fbpx
REVIEW

รีวิว Bluesound : Node2, Powernode 2 “BluOS Streaming Hi-Res Audio MQA”

กว่า 1 ปีเศษนับตั้งแต่ที่ได้เปิดตัวในบ้านเราอย่างเป็นทางการ เครื่องเสียงยี่ห้อบลูซาวด์ ‘Bluesound’ จากประเทศแคนาดาได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแค่ ‘อีกหนึ่งทางเลือก’ แต่พวกเขานับว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ของเครื่องเสียงดิจิทัลไฮไฟสมัยใหม่

แน่นอนว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ภาระกิจของพวกเขาก็ยังไม่ได้สำเร็จลุล่วง นับตั้งแต่ที่บลูซาวด์เข้ามาเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2014 จวบจนถึงทุกวันนี้บลูซาวด์ยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีการพัฒนาในตัวสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดก็คือ ‘บลูซาวด์เจนเนอเรชั่นที่สอง’ หรือ ‘Bluesound Gen 2’

Bluesound Gen 2 ความเหมือนที่แตกต่าง
ผมเคยได้รีวิวเครื่องเสียงบลูซาวด์รุ่นแรกไปแล้วเมื่อปีก่อน เป็นรุ่น Vault, Powernode และ Pulse ซึ่งมีความเหมือนกันในแง่มุมของระบบประมวลผลต่าง ๆ ที่หัวใจของบลูซาวด์ แต่แตกต่างกันในด้านของรูปแบบการใช้งานและฟังก์ชั่นปลีกย่อย

ทั้ง 3 รุ่นทำให้ผมเข้าใจถึงแนวคิดของบลูซาวด์ที่เข้าใจนำเอาเทคโนโลยีที่เป็นแกนหลักมาสร้างความแตกต่างเพื่อให้ตัวสินค้าสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่เล่นเครื่องเสียงไฮไฟแบบจริงจัง หรือคนทั่วไปที่ต้องการเครื่องเสียงคุณภาพคุ้มค่าสักชุดหนึ่งไปตอบสนองความต้องการในการเสพเสียงดนตรีของตัวเอง

Node 2 กับดีไซน์ใหม่สุดโมเดิร์น

ครั้งแรกที่เห็นรูปร่างหน้าตาของ Bluesound Gen 2 ในหน้าเวบไซต์ www.bluesound.com ผมแอบคาดเดาในใจว่าทางบลูซาวด์คงได้รับฟีดแบ็คจากกลุ่มคนที่เล่นเครื่องเสียงไฮไฟแบบจริงจังไปพอสมควร เพราะมันดูเป็นเครื่องเสียงขึ้นเยอะเลยครับ

ขณะเดียวกันความความเท่ ความล้ำสมัย ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าในรุ่นเดิมเลย ส่วนตัวผมชอบหน้าตาแบบรุ่นนี้ใหม่นี้มากกว่ารุ่นเก่าที่เป็นทรงลูกบาศก์นะครับ วางใช้งานใกล้ ๆ มือบนโต๊ะทำงานก็ดูจะสะดวกดีครับเพราะมันดูกะทัดรัดกว่ารุ่นแรกอยู่พอสมควร

นอกจากนั้นแล้วใน Bluesound Gen 2 นี้ยังมีการเพิ่มรุ่นปลีกย่อยออกไปมากกว่าเดิมด้วยครับ โดยเฉพาะในกลุ่มลำโพงที่มีรุ่นเล็กพริกขี้หนูอย่างเจ้า Pulse Flex ออกมาให้เลือกด้วย และรุ่นขนาดกลางอย่าง Pulse Mini หรือชุดลำโพง 2.1 แอคทีฟซับวูฟเวอร์อย่างรุ่น Duo ที่ตั้งใจทำมาให้แมตช์กับ Powernode และ Powernode 2 ซึ่งมีแอมป์ในตัวสามารถขับลำโพงได้โดยตรง เพิ่มมาให้เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ด้วย

Powernode 2 หรือ Node 2 เวอร์ชั่นมีแอมป์ในตัว
ดีไซน์เหมือนกันแต่ขนาดดูบึกบึนมาอีกเล็กน้อย

ส่วนตัวผมในฐานะที่ได้ทำความรู้จักบลูซาวด์ไปในรุ่นแรกพอสมควรแล้ว ใน Bluesound Gen 2 นี้ถ้าอยากทราบว่าเกิดความเปลี่ยนอะไรใน Gen 2 มากที่สุด ผมว่า Node 2 และ Powernode 2 น่าจะให้คำตอบได้ดี เพราะว่ามันไม่มีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ มาเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความสับสนในการแยกแยะสมรรถนะและคุณภาพเสียงระหว่างบลูซาวด์ทั้งสอง Gen

