fbpx
REVIEW

รีวิว Sony : NW-A46HN

2-3 เดือนก่อนเมื่อได้ข่าวว่าโซนี่กำลังจะเปิดตัวดิจิทัลวอล์คแมนรุ่นใหม่ออกมา 2 รุ่นได้แก่ NW-ZX300 และ NW-A40 Series ในฐานะที่ผมเคยได้รีวิวดิจิทัลวอล์คแมนรุ่น NW-A35 (อยู่ใน NW-A30 Series) ของโซนี่มาก่อนแล้วรู้สึกประทับใจในน้ำเสียงของมันมาก ผมจึงมุ่งความสนใจไปที่ NW-A40 Series ซึ่งเป็นรุ่นที่มาแทน NW-A30 Series มากเป็นพิเศษ

ที่ผ่านมานอกจากโซนี่ได้พัฒนาวอล์คแมนให้ขึ้นไปจนถึงระดับไฮเอนด์แล้ว พวกเขายังคงให้ความสำคัญกับวอล์คแมนในกลุ่ม entry level ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รุ่นที่มาใหม่อย่าง NW-A40 Series นี้ผมหวังว่ามันก็จะยังคงเป็นเช่นนั้น

ดีไซน์ภายนอกเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือ โทนสีใหม่
หลังจากงานเปิดตัวในประเทศไทยผมได้ขอยืมเครื่องตัวอย่างสำหรับการรีวิวกับทางโซนี่และได้เครื่องรุ่น NW-A46HN มา เครื่องเล่นแบบพกพารุ่นนี้จัดเป็นเครื่องเสียงประเภท DAP (Digital Audio Player) เป็นหนึ่งในสองรุ่นของวอล์คแมนตระกูล NW-A40 Series ที่ทางโซนี่ทำตลาดอยู่ในประเทศไทย ณ เวลานี้

วอล์คแมนตระกูล NW-A40 Series ที่ขายในบ้านเราจะมีรุ่นย่อยให้เลือกอยู่ 2 รุ่นคือ NW-A45 และ NW-A46HN ทั้งคู่มีรายละเอียดทางเทคนิคเหมือนกันแทบทุกประการ ต่างกันที่ A45 มีความจุข้อมูลในตัว 16 GB ราคา 7,490 บาท ส่วน A46HN มาพร้อมกับความจุข้อมูลในตัว 32 GBและมีหูฟังรุ่น IER-NW500N ขายพ่วงกันมาด้วยในราคา 10,990 บาท

หูฟังรุ่นนี้มีทีเด็ดครับ นอกจากมันจะมีสีที่แมตช์กันกับตัวเครื่องวอล์คแมนแล้วมันยังมาพร้อมกับฟังก์ชั่น Digital Noise Cancelling และ Ambient Sound Mode ซึ่งผมจะกล่าวถึงในรายละเอียดในหัวข้อต่อไป

พูดถึงเรื่องดีไซน์ภายนอกของ NW-A46HN เครื่องเล่นดิจิทัลวอล์คแมนตัวนี้แทบไม่ได้เปลี่ยนดีไซน์จากรุ่นก่อนหน้าเลย ขนาดและน้ำหนัก (98 กรัม) หน้าตาของมันยังคงเหมือนกับรุ่น NW-A30 Series แบบสำเนาถูกต้อง หน้าจอแสดงผลเป็นระบบสัมผัส TFT LCD ขนาด 3.1 นิ้ว ความละเอียด 800×480 (WVGA) มีช่องใส่ microSD card ที่ด้านข้างตัวเครื่อง

อีกด้านหนึ่งเป็นแถวปุ่มกดควบคุมการเล่นเพลง, ปุ่มกดเพิ่ม-ลดระดับความดังของเสียง, ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง/Lock Screen และสวิตช์เลื่อน HOLD สำหรับป้องกันการกดไปโดนปุ่มต่าง ๆ โดยไม่ตั้งใจ

