fbpx
KNOWLEDGENEWS

Qualcomm ออกชิปตัวใหม่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับลำโพงอัจฉริยะอย่างก้าวกระโดด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาวิวัฒนาการของเทคโนโลยีได้นำเข้าสู่ยุคใหม่ของผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ (เช่นการควบคุมด้วยเสียง) ณ วันนี้คำสั่งเสียงสามารถควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปได้มากขึ้น

ซึ่งรวมไปถึงลำโพงไร้สายอัจฉริยะอย่าง Amazon Echo, Google Home หรือ Apple HomePod รวมไปถึงสินค้าสำหรับโฮมเอ็นเตอร์เทนอย่างเช่นลำโพซาวด์บาร์ Bose Soundbar 700 หรือ Bose  Home Speaker 500

ดูเหมือนความ ‘อัจฉริยะ’ ที่เข้ามาสร้างกระแสอยู่ในปัจจุบันยังคงค่อย ๆ พัฒนาไปอย่างช้า ๆ แต่สำหรับ Qualcomm แล้ว ชิปรุ่นใหม่ที่พวกเขาได้ปล่อยออกมาใหม่ล่าสุดเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่เกิดมาเพื่อลำโพงอัจฉริยะโดยแท้

ชิป Qualcomm QCS400 ถูกออกแบบมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของลำโพงอัจฉริยะทั้งในส่วนของคุณภาพเสียงและฟังก์ชันใช้งานที่จะนำเสนอประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค

ที่ผ่านมาหลายคนอาจเคยหงุดหงิดเวลาที่ต้องสั่ง Alexa ของ Amazon หรือ Google Assistant ซ้ำ ๆ มากกว่าหนึ่งครั้งกว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

สาเหตุอาจเกิดจากเสียงรบกวนรอบข้างหรือว่าเครือข่ายไม่เสถียร ทาง Qualcomm กล่าวว่าชิปรุ่นใหม่นั้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าอัจฉริยะนำไปใช้ปรับปรุงเสถียรภาพและความแม่นยำของการควบคุมด้วยเสียงได้ง่ายขึ้นและเปิดกว้างกว่าเดิม

เมื่อเปรียบเทียบกับชิปรุ่นก่อน ชิปรุ่นใหม่จะมีความแม่นยำในการรับเสียงเรียกมากกว่า ตอบสนองต่อคำสั่งได้รวดเร็วกว่า และการตรวจจับคำสั่งเสียงได้ดีขึ้นแม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการฟังเพลงด้วยระดับเสียงที่ดัง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนดังมาก

ชิป QCS400 ยังรองรับการควบคุมด้วยเสียงแบบ ‘local’ ทำให้ลำโพงอัจฉริยะสามารถตอบสนองต่อคำสั่งได้แม้ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

รวมไปถึงได้ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานของลำโพง และช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่สำหรับลำโพงแบบพกพา

Qualcomm ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ ‘ความอัจฉริยะ’ จนลืมหน้าที่ความเป็นเครื่องเสียง แน่นอนว่าพวกเขาได้ปรับปรุงในส่วนของคุณภาพเสียงด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะที่ผ่านมาลำโพงอัจฉริยะบางตัวก็แทบไม่ได้เอาดีในเรื่องของคุณภาพเสียงเลย

ด้วยเป้าหมายที่จะเพิ่มคุณภาพเสียง การออกแบบชิปรุ่นนี้จึงได้เลือกใช้โปรเซสเซอร์แบบ Quad-core และ Audio DSP ที่รองรับสัญญาณเสียงได้สูงสุด 32 แชนเนล ซึ่งแน่นอนสามารถรองรับระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS: X ที่ใช้กับลำโพงซาวด์บาร์ที่เป็นสมาร์ทโฮมเธียเตอร์

โดยปกติแล้วแพลตฟอร์มดังกล่าวยังรองรับเทคโนโลยีภาคขยายเสียงแบบ DDFA รุ่นล่าสุดจาก Qualcomm และรองรับเสียงจากบลูทูธ aptX (รวมถึง aptX Adaptive ที่เปิดตัวไปเมื่อปีก่อน ได้ทำการปรับปรุงความล่าช้าในการส่งสัญญาณ และทำให้การเชื่อมต่อให้ดีขึ้นเมื่อสตรีมสัญญาณไปทั่วบ้าน) อีกด้วย

สำหรับอุปกรณ์อัจฉริยะในกลุ่ม smart display เช่น Echo Spot ทาง Qualcomm ได้รวมโปรเซสเซอร์กราฟิก Adreno ไว้ในชิปอนุกรม QCS400 อีกด้วย

ธวัชชัย อุไรรัตน์

ชื่นชอบดนตรีและเครื่องเสียงตั้งแต่ ปวช. ประกอบเครื่องเสียงใช้เองตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านประสบการณ์ทางด้านเสียง/โฮมเธียเตอร์มาแล้วหลายรูปแบบ ทั้งนักวิจารณ์เครื่องเสียง/โฮมเธียเตอร์ เป็นทีมงานเครื่องเสียงให้เช่า (ติดตั้งโครงสร้าง วางลำโพง เซ็ตระบบเสียงทั้ง PA และ Monitor มิกซ์เสียง) ผ่านงานติดตั้งระบบมินิเธียเตอร์ ทั้งระบบภาพ 3D แบบ Passive (2 Projector Stack) และระบบเสียง 7.1 แชนเนล ผ่านการอบรม The Sound Master มีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