fbpx
REVIEW

รีวิว ALPHA DESIGN LABS : GT40a

พูดถึงเครื่องเสียงแบรนด์เนมสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Alpha Design Labs หรือที่ผมมักจะเรียกย่อ ๆ ว่า ADL ส่วนตัวผมชอบแนวคิดสินค้าของเขานะครับ

เท่าที่ได้ลองเล่นลองฟังมาหลายรุ่น มันอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของเทคโนโลยีและไอเดียในการออกแบบสินค้าผมว่ายี่ห้อนี้เขาไม่เป็นรองใคร อย่างเครื่องรุ่น GT40a (alpha) รุ่นใหม่ของเขาก็เช่นกัน

การออกแบบและงานวิศวกรรม
สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักยี่ห้อ Alpha Design Labs โดยพื้นเพของยี่ห้อนี้ก็คือแบรนด์เนมในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของทางยี่ห้อ Furutech นั่นเอง สำหรับคนที่รู้จักและเคยเห็นสินค้าของเขาแล้ว

เมื่อได้เห็น GT40a อาจจะบอกว่ามันดูคุ้นตามากเพราะว่า form factor หรือลักษณะทางกายภาพของมันถูกพัฒนามาในแนวทางเดียวกับเครื่องรุ่นก่อนหน้าอย่างรุ่น GT40 และ Esprit ทว่ามีความแตกต่างกันในรายละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงจรที่อยู่ข้างในเครื่อง (ดูความแตกต่างของคุณสมบัติได้จากตารางเปรียบเทียบ)

ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติพื้นฐานทางเทคนิคของ GT40, Esprit และ GT40a

GT40a เป็นดิจิทัลโปรเซสเซอร์ที่มีทั้ง DAC (Digital-to-Analog Converter) และ ADC (Analog-to-Digital Converter) ในตัว มีทั้งอินพุตรับสัญญาณดิจิทัลและอินพุตรับสัญญาณอะนาล็อก ทำหน้าที่ได้ทั้งเป็น USB DAC เพื่อถอดรหัสดิจิทัลนำเอาเสียงกลับคืนมา และเป็น Recording Interface สำหรับการบันทึก/เข้ารหัสเสียงให้เป็นสัญญาณดิจิทัล

นอกจากนั้นยังมีภาคโฟโนปรีแอมป์ในตัว (MM/MC) รวมถึงเอาต์พุตที่เลือกใช้งานได้ทั้งช่องเสียบหูฟังโดยตรงและช่องสัญญาณปรีเอาต์ด้านหลังเครื่อง

ฟังก์ชันเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะสิ่งเหล่านี้เคยมีในรุ่น GT40 ที่ออกมาเมื่อหลายปีก่อน และบางอย่างก็มีปรากฏในรุ่น Esprit ที่ออกตามหลังกันมาไม่นานเพียงแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป

จาก ‘ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติพื้นฐานทางเทคนิคของ GT40, Esprit และ GT40a’ จะเห็นว่า GT40a นั้นดูเหมือนจะเป็นรุ่นอัปเกรดของรุ่น GT40 โดยตรงเพราะมีฟังก์ชันใช้งานเทียบเคียงกันแทบทุกอย่าง แต่มีความสามารถในการรองรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงมากกว่าคือรองรับไปถึงระดับ PCM 24bit/192kHz ขณะที่ GT40 รุ่นเก่ารองรับสูงสุดเพียงแค่ PCM 24bit/96kHz เท่านั้น

ในส่วนของงานวิศวกรรมสำหรับ GT40a ผมว่ามันดูดีในตัวถังอะลูมิเนียมล้วนขนาดกะทัดรัดเหมือนกับเครื่องรุ่นพี่ พื้นผิวตัวถังทำสีแบบอะโนไดซ์มาเป็นสีเงินควันบุหรี่ งานผลิตและการประกอบมีความประณีตเรียบร้อยสมกับเป็นสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น

สวิตช์และปุ่มควบคุมฟังก์ชันต่าง ๆ ออกแบบมาให้ใช้งานเรียบง่ายตรงไปตรงมา ด้านหน้าเครื่องมีปุ่ม ‘POWER’ เปิด-ปิดการทำงานของเครื่อง, ปุ่มเลือกอินพุต USB/ANALOG, ไฟ LED ‘Clip Signal’ แสดงการขลิบของสัญญาณที่เข้ามาทางอินพุตอะนาล็อก, ช่องเสียบหูฟัง 6.35mm และปุ่ม Volume ควบคุมระดับเสียงของช่องเอาต์พุตทั้งหมด