ปุ่มกดสั่งงานด้านข้างตัวเครื่อง
ช่องใส่ Micro SD card

ที่แตกต่างจากรุ่นเดิมคือ สีตัวเครื่อง จากเดิมที่สีออกไปทางสดใสจี๊ดจ๊าดแบบวัยรุ่น มาในซีรีส์ใหม่นี้สีสันถูกปรับให้เป็นโทนพาสเทลมากขึ้นและยังแมตช์กับหูฟังรุ่นใหม่ที่ออกมาพร้อมกัน ทำให้ดูเท่และแอบเรียบหรูขึ้นกว่าเดิมอีกนิด มีทั้งสีเขียว Horizon Green, สีแดง Twilight Red (สีเดียวกับในรีวิวนี้), สีดำ Grayish Black, สีทอง Pale Gold และสีน้ำเงิน Moonlit Blue

USB-DAC, AptX HD และ MQA
NW-A46HN เป็นดิจิทัลวอล์คแมนที่รองรับการเล่นไฟล์รายละเอียดสูง (hi-res audio) ทั้ง PCM และ DSD รองรับฟอร์แมตไฟล์เสียงทั้งแบบ lossy (mp3, wma, aac), lossless (FLAC, Apple Losless, APE) และ uncompressed (wav, aiff) ตลอดจนไฟล์เสียงในฟอร์แมต DSD

ใน NW-A40 Series วิศวกรของโซนี่ยังได้เพิ่มความสามารถที่เหนือกว่ารุ่นเดิมไปอีกหนึ่งเรื่อง นั่นคือการออกแบบให้มันรองรับฟอร์แมตไฟล์เสียงประเภท MQA (Master Quality Authenticated) ด้วย ไฟล์ MQA นั้นมีจุดเด่นที่ตัวไฟล์ข้อมูลจะมีขนาดเล็กแต่ให้เสียงเทียบเท่ากับไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูง

ในปัจจุบันไฟล์ MQA สามารถฟังได้จากบริการออนไลน์มิวสิคสตรีมมิ่งอย่างเช่น TIDAL แต่ไฟล์ MQA ที่วอลร์คแมนรุ่นนี้เล่นได้จะเป็นลักษณะของไฟล์ MQA ที่มีจำหน่ายแบบให้ดาวน์โหลดเนื่องจากมันไม่สามารถเชื่อมต่อระบบ network เพื่อสตรีมเพลงได้เหมือน DAP ในกลุ่มที่เป็น Android OS

ระบบปฎิบัติการของ DAP รุ่นนี้เป็น OS ของทางโซนี่เอง ดังนั้นมันจึงไม่สามารถติดตั้งแอปฯ อะไรเพิ่มเติมได้เองเหมือน DAP ที่ใช้ Android OS ผมว่าแบบนี้ก็มีข้อดีเหมือนกันนะครับ ทุกอย่างมันจะดูเหมาะเจาะลงตัวเพราะมาจากทางโซนี่เองทั้งหมด ที่จริงฟีเจอร์หลัก ๆ ที่เขาให้มาในตัวเครื่องนั้นก็ไม่ได้ถือว่าจะมาติงติงกันได้เลยครับ เพราะแม้แต่วิทยุ FM Radio เขาก็ยังให้มาด้วย

พอร์ตเชื่อมต่อใน DAP รุ่นนี้โซนี่ยังคงเลือกใช้ WM-Port เหมือนในรุ่นก่อนหน้า พอร์ตประเภทนี้ไม่ใช่พอร์ตเชื่อมต่อที่มีใช้งานแพร่หลายเหมือนอย่าง Micro-USB หรือ USB-C เข้าใจว่าก็น่าจะมีแต่สินค้าของโซนี่นี่แหละครับที่ใช้งานพอร์ตประเภทนี้อยู่

ดังนั้นในเรื่องของความเข้ากันได้กับอุปกรณ์อื่น ๆ จึงอาจจะเป็นปัญหาอยู่บ้าง และถ้าหากคุณทำสาย USB to WM-Port เสียหายหรือสูญหายคุณต้องซื้อใหม่จากโซนี่เท่านั้น จะไม่ใช้ก็ไม่ได้เสียด้วยเพราะพอร์ตนี้ทำหน้าที่ตั้งแต่การเชื่อมต่อและ การถ่ายโอนข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ รวมไปจนถึงการชาร์จแบตเตอรี่แบบชาร์จซ้ำได้ในตัวเครื่อง

