fbpx
EXPERIENTRECOMMENDEDREVIEW

LOG Audio VIVANT ลำโพงคู่ละล้านสอง ลองแล้วให้ประสบการณ์อะไรบ้าง ?

หลังจากเปิดตัวในตลาดเครื่องเสียงบ้านเราอย่างเป็นทางการไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุดทางอัศวโสภณ ตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียง LOG Audio ได้นำเข้าลำโพงตัวรองท็อปรุ่น VIVANT (วีวองต์) ราคาคู่ละ 1,150,000 บาท เข้ามาให้ลองฟังกันแล้วที่โชว์รูมบริษัท อัศวโสภณ สาขาสยาม พารากอน

เมื่อทราบข่าวผมก็ได้ติดต่อนัดหมายเพื่อเข้าไปลองฟัง ซึ่งทางโชว์รูมก็ได้อำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี

รู้จัก LOG Audio VIVANT
LOG Audio นั้นนอกจากจะเป็นแบรนด์ใหม่สำหรับตลาดเครื่องเสียงไฮเอนด์ในบ้านเราแล้ว ราคาและดีไซน์ของลำโพงอย่าง VIVANT นั้นอาจทำให้คนที่ยังคุ้นเคยกับเครื่องเสียงยี่ห้อดัง และรูปแบบของเครื่องเสียงระบบแยกชิ้น อาจมองข้ามลำโพงรุ่นนี้ไปได้

ดังนั้นก่อนจะเล่าประสบการณ์ของผมกับลำโพงราคาเรือนล้านคู่นี้ ผมจึงอยากพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับตัวตนของลำโพงคู่นี้แบบคร่าว ๆ พอสังเขป

At showroom preview LOG Audio VIVANT
หลักการออกแบบลำโพงระบบแอคทีฟอย่างคร่าว ๆ ของ LOG Audio

ด้วยความที่ LOG Audio VIVANT เป็นลำโพงแบบแอคทีฟสมัยใหม่ที่ได้ผนวกรวมส่วนประมวลผลสัญญาณดิจิทัล (LOG AudioEngine), ส่วนแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะล็อก (DAC) และภาคขยายเสียงมารวมเอาไว้ในตัวลำโพง รับอินพุตได้ทั้งสัญญาณดิจิทัล (XLR) และอะนาล็อก (XLR) โดยตรง การใช้งานจึงไม่เหมือนกับลำโพงแบบพาสสีฟทั่วไป

ลำโพง LOG Audio VIVANT ออกแบบเป็นลำโพงตู้เปิดแบบ 5 ทาง ที่มีไดรเวอร์ถึง 6 ตัว มีช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 25Hz-25kHz วงจรตัดแบ่งความถี่เสียงเป็นระบบดิจิทัล เพื่อแยกแต่ละช่วงสัญญาณเสียงไปแปลงเป็นอะล็อก ก่อนส่งไปยังภาคขยายเสียง Class AB กำลังขับรวม 600 วัตต์ แยกขับไดรเวอร์แต่ละตัวในลำโพงอิสระจากกัน เรียกได้ว่าเป็นลำโพงระบบแอคทีฟโดยสมบูรณ์

At showroom preview LOG Audio VIVANT
ไดรเวอร์ 6 ตัว ตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 25Hz-25kHz
At showroom preview LOG Audio VIVANT
ไดรเวอร์เสียงกลางขนาด 3 นิ้ว ทวีตเตอร์ซอฟต์โดมขนาด 1 นิ้ว และซูเปอร์ทวีตเตอร์แบบฮอร์น
At showroom preview LOG Audio VIVANT
วูฟเฟอร์ 12 นิ้ว ด้านหลังตู้ลำโพง

การออกแบบลำโพงแอคทีฟในลักษณะนี้​ ทางทฤษฎีมีจุดแข็งตรงที่สามารถออกแบบให้เข้าใกล้อุดมคติได้ง่ายกว่า เพราะตัวผู้ผลิตเองสามารถควบคุมตัวแปรสำคัญ ๆ ได้หลายส่วนเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบต้องการ  ทางด้านผู้ใช้งานเองก็เล่นได้ง่ายกว่าและไม่ต้องกังวลปัญหาในเรื่องของการแมตชิ่ง

