fbpx
REVIEW

รีวิว SAMSUNG harman/kardon : HW-N850

การเข้าควบรวมกิจการของบริษัท ฮาร์แมน อินเตอร์ฯ ของบริษัทซัมซุงฯ ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่จากประเทศเกาหลีนอกจากจะเป็นใบเบิกทางให้ซัมซุงสามารถขยับขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมจอภาพในโรงภาพยนตร์ได้แล้ว

ในอีกมุมหนึ่งซัมซุงยังได้นำองค์ความรู้จากฮาร์แมนฯ มาช่วยพัฒนาสินค้าในกลุ่มเครื่องเสียงของตัวเองด้วย

ไม่ใช่แค่เพียงใช้ทรัพยากรจากฮาร์แมนฯ แต่ซัมซุงยังได้ยกย่องให้ชื่อของ harman/kardon แบรนด์ในเครือของบริษัท ฮาร์แมน อินเตอร์ฯ มาอยู่เคียงคู่กับชื่อของ SAMSUNG กลายเป็นยี่ห้อ “SAMSUNG harman/kardon” ตีตรามาในสินค้าซาวด์บาร์รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้จำนวน 2 รุ่นได้แก่ HW-N950 และ HW-N850

จุดเด่นของลำโพงซาวด์บาร์ทั้ง 2 รุ่นคือมันรองรับระบบเสียง Dolby Atmos และมีวงจรอัปสเกลเสียงเป็น 32bit เพื่อขยายช่วงไดมานิกเรนจ์ของเสียงให้เสียงสามารถสวิงหนักเบาได้อย่างเป็นอิสระมากยิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากที่ได้เปิดตัวและวางจำหน่ายในต่างประเทศตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ทางซัมซุงก็ได้นำรุ่น HW-N850 มาให้ทาง GM2000 ได้ทดลองใช้งาน ได้ทดลองฟังเสียงกัน

คุณสมบัติและการออกแบบ
จากข่าวการเปิดตัวไลน์สินค้าใหม่ของยี่ห้อ “SAMSUNG harman/kardon” ที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะเห็นว่า HW-N850 นั้นเป็นรุ่นรองลงมาจาก HW-N950 ซึ่งเป็นตัวท้อป แต่ก็มีความน่าสนใจไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยอีกทั้งยังมีความเรียบง่ายมากกว่า

ที่ว่าเรียบง่ายกว่าก็เพราะในรุ่น HW-N950 นั้นเป็นระบบเสียง 7.1.4 แชนเนล ประกอบไปด้วยลำโพงทั้งหมด 4 ตัวคือ ตัวลำโพงหลัก (bar speaker), ลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สาย และลำโพงหลังแบบไร้สายอีก 1 คู่

ขณะที่รุ่น HW-N850 ที่ทางบริษัท ไทยซัมซุง จำกัด นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราเวลานี้ เป็นลำโพงซาวด์บาร์ระบบเสียง 5.1.2 แชนเนล ในชุดมีลำโพงแค่ 2 ตัวเท่านั้นคือ ตัวลำโพงหลัก (bar speaker) และ ลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สาย

ราคาล่าสุดรุ่น HW-N850 ที่ผมเห็นประกาศไว้บนหน้าเว็บของซัมซุง อยู่ที่ชุดละ 19,990 บาท ซึ่งต้องบอกว่าทำราคาได้น่าสนใจมาก เพราะว่าการใส่ชื่อฮาร์แมนการ์ดอนเข้ามาในครั้งนี้ ผมพิจารณาดูแล้วบอกได้เลยว่าไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของมาร์เก็ตติง แต่ผมเห็นถึงความพยายามในการยกระดับเสียงจากลำโพงประเภทซาวด์บาร์