Bluesound Gen 2 ยังคงเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ BluOS เหมือนในรุ่นแรก นั่นหมายความว่าเครื่องทั้งสองเจนเนอเรชั่นยังคง compatible กันหรือหมายถึงใช้งานร่วมกันได้

การเชื่อมต่อระบบ network รองรับทั้งแบบใช้สายและแบบไร้สาย นอกจากรูปร่างหน้าตาแล้วสิ่งที่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรในรุ่น Gen 2 นี้ คือวงจรไฟฟ้าที่อยู่ในตัวเครื่อง

ในขณะที่เครื่องรุ่นแรกไม่ได้แจ้งรายละเอียดในส่วนนี้มากนัก แต่รุ่น Gen 2 นี้ ดูเหมือนทางบลูซาวด์ค่อนข้างภูมิใจนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชิพประมวลผลแบบมัลติคอร์ที่ยังคงเลือกใช้ ARM Cortex-A9 สปีด 1GHz ทำงานบนสถาปัตยกรรมของระบบประมวลผลข้อมูลแบบ 32บิต ผสานกับการใช้วงจร DAC ที่ทำ oversampling 8 เท่า พร้อมรองรับสัญญาณดิจิทัลรายละเอียดสูงระดับ 24bit/192kHz

ในส่วนของ Powernode 2 ซึ่งมีภาคขยายเสียงอยู่ในตัวด้วยนั้นเป็นเทคโนโลยี ‘HYBRID DIGITAL AMPLIFIER’ กำลังขับ 60 วัตต์ต่อข้างที่โหลด 8 โอห์ม ซึ่งทางบลูซาวด์คุยว่าภาคขยายเสียงที่ว่านี้ทำงานสอดประสานกับภาค DAC ได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังได้รับการดีไซน์มาเผื่อสัญญาณเสียงแบบ Hi-Res Audio ซึ่งนอกจากเรื่องมีความเพี้ยนต่ำแล้ว ยังมีความต้องการทั้งในแง่ของการตอบสนองแบนด์วิดธ์ที่กว้างขวางและการตอบสนองไดนามิกเสียงที่ดีกว่าภาคขยายเสียงทั่ว ๆ ไป

ขณะที่ Powernode รุ่นแรกใช้ภาคขยายเสียง DirectDigital Amplifier by NAD Electronics กำลังขับ 50 วัตต์ต่อข้างที่โหลด 4 โอห์ม จากตัวเลขนี้จะเห็นว่า Powernode 2 ได้รับการปรับปรุงในส่วนนี้ไปไม่น้อยเลยทีเดียว

Bluesound Gen 2 ยังคงรองรับไฟล์ฟอร์แมตต่าง ๆ เช่น MP3, AAC, WMA, OGG, WMA-L, FLAC, ALAC, WAV, AIFF ซึ่งนับว่าครอบคลุมกับการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงแบบจริงจังหรือการฟังเพลงทั่วไป

รองรับไฟล์ Hi-Res Audio (HRA) ที่ความละเอียดสูงสุด 24bit/192kHz และล่าสุดยังรองรับไฟล์ MQA (Master Quality Authenticated) ด้วย ซึ่งอย่างหลังนี่นับว่าทันสมัยมาก ๆ ครับ

นอกจากนั้นอีกหนึ่งจุดแข็งที่มีมาตั้งแต่ในรุ่นแรกก็คือการรองรับ streaming service เยอะมาก ๆ จนอาจจะพูดได้ว่าเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับระบบสตรีมมิ่งอื่น ๆ ทั้งอินเตอร์เน็ตเรดิโอ อย่าง TuneIn Radio, iHeartRadio และคลาวด์เซอร์วิสอย่าง WiMP, Slacker Radio, Qobuz, HighResAudio, JUKE, Deezer, Murfie, HDTracks, Spotify, TIDAL, Napster และ Rhapsody

ในหน้าแอปฯ BlueOS บน iPad Air 2 แสดงการ streamimg service ที่รองรับ

ความประทับใจเมื่อแรกพบ
Node 2 และ Powernode 2 ถูกส่งมาถึงผมในแพคเกจที่ทันสมัยดูดีตามแบบฉบับของบลูซาวด์ มันกะทัดรัด แน่นหนาแข็งแรง และไม่มีถุงพลาสติกกับแท่งโฟมที่ดูน่าเบื่อ

