fbpx
REVIEW

รีวิว Bluesound : Pulse Soundbar

“World’s First Hi-Res Soundbar” นี่คือนิยามที่ทางบลูซาวด์ ‘Bluesound’ ผู้ผลิตเครื่องเสียงจากประเทศแคนาดามีให้กับ พัลส์ ซาวด์บาร์ ‘Pulse Soundbar’ สินค้ารุ่นใหม่ล่าสุดของพวกเขา

ท่านที่ติดตาม GM2000 หรืองานเขียนรีวิวของผมอยู่แล้วคงทราบดีว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้ายี่ห้อนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น แม้จะแอบแปลกใจเล็กๆ ในทีแรกว่าทำไมถึงเป็นลำโพงซาวด์บาร์ แต่เมื่อได้เห็นคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้าใหม่ตัวนี้แล้วคำถามที่มีในใจก็ค่อยๆ คลี่คลายลงไปเพราะความเป็นบลูซาวด์ที่ผมรู้จักยังคงอยู่เหมือนเดิม… เพิ่มเติมคือการใช้งานที่มากกว่าการฟังเพลง

การออกแบบและงานวิศวกรรม
Pulse Soundbar มาในรูปร่างของลำโพงซาวด์บาร์ที่เราคุ้นเคยกันดี ความเท่แบบเรียบง่ายยังคงปรากฏอยู่เช่นเดียวสินค้ารุ่นอื่นๆ ของบลูซาวด์ การออกแบบในภาพรวมคือการรวมเอาเครื่องเสียงทั้งชุดไปไว้ในลำโพงเพียงชิ้นเดียวเหมือนในรุ่น Pulse 2, Pulse mini และ Pulse Flex สิ่งที่เป็นความแตกต่างคือ Pulse Soundbar มีขนาดใหญ่กว่า มีลำโพงมากกว่า และตั้งใจออกแบบให้ใช้งานร่วมกับทีวีเป็นลักษณะของเครื่องเสียงในชุดโฮมเอ็นเตอร์เทน ตัวเดียวจบครบทั้งดูหนังและฟังเพลง

Pulse Soundbar มีไดรเวอร์ (unit driver) หรือดอกลำโพงทั้งหมด 6 ตัว แบ่งการทำงานเป็นระบบเสียงสเตริโอแยกซ้ายและขวาข้างละ 3 ตัว แต่ละข้างประกอบไปด้วย ทวีตเตอร์ซอฟต์โดมขนาด 19mm (3/4 นิ้ว) มิดเรนจ์ขอบยางกรวยกระดาษเคลือบขนาด 50mm (2 นิ้ว) และวูฟเฟอร์ขอบยางขนาด 102mm (4 นิ้ว) นอกจากนั้นยังมีพาสสีฟเรดิเอเตอร์ช่วยสนับสนุนเสียงในย่านความถี่ต่ำอีก 2 ตัว ทั้งหมดนี้เราจะมองไม่เห็นตัวมันเพราะว่ามันถูกซ่อนอยู่ด้านหลังตะแกรงขึงผ้าเนื้อโปร่งสีดำ มีเพียงคลื่นเสียงเท่านั้นที่แพร่ผ่านออกมาให้เราได้ยิน

ดีไซน์สวยเรียบง่ายและหนักแน่นด้วยบอดี้ที่ทำจากโลหะ

ไดรเวอร์ทั้งหมดขับด้วยภาคขยายเสียงระบบไตรแอมป์แท้ (True tri-amplified) 3 ทาง ใช้ภาคขยายเสียงทั้งหมด 6 แชนเนล กำลังขับรวม 120 วัตต์ นั่นหมายความว่าไดรเวอร์แต่ละตัวจะมีภาคขยายเสียงของมันเองแยกอิสระ ลดปัญหาการรบกวนกันหรือการดึงกำลังซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากลำโพงทั้ง 6 ตัวในตัวแล้ว Pulse Soundbar ยังเปิดโอกาสให้สามารถเพิ่มลำโพง sub-woofer มาใช้ร่วมกันได้ด้วย โดยอาศัยขั้วต่อ ‘SUBW OUT’ (ขั้วต่อ RCA) ที่ด้านหลังตัวซาวด์บาร์ หรือจะเลือกใช้ลำโพง sub-woofer ไร้สายของบลูซาวด์เองก็ได้เช่นกัน