ไดรเวอร์ทั้ง 13 ตัวในลำโพงซาวด์บาร์

ระบบเสียง 5.1.2 แชนเนลใน HW-N850 ในข้อมูลของซัมซุงบอกว่าได้จากไดรเวอร์ (ดอกลำโพง) ทั้งหมด 13 ตัวที่อยู่ในตัวลำโพงซาวด์บาร์ แยกมิติเสียงซ้าย, กลาง, ขวา พร้อมทั้งไดรเวอร์ยิงเสียงออกทางด้านข้างเพื่อสร้างมิติเสียงของลำโพงเซอร์ราวด์หลัง และไดรเวอร์ยิงเสียงขึ้นด้านบน ทำงานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ไร้สาย

ลำโพงซับวูฟเฟอร์ระบบไร้สาย

ลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้มีภาคขยายเสียงกำลังขับรวมถึง 372 วัตต์ (RMS) ให้มิติเสียงรอบทิศทางด้วยภาคถอดรหัสสัญญาณ Dolby Atmos, DTS: X และ MPEG-H ในกรณีที่ห้องมีขนาดใหญ่สามารถซื้อ Wireless Rear Speaker Kit หรือชุดลำโพงหลังแบบไร้สายรุ่น SWA-9000S ของ Samsung มาเพิ่มความชัดเจนของมิติเสียงของลำโพงเซอร์ราวด์ด้านหลังได้ (ไม่ได้มีใช้งานในรีวิวนี้)

นอกจากนั้นแล้ว ซัมซุงยังคุยว่าใน HW-N850 ยังมีเทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพเสียงด้วยเทคนิคการทำอัปสเกลสัญญาณเสียงที่รับเข้ามาด้วยเทคโนโลยี UHQ 32bit Up-Scaling ซึ่งอ้างว่าจะทำให้สามารถถ่ายทอดไดนามิกเรนจ์ของเสียงได้ดีขึ้น ให้เสียงที่เต็มอิ่มและกระหึ่มกว่าโดยที่ยังคงความเป็นธรรมชาติของเสียงเอาไว้

การเชื่อมต่อและการใช้งาน
ลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้ถูกส่งมาในกล่องกระดาษใบใหญ่กว่าที่ผมคิดเอาไว้มากครับ มันดูเหมือนกล่องใส่ทีวีสัก 47 นิ้วอะไรทำนองนั้น

เมื่อยกออกมาจึงพบว่าความใหญ่โตของกล่องนั้นมาจากขนาดของตัวซาวด์บาร์เองที่ยาวประมาณเมตรกว่า ๆ (โดยเมื่อวัดด้วยตลับเมตรได้ความยาว 122.5 เซ็นติเมตร ความลึก 13.5 เซ็นติเมตร และความสูงประมาณ 8 เซ็นติเมตร) แถมยังมีน้ำหนักที่หนักเอาเรื่องเลยทีเดียว ตัวลำโพงแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ไร้สายกลับน้ำหนักเบากว่าที่คิด ตัวตู้ทำจากไม้และมีงานประกอบที่ดูแน่นหนาเรียบร้อย

แต่ด้วยน้ำหนักไม่มากอย่างที่คิดทำให้ทีแรกกังวลว่าซับวูฟเฟอร์ตัวนี้จะให้เสียงไม่ค่อยหนักแน่นหรือเปล่า แต่พอได้ลองใช้งานจริง ได้ลองฟังกันจริง ๆ ผมก็เลิกสงสัยครับ น้ำหนักตัวกับน้ำหนักเสียงของมันสวนทางกันเลย ที่ตัวซับวูฟเฟอร์ไม่มีขั้วต่ออะไรนอกจากขั้วต่อสายไฟเอซี

ตัวลำโพงซาวด์บาร์มีปุ่มกดควบคุมพื้นฐานต่าง ๆ อยู่ด้านบน จอแสดงผลขนาดเล็กอยู่ที่ด้านขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาตัวลำโพง) ตัวซาวด์บาร์มีขนาดไม่สูงนักทำให้จัดวางง่ายไม่ต้องกลัวจะบังทีวี แต่มีความลึกและความกว้างพอสมควร ถ้าชั้นวางมีพื้นที่คับแคบควรต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ

