fbpx
RECOMMENDEDREVIEW

รีวิว Bose : Home Speaker 500 “ลำโพงสมาร์ทที่คนรักเสียงเพลงจะหลงรัก”

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ลำโพงสมาร์ทหรือลำโพงอัจฉริยะ (smart speaker) เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีเพิ่มขึ้นมาในตลาดของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มันเป็นมากกว่าลำโพงทั่ว ๆ ไปที่เราใช้ฟังเพลง ฟังข่าว หรือความบันเทิงทางโสตประสาทอื่น ๆ ตรงที่ได้ควบรวมเอาเทคโนโลยี voice assistant หรือ virtual assistant ซึ่งหมายถึงการสั่งงานด้วยเสียงพูดเข้าไปอยู่ในตัวลำโพง

ลำโพงอัจฉริยะที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันก็อย่างเช่น Apple HomePod ที่ใช้เทคโนโลยี Siri, ลำโพงในตระกูล Amazon Echoที่ใช้เทคโนโลยี Alexa หรือลำโพงในตระกูล Google Home ที่ใช้เทคโนโลยี Google Assistant

ที่ว่ามาเกือบทั้งหมดได้รับการยกย่องในแง่ของความอัจฉริยะในด้านการใช้งาน แต่น้อยครั้งเหลือเกินที่จะได้ยินใครเอ่ยปากชมลำโพงเหล่านั้นว่าทำหน้าที่ถ่ายทอดน้ำเสียงได้ไพเราะเพราะพริ้ง หรือให้รายละเอียดเสียงที่ชัดเจนสดใสและฟังดูเป็นธรรมชาติ เฉกเช่นเดียวกับที่เรามักจะคาดหวังจากลำโพงไฮไฟที่เราคุ้นเคย

ผมเคยคิดเล่น ๆ ว่าถ้ามีบริษัทผู้ผลิตเครื่องเสียงลงมือทำลำโพงอัจฉริยะออกมาบ้าง ผมคงชูมือขอฟังเสียงเป็นคนแรก ๆ เป็นแน่ และแล้วในปีที่ผ่านมาผมก็ทราบว่ามีผู้ผลิตเครื่องเสียงมากกว่า 1 ยี่ห้อได้หันมาพัฒนาลำโพงอัจฉริยะกับเขาด้วย หนึ่งในนั้นคือยี่ห้อโบส ‘Bose’ จากประเทศสหรัฐอเมริกา

ลำโพงสมาร์ทในนิยามของยี่ห้อโบส
Bose เผยโฉมลำโพงอัจฉริยะรุ่น Home Speaker 500 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก่อนจะมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีนี้ในประเทศไทย

นี่คือลำโพงอีกกลุ่มที่โบสได้ขยับขยายเพิ่มขึ้นจากกลุ่มสินค้าที่มีอยู่เดิม เปิดตัวพร้อม ๆ ลำโพงซาวด์บาร์อัจฉริยะอีก 2 รุ่นได้แก่ Soundbar 700 และ Soundbar 500

เมื่อเป็นลำโพงอัจฉริยะที่สร้างโดยผู้ผลิตเครื่องเสียง Home Speaker 500 จึงถูกนำเสนอโดยให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพเสียงมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณสมบัติในด้านอื่น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบให้ลำโพง Home Speaker 500 เพียงตัวเดียว สามารถให้เสียงสเตริโอแยกซ้าย-ขวาได้ด้วยการบรรจุไดรเวอร์ฟูลเรนจ์ดีไซน์เฉพาะแบบ custom driver จำนวน 2 ตัว ยิงเสียงออกด้านข้าง ให้มวลคลื่นเสียงออกไปสะท้อนผนังห้องด้วยเทคโนโลยีที่ทางโบสเรียกว่า Wall-to-wall stereo sound

ไม่เพียงเท่านั้นโบสยังเคลมว่าลำโพงรุ่นนี้เป็นลำโพงอัจฉริยะที่ให้เวทีเสียงได้กว้างที่สุด จากลำโพงเพียงแค่ตัวเดียว! แถมยังเคลมว่าตัวลำโพงสามารถให้เสียงออกไปรอบทิศแบบ 360 องศาด้วยต่างหาก

คุณสมบัตินี้ถ้าไม่ใช่ยี่ห้อโบส ซึ่งเคยสร้างชื่อกับลำโพงที่ออกแบบตามทฤษฎี direct-reflecting มาแล้วเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้สงสัยว่าจะทำได้อย่างที่คุยไว้จริงหรือ?