ในด้านของการเชื่อมต่อ Pulse Soundbar มีทั้งอินพุตอะนาล็อก AUDIO IN (Stereo RCA) และอินพุตดิจิตอล OPTICAL IN เหมือนลำโพงซาวด์บาร์ส่วนใหญ่ แต่ที่แตกต่างออกไปคือ Pulse Soundbar จะมีการเชื่อมต่อผ่านระบบ network ที่ทำงานด้วย BluOS ในรูปแบบของ Multi-room Music Streaming เหมือนในสินค้ารุ่นอื่นๆ ของบลูซาวด์พ่วงมาด้วย

โดยสามารถเชื่อมต่อได้ทั้งระบบ LAN และ WLAN (Wi-Fi) รวมถึงการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณบลูทูธ ทำให้ในภาพรวมจะเรียกว่านี่คืออีกหนึ่งสินค้าในตระกูล network audio ของบลูซาวด์ที่มาในรูปแบบของลำโพงซาวด์บาร์นั่นเอง

สำหรับการควบคุมสั่งงานเกือบทั้งหมดจะเป็นแบบสั่งงานผ่านแอปฯ ‘BluOS’ ในแท็ปเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเช่นเดียวกับสินค้ารุ่นอื่นๆ ของบลูซาวด์ ดังนั้นที่ตัว Pulse Soundbar เองจึงไม่มีจอแสดงผลหรือปุ่มควบคุมสั่งงานใดๆ นอกเหนือไปจากไฟแสดงผลรูปวงกลมที่ด้านหน้าลำโพงและปุ่ม standby ที่ด้านหลังลำโพง

สิ่งที่เป็นไปตามคาดและสิ่งที่ผิดคาด
การใช้งานลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพก็ไม่ต่างจากการใช้งานเครื่องเสียงรุ่นอื่นๆ ของบลูซาวด์นั่นคือเชื่อมต่อมันเข้ากับระบบ network ภายในบ้าน ผมคาดหวังว่า Pulse Soundbar จะติดตั้งและใช้งานได้ง่ายเหมือนกับเครื่องเสียงรุ่นอื่นๆ ของบลูซาวด์ แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ผมใช้เวลาเพียง 2-3 นาที ในการใช้แอปฯ BluOS ในสมาร์ทโฟนเชื่อมต่อ Pulse Soundbar กับสัญญาณ Wi-Fi ที่ใช้งานอยู่รวมถึงการเรียนรู้ฟังก์ชั่นต่างๆ และการควบคุมสั่งงานลำโพงซาวด์บาร์ตัวนี้ นี่ไม่ใช่เพราะว่าผมมีความรู้ความชำนาญมากเป็นพิเศษแต่อย่างใด ผมคิดว่าเป็นเพราะกระบวนการเหล่านี้ถูกออกแบบให้ ‘ง่าย’ และ ‘เป็นขั้นเป็นตอน’ อยู่แล้วตั้งแต่เปิดกล่องออกมา

ตัวลำโพงมาพร้อมกับอุปกรณ์มาตรฐานอาทิ สายไฟเอซี, สายสัญญาณอะนาล็อก, สาย Ethernet, ขาตั้ง kickstand สำหรับค้ำด้านหลังลำโพงให้วางบนพื้นราบได้ (มีลักษณะเป็นแท่งเสียบเข้าด้านหลังลำโพง), ขาเพิ่มความสูงของขาตั้ง และชุดยึดสำหรับแขวนลำโพงไว้บนฝาผนัง ก็เรียกว่าให้มาเกือบครบถ้วนพร้อมใช้งานเลยทีเดียว แต่ผมแอบประหลาดใจเล็กๆ ที่ไม่มีสาย Optical ให้มาด้วย

ขาตั้งเล็กๆ ด้านหลังที่ช่วยให้ Pulse Soundbar สามารถวางบนพื้นเรียบๆ ได้

สิ่งที่ Pulse Soundbar ทำให้ผมประหลาดใจมากกว่านั้นคือตัวลำโพงที่มีน้ำหนักและความแน่นหนาที่ไม่ธรรมดาเลย เชื่อว่าใครที่ได้สัมผัสเหมือนผมก็คงมีความเห็นไม่ต่างกัน ลำโพง Pulse Soundbar แตกต่างจากลำโพงซาวด์บาร์ทั่วๆ ไปชนิดที่พูดได้ว่าเป็นของคนละเกรด

