (กว้างขึ้น) ทำให้การแยกแชนเนลเสียงทำได้ดียิ่งขึ้น

• หากคุณวางแผนที่จะติดตั้งใช้ซาวด์บาร์วางบนชั้นวางทีวี ควรตรวจสอบความสูงของตัวซาวด์บาร์เพื่อให้แน่ใจว่าตัวซาวด์บาร์จะไม่บังส่วนล่างของหน้าจอทีวี

2. จะเลือกซาวด์บาร์แบบ All-in-One, Soundbar + Subwoofer หรือ แบบลำโพงหลายตัวดี?
• ซาวด์บาร์บางตัวทำงานได้ด้วยตัวเอง บางตัวมาพร้อมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบไร้สาย

• ซาวด์บาร์แบบ All-in-one มักรองรับเสียงรอบทิศทางแบบเสมือน

• การรองรับเสียงรอบทิศทางแบบเสมือน อาจแตกต่างกันไปตามแต่ประสิทธิภาพของแต่ละรุ่น บางรุ่นมีเทคโนโลยีพิเศษสามารถถ่ายทอดเสียงในแบบ 5.1.2 หรือ 7.1.2 แชนเนลออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

• ซาวด์บาร์บางรุ่นรองรับการเชื่อมต่อลำโพงซับวูฟเฟอร์จากภายนอก บางรุ่นแถมลำโพงซับวูฟเฟอร์มาให้ในชุด

• ลำโพงซาวด์บาร์บางชุดมีลำโพงเซอร์ราวด์แถมแยกมาให้โดยสามารถเชื่อมต่อได้ทั้งแบบใช้สายและไร้สาย

• ชุดลำโพงเซอร์ราวด์ที่แยกออกมาสามารถขยายพื้นที่การรับรู้ทางด้านเวทีเสียงจากลำโพงซาวด์บาร์ที่ปล่อยออกมาให้กว้างขึ้น

• ลำโพงซาวด์บาร์แบบ All-in-one ราคาไม่แพง มักไม่รองรับการต่อเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์ สำหรับรุ่นที่สูงขึ้นจะมีช่องปล่อยสัญญาณเสียงสำหรับซับวูฟเฟอร์ติดมาให้

• ลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่แถมมากับชุดซาวด์บาร์มักมีขนาดตู้ไม่เท่ากับลำโพงซับวูฟเฟอร์แยกชิ้นแบบเดี่ยวๆ แม้อยู่ในระดับราคาใกล้เคียงกัน

3. จำนวนแชนเนล
• จะพบได้ว่าซาวด์บาร์ไม่ได้มีเพียง 2 แชนเนล สูงสุดที่มีทำได้ถึง 15.2 แชนเนล สำหรับระบบเสียงแบบ 11.2.4 และอีกหลากหลายระบบที่น้อยกว่านี้

• ซาวด์บาร์แบบ 2.0 แชนเนล เป็นสิ่งที่เพียงพอ หากเราแค่ต้องการจะนำมาใช้แค่เพิ่มคุณภาพเสียงของลำโพงภายในเครื่องทีวีซึ่งให้เสียงไม่ดี

• ซับวูฟเฟอร์จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของซาวด์บาร์ในทุกๆ รูปแบบการใช้งาน

• ซาวด์บาร์แบบ 3.0 และ 3.1 แชนเนล จะทำการเพิ่มแชนเนลเซ็นเตอร์เข้าไป ทำให้รับฟังเสียงบทพูดต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

• ซาวด์บาร์แบบ 5.1 แชนเนล รองรับการทำงานเข้ากับระบบเสียงรอบทิศทางแบบ 5.1 แชนเนลได้ดีที่สุด โดยระบบเสียงส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 5.1 แชนเนลด้วยเช่นกัน

4. การเชื่อมต่อ
• หากซาวด์บาร์มีไว้เพื่อปรับปรุงคุณภาพเสียงให้ดีขึ้นกว่าที่ได้ยินจากลำโพงภายในเครื่องทีวี การเชื่อมต่อสัญญาณเสียงผ่านช่องสัญญาณเสียงดิจิทัลเอาพุตแบบ Optical จากหลังทีวีเข้ากับตัวซาวด์บาร์เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