อย่างไรก็ดีโซนี่ได้ออกแบบให้ดิจิทัลวอล์คแมนรุ่นนี้สามารถใช้งานเป็น USB-DAC ได้แล้วครับ ซึ่งคุณสมบัตินี้ไม่เคยมีมาก่อนในวอล์คแมนตระกูล A เลย เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อบลูทูธ (Bluetooth v.4.2) ที่นอกจาก NW-A40 Series จะรองรับเทคโนโลยีบลูทูธรายละเอียดสูง ‘LDAC’ ของโซนี่เองแล้ว มาในรุ่นนี้มันยังรองรับการเชื่อมต่อบลูทูธเทคโนโลยี aptX และ aptX HD เพิ่มเข้ามาด้วย

ด้านการเชื่อมต่อแบบ NFC ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเช่นเดิม ผมลองฟังกับหูฟังไร้สาย Sennheiser รุ่น HD 4.50 BTNC ของผมมันเข้ากันได้ดีมากครับแม้ว่าจะเป็นยี่ห้อต่างกันก็ตาม

หูฟัง, ระบบตัดเสียงรบกวน และโหมดเสียงรอบข้าง
อีกคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้ NW-A46HN และ NW-A40 Series พิเศษกว่า DAP ทั่วไปก็คือ เมื่อมันจับคู่ใช้งานกับหูฟังรุ่น IER-NW500N นอกจากมันจะมีโหมดปรับแต่งเสียงให้แมตช์กับหูฟังรุ่นนี้แล้ว มันยังมีระบบระบบตัดเสียงรบกวน (Noise Cancelling) และโหมดเสียงรอบข้าง (Ambient Sound Mode)

ผมสังเกตว่าที่มินิแจ็ค 3.5 mm ของหูฟัง IER-NW500N จะดูพิเศษกว่าหัวเสียบมินิแจ็คทั่วไปตรงที่มันมีแถบฉนวนถึง 4 วง และมีแถบหน้าสัมผัสทางเดินสัญญาณไฟฟ้าถึง 5 ขั้ว เข้าใจว่าส่วนที่เพิ่มเติมมาจากหัวเสียบมินิแจ็คทั่วไปก็คงเพราะมีการนำไปใช้งานในส่วนของ Noise Cancelling และ Ambient Sound Mode นี่แหละครับ

Noise Cancelling ก็แปลตรงตัวตามชื่อของมัน ฟังก์ชั่นนี้เมื่อเปิดใช้งานจาก NW-A46HN มันจะตัดเสียงรบกวนภายนอกได้เหมือนกับพวกหูฟังบลูทูธที่มีระบบ Noise Cancelling เลยครับ แต่ที่โซนี่ทำได้มากกว่านั้นคืออีกหนึ่งฟังก์ชั่น Ambient Sound Mode ที่เปิดโอกาสให้เลือกได้ด้วยว่าในขณะที่ใส่หูฟังเราต้องการฟังเสียงแวดล้อมภายนอกด้วยหรือไม่ มาก-น้อยแค่ไหน ระบบนี้มีประโยชน์มากเวลาที่เราฟังเพลงอยู่ในสถานที่ที่เราไม่สามารถละเลยเสียงจากสภาพแวดล้อมได้เช่น ในสนามบิน หรือโรงพยาบาล

ช่องเสียบหูฟัง 3.5 mm, WM-Port และจุดเกี่ยวสายสำหรับห้อยแขวนตัวเครื่อง
หูฟัง SONY รุ่น IER-NW500N ซึ่งมาพร้อมกับเครื่องเล่นดิจิทัลวอล์คแมนรุ่น NW-A46HN มีแจ็คหูฟัง 3.5 mm ที่พิเศษกว่าหูฟังหรือเฮดเซ็ททั่วไป สังเกตวงฉนวนที่หัวแจ็คจะมีถึง 4 วง (ปกติมี 2 หรือ 3 วง)
ที่ตัวหูฟังจะมีช่องไมค์รับเสียงจากภายนอกเพื่อใช้กับฟังก์ชั่น noise cancelling และ ambient sound mode

การใช้งานก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรครับ แค่เข้าไปตั้งค่าในเมนู Settings > Headphones แล้วเลือกรุ่นหูฟังไปที่ IER-NW500N ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ทั้ง Noise Cancelling และ Ambient Sound Mode นอกจากจะเปิด-ปิดการใช้งานได้แล้วยังเลือกปรับระดับปริมาณการทำงานของทั้งสองฟังก์ชั่นได้อีกด้วย ทว่าทั้ง 2 ฟังก์ชั่นนี้ไม่สามารถทำงานพร้อมกันนะครับ จำเป็นต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

