fbpx

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

AV Tech Guide สื่อ Online รีวิว ข่าว ความรู้ ด้านเครื่องเสียง ไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟน ไอที มัลติมีเดียและสินค้านวัตกรรม

Dirac Live คืออะไร ? และใช้งานอย่างไร ?

Dirac (ดิแร็ค) ได้รับการตั้งชื่อตามชื่อนายพอล ดิแร็ค (Paul Dirac) นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอังกฤษ ชื่อนี้ยังเชื่อมโยงกับฟังก์ชันประมวลผลทางคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นหัวใจของ ‘Dirac Live’ ซอฟต์แวร์ปรับแก้ตามสภาพอะคูสติกห้องของทางบริษัทผู้พัฒนา

แนวคิดในการพัฒนา Dirac Live ถูกนำเสนอมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 15 ปีที่ก่อน เมื่อผู้ก่อตั้งบางคนยังเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Uppsala University ในประเทศสวีเดน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกกลุ่ม Signals and System Group พวกเขาไม่พอใจกับลักษณะเสียงของลำโพงในเวลานั้น นอกจากนั้นพวกเขายังมีองค์ความรู้และอุปกรณ์ที่จะริเริ่มทำอะไรบางอย่างกับความไม่พอใจดังกล่าวได้ด้วย

ด้วยการใช้เทคนิคการประมวลผลสัญญาณดิจิทัลที่ได้เรียนรู้มา กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวจึงคิดหาวิธีปรับปรุงเสียงในสภาพแวดล้อมของตัวเองเพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง ซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาเรื่อยมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้สามารถใช้งานได้ทั้งในห้องฟังภายในบ้าน ระบบเครื่องเสียงรถยนต์ สมาร์ทโฟน และหูฟัง

อย่างที่ทราบกันดีว่าซอฟต์แวร์ปรับแก้หรือปรับชดเชยเสียงตามสภาพอะคูสติกห้องนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับโฮมเธียเตอร์จะบอกว่าเคยเห็นซอฟต์แวร์ Audyssey ในผลิตภัณฑ์ของ Denon หรือในผลิตภัณฑ์เอวีรีซีฟเวอร์มาหลายปีแล้ว

ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่อื่น ๆ เช่น Yamaha และ Pioneer ก็มีซอฟต์แวร์ของตัวเองที่มีความสามารถทัดเทียมกัน ซึ่งพยายามปรับแก้ให้ได้เสียงที่ดีที่สุดจากการตั้งค่าในห้องใด ๆ ก็ตาม จากประสบการณ์ของเรา (และคนส่วนใหญ่) ระบบเหล่านี้สามารถทำงานได้ค่อนข้างดี แม้ว่าบางครั้งอาจจำเป็นต้องปรับแต่งอะไรบางอย่างอีกเล็กน้อย

ดังนั้นหากมองอย่างผิวเผิน Dirac Live ดูเหมือนจะค่อนข้างคล้ายกับซอฟต์แวร์คู่แข่ง ทว่าในความเป็นจริงแล้วซอฟต์แวร์ตัวนี้ได้มีการใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปในการเพิ่มประสิทธิภาพการปรับชดเชยเสียงตามสภาพอะคูสติกห้อง โดยให้ความสำคัญของการตอบสนองอิมพัลส์ของลำโพงควบคู่ไปกับสมดุลของการตอบสนองความถี่เสียงภายในห้อง

What is Dirac Live and how to use it

ปัจจุบันสำหรับการพัฒนามาในรุ่นที่สาม ได้มี Dirac Live ออกมาสองเวอร์ชัน เวอร์ชันหนึ่งมุ่งเป้าไปที่ตลาดเครื่องเสียงภายในบ้าน (เวอร์ชันโฮม) และอีกเวอร์ชันสำหรับใช้งานในสตูดิโอ

