fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

รีวิว Meridian : Explorer 2

เมื่อคราวที่เมอริเดียนออดิโอส่ง USB DAC รุ่น entry level อย่างเมอริเดียน เอกซ์โพลเรอร์ ‘Meridian Explorer’ ออกวางตลาด ผมว่าสินค้าตัวนี้ขายความเป็นเมอริเดียนออดิโอชัดเจนมากทั้งเรื่องของรูปลักษณ์และคุณภาพเสียง

หลังจากนั้น ในขณะที่ USB DAC อื่นๆ ที่ออกตามกันมาพยายามเอาเรื่องของความสามารถในการรองรับสัญญาณ Hi-Res Audio ได้มากกว่า หลากหลายกว่า (PCM, DXD, DSD) มาเป็นจุดขาย แต่ทางเมอริเดียนกลับแสดงออกชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้พยายามจะลงไปวิ่งแข่งในสนามเดียวกันนั้น

ทว่าพวกเขาพอใจที่จะเอาดีกับการพัฒนาให้ ‘Explorer’ เป็นไปในทิศทางที่พวกเขามองเห็นว่านี่แหละคืออนาคตของการเข้าถึงและเสพเสียงดนตรีอย่างแท้จริง

Based on the Multi-Award-Winning Explorer
ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้เมื่อเมอริเดียนสร้าง USB DAC รุ่นเอกซ์โพลเรอร์ทู ‘Explorer 2’ ตามออกมา มันจึงมีรูปร่างหน้าตาและคุณสมบัติพื้นฐานที่เหมือนกับ Explorer แทบจะทุกประการ อีกทั้งยังคงออกแบบและผลิตในอังกฤษเหมือนเช่นเคย ตัวเครื่องขึ้นรูปจากแม่พิมพ์พลาสติกห่อหุ้มด้วยเปลือกอะลูมิเนียมและมีขารองเครื่องทำจากยาง มีขนาด 102 x 32 x 18mm โดยประมาณ มีน้ำหนักเบามากคือประมาณ 50 กรัม

ด้านอินพุตมีเพียงอินพุตเดียวคือ USB mini type B ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อผ่าน Asynchrous USB High-Speed 2.0 ด้านเอาต์พุตมีสองชุดคือ 3.5mm analogue line out (fixed 2v RMS) และ 3.5mm headphone jack (variable-level output, impedance 0.47ohm) ไฟเลี้ยงวงจรใช้ไฟเลี้ยง 5V (<500mA) จากพอร์ตยูเอสบีโดยตรง

วงจรประมวลผลข้างในเป็นหน้าที่ของชิพ “Dual Tile XMOS DSP with 16 cores, 1000 MIPS” มีส่วนของวงจร Upsampling และ Apodising Filter ที่หยิบเอามาจากวงจรในเครื่องรุ่น 800 SERIES มาปรับใช้ รองรับการเล่นไฟล์ดิจิตอลแบบ native ได้สูงสุดถึงระดับ 24bit/192kHz

อินพุตยูเอสบีเป็นอินพุตเดียวใน Explorer 2 เป็นขั้วต่อ mini-USB
เอาต์พุตของ Explorer 2 มีสองชุด ชุดหนึ่งสำหรับหูฟัง อีกชุดสำหรับไลน์เอาต์

นอกจากไฟ LED สีขาว 3 ดวงแสดงตัวคูณความถี่ sampling rate พื้นฐาน (44.1 หรือ 48kHz) เป็น 1 เท่า, ตัวคูณ 2 เท่าและตัวคูณ 4 เท่าแล้ว ที่ตัวเครื่องก็ไม่มีปุ่มควบคุมใดๆ อีกเลย การปรับความดังของอะนาล็อกวอลุ่มคอนโทรลในตัวเครื่องนั้นก็อาศัยการตั้งค่าผ่านตัวโปรแกรมเล่นได้โดยตรง

การอัพเดตเฟิร์มแวร์สามารถทำได้ผ่านอินพุต USB ของตัวเครื่องเอง การใช้งานกับคอมพิวเตอร์สามารถใช้ได้กับทั้งระบบปฏิบัติการ (OS) Macintosh OS X, Linux และ Windows ซึ่งตัวหลังนี้ก่อนใช้จำเป็นต้องติดตั้งไดรเวอร์ก่อน แต่ไม่จำเป็นสำหรับ OS สองตัวแรก