ส่วนที่ยิงเสียงขึ้นด้านบนและยิงเสียงออกด้านข้าง

สำหรับขั้วต่อต่าง ๆ ซ่อนอยู่ด้านล่างหลังเครื่อง มีช่องเปิดให้สายไฟสายสัญญาณต่าง ๆ ลอดออกมาได้ ซาวด์บาร์รุ่นนี้มีขั้วต่อรับสัญญาณดิจิทัลให้มาทั้งหมด 3 ชุด เป็น HDMI IN 1, HDMI IN 2 และ OPTICAL มีขั้วต่อ HDMI OUT (ARC) มาให้ 1 ชุด รองรับการส่งผ่านสัญญาณภาพแบบ 4K หรือ 4K Pass-Through ได้แบบฟูลสตรีม จึงเหมาะมากกับแหล่งสัญญณภาาพและทีวีสมัยใหม่ที่ให้ความละเอียดของภาพระดับ 4K

บรรดาขั้วต่อที่ซ่อนอยู่ด้านล่าง

นอกจากนั้นซาวด์บาร์ชุดนี้ยังสามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายด้วย Wi-Fi และ Bluetooth เพื่อการสตรีมเสียงเพลงจากสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์มาเปิดฟัง

ทว่าการใช้งานในส่วนของการเชื่อมต่อ Wi-Fi จะมีความซับซ้อนกว่าอินพุตอื่น ๆ เล็กน้อย เพราะอินพุตอื่น ๆ สามารถเลือกเล่นโดยกดเลือกจากรีโมตคอนโทรลได้โดยตรง หรือถ้าเป็น Bluetooth ก็แค่จับคู่กันในครั้งแรกเหมือนอุปกรณ์ Bluetooth ทั่วไป แต่การเชื่อมต่อ Wi-Fi จะต้องอาศัยการเชื่อมต่อผ่านแอปฯ SmartThings

ซึ่งถ้าหากที่บ้านของเราเป็นระบบสมาร์ทโฮมที่ใช้แพลตฟอร์ม SmartThings อยู่แล้วก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะพบว่าการที่ซัมซุงเลือกใช้แพลตฟอร์มนี้ในการเชื่อมต่อ Wi-Fi กับตัวซาวด์บาร์นั้น ทำให้เกิดความไม่สะดวกเหมือนกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างเช่น Chromecast ของ Google, BluOS ของ Bluesound หรือ SoundTouch ของ Bose

อีกทั้งในส่วนของการสตรีมมิงเพลงออนไลน์ก็ยังรองรับผู้ให้บริการไม่หลากหลายเท่ากับแพลตฟอร์ม BluOS หรือ HEOS เพราะมีแค่ Deezer กับ TuneIn ดังนั้นการใช้งานในส่วนของ Wi-Fi จึงเหมือนกับเป็นคุณสมบัติส่วนเสริมมากกว่าคุณสมบัติหลัก

อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะใช้งานไม่สะดวกนัก แต่ก็แนะนำให้เรียนรู้การเชื่อมต่อกับแอปฯ SmartThings เพราะการตั้งค่าบางส่วนเช่น การปรับ EQ เสียง หรือการอัปเดตเฟิร์มแวร์ การทำผ่านแอปฯ SmartThings สามารถทำได้ง่ายและสะดวกดี

ปุ่มกดด้านบนตัวซาวด์บาร์และที่รีโมตคอนโทรล

สำหรับการรีวิวในครั้งนี้ผมเลือกใช้เฉพาะอินพุต HDMI และเอาต์พุต HDMI เพื่อให้มันรองรับระบบเสียง Dolby Atmos ได้อย่างเต็มความสามารถ โดยเชื่อมต่อกับแหล่งสัญญาณอย่างเครื่องเล่นบลูเรย์และคอมพิวเตอร์เพื่อรับชมคอนเทนต์จาก Netflix และใช้ทีวีจอโค้งขนาด 55 นิ้วของ TCL รุ่น LED55P5CUS เป็นอุปกรณ์ฉายภาพ ซึ่งตัวซาวด์บาร์ดูจะมีขนาดที่เข้ากับตัวทีวีได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวเลยทีเดียว

สำหรับการเชื่อมต่อซับวูฟเฟอร์ไร้สายนั้นเป็นเรื่องง่ายและสะดวกมาก เพราะเพียงแค่กดปุ่มเปิดใช้งานที่ตัวซาวด์บาร์ เสียบไฟเข้าที่ตัวซับวูฟเฟอร์การจับคู่ระหว่างลำโพงซาวด์บาร์และซับวูฟเฟอร์ก็ดำเนินไปอย่างอัตโนมัติอย่างราบรื่น

ตลอดการรีวิวนี้ผมไม่พบว่ามีครั้งใดที่มันหลุดจากการทำงานร่วมกันเลย ซึ่งในบางกรณีถ้าหากมันมีปัญหาการจับคู่ ก็สามารถกดปุ่ม ID SET ที่ด้านหลังตัวซาวด์บาร์ได้ เมื่อจับคู่กันแล้วมันยังสามารถเปิด-ปิดการทำงานได้พร้อมกันโดยอัตโนมัติด้วยครับ (ดีงามมาก)

จุดหนึ่งที่แรก ๆ ดูจะขัดตาขัดใจผมอยู่พอสมควรก็คือ จอแสดงผลที่มุมด้านขวา (เมื่อหันหน้าเข้าหาตัวลำโพงซาวด์บาร์) ผมว่ามันมีขนาดค่อนข้างจะเล็ก เวลาจะตั้งค่าต้องเล็งกันจนเมื่อย

โดยเฉพาะช่วงแรกที่ยังไม่คุ้นชินกับเมนูปรับตั้งค่าต่าง ๆ และจอแสดงผลสีขาวที่ซ่อนอยู่ในตะแกรงสีดำอีกทีมันทำให้ดูค่อนข้างยากโดยเฉพาะในมุมเฉียง แต่พอใช้งานกันจนคุ้นแล้วก็ไม่พบว่ามันจะเป็นปัญหามากมายแต่อย่างใด

โหมดเสียงและการปรับตั้งค่า
หลังจากเชื่อมต่อระบบทั้งหมดแล้ว ก่อนการใช้งานแนะนำให้ตั้งค่าระดับเสียงของแต่ละแชนเนลก่อนครับ อารมณ์เดียวกับการตั้งค่า level ในระบบเสียงรอบทิศทางแบบแยกชิ้นนั่นแหละครับ โดยการกดปุ่มรูปเฟืองที่รีโมตการตั้งค่าจะวนไปเรื่อย ๆ ทีละแชนเนล
การเพิ่ม-ลดระดับเสียงกดที่ปุ่มทิศทางขึ้น-ลง

ในส่วนนี้ยังสามารถปรับ BASS, TREBLE, หรือ EQ (ตอนตั้งค่ากดปุ่มรูปเฟืองค้างไว้) รวมทั้งการเปิด-ปิดโหมดเสียง VIRTUAL และปรับการซิงค์เสียงในกรณีที่ภาพและเสียงไม่ตรงกัน

สำหรับการรีวิวครั้งนี้ซึ่งผมเซ็ตอัปภายในพื้นที่สำนักงานของกองบรรณาธิการ GM2000 ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดขนาดความกว้างประมาณ 20-25 ตารางเมตรโดยประมาณ ระยะนั่งชมห่างจากตัวลำโพงประมาณ 2 เมตรเศษ เพื่อจำลองการใช้งานเหมือนการใช้งานตามบ้านเรือนทั่วไปที่ใช้งานในห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่นที่เปิดโล่งไปส่วนอื่น ๆ ของบ้าน

จุดเดียวที่ผมปรับไปจากค่าปกติก็คือ ระดับเสียงของ CENTER ที่เพิ่มขึ้น ‘1’ ระดับ นอกนั้นคงเดิมไว้เหมือนที่มาจากโรงงาน (default)