แม้ว่าทั้งสองเวอร์ชันจะใช้แก่นของซอฟต์แวร์ที่ใช้ปรับแก้สภาพอะคูสติกห้องร่วมกัน แต่เวอร์ชันสตูดิโอนั้นยังมีปลั๊กอินเสียงทำงานร่วมกันด้วย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์ที่เข้ากันได้ในการจัดเก็บและเรียกใช้งานค่าตัวกรอง (filter) เหมือนกับเวอร์ชันโฮม

เช่นเดียวกับซอฟต์แวร์คุณภาพดีอื่น ๆ Dirac Live ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เปิดตัวในปี 2011 และเวอร์ชันล่าสุดก็มีการใช้งานที่ดีขึ้น อัลกอริทึมการปรับชดเชยแก้ไขเฟสของสัญญาณเสียงที่ได้รับการปรับปรุงมาใหม่เพื่อการจำลองมิติเสียงสเตอริโอที่ดีขึ้น และระบบจัดการเสียงเบสที่ทำงานได้ลงตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหลังนี้ทำให้ Dirac Live มีความสามารถในการจัดการควบคุมกับความถี่ต่ำได้ดีอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ซอฟต์แวร์คู่แข่งส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความถี่ราบเรียบ ด้วยสัญญาณทดสอบเฉพาะและไมโครโฟนที่เชื่อมต่อกับเครื่องเสียงประเภทเอวีรีซีฟเวอร์ (หรืออาจเป็นแอมป์สเตอริโอ)

แอปฯ เหล่านั้นพยายามปรับลดระดับในช่วงที่โด่งล้ำหน้าขึ้นและปรับเพิ่มเติมเต็มในส่วนของความถี่ที่การตอบสนองเป็นตกลงไปหลายเป็นหลุม สรุปว่าแนวคิดคือต้องมีการตอบสนองที่ราบรื่นและสม่ำเสมอ โดยไม่คำนึงถึงความถี่ของเสียงที่ถ่ายทอดออกมา

What is Dirac Live and how to use it

ทว่าสำหรับ Dirac Live นั้นก้าวล้ำไปอีกขั้น โดยเสริมการปรับแต่งการตอบสนองต่อสัญญาณอิมพัลส์ในลำโพงแต่ละตัวให้เหมาะสมด้วย ลำโพงส่วนใหญ่มีตัวขับเสียงหลายตัว ในการตั้งค่าทั่วไปยังมีความแตกต่างเล็กน้อยในเฟสของตัวขับเสียงเหล่านั้นเมื่อมีการตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลัน Dirac Live มีจุดมุ่งหมายเพื่อชดเชยสิ่งนั้นด้วย ส่งผลให้การถ่ายทอดเสียงมีความสะอาด กระชับ และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ด้วยการเพิ่มระบบการจัดการเสียงทุ้มแบบใหม่ทำให้ Dirac Live สามารถจัดเฟสเสียงของซับวูฟเฟอร์ใด ๆ ให้ตรงกับช่องลำโพงหลักและจับคู่เฟสของซับวูฟเฟอร์หลายตัวที่เชื่อมโยงอยู่กับจุดตัดแบ่งความถี่เสียงร่วมกัน นั่นคือส่วนหนึ่งในความแตกต่างของ Dirac Live

หากคุณกำลังคิดว่าซอฟต์แวร์ตัวนี้น่าสนใจ คำถามต่อมาคือ หากจะใช้งาน Dirac Live จำเป็นต้องมีอะไรบ้าง ? ก่อนอื่นฮาร์ดแวร์หรือเครื่องที่เราใช้งานจะต้องได้รับอนุญาต ปัจจุบันสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์จากบริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงชื่อดังต่าง ๆ ซึ่งทางผู้ผลิตจะพยายามนำเสนอว่าผลิตภัณฑ์รุ่นนั้น ๆ ของตนรองรับการใช้งาน Dirac Live ด้วย