ที่ด้านหลังตัวเครื่องเป็นที่อยู่ของขั้วต่อทั้งหมดว่าไปตั้งแต่ขั้วต่อไฟ 15V DC จากอะแดปเตอร์ไฟเลี้ยงตัวเล็ก ๆ แบบเสียบผนังที่ให้มาพร้อมตัวเครื่อง แจ๊คอินพุต USB, แจ๊คอินพุตอะนาล็อก RCA และแจ๊คเอาต์พุตปรีเอาต์ RCA

ทั้งหมดเป็นแจ๊คฉนวนเทฟล่อนที่มีหน้าสัมผัสสัญญาณไฟฟ้าเคลือบทองคำอย่างดีดูแข็งแรงทนทาน โดยเฉพาะแจ๊ค RCA นั้นมีตัวอักษรยี่ห้อ FURUTECH กำกับให้อุ่นใจมากขึ้นไปอีกด้วยครับ

ที่ด้านหลังเครื่องยังมีสวิตช์เลื่อนตัวเล็ก ๆ อีก 3 ตัว แต่ละตัวมีหน้าที่แตกต่างกัน สวิตช์ 2 ตัวที่อยู่ใกล้ ๆ กับแจ๊คอินพุตทำหน้าที่เลือกอินพุตสัญญาณอะนาล็อกว่าจะใช้งานกับ source ที่ให้สัญญาณเอาต์พุตออกมาในระดับไลน์ (LINE) หรือเป็นสัญญาณจากหัวเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียง (PHONO)

สวิตช์อีกตัวทำหน้าที่เลือกเกนให้แมตช์กับหัวเข็ม MM หรือ MC ในกรณีที่สวิตช์ตัวแรกเลือกไว้ที่ PHONO

สวิตช์ที่เหลืออีกตัว ‘RecAtt./dB’ ทำหน้าที่ปรับลดเกนของภาครับสัญญาณ ADC เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขลิบของสัญญาณเสียงในขณะที่มีการบันทึกเสียงจากอินพุตอะนาล็อก เลือกได้ 3 ค่าคือ 0 (ไม่มีการลดเกนเลย), 6 (ลดลงไป 6dB) และ 12 (ลดลงไป 12dB)

Technical Insight
จากข้อมูลทางเทคนิคในส่วนของการออกแบบเท่าที่ได้ทราบมา ผมว่าที่จริงแล้วทาง ADL สามารถตั้งชื่อ GT40a เป็นเครื่องรุ่นใหม่แบบ model change ไปเลย แทนที่จะเป็นชื่อที่ดูเหมือนเป็นแค่ minor change ของรุ่น GT40 อย่างนี้นะครับ

นั่นเพราะว่าการออกแบบ GT40a นั้นไม่ได้อาศัยแพลตฟอร์มหรือวงจรเดิม ๆ ของเครื่องรุ่นพี่ หากแต่ได้มีการพัฒนาฮาร์ดแวร์ส่วนต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ และแน่นอนว่าในยุคสมัยนี้สิ่งที่ต้องพัฒนาขึ้นใหม่ตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือเรื่องของซอฟต์แวร์ที่ต้องทำงานควบคู่กัน

การออกแบบ GT40a เลือกใช้ชิปเซ็ตภาครับสัญญาณ USB ตัวใหม่คือ VIA VT1736 ‘VIA Vinyl EnvyUSB 2.0 Audio Controller’ ซึ่งโดยสเปคฯ พื้นฐานของชิปตัวนี้รองรับสัญญาณไปถึงระดับ 32bits/192kHz เลยทีเดียว ส่วนวงจรภาค DAC และ ADC อยู่ในชิปตัวเดียวกันนั่นคือ Cirrus Logic CS4270 ’24-Bit, 192 kHz Stereo Audio Codec’