รูปร่างหน้าตาของเครื่องทั้งสองรุ่นคงไม่ต้องบรรยายอะไรให้มากความครับ มันเรียบง่าย ดูดีมีสไตล์และไม่จำเจ พื้นผิวของตัวเครื่องที่เคลือบวัสดุเนื้อนุ่มเหมือนฟิล์มยางบาง ๆ เอาไว้เป็นอะไรที่น่าสัมผัสเพราะมันนุ่มมือดีเหลือเกิน แต่ก็พบว่ามันอมฝุ่นง่ายพอสมควรเหมือนกันนะ

อีกส่วนหนึ่งที่ผมว่ามันดูดีคือ ด้านบนของเครื่องที่เป็นตะแกรงโลหะโปร่ง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการระบายความร้อนจากภายในตัวเครื่อง

บริเวณใจกลางตะแกรงที่ว่านี้จะเป็นชุดปุ่มกดฟังก์ชั่นพื้นฐานซึ่งเป็นปุ่มกดระบบสัมผัสพร้อมทั้งไฟแสดงผลบางส่วน ปุ่มควบคุมในส่วนนี้อาจจะมีอยู่ไม่เยอะนักเพราะการสั่งงานส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่แอปฯ “BluOS”

แอปฯ ตัวนี้ทางบลูซาวด์ทำมาให้ใช้งานฟรี สำหรับสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตมันรองรับทั้ง iOS, Android และ Kindle Fire ไม่เพียงเท่านั้นยังมี Desktop Apps สำหรับ Windows และ OS X อีกด้วยครับ

อย่างไรก็ดีทราบว่าในรุ่น Gen 2 นี้มีเซ็นเซอร์อินฟราเรดบิลต์อินมาในตัวเครื่องด้วยแต่ไม่มีรีโมทคอนโทรลอินฟราเรดให้มากับเครื่อง เข้าใจว่าอย่างไรก็คงจะไม่สะดวกเท่ากับการควบคุมผ่านแอปฯ นะครับ

ขนาดเครื่องที่มีความหนาและความลึก
ต่างกันเล็กน้อยของ Node 2 และ Powernode 2
และรายละเอียดขั้วต่อด้านหลังเครื่องที่แตกต่างกัน

เหมือนดังเช่นใน Bluesound รุ่นแรก Bluesound Gen 2 ทั้ง 2 รุ่นนี้ สามารถเล่นไฟล์เสียงได้จากหลากหลายช่องทาง เบสิกที่สุดคงเป็นการเชื่อมต่อไร้สายด้วยสัญญาณบลูทูธที่เป็นเทคโนโลยี aptX ซึ่งไว้ใจได้ในแง่ของคุณภาพเสียง หรือจะเป็นการเชื่อมต่อสัญญาณเข้ามาทางอินพุต Analog/Optical In (combo connector 3.5mm) แบบเดิม ๆ ที่เราคุ้นเคย

ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือการเล่นแบบสตรีมไฟล์เสียงผ่านทางระบบ network ซึ่งรองรับทั้งการเชื่อมต่อแบบไร้สาย Wi-Fi และการเชื่อมต่อแบบเสียบสายเข้าทางขั้วต่อ Ethernet

ขั้วต่อ USB-A ที่อยู่ใกล้ ๆ กันสำหรับใช้เชื่อมต่อรับไฟล์เสียงมาจาก external storage ทั้งหลาย ส่วน micro USB ที่อยู่่ทางด้านหลังเครื่องทั้ง 2 รุ่นไม่เกี่ยวกับการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงนะครับ ทางผู้ผลิตเขาแจ้งไว้ว่าเป็นขั้วต่อสำหรับการ service เครื่องโดยผู้ชำนาญการ ตามปกติไม่ต้องไปสนใจอะไรกับขั้วต่อนี้ครับ

ด้านเอาต์พุต สำหรับ Node 2 จะมีอะนาล็อกสเตริโอเอาต์พุตระดับ line level มาให้ 1 ชุด สามารถใช้งานได้ทั้งแบบ fixed output ต่อออกไปเข้าปรีแอมป์/อินทิเกรตแอมป์ที่มีวอลุ่มคอนโทรล หรือแบบ variable output ออกไปที่เพาเวอร์แอมป์หรือลำโพงแอคทีฟ

นั่นหมายความว่าใน Node 2 มีวงจรปรีแอมป์อยู่ในตัวด้วย สำหรับ Powernode 2 ซึ่งมีแอมป์ในตัว ทางด้านเอาต์พุตจึงเป็นขั้วต่อสายลำโพงแบบไบดิ้งโพสต์มาตรฐาน