เมื่อมีตัวเครื่องแล้ว เรายังจำเป็นต้องใช้ไมโครโฟนและคอมพิวเตอร์เพื่อเรียกใช้ซอฟต์แวร์ด้วย เป็นกระบวนการใช้งานที่ค่อนข้างง่าย แต่อาจจะค่อนข้างน่าเบื่อหากเลือกวัดผลจากหลากหลายตำแหน่งรอบตำแหน่งการฟังหลัก (sweet spot)

หากคุณชอบนั่งฟังหรือนั่งชมมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง Dirac Live จะพยายามรักษาสมดุลโดยรวมที่ดีที่สุดระหว่างตำแหน่งเหล่านั้น หลังจากดำเนินการทั้งหมดของระบบแล้ว เราจะได้เห็นกราฟการตอบสนองความถี่ของระบบภายในห้องหรือสถานที่นั้น ๆ

What is Dirac Live and how to use it

แม้ในห้องที่สภาพอะคูติกดีที่สุด กราฟการตอบสนองความถี่ยังค่อนข้างเป็นหลุมเป็นบ่อ (ตามเส้นกราฟการตอบสนองตามเส้นสีฟ้าในภาพด้านบน) เมื่อเห็นเช่นนั้นเราอาจอยากลองปรับแก้ไขในทุก ๆ จุด ทว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นอาจจะไม่ดีอย่างที่คิด เนื่องจากข้อจำกัดในการประมวลผลทั้งหมดและข้อจำกัดในระบบของเราเอง

ในจุดนี้อาจต้องอาศัยประสบการณ์ของตัวแทนจำหน่ายที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว เพื่อให้สามารถพิจารณาความเหมาะสมในการปรับชดเชยการตอบสนองของระบบ (โดยการปรับ Target Curve หรือกราฟการตอบสนองที่ต้องการ) โดยไม่พยายามไปฝืนให้ปรับแก้ในส่วนที่ซอฟต์แวร์ไม่สามารถทำได้

ตัวอย่างเช่น คุณอาจเห็นความถี่ลดลงอย่างมากในย่านเสียงทุ้ม แต่สาเหตุอาจเป็นเพียงเพราะขนาดห้องและตำแหน่งของลำโพงที่สัมพันธ์กับระยะห่างจากฝาผนัง

ดังนั้นในบางกรณีการย้ายตำแหน่งลำโพงอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการชดเชยด้วยซอฟต์แวร์ และไม่ฝืนให้เครื่องเสียงต้องทำงานหนักมากจนเกินไปในบางช่วงความถี่เสียง ซึ่งยังอาจเสี่ยงทำให้เสียงจากลำโพงเกิดความเพี้ยนได้ด้วย ดังนั้นในโลกความเป็นจริงประสบการณ์และความชำนาญก็มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจปรับใช้งานร่วมด้วย

อย่างไรก็ดีระบบนี้ใช้งานง่ายพอสมควร ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวที่จะใช้งานมันหากว่าคุณไม่พยายามฝืนปรับ Target Curve จนส่งผลเสียต่อระบบ

ที่อาจต้องพึงระลึกไว้อย่างหนึ่งก็คือ ระบบช่วยเหลืออย่าง Dirac Live หรือซอฟต์แวร์ในรูปแบบเดียวกันนั้นไม่สามารถสร้างเสียงที่สมบูรณ์แบบได้หากว่าระบบคุณมีปัญหาในจุดสำคัญ ดังนั้นจึงแนะนำว่าในเบื้องต้นให้พยายามปรับปรุงเสียงในห้องและเล่นกับตำแหน่งลำโพงก่อน แต่เมื่อทำเสร็จแล้ว ระบบซอฟต์แวร์เหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ได้ผลลัพธ์ที่ตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้งานได้ดีมากยิ่งขึ้น


ที่มา: whathifi

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide

สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมในกลุ่มสินค้าเครื่องเสียงไฮไฟ โฮมเธียเตอร์ ไอทีมัลติมีเดีย ตลอดจนสินค้านวัตกรรมอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ดำเนินงานโดยทีมงานมืออาชีพ