fbpx
REVIEW

รีวิว LG : SJ7 Sound Bar Flex

ในงานเปิดตัวลำโพงซาวด์บาร์รุ่นใหม่ของยี่ห้อแอลจี ผมค่อนข้างทึ่งกับคุณภาพเสียงของลำโพงซาวด์บาร์รุ่นเรือธงที่มีระบบเสียง Dolby Atmos ของพวกเขามาก ทว่าในงานเดียวกันนี้มีลำโพงซาวด์บาร์อีกรุ่นหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผมได้ไม่แพ้กัน ซาวด์บาร์รุ่นนั้นคือ LG รุ่น SJ7 ลำโพงซาวด์บาร์ที่ได้รับฉายาว่า ‘Sound Bar Flex’

Sound Bar Flex ใช้งานได้ตามใจชอบ
ชื่อ ‘Sound Bar Flex’ นั้นมาจากคุณสมบัติเฉพาะตัวที่หาไม่ได้ในลำโพงซาวด์บาร์ทั่วไปของ LG SJ7 คุณสมบัติที่ว่านั้นคือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน ทำให้มันมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่าลำโพงซาวด์บาร์ทั่วไป โดยซาวด์บาร์รุ่นนี้มีรูปแบบให้ใช้งานได้ถึง 4 รูปแบบด้วยกันคือ

A. โหมดลำโพงซาวด์บาร์ 2.1 แชนเนล (ซับวูฟเฟอร์ไร้สาย)
B. โหมดลำโพงแยกซ้าย-ขวา 2.1 แชนเนล (ซับวูฟเฟอร์ไร้สาย)
C. โหมดลำโพงด้านหน้า, ด้านหลัง และซับวูฟเฟอร์ไร้สาย 4.1 แชนเนล (FRONT+REAR+SUBWOOFER)
D. โหมดลำโพงแยกชิ้นแบบพกพา (PORTABLE)

คุณสมบัติเหล่านี้มาจากชุดลำโพงที่มีแค่ 3 ชิ้น บรรจุมาในกล่องที่มีขนาดพออุ้มได้ ประกอบไปด้วยลำโพงซาวด์บาร์หลัก (Primary unit), ลำโพงซาวด์บาร์รอง (Secondary unit) และลำโพงซับวูฟเฟอร์ (Subwoofer) ซึ่งเชื่อมต่อด้วยระบบไร้สาย ทั้งหมดเป็นลำโพงที่มีขนาดค่อนข้างกะทัดรัด ใช้งานในห้องขนาดเล็กสามารถจัดวางให้ลงตัวได้ง่ายมาก ตัวลำโพงไม่เทอะทะเกะกะเลย

นอกจากนั้นลำโพงทั้ง 3 ตัวยังเชื่อมต่อกันด้วยระบบ ‘ไร้สาย’ ระหว่างลำโพงแต่ละตัวจึงไม่มีสายสัญญาณใดๆ เชื่อมโยงเข้าหากันเลย มีก็แต่สายไฟเอซีกับสายไฟจากชุดอะแดปเตอร์ไฟเลี้ยงเท่านั้นที่ต้องต่อใช้งานกับลำโพงแต่ละตัว โดยตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์นั้นเป็นแบบเสียบสายไฟเอซีโดยตรง ขณะที่ลำโพงซาวด์บาร์ทั้งสองตัวจะใช้ไฟเลี้ยงจากชุดอะแดปเตอร์ของใครของมัน

ลำโพงซาวด์บาร์หลัก ลำโพงซาวด์บาร์รอง และลำโพงซับวูฟเฟอร์
ลำโพงซาวด์บาร์หลักและลำโพงซาวด์บาร์รองมีขนาด รูปร่างหน้าตา ที่ถอดแบบมาจากพิมพ์เดียวกัน แตกต่างกันในเพียงรายละเอียด องค์ประกอบปลีกย่อยและหน้าที่ ในลำโพงทั้งคู่ประกอบไปไดรเวอร์ขับเสียง (ดอกลำโพง) ข้างละ 4 ตัว มีภาคขยายเสียงในตัวกำลังขับรวม 60 วัตต์ต่อลำโพงหนึ่งตัว

