fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

ลองใช้งาน Huawei nova 4 “อีกครั้งที่ได้เห็นนวัตกรรมในสมาร์ทโฟนระดับกลาง”

จากที่ได้ตามสมาร์ทโฟน nova series ของ Huawei มาตั้งแต่ nova 2i ซึ่งชัดเจนว่าเป็นสมาร์ทโฟนในกลุ่มราคาย่อมเยาที่พยายามนำเสนอเทคโนโลยีล้ำ ๆ ในงบประมาณที่ไม่โหดร้ายมากนัก ถัดมาในรุ่น nova 3e, nova 3i และ nova 3 ก็ชัดเจนว่าหัวเว่ยเริ่มแตกหน่อทางเลือกของ nova series ให้หลากหลายมากขึ้น

มีความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ว่าหัวเว่ยพยายามยกสถานะของ nova series โดยเฉพาะในรุ่นที่ไม่มีตัวอักษรภาษาอังกฤษห้อยท้ายเช่น nova 3 ให้มีความทัดเทียมรุ่นเรือธงของเขามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากส่วนของดีไซน์ ชิปเซ็ตที่เลือกใช้ หรือประสิทธิภาพของกล้องถ่ายรูป ล้วนแล้วแต่ทอนมาจากรุ่นเรือธงของเขาทั้งสิ้น

แล้วความรู้สึกนั้นก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ผมได้ลอง Huawei nova 4 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกของหัวเว่ยที่มีหน้าจอใหญ่โตเกือบเต็มพื้นที่ขนาดตัวเครื่อง เว้นไว้เพียงรูเล็ก ๆ ที่มุมด้านบนหน้าจอสำหรับกล้องเซลฟี่ เทคโนโลยีจอแบบนี้ทางหัวเว่ยเรียกมันว่า ‘Punch Display’ ซึ่งผมคงไม่ต้องอธิบายซ้ำ ณ ที่นี้ว่ามันคืออะไร เพราะท่านสามารถคลิกตามลิงก์เข้าไปอ่านเอาสาระได้เลยครับ

“นี่มันน้อง ๆ เรือธงเลยนี่หน่า”
จากสัมผัสแรกสิ่งที่ผมรู้สึกกับ nova 4 มันคล้ายกับตอนที่ผมได้ลอง nova 3 เมื่อปีที่แล้ว มันให้ความรู้สึกที่ดูคล้ายมือถือระดับเรือธงมากกว่ามือถือที่มีเรื่องของต้นทุนมาเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยในการออกแบบ

แน่นอนว่าจุดเด่นที่สุดคือจอ Punch Display ที่ดูทันสมัย โดดเด่น ในขณะเดียวกันก็ดูแปลกตา แม้ไม่ใช่จอแบบ OLED เหมือนที่นิยมใช้ในมือถือรุ่นเรือธงยุคนี้ แต่ก็เป็นจอ LTPS IPS LCD คุณภาพดีเหมือนกับรุ่นพี่อย่าง P20

ขณะเดียวกันหน้าจอ 6.4 นิ้ว ความละเอียดระดับ Full HD+ ของ nova 4 ซึ่งพูดได้ว่าให้ภาพใหญ่เต็มตาน้อง ๆ แท็บแล็ตขนาดเล็กแล้ว ยังมาในตัวเครื่องที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตเทอะทะเสียจนใช้งานลำบากเกินไป

ตินิดเดียวว่าสีสันของจอยังค่อนข้างดูสดใสเกินความเป็นธรรมชาติไปหน่อย ใช้ดูหนังเล่นเกม ใช้งานทั่วไปคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะใช้แต่งภาพ สร้างสรรค์งานอาร์ตเวิร์คอย่าลืมระวังและชดเชยสิ่งที่มองเห็นบนจอของ nova 4 และที่แสดงผลบนหน้าจอมอนิเตอร์อื่นที๋เชื่อถือได้มากกว่าด้วยนะครับ

ด้านพลังการประมวลผลคงไม่ต้องบอกว่ามันทำได้ดีแค่ไหน เพราะมันหยิบเอาชิป Kirin 970 ที่ใช้งานอยู่ใน Mate 10 Pro และ P20 Pro มาใช้ แถมด้วยระบบปฏิบัติการล่าสุดอย่าง EMUI 9.0 ที่ครอบอยู่บน Android 9 แถมด้วย หน่วยความจำ RAM ระดับ 8GB ความจุข้อมูลในตัวก็ไม่ได้น้อยหน้ากันเพราะให้มาตั้ง 128GB (เยอะกว่าที่อยู่ในคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าที่บ้านหรือที่ทำงานของบางท่านเสียอีก จริงไหมครับ)