ผมชอบใจปุ่มปรับระดับเสียงหลัก (main volume) ซึ่งจะเป็นปุ่ม ‘VOL’ บนรีโมต ปุ่มนี้ถ้าเราจะเพิ่มหรือลดเสียง ให้ดันขึ้นหรือลง ถ้ากดจะเป็นการเงียบเสียง (mute) เป็นการรวม 3 ฟังก์ชันในปุ่มเดียวได้อย่างน่าชมเชย ปุ่มปรับระดับเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่อยู่ข้าง ๆ ก็ทำงานในลักษณะคล้ายกัน

ภาพจำลองทิศทางของเสียงจากตัวลำโพงซาวด์บาร์

อีกปุ่มหนึ่งบนรีโมตที่ต้องสนใจคือปุ่ม Sound Mode ที่เลือกปรับเสียงให้เหมาะกับคอนเทนต์ที่กำลังรับชม ถ้าเลือกเป็นโหมด ‘STANDARD’ จะเหมาะกับการรับชมคอนเทนต์ประเภทข่าวหรือทอล์คโชว์ เพราะเสียงจะเข้ม ชัด ไม่เน้นความกว้างโอบล้อมของเสียง

ส่วนโหมด ‘SURROUND’ แน่นอนว่าทุกอย่างมาเต็ม เสียงกว้างแบบโอบล้อม ถ้าเลือกที่โหมด ‘SMART’ ระบบจะเลือกปรับแต่งให้เองตามความเหมาะสม

คุณภาพเสียง
คอนเทนต์หลักที่ผมดูในระหว่างการทดสอบฟังเสียงลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้เป็นคอนเทนต์จาก Netflix ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่สามารถรับชมในระบบเสียง Dolby Atmos ได้แล้ว เช่น แอนนิเมชันเรื่อง Next Gen หรือภาพยนตร์เรื่อง Okja, Altered Carbon, Lost in Space, Godless ฯ และมีอีกมากมายที่เป็นระบบเสียง 5.1 แชนเนล เมื่อชมโดยเปิดฟังก์ชัน VIRTUAL ก็จะเป็นการจำลองเสียง 5.1.2 แชนเนล คือให้เสียงจากลำโพงที่ยิงขึ้นด้านบนออกมาด้วย

ในระหว่างการทดสอบใช้งานและทดลองฟังเสียง

เสียงแรกที่ได้ยินจากลำโพงซาวด์บาร์ชุดนี้รับรู้ได้ถึงความกระหึ่ม หนักแน่น ที่มาพร้อมกับรายละเอียดในระดับที่หาได้ยากในลำโพงซาวด์บาร์ระดับราคานี้ (19,990 บาท)

หลาย ๆ ฉากในหนังที่มีเอฟเฟ็กต์เสียงเยอะ ๆ อย่าง Lost in Space ทำให้ผมรู้สึกทึ่งว่าซับวูฟเฟอร์ตัวไม่ใหญ่ในซาวด์บาร์ชุดนี้ สามารถให้เสียงทุ้มที่มีความลึก อีกทั้งยังนุ่มแน่นเช่นนั้นได้อย่างไร

นอกจากนั้นแล้วรายละเอียดของเสียงที่ออกมายังสามารถตอบคำถามได้เลยว่า ทำไมซัมซุงและฮาร์แมนการ์ดอนจึงต้องใส่ไดรเวอร์เข้าไปในตัวลำโพงซาวด์บาร์มากมายถึง 13 ตัว มันเป็นการรายละเอียดเสียงที่กระจ่าง ชัดเจน ไม่เจี๊ยวจ๊าว ไม่มั่ว

เปิดฟังเบา ๆ ก็ยังมีรายละเอียดอยากจะฟังเสียงดังสักหน่อยให้มันสะใจก็ยังเร่งเสียงได้สบาย ๆ โดยไม่ทำให้เสียงที่ออกมาฟังน่ารำคาญหู ซึ่งปกติเรามักจะคาดหวังเสียงแบบนี้กับลำโพงเซอร์ราวด์แบบแยกชิ้นมากกว่าลำโพงประเภทซาวด์บาร์

