รีวิว ONKYO : TX-NR6100 “AVR ที่ครบเครื่องทั้งดูหนัง-ฟังเพลง ในราคาที่เข้าถึงได้”
หากพูดถึงผลิตภัณฑ์โฮมเธียเตอร์ในกลุ่มเครื่องเสียง แบรนด์อย่างออนเกียว (ONKYO) ถือได้ว่าเป็นแบรนด์ระดับหัวแถวมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในยุคปัจจุบันที่ระบบเสียงรอบทิศทางและระบบเสียงสตรีมมิงได้พัฒนารุดหน้าไปจากเดิมมากออนเกียวก็ยังคงมีตัวเลือกออกมาหลายรุ่นด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ONKYO TX-NR6100
คุณสมบัติและการออกแบบ
ONKYO TX-NR6100 ได้รับการออกแบบมาเป็น ‘7.2-Channel THX Certified Network A/V Receiver ’ สรุปอย่างคร่าว ๆ ก็คือเป็นเอวีรีซีฟเวอร์ที่พร้อมรองรับระบบเสียงสูงสุด 7.2 แชนเนล สามารถสตรีมเสียงผ่านระบบเน็ตเวิร์กได้ และยังได้รับการรับรองคุณภาพจาก THX
ตัวเครื่องมาพร้อมกับภาคขยายเสียงในตัว 7 แชนเนล กำลังขับแชนเนลละ 100 วัตต์ ที่โหลด 8 โอห์ม (อ้างอิงที่ความถี่ 20Hz–20kHz, ความเพี้ยน THD 0.08%, ขับพร้อมกัน 2 แชนเนล ตามมาตรฐาน FTC)
ภาคขยายเสียงนี้มาพร้อมกับชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่า Onkyo Dynamic Audio Amplification (DAA) ซึ่งโดยเนื้อแท้ก็คือภาคขยายเสียงแบบไฮเคอร์เรนต์ที่สามารถปั๊มกระแสจ่ายให้ลำโพงได้อย่างเต็มที่ ไม่มีมากั๊กมาอั้นกันไว้เลย สามารถขับโหลดลำโพง 4 โอห์มได้พร้อมกันทั้ง 7 แชนเนลได้อย่างไม่มีปัญหา นอกจากนั้นภาคขยายเสียงเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนแหล่งพลังงานจากหม้อแปลงและตัวเก็บประจุกรองไฟขนาดใหญ่ที่สั่งทำมาใช้งานโดยเฉพาะ
สำหรับวงจรแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อกนั้นเลือกใช้ชิป DAC ที่รองรับสัญญาณเสียง Hi-Res Audio 24bit/192kHz ขณะที่โมดูลวงจรที่เกี่ยวข้องกับระบบเน็ตเวิร์กยังออกแบบให้แยกส่วนต่างหาก เพื่อป้องกันไม่ให้วงจรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณเสียงถูกรบกวนจากสัญญาณความถี่สูง
สำหรับคุณสมบัติหลักในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรองรับระบบเสียงสมัยใหม่ หากเป็นระบบเสียงรอบทิศทางนั้นก็รองรับทั้ง Dolby Atmos, DTS:X, Dolby TrueHD และ DTS-HD Master Audio
ด้านระบบเสียงรายละเอียดสูงนั้นรองรับการเล่นไฟล์เสียงรายละเอียดสูงผ่านการสตรีมทางระบบเน็ตเวิร์ก (Ethernet และ WiFi 5 Dual Band) และพอร์ต USB-A (มีให้เลือกใช้งานทั้งด้านหน้าและด้านหลังเครื่อง) ที่สามารถเล่นไฟล์เสียงจากไดร์ฟ USB ภายนอกได้โดยตรง โดยรองรับทั้งรูปแบบ PCM (สูงสุด 24bit/192kHz) และ DSD (สูงสุด DSD256)
ในกรณีนี้ทางออนเกียวให้ข้อมูลว่าเป็นการเล่นไฟล์ DSD ในรูปแบบ DSD to PCM Conversion ซึ่งมีการแปลง DSD เป็นไฟล์เสียง PCM ก่อน ไม่ใช่การเล่นแบบ native DSD