เรียกว่าใช้ form factor เดียวกันกับ Explorer รุ่นเดิมแทบจะทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปทรง ขนาด ชิ้นส่วนหลักและลักษณะการใช้งาน ที่แตกต่างกันก็น่าจะเป็นในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้ทางเมอริเดียนออดิโอตั้งชื่อมันว่าเป็น Explorer 2 หรือ Explorer รุ่นที่สองได้โดยไม่ขัดเขิน

High-Res Audio กับความหมายที่แท้จริง
เมื่อพูดถึงคุณภาพเสียง น้ำเสียงที่ได้จาก Explorer 2 เป็นเสียงที่รับรู้ได้ถึง resolution ของเสียงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความกระจ่างชัด ความสะอาด ความโปร่งใส มันหมดยุคแล้วครับดิจิตอลที่ทำให้เสียงดีด้วยการฟิลเตอร์เยอะๆ ให้เสียงฟังนุ่มสบายแต่คลุมเครือไม่มีรายละเอียดเหมือนภาพถ่ายที่ไม่คมชัดเลยแก้ด้วยการทำให้ภาพฟุ้ง เบลอ ไปทั้งภาพ

โดยเฉพาะกับการบันทึกเสียงด้วยดิจิตอลถ้ายิ่งไปกลบเกลื่อนมันจะยิ่งฟังแย่มากขึ้น แต่ถ้าวงจรถอดรหัสดิจิตอลสามารถตีความสัญญาณออกมาได้โดยมีความผิดเพี้ยนจากตัวมันเองปนเปื้อนมาด้วยน้อยสุด ผลลัพธ์ที่ได้มันจะออกมาดีมากถึงมากที่สุด ทำให้สามารถรับรู้ได้ถึงจุดเด่นของระบบเสียงดิจิตอลอย่างแท้จริง

ออกแบบและผลิตในประเทศอังกฤษโดยเมอริเดียนเอง

ความรู้สึกเหล่านั้นเกิดขึ้นเมื่อผมลองฟังเพลงโดยการสตรีมแบบ lossless 16/44.1 มาจาก TIDAL ด้วยโปรแกรม Roon ในคอมพิวเตอร์ Mac mini และต่อเสียงผ่าน Explorer 2 ออกมา มันทำให้ผมรู้สึกว่าซาวนด์แทร็คภาพยนตร์เรื่อง ‘Deadpool’ นั้นเสียงดีมาก รายละเอียดต่างๆ มีความกระจ่างชัดสดใส เปิดเผย เป็นเสียงที่สะอาดอย่างเป็นธรรมชาติ

เสียงทั้งหมดที่ว่าไปนั้นทำให้ผมรู้สึกฉงนมากเมื่อกลับไปฟังผ่านแอพฯ TIDAL โดยตรงใน iPad Air 2 คุณภาพเสียงที่ออกมามันไม่ได้ครึ่งของที่ฟังจาก Explorer 2 เลยครับ

แม้ว่าจะได้ฟังเทียบจากหูฟังตัวเล็กๆ อย่าง Focal Sphear และ Sennheiser Momentum In-Ear ด้วย เสียงที่ได้จาก Explorer 2 ก็ยังเหนือกว่ากันอย่างชัดเจน ที่ต้องชมเชยเป็นพิเศษสำหรับ Roon + Explorer 2 ก็คือ เสียงบางช่วงที่มีองค์ประกอบของดนตรีหรือเอฟเฟ็กต์เสียงต่างๆ เยอะและซับซ้อนมากๆ มีทั้งเสียงที่แผ่วเบาและเสียงดังกึกก้องกัมปนาท ผมก็ยังได้ยินแต่ละรายละเอียดครบถ้วนชัดเจน สะอาดเกลี้ยงเกลา ไม่มั่ว ไม่ตีรวนจนฟังไม่ได้ศัพท์

ไดนามิกเสียงที่ถ่ายทอดผ่านหูฟัง Shure SRH940 หรือ Sennheiser HD 630VB มีความหนักแน่นทรงพลังมากๆ ไดนามิกทรานเชี้ยนต์ก็ดุดันเร้าใจไม่แพ้กัน รายละเอียดเหล่านั้นมีปรากฏให้ได้ยินอยู่เนืองๆ อยู่ในหลายแทร็คของอัลบั้มชุดนี้ แต่ที่สะดุดหูเป็นพิเศษมีอยู่ 2 แทร็คได้แก่ ‘Going Commando’ ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันและความกระหึ่มเร้าใจของดนตรี