ตัวตู้ลำโพงสีดำที่เห็นนั้น “ทำจากโลหะอะลูมิเนียมเนื้อแน่น” ซึ่งนอกจากจะมีส่วนทำให้ตัวตู้ลำโพงที่มีความแข็งแกร่งตามแนวคิดของลำโพงระดับไฮเอ็นด์แล้ว วัสดุอะลูมิเนียมยังมีส่วนช่วยทำหน้าที่ระบายความร้อนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ข้างในไปด้วยในตัว

ผมเคยคิดเอาเองว่า Pulse Soundbar ก็คงแค่ลำโพงฟังเพลงแบบแอคทีฟที่ทำรูปร่างหน้าตาให้เหมือนกับลำโพงซาวด์บาร์เพื่อเหตุผลในเชิงพาณิชย์ แต่หลังจากที่ได้ฟังเสียงของมันแล้วผมก็ต้องหยุดความคิดของตัวเองเอาไว้ทั้งหมดแล้วหันมาพิจารณาลำโพงซาวด์บาร์คู่นี้อีกทีโดยปราศจากอคติ

ขั้วต่อทั้งหมดของ Pulse Soundbar วางแอบเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ด้านหลัง

ในแอปฯ BluOS ผมสามารถเลือกโหมดเสียงให้ Pulse Soundbar ทำงานในโหมด TV, MUSIC หรือ MOVIE อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในแต่ละโหมดผมสามารถตั้งค่าพารามิเตอร์ให้เสียงออกมาแตกต่างกันได้ เช่น การเลือกความกว้างของเสียง (Wide Mode), การเน้นเสียงสนทนา (Enhanced Dialog), การเพิ่มเสียงความถี่ต่ำลึก (Deep Bass), การตั้งค่าเลือกใช้งานร่วมกับลำโพง subwoofer รวมถึงตัวเลือกปลีกย่อยอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

GM2000 LIVE! Unbox & Preview : Bluesound Pulse SoundbarGM2000 LIVE! Unbox & Preview : Bluesound Pulse Soundbar

Posted by AV Tech Guide on Tuesday, July 25, 2017

 

เมื่อตั้งค่าให้เหมาะสมแล้วผมมีความเห็นว่า Pulse Soundbar มิได้มีจุดเด่นหรือจุดด้อยไปกว่ากันเลยไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในลักษณะของลำโพงสำหรับฟังเพลงหรือโพงสำหรับการรับชมภาพยนตร์ ในโหมดฟังเพลงมันให้เสียงที่มีรายละเอียดและความรื่นรมย์น่าฟังไม่เป็นรองไฮไฟซิสเตมหรือลำโพงไฮไฟแยกชิ้นใดๆ ในพิกัดขนาดใกล้เคียงกัน อย่าลืมว่านี่คือลำโพงซาวด์บาร์ 3 ทางระบบไตรแอมป์ที่ทุกอย่างล้วนแล้วแต่แมตช์กันมาตั้งแต่กำเนิด

สำหรับในโหมดชมภาพยนตร์ ผมทึ่งมากที่เสียงจากวูฟเฟอร์ขนาด 4 นิ้วใน Pulse Soundbar ให้ความหนักแน่นของเสียงทุ้มออกมาได้ดีเกินคาด ดีจนผมสงสัยว่าการเพิ่ม subwoofer ให้กับลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเสมอไป แค่กดใช้ฟังก์ชั่น Deep Bass ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันครับแต่มันก็ทำให้ผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ

เมื่อใช้งานในโหมด TV และ MOVIE
หากจะใช้ Pulse Soundbar ร่วมกับจอทีวีเรื่องแรกที่ต้องพิจารณาก่อนเลยก็คือ จะจัดวางกันอย่างไร? เนื่องจากตัว Pulse Soundbar เองมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่และหนักเอาเรื่อง หากไม่แขวนผนังก็ต้องใส่ขาตั้ง kickstand วางเอาไว้ใต้จอทีวี ซึ่งก็อาจจะพบกับอีกหนึ่งปัญหานั่นคือตัวลำโพงจะบังขอบล่างของจอทีวี ถ้าพบปัญหานี้ผมเห็นว่าทางบลูซาวด์เขาก็แนะนำให้ใช้ชุดยึดอีกแบบหนึ่งที่สามารถยึดได้ทั้งตัวทีวีและตัวลำโพง โดยตัวลำโพงจะเกาะอยู่ใต้จอทีวีอีกที