Higher Resolution
ในวันเปิดตัวที่เมืองไทย เจ้าหน้าที่ของโซนี่เผยว่าแม้รุ่นใหม่จะมีหน้าตาเหมือนรุ่นเก่าอย่างกับแกะ แต่วงจรภายในมีการปรับปรุงในหลายส่วน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า (PCB) ในดิจิทัลวอล์คแมน Sony NW-A40 Series ถูกปรับปรุงจาก NW-A30 Series ให้ส่งผ่านกระแสไฟฟ้าได้ราบรื่นมากขึ้น ส่งผลให้วงจรภาคจ่ายไฟมีความเสถียรที่ดีขึ้น ซึ่งทางโซนี่บอกว่ามันจะทำให้เสียงสะอาดขึ้น ให้เสียงทุ้มที่มีมวลเนื้อกระชับแน่นมากขึ้นด้วย

หรือแม้กระทั่งตะกั่วที่ใช้บัดกรีบนแผงวงจรไฟฟ้าทางโซนี่ก็เลือกใช้ตะกั่วบัดกรีสูตรใหม่ เป็นโลหะบัดกรีไร้สารตะกั่วคุณภาพสูงให้การเชื่อมต่ออิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วนประกอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ดูจากภาพเปรียบเทียบในเวบไซต์จะเห็นว่าจุดบัดกรีแบบใหม่จะมีความสดใสเงางามกว่า) ภาคขยายเสียงสำหรับหูฟังเป็นระบบดิจิทัล S-Master HX™ (ชิป CXD3778GF) ที่ให้รายละเอียดเสียงและความคมชัดสดใสสมจริง เป็นชิปที่โซนี่เลือกใช้ในวอล์คแมนรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงในรุ่นที่แพงกว่า NW-A46HN

แผงวงจรไฟฟ้าของ NW-A40 Series ที่ได้รับการปรับปรุงจากรุ่นเดิม

ด้านการรองรับไฟล์เสียงรายละเอียดสูงในรุ่นนี้ก็รองรับมากกว่ารุ่นเดิมโดยเฉพาะฟอร์แมตDSD (.dsf, .dff) ที่เครื่องเล่นไซส์มินิตัวนี้เล่นได้สูงสุดถึง DSD 1bit/11.2896 MHz หรือ DSD256 ทว่าการเล่น DSD ในเครื่องเล่นรุ่นนี้จะเป็นลักษณะของการแปลงสัญญาณ DSD ให้เป็น PCM เสียก่อน จะไม่ได้เล่นแบบ Native DSD เหมือนในวอล์คแมนรุ่นใหญ่ของโซนี่เอง ทางด้านฟอร์แมต PCM เครื่องเล่นรุ่นนี้เล่นได้สูงสุดถึง 24bit/192kHz

ฟังก์ชั่นที่เกี่ยวกับระบบเสียงใน DAP รุ่นนี้ยังคงถอดแบบมาจากเครื่องเสียงยุคใหม่ของโซนี่มาครบทั้ง 6 Band equalizer, ClearAudio+, Clear Phase, DC Phase Linearizer, DSEE HX, Dynamic Normalizer และ VPT (Virtualphones Technology) สามารถเลือกใช้ได้จากเมนูตั้งค่า Settings > Sound และ Settings > Sound > Sound Settings

รายละเอียดเสียงที่จับต้องได้และเป็นธรรมชาติมากขึ้น
เมนูต่าง ๆ และการใช้งานสำหรับวอล์คแมนรุ่นนี้ยังคงเหมือนในรุ่นเดิม NW-A30 Series แทบทุกประการ คนที่เคยใช้รุ่นเดิมมาก่อนนี่ไม่ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเลยครับ สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคย UI (User Interface) หรือส่วนประสานงานผู้ใช้ของวอล์คแมนรุ่นนี้จะมีหน้าหลัก (เทียบได้กับหน้า Home ในสมาร์ทโฟน) เป็นหัวข้อเมนูต่าง ๆ ที่ใช้บ่อย ซึ่งจะมีอยู่ 2 หน้าด้วยกันเอานิ้วปัดหน้าจอจากขวามาซ้ายก็จะเห็นเมนูหลักอีกหน้า