นอกจากส่วนที่ให้เสียงออกมา ลำโพงรุ่นนี้ยังมีส่วนที่รับเสียงเข้าไปโดยอาศัยไมโครโฟนจำนวน 8 ตัวที่วางเรียงรายอยู่ที่ด้านบนรอบตัวเครื่อง รับคำสั่งเสียงได้จากทุกทิศทางเพื่อใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี Amazon Alexa ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์ม voice assistant ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในลำดับต้น ๆ มีอุปกรณ์ iOT และอุปกรณ์ smart home จำนวนมากมายที่รองรับการใช้งานร่วมกัน

ตำแหน่งไมโครโฟนรับเสียงทั้ง 8 ตัว
ปุ่มกดแบบสัมผัสที่อยู่ด้านบนตัวลำโพง

นอกจากการสั่งงานด้วยเสียงพูด ลำโพงรุ่นนี้ยังสามารถควบคุมสั่งงานได้จากปุ่มกดแบบสัมผัสที่อยู่ด้านบนตัวลำโพง ทั้งในส่วนของการเปิด-ปิดการใช้งาน, การปิดการทำงานของไมโครโฟน, การเลือกอินพุต AUX และปุ่มฟังก์ชัน Bluetooth, การเล่นหรือหยุดเพลง ซึ่งสามารถสั่งข้ามเพลงไปข้างหน้าหรือย้อนหลังได้ด้วยการกดซ้ำติดต่อกัน 2 หรือ 3 ครั้ง, การเพิ่ม-ลดระดับความดังของเสียง รวมถึงปุ่มตั้งค่า preset เพลงที่ชื่นชอบ 6 preset ซึ่งได้กลายเป็นลายเซ็นสำหรับลำโพงยุคใหม่ของโบสไปแล้ว

ด้านหน้าตัวลำโพงมีจอแสดงผลขนาดกะทัดรัดสีสันสดใส จอแสดงผลนี้สามารถแสดงข้อมูลต่าง ๆ เช่น อินพุตที่เลือกใช้, นาฬิกา, ชื่อเพลงหรือปกอัลบั้มเพลงที่ผู้ใช้กำลังฟัง ฯลฯ เสียดายนิดหน่อยที่มันไม่ใช่จอระบบสัมผัส ซึ่งอาจทำให้การใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากการสั่งงานด้วยเสียงพูดและการกดปุ่มที่ตัวลำโพงโดยตรงแล้ว โบสยังได้ออกแบบให้ผู้ใช้สามารถควบคุม Home Speaker 500 ผ่านแอปฯ ตัวใหม่ชื่อ ‘Bose Music’ ซึ่งทำออกมาสำหรับใช้งานกับลำโพงอัจฉริยะทั้ง 3 รุ่น (ในเวลานี้) ของโบสโดยเฉพาะ

นอกจากการควบคุมสั่งงานพื้นฐานแล้ว แอปฯ Bose Music ยังเปิดโอกาสให้สามารถตั้งค่าพื้นฐานต่าง ๆ ตั้งแต่การเชื่อมต่อแอปฯ กับตัวลำโพง, การกำหนดชื่อของลำโพง, การอัปเดตเฟิร์มแวร์, การตั้งค่าโทนคอนโทรลปรับเพิ่ม-ลดเสียงทุ้ม/เสียงแหลม ตลอดจนการเข้าใช้บริการออนไลน์มิวสิคสตรีมมิ่งทั้ง Spotify, Amazon Music, Deezer หรือ TuneIn