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือชั้นวางทีวีหรือชั้นวางที่จะใช้วางตัวลำโพง Pulse Soundbar นั้นอาจจะจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่และแข็งแรงพอสมควร เพราะในขณะที่ลำโพงทำงานนั้นมันจะเกิดแรงสั่นสะเทือนที่ตัวตู้ค่อนข้างมากเนื่องจาก Pulse Soundbar เป็นลำโพงที่เปิดได้ค่อนข้างดังโดยที่สุ้มเสียงยังไม่เพี้ยน ครั้งหนึ่งในระหว่างการทดสอบใช้งานผมต้องมานั่งค้นหาต้นตอของเสียงสั่นประหลาดๆ ในขณะที่ลำโพงเปล่งเสียงความถี่ต่ำออกมา

หลังจากพิสูจน์ทราบแล้วว่าเสียงนั้นไม่ได้มาจากตัวลำโพงแน่นอน และแล้วผมก็ค้นพบว่าสาเหตุมาจากแหวนยึดเดือยแหลมที่ใช้รองระหว่างชั้นวางแต่ละชั้นตัวหนึ่งเกิดการหลวมคลอน ต้องทำการขันยึดให้เข้าที่เข้าทางเสียงประหลาดนั้นจึงจะหายไป ในโหมดนี้ผมมีโอกาสได้ลองใช้งาน Pulse Soundbar กับ 4K ทีวีขนาด 49 นิ้วของ TCL โดยการต่อสาย Audio Out ออกมาเข้าที่อินพุตสัญญาณอะนาล็อกของ Pulse Soundbar แล้วยังได้ลองใช้งานกับ OLED 4K TV ขนาด 65 นิ้วรุ่นล่าสุดของ LG โดยการเชื่อมต่อด้วยสาย Optical

อย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นว่าเสียงจากลำโพง Pulse Soundbar เพียงลำพังทำให้ผมเกิดลังเลว่า subwoofer อาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไปโดยเฉพาะในห้องที่มีพื้นที่ไม่กว้างขวางมากนัก (ไม่เกิน 3×5 หรือ 4×6 เมตร) แต่ถ้าหากคุณมี subwoofer อยู่แล้วก็น่าลองเอามาต่อเพิ่มนะครับ

โหมดปรับเสียงในแอปฯ BluOS ที่มาพร้อมกับ Pulse Soundbar

นอกจากเรื่องของความกระหึ่มแล้ว ด้านมิติเสียงและรายละเอียดระบบปรับแต่งเสียงด้วย DSP ในลำโพง Pulse Soundbar จะมีส่วนช่วยอย่างมาก ในโหมด TV ผมปรับโหมดเสียงกว้างไปที่ ‘WIDE’ และเปิดโหมดเน้นเสียงสนทนา เสียงที่ได้คงไม่ต้องย้้ำว่าเหนือกว่าลำโพงของทีวีเองแบบคนละเรื่อง เหนือกว่าทั้งในแต่ของคุณภาพเสียงและระดับความดัง ไม่ว่าจะเปิดเบาหรือดังก็ฟังดีกว่ากันเยอะ ลำโพง Pulse Soundbar ให้มวลเสียงมีเนื้อและมิติที่ดีกว่ากันอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรายการทีวีประเภทที่มีการเล่นดนตรีหรือการร้องเพลง ฟังเสียงจาก Pulse Soundbar แล้วลืมเสียงจากลำโพงในทีวีไปได้เลยครับ (ขนาดลำโพงในทีวี LG รุ่นนี้ว่าเสียงดีมากแล้วก็ตาม) ในโหมด MOVIE ผมปรับโหมดเสียงกว้างไปที่ ‘WIDER’ (เสียงกว้างที่สุด), เปิดโหมดเน้นเสียงสนทนา และเปิดใช้งานโหมดเพิ่มเสียงทุ้มลึก