เสียงที่ถ่ายทอดผ่าน USB DAC ของเมอริเดียนแตกต่างจาก USB DAC ในระดับราคาเดียวกันตรงที่มันสามารถปลดปล่อยเสียงเหล่านั้นออกมาอย่างมีทรง มีระเบียบเป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่สักแต่ว่าพรั่งพรูออกมาแต่ฟังดูสับสนหรือฟังแล้วเครียดมากกว่าสนุกเร้าใจอย่างที่ควรจะเป็น

อีกแทร็คที่ฟังสะดุดหูก็คือ ‘The Punch Bowl’ เพลงนี้เสียงที่ผมได้ยินโชว์ไดนามิกของเสียงในย่านความถี่ต่ำลึก (deep bass) ซึ่งในเพลงนี้จะมีเยอะมากและการฟังจากหูฟังขนาดใหญ่จะมีโอกาสได้ยินเสียงเหล่านั้นออกมาครบถ้วน ทว่าสิ่งที่ Explorer 2 ส่งต่อมาไม่ได้มาแค่นั้น มันมาพร้อมกับ definition หรือรายละเอียดในเสียงนั้นๆ ด้วยครับ

เช่นในขณะที่คลื่นความถี่ต่ำนั้นกำลังแผ่เข้าสู่โสตประสาทผมยังรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของเสียงนั้น ตลอดจนน้ำหนักเสียงอ่อน-แก่ในแต่ละช่วงเวลาไปในขณะเดียวกันด้วยครับ ผมเองในขณะที่ฟังงานชุดนี้ผมยังไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เสียงที่ได้ฟังมันทำให้จิตนาการไปแล้วว่าฉากเหล่านี้ในภาพยนตร์ต้องสนุกน่าตื่นเต้นแน่นอน ก็ขนาดฟังแค่เสียงมันยังทำให้ผมตรึงอยู่กับที่นั่งได้อย่างนี้ ถ้าได้ชมภาพเคลื่อนไหวด้วยก็คงต้องไม่พูดถึงว่าจะโดนใจกันมากแค่ไหน

ในแง่มุมของน้ำเสียงด้านอื่นๆ โดยภาพรวม Explorer 2 ให้เสียงที่เป็นธรรมชาติกว่า Explorer รุ่นแรกพอสมควร ความเป็นธรรมชาติในที่นี้สามารถรับรู้ได้ไม่ว่าจะฟังเพลงแนว pop ตลาดทั่วไปอย่างอัลบั้มล่าสุด Purpose ของ Justin Bieber งานที่ทำให้บรรดา hater หลายคนต้องกลับมายกนิ้วให้ในความเจ๋งเป้ง ไม่เพียงแค่ภาคดนตรีและเนื้อหาที่ทำมาได้น่าสนใจ ภาคของการบันทึกเสียงก็พิถีพิถันด้วยเช่นกัน สะอาด เปิดเผย เสียงโปร่งกว้าง ไม่ล้นไม่จัดจ้าน ซึ่ง Explorer 2 ก็ได้ส่งผ่านสิ่งเหล่านั้นออกมาให้ฟัง ทำให้ผมยิ่งรู้สึกดีกับงานชุดนี้มากขึ้นไปอีก

เช่นเดียวกับซาวนด์แทร็คซีรีส์เรื่อง ‘Vinyl’ ใน HBO ที่ผมฟังจาก TIDAL ผ่าน Roon + Explorer 2 ที่เป็นดนตรีที่ฉีกแนวต่างออกไปแต่ฟังแล้วเกิดความประทับใจในน้ำเสียงไม่แพ้กัน จะว่าไปนะครับ High Resolution DAC รุ่นใหม่ๆ หลายตัวมักจะฟังดีเวลาเป็นไฟล์ Hi-Res Audio แต่เวลาเปิดฟังจากไฟล์ 16/44.1 โดยเฉพาะกับเพลงสากลทั่วไปมักจะฟังไม่ดีเท่าที่ควรนะครับ เหมือนกับว่าต้องซื้อมาเพื่อฟังกับเพลงบางประเภทโดยเฉพาะเท่านั้น