พอร์ต HDMI 2.1 สำหรับสัญญาณขาเข้า 6 ช่อง และขาออก 2 ช่อง (eARC, HDCP 2.3) ของเครื่องยังรองรับการส่งผ่านสัญญาณวิดีโอทั้งในระดับความละเอียด 4K และ 8K โดยมีรายละเอียดดังนี้ 8K/60p(4:2:0/10-bit), 8K/30p(4:4:4/10-bit), 4K/120p(4:4:4/10-bit) หรือสัญญาณวิดีโอในรูปแบบ HDR ทั้ง HDR10+ และ Dolby Vision รวมถึงเทคโนโลยี VRR (Variable Refresh Rate), ALLM (Auto Low Latency Mode) และ QFT (Quick Frame Transport)
นอกจากนั้นช่องอินพุต HDMI ของเครื่องยังรองรับการเล่นไฟล์เสียง DSD จากเครื่องเล่น SACD ได้โดยตรงทั้งส่วนของไฟล์เสียง DSD ระบบเสียงสเตริโอและมัลติแชนเนล นอกจาก HDMI แล้วตัวเครื่องยังมีอินพุตดิจิทัลทั้งแบบ coaxial และ optical มาให้อีกอย่างละหนึ่งช่อง
ด้านระบบเสียงสเตริโอนอกจากภาครับสัญญาณวิทยุ AM/FM แล้ว ONKYO TX-NR6100 ยังมีขั้วต่อสัญญาณอะนาล็อก (RCA) ขาเข้ามา 5 คู่ หนึ่งในนั้นเป็นช่องอินพุตโฟโนสำหรับต่อใช้งานร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้หัวเข็มแบบ MM
สำหรับการเชื่อมเสียงแบบไร้สายนั้นรองรับการเชื่อมต่อบลูทูธแบบสองทาง โดยในโหมดรับสัญญาณนั้นรองรับ codec SBC และ AAC ขณะที่โหมดส่งสัญญาณรองรับ codec SBC, aptX และ aptX HD ตัวเครื่องยังรองรับการใช้งานในรูปแบบมัลติรูมร่วมกับแพลตฟอร์มอย่าง DTS Play-Fi, Alexa, Google Chromecast, Sonos, Apple AirPlay 2 และ Siri voice control
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของคุณสมบัติหลัก ๆ ที่รวบรวมอยู่ใน ONKYO TX-NR6100 ยังมีคุณสมบัติปลีกย่อยอีกพอสมควรที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถศึกษาและทดลองใช้งานได้จากตัวเครื่องจริง ๆ ได้เองนอกเหนือจากรายละเอียดในรีวิวนี้
การเชื่อมต่อ การตั้งค่าและการใช้งานเบื้องต้น
ซิสเตมหลักที่ใช้งานร่วมกับ ONKYO TX-NR6100 เป็นชุดลำโพงของ Klipsch ประกอบไปด้วยลำโพงคู่หน้ารุ่น RP-6000F II, ลำโพงเซ็นเตอร์รุ่น RP-500C II, ลำโพงเซอร์ราวด์รุ่น RP-500M II, ลำโพง Height Speaker รุ่น RP-500SA II และลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่น SPL-120 เชื่อมต่อใช้งานร่วมกันเป็นระบบเสียงรอบทิศทาง 5.1.2 แชนเนล พร้อมรองรับทั้งระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS:X
สำหรับแหล่งสัญญาณมีการใช้งานทั้งเครื่องเล่นบลูเรย์ OPPO BDP-103D, Apple TV 4K และ Nvidia Shield TV Pro ด้านระบบภาพเป็นสมาร์ททีวี Xiaomi TV Q1E
เบื้องต้นในระหว่างการเชื่อมต่อใช้งานและการตั้งค่ามีข้อสังเกตว่านอกจากการตั้งค่าทั่วไปที่พบเห็นได้ในเอวีรีซีฟเวอร์คุณภาพสูงส่วนใหญ่แล้ว ในส่วนของการตั้งค่าของ ONKYO TX-NR6100 ยังมีตัวเลือกให้พิเศษให้สามารถตั้งค่าใช้งานร่วมกับลำโพงยี่ห้อ Klipsch ซึ่งเป็นแบรนด์ที่อยู่ในเครือบริษัทเดียวกันได้โดยตรง ช่วยให้การตั้งค่ายนั้นง่ายและสะดวกขึ้น