• ทีวีบางรุ่นมีเพียงเฉพาะช่องสัญญาณเสียงเอาต์พุตแบบ S/PDIF ปล่อยสัญญาณเสียงได้แค่ PCM 2.0 ในขณะที่บางรุ่นรองรับระบบเสียงได้ถึง 5.1 แชนเนล

• ซาวด์บาร์บางตัวรองรับอินพุตแบบ HDMI โดยเชื่อมต่อมาจากช่องเอาพุต HDMI ของเอวีรีซีฟเวอร์หรือแหล่งสัญญาณอื่น อย่างเช่นเครื่องเล่นบลูเรย์ หรือ เครื่องเล่นมีเดียสตรีมมิ่ง

• ซาวด์บาร์บางรุ่นมีช่องเอาต์พุต HDMI ที่จะทำการเชื่อมต่อส่งผ่านสัญญาณวิดีโอจากอุปกรณ์ต้นทางไปเข้าช่องอินพุต HDMI ของทีวี

• ถ้าเอาต์พุต HDMI ของซาวด์บาร์และอินพุต HDMI ของทีวีรองรับ ARC (Audio Return Channel) จะทำให้ทีวีสามารถส่งสัญญาณเสียงจากแอปฯ สตรีมมิ่งหรือสัญญาณจากช่องรายการทีวีที่กำลังรับชมอยู่ย้อนกลับไปให้ซาวด์บาร์ทำการขยายเสียงโดยผ่านทางสาย HDMI เส้นเดิมที่เชื่อมต่อซาวด์บาร์กับทีวีเข้าด้วยกันอยู่

• ซาวด์บาร์ที่มีช่องอินพุต HDMI มาให้หลายๆ ช่อง เป็นประโยชน์มากหลากคุณไม่ได้ใช้เอวีรีซีฟเวอร์ในระบบ สามารถใช้ซาวด์บาร์เป็นตัวเลือกช่องสัญญาณได้

และหากคุณมีทีวีที่รองรับสัญญาณภาพระดับ 4K UHD โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุน HDR ด้วยแล้ว ควรตรวดสอบให้ชัดเจนว่าช่องต่อ HDMI ของซาวด์บาร์รองรับ HDMI 2.0a และ HDCP 2.2 ด้วยหรือไม่

• ควรเชื่อมต่อสัญญาณเสียงผ่านทางช่อง HDMI หากลำโพงซาวด์บาร์ที่ใช้อยู่รองรับระบบเสียง Dolby Atmos

• การรองรับการถอดรหัส Dolby Digital เป็นคุณลักษณะสำคัญที่ควรมีเพื่อใช้สำหรับถอดรหัสสัญญาณเสียงแบบบิตสตรีมจากบริการสตรีมมิ่งต่างๆ

• ซาวด์บาร์บางตัวมีช่องเสียบ USB ใช้สำหรับเล่นไฟล์มีเดียต่างๆ ที่เก็บอยู่ในอุปกรณ์เก็บข้อมูล USB (USB Flash Drive, External HDD)

5. คุณภาพเสียง
• ซาวด์บาร์มีความแตกต่างกันมากในแง่คุณภาพเสียง โดยปกติรุ่นที่ราคาสูงกว่ามักจะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า โดยเฉพาะในยี่ห้อเดียวกันคุณภาพเสียงที่ได้มักจะขึ้นอยู่กับเงินที่จ่ายไป

• ในบางครั้งอาจพบว่าการสาธิตการใช้งานซาวด์บาร์อยู่ในร้านค้าขนาดใหญ่ จึงเป็นการยากที่จะตัดสินคุณภาพจากสภาพแวดล้อมเช่นนั้น

• ใช้สเปคฯ เครื่องและการศึกษารีวิวต่างๆ เป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ หากตัดสินใจซื้อมาและทำการติดตั้งภายในบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ชอบเสียงที่ได้ยิน อย่ากลัวที่จะลองปรับเซตค่าต่างๆ ดูก่อน

• ซาวด์บาร์ระดับไฮเอ็นด์มาไกลมาก สร้างความประทับใจให้ผู้ฟังด้วยความไพเราะของน้ำเสียงที่ใกล้เคียงกับลำโพงแยกชิ้นทั่วไป สำหรับซาวด์บาร์ในระดับราคาไม่แพงมากสามารถเพิ่มคุณภาพเสียงให้ดีกว่าที่ได้ยินจากลำโพงของทีวี แต่ก็อาจยังไม่ไพเราะเท่ากับลำโพงวางหิ้งราคาถูกได้