ลำโพงซาวด์บาร์ทั้ง 2 ตัว แม้จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันแต่ทำหน้าที่ต่างกัน

ลำโพงแต่ละตัวสามารถให้เสียงได้ทั้งระบบโมโนหรือระบบสเตริโอ ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งานในรูปแบบใดใน 4 โหมดข้างต้น โดยเลือกที่สวิตช์เลื่อนที่อยู่ด้านหลังลำโพงซาวด์บาร์รอง โดยตัวเลือกมีดังนี้ ‘SOUND BAR’ (ใช้กับรูปแบบ A และ B), ‘REAR’ (ใช้กับรูปแบบ C), ‘PORTABLE’ (ใช้กับรูปแบบ D)

ตัวอย่างเช่น เมื่อเลือกที่ ‘SOUND BAR’ ลำโพงซาวด์บาร์หลักจะให้เสียงของแชนเนลซ้าย ขณะที่ลำโพงซาวด์บาร์รองจะให้เสียงของแชนเนลขวา รวมกับเสียงจากลำโพงซับวูฟเฟอร์เป็นระบบ 2.1 แชนเนล แต่ถ้าเลือกไปที่ ‘REAR’ ลำโพงซาวด์บาร์หลักที่อยู่ด้านหน้าและลำโพงซาวด์บาร์รองที่วางอยู่ด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง จะให้เสียงสเตริโอในลำโพงแต่ละตัว รวมกับเสียงจากลำโพงซับวูฟเฟอร์เป็นระบบเสียง 4.1 แชนเนล

รายละเอียดด้านหลังลำโพงซาวด์บาร์หลัก

ที่ตัวลำโพงซาวด์บาร์หลักและลำโพงซาวด์บาร์รองจะมีปุ่มฟังก์ชันที่สามารถใช้งานร่วมกันหรือแยกกันใช้งานก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการใช้งานที่ได้เลือกไว้ ปุ่มฟังก์ชั่นอีกจำนวนหนึ่งจะไปอยู่ที่รีโมตคอนโทรลอินฟราเรดขนาดกะทัดรัดที่มีปุ่มกดที่ให้สัมผัสที่ดีใช้งานสะดวกมาก

รายละเอียดด้านหลังลำโพงซาวด์บาร์รอง

ขั้วต่ออินพุตทั้งหมดได้แก่ Optical, HDMI IN, HDMI OUT (TV ARC) ของลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้จะไปอยู่ที่ตัวลำโพงซาวด์บาร์หลักซึ่งถูกกำหนดมาให้เป็นลำโพงทางด้านซ้ายมือของเรา (เมื่อหันหน้าเข้าหาลำโพง) นอกจากนั้นที่ด้านหน้าของลำโพงซาวด์บาร์หลักยังมีจอแสดงผลเป็นไฟสีขาวที่ตัวฟอนต์มีขนาดใหญ่และอ่านง่าย สามารถมองเห็นได้ชัดจากระยะนั่งฟังตามปกติ (2-4 เมตร)

ลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สาย รีโมตคอนโทรลและอุปกรณ์เสริมที่มาด้วยกันในชุด

สำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ซึ่งมีขนาดค่อนข้างกะทัดรัดนั้นใช้ตัวขับเสียงขนาดประมาณ 5-6 นิ้ว มีภาคขยายเสียงในตัวกำลังขับ 200 วัตต์ เชื่อมต่อกับชุดลำโพงซาวด์บาร์แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้สายสัญญาณ สามารถใช้งานได้กับทุกโหมด แม้กระทั่งโหมด ‘PORTABLE’