น่าเสียดายที่ปัจจุบันมันยังไม่รองรับ lossless streaming อย่าง TIDAL ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคุณภาพเสียงที่ดีกว่า

สิ่งที่ Home Speaker 500 เป็นอยู่และสามารถทำได้
ก่อนจะพูดถึงเรื่องของการใช้งานลำโพง Home Speaker 500 ผมขอชมเชยว่าโบสได้ทำให้ลำโพงอัจฉริยะรุ่นนี้มีความ ‘พรีเมียม’ เหนือลำโพงอัจฉริยะอื่น ๆ ที่ผมเคยรู้จัก พรีเมี่ยมตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงดีไซน์ตัวลำโพงและวัสดุที่เลือกใช้

ลำโพงรุ่นนี้ผลิตในประเทศเม็กซิโก ตัวลำโพงมีขนาดกะทัดรัด การออกแบบเรียบหรู สามารถวางบนโต๊ะทำงาน ห้องรับแขก หรือห้องนอนได้อย่างลงตัว

มากกว่า 70-80% ของตัวลำโพงผลิตจากโลหะทำสีอย่างดี มีให้เลือกทั้งสีเงินและสีดำ ตามขอบตามเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ไม่มีคำว่าแหลมคมเป็นอันตรายต่อการสัมผัส ในภาพรวมดูเรียบหรูและไม่ก๊องแก๊ง

สำหรับการใช้งานลำโพงตัวนี้ไม่มีแบตเตอรี่ในตัว เวลาใช้งานต้องเสียบสายไฟบ้านที่ออกแบบเก็บซ่อนไว้ที่ด้านล่างตัวลำโพงได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

ในที่นี้ผมจะไม่เขียนถึงวิธีการเชื่อมต่อและการใช้งานตัวแอปฯ Bose Music เพราะในเบื้องต้นสามารถศึกษาได้โดยตรงจากคลิปต่าง ๆ ที่ทาง Bose Product Support เขาทำเตรียมไว้ให้แล้ว ตามด้านล่างนี้ แต่จะพูดถึงประสบการณ์หลังจากที่ได้ลองใช้งาน

โดยพื้นฐานแล้วแอปฯ Bose Music มีอะไรหลายอย่างคล้ายคลึงกับแอปฯ Bose Connect ที่ใช้งานกับหูฟังและลำโพงบลทูธของโบส หรือแอปฯ Bose SoundTouch ที่ใช้งานกับเครื่องเสียง Bose SoundTouch Series ในภาพรวมมีความลื่นไหลพอสมควรแต่การเข้า-ออกจากเมนูต่าง ๆ ต้องทำความเข้าใจกันอยู่สักพักจึงจะใช้งานได้สะดวกคล่องมือ ไม่ถึงกับง่ายมากแต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป

ความเสถียรของแอปฯ อยู่ในระดับดีไม่ว่าเป็นจะการใช้งานกับอุปกรณ์ iOS หรือ Android และส่วนหนึ่งก็จำเป็นต้องอาศัยความเสถียรของระบบ Wi-Fi ที่ใช้งานด้วยเช่นกัน โดยตัว Home Speaker 500 สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณ Wi-Fi ได้ทั้งความถี่ 2.4GHz และ 5GHz

นอกจากการเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi เพื่อใช้การสตรีมเพลงจากผู้ให้บริการมิวสิคสตรีมมิ่งหรืออินเตอร์เน็ตเรดิโอแล้ว ลำโพงรุ่นนี้ยังสามารถใช้ฟังเพลงหรือฟังเสียงจากแหล่งสัญญาณทั่วไปโดยการเชื่อมต่อเข้ามาทางอินพุต AUX ซึ่งเป็นขั้วต่อ 3.5mm อยู่ด้านหลังตัวลำโพง ใช้งานได้เหมือนลำโพงแอคทีฟทั่วไป หรือจะเชื่อมต่อแบบไร้สายทางอินพุตสัญญาณบลูทูธก็ได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้คือฟีเจอร์หลัก ๆ ที่ใช้งานกับลำโพงอัจฉริยะรุ่นนี้ได้