• แนะนำให้เลือกซาวด์บาร์ที่รองรับการเชื่อมต่อซับวูฟเฟอร์ภายนอก หากต้องการคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดจากซาวด์บาร์ที่ใช้งานอยู่

• โดยปกติซาวด์บาร์ที่ใช้ระบบลำโพงแบบ 2 ทาง ต่อ 1 แชนเนล มักจะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าลำโพงที่ใช้ไดรเวอร์ฟูลเรนจ์เพียงตัวเดียวต่อ 1 แชนเนล

6. รองรับ Dolby Atmos และ DTS:X หรือเปล่า
• ซาวด์บาร์ที่รองรับ Dolby Atmos และ DTS:X สามารถถ่ายทอดเสียงได้สมจริงกว่าถือว่าเป็นพัฒนาการที่ค่อนข้างใหม่

• Samsung harman/kardon รุ่น HW-N850 และ HW-N950 เป็นซาวด์บาร์ที่มีภาคถอดรหัสสัญญาณเสียง Dolby Atmos และ DTS:X ในตัว สำหรับระบบเสียง Dolby Atmos เป็นระบบเสียงที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในเวลานี้

• ซาวด์บาร์ของ Creative รุ่น X-Fi Sonic Carrier รองรับระบบเสียง Dolby Atmos ให้กำลังขยายรวม 1,000 วัตต์ และรองรับซับวูฟเฟอร์แบบไร้สายได้สูงสุดถึง 4 ตัว

• ยามาฮ่า YSP-5600 Digital Sound Projector สามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้ทั้ง Dolby Atmos และ DTS:X ในแบบ 7.1.2 แชนเนล ถือเป็นซาวด์บาร์รุ่นเดียวเท่านั้นที่สามารถรองรับ DTS:X

7. บลูทูธและการสตรีมมิ่งแบบไร้สาย
• ซาวด์บาร์ส่วนใหญ่รองรับระบบเสียงสเตริโอสำหรับการรับฟังดนตรี ซาวด์บาร์บางรุ่นรองรับการสตรีมแบบไร้สายและอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อโดยผ่านบลูทูธ

• หากวางแผนที่จะสตรีมเพลงมาเล่นโดยผ่านบลูทูธควรมองหารุ่นที่รองรับ บลูทูธ aptX เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงระดับไฮไฟ เสียงไม่โดนบีบอัดจนเกิดการสูญเสียผิดเพี้ยน

• ซาวด์บาร์รุ่นใหม่ๆ สนับสนุนการสตรีมผ่าน Wi-Fi โดยในแต่ละแบรนด์จะมีมาตรฐานความเข้ากันได้ที่แตกต่างกันออกไป

Bluesound Pulse Soundbar เป็นซาวด์บาร์ที่รองรับการสตรีมบนแพลทฟอร์ม BluOS ที่ให้คุณภาพเสียงดีเยี่ยม

• DTS Play-Fi เป็นระบบเชื่อมต่อแบบไร้สายซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไปเปิดกว้างสำหรับทุกแบรนด์สินค้า โดยสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนมาตรฐานดังกล่าวได้จากหลากผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็น Polk, Definitive Technology, MartinLogan, Integra, Klipsch และ Pioneer

• ซาวด์บาร์หลายรุ่นรองรับ Google Cast ซึ่งเป็นมาตรฐานรองรับการเชื่อมต่อใช้งานแบบไร้สายที่เปิดกว้างเป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน

• ซาวด์บาร์ของยี่ห้อ Bose ของรับการเชื่อมต่อระบบเสียงผ่านเน็ตเวิร์ค อย่างแพลทฟอร์ม Bose SoundTouch

• HEOS ระบบเสียงผ่านเน็ตเวิร์คจาก Denon และ Marantz ในแต่ละรุ่นมีความสามารถที่คล้ายกัน

• ซาวด์บาร์ของ Bluesound, Sony, Samsung, LG ใช้แอปฯ ของตัวเองในการเชื่อมต่อการสตรีมเพลงผ่านระบบไร้สาย ของ Bluesound และ Sony รองรับการฟังเพลงในระบบ Hi-Res Audio ด้วย

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