อย่างไรก็ดี ในแง่มุมของผู้ที่ยังคุ้นชินกับการเล่นเครื่องเสียงแบบแยกชิ้น ก็อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ เพราะว่าการรวมทุกอย่างเอาไว้ด้วยกันเช่นนี้ ทำให้การ ‘เล่น’ หรือ ‘ปรุงเสียง’ ด้วยการเลือกปรับชิ้นโน้น เปลี่ยนชิ้นนี้ หรือเล่นอุปกรณ์เสริมจุกจิกนั้นทำได้ยากมากขึ้นจนถึงทำไม่ได้เลย

LOG Audio VIVANT กับ Music Streaming
นอกจากการรับสัญญาณอินพุตทั้งดิจิทัลและอะนาล็อกโดยตรงแล้ว เมื่อทำงานร่วมกับอุปกรณ์รุ่น PROLOG 2 (94,900 บาท) ซึ่งเป็นเสมือนคอนโทรลยูนิตที่เป็นศูนย์กลางทำให้ตัวลำโพงสามารถเชื่อมต่อกับแหล่งสัญญาณภายนอกเพื่อความสะดวกในการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่เรามีใช้งานอยู่แล้ว

รวมทั้งการรองรับระบบสตรีมมิงแบบ lossless ผ่านโปรโตคอล Bluetooth aptX, Spotify Connect, Qobuz, Tidal, AirPlay, UPnP, DLNA

At showroom preview LOG Audio VIVANT

สำหรับการเชื่อมต่อระหว่าง PROLOG 2 และลำโพงแอคทีฟของแบรนด์นั้นสามารถทำได้ทั้งทางการเชื่อมต่อสายสัญญาณดิจิทัล XLR แบบ lossless และการเชื่อมต่อไร้สายผ่านเทคโนโลยี WiSA (เพิ่ม 35,900 บาท)

อุปกรณ์รุ่น PROLOG 2 นั้นสามารถควบคุมลำโพง LOG Audio ที่มี LOG AudioEngine ได้สูงสุด 2 ตัวสำหรับระบบมัลติรูมหรือมัลติแชนเนลนั้นสามารถเลือกใช้คอนโทรลยูนิตรุ่น PROLOG 8 (145,600 บาท) ซึ่งควบคุมลำโพงได้มากที่สุดถึง 8 ตัว

ลองฟังด้วยเพลงที่คุ้นเคย
หลังจากศึกษาการออกแบบและการทำงานของลำโพงรุ่นนี้อยู่พักหนึ่ง ประกอบกับทางโชว์รูมก็เปิดโอกาสให้ผมสามารถนำเพลงที่คุ้นเคยไปลองฟังได้ด้วย ผมจึงตัดสินใจว่าจะลองฟังลำโพง LOG Audio VIVANT โดยวิธีการสตรีมเพลงจาก UPnP Music Server ที่ผมจะนำไปเอง เนื่องจากเป็นวิธีการที่ผมสะดวก ได้ลองฟังจากเพลงที่คุ้นเคยและไว้ใจได้ในเรื่องคุณภาพของไฟล์เพลง

หลังจากเชื่อมต่อมิวสิกเซิฟเวอร์ของผมเข้ากับระบบ network ของทางโชว์รูมแล้ว ผมก็เริ่มทดสอบเสียงขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบความถูกต้องของแชนเนลซ้าย-ขวา หรือความถูกต้องเฟสเสียง โดยใช้ไฟล์ที่ผมริปมาจากแผ่นทดสอบของ Nordost ที่มีชื่อว่า System Solution Set-Up & Tuning Disc ผลคือระบบเสียงพื้นฐานที่ทางโชว์รูมเซ็ตอัปเอาไว้ไม่มีอะไรบกพร่อง