สิ่งที่ Home Speaker 500 ทำไม่ได้.. และที่จะทำได้
Home Speaker 500 ไม่สามารถสตรีมเพลงจาก local music server ผ่านระบบ Wi-Fi ได้เหมือนเครื่องเสียงในตระกูล SoundTouch ของโบสเอง เนื่องจากลำโพง 2 ตระกูลนี้ถูกออกแบบมาด้วยแพลตฟอร์มคนละตัวกัน มันจึงแตกต่างกันตั้งแต่รายละเอียดของฟีเจอร์ไปจนถึงแอปฯ ที่ใช้ควบคุมสั่งงาน

แต่ถ้าผมเอาเจ้า SoundTouch Wireless Link Adapter มาเสียบใช้งานกับช่อง AUX ของลำโพงรุ่นนี้ มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม SoundTouch ได้เช่นกัน

เสียบใช้งานกับ SoundTouch Wireless Link Adapter ทางช่องอินพุต AUX 3.5mm

เราไม่สามารถเอา Home Speaker 500 จำนวน 2 ตัว มาเชื่อมต่อกับแอปฯ แล้วใช้งานเป็นระบบเสียงสเตริโอแยกซ้าย-ขวาโดยให้เสียงแชนเนลซ้ายไปออกที่ลำโพงตัวหนึ่ง แล้วให้เสียงแชนเนลขวาไปออกที่ลำโพงอีกตัวได้

การเพิ่มลำโพง Home Speaker 500 (หรือ Soundbar 500 / Soundbar 700) เข้าไปในระบบ จะเป็นแค่การเพิ่มจุดที่จะฟังเสียง เพิ่มระดับความดังและพื้นที่ในการรับฟัง แต่ไม่ใช่เป็นการขยายมิติเสียงสเตริโอออกไป

อีกคุณสมบัติหนึ่งที่ในขณะที่ผมรีวิวอยู่นี้ยังไม่สามารถใช้งานได้คือ การใช้งาน Amazon Alexa เหตุผลที่แจ้งไว้ในแอปฯ Bose Music ก็คือระบบนี้ยังไม่เปิดให้ใช้งานในประเทศไทย นั่นหมายความว่าหากระบบนี้เปิดใช้งานในบ้านเราเมื่อไร ลำโพงรุ่นนี้ก็พร้อมทันที

การใช้เสียงสั่ง Amazon Alexa ไม่ใช่มีเพียงแค่การสั่งเล่นเพลง ข้ามเพลง หรือหยุดเพลง แต่ยังเปิดกว้างให้สั่งงานอุปกรณ์อื่น ๆ ในระบบสมาร์ทโฮมที่รองรับ Amazon Alexa ด้วย เช่น การสั่งเปิด-ปิดหรือหรี่ไฟ, การสั่งเปิดปิดม่านบังแดด หรือเพิ่ม-ลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ

น่าเสียดายที่รีวิวนี้ผมไม่สามารถทดลองการใช้งานในส่วนของ Amazon Alexa และไม่ทราบเช่นกันว่ามันจะใช้งานในประเทศไทยได้เมื่อไร

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่กำลังคิดว่า “ถ้าอย่างนั้นซื้อมาแล้ว ก็ใช้งานได้ไม่เต็มที่น่ะสิ”… ในอนาคตอันใกล้นี้ผมทราบมาว่าทางโบสกำลังเตรียมอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้ลำโพงรุ่นนี้รองรับ Google Assistant อีกหนึ่งเทคโนโลยี virtual assistant ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไม่แพ้กันและสามารถใช้งานได้แล้วในประเทศไทย รวมถึงการอัปเดตให้รองรับ Apple AirPlay 2 ซึ่งจะมาภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน

นั่นหมายความว่าองค์ประกอบพื้นฐาน โดยเฉพาะในส่วนของฮาร์ดแวร์ไม่ว่าจะเป็นระบบไมโครโฟนหรือภาคประมวลผลในตัวลำโพงรุ่นนี้ถูกออกแบบให้เตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว เหลือแค่ส่วนของซอฟต์แวร์ที่ต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มเข้าไปเท่านั้นเอง