ส่วนของวงจรอะนาล็อกในภาค DAC, ADC, ภาคขยาย Line in และ Line out เลือกใช้ชิปออปแอมป์เบอร์ NJM5532 ส่วนภาคปรีโฟโนเลือกใช้ NJM2068 ความไวอินพุตสำหรับหัวเข็ม MM / MC อยู่ที่ 4.0mV / 0.4mV ตามลำดับ แต่ถ้าเป็นอินพุต Line ความไวจะอยู่ที่ 2Vrms

การออกแบบในส่วนของเอาต์พุตหูฟังเลือกใช้ชิปแอมป์ขยายหูฟังคุณภาพสูง ‘Maxim MAX9722A’ ซึ่งมีความสามารถในการจ่ายกำลังขับที่ 94mW (16 ohm), 110mW (32 ohm), 98.6mW (56 ohm), 23mW (300 ohm) โดยอ้างอิงที่ความถี่ 1kHz ความเพี้ยน THDสูงสุดไม่เกิน 1% ส่วนระดับเอาต์พุตสูงสุดของช่องปรีเอาต์อยู่ที่ 5 Vrms

และที่เหมือนดีไซน์ในรุ่นเก่าก็คือวงจรอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นจะไม่ได้อาศัยไฟเลี้ยงจากพอร์ต USB โดยตรงเหมือนใน USB DAC ขนาดตั้งโต๊ะหลายรุ่น แต่จะมีแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าแยกภายนอกเป็นอะแดปเตอร์ตัวเล็ก ๆ จ่ายไฟ DC 15V / 0.8A (12W)

การออกแบบส่วนนี้ทาง ADL เขาให้เหตุผลว่ามันจะส่งผลดีต่อคุณภาพเสียงในเวลาที่เล่นไฟล์ high resolution ซึ่งตัววงจรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติเพื่อรองรับไดนามิกเรนจ์และแบนด์วิธของเสียงที่เพิ่มมากขึ้น

High-Res USB DAC
การออกแบบให้ GT40a มีอินพุตดิจิทัล USB มาเพียงช่องเดียวแทนที่จะมีอินพุตดิจิทัลแบบอื่น ๆ มาให้ด้วยอย่างในรุ่น Esprit นั่นหมายความว่าทาง ADL คงเล็งเห็นแล้วว่าในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นแหล่งโปรแกรมกระแสหลักและมีแนวโน้มว่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ไกลกว่าแหล่งโปรแกรมดิจิทัลอื่น ๆ ที่เคยมีใช้กันมาตั้งแต่อดีต

สำหรับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows ก่อนใช้งาน GT40a จำเป็นจะต้องติดตั้งไดรเวอร์เสียก่อน โดยไดรเวอร์รุ่นล่าสุดสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของทางผู้ผลิต (http://www.adl-av.com/products/usbdac/gt40a/)

แต่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Macintosh สามารถต่อใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตั้งไดรเวอร์ ในรีวิวนี้ผมใช้งาน GT40a กับคอมพิวเตอร์ Mac mini เล่นเพลงผ่านโปรแกรม Audirvana Plus 2.0 และ Roon จาก Roon Labs เป็นหลัก

เบื้องต้นผมพบว่าภาคขยายหูฟังมีกำลังพอที่จะขับหูฟังฟูลไซส์อย่าง Shure SRH940 หรือ AKG K812 ได้แบบสบาย ๆ เหลือ ๆ ในกรณีถ้าหูฟังของคุณเป็นหูฟังที่ขับยากมากหรือมีความไวต่ำมากก็อาจจะเลือกเพิ่มแอมป์ขับหูฟังแยกต่างหากโดยต่อพ่วงสัญญาณเสียงจากปรีเอาต์ของ GT40a ก็ได้ครับ แต่กับหูฟัง 2 ตัวที่อ้างถึงข้างต้นผมคิดว่ามันไม่จำเป็นถึงขั้นนั้นครับ

แม้ว่า GT40a จะไม่ใช่ USB DAC ตัวเล็กที่สุดที่ผมใช้งานอยู่ แต่มันก็กะทัดรัดเพียงพอที่จะอยู่บนโต๊ะทำงานของผมทั้งที่บ้านและที่ทำงาน กะทัดรัดพอที่ผมจะหิ้วมันไปมาระหว่างที่บ้านกับที่ทำงานได้บ่อย ๆ