ที่น่าสนใจคือทั้ง 2 รุ่นนี้ มีช่องเสียบหูฟัง 3.5mm ให้มาด้วยที่ด้านหน้าเรื่องบริเวณใต้โลโก้ยี่ห้อ ถ้าไม่ทันสังเกตคงคิดว่าเป็นช่องรับสัญญาณอินฟราเรดเป็นแน่แท้ Node 2 และ Powernode 2 ยังมีขั้วต่อ Subwoofer Output พร้อมทั้งระบบ bass management ในตัว สามารถใช้งานร่วมกับระบบเสียง sub+sat หรือระบบลำโพง 2.1 แชนเนลได้อย่างสะดวกคล่องตัว

อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มาด้วยกันกับตัวเครื่องเพียงพอให้เริ่มใช้งานได้ ทั้งสายไฟเอซี, สาย Ethernet, สายสัญญาณเสียง, สายออพติคและตัวแปลง 3.5mm Mini Adaptor

System and Installation
ทั้ง Node 2 และ Powernode 2 สามารถใช้งานร่วมกันในระบบเดียวกันได้ ดังนั้นในระหว่างการรีวิวนี้ทั้งคู่จึงถูกติดตั้งอยู่ในระบบเดียวกันอยู่เกือบตลอดเวลา โดยแบ่งออกเป็น 2 โซน

โซนที่ใช้ Node 2 ใช้งานร่วมกับชุดเครื่องเสียงไฮไฟตามปกติในห้องทดสอบของเราและใช้งานในลักษณะ desktop audio บนโต๊ะทำงานของผมทั้งที่บ้านและที่กองบรรณาธิการ GM2000

การติดตั้งในเบื้องต้นสามารถทำตามคำแนะนำในคู่มือได้เลยครับ ซึ่งในส่วนนี้คงไม่นำมากล่าวซ้ำในที่นี้ เพราะในคู่มือหรือแอปฯ BluOS ที่ติดตั้งอยู่ในสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตก็มีแนะนำไว้อีกเช่นกัน

ท่านใดที่มีปัญหาในส่วนนี้เข้าใจว่าตัวแทนจำหน่ายที่มีชื่อด้านบริการอันยอดเยี่ยมอย่างบริษัท โคไน้ซ์ ฯ คงให้ความช่วยเหลือท่านได้แน่นอน สำหรับผมการติดตั้ง Node 2 และ Powernode 2 ถือว่าทำได้ค่อนข้างง่าย ระบบที่เลือกใช้เป็นระบบไร้สาย Wi-Fi ที่เชื่อมต่ออยู่กับระบบอินเตอร์เน็ตด้วย

การติดตั้งใช้้เวลาไม่นานเลยครับและทำงานได้ราบรื่นดี ในเบื้องต้นและระหว่างการใช้งานพบว่าตัวเครื่องมีการแจ้งเตือนอัพเดตเฟิร์มแวร์ปรากฏที่ตัวแอปฯ ควบคุมค่อนข้างสม่ำเสมอ ทำให้อุ่นใจได้ว่ายี่ห้อนี้เขาตั้งใจพัฒนาให้เครื่องเสียง Bluesound มีจุดอ่อนน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้จริง ๆ

User Interface ในแอปฯ BluOS เวอร์ชั่นล่าสุด
สวยงาม ดูดีและเข้าใจง่ายขึ้นกว่าเวอร์ชั่นก่อน ๆ

หลังจากที่ตัวแอปฯ สามารถมองเห็นตัวเครื่องทั้ง Node 2 และ Powernode 2 แล้ว ผมแนะนำให้เข้าไปตรวจสอบดูที่การตั้งค่าในส่วนของตัวเครื่องก่อน (Settings > Player > Audio) มีจุดสำคัญอยู่ 2 จุดที่แนะนำให้พิจารณาคือ ส่วนของการเลือกว่าในระบบมีการใช้งานเอาต์พุต subwoofer หรือไม่ (No Subwoofer หรือ With Subwoofer)

ถ้าเลือกผิดเสียงที่ได้ยินอาจจะมีความผิดปกติในย่านความถี่ต่ำได้ เช่น เสียงทุ้มหาย เสียงทุ้มเบาบางกว่ากว่าปกติ เป็นต้น

อีกส่วนเป็นเรื่องของการตั้งค่าระดับสัญญาณเอาต์พุตว่าจะเป็นแบบ Fixed (บายพาสวอลุ่มในตัวเครื่อง) หรือ Variable (ปรับความดังได้จากวอลุ่มในตัวเครื่อง)