แถบด้านบนในหน้า Home จะเป็นปุ่มลัดเข้าใช้งานวิทยุ FM, เข้าใช้งานโหมดเรียนรู้ภาษา (Language Study) หรือเข้าใช้งานโหมด USB-DAC สำหรับแถบด้านล่างในหน้า Home จะเป็นส่วนของเมนูเล่นเพลง เพียงเอานิ้วปัดหน้าจอขึ้นด้านบนก็จะกลับไปที่หน้าพร้อมเล่นเพลง (Now Playing)

เมนูหลักของตัววอล์คแมน

ในหน้าพร้อมเล่นเพลง ถ้าปิดนิ้วขึ้นบนจะเข้าสู่หน้าเมนูปรับแต่เสียง, ปัดไปทางขวามือจะเข้าสู่รายการคิวเพลง, ปัดไปทางซ้ายมือจะเข้าสู่เมนู Bookmark List ปัดลงล่างกลับสู่หน้า Home (เมนูหลัก) รายละเอียดเหล่านี้หากใช้งานจนคล่องแล้วมันจะสะดวกคล่องตัวมากเลยครับ ปุ่มคำสั่งอื่น ๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยากโดยเฉพาะคนยุคนี้ที่คุ้นเคยกับการใช้งานหน้าจอสัมผัสของสมาร์ทโฟนกันดีอยู่แล้ว

หลังจากทำความรู้จักกันด้วยเวลาไม่นาน (ส่วนหนึ่งเพราะผมเคยเล่น NW-A30 Series มาก่อน) ผมก็เริ่มลองฟังเสียงของ NW-A46HN โดยใช้หูฟังที่มากับเครื่อง ผมพบว่าการเลือกแมตช์ตัวหูฟังตัวนี้ให้ตรงรุ่นในเมนู Settings > Headphones คือเรื่องจำเป็นครับ ไม่เช่นนั้นแล้วเสียงที่ได้หูฟัง IER-NW500N จะค่อนขาดชีวิตชีวาและมีลักษณะกระด้างออกมาให้ได้ยินพอสมควรเลยทีเดียว

ดังนั้นในเบื้องต้นผมจึงไม่แนะนำให้ใช้งานหูฟังตัวนี้กับเครื่องเล่นอื่น ๆ นอกจากวอล์คแมนตัวนี้ และจำเป็นจะต้องตั้งค่าในเมนู Settings > Headphones โดยเลือกไปที่ชื่อของ IER-NW500N ด้วยครับ สุ้มเสียงจะดีน่าฟัง เข้าที่เข้าทางขึ้นมาก

จับคู่กับหูฟัง 1MORE Quad Driver เสียงเข้ากันดีมาก

เสียงที่ได้จากหูฟังและเครื่องเล่นวอล์คแมนที่จับคู่กันมาชุดนี้ เป็นลักษณะเสียงที่ฟังสนุก คึกคัก การเน้นย้ำของแต่ละเสียงเน้นไปที่ความเด็ดขาดคมชัด ไม่เน้นที่ความเนียนนุ่ม ฟังป๊อป ร็อค หรือแดนซ์ทั่วไปจะได้อารมณ์เร้าใจเป็นพิเศษ การถ่ายทอดเสียงทุ้มของเครื่องดนตรีประเภทกลอง เบสดรัม หรือเบสไฟฟ้ามีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน หนาและใหญ่เป็นลูก ๆ ภาษาวัยรุ่นเขาว่าแนวเสียงจะออกไปทางโจ๊ะ ๆ หน่อย

เวลาฟังเพลงในระหว่างทำงานใช้หูฟังของโซนี่เองแล้วเปิดโหมด Ambient Sound Mode ทำให้ยังสามารถติดต่อกับเพื่อนร่วมงานได้ ใครเรียกหาก็ยังได้ยิน
เล่นไฟล์ DSD และ MQA ได้ด้วย