หลังจากผ่านพ้นการใช้งานไปนานกว่า 1 เดือน สิ่งที่ผมพบเจอจาก USB DAC ตัวนี้เป็นอะไรที่ชัดเจนมาก ๆ ว่าประสิทธิภาพของมันไม่ได้เล็กตามขนาดตัวเลยครับ

บนโต๊ะทำงานของผมมันส่งผ่านความเป็นดนตรีออกมาทางหูฟังตัวเก่งของผม (K812, SRH940) ได้อยู่เสมอ ไม่ว่าเพลงที่ผมฟังจะเป็นไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงที่เก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์หรือไฟล์ดิจิทัล CD Quality ที่ผมสตรีมมาฟังจาก TIDAL

การออกแบบให้ GT40a รองรับไฟล์ 24/192 มิเพียงทำให้มันรองรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงได้เหนือกว่ารุ่นเดิมอย่าง GT40 เท่านั้น แต่เมื่อฟังไฟล์ที่ sample rate ต่ำลงมาอย่างเช่นไฟล์ 24/96 หรือ 16/44.1 เสียงที่ได้จาก GT40a ก็ฟังดีกว่าด้วยครับ ได้เวทีเสียงที่โปร่งกว้างกว่าโดยไม่สูญเสียความเข้มข้นของเนื้อเสียง

แบนด์วิธและไดนามิกสวิงที่กว้างขึ้นเป็นผลบวกกับเสียงที่ได้แม้แต่ตอนที่ผมฟังเพลงที่ใช้ดนตรีอะคูสติกไม่กี่ชิ้นอย่างเช่นเพลง ‘Dancing in the Dark’ จากอัลบั้ม These Wilder Things ของ Ruth Moody แต่ละเสียงเป็นรายละเอียดที่สามาถรับรู้ได้ถึงความเป็นธรรมชาติของเสียง ลีลาของการบรรเลง ตลอดจนสมดุลน้ำเสียงที่มีความผ่อนคลาย แม้ว่าจังหวะดนตรีจะคึกคักร่าเริงสดใสมาก ๆ ก็ตาม

New Songs for Old Souls อัลบั้มใหม่ล่าสุดของ Joe Stilgoe จากสังกัด Linn Records เป็นอีกตัวอย่างของเพลงที่ผมได้ฟังกับ GT40a แล้วรู้สึกประทับใจในน้ำเสียงที่ได้เป็นพิเศษ

ฟังผ่าน ๆ ทีแรกยังไม่ได้สังเกตอะไรมากมายนะครับ แต่พอฟังไปสักพักความที่มันไม่มีอะไรมาสะดุดหูนี่แหละครับกลับกลายเป็นความลื่นไหลเพลิดเพลินอย่างต่อเนื่อง เพลงแล้วเพลงเล่า

เป็นเรื่องไม่ง่ายเท่าไรนะครับที่ฟรอนต์เอนด์ดิจิทัลราคาเบา ๆ เช่นนี้ จะสามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีจากวงบิ๊กแบนด์แจ๊ซ ออกมาเป็นน้ำเสียงที่ฟังไพเราะลื่นหูท่ามกลางรายละเอียดของเสียงที่กระจ่างชัดเจนถึงเพียงนี้

สิ่งที่ GT40a ไม่มีแต่ผมอยากได้จาก USB DAC ตัวนี้ก็มีแค่ 2 เรื่องครับ เรื่องแรกคือไฟแสดง sample rate ของสัญญาณดิจิทัลที่กำลังเล่น อีกเรื่องคือการรองรับการเล่นไฟล์ฟอร์แมต DSD โดยตรง ซึ่งในเวลานี้ USB DAC ในระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าทำได้แล้ว เรื่องอื่น ๆ ที่เหลือโดยเฉพาะเรื่องของสุ้มเสียงผมถือว่าสอบผ่านแล้วล่ะครับสำหรับการทำหน้าที่เป็น USB DAC

High-Res LP Listen & Rip
อินพุตอะนาล็อกของ GT40a ทั้งที่เป็นอินพุต Line และ Phono ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการบันทึกเก็บเป็นข้อมูลไฟล์เสียงเท่านั้นนะครับ แต่ยังเปิดโอกาสให้คุณฟังจากมันได้โดยตรงเหมือนกับว่า GT40a นั้นเป็นแอมป์หูฟังหรือปรีแอมป์ตัวหนึ่งได้ด้วยครับ ได้ทั้งในกรณีใช้งานเป็น ‘โฟโนปรีแอมป์’ หรือ ‘โฟโนปรีแอมป์+ปรีแอมป์ (หรือแอมป์หูฟัง)’