นอกจากส่วนที่กล่าวถึงแล้ว Bluesound ทั้ง 2 รุ่นยังสามารถปรับตั้งค่าต่าง ๆ ได้อีกมากมายในแนวทางที่คล้ายคลึงกับเครื่องเล่นเพลงระบบ network ทั่วไป แต่ที่เห็นว่าทาง Bluesound ทำได้โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือส่วนของ Cloud Service ที่มีเยอะมาก ครบมาก จะเรียกว่าเป็นเครื่องเล่นที่รองรับผู้ให้บริการเยอะสุดเท่าที่ผมเคยพบเจอมาเลยก็ว่าได้

มีให้เลือกทั้งแบบคุณภาพธรรมดาจนถึงระดับ lossless และ hi-res audio หรือจะเป็นส่วนของ Internet Radio ก็ทำได้เจ๋งมาก โดยเฉพาะ Calm Radio ที่เพิ่งเพิ่มมาในอัพเดตล่าสุดก็มีเพลงดี ๆ เยอะมาก สตรีมได้นิ่งและคุณภาพเสียงดีจริง ๆ สำหรับการฟังจาก Internet Radio ซึ่งโดยปกติจะคาดหวังคุณภาพเสียงได้ยาก

สำหรับการเล่นผ่านระบบบลูทูธนั้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก จัดการ pair แล้ว connect กับตามปกติก็สามารถใช้งานได้แล้วครับ ที่ง่ายไม่แพ้กันก็คือการเสียบ USB Storage ที่มีไฟล์เพลง เข้าทาง USB-A (USB/LAN) แล้วเลือกเพลงมาเล่นหรือแชร์ระหว่างเครื่อง (ในโหมด group play) ได้เลยจากในแอปฯ โดยตรง

แต่ส่วนที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดก็คือ การแชร์ไฟล์เพลงจากมิวสิกเซิฟเวอร์ ผ่านเข้ามาทางระบบ network (Wi-Fi หรือ Ethernet LAN) และเหมือนเช่นเคยระบบ BluOS ของ Bluesound เมื่อเชื่อมต่อเข้าหากันแล้ว

การควบคุมสั่งงานหรือการเลือกเปิดเพลงไปยังเครื่องเสียงบลูซาวด์แต่ละหน่วย สามารถทำได้แบบแยกอิสระจากกัน หรือให้ทำงานสอดคล้องกันก็ได้ เห็นคำว่ามิวสิกเซิฟเวอร์คนที่ยังไม่คุ้นเคยอย่าเพิ่งแหยงนะครับ

ระบบของบลูซาวด์เขาคิดมาแล้วว่าผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องปวดหัวกับเรื่องนี้ แค่ใช้คอมพิวเตอร์ Windows หรือ Mac ที่มีไฟล์เพลงเก็บอยู่ในตัวหรือไฟล์เสียงใน External Hard Disc Drive ที่ต่อพ่วงอยู่กับคอมพิวเตอร์แล้วทำ ‘Network Shares’ ตำแหน่งที่เก็บไฟล์เพลงมาตั้งค่าในแอปฯ BluOS ก็เรียบร้อยแล้วครับ

การทำ Network Shares ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรครับ เพราะทางบลูซาวด์เขามีซอฟต์แวร์ชื่อ ‘Bluesound Share Utility’ ให้ไปดาวน์โหลดมาใช้ฟรี ๆ จากนั้นก็เข้าไปตั้งค่าในแอปฯ ที่มือถือ เข้าไปในส่วนของ Library แล้วค้นหาเซิฟเวอร์ที่เราได้ทำ Network Shares เอาไว้ในขั้นตอนก่อนหน้า เช่นเคยในส่วนนี้มีคำแนะนำเป็นขั้นเป็นตอนทำเองได้ไม่ยาก หรือถ้าไม่ถนัดจริง ๆ ทางตัวแทนจำหน่ายคงจะให้ความช่วยเหลือได้แน่นอนครับ

ในแอปฯ และระบบ BluOS ล่าสุดผมยังพบว่าอีก source ที่สามารถเล่นเพลงได้คือ source ที่เรียกว่า ‘My Phone’ ซึ่งก็คือเพลงที่มีอยู่สมาร์ทโฟนของเราครับ

แต่เท่าที่ผมลองเล่นกับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ดูเหมือนมันจะยังไม่รองรับไฟล์ยอดนิยมอย่าง flac นะครับ แต่กับไฟล์ wav ไม่มีปัญหา อันนี้เฉพาะในโหมดสตรีมและแชร์ผ่าน network เท่านั้นนะครับ

คุณภาพเสียง
จากความทรงจำที่เลือนลางไปแล้วพอสมควร แต่ยังหลงเหลือพอที่จะทำให้รู้สึกได้ว่าเสียงของ Bluesound 2 มีการพัฒนาไปจากรุ่นแรกในทิศทางใด