แต่ใครที่มีหูฟังคู่ใจอยู่แล้ว และไม่ต้องการใช้ฟังก์ชั่น noise cancelling และ ambient sound mode หรือไม่แคร์ที่หูฟังกับเครื่องเล่นของคุณจะมีสีสันที่ไม่แมตช์กัน คุณอาจจะหันไปเลือกรุ่น NW-A45 แทน เพราะตัววอล์คแมนจะมีคุณสมบัติเหมือนรุ่น NW-A46 นี้แต่ความจุข้อมูลในตัวจะน้อยกว่า แน่นอนว่าผมก็มีหูฟังคู่ใจอยู่เหมือนกัน ดังนั้นผมจึงได้ลอง NW-A46HN กับหูฟังของผมและหูฟังรุ่นอื่น ๆ ด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็น Sennheiser : HD 4.20S, 1MORE : Quad Driver, PSB : M4U 2, Shure : SRH940 และ AKG : N30

จากสเปคฯ วอล์คแมนรุ่นนี้มีกำลังขับข้างละ 35 มิลลิวัตต์เท่ากับในรุ่นเดิม ดังนั้นมันจึงสามารถขับหูฟังขนาดเล็กประเภทอินเอียร์หรือเอียร์บัดทั้งหลายได้สบาย ๆ รวมไปถึงหูฟังขนาดกลางและหูฟังฟูลไซส์ที่มีอิมพิแดนซ์ไม่สูงจนเกินไป ความไวไม่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนเกินไป อย่างเช่นหูฟังทุกตัวที่ผมเอามาลองฟัง เครื่องเล่นรุ่นนี้ขับได้ทั้งหมดแบบสบาย ๆ

พูดถึงภาพรวมของเสียงที่ได้จากวอล์คแมนรุ่นนี้ ผมมั่นใจว่ามันยังคงเป็น DNA เดียวกับ NW-A30 Series แน่นอน เป็นเสียงที่มีลักษณะเปิดเผย ให้เวทีเสียงกว้างขวาง มีความโดดเด่นในแง่ของความคมชัด ความกระจ่างใส มวลเนื้อเสียงมีลักษณะทรวดทรงที่สมจริง ตรงไปตรงมา ไม่ใช่ลักษณะของการปรุงแต่งให้น่าฟัง ให้เสียงทุ้มที่มีน้ำหนัก แน่นกระชับ มีความคมชัด มันเหมือนเราดูภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิทัลสมัยใหม่บนทีวี 4K HDR มากกว่าภาพที่ถ่ายจากกล้องฟิล์ม

ถ้าหากจะเปรียบเทียบกับ NW-A35 ที่ผมรีวิวไปเมื่อปีก่อน ต้องออกตัวไว้ก่อนว่านี่เป็นการเปรียบเทียบจากความทรงจำอันเลือนลางเต็มทีแล้ว ผมว่าฮาร์มอนิกหางเสียงของเรื่องรุ่นนี้ใหม่นี้ฟังดูทอดประกายหางเสียงได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่า ผ่อนคลายกว่า ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องหรือเสียงเครื่องเป่าในเพลง ‘I Will Always Love You’ จากอัลบั้ม The Essential ของ Whitney Houston รายละเอียดดังกล่าวได้ยินชัดพอสมควรแม้กระทั่งการฟังจากไฟล์ flac 16bit/44.1kHz ที่ริบจากแผ่นซีดีทั่วไปไม่ใช่ไฟล์รายละเอียดสูง

เสียงที่วอล์คแมนรุ่นนี้ถ่ายทอดได้จากไฟล์เสียงรายละเอียดสูงทั้ง PCM และ DSD มันทำให้ผมนึกถึง DAC หรือ USB-DAC แยกชิ้นระดับมิดเอ็นด์แก่ ๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ DAC หรือ USB-DAC ระดับ entry level หรือเสียงที่ได้จากสมาร์ทโฟนทั่วไปแต่อย่างใด ความคมเข้มชัดเจนของเสียงมีอยู่ตลอดทั้งช่วงความถี่เสียงไม่ใช่แค่ช่วงความถี่ช่วงใดช่วงหนึ่งเพียงเท่านั้น

อีกทั้งมันยังแยกแยะรายละเอียดต่าง ๆ ที่ทับซ้อนอยู่ในเสียงเพลงออกมาได้ดีด้วย ทำให้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเพลงมิอาจอำพลางหูของเราได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจับคู่กับหูฟังอย่าง 1MORE Quad Driver ซึ่งเป็นหูฟังที่แมตช์กับวอล์คแมนรุ่นนี้แบบสุด ๆ หรือ AKG N30 ที่เปิดเผยว่ารายละเอียดที่เครื่องเล่นตัวนี้ถ่ายทอดออกมามันมีมลพิษทางเสียงน้อยจนน่าทึ่ง