ผมลองฟังดูแล้วเรื่องเกนขยายของภาค Line Stage ในตัวมันสามารถใช้งานในโหมดนี้ได้แบบสบาย ๆ ครับ ส่วนภาคโฟโนที่สามารถเล่นได้ทั้งหัวเข็ม MM และ MC อาจจะเกนต่ำไปหน่อยเมื่อใช้งานหัวเข็ม MC รุ่นที่เอาต์พุตต่ำมาก ๆ แต่โดยทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ดีพอสมควรโดยเฉพาะกับหัวเข็มประเภท MM

ขณะเดียวกันพอร์ต USB ใน GT40a ก็มิได้เป็นเพียงช่องอินพุตดิจิทัลในโหมด USB DAC เท่านั้น แต่มันยังสามารถทำหน้าที่เป็นเอาต์พุตดิจิทัลในโหมดของการบันทึกเสียงได้ด้วยครับ

โดยการทำงานคร่าว ๆ ก็คือเมื่อวงจร ADC รับสัญญาณอะนาล็อกเข้ามา (Line หรือ Phono) มันจะแปลงสัญญาณนั้นให้เป็นสัญญาณดิจิทัลก่อนจะส่งออกไปทางพอร์ต USB ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์

ในที่นี้ผมใช้คอมพิวเตอร์ Mac mini และใช้โปรแกรม Audacity ทำหน้าที่เป็น Audio Recorder/Editor โปรแกรมตัวนี้เป็นฟรีแวร์แต่มีคุณสมบัติครบถ้วนใช้งานได้ดีเลยทีเดียวครับ

นอกจากการใช้งานเป็นปรีแอมป์/แอมป์หูฟังแล้ว ในโหมด Recording ของ GT40a ยังเปิดโอกาสให้ source ใด ๆ ที่ให้เอาต์พุตสัญญาณอะนาล็อกระดับไลน์ (line level) หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียง สามารถใช้ประโยชน์จากภาค ADC ในตัวมันเพื่อการแปลงสัญญาณเสียงอะนาล็อกนั้น ๆ ไปเก็บอยู่ในรูปแบบของข้อมูลไฟล์ดิจิทัลได้ด้วยครับ

ที่ไม่ธรรมดาคือข้อมูลไฟล์ดิจิทัลที่ว่านี้สามารถเลือกเป็นไฟล์ดิจิทัลรายละเอียดสูงถึงระดับ 24/192 ได้ด้วยสิครับ! ตรงนี้สำคัญนะครับเพราะไดนามิกเฮดรูมและแบนด์วิธที่มีเหลือเฟือของไฟล์ ADC 24/192 จะทำให้การริปแผ่นไวนิลมาเป็นไฟล์ดิจิทัลสามารถเก็บบันทึกทุก ๆ รายละเอียดของสัญญาณเสียงอะนาล็อกเอาไว้ได้ครบถ้วนมากกว่า

นอกจากนั้นในโปรแกรม Audacity ยังสามารถเลือกสเกลไฟล์เอาต์พุตลงมาอยู่ที่ resolution อื่น ๆ เช่น 16/44.1 หรือ 24/96 ก็ได้ด้วยเช่นกัน สำหรับวิธีการริป LP ด้วย GT40a ทาง Clef Audio ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเขาได้จัดทำเป็นคลิปวิดีโอเอาไว้ด้วยครับ

ในระหว่างการรีวิวผมได้ลองใช้ GT40a ริปแผ่นเสียงจำนวนหนึ่งเก็บไว้เป็นไฟล์ดิจิทัลทั้ง 24/96 และ 24/192 ผมพบว่ามันทำหน้าที่ได้ดีมาก ระหว่างการริปไม่พบปัญหากวนใจใด ๆ นอกจากเสียง noise เบา ๆ จากภาคโฟโนสเตจที่พอมีให้ได้ยินเป็นแบคกราวน์เบา ๆ เมื่อมอนิเตอร์ฟังเสียงจากหูฟัง โชคดีที่มันเป็น noise ระดับเบาบางพอที่จะไม่เป็นปัญหาในเวลาเปิดฟังจากไฟล์ที่ริปมาได้จากชุดลำโพง