คุณภาพเสียง
ผมได้ฟังเสียงของลำโพงรุ่นนี้ครั้งแรกในงานเปิดตัวที่ประเทศไทย สิ่งแรกที่รับรู้ได้ชัดเจนคือเสียงที่ใหญ่เกินตัว แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย เพราะลำโพงยี่ห้อนี้ส่วนใหญ่ก็ให้เสียงที่เกินตัวอยู่แล้ว ไม่เว้นแม้แต่ลำโพงตัวเท่าฝ่ามืออย่าง Bose SoundLink Micro

ทว่าสิ่งที่เหนือความคาดหมายนั้นก็คือ ความกว้างของมิติเสียงสเตริโอครับ ในงานเปิดเขามีการสาธิตให้ฟังเสียงกัน ตัวผมนั่งตรงกับลำโพงเป๊ะห่างออกมาประมาณเมตรกว่า ในช่วงที่เขาเปิดเพลง ‘Money’ ของ Pink Floyd ช่วงต้นเพลงผมได้ยินบางเสียงหลุดลอยออกไปทางด้านซ้ายและขวา คล้ายฟังเสียงจากหูฟังสเตริโอชั้นดีที่ให้มิติเสียงไม่จมอยู่ในศีรษะ

ผมไม่แน่ใจว่าทางทีมงานของอัศวโสภณ เขาไม่ได้ซ่อนลำโพงเอาไว้เพื่อลวงโสตประสาทแน่นอน แต่ผมไม่แน่ใจว่าลำโพงตัวแค่นี้ให้มิติเสียงอย่างนั้นได้ยังไง

อย่างไรก็ดี… ความกว้างของมิติเสียงด้านซ้ายและขวาที่ผมรับรู้ได้จากลำโพงรุ่นนี้ มันขึ้นอยู่กับเพลงที่เราฟังด้วยครับ มันใม่ใช่ว่าจะให้เสียงที่กว้างอย่างนั้นเสมอไป แต่ละเพลงที่ฟังมันก็ไม่ได้ให้เสียงออกมากว้างเท่ากัน แต่ละเพลงกว้างมาก กว้างน้อย คละเคล้าปนเปกันไป

สังเกตว่าเพลงที่มีการใช้เอฟเฟ็คต์หรือซินซีไซเซอร์และมีกระบวนการมิกซ์เสียงที่ค่อนข้างหวือหวากว่าเพลงทั่วไป ส่วนใหญ่จะให้เสียงออกมากว้าง นอกจากเพลง ‘Money’ ที่เปิดจาก Spotify ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ที่ผมฟังแล้วให้เสียงออกมากว้างขวางในบริบทเดียวกับเพลง ‘Money’ ก็อย่างเช่นเพลง ‘Bubbles’ จากอัลบั้ม Wandering ของ Yosi Horikawa หรือเพลงทำนองคุ้นหูอย่าง ‘Axel F – From Beverly Hills Cop’ โดย Harold Faltermeyer

ในระหว่างการรีวิว ผมได้ฟังเสียงจากการสตรีมเพลงใน Spotify เป็นหลัก สลับกับการฟังรายวิทยุจาก Tune In ทั้งที่เป็นรายการเพลงและรายการที่เน้นพูดคุย ไม่มีการปรับแต่งเสียงในส่วนของโทนคอนโทรล คือ ฟังกันแบบไร้การปรุงแต่ง (flat)

ภาพรวมของเสียงที่ได้จากลำโพงรุ่นนี้คือรายละเอียดและความชัดเจน เป็นลำโพงที่เสียงใหญ่ในลักษณะที่ให้เสียงเปิดเผย กระจ่างชัด และเปิดได้ดังจนคับห้องทำงานของกองบรรณาธิการ GM2000 มีลักษณะเปิดโล่ง

ไม่ใช่เสียงที่ฟังดูใหญ่เพราะยกเสียงทุ้มมาเยอะ ๆ หรือให้เสียงที่มีอาการบวมหรือล้น ในย่านความถี่ช่วงใดช่วงหนึ่งออกมา