เช่น ในเมนู ‘Speaker Combo’ ที่สามารถเลือกตั้งค่าให้เหมาะกับรุ่นลำโพงของ Klipsch ที่ใช้งานอยู่ได้โดยตรงเลย ช่วยให้ในขั้นตอนการตั้งค่า ‘Crossover’ สามารถทำได้ง่าย (และน่าจะแม่นยำ) ขึ้นมาก เพียงแค่เลือกตรง ‘Crossover Type’ ไปที่ ‘Klipsch’ เท่านั้นเอง
สำหรับการตั้งค่าใช้งานลำโพง Height Speaker ก็สามารถเลือกรูปแบบของการติดตั้งใช้งานได้ทั้งแบบวางอยู่ที่ด้านบนลำโพงคู่หน้า, แบบวางอยู่ที่ด้านบนลำโพงคู่หลัง หรือแบบฝังไว้บนเพดาน
ในกรณีที่เป็นแบบวางอยู่ที่ด้านบนลำโพงคู่หน้าเหมือนในรีวิวนี้ยังสามารถตั้งค่าระยะห่างจากเพดานห้องของลำโพง Height Speaker ได้ด้วย เพื่อให้คุณสมบัติ AccuReflex (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติ AccuEQ room acoustic calibration) ใน ONKYO TX-NR6100 สามารถถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูงได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
จากการลองใช้งานรีโมตคอนโทรลที่มากับเครื่อง ผมชอบใจในขนาดที่กะทัดรัด การจัดเรียงปุ่มต่าง ๆ ถือว่าใช้งานค่อนข้างง่าย ตินิดเดียวที่ปุ่มบนรีโมตไม่มีระบบไฟแบคไลต์ให้ใช้งานได้สะดวกในที่มืด
นอกจากการลองใช้งานในส่วนของระบบเสียงรอบทิศทางแล้ว เบื้องต้นผมยังมีโอกาสได้ลองใช้งานแอปฯ สตรีมเพลง Onkyo Music Control ในการสตรีมเพลงผ่านแพลตฟอร์ม DTS Play-Fi ซึ่งสามารถเข้าถึงบริการสตรีมเพลงยอดนิยมต่าง ๆ รวมทั้งการสตรีมเพลงจาก music server ส่วนตัว ซึ่งเท่าที่ได้ลองสตรีมจาก TIDAL และ music server ที่บ้าน ผมชอบใจในแง่ของคุณภาพเสียงแต่ยังไม่ค่อยถูกใจในเรื่องของ UI ซึ่งผมว่ามันใช้งานค่อนข้างยากเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง HEOS และ BluOS
อัปเดตเพิ่มเติม: ในภายหลังผมมีโอกาสได้ลองใช้งานแอปฯ ควบคุมสั่งงานและสตรีมเพลงอีกตัวหนึ่งของ Onkyo ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเวอร์ชันใหม่ล่าสุดนั่นคือแอปฯ ‘Onkyo Controller’ ซึ่งสามารถใช้งานกับ Onkyo TX-NR6100 ได้ด้วยเช่นกัน พบว่ามันใช้งานง่ายกว่าและ UI สวยกว่าแอปฯ Onkyo Music Control มาก ๆ แบบคนละเรื่องเลย
พิจารณาจากดีไซน์ของแอปฯ Onkyo Controller เมื่อเทียบกับ Onkyo Music Control น่าจะมีความทันสมัยห่างกันหลายปีเลยทีเดียว ดังนั้นใครที่ใช้เอวีรีซีฟเวอร์รุ่นนี้หรือรุ่นใหม่ ๆ ของออนเกียว ผมแนะนำให้ใช้งานแอปฯ ตัวนี้แทนครับ
อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ ในระหว่างการใช้งานผมพบว่าตัวเครื่อง ONKYO TX-NR6100 นั้นค่อนข้างร้อนเลยทีเดียว (แม้ว่าบางครั้งเปิดลองเสียงเบา ๆ และยังไม่ได้ใช้งานเต็มระบบ) โดยเฉพาะบริเวณช่องระบายความร้อนด้านบนซึ่งตรงกับตำแหน่งของภาคขยายเสียงและพัดลมระบายความร้อนของวงจรโปรเซสเซอร์ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการซุกตัวเครื่องเอาไว้ในชั้นวางแบบปิดทึบ หรือจัดวางตัวเครื่องแบบมีอุปกรณ์อื่นวางซ้อนอยู่ด้านบน
‘พลังเสียงรอบทิศทาง’ ที่มาพร้อมกับ ‘คุณภาพเสียง !’