อย่างเช่นอัลบั้ม All For You (A Dedication to the Nat King Cole Trio) ไฟล์ 24bit/96kHz จาก HDtracks เสียงที่ขับขานจากวอล์คแมนรุ่นนี้ผ่านหูฟังของ 1MORE มีความเป็นดนตรีสูงมาก จากเพลงหนึ่งไปยังอีกเพลงหนึ่งมีความไหลลื่นระรินเหมือนกระแสน้ำในลำธารใสสะอาด ระหว่างการรีวิวมันทำให้ผมสนุกกับการเลือกอัลบั้มเพลงทั้งใหม่และเก่ามาฟังมาก ผมอยากรู้ว่าอัลบั้มใหม่แต่ละชุดเสียงดีแค่ไหน ผมอยากทราบว่าอัลบั้มเก่าที่ผมเคยฟังมาแล้วนับไม่ถ้วนเมื่อมาเปิดฟังกับวอล์คแมนตัวนี้มันจะได้ยินอะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่

สำหรับการเล่นไฟล์ DSD แม้ว่าจะเป็นการเล่นแบบแปลง DSD เป็น PCM แต่อย่าได้ลืมว่า ใครคือผู้ให้กำเนิดฟอร์แมตนี้? ผมท้าทายเลยครับว่าการเล่น DSD แบบแปลง DSD to PCM ในเครื่องเล่นรุ่นนี้หากทางโซนี่ไม่บอกกันตามตรง ก็ยากนักที่จะทราบความจริง เพราะเสียงที่ออกมายังดีกว่า DAP บางตัวที่บอกว่าเล่น Native DSD เสียอีก!

อัลบั้มหนึ่งที่ผมมักจะใช้ฟังเพื่อทดสอบว่าเครื่องเล่นหรือ DAC ตัวนั้น ๆ ถอดรหัสสัญญาณ DSD ได้ดีเพียงใดนั่นคืออัลบั้ม Appalachian Journey นี่คืออัลบั้มเพลงที่ทางโซนี่ตั้งใจปลุกปั้นเพื่อมาสนับสนุนฟอร์แมต DSD เป็นพิเศษ อัลบั้มนี้ออกมาในสังกัด Sony Music Masterworks ในช่วงปี 2000 การบันทึกเสียงเป็นระบบ ‘Direct to DSD Stereo Recording’ ทุกกระบวนการขั้นตอนตั้งใจทำเพื่อให้เชิดหน้าชูตาฟอร์แมต DSD โดยเฉพาะ (ปัจจุบันไฟล์ DSD งานชุดนี้มีจำหน่ายทางเวบไซต์ของ Acoustic Sounds) ดังนั้นเมื่อเปิดเล่นไฟล์ DSD งานชุดนี้เราจะต้องรับรู้ได้ถึงคุณลักษณะดังกล่าวและ NW-A46HN ก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างไร้ที่ติครับ

ลองเล่นเป็น USB-DAC
ผมยังได้ลองเล่น NW-A46HN ในโหมด USB-DAC ซึ่งเป็นคุณสมบัติใหม่สำหรับวอล์คแมน A Series ของโซนี่ การใช้งานในโหมด USB-DAC หากต่อกับคอมพิวเตอร์ macOS ไม่จำเป็นต้องลงไดรเวอร์ใด ๆ ครับ แต่ถ้าเป็นวินโดวส์ต้องติดตั้งไดรเวอร์ก่อนโดยเข้าไปโหลดฟรีได้ ที่นี่

ในระหว่างใช้งานเป็น USB-DAC เครื่องจะได้รับการชาร์จไฟไปด้วยโดยอาศัยไฟจากพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์ ผมลองใช้งาน NW-A46HN ในโหมด USB-DAC ด้วยโปรแกรม roon ทั้งใน macOS High Sierra และ Windows 10 เวอร์ชั่นล่าสุดพบว่าเมื่อในงานเอาต์พุตใช้งานโหมด WASAPI มันรองรับไฟล์รายละเอียดสูงระดับสูงสุดเป็น PCM 24bit/192kHz (bit perfect) และ Native DSD64 (bit perfect) หมายความว่าเมื่อต่อใช้งานในโหมด USB-DAC มันสามารถถอดรหัสไฟล์ DSD ได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องแปลงเป็น PCM ก่อนเหมือนการเล่นไฟล์ DSD จากตัวเครื่องเอง