แว้บแรกที่ฟัง Node 2 ผมว่าผมพอจะทราบแล้วว่า Bluesound Gen 2 นั้นถูกพัฒนามาในทิศทางใด ผมคอนเฟิร์มอีกทีด้วยการฟัง Powernode 2 ขับลำโพง Golden Ear Technoloogy รุ่น Triton Five สลับกับลำโพง Dynaudio รุ่น Emit M20 จนกระทั่งสามารถยืนยันด้วยความมั่นใจได้ว่า Bluesound Gen 2 มีน้ำเสียงที่ให้นิยามได้ว่า ‘less artifact’

หมายความว่ามันเป็นเสียงที่มีความเป็นอิเล็กทรอนิกส์น้อยลง ให้รายละเอียดเนื้อหาความเป็นดนตรีที่ฟังดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น มีความสด ความสมจริงมากยิ่งขึ้น ผมจำได้ว่าใน Bluesound รุ่นแรก ถึงแม้ว่าไม่ได้มีปัญหาถึงขั้นหนักหน่วง แต่บางครั้งยังแอบรู้สึกว่านี่คือเสียงจากระบบดิจิทัลออดิโออยู่

แต่มาใน Bluesound รุ่นสองนี้บางครั้งก็เผลอลืมไปว่ากำลังฟังเสียงจากระบบเสียงดิจิทัลอยู่ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความจะรู้สึกว่ามันเป็นเสียงจากระบบเสียงอะนาล็อกนะครับ แต่มันคือเสียงดนตรีจริง ๆ อะไรประมาณนั้น … เป็นเสียงที่ไม่รู้สึกว่ามีอะไรขาดไป หรือพร่องตกหล่นไป

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไฮไฟในระดับนี้ด้วยแล้ว พูดได้ว่าเสียงของ Node 2 และ Powernode 2 เกือบจะอนุโลมได้ว่า ‘ไร้ที่ติ’ ที่สำคัญนอกจากไม่ขาดแล้วมันยังไม่พยายามแถมส่วนเกินใด ๆ มาให้รกรำคาญหูด้วยต่างหากครับ อย่างหลังนี่แหละที่ผมคิดว่าจะทำให้บลูซาวด์ได้ลูกค้าใหม่ ๆ มาอีกเพียบ

อีกเรื่องที่ต้องชมเชยเจ้า Powernode 2 คือผมไม่คิดจริง ๆ ว่าเครื่องเสียงตัวเล็กขนาดนี้ จะมีกำลังขับเกินตัวขนาดสามารถรายละเอียดเสียงพรั่งพรูออกมาจากลำโพงตั้งพื้นขนาดย่อมอย่าง Triton Five หรือลำโพงเล็กแต่มีความไวแค่ 86dB อย่าง Emit 20 ออกมาได้อย่างสะใจเอร็ดอร่อยถึงเพียงนี้

ไม่ใช่เรียกว่าแค่ขับได้ แต่มันขับได้แบบเหลือ ๆ ครับ เน้นย้ำอีกครั้งว่าเสียงลักษณะที่ได้จากทั้ง Node 2 และ Powernode 2 นี้จะทำให้เราไม่ตั้งคำถามว่า… เครื่องโซลิดสเตทกับหลอดอะไรเสียงดีกว่ากัน … คลาสเอหรือคลาสเอบีอะไรเสียงดีกว่ากัน … หรือแม้แต่อะนาล็อกกับดิจิทัลอะไรเสียงดีกว่ากัน

เพราะถ้าทุกอย่างมันดูเหมือนจะถูกต้อง เหมาะเจาะลงตัว มันก็คือเสียงที่ถ่ายทอดรายละเอียดออกมาเยอะมาก ๆ ขณะเดียวกันก็ให้ ‘ความเป็นดนตรี’ ที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เสียงที่ถูกปรุงแต่งให้มีลักษณะเฉพาะ

หน้าตาของ Library และ UI ในระหว่างการเล่นเพลง
UI บนแอปฯ BlueOS สำหรับ iPad

บางคนอาจจะเคยตั้งคำถามว่า เครื่องเสียงที่รองรับ Hi-Res Audio จะยังเสียงดีอยู่ไหมเวลาเล่นที่ไฟล์ระดับแค่ CD Quality ในกรณีอื่น ๆ คงมีปัจจัยแตกต่างกันไปนะครับ