ผมลองริปแผ่น Test Pressing งานหลายชุดทั้งเพลงไทยและเพลงเทศ หนึ่งในนั้นคือ Test Pressing อัลบั้ม ‘Winds of War and Peace’ จากสังกัด Wilson Audiophile โดยใช้เทิร์นเทเบิ้ล Well Tempered Simplex ติดหัวเข็ม Shelter 501MkII ไฟล์เสียงที่ได้บอกได้เลยครับว่าน่าทึ่ง

ยิ่งถ้าคิดว่าเป็นผลงานของ ADC ในดิจิทัลโปรเซสเซอร์ตัวเล็กเท่าฝ่ามือแค่นี้มันอยู่เหนือความคาดหมายไปมาก ๆ ยิ่งเมื่อเทียบกับการริปแผ่นเสียง LP ด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่นจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงสำเร็จรูปราคาย่อมเยาหรือโฟโนปรีแอมป์ตัวเล็ก ๆ บางรุ่นที่สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ทางพอร์ต USB ได้ด้วย เท่าที่ผมเคยลองเล่นลองฟังมาทั้งหมดไม่มีตัวไหนให้ไฟล์เสียงออกมาน่าประทับใจเท่า GT40a เลยครับ

โดยเฉพาะเรื่องของเนื้อเสียงที่แน่น เต็ม เข้มข้น ควรค่าแก่การริปจากแผ่น LP ที่คุณแสนจะหวงแหน โอเคว่าบางกรณีราคาของ GT40a อาจจะสูงกว่า แต่อย่าลืมว่าขณะเดียวกันคุณยังได้ USB DAC คุณภาพดีมาก ๆ มาพร้อมกันด้วยครับ

เมื่อคุณไม่ต้องเลือกระหว่างดิจิทัลและอะนาล็อก
จากที่ได้ลองเล่นลองฟังมาในช่วงเวลาร่วม ๆ 2-3 เดือน ผมว่า GT40a เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่เล่นทั้ง source อะนาล็อกและดิจิทัล

สำหรับคนที่เล่น LP เป็นหลักอยู่แล้ว ถ้ากำลังมองหาอุปกรณ์สำหรับใช้ริป LP นั้นออกมาเก็บไว้ในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัลคุณภาพสูงเพื่อความสะดวกสำหรับการฟังหรือการใช้งานในโอกาสต่าง ๆ GT40a คือตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นลำดับต้น ๆ ในงบประมาณที่ย่อมเยาและคุ้มค่า

สิ่งที่ผ่านการพินิจพิจารณาจนกระทั่งมาเป็นข้อสรุปดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขสเปคฯ หากแต่เป็นผลลัพธ์จากการใช้งานจริง

โดยส่วนตัวผมกำลังมีโปรเจ็กต์จะแบคอัพแผ่น LP ทั้งหมดที่มีเก็บเป็นไฟล์เสียง และนำไปใช้ประโยชน์ในโอกาสต่าง ๆ แน่นอนว่า GT40a คืออุปกรณ์ชิ้นแรกที่ผมจะเลือกใช้ในงานนี้ ทั้งในส่วนของการริปแผ่น LP และการมอนิเตอร์ฟังผลงานที่ริปออกมา

สำหรับคนที่ยังลังเลว่าจะเลือกเล่นไปทางไหนดีระหว่าง source ที่เป็นระบบอะนาล็อกอย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียงและ source ที่เป็นระบบดิจิทัลสมัยใหม่ซึ่งสามารถถ่ายทอดความเป็นดนตรีด้วยรายละเอียดที่สูงจนน่าพึงพอใจทั้งคู่

อุปกรณ์ชิ้นนี้ทำให้คุณไม่ต้องเลือกครับเพราะมันรองรับทั้งสองอย่างเลย คุณสมบัติข้อนี้นี่เองที่ ADL สามารถทำให้ GT40a เป็นความแตกต่างที่โดดเด่นและคุ้มค่าจนต้องบอกว่า “highly recommended… แนะนำเป็นอย่างยิ่งครับ!”


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
บริษัท เคลฟ ออดิโอ จำกัด
โทร. 0-2932-5981-2
ราคา 20,600 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