ในโหมด ‘PORTABLE’ ของลำโพงซาวด์บาร์ตัวรอง สามารถนำตัวลำโพงแยกออกไปใช้งานเดี่ยวๆ ได้เหมือนลำโพงบลูทูธทั่วไปที่เราคุ้นเคยเพราะว่าในตัวมันมีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 5,200 mAh (ในเอกสารอีกแหล่งจากแอลจีแจ้งไว้ 2,600 mAh) ทำหน้าที่คอยจ่ายพลังงานให้อยู่ ใช้งานต่อเนื่องได้ประมาณ 4 ชั่วโมง โดยจะใช้เวลาในการชาร์จไฟจนเต็มประมาณ 3 ชั่วโมง 40 นาที ในโหมดนี้สามารถใช้งานได้ทั้งแบบ 2.0 แชนเนล หรือ 2.1 แชนเนลโดยใช้งานตัวลำโพงซับวูฟเฟอร์ด้วย

การเชื่อมต่อใช้งาน
ไม่ใช่แค่รูปแบบการใช้งานที่มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้าง การติดตั้งใช้งานตัวลำโพงซาวด์บาร์ยังทำได้ทั้งแบบวางแนวนอนหน้าทีวีบนชั้นวางโดยตรง แบบแขวนกับฝาผนัง แบบแขวนกับฝาผนังวางแยกซ้าย-ขวา หรือจะเป็นแบบวางในแนวตั้งแยกซ้าย-ขวาบนชั้นวางโดยตรงโดยใช้ฐานรอง ‘Vertical Table Stand’ ที่ให้มาด้วยกัน

สำหรับคนที่ใช้งานอินพุต Optical ก็ไม่ต้องไปหาสายเองนะครับ ทางแอลจีเขาให้สายไฟเบอร์ออปติคมาให้ด้วย ส่วนสาย HDMI สำหรับใช้งานกับอินพุตหรือเอาต์พุต HDMI นั้นต้องไปหาเพิ่มเติมกันเอาเอง

ในแง่ของการเชื่อมต่อใช้งานทางอินพุตของลำโพงซาวด์บาร์ ต้องถือว่า LG SJ7 เน้นไปที่อินพุตระบบสัญญาณดิจิทัลมากกว่าอินพุตสัญญาณอะนาล็อกซึ่งไม่มีมาให้เลย ด้านอินพุตสัญญาณดิจิทัลให้มาทั้ง HDMI IN และ OUT (TV ARC) ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ ในลำโพงซาวด์บาร์ระดับนี้หรือแม้แต่ที่ราคาแพงกว่านี้

ทำให้การต่อพ่วงสัญญาณ HDMI จาก digital source อย่างเช่น เครื่องเล่นบลูเรย์, Google Chromecast หรือ Apple TV มาใช้งานกับซาวด์บาร์ชุดนี้ทำได้ง่ายมาก โดยการต่อ HDMI จาก source เหล่านั้นมาเข้าที่อินพุต HDMI ของ SJ7 จากนั้นก็ต่อเอาต์พุต HDMI จาก SJ ไปเข้าที่อินพุต HDMI ของทีวี

ในกรณีที่ใช้ทีวีเป็น source เช่น การรับชมรายทีวีตามปกติ หรือเล่นคอนเทนต์ต่างๆ จากตัวทีวีเอง การต่อพ่วงเอาเสียงจากในตัวทีวีมาออกที่ลำโพงซาวด์บาร์ LG SJ7 มีอยู่เพียงวิธีเดียวนั่นคือ ทางช่องอินพุต Optical ของ SJ7 ดังนั้นถ้าหากทีวีของเรามีแต่ช่องต่อสัญญาณเอาต์พุตแบบอะนาล็อก (analog audio out) ไม่มีช่องต่อเอาต์พุตแบบ optical ก็อาจจะใช้งานในลักษณะนี้ไม่ได้ เว้นแต่ว่าจะไปหาอุปกรณ์แปลงสัญญาณ analog จากทีวีให้เป็นสัญญาณ digital optical มาใช้งาน