จากที่ผมได้ลองฟังเสียงของ ONKYO TX-NR6100 โดยเฉพาะในช่วงแรกที่เป็นระบบเสียงรอบทิศทาง ผมชอบใจทันทีในแง่ของเนื้อเสียง นี่เป็นเอวีรีซีฟเวอร์ที่ให้เสียงหนักแน่นได้ ดุดันได้ แต่เสียงไม่มีลักษณะของความโฉ่งฉ่างก้าวร้าวจนน่ารำคาญโสตประสาทเลย
โอเคว่าส่วนหนึ่งต้องให้เป็นเครดิตกับชุดลำโพงของ Klipsch แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอวีรีซีฟเวอร์ของออนเกียวนั้นสุ้มเสียงฟังดีจริง ๆ บางช่วงผมได้ลองชมสตรีมมิงสารคดีต่าง ๆ ใน Apple TV+ หรือ Netflix ซึ่งมีทั้งระบบเสียง 5.1 แชนเนลและ Dolby Atmos ผมพบว่าเอวีรีซีฟเวอร์สามารถถ่ายทอดอารมณ์ร่วมออกมาได้ดีมาก ด้วยเนื้อเสียงที่กระจ่างชัดเจนและฟังง่ายสบายหู ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ในการรับชมคอนเทนต์ในลักษณะนี้เลยทีเดียว
สำหรับในคาบของการรับชมคอนเทนต์ที่เป็นภาพยนตร์จริงจังและส่วนที่เป็นไฟล์ทดสอบเสียงทั้งหลายเพื่อใช้พิจารณาประสิทธิภาพของ ONKYO TX-NR6100 เวลาใช้งานเป็นระบบเสียงรอบทิศทางเต็มระบบ โดยเฉพาะในเวลาถอดรหัสเสียง Dolby Atmos True-HD และ DTS:X Master พลังเสียงที่ได้จากแอมป์ตัวนี้เรียกได้ว่ามาแบบจัดเต็ม คือ มีครบถ้วนทั้งความกระหึ่มหนักแน่น ความลื่นไหลและการแยกแยะมิติเสียง
ตัวอย่างเช่นใน Top Gun: Maverick (ระบบเสียง Dolby Atmos True-HD) ซึ่งมีหลายฉากที่เปิดเผยศักยภาพเหล่านั้นของ ONKYO TX-NR6100 ออกมาได้อย่างชัดเจนจนผู้ชมอย่างผมถูกดึงดูดให้เข้าไปมีอารมณ์ร่วมได้อย่างง่ายดาย เช่น ฉากที่มาเวอริกขับเครื่องบินโฉบข้ามศีรษะของบอสมาดเข้มในช่วงต้นเรื่อง หรือฉากที่มาเวอริกและลูกทีมกำลังปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตาย คือดูแล้วไม่ใช่แค่ลุ้นตามแต่แอบเสียวไส้ไปด้วยไม่ได้ในหลาย ๆ จังหวะ
ทว่าฉากที่น่าจดจำจนต้องหยิบยกมาพูดถึงในที่นี้ก็คือ ฉากที่นักบินชื่อไคโยตี้ ซึ่งฟื้นกลับมาหลังจากหมดสติไปกลางอากาศพยายามบังคับให้อากาศยานเชิดหัวขึ้นพ้นจากเนินเขาได้อย่างหวุดหวิด เสียงที่ได้ยินในห้องฟังของผมคือวัตถุขนาดใหญ่ที่พุ่งจากพื้นขึ้นไปบนเพดานห้องแล้วลอยหายลับไป บอกตามตรงครับว่าผมขนลุก ! เพราะคาดไม่ถึงว่าจะได้ยินอะไรน่าตื่นตาตื่นใจอย่างนี้
ด้วยเนื้อเสียงที่มีความอิ่มเอิบ ไม่แห้งบาง หรือไม่มีลักษณะรุกเร้าจนเกินงามของ ONKYO TX-NR6100 ทำให้ภาพยนตร์ที่มีเพลงหรือดนตรีประกอบอย่าง A Star is Born (Dolby Atmos) หรือ Bohemian Rhapsody (Dolby Atmos) นั่งชมแล้วผมรู้สึก ‘ดื่มด่ำ’ และ ‘อิน’ ไปกับเรื่องราวมากกว่าที่เคย ฉากที่เป็นการแสดงสดนั้นยังรับรู้ได้ถึงความสด ความฉ่ำชื่น ความมีชีวิตชีวา