แต่สำหรับ Bluesound Gen 2 คู่นี้ อัลบั้มเพลงต่าง ๆ ที่ผมริบมาจากแผ่นซีดีส่วนตัวได้ช่วยตอบคำถามเหล่านั้นได้ดี อีกทั้งยังทำให้ลืมเสียงอันเลวร้ายของฟอร์แมตซีดีที่ครั้งหนึ่งในอดีตมันเคยตามหลอกหลอนได้ไม่ยากเลยครับ

อย่างเพลงอัลบั้มรวมเพลงของพี่น้อง Bee Gees ชุด The Record ที่ผมฟังผ่านหูมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ก็ยังกลับมา ‘ฟิน’ ได้อีกกับ Bluesound Node 2 และ Powernode 2 โดยเฉพาะ Node 2 ซึ่งมีขนาดกะทัดรัดน่ารักน่าชังและมีเอาต์พุตหูฟังที่คุณภาพเสียงดีมาก คือทั้งเสียงดีและแรงดี

ขับหูฟังตัวโต ๆ ได้สบายโดยไม่ต้องต่อแอมป์หูฟังพ่วงให้เทอะทะวุ่นวาย ด้วยเหตุนี้เองมันทำให้ผมชอบเอาเจ้า Node 2 มาฟังบนโต๊ะทำงานด้วยอยู่บ่อย ๆ ทั้งต่อฟังจากหูฟังโดยตรงหรือต่อออกลำโพงแอคทีฟ ล้วนแล้วแต่ “ดีงามล้ำเลอค่า” ทั้งสิ้นครับ…พระเดชพระคุณท่าน

Bluesound กับ MQA ระบบเสียงไฮเรสฯ แห่งอนาคต
เมื่อ 31 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาทางบลูซาวด์ได้ประกาศว่าเครื่องเสียงของบลูซาวด์ทุกรุ่นจะรองรับไฟล์ฟอร์แมต MQA (Master Quality Authenticated) หลังจากการอัพเดตเฟิร์มแวร์และแอปฯ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

ไฟล์เสียงฟอร์แมต MQA นั้นถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เป็นการปฏิวัติรูปแบบของอุตสาหกรรมเพลงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ช่วยให้คุณภาพเสียงในระดับสตูดิโอมาสเตอร์หรือต้นฉบับแท้ ๆ ถูกส่งต่อไปถึงผู้บริโภคที่เป็นนักฟังเพลงได้อย่างสะดวก คล่องตัว และเข้าถึงได้ง่าย

เนื่องจากไฟล์มีขนาดเล็กกว่าไฟล์เสียงรายละเอียดสูงทั่วไป จึงสามารถสตรีมหรือดาวน์โหลดมาฟังได้อย่างง่ายดาย ขณะที่ยังคงคุณภาพเสียงระดับสตูดิโอมาสเตอร์เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

ลองเล่นไฟล์ฟอร์แมต MQA ทันสมัยสุด ๆ เลยครับ

ช่วงท้ายของรีวิวนี้ผมจึงมีโอกาสได้อัพเดตดังกล่าวแล้วลองเล่นไฟล์ MQA ที่มีอยู่ดูกับเครื่องเสียงของบลูซาวด์และพบว่ามันเจ๋งจริงอย่างที่เขาคุยไว้ ในขณะใช้งานที่แอปฯ BluOS จะมีสัญลักษณ์ MQA แสดงขึ้นมาเป็นจุดสีเขียวหรือสีฟ้าในขณะที่ตัวเครื่องเล่นกำลังถอดรหัสหรือเล่นไฟล์เพลงฟอร์แมต MQA

สัญลักษณ์จุดไฟสีฟ้าจะติดสว่างขึ้นในกรณีที่กำลังเล่นไฟล์เพลงฟอร์แมต MQA Studio ซึ่งเป็นไฟล์เสียงที่ผ่านการรับรองแล้วจากสตูดิโอโดยตัวศิลปินหรือโปรดิวเซอร์โดยตรง หรือผ่านการตรวจสอบรับรองโดยผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ … ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่น่ายินดีแทนคนที่ใช้เครื่องเสียงของบลูซาวด์จริง ๆ ครับ

ความเห็นโดยสรุป
เป็นอีกครั้งที่ต้องบอกว่า “Don’t judge a book by its cover” หรืออย่าตัดสินใจเนื้อแท้ของมันจากสิ่งที่เห็นภายนอก เห็นเป็นเครื่องเสียงตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ ส่องดูวงจรข้างในก็ไม่เห็นอุปกรณ์ออดิโอเกรดตัวเขื่อง หรือหม้อแปลงลูกโต