นี่เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าเสียงที่ได้จากตัวลำโพง Pulse Soundbar เพียงลำพังไม่ได้ทำให้อรรถรสในการชมภาพยนตร์ลดน้อยลงไปเลย เช่น ฉากปะทะกันด้วยปืนในตอนต้นของภาพยนตร์เรื่อง Batman The Dark Knight หรืออีกหลายๆ ฉากในแผ่น Bluray UHD เรื่อง Batman v Superman: Dawn of Justice ก็ให้อารมณ์ความระห่ำออกมาได้อย่างดุดันเกินคาด การตอบสนองต่อเสียงมีความรวดเร็ว ฉับไวและหนักแน่น เช่นเดียวกับในตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Dunkirk ที่ผมได้เปิดชมจาก Youtube ผ่าน Google Chromecast ในบางช่วงผมได้ยินเสียงความถี่ต่ำกระแทกกระทั้นเสียจนไม่อยากจะเชื่อว่านี่คือเสียงที่มาจากไดรเวอร์ที่มีขนาดเพียงแค่ 4 นิ้วเท่านั้น

ขณะใช้งานร่วมกันกับ 4K OLED TV ขนาด 65 นิ้วรุ่นใหม่ล่าสุดของ LG

ในแง่ของมิติเสียงและความโอบล้อมต้องเรียนตามตรงว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเท่านั้น คือเป็นเสียงที่กว้าง กว้างมาก กว้างกว่าลำโพงซาวด์บาร์ตัวเล็กๆ อย่าง JBL Cinema SB150 ที่ผมรีวิวไปก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน แต่ความโอบล้อมของมิติเสียงยังไม่ถึงกับทำให้หูผึ่งได้อย่างตอนที่ผมได้ยินจาก Bose SoundTouch 300

ในภาพรวมสำหรับการใช้งานลำโพง Pulse Soundbar ในโหมด ‘TV’ และ ‘MOVIE’ ต้องถือว่าทางบลูซาวด์ทำการบ้านมาได้ดี และสามารถจูนให้ลำโพงที่มีพื้นฐานมาจากลำโพงสำหรับเสียงดนตรีสามารถใช้งานเป็นชุดโฮมซินีม่าได้อย่างไม่ขัดเขิน ผมใคร่ขอเรียนย้ำอีกทีว่า อย่าเพิ่งมั่นใจว่าลำโพงในตัวทีวีของคุณ (ไม่ว่าจะเป็นทีวีในระดับใด) เสียงดีพอแล้ว ถ้าหากยังไม่ได้ลองฟังลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้

เมื่อใช้งานในโหมด MUSIC
หลังจากที่ได้ฟังเสียงของ Pulse Soundbar ผมว่าลำโพงชุดนี้ถูกจูนสมดุลเสียงมาได้ดีนะครับ ทำให้เวลาฟังเพลงผมจะกดเลือกโหมด ‘MUSIC’ ในแอปฯ BluOS ซึ่งตั้งค่าเอาไว้ไม่ให้ใช้งาน (OFF) ทั้งโหมดเสียงกว้าง, โหมดเน้นเสียงสนทนา และโหมดเพิ่มเสียงทุ้มลึก

ในโหมดนี้ผมฟังเสียงของ Pulse Soundbar ผ่านการเชื่อมต่อ 2 รูปแบบด้วยกันคือ Bluetooth และ WLAN network รูปแบบแรกเน้นความสะดวกง่ายดาย ส่วนรูปแบบหลังนั้นให้ได้ทั้งคุณภาพเสียงและความคล่องตัวดีกว่า เพราะมันรองรับทั้งการสตรีมสัญญาณ Hi-Res Audio (สูงสุด 24bit/192kHz), สัญญาณเสียงในฟอร์แมต MQA และการสตรีมจากผู้ให้บริการเพลงออนไลน์คุณภาพสูงระดับแนวหน้าอย่างเช่น TIDAL นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้งานในระบบมัลติรูมได้ด้วยในกรณีที่คุณมีเครื่องเสียงของบลูซาวด์มากกว่า 1 ชุดเชื่อมต่ออยู่ในระบบ network เดียวกัน

การควบคุมสั่งงานก็ใช้แอปฯ BluOS ในสมาร์ทโฟนแทนรีโมตคอนโทรล ล่าสุดทางบลูซาวด์ยังได้อัพเดทเฟิร์มแวร์ใหม่ให้รองรับแอปฯ เล่นเพลงชื่อดังอย่าง roon หรือที่เรียกว่า ‘roon ready’ เพื่อใช้งาน เป็น Network DAC สำหรับแอปฯ roon ดังนั้นใครที่มี roon ใช้งานในคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว อย่าลืมเข้าไปตั้งค่าเอาต์พุตของ roon ให้มองเห็น Pulse Soundbar เป็น DAC ตัวหนึ่งด้วยนะครับ