น้ำเสียงในลักษณะนี้หากฟังเพียงผิวเผินหรือฟังกันแบบชั่วครั้งชั่วคราวอาจรู้สึกว่าเสียงราบเรียบไปหรือเปล่า แต่พอได้นั่งฟังนาน ๆ เอ้อ… เสียงมันก็มีหลากรสชาติหลายอารมณ์เหมือนกันนะ คือมันแปรเปลี่ยนไปตามเรื่องราวของเนื้อหาที่เราชมอยู่ เรียนกันตามตรงว่าหากจะมีย่อหย่อนไปบ้างเมื่อเทียบกับซิสเตมระดับไฮเอนด์ ก็คงเป็นรายละเอียดปลีกย่อยหรือการตอบสนองไดนามิกเสียงที่การไล่ระดับนั้นไม่ได้สลับซับซ้อนเหมือนอย่าง AVR หรือ Pre-Pro + Multichannel Amp ในระดับสูง เท่านั้นเอง
ในระหว่างการรีวิวอีกช่วงเวลาหนึ่งที่น่าจดจำคือตอนที่ได้รับชมภาพยนตร์ของ Disney เรื่อง Maleficent: Mistress of Evil (Dolby Atmos True-HD) ซึ่งนอกจากเสียงซาวด์เอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ ที่รายล้อมอยู่รอบตัวในทุกทิศทุกทางแล้ว แล้วยังมีดนตรีประกอบที่บรรเลงด้วยวงซิมโฟนีออเคสตร้าตลอดทั้งเรื่อง นั่งชมแล้วนอกจากเพลินตากับใบหน้าหวาน ๆ ของน้องแอลล์ แฟนนิง แล้ว ยังเพลินหูฟังเสียงดนตรีที่ไพเราะและน่าตื่นเต้นเร้าใจในบางช่วงด้วย ประสบการณ์เช่นนี้บอกว่าเลยโฮมเธียเตอร์ชุดเล็ก ๆ หรือลำโพงซาวด์บาร์ทั่วไปคงทำเข้าถึงความดื่มด่ำไม่ได้ถึงระดับนี้
ดูหนังและฟังเพลงครบจบในเครื่องเดียว
นอกจากระบบเสียงรอบทิศทางแล้ว ผมยังมีโอกาสได้ลองนำ ONKYO TX-NR6100 มาใช้ฟังเพลงอย่างจริงจังเพื่อพิจารณาว่ามันพอจะใช้งานทดแทนชุดเครื่องเสียงฟังเพลงปกติได้หรือไม่ ผลลัพธ์คือผมคิดว่าถ้าเป็นชุดเครื่องเสียงในระดับเริ่มต้นจนถึงระดับเริ่มต้นเกือบกลาง ไม่มีเหตุผลเลยที่เอวีรีซีฟเวอร์รุ่นนี้จะใช้งานแทนไม่ได้
อย่างตอนที่ลองเล่นอินพุตโฟโนโดยใช้งานกับเทิร์นเทเบิ้ล Thorens TD 203 + หัวเข็ม SoundSmith Carmen แม้ผมรู้สึกว่าเกนขยายของภาคปรีโฟโนใน AVR นั้นดูเหมือนจะต่ำไปสักนิดแต่ก็ยังพอมีเรี่ยวแรงให้ได้ยินรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะเมื่อผมเลือกโหมดเสียงไปที่ ‘Pure Audio’ เพื่อให้สัญญาณเสียงมีความลัดตรงมากที่สุด (ไม่ผ่านวงจรโปรเซสเซอร์) ผมว่ามันสามารถใช้ทดแทนอินทิเกรตแอมป์ในระดับราคาไม่เกิน 15,000 บาทได้สบาย ๆ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือปรีโฟโนของมันค่อนข้างเงียบดี (สัญญาณรบกวนต่ำ) ไม่ใช่ประเภทเร่งเสียงแล้วมีเสียงฮัมหึ่งหรือเสียงรบกวนประหลาด ๆ ดังตามออกมาด้วย