แม้ว่าลำโพงซาวด์บาร์ทั้งชุดจะเชื่อมต่อเข้าหากันด้วยระบบไร้สาย แต่การเชื่อมต่อนั้นไม่ได้ยุ่งยากวุ่นวายเลยครับเพราะมันถูกออกแบบมาให้เชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติหลังจากเปิดใช้งานครั้งแรก หากการเชื่อมต่อไม่สำเร็จก็ยังมีปุ่มให้กดเพื่อเชื่อมต่อกันแบบอัตโนมือได้ด้วย นอกจากจะไม่ต้องต่อสายให้รุงรังแล้วยังติดตั้งได้สะดวกอีกต่างหากครับ

สำหรับการรีวิวครั้งนี้ ผมมีโอกาสได้ลองใช้งาน LG SJ7 ในรูปแบบ A, C และ D ตามที่ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ ในโหมด A ปุ่มกดที่ด้านข้างของลำโพงซาวด์บาร์ทั้งสองจะใช้งานร่วมกัน สำหรับในโหมด C ปุ่มกดที่ตัวลำโพงซาวด์บาร์หลักจะใช้ควบคุมทั้งซิสเตม อย่างเช่น ระดับเสียงของทั้งซิสเตม ส่วนปุ่มกดเพิ่ม-ลดเสียงที่ตัวลำโพงซาวด์บาร์รองที่วางอยู่ด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง (REAR) จะใช้ปรับระดับความดังของลำโพงด้านหลังเท่านั้นเพื่อจูนให้เสียงทั้งหมดมีความกลมกลืนกันตามแต่ระยะนั่งฟัง

นอกจากการเชื่อมต่อทางอินพุต HDMI และ Optical แล้วลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่านสัญญาณบลูทูธ (Bluetooth v4.0) ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อเสียงจากอุปกรณ์พกพาประเภทสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์พกพาสามารถทำให้โดยสะดวก ฟังก์ชั่น AV Sync

ประสิทธิภาพและคุณภาพเสียง
ในโหมดที่ใช้งานเป็นชุดลำโพงซาวด์บาร์ด้านหน้า (โหมด A) อย่าเพิ่งปรามาสว่าเสียงที่ได้จากลำโพงซาวด์บาร์ตัวแค่นี้จะกระหึ่มขนาดไหน จากที่ผมลองฟังมาแล้วบอกได้เลยครับว่า ‘เกินคาด’ ไปมาก มิน่าเล่าทางแอลจีเขาถึงแนะนำให้ใช้กับทีวีขนาด 43 นิ้วขึ้นไปได้สบายๆ

LG SJ7 รองรับระบบเสียงเซอร์ราวน์ทั้ง LPCM, Dolby Digital และ DTS Digital Surround มีโหมดปรับแต่งเสียงเซอร์ราวน์ซึ่งเลือกใช้ได้จากรีโมตคอนโทรล ได้แก่ โหมดเสียงมาตรฐาน (Standard) ซึ่งจะค่อนข้างราบเรียบ เหมาะกับการชมภาพยนตร์ทั่วไปหรือคอนเสิร์ต, โหมดเน้นเสียงทุ้ม (Bass Blast) ที่เน้นความอึกทึกหนักแน่นของเสียงทุ้มเป็นหลัก และโหมดเสียงสำหรับภาพยนตร์ (Cinema) ซึ่งจะให้ความกระหึ่มหนักแน่นของเสียงทุ้มมากกว่าโหมดมาตรฐาน และให้เวทีเสียงที่มีลักษณะกว้างโอบล้อมมากกว่า

หรือถ้าเลือกใช้งานไม่ถูกจะเลือกไปที่โหมด Adaptive Sound Control (ASC) ระบบจะเลือกให้เองว่าเสียงที่เราเปิดฟังอยู่นั้นเหมาะกับโหมดเสียงแบบใด การปรับจูนปริมาณเสียงของลำโพงซาวด์บาร์และลำโพงซับวูฟเฟอร์ (Subwoofer Level Control) สามารถทำได้จากปุ่มกดที่รีโมต นอกจาก Subwoofer Level Control แล้วยังปรับแต่งเสียงทุ้ม-แหลมได้ด้วย (Bass-Treble adjust)