At showroom preview LOG Audio VIVANT
ใช้ iPad Pro สั่งเล่นเพลงจากเซิฟเวอร์

โดยปกติเวลาจะสตรีมเพลงทาง LOG Audio เขาแนะนำให้ใช้แอปฯ คอนโทรลที่มีชื่อว่า AirLino สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ทั้งในสมาร์ทโฟน Android และ iOS ทว่าในการทดสอบครั้งนี้ผมได้ลองใช้แอปฯ UPnP/DLNA Media Controller ที่ผมคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น 8player Pro (iPadOS, iOS) หรือ Bubble UPnP (Android) พบว่าก็สามารถใช้สั่งเล่นเพลงไปยังลำโพง VIVANT ได้ด้วยเช่นกัน

หลังจากนั้นผมก็เริ่มทยอยเลือกเพลงที่คุ้นเคยมาเปิดฟัง ไล่เรียงจากไฟล์ 16bit/44.1kHz เรื่อยไปจากถึงไฟล์เสียงรายละเอียดสูง 24bit/192Hz (ระบบไม่รองรับไฟล์ DSD ที่สตรีมมาเล่นโดยตรง) ตั้งแต่เพลงแจ๊ซหรือเพลงร้องที่มีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น ไล่เรียงไปจนถึงเพลงร้องประสานเสียงและดนตรีซิมโฟนีออเคสตร้าเครื่องเสียงชุดนี้ (VIVANT + PROLOG 2) สามารถเล่นได้อย่างราบรื่นโดยเฉพาะในช่วงเวลาระบบเน็ตเวิร์คในโชว์รูมไม่ได้มีการใช้งานแออัดนัก

หลังจากลองฟังไปได้สักพักใหญ่ ผมพบว่าตัวเองสนุกอยู่กับการเลือกเพลงมาเปิดฟัง เพราะรายละเอียดเสียงที่ได้ยินอยู่ตรงหน้านั้นเป็นเสียงที่สะอาด กระจ่างชัด มีชีวิตชีวา เวทีเสียงโอ่อ่า มีการตอบสนองไดนามิกและแบนด์วิดธ์เสียงที่กว้างขวางสมราคา

At showroom preview LOG Audio VIVANT

บางช่วงบางตอนของการฟังมันทำให้ผมรู้สึกทึ่งระคนตื่นเต้นที่ได้ยินเสียงที่สมจริงของชิ้นดนตรี หรือว่าเสียงร้องนั้น ๆ บ้างก็ตื่นเต้นกับการตอบสนองความถี่ต่ำที่ลงได้ลึกระดับ deep bass แท้ ๆ บ้างก็เป็นอิมแพ็คของเสียงในช่วงความถี่สูงที่ไม่ใช่แค่ได้ยินหากแต่มันยังทำให้รู้สึกได้ด้วย

จากประสบการณ์ของผมเมื่อเทียบกับเสียงของลำโพงไฮเอนด์ชั้นดี มันทำให้ผมสิ้นสงสัยทันทีว่า LOG Audio VIVANT นั้นเป็นลำโพงที่อยู่ในทำเนียบไฮเอนด์จริงหรือไม่ หรือเป็นลำโพงไฮเอนด์แล้วให้เสียงที่สมราคาหรือเปล่า เพราะคำตอบในเวลานั้นคือ “ใช่” และ “ใช่” อย่างแน่นอนครับ

ผมสังเกตว่าลำโพงที่มีหุ่นค่อนข้างสะโอดสะองและมีไดรเวอร์มากมายถึง 6 ตัว แถมมีวูฟเฟอร์ขนาด 12 นิ้วและท่อเบสยิงเสียงออกด้านหลังคู่นี้ เหตุใดทางโชว์รูมถึงวางเซ็ตอัปไว้ค่อนข้างชิดฝาหนังห้องด้านหลังลำโพง เมื่อแวะไปอ่านคู่มือใช้ก็ได้รับคำตอบว่า ทางผู้ผลิตเขาตั้งใจออกแบบให้วางค่อนข้างใกล้ฝาผนัง  และไม่แนะนำให้ดึงออกห่างจากฝาหนังมาก ๆ เหมือนลำโพงอื่น

คำถามคือ แล้วทำไมเสียงของมันจึงออกมาสะอาดและกระจ่างชัดได้เช่นนี้ ?