เวลาเจอเพลงที่บันทึกเสียงมาได้ดี แม้จะฟังจาก Spotify ที่ไม่ใช่ไฟล์ lossless ระดับเทียบเท่าแผ่นซีดี ก็ยังฟังได้เพลิดเพลินไม่ถึงกับต้องคอยกดข้ามเพลงอยู่บ่อย ๆ

สำหรับการฟังเพลงแหล่งสัญญาณหรือสตรีมมิงที่ให้คุณภาพเสียงดีกว่าการฟังจาก Spotify ผมได้ลองฟังโดยเชื่อมต่อเอาต์พุตเสียงของสมาร์ทโฟน LG V30 ThinQ กับ Home Speaker 500 ทั้งทางอินพุต AUX และทางบลูทูธ

พบว่าทางอินพุต AUX ให้เสียงออกมาดีกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเชื่อมต่อบลูทูธในลำโพงรุ่นนี้เป็นแบบ subband codec หรือ SBC เท่านั้น ยังไม่ใช่ aptX หรือ aptX HD

ผมยังได้ลองฟังอินพุต AUX ของลำโพงรุ่นนี้กับเทิร์นเทเบิ้ล Thorens TD202 โดยใช้ภาคโฟโนปรีแอมป์ในตัวของเทิร์นเทเบิ้ลเอง เสียงที่ออกมามันบ่งชี้ชัดเจนว่าลำโพงอัจฉริยะตัวนี้สามารถใช้งานเป็นลำโพงแอคทีฟสำหรับระบบเสียงไฮไฟได้อย่างไม่ขัดเขินเลยครับ

ลองฟังอินพุต AUX ของลำโพงรุ่นนี้กับเทิร์นเทเบิ้ล Thorens TD202

ลำโพงอัจฉริยะที่เสียงดีที่สุด ?
จากที่ได้รีวิวมาทั้งหมด ผมมีความเห็นว่าทีมวิศวกรของโบสน่าจะทำการบ้านมาพอสมควรกว่าจะออกมาเป็นลำโพงรุ่นนี้ ประการแรกพวกเขายังคงรักษามาตรฐานความเป็นเครื่องเสียงยี่ห้อโบสเอาไว้ได้ทั้งในแง่ของการออกแบบรูปร่างหน้าตา ตลอดจนประสบการณ์ในการใช้งาน

น่าเสียดายพอสมควรที่รีวิวนี้ยังไม่มีโอกาสได้ลองส่วนที่เป็น virtual assistant เลยแม้แต่น้อย ทำให้การพิจารณาเรื่องความคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายเกือบ 2 หมื่นบาทเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังคงต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป แต่สำหรับเรื่องของคุณภาพเสียง ลำโพงรุ่นนี้ให้ประสบการณ์ที่น่าประทับใจจริง ๆ ครับ

ดังนั้นแม้ว่าในตอนนี้ผมจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่า Bose Home Speaker 500 นั้นเป็นลำโพงอัจฉริยะที่ดีที่สุดหรือไม่ แต่อย่างน้อยผมก็บอกได้ว่าถ้าพูดถึงลำโพงอัจฉริยะที่เสียงดี ชื่อลำโพงรุ่นนี้จะต้องอยู่ใน top list อย่างแน่นอนครับ!


นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท อัศวโสภณ จำกัด (www.asavasopon.co.th)
โทร. 0-2266-8136-8, 0-2234-6467-8 (สำนักงานใหญ่สี่พระยา)
ราคา 19,900 บาท

มนตรี คงมหาพฤกษ์

ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ AV Tech Guide อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารและออนไลน์ GM2000 Magazine จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจเครื่องเสียงทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล ใช้งานสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android ใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง macOS และ Windows หลงใหลเทคโนโลยีเป็นชีวิตจิตใจ ตอนนี้กำลังเห่อระบบบันทึกเสียงและไมโครโฟนแบบมืออาชีพ