แต่ Explorer 2 นั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจกว่านั้น สุ้มเสียงของมันมีความน่าฟังอย่างครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นไฟล์ 16/44.1 หรือไฟล์ที่มี resolution สูงกว่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามันเข้าไปมีอิทธิพลกับเสียงของเพลงเหล่านั้นให้เป็นอะไรที่ฟังแล้วเหมือนๆ กันหมด ผมพบว่าอัลบั้มเพลงสมัยใหม่ส่วนมากบันทึกเสียงมาได้ดีพอสมควรถึงดีมากอยู่แล้ว ตัว Explorer 2 มีหน้าที่เพียงแค่ทำให้เสียงเหล่านั้นถูกเปิดเผยออกมาอย่างตรงไปตรงมา

ความเป็น Explorer 2 ที่ตีความได้จากเสียงของ USB DAC ตัวนี้ ทำให้ผมต้องพิจารณาเสียใหม่กับนิยามของคำว่า High-Res Audio ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข bit depth และ sampling rate แต่มันหมายความรวมถึง รายละเอียดของน้ำเสียงจริงๆ เป็นความครบถ้วนของเสียงที่ร้อยเรียงกันออกมาเพื่อให้โสตประสาทรับรู้ได้อย่างประณีตบรรจง

เปิดประสบการณ์กับ MQA
สำหรับ Explorer 2 กับการฟังเพลงในรูปแบบ Hi-Res Audio ในนิยามของ bit depth และ sampling rate ที่เหนือกว่า 16bit/44.1kHz ของฟอร์แมตซีดี USB DAC ตัวนี้รองรับเฉพาะฟอร์แมต PCM ใครที่สนใจจะฟังไฟล์ฟอร์แมต DSD หรือ DXD

ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วก็ยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบอัตราส่วนกับฟอร์แมต PCM ก็คงต้องทำใจไปดู DAC รุ่นอื่นแทนครับ หรือไม่ก็หาโปรแกรมเล่นเพลงที่สามารถแปลง DSD เป็น PCM ระหว่างการเล่นเพลงได้ดีอย่างโปรแกรม Roon มาใช้งาน ซึ่งก็พอจะให้เสียงออกมาดีพอสมควรและฟังได้ไม่ขัดหูนัก

อย่างไรก็ดีความน่าสนใจในแง่มุมของ Hi-Res Audio ใน Explorer 2 ไม่ได้มีอยู่เพียงเท่านั้น ถ้าคุณมีโอกาสได้ติดตามข่าวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาอาจเคยได้ยินอีกฟอร์แมตหนึ่งที่ทางเมอริเดียนพยายามจะปลุกปั้นขึ้นมา นั่นคือ MQA หรือ ‘Master Quality Authenticated’

ซึ่ง Explorer 2 นั้นถือได้ว่าเป็น USB DAC รุ่นแรกของโลกที่รองรับฟอร์แมต MQA ที่ว่านี้ครับ (เมื่ออัพเดต firmware เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด v1717 แล้ว) MQA เป็นแนวคิดใหม่ในการนำสัญญาณเสียงต้นฉบับโดยตรงมาทำการ ‘แพ็ค’ หรือ ‘จัดเก็บ’ เสียใหม่ด้วยกระบวนการวิธีที่ทางเมอริเดียนอ้างว่าเป็นฟอร์แมต lossless (ไร้การตกหล่นสูญเสียของข้อมูล)

เหมือนการพับกระดาษหลายทบให้เล็กลง เมื่อคลี่กระดาษออกมาก็จะกลายเป็นกระดาษแผ่นใหญ่เหมือนเดิม ผลลัพธ์สุดท้ายของไฟล์ MQA จึงเป็นไฟล์ Hi-Res Audio เหมือนตามต้นฉบับแต่มีขนาดไฟล์และบิตเรตที่ย่อมเยาพอๆ กับไฟล์เสียงในฟอร์แมตซีดี ง่ายต่อการดาวน์โหลดหรือสตรีมมาฟังสดๆ ผ่านระบบออนไลน์

ลองฟังไฟล์ MQA อีกฟอร์แมตเสียงจากเมอริเดียน
ที่คิดค้นมาเพื่อตอบโจทย์การฟัง Hi-Res Audio อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปัจจุบัน MQA แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่และมีเครื่องเสียงจำนวนมากที่รองรับ MQA แล้ว แต่ตัวไฟล์เพลงที่เป็นฟอร์แมต MQA เพื่อการพาณิชย์โดยตรงก็ยังมีอยู่อย่างจำกัดมากๆ ช่องทางหนึ่งคือการสตรีมจากผู้ให้บริการเพลงออนไลน์อย่าง TIDAL แต่ ณ ช่วงเวลาที่ผมรีวิวอยู่นี้ TIDAL ในประเทศไทยยังไม่มีเพลงฟอร์แมต MQA ให้ลองฟังนะครับ