Pulse Soundbar ในโหมดฟังเพลงเมื่อใช้งานร่วมกับแอปฯ roon ในคอมพิวเตอร์

ในด้านการใช้งานแบบฟังเพลง ผมชื่นชมลำโพงชุดนี้ในแง่ของเสียงที่สะอาด มีรายละเอียดและบุคลิกลักษณะเสียงที่เปิดเผยโดยที่ยังไม่สูญเสียสมดุลของเสียงตลอดทั้งย่านความถี่ไป เสียงทุ้มเป็นไปในลักษณะการถ่ายทอดรายละเอียดและน้ำหนักเสียงที่ดี อาจจะไม่ถึงกับสะใจคนที่หลงใหลในเสียงทุ้ม แต่มั่นใจได้ว่าเสียงสุ้มเสียงไม่บอบบางแน่นอน

ส่วนรายละเอียดในย่านความถี่เสียงกลางนั้นมีลักษณะผ่อนคลายมากกว่ารุกเร้าดุดัน เด่นที่ย่านเสียงกลางต่ำ ทำให้ในภาพรวมเป็นลำโพงที่ให้เสียงเปิดเผยแบบฟังสบายมากกว่ารุกเร้าดุดัน สำหรับในย่านความถี่สูงมีบุคลิกใกล้เคียงกับย่านความถี่เสียงกลางของมันเองมากแต่จะมีดีกรีความเข้มข้นชัดเจนมากกว่าเล็กน้อยพอเป็นสีสันให้ลำโพงชุดนี้ฟังเพลงได้หลากหลายแนว ไม่ใช่ลำโพงที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยเสียจนจืดชืดเกินไป

ทั้งหมดนี้ทำให้การฟังเพลงผ่านลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้มีเสน่ห์เหนือชั้นกว่าลำโพงซาวด์บาร์ทั่วๆ ไป ถ้าไม่นับเรื่องความกว้างและระนาบตื้นลึกของระบบเสียงสเตริโอที่ลำโพงแยกชิ้นซ้าย-ขวาทำได้ดีกว่าเพราะด้วยลักษณะทางกายภาพแล้ว ผมว่า Pulse Soundbar ให้เสียงไม่ได้เป็นรองลำโพงแอคทีฟแยกชิ้นแบรนด์เนมที่อยู่ในพิกัดราคาใกล้เคียงกันเลย

อย่าเพิ่งเชื่อผมแต่คุณควรลองหาโอกาสพิสูจน์ด้วยหูของตัวเอง เท่าที่ผมได้ลองฟังลำโพง Pulse Soundbar มันเข้ากับดนตรีได้แทบทุกแนว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเครื่องเสียงทุกรุ่นของทางบลูซาวด์ และแม้ว่าชื่อรุ่น Pulse Soundbar จะทำให้นึกถึงชุดเครื่องเสียงสำหรับโฮมเธียเตอร์เสียมากกว่า แต่สิ่งที่ลำโพงชุดนี้ได้เรียงร้อยและถ่ายทอดเป็นเสียงออกมาตลอดการรีวิวนี้ได้ทำการพิสูจน์คุณสมบัติที่แท้จริงของลำโพงชุดนี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่โสตประสาทของผมแล้ว

นอกจาก roon ready แล้ว เมื่อสตรีมเพลงจาก TIDAL ตัว Pulse Soundbar
ก็ยังรองรับ MQA เหมือนกันกับเครื่องเสียงรุ่นอื่นๆ ของบลูซาวด์

ดังนั้นหากจะมีใครสักคนที่ตั้งคำถามว่าลำโพง Pulse Soundbar เหมาะกับการใช้งานในชุดดูหนังหรือชุดฟังเพลง คำตอบของผมคือ มันทำได้ดีทั้งคู่ครับ ดีในที่นี้ไม่ใช่แค่พอใช้หรือพอรับได้ แต่ดีในระดับที่พูดได้ว่าคุ้มค่าเลยล่ะครับ