อีกเรื่องที่ HW-N850 สมควรจะได้รับการชมเชยอย่างมากก็คือ การแยกมิติเสียง ใครจะไปคิดเล่าครับว่าฉากในป่าจากเรื่อง Okja เสียงที่ได้ยินมันให้ความรู้สึกเหมือนถูกรายล้อมด้วยบรรยากาศของป่าเขาลำเนาไพรได้จริง ๆ

หรืออย่างในฉากเปิดของหนังเรื่อง Godless มันถ่ายทอดเสียงลมที่พัดหวิวอยู่รอบตัวออกมาได้ดีจนเกินคาด จังหวะที่กล้องกำลังเคลื่อนขึ้นด้านบนเพื่อเผยให้เห็นสิ่งที่ถูกแขวนเอาไว้บนเสาไม้สูง ผมได้ยินเสียงที่ระดับความสูงนั้นก่อนที่จะเห็นภาพซะอีก (ฉากนี้ทำเอาถึงกับขนลุกไปเลย)

ความเห็นโดยสรุป
SAMSUNG harman/kardon รุ่น HW-N850 เป็นลำโพงซาวด์บาร์อีกรุ่นที่ผมได้ลองใช้งานแล้วในภาพรวมรู้สึกประทับใจ มันอาจจะมาพร้อทกับการออกแบบที่ดูธรรมดาทางด้านรูปลักษณ์ แต่ด้านเทคนิคแล้วถือว่าดีเยี่ยม ตัวซาวด์บาร์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (ยาวและลึก) จำเป็นต้องพิจารณาขนาดของชั้นวางให้ดี

ในด้านการฟังเพลงส่วนตัวผมคิดว่ามันยังไม่เด่นนัก ยังเป็นรอง Bluesound Pulse Soundbar หรือ Bose SoundTouch 300 แถมยังไม่รองรับระบบเสียง Hi-Res Audio

การเชื่อมต่อ Wi-Fi และแอปฯ ควบคุมในอุปกรณ์สมาร์ท ยังใช้งานไม่สะดวกเท่าซาวด์บาร์ของ Sony และ Bluesound แม้ทราบว่าปัจจุบันรองรับ voice assistant อย่าง Amazon Alexa แล้วก็ตาม

สำหรับเรื่องที่ทำให้ประทับใจ ไล่เรียงจากมากไปถึงมากที่สุดเริ่มจากการเชื่อมต่อและการเซ็ตอัปที่ทำได้สะดวกมาก ๆ รีโมตดีไซน์ทันสมัย ใช้งานง่าย และขนาดเหมาะมือ

ส่วนที่ถือว่าเป็นทีเด็ดเลยก็คือ คุณภาพเสียงเวลาใช้รับชมภาพยนตร์ เห็นได้ชัดเลยว่าลำโพงซาวด์บาร์รุ่นนี้เน้นดูหนังเป็นพิเศษ รายละเอียดและมิติเสียงเข้าขั้นดีเยี่ยม สุ้มเสียงกระหึ่มหนักแน่นแบบมีชั้นเชิง

จากการรับชมภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องชัดเจนว่ามันคุณภาพอยู่ระหว่างดีมากถึงจนถึงระดับดีเยี่ยมโดยเฉพาะเมื่อฟังระบบเสียง Dolby Atmos มันฟินจริง ๆ ครับ ใครกำลังมองหาลำโพงซาวด์บาร์เอาไปใช้ดูหนังเป็นหลัก ในงบประมาณเท่านี้บอกเลยว่าไม่ผิดหวังแน่นอนครับ ฟันธง!


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ 1800-29-3232
(โทรฟรี สำหรับโทรศัพท์บ้านเท่านั้น) หรือโทร 0-2689-3232

ราคา 19,990 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