ช่องทางเดียวในการทดลองฟังไฟล์ MQA ของผมจึงเหลือเพียงตัวอย่างไฟล์ MQA ที่ดาวน์โหลดฟรีมาจากเว็บไซต์ www.2l.no และอีกส่วนหนึ่งที่ซื้อเป็นไฟล์ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์เดียวกันนี้ โดยเฉพาะ LED 3 ดวงที่ตัวเครื่องจะติดสว่างเป็นสีขาวตาม sampling rate ของไฟล์ที่เล่นอยู่โดยเรียงลำดับจากซ้ายไปขวาเป็นตัวคูณ 1 เท่า (44.1 หรือ 48kHz), 2 เท่า (88.2 หรือ 96kHz) และ 4 เท่า (176.4 หรือ 192kHz)

ในขณะที่กำลังถอดรหัสไฟล์ MQA การแสดงผลที่ไฟ LED ดวงซ้ายมือสุดของ Explorer 2 จะติดสว่างเป็น ‘สีฟ้า’ เท่านั้น ส่วนไฟ LED ดวงที่เหลือจะติดสว่างเป็นสีขาวตาม sampling rate ของต้นฉบับไฟล์เสียงนั้นๆ

เช่น ถ้าต้นฉบับของไฟล์ MQA นั้นๆ เป็นไฟล์ 96kHz ไฟ LED จะติดสว่าง 2 ดวง ซ้ายมือสุดจะเป็นสีฟ้า ดวงตรงกลางจะเป็นสีขาว ดวงขวาสุดจะไม่ติด แต่ถ้าต้นฉบับของไฟล์ MQA นั้นมาจากไฟล์ 176.4kHz หรือ 192kHz หรือที่ความถี่สูงกว่านั้น ไฟ LED ดวงขวามือสุดจะติดสว่างเป็นสีขาวขึ้นมาอีกดวง

การเล่นไฟล์เสียง MQA ให้ได้ยินคุณงามความดีของ MQA จริงๆ ต้องการเพียงตัว DAC หรือภาคถอดรหัสสัญญาณดิจิตอลเท่านั้นที่ต้องรองรับการถอดรหัสสัญญาณฟอร์แมต MQA ส่วนตัวโปรแกรมเล่นเพลงขอเพียงสามารถเล่นเพลงในลักษณะ bit-perfect ปล่อยสัญญาณผ่านเอาต์พุตออกมาโดยตรง ไม่มีการไปยุ่งกับการแปลง sampling rate ขึ้นหรือลง เท่านั้นก็พอครับ

ดังนั้นใน Mac mini ของผมโปรแกรมที่ใช้อยู่ทั้ง Roon, Audirvana Plus 2.0 และ Decibel จึงรองรับการเล่นไฟล์ MQA ในที่นี้ทุกโปรแกรมครับ เพลงชุดแรกที่ผมมีโอกาสได้เปรียบเทียบเพื่อทดสอบคุณภาพของการเล่นไฟล์ MQA ใน Explorer 2 คือ “Bozza: Children’s Overture” และ “Blagutten” ซึ่งต้นฉบับนั้นเป็นไฟล์ต้นฉบับ DXD 24/352.8 ถูกโปรแกรมเล่นเพลงทอนลงมาเป็น PCM 24/176.4 เพื่อเล่นกับ Explorer 2

ในแทร็คนี้ไฟล์ MQA ที่ฟังจาก Explorer 2 มีความใกล้เคียงไฟล์ DXD ต้นฉบับมากกว่า 90% ทั้งที่มีขนาดไฟล์เล็กกว่ากันราว 7-8 เท่า! เสียงจากไฟล์ MQA จะเป็นรองไฟล์ต้นฉบับในเรื่องความกว้างของเวทีเสียงเล็กน้อยและฮาร์มอนิกของเสียงในย่านความถี่ต่ำที่เสียงยังไม่อิ่มเปล่งปลั่งเท่า นอกนั้นถือว่าเทียบเคียงกันได้สบายมากไม่มีอะไรให้ขัดใจเลย