ช่วงท้ายของการลองใช้งานสำหรับรีวิวนี้ผมมีโอกาสได้ลองใช้งานลำโพง Pulse Soundbar ในโหมด roon ready ร่วมกับแอปฯ เล่นเพลง roon ในคอมพิวเตอร์ (อ่อ แอปฯ roon นี่ไม่ได้แถมมากับลำโพง Pulse Soundbar นะครับ ต้องซื้อใช้ต่างหากเอาเองครับ) เพียงแค่เปิดแอปฯ roon ขึ้นมาในคอมพิวเตอร์ตั้งค่า Audio เลือกให้ลำโพง Pulse Soundbar เป็นเอาต์พุตของ roon เพียงเท่านี้ ลำโพง Pulse Soundbar ก็กลายเป็น DAC ตัวหนึ่งที่เชื่อมต่อผ่านระบบ network

เมื่อเล่นเพลงจาก roon แล้วเลือกใช้งานเอาต์พุตนี้ เสียงก็จะมาออกที่ลำโพง Pulse Soundbar ในเมนูของแอปฯ BluOS เองก็จะมีสัญลักษณ์ของ roon โผล่ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งอินพุตในเมนูทางด้านซ้ายมือด้วยครับ

การเล่นในโหมดนี้ไม่เพียงทำให้คนที่ใช้แอปฯ roon ได้ประโยชน์จากการใช้งานลำโพง Pulse Soundbar เท่านั้น แต่ยังทำให้เครื่องเสียงของบลูซาวด์ซึ่งโดยปกติจะไม่สามารถเล่นไฟล์ฟอร์แมต DSD ได้เลย (ในแอปฯ BluOS จะไม่รู้จักไฟล์ DSD เลยด้วยซ้ำ) สามารถเล่นไฟล์ฟอร์แมต DSD ได้แล้ว โดยการเล่นจาก roon แล้วให้ roon แปลงจาก DSD เป็น PCM (อัตโนมัติ) ก่อนจะส่งออกมาทางระบบ network ให้ลำโพง Pulse Soundbar ทำการถอดรหัสเสียง PCM ด้วย DAC ในตัวของมันเองอีกที ออปชั่นนี้ถือว่าคุ้มมากครับสำหรับคนที่ใช้งานแอปฯ roon อยู่

คำตอบของสมาร์ทซาวด์บาร์คุณภาพเกินคุ้ม
โดยส่วนตัวผมมักจะนิยามเครื่องเสียงของยี่ห้อบลูซาวด์ว่าเป็นเครื่องเสียงที่ ‘ล้าสมัยไม่เป็น’ นั่นเพราะว่าเครื่องเสียงยี่ห้อนี้ทำงานด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในอัตราส่วนที่สูสีกัน จึงทำให้มันสามารถ ‘อัพเกรด’ หรือปรับปรุงคุณสมบัติและความสามารถได้ด้วยการ ‘update firmware’ คล้ายคลึงกับการทำงานของสมาร์ทโฟนสมัยใหม่

ซึ่งที่ผ่านมาเครื่องเสียงของยี่ห้อนี้ก็เป็นเช่นนี้เสมอมา อย่างเครื่องเสียงบลูซาวด์เจนเนอเรชั่นแรกที่่ออกมาเมื่อ 2-3 ปีก่อนทราบว่าทุกวันนี้ยังอัพเดทเพิ่มความสามารถได้อยู่เลยครับ เช่นเดียวกันกับ Bluesound Node 2 ที่ผมใช้งานอยู่ รวมถึงลำโพง Bluesoud Pulse Soundbar ชุดนี้

ในแง่ของความเห็นที่มีต่อประสิทธิภาพการใช้งาน ลำโพง Bluesoud Pulse Soundbar ไม่ได้มีดีแค่ฟังก์ชั่นแต่มันมีคุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยมอีกต่างหากทั้งในแง่ของการใช้งานในระบบเสียงสำหรับภาพยนตร์และดนตรี เป็นลำโพงที่ให้เสียงได้เกินตัวทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ

เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของลำโพงซาวด์บาร์สมัยใหม่ที่ทำให้การรวมชุดดูหนัง-ฟังเพลงอย่างเรียบง่ายเอาไว้ในชุดเดียวกันสามารถเป็นไปได้ภายใต้งบประมาณที่เกินคุ้ม ใครที่กำลังมองหาเครื่องเสียงที่ตอบโจทย์เช่นนี้ ผมขอแนะนำ Bluesoud Pulse Soundbar เป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับต้นๆ ครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 0-2276-9644
ราคา 39,100 บาท (ราคาพิเศษ)

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