แต่เครื่องเสียง Bluesound Gen 2 ทั้งสองรุ่นนี้สามารถทำให้คนที่ประทับใจบลูซาวด์รุ่นแรกอยู่แล้วอย่างผม เกิดความประทับใจมากยิ่งขึ้นไปได้อีก

ด้วยการใช้งานที่ง่ายและเลือกเล่นเพลงได้จากหลายช่องทาง ทำให้ในระหว่างลองใช้งานเครื่องเสียงของบลูซาวด์ชุดนี้ ต้องบอกว่าผมได้ฟังเพลงเยอะมาก ๆ เยอะทั้งปริมาณ เยอะทั้งแนวเพลง คืออยากฟังอะไรก็จิ้ม ๆ ๆ ๆ มาฟัง และที่สำคัญด้วยคุณภาพเสียงดังที่ได้บอกเล่าไปแล้วข้างต้น

ตลอดการทดลองใช้งาน Node 2 และ Powernode 2 จึงเป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่น่าประทับใจมาก เพราะได้ฟังเพลงเยอะมากแถมเสียงดีด้วยต่างหาก โดยเฉพาะเพลงยุค 90 สมัยผมยังเป็นวัยรุ่น ได้ย้อนกลับไปฟังอีกครั้งด้วยคุณภาพอย่างนี้มัน happy มาก ๆ ครับ … ปลื้มปริ่มจริง ๆ

อีกเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องที่คนทั่วไปมักพูดกันว่าดิจิทัลออดิโอสมัยใหม่น่ะล้าสมัยง่ายจะตาย แป๊บเดียวก็ตกรุ่นแล้ว แต่ผมว่าเครื่องเสียงอย่างบลูซาวด์นี่แหละครับที่จะไม่ล้าสมัยง่าย ๆ เพราะว่ามันสามารถอัพเกรดคุณภาพได้อย่างซอฟต์แวร์

อีกทั้งการอัพเดตแต่ละครั้ง ใช่ว่าจะเปลี่ยนเฉพาะตัว UI (User Interface) หรือฟังก์ชั่นต่าง ๆ นะครับ ในระบบที่ฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ประสานกันจนแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นนี้ มันยังมีส่วนทำให้เสียงดีขึ้นได้ด้วยครับ

1 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมาหลังจากได้ลองเล่น Bluesound รุ่นแรก ผมคิดว่า BluOS นั้นพัฒนาไปมาก ทั้งในส่วนของ UI (User Interface) ที่สวยงาม ใช้ง่ายขึ้นและเสถียรขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นแรก ๆ หรือจะเป็นการสตรีมผ่าน Wi-Fi ที่นิ่งมาก มากจนผมคิดว่าการใช้สาย LAN อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดอีกต่อไป

ตลอดเวลาของการลองเล่นมันทำให้ผมมั่นใจว่านี่เป็นการสตรีมผ่าน Wi-Fi ที่ให้เสียงดีกว่าระบบสตรีมเมอร์ทั่วไปเช่นระบบที่ใช้โปรโตคอล UPnP หรือ DLNA ระบบปฏิบัติการ BluOS ของทาง Bluesound ซึ่งเรียบง่ายกว่าและถูกปรับแต่งแบบ custom มาได้ลงตัวกับเครื่องเสียงของเขาเอง ให้ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจกว่าทั้งในเรื่องของการใช้งานและคุณภาพเสียง

ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้นเกี่ยวกับเครื่องเสียงของบลูซาวด์ทั้ง 2 รุ่น ทำให้ผมมีความเชื่อว่า ในโลกของการพัฒนาเครื่องเสียงไฮไฟสมัยใหม่ต่อจากไปนี้ Bluesound จะเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงมากไม่แพ้ยี่ห้ออื่น ๆ และถ้าหากการพัฒนายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเช่น 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ชื่อ Bluesound จะขึ้นมายืนอยู่ในแถวหน้าของเครื่องเสียงไฮไฟที่ราคาเอื้อมถึงได้ไม่ยาก ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีต่อจากนี้ไป …ฟันธงได้เลยครับ!

(Live) พี่เอ็มมาเป็นวิทยากรพิเศษ พูดถึง BlueSound ที่โชว์รูม Conice สาขา CTW

Posted by GM 2000 Magazine on Saturday, June 4, 2016

ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรพิเศษในวันเปิดตัวเครื่องเสียง Bluesound Gen 2
ที่โชว์รูม โคไน้ซ์ สาขา เซ็นทรัลเวิลด์ครับ เลยมีโอกาสได้ถ่ายทอดสดลง Facebook ด้วยครับ


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท โคไน้ซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 0-2276-9644
ราคา : 22,100 บาท (์Node 2), 33,200 บาท (PowerNode 2)

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