มันทำให้ผมจินตนาการไปแล้วว่าถ้าในอนาคตสามารถสตรีมไฟล์คุณภาพระดับนี้มาฟังได้แบบลื่นๆ ไร้การสะดุดผ่านระบบออนไลน์ผมว่ามันเป็นอะไรที่สุดแสนจะแฮปปี้แล้วล่ะครับ สำหรับตัวอย่างการเปรียบเทียบอีกแทร็คที่น่าสนใจคือเพลงบรรเลงเบาๆ ชื่อว่า “North Country II, for flugelhorn, cello & piano” ไฟล์นี้ต้นฉบับเป็น PCM 24/96 ไฟล์ MQA แพ็คมาเป็น 24/48 ขนาดไฟล์เล็กกว่ากันประมาณ 1.6 เท่า การเปรียบเทียบคู่นี้ฟังความแตกต่างได้น้อยมากๆ หรือจะพูดว่าไม่ต่างกันเลยก็ว่าได้

Meridian experience in miniature
ในฐานะที่เคยฟังเครื่องเสียงชุดใหญ่ของเมอริเดียนออดิโอมาก่อน ผมว่าเครื่องเสียงยี่ห้อนี้ไม่ว่ารุ่นใดมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ มันฟังเพลงได้ไพเราะไปหมด ต่างรุ่นต่างระดับก็แค่ต่างกันในรายละเอียดและระดับของความสมจริง ถ้าคุณมีงบประมาณมากพอ เครื่องเสียงตระกูล 800 Reference เป็นอีกหนึ่งด้านของนิพพานสำหรับการฟังเพลงอย่างแท้จริง

แต่ถ้านั่นคือสิ่งที่สูงเกินไขว่คว้า รุ่นรองลงมาของเมอริเดียนออดิโอก็ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Explorer 2 ที่มีค่าตัวย่อมเยาที่สุดแต่ถูกสร้างขึ้นมาบนมาตรฐานเดียวกัน ด้วยทีมวิศวกรชุดเดียวกัน

สำหรับคนที่อยากสัมผัสประสบการณ์ของเสียงที่มีความเป็นเมอริเดียนโดยแท้อย่างที่ผู้ผลิตเขาคุยไว้ ผมแนะนำว่าถ้าเลือกได้ให้เลือกใช้หูฟังฟูลไซส์ที่มีแบนด์วิธกว้างและรองรับไดนามิกเรนจ์ได้ดี USB DAC ขนาดมินิตัวนี้ขับมันได้แน่นอน ถ้าหูฟังของคุณไม่ได้ขับยากมากจนระดับธรรมดาสามัญ นอกจากจะขับออกแล้วเสียงที่ได้ยังสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานของคำว่า เสียงที่มีรายละเอียดสูง หรือ Hi-Res Audio ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

และเป็นนิยามของคำว่า เสียงที่มีรายละเอียดสูงอย่างแท้จริงไม่ว่าเสียงนั้นจะเป็น 16bit/44.1kHz หรือ 24bit/192kHz ก็ตาม ส่วนเรื่องของ MQA นั้นเอาเป็นว่าก็ได้ลองกันพอหอมปากหอมคอเท่าที่จะมีตัวอย่างให้เปรียบเทียบก็แล้วกันนะครับ เวลานี้ผมยังไม่ขอสรุปอะไรเกี่ยวกับ MQA ขอแค่ได้บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้ลองฟังพอเป็นสังเขปกับ Meridian Explorer 2 เท่านี้ก่อนนะครับ

เท่าที่ดูจากรายละเอียดทางเทคนิคกับเสียงที่ได้ยินจาก MQA ในอนาคตถ้ามันจะแจ้งเกิดได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงเลยทีเดียวล่ะครับ คอยติดตามข่าวคราวกันไว้บ้างก็น่าจะดีครับ เพราะได้ข่าวว่าทางเมอริเดียนตั้งใจจะทำให้เล่นได้ในอุปกรณ์ดิจิตอลออดิโอทุก ๆ แพลตฟอร์ม ตั้งแต่เครื่องเสียงบ้านไปยันโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนกันเลยทีเดียวเชียวล่ะครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท DECO2000 จำกัด
โทร.0-2256-9700
ราคา : 10,900 บาท 6,000 บาท (ราคาล่าสุด กุมภาพันธ์ 2561)

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