ในส่วนของ Subwoofer Level Control นั้น ผมแนะนำให้เริ่มต้นจากปริมาณน้อยๆ ก่อนครับ เปิดฟังเสียงทั้งชุดในระดับที่ใกล้เคียงกับที่เราจะฟังจริง แล้วคอยจูนเพิ่มเอาทีละน้อยจะทำให้เสียงที่ดีกว่า กล่าวคือ ได้เสียงที่มาครบถ้วนทั้งรายละเอียดและความกระหึ่มหนักแน่น โดยที่ตัวลำโพงไม่ทำงานหนักจนเกินจำเป็น

เสียงที่ได้จาก LG SJ7 ในรูปแบบของลำโพงซาวด์บาร์ด้านหน้าระบบเสียง 2.1 แชนเนล ต้องบอกว่าน่าประทับใจอย่างมาก ผมว่าในระดับราคานี้ หากวัดกันเรื่องคุณภาพเสียงเพียงอย่างเดียวนี่ืคือเสียงที่สร้างความประทับใจให้ผมได้อย่างรวดเร็วและชัดเจนที่สุด เสียงของ LG SJ7 ดูจะห่างไกลจากลักษณะของเสียงที่เน้นความอึกทึก เฟี้ยวฟ้าว เน้นความสะใจ ทว่าฟังไม่สบายหู ฟังได้ไม่นาน เป็นลำโพงซาวด์บาร์ขนาดเล็กที่เปิดได้ดังโดยยังคงคุณภาพเสียงที่ดีเอาไว้ได้

ลองใช้งานกับ TV ขนาด 65 นิ้ว ให้เสียงใหญ่ กระหึ่มสมจริงเกินขนาดภาพบนจอ

และแม้จะเป็นลำโพงขนาดเล็กแต่การใช้ไดรเวอร์หลายตัวทำให้เสียงที่ได้มีมิติแผ่กว้างได้อย่างน่าจะประทับใจ หลายครั้งที่เอฟเฟ็คต์เสียงโอบล้อมมาจนเกือบถึงด้านข้างตำแหน่งที่ผมนั่งชม คำว่าเสียงแบน เสียงลีบ เสียงกระป๋องกระแป๋งเอาเป็นว่าไม่มีในลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้ เว้นเสียแต่คุณจะเอามันไปใช้งานในห้องที่มีขนาดใหญ่โตมีพื้นที่เปิดโล่งมากๆ พลังเสียงของมันก็คงถูกลดทอนลงไปตามขนาดของพืื้นที่ที่เพิ่มขึ้น

ผมได้ทดลองใช้งาน LG SJ7 กับทีวีขนาดใหญ่ถึง 65 นิ้ว (SONY 65A1 และ TCL LED65X3CUS) ในโหมดเสียง CINEMA กับภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ถ้าให้หลับตานั่งฟังและผมไม่เคยเห็น LG SJ7 มาก่อน รับรองว่าผมไม่คิดแน่ๆ ครับว่าเสียงทั้งหมดที่ได้ยินมาจากลำโพงขนาดย่อมแค่ 3 ตัวอย่างนี้ ดังนั้นความเห็นแบบสั้นๆ ตรงไปตรงมาของผม ณ ที่นี้ก็คือ น่าทึ่งมาก มันเป็นประสบการณ์ที่มากกว่าความประทับใจธรรมดาทั่วไปจริงๆ ครับ

การฟังแบบแยกลำโพงด้านหลัง และการฟังแบบลำโพงบลูทูธ
การใช้งานในรูปแบบ C (ตามที่ได้จำแนกไว้ข้างต้น) หรือโหมด ‘REAR’ ที่มีการแยกลำโพงซาวด์บาร์ตัวรองไปทำหน้าที่เป็นลำโพงหลังนั้น แน่นอนว่าจะได้สนามเสียงที่กว้างขึ้น มีความโอบล้อมเลยมาทางด้านหลังตำแหน่งที่นั่งฟังด้วย