ในส่วนของการฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิงในตัวก็อย่างที่ได้เรียนไว้แล้วข้างต้นว่ามันสามารถสตรีมไฟล์ lossless จาก TIDAL ได้ หรือสตรีมทั้ง lossless และ hi-res audio จาก music server ได้ แถมได้เสียงออกมาดีด้วย แต่คนที่ยังไม่คุ้นชินกับแอปฯ Onkyo Music Control ซึ่งสตรีมด้วยแพลตฟอร์ม DTS Play-Fi อาจต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจกับ UI ของแอปฯ สักระยะหนึ่ง ไม่อย่างนั้นมันจะงง ๆ หน่อย
ที่เป็นไฮไลต์สำหรับผมก็คือ ในช่วงที่ผมได้ลองฟัง SACD โดยเล่นมาจาก OPPO BDP-103D ส่งสัญญาณดิจิทัล DSD over HDMI ออกมาเข้าที่อินพุต HDMI ของ ONKYO TX-NR6100 ผมว่าเสียงที่ได้นั้นฟังดีเกินคาด โดยเฉพาะการฟัง SACD ที่เป็นมัลติแชนเนล มันเป็นอะไรที่ฟังเพลินหูมาก โดยเฉพาะในอัลบั้มที่ตั้งใจบันทึกเป็นระบบเสียงมัลติแชนเนลมาตั้งแต่แรกอย่าง Swing Live โดยศิลปิน Bucky Pizzarelli ของค่าย Chesky Records
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ผมคิดว่ามันสามารถทำให้ภาพจำของเราที่มีต่อเครื่องเสียงประเภทเอวีรีซีฟเวอร์นั้นอาจจะเปลี่ยนไป จากที่เคยมองว่ามันใช้งานดีเฉพาะเวลาดูหนัง แต่เวลาใช้ฟังเพลงยังคาดหวังความพึงพอใจไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่กับ ONKYO TX-NR6100 เพราะนี่คือเอวีรีซีฟเวอร์ที่สามารถใช้ดูหนังและฟังเพลงครบจบในเครื่องเดียว
ONKYO TX-NR6100 เหมาะกับใคร ?
ในรอบหลายปีมานี้ ในฐานะที่ผมเองเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ติดตามการพัฒนาของเทคโนโลยีในเครื่องเสียงประเภทเอวีรีซีฟเวอร์มาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสองสามปีมานี้มีเอวีรีซีฟเวอร์หลายรุ่นที่มีความครบเครื่องทั้งเรื่องของเทคโนโลยี คุณภาพเสียง และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ตลอดจนการบริการทั้งก่อนและหลังการขาย ทว่าโดยมากมักมีราคาที่เกินเอื้อมไปสักนิด
ดังนั้นเมื่อผมได้มาพบเอวีรีซีฟเวอร์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวในราคา 38,900 บาท อย่าง ONKYO TX-NR6100 ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และอยากแนะนำให้คนที่กำลังมองหาหรืออัปเกรดเอวีรีซีฟเวอร์ที่สามารถรอบสนองระบบเสียงรอบทิศทางสมัยใหม่ ไปใช้งานในระบบเสียงโฮมเธียเตอร์ชุดเล็กจนถึงชุดระดับกลาง แถมยังมีฟีเจอร์ให้มาแบบจุก ๆ (จนไม่สามารถพูดถึงได้ทั้งหมดในรีวิวเดียว) ได้เก็บ ONKYO TX-NR6100 เอาไว้พิจารณาเป็นตัวเลือกในลำดับต้น ๆ โดยมีจุดเด่นที่ประสิทธิภาพและความคุ้มค่า หรือจะเรียกว่าอยู่ในระดับ ‘ควรค่าแก่การเลือกซื้อ’ หรือ ‘Best Buy’ ก็ว่าได้ครับ
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย:
บริษัท โฮม ไฮ-ไฟ จำกัด
02-448-5489, 02-448-5465-6
www.sound-republic.com