ผมว่าแค่นี้คนใช้มือถือเรือธงหลายรุ่นเห็นแล้วต้องแอบริษยาเบา ๆ อยู่บ้างล่ะครับ เคยมีบ่อยซะที่ไหนล่ะครับที่ก็มือถือระดับกลาง ๆ แต่ให้ของมาแบบจัดเต็ม ใจป้ำกว่ารุ่นเรือธงก่อนหน้าที่ยังไม่ตกรุ่นดีเสียอีก

ภาพถ่าย Night Mode จาก Huawei nova 4

อีกส่วนที่ว่าหัวเว่ยเขาน่าจะยกของรุ่นเรือธงมาใช้ดื้อ ๆ เกือบทั้งหมดเลยก็คือกล้อง ใน nova 4 โดยให้กล้องหลังมาตั้ง 3 ตัว มีเลนส์ ultra wide 16MP f/2.2 มุมกว้าง 117 องศา, เลนส์ normal wide 20MP f/1.8 และ 2MP Bokeh Camera สำหรับประมวลผลเวลาถ่ายภาพให้ดูมีระบชัดตื้น ชัดลึกแตกต่างกัน หรือที่เรียกกันแบบง่ายว่า รูปแบบหน้าชัดหลังเบลอ นั่นแหละครับ

สำหรับกล้องเซลฟี่หรือกล้องหน้าก็เป็นกล้องความละเอียด 25 MP, f/2.0 ที่หายอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับรุ่นเรือธงของเขาเอง เท่าที่นึกออกแบบเร็ว ๆ โดยไม่ต้องไปหาดูสเปคฯ ก็คงมีแค่โลโก้ Leica นี่แหละครับ

เหตุผลที่ผมจะซื้อหรือไม่ซื้อ nova 4 มาใช้ส่วนตัว
ก่อนอื่นต้องบอกว่าจากที่ได้ลองเล่น ลองใช้งานมาระยะเวลาหนึ่ง Huawei nova 4 ทำหน้าที่ทั่วไปในแง่ของการเป็นสมาร์ทโฟนได้อย่างดี

การให้หน่วยความจำ RAM มามากกว่าปกติของสมาร์ทโฟนในรุ่น 1-2 ปีก่อน มีส่วนช่วยให้การใช้งานมีความลื่นไหล ฉับไวมากยิ่งขึ้น กล้องถ่ายรูปทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะการถ่าย Night Mode

ตัวอย่างภาพถ่ายอื่น ๆ จาก Huawei nova 4

แน่นอนว่าในถาพรวมมันยังไม่ใกล้เคียงรุ่นพี่อย่าง P20 Pro หรือ Mate 20 Pro แต่ก็ยังถือว่าโดดเด่นในระดับราคานี้ (หมื่นกลาง ๆ)

อย่างไรก็ดี การที่ nova 4 มาพร้อมกับชิปเซ็ตที่เคยทำหน้าที่อยู่ในระดับเรือธง ทำให้ฟีเจอร์เด่นหลายอย่างก็ติดตัวมันมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น การรองรับบลูทูธ aptX HD (อันนี้ถูกใจมาก เป็นการส่วนตัว)

หรือจะเป็นการเชื่อมต่อ Wi-Fi ac แบบ High Speed รวมทั้ง การใช้ storage ความเร็วสูง UFS 2.1 ทำให้มันเป็นสมาร์ทโฟนระดับกลางที่ทำอะไรก็รวดเร็วฉับไวไปหมด

ผมถามตัวเองว่าแล้วจะมีเหตุผลอะไรที่ผมจะมองข้ามสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ ประการแรกอันนี้เป็นเรื่องสามัญทั่วไป หากเป้าหมายหรืองบประมาณของผมไม่ได้อยู่ในช่วงราคาของ nova 4 ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสามัญทั่วไป

ประการที่สองคือ มันเป็นสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่ไม่สามารถเพิ่มเมมมอรี่ได้ เรื่องนี้ผมจริงจังพอสมควรเพราะสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ส่วนใหญ่สามารถลงแอปฯ เล่นเพลงดี ๆ เช่น USB Audio Player Pro แล้วใช้มันเป็นเครื่องเล่นเพลงพกพาชั้นดีได้

โดยผมเอาไฟล์เพลงทั้ง lossless และ hi-res audio ที่คัดสรรแล้วใส่ไว้ในเมมมอรี่เสริม microSD card ซึ่งโดยมากจะมีความจุอย่างน้อย 128-256GB ดังนั้นลำพังแค่ storage ในตัวของ nova 4 จึงไม่ตอบโจทย์การใช้งานในลักษณะนี้ของผมเลย

ดังนั้นถ้าคุณไม่ได้ติดเงื่อนไขส่วนตัวแบบผม คงพอทราบแล้วนะครับว่าสมาร์ทโฟนหน้าจอมีรูรุ่นนี้มีของดีติดตัวมามากแค่ไหน จากราคาที่เปิดตัวมาถือว่าคุ้มครับ ถ้ายิ่งได้ราคาโปรโมชั่นก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีกครับ

 

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