ลองใช้งานเป็น USB-DAC กับโปรแกรม roon ในคอมพิวเตอร์

นอกจากการใช้งานกับคอมพิวเตอร์แล้ว ผมยังได้ลองใช้วอล์คแมน Sony NW-A40 Series เป็น USB-DAC ต่อใช้งานกับสมาร์ทโฟน พบว่าสำหรับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์สามารถใช้งานได้ครับ เปิดฟังเสียงจาก Spotify, JOOX หรือ YouTube ได้สบาย ๆ และให้เสียงดีกว่าฟังจากสมาร์ทโฟนโดยตรงมาก ยิ่งถ้าเล่นกับแอปฯ เล่นเพลงคุณภาพดีอย่าง USB Audio Player Pro ยิ่งผ่านฉลุยครับ สามารถถอดรหัส DSD โดยตรงได้อีกต่างหาก (ไม่ต้องแปลงเป็น PCM ก่อน) เล่น PCM ก็เป็นรับ-ส่งข้อมูลกันแบบ Bit Perfect ด้วยครับ

ลองใช้เป็น Mobile DAC ต่อใช้งานกับมือถือแอนดรอยด์ ใช้ฟังเพลงสตรีมมิ่งทั่วไปก็ได้ ถ้าใช้กับแอปฯ เล่นเพลงชั้นดีอย่าง USB Audio Player Pro จะสามารถเล่น แบบ Bit Perfect ได้แม้แต่ไฟล์เสียง DSD คุ้มค่าสุดๆ ไปเลย
ภาพซ้ายต่อเล่นกับมือถือ Android ภาพขวาเมื่อต่อเล่นกับมือถือ iOS

แต่สำหรับคนที่ใช้ไอโฟนต้องขอเสียใจด้วยนะครับ เพราะไอโฟนจะไม่ยอมรับอุปกรณ์ USB-DAC ตัวนี้ครับ โดยมันจะฟ้องว่า WALKMAN ตัวนี้ใช้พลังงานมากเกินไป (มากเกินข้อจำกัดของ iOS)

ของดีที่พัฒนามาจากของที่มีดีอยู่แล้ว
ผมมักจะบอกเสมอและจะบอกอีกครั้งตรงนี้ว่า การพัฒนาของที่มีดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ใครที่สามารถทำได้ผมมักจะให้เครดิตเป็นพิเศษ และนี่เป็นอีกครั้งที่ผมจะยกเครดิตนี้ให้กับทางโซนี่

มีเรื่องเดียวที่ผมยังอยากให้โซนี่ปรับเปลี่ยนเสียทีก็คือขั้วต่อ WM-Port ที่โซนี่มีใช้งานอยู่ยี่ห้อเดียว จริงอยู่แม้ว่าในปัจจุบันจะมีคนทำหัวแปลงจาก WM-Port เป็น Micro USB ออกมาขายแล้ว แต่ก็ยังเป็นอะไรที่รู้สึกยุ่งยากวุ่นวายอยู่ดี

แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องเสียง คุณภาพเสียงของ NW-A46HN เครื่องนี้ต้องเรียนกันตามตรงว่า ‘หายห่วงครับ’ ใครที่ชอบพอเสียงของเครื่องรุ่นก่อนหน้านี้อยู่แล้วเหมือนผม มาในรุ่นนี้ต้องชอบด้วยอย่างแน่นอน ยิ่งถ้านับรวมคุณสมบัติที่เพิ่มขึ้นมาอย่างเช่น aptX HD, MQA หรือ USB-DAC แล้ว ก็คงไม่ต้องเสียเวลาถามหาเรื่องความคุ้มค่ากันเลยล่ะครับ เป็นเครื่องเสียงอีกรุ่นที่ผมรีวิวแล้วต้องบอกว่า “ถูกใจใช่เลย”


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด (ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์:)
โทร 0-2715-6100
โทรฟรี: 1800 231991 (เฉพาะเบอร์บ้านในต่างจังหวัด)
ราคา 10,990 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