ย้อนกลับไปดูที่พื้นฐานของการออกแบบลำโพงคู่นี้ โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า LOG AudioEngine การโปรเซสสัญญาณในดิจิทัลโดเมนทั้งหมดและไดรเวอร์ทุกตัวทำงานเป็นระบบแอคทีฟ น่าจะมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ VIVANT สามารถถ่ายทอดรายละเอียดเสียงออกมาได้เช่นนั้น

At showroom preview LOG Audio VIVANT
แผงครีบระบายความร้อนด้านหลังมีความร้อนพอสมควรในระหว่างการใช้งาน เนื่องจากภาคขยายเสียง 600 วัตต์ใน VIVANT เป็น Class AB

ผมได้ลองฟังลำโพงชุดนี้อยู่ราว ๆ 2-3 ชั่วโมง ทั้งเพลงสากล เพลงไทยทั่วไป รวมทั้งเพลงที่ตั้งใจบันทึกเสียงมาเพื่อใช้ทดสอบคุณภาพเสียงอย่างไฟล์ 24bit/192kHz อัลบั้ม Audiophile Analog Collection VOL.2 พบว่ายิ่งอัลบั้มนั้น ๆ บันทึกเสียงมาดีมากเท่าไร รายละเอียดเสียงที่น่าทึ่งจากลำโพงคู่นี้ก็มากขึ้นแปรผันตามกันไปด้วยครับ

ลองเถอะ ! เสียงอย่างนี้ ได้ฟังสักครั้ง (ในชีวิต) ​ก็ยังดี
ทั้งหมดนี้แม้ว่าจะเป็นการลองฟังในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย อีกทั้งยังไม่ได้ลองคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากมายของลำโพงชุดนี้ แต่ก็บอกได้เลยครับว่านี่เป็นประสบการณ์ดี ๆ อีกครั้งหนึ่งของผมกับชุดเครื่องเสียงระดับนี้

อย่าเพิ่งสรุปว่ามันดีเพราะมันแพง (ตั้งเป็นล้านแหนะ ไม่ดีได้ไง) เพราะลำโพงหรือเครื่องเสียงแพงหลายตัวบางครั้งก็ฟังไม่ดี อาจจะเพราะมันมิสแมตช์ มันไม่ได้รับการเซ็ตอัปที่ดีพอ หรือว่าจะด้วยปัจจัยอื่นใดก็แล้วแต่

At showroom preview LOG Audio VIVANT

At showroom preview LOG Audio VIVANT
ออกแบบและผลิตในประเทศออสเตรีย

ทว่าที่ผมสามารถสรุปได้ตรงนี้ก็คือ LOG Audio VIVANT นั้นเสียงดีจริง ดีอย่างน่าทึ่ง ดีเกินกว่าคำว่าเสียงดีในลำโพงธรรมดาทั่วไป

อ่านที่ผมเล่ามาถึงตรงนี้แล้วหากยังนึกไม่ออกว่าเสียงของมันเป็นยังไง สามารถไปพิสูจน์ด้วยตัวเองได้เลยครับที่โชว์รูมของทางอัศวโสภณ ที่ชั้น 2 ห้างสยามพารากอน หากไปไม่ถูกหาร้านไม่เจอ โทรไปสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าได้ที่เบอร์ โทร. 0-2129-4301-4 เปิดทุกวันทำการ 11.00 – 20.30 น. บอกว่าทาง AV Tech Guide เขาแนะนำมาก็ได้ครับ เผื่อว่าอยากจะลองฟังเสียงจริงจังแบบผมบ้างทางโชว์รูมเขาจะได้ช่วยอำนวยความสะดวก รวมทั้งคำแนะนำในการใช้งานเบื้องต้นให้ด้วยครับ

At showroom preview LOG Audio VIVANT

At showroom preview LOG Audio VIVANT

At showroom preview LOG Audio VIVANT
นอกจากลำโพงรุ่น VIVANT แล้ว โชว์รูมอัศวโสภณ สยามพารากอน ยังมีลำโพง LOG Audio รุ่นใหม่อย่าง DIALOG (225,000 บาทต่อคู่) เข้ามาโชว์ประสิทธิภาพเสียงด้วยอีกรุ่นหนึ่ง

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