แต่ก็ต้องยอมรับว่าสนามเสียงด้านหน้าที่เหลือลำโพงซาวด์บาร์เพียงแค่ตัวเดียวนั้น ก็จะให้สนามเสียงด้านหน้าที่แคบลงกว่าเดิมด้วย ถือว่าเป็นการ trade off กัน แม้ว่าทางเทคนิคแล้วแอลจีจะบอกว่าระบบนี้จะทำงานเป็น 4.1 แชนเนล แต่ 2.0 แชนเนลทางด้านหน้าก็เป็นเสียงสเตริโอที่ ‘แคบลง’ เมื่อเทียบกับการใช้งานในโหมด SOUNDBAR

ดังนั้นโหมด ‘REAR’ นี้ผมว่ามันเหมาะกับการชมคอนเทนต์ประเภทที่ไม่ได้ต้องการสนามเสียงด้านหน้าที่กว้างขวางมากนัก อย่างเช่น คอนเทนต์ประเภทกีฬาซึ่งมีแต่เสียงพากย์ การเพิ่มลำโพงด้านหลังจะทำให้ได้บรรยากาศเสียงคล้ายกับเรากำลังอยู่ในสนามแข่งขันด้วย ก็ฟังเพลินไปอีกแบบครับ

ในโหมด ‘PORTABLE’ ซึ่งแยกเอาตัวลำโพงซาวด์บาร์รองออกมาใช้งานเหมือนลำโพงพกพาทั่วไป เบื้องต้นผมพบว่าด้วยขนาดที่ค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมากเมื่อเทียบกับลำโพงพกพาทั่วไป ทำให้ลำโพง LG SJ7 ไม่เหมาะที่จะใช้งานแบบพกพากันอย่างจริงจัง แต่ถอดไปใช้งานแค่ชั่วครั้งชั่วคราวก็ถือว่าโอเคอยู่

และด้วยความที่เป็นลำโพงประเภทแซทเทิลไลต์ ดังนั้นเสียงที่ได้ในโหมด PORTABLE 2.0 แชนเนล จึงเน้นไปที่เสียงกลางและแหลม โดยมีเสียงทุ้มแค่พอให้มีมวลเสียงเท่านั้นมวลเสียงทุ้มยังสู้ฟังจากลำโพงพกพาเทพๆ หรือลำโพงบลูทูธแบบตั้งโต๊ะหลายตัวไม่ได้ อย่างที่ได้เรียนไว้ล่ะครับว่า LG SJ7 ในโหมดนี้พอจะให้ใช้แทนลำโพงพกพาแก้ขัดได้ คงไม่ตั้งใจออกแบบมาให้ใช้งานในโหมดนี้กันอย่างจริงจังนัก

ความเห็นโดยสรุป
เนื่องจาก LG SJ7 ไม่มีคุณสมบัติในการสตรีมมิ่งหรือการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านระบบเน็ทเวิร์ค (LAN, Wi-Fi) ตามสมัยนิยมเหมือนอย่างลำโพงซาวด์บาร์บางรุ่น เช่น Bluesound Pulse Soundbar, Sony HT-MT500 หรือ Leona SB 5 ซึ่งผมได้รีวิวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นในแง่ของการใช้งานเป็นลำโพงซาวด์บาร์สำหรับฟังเพลงเป็นหลักจึงไม่ใช่สิ่งที่โดดเด่นอะไรมากมายสำหรับ LG SJ7

ทว่าสิ่งที่ลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้ได้แสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์ชัดกับประสาทสัมผัสของผม สามารถชี้ชัดได้ว่าภายใต้งบประมาณหมื่นกลางๆ ลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้จะชนะใจผู้ซื้อที่อยู่ท่ามกลางตัวเลือกมากมายได้อย่างไร คุณสมบัติสำคัญดังกล่าวก็คือ คุณภาพเสียง และ ความยืดหยุ่นในการใช้งาน ประการหลังนี้เป็นอะไรที่หาไม่ได้ในลำโพงซาวด์บาร์ทั่วไปถ้าไม่ใช่ LG Sound Flex!


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร: 0-2878-5757 (ศูนย์บริการข้อมูล)
1-800-545454 (โทรฟรี, เฉพาะเบอร์บ้าน)
ราคา 17,990 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